จุดจบประท้วงยูเครน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4
มีนาคม 2557

          การประท้วงในยูเครนซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประท้วงแฝดกับบ้านเราดำเนินมาเป็นเวลายาวนานใกล้เคียงกับประเทศไทยได้จบลงไปแล้วอย่างมีบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทย

          ยูเครนเคยเป็นรัฐหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตและเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกันมาก เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงยูเครนก็ประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1991 ในหลายปีต่อมาเมื่อรัสเซียพี่ใหญ่ตั้งตัวติดโดยมีประธานาธิบดีปูตินคนปัจจุบันเป็นผู้นำก็ต้องการกลับมามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ยูเครนจึงกลายเป็นตัวหมากรุกของสองฝั่งมหาอำนาจคือ EU ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

          โดยพื้นฐานแล้วการประท้วงครั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการ กล่าวคือประการแรก รัฐบาลที่มีนายยานูโควิชเป็นประธานาธิบดีนั้นเอียงไปทางพึ่งพารัสเซียมาก ในขณะที่คนชั้นกลางต้องการให้เปิดกว้างไปสู่โลกตะวันตกคือ EU และสหรัฐอเมริกา

          ประการที่สอง ประชาชนเบื่อหน่ายประธานาธิบดีที่ลุแก่อำนาจ พยายามผูกขาดธุรกิจร่วมกับพรรคพวก รวบอำนาจตำรวจ ศาล สรรพากร มาไว้ที่ตนเอง เล่นการเมืองสกปรก ฆ่าฟันคู่ต่อสู้ ปราบปรามสื่อเอาไว้ในมือจนไม่มีใครหือ เปลี่ยนการปกครองจากระบบสภาผู้แทนราษฎรที่นายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญมาเป็นระบบประธานาธิบดี ทั้ง

          ประเทศอุดมด้วยคอรัปชั่น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติตัวต่อผู้ไม่เห็นด้วยอย่างไม่เป็นธรรม สรุปสั้น ๆ ว่านายยานูโควิชเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบในความไม่ดีต่าง ๆ

          ประการที่สาม ยูเครนนั้นมีประชากร 45 ล้านคน ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดกับรัสเซียนั้นประชาชนมีเชื้อสายรัสเซียอยู่เกือบครึ่งประเทศ ผู้คนในส่วนนี้ชื่นชมรัสเซีย และประธานาธิบดี มีบ้านเกิดจากถิ่นไครเมียนี้ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ ประชาชนมีวัฒนธรรมยูเครน มีความรู้สึกต่อต้านคนอีกถิ่นหนึ่งที่มีประธานาธิบดีเป็นตัวแทน

          ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบุกยึดจตุรัสอิสรภาพกลางใจเมือง ใกล้บริเวณค้าขายใหญ่ ยึดตึกเทศบาลและที่ทำการรัฐ ตั้งป้อมปราการเข้มแข็ง มีการทำอาหารและแจกกันกลางถนน (ฟังดู คุ้น ๆ) รวมตัวกันเหนียวแน่น

          ใน 2 เดือนแรกมีคนตายไป 5 คน และบาดเจ็บนับร้อย ตลอดเกือบเดือนที่ผ่านมามีการคุมเชิงกันในภาวะสงบ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากรัสเซียให้ความช่วยเหลือทางการเงินหลายพันล้านเหรียญ ประธานาธิบดีก็คึกคักราวกับกินดีหมีมา สั่งให้ลุยผู้ชุมนุม บุกเข้ารื้อป้อมหอปราการ และกระทำด้วยความรุนแรงมากจนจำนวนคนตายพุ่งสูงขึ้นพร้อมคนบาดเจ็บ

          วันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสก็ลุยเหมือนเดิมจนยอดคนตายยุ่งขึ้นเกือบ 80 คน จุดนี้แหละคือความผิดพลาดของประธานาธิบดี ผู้คนเริ่มผละหนีไม่ว่าผู้นำด้านความมั่นคง หัวหน้าตำรวจ สมาชิกพรรค และคนใกล้เคียง แต่ประธานาธิบดีนั้นว่ากันว่าเหมือนมีม่านบังตามาตลอดคือไม่เห็นความสำคัญของผู้ชุมนุมเพราะตระหนักว่ามีพี่ใหญ่คือปูตินสนับสนุน

          มีแรงกดดันจากผู้นำ EU ให้เจรจาตกลงสงบศึกโดยตัวแทนรัสเซียเข้าร่วมด้วย ตกลงยอมให้ประธานาธิบดีอยู่ต่อจนเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญและลดอำนาจประธานาธิบดี เปลี่ยนไปสู่ระบบรัฐสภาอีกครั้ง ฝ่ายต่อต้านก็ เออออห่อหมกเพราะรู้ว่ามันไม่จบเพียงแค่นั้น

          พอถึงวันศุกร์ก็ได้เรื่อง รัฐสภาออกกฎหมายอภัยโทษผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ปลดรัฐมนตรีมหาดไทยคู่ใจประธานาธิบดีที่ผู้คนเกลียดชังมากออก มีสัญญาณออกมาชัดเจนว่าประธานาธิบดีอยู่ไมได้แล้วเพราะรัฐมนตรีอีกหลายคนถูกปลดโดยรัฐสภา

          ถึงวันเสาร์ประธานาธิบดีก็หายตัวไปจากเมืองหลวงคือเคียฟ (Ki?v) ฝ่ายประท้วงฉีกสัญญาข้อตกลง ไล่ล่าประธานาธิบดีที่หนีไปอยู่ในดินแดนไครเมียซึ่งนิยมรัสเซียและเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ผู้คนรู้แล้วว่ากาลอวสานของนายยานูโควิชมาถึงแล้ว

          วันอาทิตย์ผู้คนก็บุกทำเนียบประธานาธิบดี พบสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ สวนสัตว์ส่วนตัว และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างหรูหรา ประชาชนเลยเปลี่ยนและตั้งชื่อว่าพิพิธภัณฑ์คอรัปชั่นแห่งแรกของโลก

          ประธานาธิบดียานูโควิชนั้นตายังปิดมืดอยู่ ไม่รู้ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้วยังออกโทรทัศน์จากเขตที่ชื่นชอบ บอกว่าเขายังเป็นประธานาธิบดีอยู่เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่บอกว่าเขาจะทำตามความต้องการของประชาชนคือส่งอดีตประธานาธิบดีขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ที่ยูเครนเป็นสมาชิกอยู่ในข้อหาฆาตกรรมประชาชน ซึ่งดูจะรอดยากเพราะ EU และสหรัฐอเมริกาต้องการแสดงพลกำลังหยุดอิทธิพลของรัสเซียที่กำลังแผ่ขยายกลับมาในรัฐเก่าอีกครั้งด้วยการสนับสนุนเอาขึ้นศาล

          บทเรียนจากยูเครนสำหรับไทยก็คือการเพิ่มขึ้นของระดับความรุนแรงจากรัฐบาลอย่าง ผิดสังเกตจนกลุ่มประท้วงที่มีอาวุธอยู่ในมือ (ไม่รู้จัก ‘อหิงสา’ เพราะคุ้นเคยกับการต่อสู้รุนแรงมานาน สงครามโลกครั้งที่สองคนยูเครนตายไป 5-8 ล้านคน) ต้องลุกขึ้นสู้และล้มตายกันทั้งสองฝ่ายเป็นอันมาก

          ความรุนแรงจะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเสมอ ถึงแม้นายยานูโควิชไม่ได้สั่งให้ลุยและฆ่าผู้ประท้วงหากรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นผู้กระทำ ประธานาธิบดีก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบไปได้ คาดว่านอกจาก 2 คนนี้แล้วยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 30 คน ที่จะถูกขึ้นศาลด้วย

          ในไทยการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบถึง 4 คน ที่ทั้งหมดมิได้มาชุมนุมด้วยเลย 2 คนมาชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าใกล้ที่ชุมนุม อีก 2 คน ช่วยพ่อแม่ขายของ น่าจะเป็นตัวจุดเปลี่ยนให้ผู้คิดสร้างความรุนแรงกว่านี้ได้ฉุกคิดถึงความเศร้าจากความตายอันไม่สมควรเกิดขึ้น
คนไทยเชื่อเรื่องบาปกรรมที่เกิดขึ้นว่าจะตามมาถึงผู้รับผิดชอบและครอบครัวเสมอ แค่คิดถึงผลจากบาปกรรมก็ทำให้ใจไม่สบายไปตลอดชีวิตแล้ว

          ยูเครนได้ให้บทเรียนแก่ไทยแล้วว่าในการประท้วงนั้นท้ายที่สุดแล้วความรุนแรงนี่แหละจะเป็นตัวทำให้ผู้นำตกจากอำนาจและแถมถูกขึ้นศาลพร้อมพรรคพวกท่ามกลางการก่นด่าของประชาชน

          เรื่องนี้ยังไม่จบบริบูรณ์ ล่าสุดนายยานูโควิชไปโผล่ในแดนไครเมียเพื่อหาผู้สนับสนุนและยังอ้างความเป็นประธานาธิบดีแบบฝัน ๆ แถมอ้างการสนับสนุนจากนายปูติน อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดตรงกันว่าเวลาของนายยานูโควิชจบลงแล้ว ฝั่งผู้ประท้วงก็จัดตั้งรัฐบาลรักษาการไปแล้วถึงแม้ฝั่งไครเมียจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายยานูโควิช ยึดอาคารรัฐบาลท้องถิ่นก็ตาม

ว่าด้วยความไม่รู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
กุมภาพันธ์ 2557

Photo by Chris Ainsworth on Unsplash

          สมาชิกโลกและสมาชิกสังคมของเราต่างไขว่คว้าหาความรู้กันอยู่ตลอดเวลาเพื่อหวังว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันนั่นก็คือความไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรามองมักข้ามอยู่เสมอซึ่งได้แก่ “ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้”

          ความรู้มาจากการแปรเปลี่ยนข้อมูล (data) เป็นสารสนเทศ (information) และเป็นความรู้อีกที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่นรู้สึกเหนื่อยง่าย บางครั้งก็ปวดตรงหัวใจและหัวใจเต้นแรงและเร็วนี่คือข้อมูล หากเอาข้อมูลเหล่านี้มาประติดประต่อวิเคราะห์เป็นแบบแผนจะด้วยตนเองหรือแพทย์ก็ตามก็จะได้สารสนเทศ (information) และเมื่อมาสังเคราะห์ลึกซึ้งขึ้นด้วยเครื่องมือก็จะได้ความรู้ว่าเป็นโรคหัวใจ หากรู้จักใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ก็คือปัญญา (wisdom) กล่าวคือไม่ประมาท ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ฯลฯ

          ในสังคมของเราที่มีปัญหาอยู่มากมายไม่น้อยหน้าสังคมอื่น ๆ นั้น เรามีเรื่องที่ไม่รู้หรือรู้ไม่จริงอยู่มากมายจนละเลยบางเรื่องที่สำคัญไป หรือตัดสินใจผิด ๆ เพราะมีความรู้ที่กระพร่องกระแพร่ง มีอยู่หลายตัวอย่างที่เราไม่รู้อย่างน่ากลัว

          ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศของเรากำลังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การประมง ตลอดจนการบริโภค สัญญาณที่เห็นในปัจจุบันก็คือระดับน้ำที่ลดลงในคูคลอง แม่น้ำ ความ แห้งแล้งของแหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ และความเค็มของน้ำที่มีดีกรีสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต อันเป็นผลมาจากการลดลงของปริมาณน้ำจืด และแรงดันของน้ำเค็ม

          หน่วยงานน้ำสำคัญเช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ของ ดร.รอยล จิตรดอน มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำอย่างเกือบสมบูรณ์แบบ จนสามารถช่วยในการตัดสินใจป้องกันและแก้ไขในวันนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้บริหารเรื่องน้ำและสมาชิกสังคมของเราส่วนใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจังจนเรียกได้ว่าอยู่ใน “ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้” ว่าความหายนะกำลังคืบคลานมา

          เราคุ้นเคยกับน้ำท่วมใน 3 ปีที่ผ่านมาจนถูกครอบงำด้วยความรู้สึกว่าบ้านเราอุดมไปด้วยน้ำ เรามีความ ‘ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้’ จนไม่คิดว่าความแล้งและความขาดแคลนน้ำกำลังคืบเข้ามาอย่างน่ากลัว

          ‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ เปรียบเสมือนมนต์ดำบังตามนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์เคยเชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในโลกทุนนิยมดังที่เกิดขึ้นในปี 2008 เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะตลาดทุนที่ทำงานเสรีนั้นย่อมให้ข้อมูลเกือบสมบูรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ตราสารหนี้ประหลาด ๆ ที่มีผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นปลอดภัย โดยหารู้ไม่ว่ามันสามารถดึงเศรษฐกิจโลกให้พังลงได้ดังที่เกิดขึ้น ‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ นี่แหละทำให้ผู้คนต้องซับน้ำตากันมามากมายแล้วในหลายประเทศ

          อีกตัวอย่างหนึ่งของสังคมเราที่เรานึกว่าเรารู้ดีแล้ว จนเกิด ‘ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้’ เกิดขึ้น นั่นก็คือเรื่องของการเคลื่อนย้ายผู้คนเข้ามาในบ้านของเรา เรามีความรู้จากข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อสองปีก่อนว่ามีแรงงานต่างชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอยู่ในบ้านเราประมาณ 5 ล้านคนในทุกภาคการผลิต และดูเหมือนว่าจะสามารถ “ดูแล” ได้ด้วยกฎหมายและการบังคับใช้ที่เป็นอยู่

          หากมีผู้รับผิดชอบระดับชาติใส่ใจและนึกถึงประโยชน์ของคนในชาติอย่างแท้จริง ขยันเดินทางไปในหลายจังหวัดหรือแม้แต่กรุงเทพมหานครโดยพยายามมองหาข้อมูลในเรื่องนี้ก็จะตกใจ เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองไม่รู้มาก่อนว่าแรงงานต่างชาติที่ว่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลในทุกแห่งหน

          การมีแรงงานต่างชาติช่วยเศรษฐกิจบ้านเราอย่างมากเพราะการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคมีความรุนแรง แต่ก็แฝงไว้ด้วยปัญหาสังคมมากมาย ภาครัฐจะมีภาระการเงินหนักในการดูแลคนเหล่านี้ในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และความเป็นอยู่ของครอบครัวในอนาคต

          สังคมของเราที่อ่อนแอในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างยิ่งจะทำให้เกิดอาชญากรรม สารพัดประเภทจากคนต่างชาติ การเกิดขึ้นของเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย มีนอมินีในธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนแอบแฝงเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติของสังคมเราไปทั่ว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยัง ’ไม่รู้ว่าเราไม่รู้’

          โครงการจำนำข้าวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งของ ‘การไม่รู้ว่าไม่รู้’ ไวรัสประชานิยมระบาดหนักจนคิดว่าจะทำอะไรก็ทำได้ด้วยเงินเพราะมั่นใจว่าได้คะแนนทุกครั้ง แต่หารู้ไม่ว่าไทยไม่สามารถมีอิทธิพลต่อราคาข้าวตลาดโลกและส่งออกได้ดังฝัน เหนือสิ่งอื่นใดมันมีการโกงกันทุกขั้นตอนมโหฬารอย่างนึกไม่ถึง แถมมีข้าวจากพม่า ลาว และเขมร เข้ามาขายในปริมาณที่คาดไม่ถึงจนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลจนขาดสภาพคล่อง

          ที่ชัดที่สุดของ ‘การไม่รู้ว่าไม่รู้’ ก็คือเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยตลอดจนพฤติกรรมใช้อำนาจบาตรใหญ่ในสภา จนไปสะกิดต่อม ‘ทนไม่ไหว’ ของคนไทยจำนวนมาก และก็เกิดสิ่งที่ตามมาอย่างไม่มีใครสามารถคาดได้ ‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ ครั้งสำคัญอาจอาละวาดผู้คนในสังคมนี้อีกเมื่อใดก็ไม่อาจคาดเดาได้ ดีที่สุดก็คืออย่าไปประมาทมันเป็นดีที่สุด

อองซาน ซูจี กับตำแหน่งประธานาธิบดี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
กุมภาพันธ์ 2557

ที่มาภาพ https://www.kaohoon.com/content/419425

          คนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศเชียร์ให้อองซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ในปี 2015 แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเมียนมาร์ โอกาสของเธอมีไม่มากนักถ้าหาก ไม่มีการรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทหารได้เป็นผู้เขียนขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน

          เมียนมาร์มีรัฐธรรมนูญน้อยฉบับกว่าไทยมาก รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเมียนมาร์ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1947 หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมียนมาร์ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 1947 จนถึงปี 1962 ก็ยกเลิกไปเมื่อนายพลเนวิน (ไม่ใช่คนที่แฟนฟุตบอลไทยคุ้นเคย) ปฏิวัติ ซึ่งทำให้ทหารมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศจนถึงบัดนี้

          รัฐธรรมนูญฉบับที่สองประกาศใช้ในปี 1974 หลังจากมีการลงประชามติรับรองในปีก่อนหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมียนมาร์มีสภาเดียวที่ผู้แทนมาจากพรรค BSPP (Burma Socialist Programme Party) โดยมีวาระ 4 ปี และนายพลเนวินเป็นประธานาธิบดี

          หลังจากเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนในวันที่ 8 เดือน 8 ของปี 1988 (8888 Uprising) ก็มีการเลือกตั้งทั่วไป ถึงแม้พรรคของอองซาน ซูจี จะชนะแต่ทหารก็ยังคงครองอำนาจอยู่ภายใต้ชื่อ SLORC (State Law and Order Restoration Council) โดยรัฐบาลทหารประกาศไม่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 1974

          เมียนมาร์ไม่มีรัฐธรรมนูญจนกระทั่งมีการร่างฉบับที่ 3 ในปี 2008 และผ่านประชามติโดยระบุว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ประชาธิปไตย ซึ่งตรงข้ามกับความเห็นของพรรค NLD (National League for Democracy) ของอองซาน ซูจี และประชาชนจำนวนมาก

          ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2008 รัฐสภา (Union Assembly) ประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (People’s Assembly) มี 440 ที่นั่ง และสภาแห่งชาติ (National Assembly) มี 224 ที่นั่ง นอกจากนี้ 3 กระทรวงต้องดูแลโดยทหารคือกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน

          ในสภาผู้แทนราษฎร มีที่นั่งกันไว้ให้กองทัพ 110 ที่นั่งในที่นั่งทั้งหมด 440 ที่นั่ง และในสภาแห่งชาติมีที่นั่งกันไว้ให้กองทัพ 56 ที่นั่งในที่นั่งทั้งหมด 224 ที่นั่ง

          ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอย่างน้อยร้อยละ 20 หรือ 110 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่งหมายความว่าถ้าทหารไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางแก้ไขได้เลย

          ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 อย่างไร ผู้นำทหารซึ่งเป็นผู้นำประเทศด้วยก็เดินหน้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการเปิดประเทศ เหตุการณ์ที่น่าสนใจก็คือในปี 2012 หลังจากที่ อองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพไม่นาน พรรคของเธอก็ลงเลือกตั้งชิง 46 ที่นั่งในบริเวณใกล้ย่างกุ้ง ผลก็คือพรรค NLD ของเธอชนะท่วมท้นได้ 43 ที่นั่งจาก 46 ที่นั่ง

          อุปสรรคของอองซาน ซูจี สู่การเป็นประธานาธิบดีก็คือมาตรา 59f ซึ่งระบุว่าบุคคลที่จะเป็นประธานาธิบดีได้นั้นคู่สมรสหรือลูกต้องไม่ถือสัญชาติอื่น แต่ไม่ห้ามหากบุคคลผู้นั้นจะอยู่ในตำแหน่งอื่นที่มีการเลือกตั้ง

          มาตรา 59f ทำให้อองซาน ซูจี ซึ่งสามีและลูกชาย 2 คนถือสัญชาติอังกฤษไม่อาจเป็นประธานาธิบดีได้หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ซึ่งหมายความว่าทหารจะต้องให้ความเห็นชอบด้วย

          เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน (หากไม่นับประชามติ) ในขณะนี้จึงมีกว่า 2,500 ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสมาชิก หากพิจารณาแก้ไขกันจริงจังอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ และต้องมีการถกเถียงกันมากมายจากสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นเชื้อสายพม่า ส่วนที่เหลือเป็น 135 ชนกลุ่มน้อย

          ณ ปัจจุบันข้อเสนอแก้ไขมาตรา 5 9f ซึ่งทหารดูจะยอมผ่อนปรนก็คือตัดเงื่อนไขคู่สมรสเป็นคนต่างชาติออกไป (สามีเธอตายไปแล้ว) เหลือแต่เงื่อนไขการถือสัญชาติเมียนมาร์ของลูก ซึ่งหมายความว่าเธอจะเป็น
          ประธานาธิบดีได้ก็ต่อเมื่อลูกทั้งสองของเธอยอมเปลี่ยนสัญชาติเป็นเมียนมาร์

          เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับเธอมากเพราะเธอมีความขัดแย้งกับลูกชายคนโตจนถึงกับไม่พบหน้ากันมานานแล้ว และลูกทั้งสองพำนักอยู่ต่างประเทศ เธอบอกว่าลูกของเธอมีเส้นทางของเขา เธอไม่อาจบังคับให้เขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นเมียนมาร์ได้

          เมื่อสถานการณ์ถูกสร้างขึ้นมาเช่นนี้ การจะได้เป็นประธานาธิบดีหรือไม่จึงอยู่ที่ฝั่งของเธอ ถ้าไม่มีการตัดมาตรา 59f ออกไปทั้งหมดแล้ว เธอมีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดี (หากประชาชนเลือก) ก็ต่อเมื่อลูกของเธอทั้งสองยอมเปลี่ยนสัญชาติ

          ถ้าข้อเสนอแก้ไขมาตรา 59f ยังคงเป็นอยู่ดังที่เสนอกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อนาคตของเมียนมาร์ก็แขวนไว้กับการตัดสินใจของลูกสองคนของเธอ (ซึ่งเธอไม่ได้อยู่ใกล้ชิดในขณะที่เขาโตขึ้นเพราะเธอถูกกักไว้ในบ้านเป็นเวลากว่า 20 ปี และสามีก็จากไปด้วยโรคร้ายในขณะที่ถูกกักไว้โดยมิได้เห็นหน้ากันเลย)

          น่าสงสารเธอที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนเมียนมาร์มายาวนาน ไม่ยอมก้มหัวให้ใครจนได้อิสรภาพ แต่ก็ไม่อาจได้เป็นประธานาธิบดีเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติตามความคาดหวังของคนเมียนมาร์เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ได้วางหมากกันไว้

          น่าสงสารลูกทั้งสองของเธอด้วยที่ถูกแรงกดดันอย่างหนักโดยเกมส์การเมืองที่เขามิได้มีส่วนร่วมในการเล่นเลย ซึ่งต่างจากกรณีของไทยที่ควรรู้ก่อนหน้าว่า “อยู่ในครัวก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา หากทนความร้อนไม่ได้ก็ออกไปจากครัวเสีย (ถ้าสามารถสั่งตัวเองได้)”

ประท้วงแฝดในยูเครน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11
กุมภาพันธ์ 2557

          การชุมนุมประท้วงรัฐบาลในยูเครนดำเนินมาได้กว่า 2 เดือนซึ่งสั้นกว่าไทย 1 เดือน ทั้งสองมีหลายลักษณะที่คล้ายกันอย่างน่าสนใจ

          ยูเครนเป็นประเทศตั้งอยู่ใจกลางยุโรปตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกติดรัสเซีย ตะวันตกติดโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ส่วนตะวันตกเฉียงเหนือติดเบลารุส ยูเครนมีประชากร 45 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าไทยร้อยละ 20

          ยูเครนถูกผนวกเข้าเป็นรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1922 และได้อิสรภาพกลับมาอีกครั้งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 คนยูเครนได้อิสรภาพสมใจหลังจากต่อสู้มายาวนาน ในสงครามโลกครั้งที่สองประเทศถูกทำลายย่อยยับ ประชาชน 5-8 ล้านคนตาย ในสงคราม

          ประเทศนี้โด่งดังจาก ‘ปฏิวัติสีส้ม’ (Orange revolution) ซึ่งนำโดยประชาชนนับล้านคนเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งในปี 2004 และจากการรั่วของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ในปี 1986

          การประท้วงใหญ่ครั้งนี้สื่อตะวันตกลงข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่ามาจากพวกหัวรุนแรงซึ่งไม่พอใจประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ที่เปลี่ยนใจไม่ลงนามเอกสารแสดงเจตจำนงค์ในการเข้าเป็นสมาชิก EU แต่กลับไปรับความช่วยเหลือจากประธานาธิบดี Putin แห่งรัสเซียแทน ข่าวที่คนต่างประเทศได้รับมาเป็นทำนองว่าการประท้วงเป็นสงครามตัวแทนระหว่างฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับฝ่ายรัสเซีย

          อย่างไรก็ดีมีข้อเขียนจากชาวยูเครนบางคนที่สามารถส่งผ่านอินเตอร์เน็ตออกมาได้เล่าว่าเหตุใดผู้คนนับล้านจึงออกมาประท้วงปิดกั้นถนนสายหลักที่นำไปสู่ ‘จตุรัสอิสรภาพ’ (Independent Square) และเข้ายึดอาคารหลายหลังรอบบริเวณนั้น ปิดอาคารทำการของเทศบาล สภาหอการค้า ฯลฯ ซึ่งอยู่ในย่านการค้าสำคัญ

          บนถนนมีเต็นท์แบบทหารตั้งอยู่เต็ม ผู้คนประกอบอาหารและแจกแก่ผู้ชุมนุมประจำและที่มาตอนเย็นท่ามกลางอากาศ –12C หัวถนนก็ปิดกั้นโดยกองหิมะใหญ่ เศษไม้ ยาง โลหะ ฯลฯ มีป้ายแขวนข้อความต่าง ๆ ใครจะเข้าไปในค่ายข้างในได้ต้องเดินผ่านช่องแคบ ๆ ที่มีการ์ดซึ่งเป็นอดีตทหารคอยตรวจอย่างแข็งขัน

          ประท้วงกันมาสองเดือนมีคนตายไป 5 คน บาดเจ็บอีกนับร้อยคน ในตอนแรกของการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสงบไม่รุนแรงและไม่มีใคร ‘เรียกแขก’ มากนัก จนกระทั่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ “แบร์คุต” ซึ่งเป็นตำรวจที่ฝึกมาเพื่อการกวาดล้างพวกต่อต้านรัฐเข้าสลายนักศึกษาผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง จนทำให้คนยูเครนโกรธแค้นและหลั่งไหลกันมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นเรือนล้าน นับแต่นั้นมากระแสต่อต้านก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

          ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้คนออกมาก็คือการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางของประธานาธิบดีและครอบครัว การผูกขาดธุรกิจอันเป็นผลจากอำนาจกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนรอบข้างประธานาธิบดี การไม่ได้รับความยุติธรรม และการไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ตลอดจนการใช้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีฝ่ายตรงข้าม คนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการประท้วงครั้งนี้เพราะถูกกระทำมากที่สุด

          ประชาชนมีเชื้อความไม่พอใจประธานาธิบดีที่เล่นการเมืองแบบสกปรก (เมื่อชนะ นาง Yulia Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งแล้วก็ใช้อำนาจส่งเธอเข้าคุก 7 ปี เมื่อเธอออกมาหลังจากติดคุกไม่นานก็เป็นหนึ่งในหัวหน้าฝ่ายค้านในปัจจุบัน) ครอบงำการบริหารประเทศและศาล เปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นประธานาธิบดี และใช้อำนาจรวบอัยการ ศาล กรมสรรพากรมาไว้ในมือ

          Viktor Yanukovych ใช้อำนาจสร้างความเป็นเผด็จการเพื่อพยายามครองอำนาจให้นานที่สุดและเพื่อขยายธุรกิจของตัวเอง ฝ่ายค้านถูกข่มขู่และบ้างถูกอุ้มฆ่า สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ถูกครอบงำและแทรกแซงเบ็ดเสร็จ จนแม้แต่สื่ออินเตอร์เน็ตก็ถูกควบคุม

          คนยูเครนโดยแท้จริงแล้วปรารถนาอิสรภาพของประเทศโดยต้องการให้หลุดพ้นจากอำนาจอันล้นฟ้าของประธานาธิบดีและพรรคพวก และจากอำนาจของรัสเซียซึ่งพยายามแผ่กลับเข้ามาอีกครั้งอย่างแข็งขันผ่านผลประโยชน์ เช่น ให้เงินกู้โดยซื้อพันธบัตรยูเครนมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดราคากาซที่ยูเครนนำเข้าจากรัสเซีย ฯลฯ

          สาเหตุที่สื่อต่างประเทศไม่รายงานให้ครบถ้วนถึงสาเหตุที่แท้จริงของการประท้วงโดยกล่าวถึงเพียงประเด็น EU กับรัสเซียเท่านั้นก็เป็นเพราะว่าฝ่ายรัฐบาลได้ซื้อบริษัทสื่อใหญ่ของโลกที่ตีพิมพ์นิตยสารทรงพลังต่าง ๆ จนมีอิทธิพลต่อการนำเสนอข่าวให้ชาวโลกได้รับทราบ

          มาถึงตรงนี้ถ้าเอาปากกาขีดคำว่ายูเครนออกและใส่ไทยเข้าไปแทนก็จะได้ข้อความที่สามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาได้ใกล้เคียงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          อย่าหลงประเด็นว่ากลุ่มประท้วงยูเครนคือพวกหัวรุนแรงนิยม EU แท้จริงแล้วพวกเขากำลังพยายามใช้พลังประชาชนล้มประธานาธิบดีผู้ลุแก่อำนาจซึ่งเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในยูเครน ไม่ว่าจะเป็นคอรัปชั่น การผูกขาดอำนาจ การครอบงำการบริหารประเทศรวมทั้งตำรวจ อัยการและศาล การข่มขู่ฝ่ายค้าน การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ การลุแก่อำนาจโดยใช้เสียงส่วนใหญ่อย่างขาดนิติธรรม

          ในวันนี้นายกรัฐมนตรี (ยูเครนครับ) ได้ลาออกและคณะรัฐมนตรีหลุดออกจากอำนาจหมดแล้ว ประธานาธิบดีกำลังจะจัดให้มีเลือกตั้งใหม่ คอยดูกันซิว่าเขาจะมี ‘เลือกตั้งล่วงหน้า’ ที่เกิดขึ้นหลังวันเลือกตั้งจริงจนเป็น ’เลือกตั้งล่วงหลัง’ เหมือนบ้านเราไหม

เข้าใจจิตที่เอนเอียง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28
มกราคม 2557 

          ใจมนุษย์มักเอนเอียงโดยธรรมชาติอยู่แล้วและเมื่อถูกทำให้เอนเอียงยิ่งขึ้นก็ทำให้ขาดความมีเหตุมีผลมากขึ้น และปัญหาปวดหัวก็จะวิ่งตามกันมาเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด

          งานวิจัยทางการตลาดพบว่ามี 3 สิ่งที่ทำให้บุคคลหนึ่งมองเห็นว่าอีกบุคคลหนึ่งเป็นคนใช้ได้น่าคบหา (1) เป็นคนหน้าตาดี (2) คล้ายคลึงกับเราในเรื่องบุคลิกภาพ ความสนใจ และพื้นเพที่มา และ (3) เขาชอบเรา

          “เขาชอบเรา” นี่แหละเป็นตัวสำคัญ ลองสังเกตดูก็ได้ถ้าใครก็ตามชอบเรา ไม่ว่าจากคำพูดโดยตรง กิริยาท่าทาง หรือคำบอกเล่าของคนอื่น เราก็มักชอบเขากลับไปด้วย ความเอนเอียงในเรื่องการชอบเช่นนี้ดูเผิน ๆ เป็นสิ่งที่ดี น่ารัก แต่ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่ามันมีอันตรายซ่อนอยู่เพราะมันทำให้ใจเราเกิดความเอนเอียงอย่างอาจขาดเหตุผล

          ถ้าดูสื่อโฆษณาที่ต้องการทำให้เราชอบเขา (สินค้า) ก็จะพบว่า ข้อ (1) ทำให้เราเห็นสินค้าที่มีหน้าตาดีสวยสดงดงาม คนที่ปรากฏร่วมหน้าตาไม่ดีจะไม่มีในสื่อเหล่านี้เด็ดขาด ข้อ (2) เราเห็นคนที่มีหลายสิ่งคล้ายกับเรา เช่น แบบแผนการดำรงชีวิต สำเนียงพูด พื้นเพที่มา ฯ (เป็นศิลปะของนักโฆษณาในการทำให้คนหลายประเภทเห็นสื่อของเขาแล้วต่างก็เห็นว่ามีอะไรร่วมกับเขา) และ (3) ดูเขาจะชอบเราหรือชมเราหรือให้เกียรติเราด้วยคำพูดและท่าทาง (คุณเป็นคนเก่งอย่างสมควรใช้สินค้าของเรา)

          ศาสตร์ของการเป็นเซลล์แมนในปัจจุบันก้าวไกลไปถึงศิลปะของการสะท้อนภาพเดียวกัน (mirroring) กับผู้ซื้อ กล่าวคือผู้ขายจะพยายามกระทำสิ่งที่เหมือนกับผู้ซื้อเพื่อให้เกิดความชอบพอกัน ตัวอย่างเช่นการแสดงออกคล้ายคลึง เช่นในการหัวเราะ ความเร็วของการพูด เลียนแบบท่าทางไม่ว่าจะเป็นการเกาศีรษะหรือลูบคาง ทั้งนี้เพราะลึก ๆ ในใจแล้วเราชอบคนที่มีอะไรเหมือนกับเรา

          การชมลูกค้าว่าเก่ง งาม มีสมองเป็นเลิศ เยินยอ อย่างแนบเนียน ทำให้เกิดการชอบพอผู้ขายซึ่งจะนำไปสู่การขายในที่สุด พฤติกรรมเหล่านี้นักขายทำกันอยู่ทุกวันเพราะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเสมอ

          การโน้มเอียงเรื่องความชอบเขา (liking bias) อันเนื่องมาจากความรู้สึกว่าเขาชอบเรานั้น นักต้มตุ๋น ชายเจ้าชู้ นักขาย หญิงรวยเสน่ห์ ฯลฯ ชอบเอามาใช้หาประโยชน์อยู่บ่อย ๆ โดยการแสร้งทำว่าชอบเราเพื่อหลอกลวงให้เราชอบกลับ

          เมื่อ liking bias มีจริงในใจมนุษย์ เราก็ควรนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดีเพื่อให้คนอื่นชอบเราซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์มากกว่าคนอื่นเกลียดเรา ถ้าเชื่อสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “มีศัตรู คนเดียวก็มากเกินพอแล้ว” การทำให้คนอื่นชอบเราจึงสมควรเป็นสิ่งพึงปฏิบัติ

          ถ้าอยากให้ใครชอบเรา เราก็ต้องชอบเขาเสียก่อนด้วยการแสดงออกในหลายลักษณะอย่างจริงใจ มนุษย์นั้นเสมือนมีญาณวิเศษว่าใครชอบเราหรือไม่ชอบเราทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพูดกันเลยสักคำ ภาษากาย (body language) ผ่านสีหน้า แววตา ท่วงท่าการมอง การยิ้ม ฯลฯ สามารถสื่อการชอบกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากมีใจที่ชอบหรือไม่ชอบเป็นผู้สั่งการ

          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพึงพิจารณาก็คือเรื่องเราชอบคนที่มีอะไรเหมือนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสนิยม งานอดิเรก คนบ้านเดียวกันหรือภาคเดียวกัน ศิษย์เก่าโรงเรียนเดียวกัน หรือ ครูคนเดียวกัน

          เหตุผลที่เราชอบคนที่มีลักษณะเช่นนี้ โดยแท้จริงแล้วลึก ๆ ลงไปก็คือการชอบตัวเราเองนั่นเอง มนุษย์นั้นรักชอบตัวเอง ปรารถนาการยอมรับตนเองโดยคนอื่น (แย่งกันร้องคาราโอเกะให้คนอื่นฟังและได้รับคำชื่นชมว่าร้องเก่งก็คือการได้การยอมรับ) คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง ฯลฯ เมื่อเห็นภาพสะท้อนของตนเองที่แสนจะชื่นชอบในตัวคนอื่นก็ย่อมที่จะชอบเจ้าของร่างนั้นด้วยเป็นธรรมดา

          เราได้เห็นคนมีรสนิยมเดียวกันชอบพอคุยกันได้เป็นวรรคเป็นเวรอย่างสนุกสนานจนคนอื่นรู้สึกขบขันและงุนงง เราได้ยินเรื่องการตกลงทางธุรกิจได้อย่างง่ายดายเพียงเพราะ คุยกันไปแล้วรู้ว่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ก็มีที่มาจากการชอบตัวเองอีกนั่นแหละ

          คนดี ๆ เมื่อพบกันก็จะคุยกันแต่เรื่องดี ๆ ชวนกันไปทำสิ่งที่งดงาม เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในขณะที่คนชั่วเมื่อพบกันก็จะคุยกันแต่เรื่องชั่วช้า ส้องสุมกันคดโกงคนอื่นหรือชาติอยู่เสมอ เนื่องจากรสนิยมมันต้องกัน

          การคบหาแต่บัณฑิตดังที่พระพุทธเจ้าสอนจึงเป็นเรื่องน่าคิด คนดีที่ไปคบหาสมาคมกับคนชั่วมีโอกาสถูกอิทธิพลจากคนชั่วครอบงำเอาได้

          สิ่งเลวร้ายที่สุดของการคบหาคนชั่วหรือเป็นลูกน้องคนชั่วก็คือทางโน้มที่จะยอมรับเอาความชั่วเข้ามาในใจ และยอมรับว่าคนชั่วนั้นมิได้เลวทรามดังที่เคยคิด

ดึงดันทำให้ประเทศหยุดนิ่ง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21
มกราคม 2557 

          คนไทยพูดกันมากเรื่องจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์หรือไม่ จะเลือกตั้งได้ ส.ส. ครบ 500 คนหรือไม่ แต่เรื่องหนึ่งที่มักไม่ค่อยพูดกันก็คือเมื่อใดที่เราจะได้รัฐบาลตัวจริงที่ไม่ใช่รักษาการ เพื่อทำให้ประเทศเรา “เดินหน้า”

          ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงตามความปรารถนาของรัฐบาลคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และพรรคเพื่อไทยกับพรรคเล็กทั้งหมดร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะชนะได้ที่นั่งท่วมท้น แต่ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเปิดสภาไม่ได้เนื่องจากมี ส.ส. ไม่เกิน 95% ของ 500 คน หรือ 475 คน (ขาดได้ไม่เกิน 25 คน) เนื่องจากมีถึง 28 เขต (คน) ที่ไม่มีผู้สมัครเลย และมี 22 เขตหรือมากกว่าที่น่ากลัวว่าจะได้ไม่ครบ 2 เงื่อนไข คือ (1) ผู้ชนะได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์มาลงคะแนนเสียง และ (2) ได้คะแนนเกินกว่าคะแนน ผู้ไม่ประสงค์จะเลือกใคร หรือ no vote ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย (ปกติมาลงคะแนนกัน 40% ของผู้มีสิทธิ์ ดังนั้นต้องได้คะแนนเกินกว่า 50% ของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด) เมื่อคำนึงถึงบรรยากาศการเลือกตั้งในปัจจุบัน

          ในกรณีปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องเลือกตั้งเลย เมื่อพรรคใดได้คะแนนมากสุดในสภาผู้แทนราษฎรและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถวายสัตย์แล้วและรัฐมนตรีดูฤกษ์ดูยามเริ่มเข้าทำงานก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนนับจากวันเลือกตั้ง ดังนั้นประเทศจะ “เดินหน้า” ได้ก็ไม่หนีต้นเดือนเมษายน 2557 เป็นอย่างเร็วที่สุด

          อย่างไรก็ดีในสภาพเป็นจริงปัจจุบัน ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกหลายเขตอย่างแน่นอน (28 เขตเป็นอย่างน้อยที่สุดบวกหลายเขตที่มีปัญหาคะแนนและการจัดการเลือกตั้ง) สมมุติว่าใช้เวลารวมอีก 2 เดือนกว่าจะตกลงกันได้ เวลาตั้งรัฐบาลได้เร็วที่สุดอย่างไรก็ไม่เร็วกว่าเดือนมิถุนายน แต่ถ้ามีการประท้วงต่อต้านการเลือกตั้งโดยผู้ลงคะแนนและประชาชน หรือหาผู้ร่วมมือเป็นกรรมการเลือกตั้งไม่ได้เวลาก็จะยืดออกไปอีก

          ถ้าหลังเลือกตั้งมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งทุกเขตพร้อมกันทั้งประเทศในวันเดียวกัน แต่การเลือกตั้ง 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครกระทำหลังวันนั้น และศาลเห็นด้วย การเลือกตั้งกุมภาพันธ์ก็เป็นโมฆะต้องเลือกกันใหม่ การ “เดินหน้า” ก็ต้องช้าไปอีกอาจถึงกรกฎาคมก็เป็นได้ และถ้าหากมีการประท้วงจนเปิดสภาไม่ได้ กว่าจะ ‘เดินหน้า’ ได้ก็อาจถึงสิงหาคม

          การที่ประเทศ ‘เดินหน้า’ ไม่ได้เป็นเวลาตั้งแต่ยุบสภาเมื่อกลางเดือนธันวาคมจนถึงกรกฎาคม หรือสิงหาคม 2557 นั้นรวมเป็นเวลา 8-9 เดือน ลองคิดดูว่าประเทศจะเสียหายเพียงใด

          อย่างไรก็ดีในอีกฉากหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการลาออกทันทีซึ่งจะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งชุดหลุดจากตำแหน่งไปด้วย และมีรัฐบาลใหม่ที่วุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก หรือได้รัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับของ ‘มวลมหาประชาชน’ โดยมาจากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็กระทำได้ในเวลาอันสั้น ‘การเดินหน้า’ ก็เกิดขึ้นได้ในเวลาอันควร

          ถ้ารัฐบาลชุดใหม่นี้ดำเนินการในเรื่องปฏิรูปประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งดังที่ ‘มวลมหาประชาชน’ ต้องการเสร็จแล้วก็ต้องลาออกและจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลตัวจริงใหม่ การประท้วงในการเลือกตั้งก็จะหมดไปหากมีการพูดจาร่วมหารือกันทุกฝ่ายระหว่าง “การปฏิรูประเทศไทย” ในฉากนี้ประเทศก็จะไม่หยุด “เดินหน้า” เป็นเวลานานดังฉากการจัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์

          การดึงดันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ให้ได้จนได้เสียงข้างมากในสภา จะทำให้การ ‘เดินหน้า’ เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน หรืออาจถึงสิงหาคม แต่เชื่อได้ว่ารัฐบาลก็ยากที่จะอยู่ได้นานเพราะจะไม่มี ฝ่ายค้านตัวจริง

          ประเด็นเรื่องความชอบธรรมและเกียรติภูมิของรัฐบาลในสายตาคนไทยและต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในยุคที่มวลชนจำนวนมาก “จุดไฟติด” เกิดความตื่นตัวไม่พอใจรัฐบาลเดิมซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของครอบครัวเดียวในร่างของเผด็จการรัฐสภา รัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นโคลนนิ่งของรัฐบาลเดิมจะถูกกดดันและบีบคั้นในทุกเรื่องที่กระทำไป โดยเฉพาะในเรื่องคอรัปชั่นของการจำนำข้าว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ติดต่อมาและยุ่งจนเป็นลิงแก้แหไปแล้ว คลื่นลมในยุคที่ไม่มีฝ่ายค้านนั้นจะหนักหนาสาหัสกว่าในปัจจุบัน

          การดึงดันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จะไม่ทำให้สามารถรักษาอำนาจของรัฐบาลและพรรคพวกไปได้นานเกิน 6-7 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาของการรักษาการด้วย ดังนั้นฉากนี้จะทำให้ประเทศ ‘หยุดนิ่ง’ เป็นเวลากว่า 4-5 เดือนอย่างค่อนข้างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีทางโน้มสูงที่จะเสียเงินเลือกตั้งไป 3,800 ล้านบาทด้วยในกรณีที่ศาลตัดสินว่าเป็นโมฆะเพราะประเด็นกฎหมาย หรือกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องยุบสภาอีกครั้งในเวลา 6-7 เดือนข้างหน้า

          อย่าลืมว่าคนที่ไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจการผูกขาดโดยครอบครัวเดียวที่พยายามจะกินหัวจดหางยังมีจำนวนอีกมากมายที่อยู่ที่บ้านแต่ไม่ได้ออกมาแสดงตน เมื่อรวมกับจำนวนผู้แสดงตนเป็น ‘มวลมหาประชาชน’ แล้วก็จะเห็นว่าคลื่นลมแห่งความไม่พอใจสถานการณ์เช่นนี้นั้นใหญ่โตมหาศาล และมันไม่ได้หายไปง่าย ๆ จากใจคน เพราะพลังสึนามิมันได้เกิดขึ้นแล้ว

          การลาออกของนายกรัฐมนตรีจะช่วยให้ประเทศ ‘เดินหน้า’ ไปได้ ไม่หยุดชะงักเป็นเวลาอีกหลายเดือนอย่างน่าใจหาย จะดื้อดึงไปทำไมในเมื่อรู้ว่าอย่างไรเสียก็ยากที่จะอยู่ได้ในเวลาข้างหน้าอันใกล้ ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงขวากหนามทางกฎหมายอีกมากมายซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนำข้าว การแก้ไขมาตรา 190 กฎหมายนิรโทษกรรม (เรื่องยังไม่จบ) ฯลฯ ไปในทันที

          ถ้าลาออกก็จะทำให้มีทางเลือกของการเดินทางในชีวิตส่วนตัวต่อไปกว้างขึ้น แต่ถ้ายังดึงดันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ต่อไปก็เปรียบเสมือนกับบีบทางเลือกของตนเองให้แคบลงทุกทีอันเนื่องจากการเพิ่มดีกรีของความไม่พอใจจากฝูงชน

          ก็เมื่อรู้ว่าจุดจบมันจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่เลือกเส้นทางเดินวันนี้ให้งดงามในประวัติศาสตร์ ดีกว่าจะให้ถูกกระชากลากถูไปอย่างไม่มีทางเลือกเมื่อวันนั้นมาถึง

ศึกสองนางพญาบังคลาเทศ

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14
มกราคม 2557

          เหตุการณ์ฝ่ายค้านคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้งและประท้วงกันจนนองเลือดในบังคลาเทศในปัจจุบันทำให้คนไทยสนใจเป็นพิเศษว่ามันเกิดอะไรขึ้น

          ก่อนกล่าวถึงสองนางพญาคือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งต่างฝ่ายต่างเคยเป็นนายกรัฐมนตรีกันมาแล้วคนละ 2 สมัย ขอเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เพื่อปูพื้นไปสู่สองนางพญาซึ่งเป็นตัวละครเอก

          การได้รับอิสระภาพในปี ค.ศ. 1947 ของอินเดียทำให้เกิดประเทศขึ้นใหม่อันประกอบด้วย ปากีสถานตะวันตกซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของอินเดีย และปากีสถานตะวันออกซึ่งอยู่ไกลออกไป ปากีสถานทั้งตกและออกเป็นประเทศเดียวกันแต่ดินแดนไม่ติดกันโดยมีอินเดียคั่นอยู่

          บุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของปากีสถานตะวันออกคือ Sheikh Mujibur Rahman หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Mujib จนได้เป็นประเทศใหม่ในชื่อของบังคลาเทศในปี 1971 (ปากีสถานตะวันตกก็เปลี่ยนชื่อเป็นปากีสถาน) และในปี 1973 เขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีโดยมีพรรค Awami League (AL) ซึ่งมีนโยบายเอียงไปทางสังคมนิยมเป็นฐาน อย่างไรก็ดีในปี 1975 Mujib ซึ่งได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นบิดาของประเทศก็ถูกสังหารพร้อมกับครอบครัวเกือบทั้งหมด

          ลูกสาวคนโตชื่อ Shiekh Hasina และคนเล็กอีกคนรอดชีวิตเพราะอยู่นอกประเทศ Hasina มีเลือดพ่อทางการเมืองเข้มข้นและปัจจุบันเธอคือนางพญาคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในปัจจุบัน

          บ้านเมืองยุ่งอยู่ 2 ปี มีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีรัฐประหาร ทหารเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดนายพล Ziaur Rahman ก็ทำรัฐประหารและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1977 โดยมีพรรค BNP ซึ่งมีนโยบายเศรษฐกิจเสรีเป็นฐาน อย่างไรก็ดีในปี 1981 เขาก็ถูกสังหารอีกเหมือน Mujib

          ภรรยาหม้ายของเขาชื่อ Khaleda Zia ทำงานการเมืองต่อจากสามีภายใต้อุดมการณ์ของพรรค BNP เธอคือนางพญาคนที่สองซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในปัจจุบัน หัวหน้าผู้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างดุเดือด

          ในเวลาต่อมาชีวิตของทั้งสองนางพญาโยงใยกันเป็นคู่แค้น ต่างเกลียดกันอย่างเข้ากระดูกดำ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะท่ามกลางคอรัปชั่นที่ดาษดื่น การฆาตกรรม กดขี่ข่มเหง ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเต็มไปด้วยความรุนแรง

          เมื่อนายพล Ziaur Rahman สิ้นชีวิต ทหารก็เข้ามามีบทบาทอีกครั้งโดยมีนายพล Hossain Mohammad Ershad เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและต่อมาเป็นประธานาธิบดีสามารถครองอำนาจได้ยาวจาก ค.ศ. 1982 ถึง 1990 ในช่วงเวลานี้ Hasini เข้าออกคุกหลายครั้งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยร่วมมือกับ Khaleda Zia และกลุ่ม
          ประชาชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็สามารถผลักดันให้ Ershad ต้องลาออกและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1991

          ในการเลือกตั้งครั้งนี้ Khaleda Zia แห่งพรรค BNP ก็ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของโลกมุสลิม (เปลี่ยนระบบมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารสูงสุด) เธอครองอำนาจท่ามกลางแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านคือ AL และพรรคอื่น ๆ ให้มีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งแทนแต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ยอมในการเลือกตั้งในปี 1996 Hasini จึงเรียกร้องให้หยุดงานเป็นเวลาหลายอาทิตย์ และพรรคฝ่ายค้านรวมหัวกันประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง กล่าวคือไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง

          สภาผู้แทนราษฎรที่มีแต่ ส.ส. จาก BNP หรือฟากรัฐบาลอยู่ได้ไม่นานเพราะขาดความชอบธรรมจนต้องประกาศเลือกตั้งอีกครั้งใน 4 เดือนต่อมาในปี 1996 โดยมีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ Hasini แห่งพรรค AL ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก Zia กลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านแทน

          Hasini เป็นนายกรัฐมนตรีจาก 1996 จนถึง 2001 ท่ามกลางการประท้วง หยุดงาน วุ่นวายปั่นป่วนและความรุนแรงขึ้นทุกที และในปี 2001 ก็แพ้เลือกตั้งเสียแชมป์ให้แก่ Zia ผู้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 Zia ครองอำนาจจาก 2001 ถึง 2006 จนถึงกำหนดเลือกตั้งใหม่

          ในการเลือกตั้งที่กำหนดในปี 2007 Hasani ผู้นำฝ่ายค้านไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีรักษาการ กล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ต่อสู้ประท้วงกันจนมีผู้เสียชีวิต 40 คน ทั้งพรรค AL และ BNP ตกลงกันไม่ได้จนทหารเข้าแทรกแซงจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาจัดการ “ล้างบาง” คอรัปชั่น และความชั่วร้ายทั้งปวงที่มีอยู่ทั่วไป

          รัฐบาลของทหารชุดนี้จริงจังในการจัดการปราบคอรัปชั่นอย่างไม่เลือกหน้า ลูกชายสองคนของ Zia และ Zia เองถูกจับข้อหาคอรัปชั่น ส่วน Hasani โดนข้อหาคอรัปชั่นและฆาตกรรมคนจำนวนมาก รัฐบาลพยายามกีดกันไม่ให้ Hasani กลับจากสหรัฐอเมริกา และบีบให้ Zia ออกนอกประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อ “ปฏิรูปประเทศ” เพราะทน “วีรกรรม” ของสองนางพญาไม่ไหว

          อย่างไรก็ดีในที่สุดหลังจากขึ้นศาล ต่อสู้คดีกันไม่นาน นางพญาทั้งสองก็หลุดจากคดีและมีการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปี 2008 ทั้ง Hasani และ Zia ลงเลือกตั้งผลปรากฏว่า Hasani ชนะอย่างท่วมท้น เธอได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองจนถึงปลายปี 2013

          ปัจจุบัน Zia อายุ 68 ปี และ Hasani อายุ 66 ปี ต่างไม่ลดราวาศอกกันเลยในวัยนี้ เมื่อการเลือกตั้งตามกำหนดมาถึงในวันที่ 5 มกราคม 2014 Hasani ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีห้ามมิให้ฝ่ายค้านเดินขบวนประท้วง ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เธอกักขัง Zia ไว้ในบ้านโดยอ้างว่าเพื่อ รักษาความปลอดภัย และไม่ยอมให้มีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้ง

          Zia ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดไม่พอใจมาก ประท้วงหยุดงานมาหลายเดือนก่อนเลือกตั้ง บอยคอตเลือกตั้งและประท้วงด้วยความรุนแรงเหมือนที่ Hasani กระทำกับเธอในปี 1996 เพียงแต่เที่ยวนี้เธอได้เรียนรู้บทเรียนมาแล้วจึงเล่นหนักกว่าเก่า

          ในการเลือกตั้ง 300 ที่นั่งที่ผ่านไปนั้นมีอยู่ 154 ที่นั่งที่ไม่มีคู่แข่ง แต่ก็มีหลายพรรคสมัคร Hasani จึงชนะได้ 127 ที่นั่ง ส่วนอีก 146 ที่นั่งที่มีการแข่งนั้น Hasani ชนะ 105 ที่นั่ง สรุปก็คือพรรครัฐบาลของ Hasani ชนะขาด

          สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็คือไม่มีพรรคใหญ่เป็นฝ่ายค้านในสภา ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ก็คือถ้าถูกบอยคอตเลือกตั้งและมีพรรคเดียวในสภาก็จะอยู่ไม่ครบเทอม ความปั่นป่วนวุ่นวายรุนแรงยังไม่จบและจะมีต่อไปอีกเพราะไม่ต้องการให้นางพญาอีกคนได้เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันสองสมัย ……..เรื่องอย่างนี้มันยอมกันไม่ได้

          บทเรียนสำคัญของไทยก็คือช่วง 2006-2008 ที่ “ล้างบาง” นั้น เหตุใดมันจึงไม่ได้ผลถึงแม้ผู้นำทั้งสองฝ่ายโดนดำเนินคดีคอรัปชั่นด้วยกันทั้งคู่พร้อมพรรคพวกแต่ก็รอดมาได้ ทำอย่างไร “การปฏิรูป” ปราบคอรัปชั่นจึงจะมีประสิทธิภาพ

“แผ่นดินไหวคอรัปชั่น” ในอินเดีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7
มกราคม 2557

คอรัปชั่นคือการเอาอำนาจที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นคอรัปชั่นจึงเป็นปัญหาหนักใจของประชาชนผู้ไม่มีอำนาจทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรส่วนหนึ่งจะถูกดูดหายไปอย่างไม่เกิดประโยชน์ กอบทั้งทำให้ศีลธรรมจรรยาของสังคมบิดเบี้ยวอีกด้วย เมื่อผู้คนตื่นขึ้นเห็นปัญหาก็ทำให้เกิด “แผ่นดินไหวทางการเมือง” ขึ้น ดังที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดียประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดของโลกในขณะนี้

          เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2556 มีการเลือกตั้งใน 5 รัฐ เพื่อเลือก ส.ส.ของรัฐและมุขมนตรี ของรัฐ พรรครัฐบาลคือพรรคคองเกรสซึ่งครองอำนาจมายาวนานแพ้ขาดลอยทุกรัฐเนื่องจากประเด็นคอรัปชั่น และความล่าช้าในการออกกฎหมายควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

          อินเดียมีเรื่องฮื้อฉาวคอรัปชั่นของรัฐมนตรี ส.ส. และข้าราชการทั้งในระดับประเทศและรัฐมากมายเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ แต่ที่หนักสุดก็คือเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวคือในปี 2008 นาย Andimuthu Raja รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโทรคมนาคมแจกใบอนุญาตความถี่ตามลักษณะใครมาก่อนได้ก่อน ไม่ใช้วิธีประมูล จนทำให้รัฐขาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้าน ๆ บาท งานเขมือบครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นกรณีคอรัปชั่นที่ใหญ่สุดของอินเดีย

          เมื่อประชาชนไม่พอใจเรื่องนี้กันมาก รัฐมนตรีก็ลาออกไป 3 คน ผู้ช่วยคนหนึ่งที่เกี่ยวพันฆ่าตัวตาย ในที่สุดในปี 2012 ศาลฎีกาก็ตัดสินให้ยกเลิกใบอนุญาตโทรคมนาคมรวม 122 ใบ ขณะนี้มีข้าราชการกำลังรอติดคุกกันอยู่หลายคน คำถามที่ประชาชนสงสัยก็คือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดจึงล่าช้ามากกว่าที่จะนำคนมาลงโทษได้

          อีกเรื่องก็คือการทำเหมืองเถื่อนในรัฐ Karnataka ระหว่างปี 2006 ถึง 2010 จนทำให้รัฐขาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกเช่นการโกงกินครั้งมโหฬารในเกือบทุกลักษณะ ในการจัด Commonwealth Games ในปี 2010 หัวหน้าใหญ่ปราบคอรัปชั่นของรัฐบาลถูกศาลฎีกาบีบให้ลาออกเนื่องจากมีมลทินฉ้อราษฎร์บังหลวง การซื้อเสียงตอนลงคะแนนไม่ไว้วางใจจนทำให้รัฐบาลรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ฯลฯ

          คนอินเดียเบื่อหน่ายคอรัปชั่นเช่นเดียวกับคนไทย คนกัมพูชา คนจีน คนเวียดนาม ฯลฯ ซึ่งดูจะหนักมือขึ้นทุกทีในหลายประเทศ กระบวนการโกงก็ยอกย้อนซับซ้อนมากขึ้นมากกว่าการโกงกินกันซึ่ง ๆ หน้าแบบเมื่อสมัยก่อน (เชื่อว่ามีการเลียนแบบกันข้ามประเทศอย่างแน่นอน โดยเอาไปต่อยอดในรูปแบบที่เหมาะแก่แต่ละประเทศ คนสันดานขี้โกงนั้นมักมีความคิดริเริ่มและมีนวตกรรมโดดเด่นกว่าคนซื่อสัตย์มากนัก)

          การเลือกตั้งรัฐหนึ่งในสี่รัฐคือรัฐเดลีซึ่งมี ส.ส. 70 ที่นั่ง พรรค Congress ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ครองอำนาจในประเทศได้ที่นั่งมาเพียง 8 ที่นั่ง (เสียไป 35 ที่นั่ง) พรรคฝ่ายค้านใหญ่คือ BJP ได้ที่นั่งมากสุดคือ 31 ที่นั่ง และพรรคใหม่คือพรรคคนเดินดิน (Common Man’s Party หรือ AAP) ของนาย Arvind Kejriwal ได้ 28 ที่นั่ง

          ที่น่าตื่นเต้นก็คือพรรคคนเดินดินนี้เพิ่งตั้งได้เพียงปีเดียว มีนโยบายสำคัญคือปราบคอรัปชั่น ใช้ไม้กวาดเป็นสัญลักษณ์ของพรรคในการหาเสียง ถึงแม้จะได้คะแนนเป็นที่สองแต่ก็ตั้งรัฐบาลได้เพราะพรรค Congress สนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่พรรค BJP ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

          Kejriwal หักปากเซียนที่ไม่เชื่อว่าเขาจะชนะได้ นโยบายหลักของเขาก็คือปราบคอรัปชั่นซึ่งชัยชนะของเขาเปรียบเสมือน ’แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ในอินเดีย ซึ่งจะเกิด aftershocks ตามมาเป็นระยะ และจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปีหน้า ขณะนี้พรรค Congress รีบปรับขบวน เสนอแนะไอเดียปฏิรูปกระบวนการปราบคอรัปชั่น (ฟังคุ้นหูจังเลย) เพราะรู้ดีว่าเจ้าของประเทศตัวจริงเอือมกับคอรัปชั่นซึ่งทำให้สูญเสียทรัพย์ของรัฐมากมายตลอดไปจนถึงสร้างความเสื่อมในจริยธรรมของสังคมอีกด้วย

          นาย Kesriwal มีอายุเพียง 45 ปี เคยได้รับรางวัลแม๊กไซไซเมื่อปี 2549 จากผลงานผลักดันรัฐสภาให้ออกกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเพื่อสร้างธรรมาภิบาลโดยองค์กรภาคประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้มากขึ้น

          เขาเคยทำงานในภาครัฐและเอกชนและลาออกมาเป็นนักเคลื่อนไหวสังคม เพราะเขาหมดศรัทธาในระบบการทำงานที่อุดมไปด้วยคอรัปชั่น Kejriwal ต่อสู้คอรัปชั่นมาตลอด ขับเคลื่อนให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อสอบสวนเรื่องร้องเรียนทุจริตของข้าราชการและนักการเมือง

          เขาตั้งพรรคคนเดินดินในวันตรงกับวันเกิดครบ 143 ปี ของมหาตมะคานธี โดยระดมคนรุ่นใหม่ไฟแรงมีทั้งคนขับสามล้อ ทนายความ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ (ได้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 26 ปี) ร่วมบริหารรัฐ

          เมื่อได้รับเลือกเป็นมุขมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีของรัฐ เขาปฏิเสธไม่อยู่บ้านใหญ่ประจำตำแหน่ง ปฏิเสธการใช้รถนำซึ่งมีการใช้กันเกร่อโดยนักการเมือง และปฏิเสธการใช้ทีมอารักขาความปลอดภัย เขาบอกว่าพระเจ้าคือความปลอดภัยของเขา

          ไม่เพียงแต่เซียนการเมืองในรัฐเดลีที่มีประชาชน 15 ล้านคนวิเคราะห์พลาด คู่แข่งของเขาก็มองไม่เห็น ‘แผ่นดินไหวการเมือง’ ครั้งนี้ด้วย มุขมนตรีหญิงคนเก่าของพรรค Congress เป็นติดต่อกันมาก 15 ปี ต้องหลุดไปจากเก้าอี้

          ชัยชนะของพรรค AAP มิได้หมายความว่าเขาจะเอาชนะคอรัปชั่นซึ่งลงรากลึกในสังคม พร้อมไปกับแก้ไขปัญหาความยากจนและข้าวของแพงได้ ในสังคมอินเดียที่วัฒนธรรมรักษาธรรมาภิบาลอ่อนแอ (แจกใบอนุญาตโทรคมนาคมได้อย่างไรโดยไม่มีการประมูล) การตรวจสอบอ่อนแอ บทบาทภาคประชาชนมีจำกัด มีนักการเมืองและข้าราชการ ‘ปากมัน’ อยู่เต็มไปหมด อย่างไรก็ดีการมีนักการเมืองหน้าใหม่ ไฟแรง มีความตั้งใจดีก็อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

          เป็นที่แน่นอนว่าหากสองพรรคใหญ่คือ Congress และ BJP ที่มีอำนาจล้นฟ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกก็คงรำวงรอบเก่งกันอีกอย่างแน่นอน

          เป็นที่ชัดเจนว่าความไม่พอใจปัญหาคอรัปชั่นในอินเดียกำลังก่อตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การแพ้เลือกตั้งทั้ง 5 รัฐของพรรครัฐบาลเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าประชาชนกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศเอเชียในปัจจุบัน

สวดมนต์ V.S. ก่นด่า ข้ามปี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
31 ธันวาคม 2556

          ความขัดแย้งในบ้านเราในปัจจุบันโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของความต้องการให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์หรือไม่ให้มี หากแต่ลึกลงไปเป็นเรื่องของความต้องการปฏิรูปในหลายมิติที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองเราในปัจจุบัน

          สิ่งที่ทำให้ผู้คนออกมาชุมนุมกันนับล้านคน (ศอ. รส. ก็ยอมรับแล้วว่ามีจำนวนมากกว่า ล้านคน ซึ่งตรงข้ามกับที่ ศอ. รส. เคยแถลงก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมงว่ามีจำนวน 11,800 คน สถานการณ์มันช่างน่าขบขันและเป็นความพยายามในการกู้ความน่าเชื่อถือของ ศอ. รส. ซึ่งแทบจะไม่มีอยู่แล้วกลับคืนมา) ก็คือความเบื่อหน่ายต่อระบอบการเมืองปัจจุบันที่เห็นชัดเจนว่าถูกครอบงำมากขึ้นทุกทีด้วย “ระบอบทักษิณ” อันอุดมด้วยคอรัปชั่น การไร้ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ลุแก่อำนาจ (ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ “ยกเข่ง”) การตั้งใจแทรกแซงองค์กรอิสระผ่านวุฒิสภา ฯลฯ

          ในความรู้สึกส่วนตัวสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้พร้อมใจกันออกมาก็คือ “การไม่เอาทักษิณ-ไม่เอาระบอบทักษิณ-ไม่ “เอาครอบครัวชินวัตร”) ผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียนไปตามอารมณ์หากมาจากการสังเกตการแสดงออกทางคำพูด ภาษากายและความรู้สึกของผู้คนที่มาร่วมชุมนุมด้วยการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างอย่างพยายามไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวตัดสิน

          ความรู้สึกที่ต้องการให้มีการปฏิรูปดังกล่าวนั้นตามมาภายหลังเนื่องจากมันผูกโยงกับ ‘การไม่เอาทักษิณ’ อย่างใกล้ชิด กล่าวคือถ้าปฏิรูปแล้วก็สามารถเริ่มกระบวนการขีดวงจำกัด-ลดอำนาจ-กำจัด ‘ระบอบทักษิณ’ ด้วย ‘กติกาใหม่’ ได้

          ตัวละครที่โดนหนักที่สุด 3 ตัวก็คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ คุณทักษิณ และครอบครัว ‘ชินวัตร’ ผมคิดว่าถ้าตัวละครทั้ง 3 ตัว ได้มาอยู่ในที่ชุมนุมและได้ยินได้ฟังได้อ่าน สิ่งที่ผู้มาชุมนุมคุยกันและเขียนป้ายที่ถือกันมาอย่างละเอียดแล้ว จะช้ำใจเป็นอันมาก โดยเฉพาะ ตัวนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

          ผมยังไม่เคยเห็นผู้หญิงคนใดในการเมืองไทยที่ถูกกล่าวถึงในการพูดคุยกันของผู้ชุมนุมอย่างสาดเสียเทเสียเท่านายกยิ่งลักษณ์ สรรพนามและคำพูดนั้นเรียกได้ว่าหนักแบบจัดเต็ม

          ผมมั่นใจว่าไม่มีลูกน้องคนใดรายงานท่านหรอกว่ามันหนักหนาสาหัสแค่ไหนเพราะ นายย่อมได้รับฟังแต่สิ่งที่รื่นหูเสมอ (ขงจื๊อบอกว่าคนอายุ 60 ต้องสามารถรับฟังสารพัดเรื่องได้อย่างรื่นหู แต่นายบางคนอายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังทนฟังสิ่งไม่รื่นหูไม่ได้) นายกยิ่งลักษณ์ยังไม่ถึง 60 ลูกน้องจึงไม่กล้ารายงานสิ่งนี้กระมัง

          สำหรับตัวคุณทักษิณนั้นไม่ต้องพูดถึงเคยได้ยินมากว่าสิบปีแล้ว แต่สำหรับสมาชิกของ ‘ครอบครัวชินวัตร’ นี่สิหนักเอาการ เพราะเป็นการก่นด่าทั้งครอบครัว ทั้งบรรพบุรุษแบบ ‘เหมาเข่ง’ อย่างมีอารมณ์ (ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมแก่คนที่ไม่รู้ไม่เห็น เช่น น้องไปป์) แต่การมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ‘ครอบครัวชินวัตร’ ถึง 3 คน (ทักษิณ สมชาย ยิ่งลักษณ์) และแถมสองชื่อต้นของปาร์ตี้ลิสต์ในการสมัครเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ก็มาจาก ‘ครอบครัวชินวัตร’ อีก จะทำให้คนเห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

          นึกไม่ออกว่ามีครอบครัวใดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ถูกตำหนิ วิจารณ์ ก่นด่า ในทางเสียหายเท่าครอบครัวนี้

          เมื่อผู้ชุมนุมอยากเห็นการปฏิรูป ก็ยอมไม่ได้ที่จะให้รีบมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ เพราะไม่ต้องการเห็นวังวนเดิมกลับมา

          ฝ่ายรัฐบาลต้องการรักษาอำนาจไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าตนเองหลุดจากการรักษาการและมีการปฏิรูปแล้วตนเองจะโดนอะไรบ้าง จึงกอดเก้าอี้แน่นพร้อมกับท่องคาถา ‘เลือกตั้งก่อนปฎิรูป’ หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมออกจากการรักษาการ

          การรับปากว่าเลือกไปก่อนและจะปฏิรูปภายหลังนั้น วิญญูชนผู้ไม่เขลาเกินไปย่อมไม่รับ เพราะรู้ทันนักการเมืองว่าเขาจะปฏิรูปเพื่อให้ตนเองมีอำนาจน้อยลงได้อย่างไร

          การดึงดันเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นั้น เห็นชัดเจนว่าจะนำไปสู่ปัญหามากมายที่ตามมา สมมุติว่าคุณยิ่งลักษณ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเดิม ไม่มีฝ่ายค้านที่มีตัวตน คิดหรือว่าจะหวานหมูสามารถผ่านกฎหมายอะไรก็ได้ เหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมก็เห็นกันอยู่แล้ว และเมื่อคำนึงถึงว่าคนกลุ่มนี้ก็ขาดความชอบธรรมในสายตาของประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพที่มีเสียงดังที่สุดไปแล้ว การจะกลับมาอีกเหมือนเดิมและทำงานได้อย่างราบรื่นนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนเหล่านี้พร้อมที่จะออกมาเสมอและอาจมากขึ้นด้วย (ยิ่งชุมนุมใกล้รถไฟฟ้ายิ่งออกมากันมาก)

          สุภาษิตจีนนั้นบอกว่ารัฐบาลเปรียบเสมือนเรือที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรแห่งประชาชน ถ้าคลื่นลมประชาชนแรงจัดแล้วเรือนั้นก็ลอยอยู่ไม่ได้

          การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์จะทำให้เสียเงินไปฟรี ๆ 3,800 ล้านบาท (ในยามที่ยังไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาก็นับว่าเป็นยอดเงินที่สูงมาก) เพราะจะต้องเลือกตั้งกันใหม่ในเวลาอันไม่นาน ยิ่งถ้าหลังเลือกตั้ง ปปช. มีคำตัดสินว่า ส.ส. และ ส.ว. 368 คน กระทำผิดในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้วว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมอีกนับสิบหรือร้อยเขตเพราะผู้ชนะซึ่งอาจประกอบด้วยส่วนหนึ่งจาก 368 คนนี้จะหลุดจากตำแหน่งทำให้สูญเงินเลือกตั้งซ่อมอีกมหาศาล

          สวดมนต์ข้ามปีให้ผู้ใดถือว่าร่วมกันสร้างพลังใจให้เกิดพรอันศักดิ์สิทธิ์ส่งผลให้ผู้นั้นในด้านดี แต่ถ้าผู้ใดหรือครอบครัวใดได้รับเสียงก่นด่าสาปแช่งจากคนนับล้านแทน พลังใจด้านลบมหาศาลย่อมไม่เป็นเรื่องประเสริฐเลยแม้แต่น้อย

ลักษณะของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 ธันวาคม 2556

          บุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกเพิ่งจากไป สิ่งเขาทำและไม่ได้ทำสมควรนำมากล่าวถึง เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่มนุษย์โลกในปัจจุบันและที่จะเกิดตามมาอีกมากมายในอนาคต

          มหาบุรุษท่านนี้ผมเคยเขียนประวัติของท่านในนามของ Madiba ซึ่งเป็นชื่อที่ประชาชนเรียกอย่างรักใคร่ ผมขอนำเอาบางส่วนของข้อความเดิมที่ได้เขียนไว้มาสื่อสารต่ออีกครั้งในที่นี้

          ประเทศอาฟริกาใต้ถึงแม้จะอยู่ในดินแดนอาฟริกาซึ่งเป็นของคนพื้นเมือง แต่คนผิวขาวก็ไปตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อน กล่าวคือเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1806 และขยายเติบโตใหญ่ขึ้นจากการอพยพของคนยุโรปชาติอื่น ๆ ความร่ำรวยทรัพยากรของอาฟริการใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพชร ทำให้เกิดสงครามสู้รบระหว่างคนผิวขาวที่ไปตั้งรกรากอยู่เดิมกับรัฐบาลของหลายชาติในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษหลายครั้ง

          ใน ค.ศ. 1961 ผู้นำประเทศซึ่งมาจากพรรคคนผิวขาวเป็นผู้สืบทอดผู้ตั้งรกรากได้ ประกาศแยกตัวจากจักรภพอังกฤษเป็นประเทศอิสระที่เป็นสาธารณรัฐและใช้นโยบายกีดกันคนผิวดำพื้นเมืองออกจากคนผิวขาว แยกบริเวณที่อยู่อาศัย ห้ามคบหาสมาคมหรือแต่งงานกัน แยกร้านอาหารและเหนืออื่นใดไม่ให้ความเท่าเทียมกันในเรื่องการศึกษา การทำงาน สิทธิทางกฎหมาย สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ นโยบายกีดกันนี้เรียกว่า Apartheid ซึ่งเป็นขั้นรุนแรงที่สุดของการกีดกันซึ่งมีมาโดยตลอดและรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

          ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของคนผิวดำพื้นเมืองเพื่อความเท่าเทียมกันนี้ก็เกิดผู้กล้าหาญคนหนึ่งซึ่งติดคุกนานถึง 27 ปีก่อนที่จะได้รับอิสรภาพและออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันอย่างประสบผลสำเร็จได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศภายใต้ทิศทางใหม่ ในวันที่เขาได้รับอิสรภาพในปี 1990 นั้นมีการถ่ายทอดโทรทัศน์สดไปทั่วโลก ชายผู้นี้คือ Nelson Mandela

          Nelson Mandela โดยสายเลือดแล้วเขาสืบทอดมาจากกษัตริย์ในราชวงศ์ Thembu ซึ่งครองอำนาจในพื้นที่ของอาฟริกาใต้ในปัจจุบัน ชวดของเขาเป็นกษัตริย์ของชาวเผ่า Thembu ลูกชายคนหนึ่งซึ่งมีนามว่า Mandela เป็นปู่ของเขา

          Mandela ทำงานในบริษัทพร้อมกับเรียนกฎหมายทางไกลจนจบได้ปริญญา เมื่ออายุได้ 34 ปีก็โดดเข้าการเมืองเต็มตัวและต่อสู้ในสิ่งที่เขาเชื่อโดยใช้สันติวิธียึดแนวของมหาตมคานธี เขาถูกจับข้อหากบฏกับเพื่อน 150 คนจากการต่อต้านประท้วงในปี 1956 แต่หลุดรอดคดีมาได้

          หลังจากรู้สึกว่าสันติวิธีไม่ได้ผล เขาก็ใช้ความรุนแรง ในปี 1961เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ ANC (African National Congress) ประสานงานใช้อาวุธบ่อนทำลายกำลังทหารและฝ่ายรัฐบาล ในปี 1962 Mandela ถูกจับหลังจากหลบหนีอยู่นานในข้อหากบฏ เขาติดคุกและเป็นนักโทษในประเภท D คือนักโทษชั้นต่ำสุด (ชั้นต่ำแรกคือผิวดำ ต่ำสุดคือนักโทษการเมือง ดังนั้นนักโทษการเมืองผิวดำจึงเป็นชั้นต่ำสุดของต่ำสุด) ซึ่งได้รับส่วนแบ่งอาหารน้อยที่สุด และมีโอกาสได้รับจดหมาย 6 เดือนครั้ง ซึ่งก็มักถูกแกล้งให้ตัวอักษรเลอะเลือนอ่านไม่ออก

          นโยบาย Apartheid ถูกต่อต้านหนักขึ้นทุกทีจากภายในประเทศจากคนผิวดำพื้นเมืองจนกลายเป็นชนวนของการฆ่าหมู่หลายครั้ง และต่อมานานาประเทศทั่วโลกก็รังเกียจนโยบายนี้และบอดคอตอาฟริกาใต้

          ระหว่างที่เขาติดคุก เพื่อนฝูงผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งในและต่างประเทศไม่ลืมเขา ได้พยายามต่อสู้ให้เขาได้รับอิสรภาพมาตลอด และเมื่อการประท้วงรุนแรงขึ้นในประเทศ รัฐบาลของประธานาธิบดี F.W. de Klerk ก็ต้องยอมปล่อยเขาใน ค.ศ. 1990 และทันทีที่พ้นโทษเขาก็เป็นผู้นำของ ANC ต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วนมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง

          ในปี 1993 เขาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพร่วมกับประธานาธิบดี F.W. de Klerk และในการเลือกตั้งในปี 1994 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในวัย 76 ปี ด้วยเสียงท่วมทันและเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของอาฟริกาใต้ (ครองตำแหน่ง 1994-1999)

          สิ่งที่ผู้คนชื่นชม Nelson Mandela มากก็คือเมื่อเขาได้รับอิสรภาพแล้วแทนที่จะแก้แค้นรังควาญคนที่ทำกับเขามาตลอดเวลาที่ถูกคุมขัง เขากลับร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างจริงใจเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างสีผิวต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลากหลายในอาฟริกาใต้ จนกระทั่งแม้แต่ศัตรูเก่าของเขาก็แสดงความชื่นชมในความกล้าหาญทางจริยธรรมที่เขาละเว้นการสนับสนุนฆ่าล้างแค้นคนผิวขาว ไล่คนผิวขาวออกจากแผ่นดิน สิ่งที่เขาปรารถนาอย่างแรงกล้าคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวอาฟริกาใต้

          ชื่อของ Madiba ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก ในฐานะผู้ต่อสู้กับความลำบากยากเข็ญ คิดคุกยาวนาน 27 ปี แต่เมื่อได้รับอิสรภาพและเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว กลับทำทุกอย่างเพื่อสร้างสรรค์ความสมานฉันท์ ความรักความสามัคคีของคนอาฟริกาใต้ โดยไม่ได้มีความโกธร อาฆาต หรือนึกถึงความรู้สึกส่วนตัวแต่อย่างใด

          Madiba ยิ่งใหญ่เพราะมีชัยชนะเหนือตนเอง เห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนร่วมชาติเป็นสำคัญ เมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้ว Juvernal กวีชาวโรมันกล่าวไว้ว่า “การแก้แค้นเป็นความสุขที่ไร้แก่นสารของใจที่คับแคบ” (Revenge is the weak pleasure of a narrow mind).
เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นจึงจะคิดอย่างนี้ได้