อย่าทึกทักความเห็นพ้องจากคนอื่น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15
ธันวาคม 2558

ที่มา https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTTyn-mztlY491QxQP4-zjqxNx6JMdr2Wh7MA&usqp=CAU

        แม่ครัวที่ชอบกินเค็มมักปรุงอาหารออกเค็มเสมอ เช่นเดียวกับคนชอบดนตรีประเภทไหนก็มักจะทึกทักว่าคนอื่นก็ชอบดนตรีประเภทเดียวกับตน สำหรับคนบางกลุ่มไปไกลถึงขนาดเห็นว่าคนที่มีรสนิยมไม่เหมือนกับตนเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่นเอาด้วยฃ้ำ ปรากฏการณ์นี้มีส่วนทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ จนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

         มนุษย์ทุกคนที่ทำงานต้องเคยทำอะไรผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ทุกคนล้วนเคยตัดสินใจผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเป็นกระทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งมีผลกระทบไม่มากต่อผู้อื่นและตนเองแล้ว ความผิดพลาดเช่นนี้ก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้าหากผิดพลาดแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างไกลแล้วก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก

         ขึ้นรถเมล์ผิดสาย ลืมเอาพาสปอร์ตติดตัวไปสนามบิน ซื้อของราคาแพงกว่าความเป็นจริง ถูกต้มตุ๋นเงินไม่มาก ขับรถหลงทาง ฯลฯ เหล่านี้ไม่น่ากลัวแต่ถ้าเป็นการเลือกคู่ผิดพลาด ใช้ยาเสพติด คบโจร ได้โอกาสทองเรียนหนังสือแต่เกเร เข้าใจผิดว่าตนเองเก่งกว่าความเป็นจริงจนมีพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อตนเอง ทึกทักว่าความคิดของกลุ่มตนนั้นถูกต้อง ส่วนของคนอื่นผิดเสมอ นโยบายผิด ๆ ที่รัฐเลือกให้นี้ถูกต้องแน่นอน ฯลฯ ความผิดพลาดเช่นนี้ทำความเสียหายได้รุนแรง

         Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ “The Art of Thinking Clearly” (2013) เรียกปรากฏการณ์ที่ทึกทักว่าคนอื่นต้องเหมือนตน และไปไกลถึงกับว่ากลุ่มตนนั้นถูกต้องเสมอว่า “false-consensus effect”

         ถ้าถามคนทั่วไปว่าชอบดนตรีสมัย ‘80 หรือ 60’ ก็มักได้คำตอบที่เป็นไปในลักษณะที่คนชอบดนตรีสมัยไหนก็คิดไปโดยอัตโนมัติว่าคนอื่นชอบเหมือนกลุ่มตนด้วย มนุษย์เรามักประเมินความเป็นเอกฉันท์เกินความจริงเช่นนี้อยู่บ่อย ๆ

         false-consensus effect หรือผลที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เข้าใจความเห็นพ้องอย่างผิดพลาดเกิดขึ้นกับพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ NGO’s จนทำให้ประเมินความนิยมที่ คนอื่นมีต่อกลุ่มของตนเองเกินความเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ ตัวอย่างก็คือเรื่อง climate change ผู้คนทั่วไปมักเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นเหมือนกับตนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่ผลสำรวจจากโพลในประเทศจำนวนมากระบุว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

         นักการเมืองและพรรคการเมืองในทุกประเทศมักประเมินความนิยมของประชาชนเกินความเป็นจริงอยู่เสมอ จนทำให้เกิดการพลิกล็อกอยู่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีล็อกให้พลิก กล่าวคือความ (ไม่) นิยมของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่นักการเมืองประเมินเข้าข้างตัวเองเกินความเป็นจริงและสามารถทำให้สื่อและประชาชนบางส่วนเข้าใจตามนั้น เมื่อมีการลงคะแนนประชาชนก็ลงคะแนนตามความชอบที่มีอยู่ ผลจึงออกมาว่ามีการพลิกล็อก

         ถ้า NGO’s และนักการเมืองระวังเรื่อง false-consensus effect แล้วก็จะมีการตระหนักถึงทางโน้มในการประเมินความนิยมเกินความเป็นจริง การดำเนินแผนกลยุทธ์ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

         นักร้องนักแสดง ตลอดจนนักเทคโนโลยีที่หลงใหลผลิตภัณฑ์ของตนก็หนีไม่พ้น false-consensus effect เช่นกัน ในกรณีของนักร้องนักแสดงก็มักทึกทักว่ามีจำนวนแฟนคลับและมีคนชื่นชมนิยมในตัวเองเกินความเป็นจริงอยู่เสมอในทุกประเทศจนอาจนำไปสู่การต่อรองค่าตัวที่เกินเลยความเป็นจริงจนทำให้ไม่ได้งานในที่สุดก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

         สำหรับนักเทคโนโลยีที่ชื่นชอบผลงานของตนเองเป็นพิเศษอย่างเกินเลยความเป็นจริงอาจตกอยู่ในสภาวะ “ตาบอด” จนมองข้ามความก้าวหน้าของคู่แข่งและต้องเสียใจในเวลาต่อมาเพราะปรับตัวไม่ทัน

         หลายสินค้าเทคโนโลยีที่ออกสู่ตลาดและหลายบริษัทผู้ผลิตมีอันเป็นไปในที่สุด ถึงแม้ในสายตาของผู้ผลิตแล้วสิ่งนี้คือสุดยอดของสินค้า ยามเมื่อปล่อยสินค้าออกมานั้นมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าผู้บริโภคจะหลงใหลและชื่นชอบเหมือนที่ตนเองเป็น หากไม่มี false-consensus effect แล้วก็อาจมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมก็เป็นได้

         กลุ่มมังสวิรัติมักบอกคนทั่วไปว่าการกินมังสวิรัตมิใช่ทางเลือก หากเป็นสิ่งที่ต้องเลือกเพราะไม่มีสิ่งอื่นที่ดีกว่าอีกแล้วดังนั้นต้องกระทำเหมือนพวกตน กลุ่มคนที่กระทำความดีก็เช่นเดียวกัน มักมีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่ามี hubris คือมีความภาคภูมิใจ มีความเชื่อมั่นอย่างมากในความสำคัญของตนเอง ฃึ่งในกรณีนี้มาจากความเชื่อว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามแล้ว นักปฏิบัติธรรมบางส่วนก็เข้าหรอบนี้เช่นเดียวกัน คนอื่น ๆ ก็ควรต้องทำตัวเหมือนตนเพราะเป็นทางเดินเดียวที่ถูกต้องงดงาม

         มนุษย์ถูกลวงตาและลวงใจได้ไม่ยากอันเนื่องมาจากความเอนเอียงอันเป็นผลจากการรับรู้รับทราบ (perception) ที่บิดเบี้ยวว่าคนอื่น (ควร) จะต้องเหมือนตน และหากไม่เหมือนก็จะกลายเป็นคนแปลกประหลาด ผิดปกติ หรือไม่ก็เป็นศัตรูกันไปเลย

         ปัญหาแบ่งแยกสี แบ่งศาสนาจนเกิดความวุ่นวายส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจาก false-consensus effect อย่างไม่ต้องสงสัย คนบางกลุ่มไม่เข้าใจว่าเหตุใดอีกฝ่ายจึงโง่เหลือทน และอีกฝ่ายก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกันเพียงแต่ความโง่ย้ายฝั่งเท่านั้น

         แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลและข้อเท็จจริงสนับสนุนความเชื่อของตนเอง ส่วนใครจะ “ฉลาด” ในการตีความข้อเท็จจริงกับการใช้เหตุใช้ผลเก่งกว่ากันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         การตระหนักถึงการมีอยู่จริงของ false-consensus effect ของแต่ละฝ่ายอาจช่วยให้ข้อขัดแย้งน้อยลงก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับก่อนว่ามันมีปรากฏการณ์นี้อยู่จริง

         มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ที่เปราะบางต่อการทำลายตนเองเพราะมีอีโก้ (Ego) เป็นชิบฝังอยู่ลึกในจิตใจ เฉพาะคนที่ตระหนักว่าตนเองอาจมีความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงเกินความเป็นจริงและตนเองอาจมีความสามารถในระดับที่ต่ำกว่าที่ตนเองเชื่อเท่านั้นที่พอเยียวยาความเปราะบางนี้ได้

โคลนนิ่งเพื่อการค้า

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8
ธันวาคม 2558

ที่มา https://www.europarl.europa.eu/resources/library/images/20150616PHT67001/20150616PHT67001-cl.jpg

           แกะ “ดอลลี่” เป็นสัตว์ตัวแรกของโลกที่มนุษย์โคลนได้สำเร็จเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อเวลาผ่านไปการค้นคว้าต่าง ๆ ด้านเทคโนชีวภาพ (biotechnology) ก็ก้าวหน้าไปมากจนปัจจุบัน การโคลนสัตว์เพื่อการค้ากำลังจะเป็นทางโน้มของโลกอย่างน่าตกใจ

           เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2015 FDA ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศยอมรับว่าปลา Atlantic Salmon ที่เกิดจากการตกแต่งพันธุกรรมเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหาร ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สัตว์ซึ่งเกิดจากการตกแต่งพันธุกรรมได้การรับรองอย่างเป็นทางการ

           ผู้ผลิตปลา Atlantic Salmon เลี้ยงในฟาร์มในปานามาได้ยื่นคำขอรับรองมาเป็นเวลา 20 ปี FDA ศึกษาอยู่ถึง 10 ชั่วอายุของปลาก่อนที่จะรับรอง วิธีการทำก็คือตกแต่งเอายีนส์ซึ่งผลิต growth hormone ของปลา Pacific Chinook Salmon ไปใส่ใน DNA ของปลา Atlantic Salmon จนทำให้เลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและเติบโตเร็วมาก กล่าวคือจาก 3 ปี เหลือเพียง 16-18 เดือนสำหรับขนาดปลาที่ขายในตลาดได้

           ในเวลาใกล้กันก็มีข่าวของการตกแต่งยีนส์ของยุงลายที่เป็นพาหะของเชื้อมาเลเรียให้สิ้นฤทธิ์เพื่อให้ไม่มีคนตายถึง 3 ล้านคนต่อปีในอาฟริกาเพราะมาเลเรียอีกต่อไป โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิ Bill and Melinda Gates ด้วยเงินทุนมหาศาลเพื่อใช้กลยุทธ์เทคโนโลยีชีวภาพในการปราบ โรคร้ายนี้

           ในยุคแรกของการโคลน (cloning) นักวิทยาศาสตร์ประสบความยากลำบากจนมีอัตราความสำเร็จต่ำ ต้นทุนก็สูง แต่หลังจากลองผิดลองถูกตลอดเวลาที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกรวมกันว่า Gene-editing หรือการตกแต่งยีนส์ แบบชนิดตัดโดยเอนไซม์และเอายีนส์อื่นมาใส่แทน

           มีอยู่หลายตัวอย่างของความสำเร็จของการโคลนสัตว์ด้วยวิธีใหม่ (ก) หมูที่ขุนให้อ้วนด้วยอาหารที่น้อยลง (ข) ไก่ที่ฟักออกมามีแต่ตัวเมีย เพื่อเอามาออกไข่ (ค) วัวที่ออกมาเป็นตัวผู้เพื่อเลี้ยงเอาเนื้อ เนื่องจากตัวผู้สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้มีประสิทธิภาพกว่าตัวเมีย (ง) หมูตัวเล็กแคระแกรน เพื่อเอามาเป็นสัตว์เลี้ยง (จ) สุนัขพันธุ์บีเกิลที่มีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว (ฉ) แพะพันธุ์แคชเมียรที่มีเนื้อหนาแน่นขึ้นและมีขนยาวเพื่อเอาไปทอเสื้อหนาว (ช) วัวพันธุ์เนื้อที่มีเนื้อมากขึ้นโดยกินอาหารเท่าเดิม

           แต่ดั้งเดิมมนุษย์ผสมพันธุ์สัตว์ข้ามหลายสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะตรงตามที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลานานและไม่มีความแน่นอน เช่น ไก่ชน ม้าแข่ง สุนัข วัวพันธุ์เนื้อและ พันธุ์นม ฯ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีโคลนนิ่งเกิดขึ้น มนุษย์ก็มีทางลัดคือเพียงเอาเซลล์หนึ่งของตัวต้นแบบมาเพาะในจานทดลอง และใช้วิธีการแต่งยีนส์โดยเอายีนส์ที่รู้แน่นอนว่าทำหน้าที่ในเรื่องใด (จำเป็นต้องมีแผนที่ DNA หรือ genome จึงจะรู้ว่ายีนส์ตำแหน่งใดใน DNA ของสัตว์สายพันธุ์อื่นทำหน้าที่อะไรและก่อให้เกิดคุณลักษณะใด) มาแทนยีนส์ที่ไม่พึงปรารถนา จากนั้นก็นำไปเพาะเลี้ยงในมดลูกของสัตว์พันธุ์นั้น

           พูดสั้น ๆ ก็คือ การตกแต่งยีนส์คือการไปแก้ไขสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงปรารถนา ส่วนการผสมข้ามสายพันธุ์ก็คือการคัดเลือกคุณลักษณะที่ต้องการโดยเป็นไปตามวิธีทางธรรมชาติ

           ข่าวล่าสุดของการทำธุรกิจจากการโคลนสัตว์อย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือเอกชนจีนร่วมลงทุนกับบริษัทเกาหลีประกาศตั้งโรงงานในตอนเหนือของเมืองเทียนจิน เพื่อผลิตสัตว์จากการโคลน เช่น วัว ปีละ 100,000 ตัว และจะเพิ่มเป็น 1,000,000 ตัว รวมทั้งการโคลนม้าแข่งและสุนัขพันธุ์ดี

           เพียง 4 ปีหลัง “ดอลลี่” จีนก็มีความสามารถในการโคลน จีนสามารถโคลนสุนัขพันธุ์ Tibetan Mastiff แท้ซึ่งมีขนาดใหญ่มากได้ 3 ตัว โคลน “หมูใจเด็ด” ฮีโร่จากการสามารถรอดชีวิตอยู่ได้ถึงกว่าเดือนหลังตึกถล่มในแผ่นดินไหวในเสฉวนในปี 2008 (มีคนตายกว่า 70,000 คน สูญหายอีก 20,000 คน)

           จีนเชื่อว่าความต้องการของเนื้อวัวพันธุ์เนื้อในจีนจะเพิ่มขึ้นอีกมาก การเลี้ยงแบบปกติจะช้าไม่ทันใจ หากโคลนตัวเยี่ยมยอดแล้วก็จะได้แฝดเหมือนกันเป็นแสนเป็นล้านตัวต่อไป นอกจากนี้การโคลนม้าแข่งและสุนัขที่มีราคาแพงก็จะเป็นการค้าที่ดีมากอีกด้วย

           จีนสามารถทำได้โดยไม่ถูกรัดรึงด้วยกฎเกณฑ์ในการคำนึงประเด็นจริยธรรม การละเมิดกฎธรรมชาติ เพราะไม่มีการควบคุมเข้มงวดเหมือนประเทศอื่น ๆ จีนใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อการวิจัย หาวิธีโคลนที่แม่นยำบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ โดยมุ่งเน้นการค้าจากการโคลนสัตว์ซึ่งหลายประเทศก็ต้องการหากทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้าม

           ในเดือนกันยายนที่ผ่านไป รัฐสภา EU ห้ามการโคลนสัตว์เพื่อเอามาเป็นอาหาร และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อีกด้วย ในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งมีการยอมรับปลา GMO พันธุ์ Atlantic Salmon อย่างเป็นทางการเท่านั้น

           อย่างไรก็ดีการโคลนในอุตสาหกรรมเลี้ยงวัวก็มิใช่สิ่งใหม่ในสหรัฐอเมริกา มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เพียงแต่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA

           การโคลนซึ่งดูน่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือการโคลนหมูเพื่อให้อวัยวะมนุษย์สามารถเติบโต ในตัวหมูได้ หากทำได้สำเร็จก็หมายถึงการเพาะอวัยวะมนุษย์ เช่น หัวใจ ตับ ไต เซลล์ต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ โดยใช้หมูเป็นเครื่องมือเนื่องจากหมูและคนมีความคล้ายคลึงกันมากในเชิงชีววิทยา

           ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะโคลนวัวพันธุ์เนื้อที่มีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้แข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาซึ่งอาจมีพิษตกค้างถึงมนุษย์ได้ แค่นี้ยังไม่พอ ตอนนี้มีการโคลนวัวตัวผู้ไม่ให้มีเขาเพราะเขาเป็นปัญหาทำให้เกะกะและเป็นอันตราย หากจะถอนทิ้งตอนโตวัวก็จะเจ็บปวดและมีต้นทุนสูง

           การโคลนม้าพันธุ์ดีเพื่อแข่งโปโลเป็นการเฉพาะก็ทำได้สำเร็จแล้วในอเมริกาใต้ ดังนั้นการโคลนม้าแข่งพันธุ์ดีราคานับล้านบาทเพื่อการค้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก บางประเทศก็ใช้การโคลนเพื่อการค้าที่มีตลาดเฉพาะ อย่างเช่นในปัจจุบันอิสราเอลสามารถโคลนองุ่นจากซากเมล็ดเก่าแก่จากสมัยพระเยซูที่พบในถ้ำเพื่อเอามาผลิตไวน์ซึ่งเชื่อว่าเป็นไวน์ที่พระเยซูเคยดื่มเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว

           สิ่งที่ผู้คนหวาดหวั่นในเรื่องการโคลนก็คือการโคลนมนุษย์ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการทดลองลับ ๆ อยู่ทั่วโลก เพียงแต่ว่าใครจะเปิดเผยก่อนเท่านั้นเองว่าทำได้สำเร็จแล้ว คิดแล้วน่ากลัวยิ่งขึ้นหากกลายเป็นการค้าไป ลองคิดดูว่าหากมีการโคลนตนเองเพื่อหาคู่แฝดและเอาอวัยวะมาใช้เพื่อตนเองตามใจชอบ คน ๆ นั้นจะมีชีวิตยิ่งกว่าเป็นทาสสมัยก่อน

           การโคลนคู่ชีวิต พ่อแม่ ลูกที่จากไป อาจทำได้ในอนาคต แต่อย่าลืมว่าเราโคลนได้แต่ร่างกายเท่านั้น จิตใจ บุคลิกลักษณะอุปนิสัยของเขามิได้ถูกโคลนมาด้วย ร่างกายหน้าตาเหมือนกันแต่จิตใจที่เลวร้ายจะเป็นเรื่องที่เศร้ายิ่งกว่าให้เขาจากไปและทิ้งความทรงจำที่ดีเอาไว้

           โลกข้างหน้าน่ากลัวเพราะมนุษย์ทำให้น่ากลัว การละเมิดกฎธรรมชาติทำให้ได้ประโยชน์เชิงการค้าและความพอใจ อย่างไรก็ดีหากขาดกฎระเบียบที่ควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในที่สุดคนที่ทำให้โลกน่ากลัวก็จะไม่มีโลกที่น่าอยู่ให้กลัวอีกต่อไป

Where Have All ตำรวจจราจร Gone?

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 ธันวาคม 2558

Photo by Nabeel Syed on Unsplash

        เดือนที่ผ่านมานี้คนกรุงเทพฯ มีความรู้สึกว่ารถติดมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต สาทร สุขุมวิท ลาดพร้าว หรือราชดำเนิน สิ่งที่คนใช้รถรู้สึกหงุดหงิดก็คือแทบไม่เห็นตำรวจจราจรเลย และถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่เห็นมานานแล้วตลอดเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมา คำถามก็คือหายไปไหนกันหมด

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจราจรหนาแน่นจนถึงจุดที่เรียกว่ารถติดก็คือเมื่อความต้องการใช้ผิวถนน (ปริมาณการจราจร) มากกว่าผิวถนนที่มีให้ใช้ในช่วงเวลาหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเร่งด่วน อย่างไรก็ดีมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้การจราจรเลวร้ายลง เช่น พื้นที่ผิวจราจรหายไป (ขุดท่อ รถล้างถนนขีดขวาง สร้างสะพาน หรือสร้างรถไฟกลางเกาะหรือใต้ดิน) หรือจำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาหนึ่งเป็นพิเศษ (ช่วงเวลาเร่งด่วน หรือมีงานมหกรรม) หรือมีการขับช้าลงเพราะเหลือบดูเหตุการณ์ผิดปกติ หรือมีการกั้นปิดถนนบางสายเป็นพิเศษ หรือผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจรกันอย่างกว้างขวาง

          ผลเสียของการจราจรติดขัดมีมากมายอย่างที่รู้ ๆ กัน (ก) เพิ่มต้นทุนการเดินทาง (ค่าเสียโอกาส กล่าวคือถ้ารถไม่ติดก็ได้กลับไปนอนเล่นที่บ้าน หรือเล่นกับหมาที่บ้านนานแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้มีคุณค่าแต่ก็ต้องเสียไปเพราะการจราจรติดขัด) (ข) การไปสายไม่ว่าการนัดหมายหรือ การทำงาน การไม่สามารถจัดการเวลา ทำให้เกิดการสูญเสียและเสียหาย (ค) ต้องจัดแบ่งเวลาไว้เผื่อรถติดมากจนสูญเสียเวลาที่ไม่ควรเสียไป (ง) เผาผลาญน้ำมันโดยไม่จำเป็น สูญเสียเงินตราต่างประเทศ (จ) สร้างมลภาวะอากาศ (ฉ) รถสึกหรอมากขึ้นโดยไม่จำเป็นเพราะต้องติดเครื่องไว้ขณะรถติด (ช) คนป่วยเร่งด่วนอาจเสียชีวิต (ซ) โอกาสอุบัติเหตุรถชนกันมีสูงขึ้น เพราะเดี๋ยวหยุดเดี๋ยวไป ฯลฯ

          ข้อเสียสำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็คือทำให้เกิดความเครียดในอารมณ์ของผู้ใช้ถนนจนอาจทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงซึ่งฝรั่งเรียกว่า road rage คือ ผู้ขับขี่มีความก้าวร้าวต่อกันมากเป็นพิเศษ ด่าทอกัน สบถสาบาน ลงไม้ลงมือกัน ขับรถคุกคามกันจนเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรม

          คำนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1987-1988 ในเมืองลอสแองเจลิสที่มีการจราจรติดขัดอย่างหนัก (ปัจจุบันยังเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา รถคันหนึ่งเสียเวลาจากการ รถติดเฉลี่ยปีละ 64.4 ช.ม.) จนเกิด road rage มีการยิงกันจนคนตายหลายศพบนถนนหลายสายอย่างผิดสังเกต

          นักเศรษฐศาสตร์พยายามอธิบายสภาวะจราจรติดขัด โดยอธิบายว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Tragedy of the Commons (โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน) กล่าวคือเมื่อมีแปลงที่ดินที่ใช้ร่วมกัน ต่างคนก็ต่างใช้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์อย่างไม่คำนึงถึงคนอื่นเนื่องจากไม่มีค่าใช้ เมื่อทุกคนต่างทำอย่างเดียวกัน ในที่สุดที่ดินแปลงนั้นก็จะมีปัญหาเสื่อมโทรมและเละเทะไปหมด ไม่มีใครคิดจะดูแล ดังนั้นกฎระเบียบที่ออกโดยภาครัฐเพื่อมากำกับดูแลการใช้ที่ดินเช่นว่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

          เมื่อสามารถใช้ถนนได้โดยไม่มีค่าใช้ ผู้คนก็ใช้รถใช้ผิวจราจรกันอย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ละคนไม่มีแรงจูงใจทางการเงินที่จะหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ถนนชนิดที่เรียกว่ามากเกินไป ก็จะเป็น เช่นนี้ไปจนถึงจุดที่การจราจรเป็นอัมพาต ยกเว้นแต่จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

          Anthony Downs นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะเสนอว่าการจราจรติดขัดในช่วงเร่งด่วนเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะทุกคนจำเป็นต้องใช้ผิวถนนในช่วงเวลานั้น ในสังคมทุนนิยมสินค้าบริการถูกแบ่งสรรโดยการซื้อขาย ใครมีเงินมากน้อยแค่ไหนก็เลือกซื้อกันไป ปัญหาการจราจรก็เหมือนกัน เมื่อการจัดสรรผิวจราจรเป็นไปโดยไม่ต้องจ่ายค่าใช้ก็ต้องขยายถนนกันไม่รู้จบสิ้นเพื่อรับมือช่วงเวลาเร่งด่วน การเก็บเงินจากการใช้ผิวถนนในช่วงเวลานั้นจะทำให้บางคนตัดสินใจที่จะไม่ใช้โดยเลี่ยงไปใช้ในเวลาอื่น ปัญหาติดขัดก็จะลดลง (สิงคโปร์ทำมากว่า 30 ปี อย่างประสบความสำเร็จ ปัจจุบันหลายเมืองก็ทำเช่นลอนดอน มิลาน สต๊อกโฮล์ม โกเธนเบิร์ก)

          วารสารเศรษฐศาสตร์ชื่อ The American Economic Review ในปี 2011 มีบทความเขียนโดยนักวิจัยจาก London School of Economics and Political Science ซึ่งใช้ข้อมูลการใช้ถนนในสหรัฐอเมริกา จำนวนประชากร การจ้างงาน ภูมิศาสตร์ ปัจจัยการเมือง การเดินทางของปี 1983 / 1997 / และ 2003 วิเคราะห์สภาวะการจราจรและสรุปว่ามีกฎพื้นฐานเกี่ยวกับการจราจรติดขัดว่า “ระยะทางที่เดินทางโดยรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระยะทางของถนน (คำนวณจากทุกช่องทางการจราจร) ที่มีให้ใช้เสมอ” ข้อสรุปมีนัยยะว่าการสร้างถนนใหม่ การขยายช่องทางจราจรจะก่อให้เกิดการจราจรเพิ่มขึ้นและจะไม่หยุดจนเกิดการติดขัดสูงสุด การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดด้วยการเพิ่มพื้นที่ถนนจึงไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

          การเก็บเงินค่าใช้ถนนในบ้านเรายากที่จะเป็นไปได้ถ้าไม่มีทางเลือกในการเดินทางให้ แก่เขา การขยายช่องทางจราจร การเพิ่มผิวถนน ฯลฯ ก็ไม่ช่วยให้การจราจรดีขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน การบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมายคือตำรวจจราจรเท่านั้นที่อาจช่วยได้อย่างสำคัญ

          การไร้วินัยยามไม่มีตำรวจกำกับนั้นเกิดขึ้นทุกชาติ แต่มากเป็นพิเศษในบ้านเรา ปัจจุบันเราเห็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขับฝ่าไฟแดงกันเป็นเรื่องปกติเพราะยากนักที่จะเห็นตำรวจจราจรยืนริมถนนหรือตรงสี่แยกเพื่อปรามพฤติกรรมเหล่านี้ดังที่เราเคยเห็นกันในอดีต (แม้แต่ “จ่าเฉย” ของผมก็ถูกเก็บไปหมดเพราะเกรงว่าจะเตือนใจให้นึกถึงตำรวจที่หายไป?)

          ตำรวจอาจเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยมีกล้องถ่ายภาพเพื่อส่งใบสั่งจราจรไปทางไปรษณีย์เป็นเรื่องสมัยใหม่ที่สบายกว่าและได้ผลกว่าการมาโบกและ “ขู่” กันตามสี่แยก อยากบอกว่าวิธีไฮเทคนี้ผู้ใช้ถนนเขาไม่กลัวเพราะ (1) ไม่เชื่อว่าจะมีกล้องทุกแห่งและจะใช้งานได้ทุกตัว (2) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์บอกว่ามนุษย์กลัวภัยใกล้ตัวกว่าไกลตัว (มีใบสั่งมาปรับใน วันหลัง) ขอฝ่าไฟแดงก่อนแล้ว วันหลังจะปรับค่อยว่ากันใหม่ ตอนนี้ขอเสี่ยงดวงไปก่อน

          สงสัยว่าเหตุใดบางครั้งจึงเปิดไฟจราจรแปลก ๆ เช่น ปล่อยบางสายนานเป็นพิเศษ (ถูกสั่งหรือเปิดเพื่อเอาใจนายที่บ้านอยู่แถวนั้น?) เมื่อเหลียวไปมองป้อมตำรวจตามสี่แยกก็ไม่เห็นตู้ใดเลยที่ดูเป็นมิตร ทุกตู้ล้วนมีกระจกสีดำมืดมิดจนมองเข้าไปไม่เห็นราวกับเป็นไนท์คลับ ไม่มีทาง รู้ว่ามีตำรวจอยู่หรือไม่

          แรงจูงใจในการทำงานเป็นเรื่องที่เราเห็นใจ การที่สถานีตำรวจได้ส่วนแบ่งจากใบสั่งจราจรและอาจได้น้อยลงตามอารมณ์ของผู้กำกับจนไม่อยากออกมาโชว์ตัวตามสี่แยกตอนรถติดเพราะกลัว โดนด่า ควันก็เหม็น ร้อนก็ร้อนนั้นเราก็เห็นใจ แต่อย่าลืมนะครับว่าท่านก็รับเงินเดือนเป็นประจำอยู่แล้วซึ่งก็มาจากภาษีของพวกเรา ดังนั้นการดูแลจราจรเป็นความรับผิดชอบพื้นฐาน ส่วนเงินจากแรงจูงใจนั้นเป็นของแถม

          ปัจจุบันเราไม่รู้จักผู้บังคับการจราจร (เดี๋ยวนี้เรียกตำแหน่งนี้ว่าอะไรก็ไม่รู้ ยศอาจถึง พลตำรวจโท) ไม่เคยเห็นออกโทรทัศน์มาชี้แจง ไม่เคยเห็นตำรวจยศระดับนายพันมายืนดูแลกำกับการจราจรแบบสมัยก่อนเลย ตำรวจจราจรผู้น้อยก็กลายเป็นนินจา เห็นตัวได้ยากเต็มที การย้ายผู้รับผิดชอบการจราจรของกรุงเทพฯ ไปมาอยู่เนือง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่อง ไม่มีผู้ใหญ่หาญกล้าออกมารับผิดชอบจนคนกรุงรู้สึกว่ามีการขาดความรับผิดชอบในเรื่องการจราจรของกรุงเทพฯ

          ตำรวจจราจรกรุณากลับมาทำหน้าที่ของท่านเถอะครับ ต่างคนต่างทำหน้าที่ พวกเราผู้ใช้ถนนก็ทำหน้าที่ของเราในฐานะผู้เสียภาษีจ่ายเป็นเงินเดือนท่านอยู่แล้วตลอดเวลาที่รถติด เผาผลาญน้ำมันราคาสูงเพราะภาษี

Word of the year 2015

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 
24 พฤศจิกายน 2558

Photo by Raphael Schaller on Unsplash

         ฝรั่งผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มีสิ่งหนึ่งที่ ‘เล่น’ มายาวนานอย่างน้อยก็ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 นั่นก็คือ Word of the Year ซึ่งหมายความถึงคำที่มีผู้ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกของการใช้ภาษาอังกฤษ ในปี 2015 มีการเลือกคำที่น่าสนใจซึ่งบ่งบอกอะไรหลายอย่างในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

          ผู้ผลิต dictionary ในโลกตะวันตกและสมาคมเกี่ยวกับภาษาต่างก็มี Word of the Year ของตนเอง อย่างไรก็ดีโลกจะให้ความสนใจกับ Oxford University Press มากกว่าเพื่อน

          ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนค่าย Collins English Dictionary เลือกคำว่า “Binge-watch” เป็นคำแห่งปี และรู้สึกจะ ‘โดนใจ’ คนจำนวนมาก สำหรับค่าย Oxford University Press นั้นในปีนี้เลือกคำแห่งปีที่แหวกแนวกว่าเพื่อนอย่างน่ารัก

          ในภาษาอังกฤษ “go on a binge” (เป็นการใช้อย่างไม่เป็นทางการ) หมายถึง ดื่มแอลกอฮอล์หนักในเวลาอันสั้น ตามนัยยะของความหมายนี้ binge จึงหมายความถึงการกินอย่างมากในเวลาอันสั้นในลักษณะที่ควบคุมไม่ได้ “binge on บางอย่าง” เช่น binge on chocolate

          กล่าวโดยสรุปก็คือ binge หมายถึงการทำอะไรในลักษณะที่สุดโต่ง เช่น การกิน การดื่ม หรือใช้เงินอย่างไม่บันยะบันยัง

          คำถามที่น่าสนใจก็คือแล้ว binge-watching ได้กลายเป็นคำแห่งปีไปได้อย่างไร คำตอบก็คือมันมาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของผู้ใช้ภาษาอังกฤษจำนวนมากในปัจจุบันที่บ้าคลั่งดูโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องไม่ยอมหลับยอมนอน เรียกง่าย ๆ ว่า marathon-viewing

          พฤติกรรมที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือการดูโทรทัศน์เป็นเวลายาวนานกว่าที่คนเขาดูกันตามปกติในการนั่งดูครั้งหนึ่งโดยดูรายการโทรทัศน์หรือซีรี่ส์ใดเป็นพิเศษ จากการสำรวจในปี 2014 ของ Netflix ซึ่งอยู่ในกิจการโทรทัศน์ on-line พบว่าคนให้คำจำกัดความของ binge-watching คือดูตั้งแต่ 2-6 ตอนของรายการทีวีหรือซีรี่ส์ต่อเนื่องกัน

          Binge-watching เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากการให้บริการ โทรทัศน์ on-line ของบริษัทต่าง ๆ เช่น Netflix / Hull และ Amazon Prime ซึ่งคนดูสามารถเลือกรายการได้ตามความต้องการทั้งช่วงเวลาและความยาว บริษัทเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดคำยอดนิยม binge-watching ขึ้น

          ในบ้านเรา binge-watching ก็มีจากการดู DVD ของซีรี่ส์หนังละครจากหลายชาติต่อเนื่องกันหลายแผ่นแบบไม่ยอมนอน ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษก็ตามแก่ร่างกายของคนเหล่านี้แต่เขาก็ไม่ตระหนักถึงเพราะมีความปรารถนาที่จะหาความบันเทิงอย่างไม่ให้มีอะไรมาปิดกั้นให้ขาดตอน

          binge-watching ทำให้ไม่มีการรอคอยความตื่นเต้นจากตอนต่อไปในอาทิตย์หน้าหรือเดือนหน้า ทุกอย่างล้วนเป็น “ความสุขสมอย่างทันด่วน” (instant gratification) ตามยุคสมัยมาม่า-ยำยำ-ไวไว

          สำหรับฝั่ง Oxford University Press ก็มี “คำแห่งปี” ของ 2015 เช่นกัน แต่อาจเรียกได้ว่าล้ำหน้ากว่าแหล่งอื่นเพราะใช้ emoji ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Face with Tears of Joy” เป็น “คำแห่งปี” โดยเป็นรูปคนยิ้มและมีน้ำตาเล็ดออกมาจากสองตา อันแสดงถึงการมีความสุขอย่างล้นเหลือ

          เหตุผลที่เลือกก็คือ emoji ก็เป็นภาษาในอีกลักษณะหนึ่งเพียงแต่มิได้เป็นตัวอักษรในรูปแบบธรรมดา การสำรวจพบว่าในปี 2015 emoji ตัวนี้มีผู้ใช้เป็นร้อยละ 20 ของ emojis ที่ใช้กันอยู่ทั้งหมดในอังกฤษ ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันในสหรัฐอเมริกาคือร้อยละ 17

          emoji เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่มาจาก “e” (picture) + “moji” (character) (เป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า pictograph) โดยเป็นรูปภาพที่แสดงออกถึงอารมณ์ต่าง ๆ emoji บังเอิญคล้ายกับคำว่า emotion จึงจดจำได้ง่ายและใช้คำนี้กันอย่างกว้างขวาง

          emoji ชุดแรกสุดมีมาแต่ ค.ศ. 1998 สมาชิกคนหนึ่งของทีมที่ทำงานโทรศัพท์มือถือของ NTT ชื่อ Shigetaka Kurita เป็นผู้ริเริ่มโดยได้ความคิดมาจากคำพยากรณ์อากาศซึ่งใช้ภาพเป็นสัญลักษณ์ของสภาพอากาศ และเมื่อ Apple’s iPhone เปิดตัวในปี 2007 และเอา emoji มารวมไว้จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

          emoji อันที่ได้ความนิยมสูงสุดนี้เป็นตัวแทนของความสุขชนิดน้ำตาเล็ด หรือ “สุขสุด ๆ” จึงได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนของการสื่อความหมายว่าตนเองนั้นมีความสุขในระดับใด การส่ง emoji สุดน่ารักนี้มักเป็นปฏิกิริยาตอบกลับคำพูดอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อผู้ส่ง ๆ ข้อความที่ดีจนทำให้ผู้รับพอใจมาก และเมื่อผู้ส่งเห็นว่าผู้รับมีความสุขมากตนก็ย่อมพอใจไปด้วย ดังนั้นทั้งสองจึงมีความสุขจากการใช้ emoji ตัวนี้

          “emoji แห่งความสุขจนน้ำตาเล็ด” จึงเป็นสื่อกลางที่ไม่มีใครรังเกียจ และทุกฝ่ายชอบที่จะใช้มันเป็นตัวกลางแห่งการเชื่อมความสุขไปโดยปริยาย

          World of the Year สื่อให้เห็นวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เหตุที่คำเหล่านี้ไม่เคยซ้ำกันเลยก็เพราะ “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์”

Hydrogen Society

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17
พฤศจิกายน 2558

Photo by Riccardo Annandale on Unsplash

       ญี่ปุ่นประกาศตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเป็น Hydrogen Society ซึ่งหมายถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานพื้นฐานเพราะเป็นพลังงานทดแทนได้และสะอาด อีกทั้งก่อให้เกิดผลกระทบน้อยมากต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจากการใช้รถยนต์ หรือการดำรงชีวิตประจำวัน

          เราได้ยินคำว่า Hydro society หรือสังคมพลังน้ำของไทยมานมนาน เราอาศัยน้ำในการเพาะปลูกและดำรงชีวิตตลอดจนใช้คลองและแม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจร การอยู่กับน้ำเป็นวัฒนธรรมของไทยมายาวนาน ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า Hydrogen Society ซึ่งตีฆ้องร้องป่าวโดยญี่ปุ่นในปัจจุบัน

          มีการพูดถึง Hydrogen Economy ในทศวรรษ 1970 โดยผู้ประดิษฐ์คำนี้คือ John Bockris ศาสตราจารย์ด้าน Electrochemistry ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1923-2013) และสานต่อโดยนักคิดจาก University of Michigan เพื่อหลีกหนีผลเสียจากการใช้ hydrocarbon fuels (เช่น พลังงานจากกาซ ถ่านหิน และน้ำมัน) เพราะการเผาไหม้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด climate change

          ไอเดียของการใช้ไฮโดรเจนมาจากการเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด เพราะเมื่อเผาไหม้แล้วไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งมีปริมาณไม่จำกัดเพราะเป็นองค์ประกอบของน้ำ

          ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกับภาคธุรกิจญี่ปุ่นร่วมกันผลักดันให้รถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานออกสู่ตลาด ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ต่างกำลังเร่งการผลิตเป็นการใหญ่ รถยนต์รุ่น Mirai ของโตโยต้าซึ่งใช้พลังงานไฮไดรเจนออกสู่ตลาดเมื่อปลายปี 2014 และเชื่อว่าจะทยอยออกตามมาอีกหลายรุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ทุกคัน อาจถึง 500,000-600,000 บาทต่อคัน

          ญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะใช้ Tokyo Olympics 2028 เป็นตัวเปิดการเป็น Hydrogen Society รถโดยสารที่ขนนักกีฬาและใช้ในการจัดการจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยโฮไดรเจนทั้งหมด ขณะนี้กำลังวางแผนสร้างเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วประเทศให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35 แห่ง ก่อนปี 2020

          นอกจากนี้ยังมีแผนจะใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มาจากไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานของที่อยู่อาศัยอีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือญี่ปุ่นทุ่มเต็มที่กับการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน อย่างไรก็ดีความฝันของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก

          ปัญหาแรกของการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานก็คือราคาของการผลิตไฮโดรเจนซึ่งยังสูงมาก สำหรับญี่ปุ่นเองอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นจากออสเตรเลีย เพียงรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนในเวลาหนึ่งปีโดยเฉลี่ยใช้ไฮโดรเจนประมาณ 1,000 คิวบิกเมตรต่อปี การผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ 300 ล้านคิวบิกเมตรจึงไม่เพียงพอหากมีการใช้รถยนต์และในการดำรงชีวิตกันมากขึ้น

          ปัญหาที่สอง คือ ความปลอดภัย ไฮโดรเจนที่ไม่บริสุทธ์สามารถติดไฟและระเบิดได้ บริษัทผลิตรถยนต์และผลิตไฮโดรเจนต่างยืนยันว่าได้ป้องกันไว้อย่างดีแล้วและปลอดภัยอย่างไว้ใจได้ (โรงงานนิวเคลียร์ที่ Fukushima ก็เคยพูดอย่างเดียวกัน) ดังนั้นความเชื่อมั่นของผู้ใช้ในเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

          ปัญหาที่สาม ถึงแม้การใช้ไฮโดรเจนจะสะอาด แต่การได้มาซึ่งไฮโดรเจนก็ต้องใช้พลังงานซึ่งอาจมาจากการเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซโดยแยกไฮโดรเจนจากน้ำ (H2O) หากจะให้สะอาดจริงก็ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ฯลฯ ดังนั้นพลังงานไฮโดรเจนจึงมิได้สะอาดบริสุทธ์ หรือ “เขียวอื๋อ” เสมอไป

          ปัญหาที่สี่ ราคารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน (อ๊อกซิเจนกับไฮโดรเจนหากอยู่ใกล้กันโดยมีแผ่นกั้นจะทำปฏิกิริยาเคมีเกิดความร้อนขึ้นและสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า) ยังมีราคาสูงมาก รถยนต์ Mirai มีราคาสูงกว่ารถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเกือบเท่าตัว

          ไม่ว่าจะมีคนวิจารณ์เรื่องการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานอย่างไร ญี่ปุ่นก็เดินหน้าทั้ง ๆ ที่รู้ว่าคานาดาก็เคยพยายามทำสิ่งเดียวกันในปี 2010 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ผลิตรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจนแต่ก็ไม่ไปไหนเนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานสูง

          สหรัฐอเมริกาเองก็เคยพยายามใช้พลังงานไฮโดรเจนแต่ก็ดูแผ่วไป เนื่องจากการเกิดขึ้นของรถพลังไฟฟ้า รถไฮบริด (ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน) แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ทรงพลังและมีราคถูกลง ฯลฯ

          ญี่ปุ่นประกาศผลักดันการเป็น Hydrogen Society ท่ามกลางคำวิจารณ์ (ความหวาดหวั่นว่าญี่ปุ่นจะทำสำเร็จ?) ของประเทศตะวันตกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งโง่เขลา ฯลฯ ญี่ปุ่นอาจต้องเลือกทางเดินนี้เพราะความจำเป็นในเรื่องการลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเคยก่อปัญหา และความต้องการสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ใหม่ของการเป็นสังคมที่เขียวอย่างแท้จริง

          ภาคธุรกิจและภาครัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำวิจัยเรื่องพลังงานไฮโดรเจนมายาวนาน เป็นไปได้หรือไม่ว่าญี่ปุ่นอาจค้นพบอะไรที่ลึกซึ้งกว่าที่ผู้คนรู้และเข้าใจกันอยู่ในขณะนี้ จึงกล้าที่จะเดินหน้าประกาศเป็น Hydrogen Society

          การมีผู้กล้าหาญออกมาบุกเบิกการใช้ไฮโดรเจนที่มีอยู่ไม่จำกัดในโลกมาใช้เป็นพลังงานที่สะอาด เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน โลกแห่งการหันไปใช้พลังงานทางเลือกนอกจาก fossil fuels ได้เปิดกว้างขึ้นอีกแล้วเพื่อประโยชน์ของชาวโลก เราควรเชียร์ญี่ปุ่นในเรื่องนี้เพราะยิ่งมีทางเลือกมากเท่าใด ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากเพียงนั้น

          การเข้าใจว่าไม่มีหงส์ดำในโลกมาแต่ดึกดำบรรพ์ จนกระทั่งพบใน ค.ศ. 1697 พิสูจน์ให้เห็นว่าการยังไม่เคยเห็นหงส์ดำมิได้หมายความว่าไม่มีหงส์ดำในโลก ความเป็นไปได้ของ Hydrogen Society ของชาวโลกอาจรออยู่ข้างหน้าก็เป็นได้

ทบทวนแฟชั่น “ผ่าท้อง” แทนคลอดลูก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10
พฤศจิกายน 2558 

Photo by 🇸🇮 Janko Ferlič on Unsplash

        หนึ่งปัญหาหนักอกขององค์การสาธารณสุขระดับโลกในปัจจุบันก็คือการผ่าตัดเอา ทารกออกจากมดลูกแทนการคลอดตามธรรมชาติ ในเมืองจีนนั้นประมาณร้อยละ 50 ของเด็กที่เกิดในแต่ละปีใช้วิธีผ่าตัด บ้านเราก็มีสถิติที่ไม่ห่างนักคืออยู่ประมาณร้อยละ 40 เช่นเดียวกับอินเดีย กระแสความนิยมที่กำลังมาแรงเช่นนี้มีอันตรายแฝงที่พ่อแม่ไม่รู้อยู่หลายประการ

          การผ่าตัดเช่นนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Caesarean section หรือเรียกย่อ ๆ ว่า C-sections เคยมีความเชื่อว่าเหตุที่เรียกการผ่าตัดเอาทารกออกมาจากครรภ์แม่เช่นนี้ก็เพราะ Gaius Julius Caesar รัฐบุรุษและนักรบเอกสมัยโรมัน (มีชีวิตอยู่ประมาณ 500 ปี หลังพระพุทธเจ้า) ออกมาสู่โลกด้วยวิธีนี้ ความเข้าใจนี้ผิดเพราะแม่ของเขาคือ Aurelia ก็ยังมีชีวิตอยู่หลัง Caesar เกิด ในสมัยนั้นเด็กที่เกิดวิธีนี้ได้ก็เพราะแม่พึ่งตายจึงรีบผ่าเอาลูกออกมา

          นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชื่อการผ่าตัดน่าจะมาจากบรรพบุรุษของเขาซึ่งมีชื่อเดียวกันผู้เกิดมาด้วยการผ่าตัด ที่จริงในประวัติศาสตร์ของจีนและอินเดียก็มีการกล่าวถึงการเกิดของทารกด้วยการผ่าตัดจากแม่ที่กำลังจะตายหรือพึ่งตาย (ชาวโรมันห้ามฝังแม่ที่มีครรภ์ อาจเกรงว่าจะเป็นการฆ่าทารกโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้)

          C-sections พัฒนามาเรื่อยอย่างช้า ๆ แม้แต่ใน ค.ศ. 1865 การผ่าตัดเช่นนี้ในอังกฤษแม่ยังตายร้อยละ 85 เพิ่งแม่พอจะปลอดภัยบ้างก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1917) ปัจจุบัน C-sections เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

          อย่างไรก็ดีสถิติ C-sections ของประเทศพัฒนาแล้วก็มิได้ให้ความอุ่นใจนักเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดแบบธรรมชาติ ในกรณีของครรภ์ปกติที่มีความเสี่ยงต่ำ อัตราการตายของ C-sections คือ 13 ต่อ 100,000 รายของการคลอด ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันของการคลอดแบบธรรมชาติคือ 3.5 ต่อ 100,000

          อันตรายของ C-sections ที่เห็นกันชัดเจนก็คือปัญหาจากการวางยาสลบ ติดเชื้อหลังผ่าตัด แผลปริ เสียเลือดขนาดนัก มีปัญหากับการท้องต่อมา ฯลฯ งานวิจัยตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันหลายชิ้นพบผลเสียที่มองไม่เห็นทันทีของ C-sections หลายประการดังต่อไปนี้

          (1) C-sections เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กล่าวคือเมื่อแม่ต้องถูกเย็บแผลทันทีและใช้เวลาพักฟื้น การสัมผัสทันทีระหว่างแม่กับลูกหลังเกิดก็ขาดไป ไม่เหมือนกับการคลอดธรรมชาติซึ่งลูกต้องต่อสู้ผ่านช่องคลอด เกิดการสัมผัสรัดรึงกับลูกจนคลอดออกมา (2) การคลอดปกติทำให้ทารกมีโอกาสได้รับสิ่งที่เรียกว่า microbiota ของแม่ (เป็น microorganism หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อยู่ร่วมในร่างกายมนุษย์ เช่น แบคทีเรียในกระเพาะที่ช่วยย่อยอาหาร) มากกว่าซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องสุขภาพของทารกในเวลาต่อไป

          (3) หากทารกขาด microbiota จากแม่อาจทำให้สิ่งที่เรียกว่า bifido bacteria probiotics ซึ่งอยู่ในลำไส้ของทารกไม่เติบโตเต็มที่ ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถย่อยสลายสารอาหารที่อยู่ในนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารที่รุนแรงในทารกและทำให้การเจริญเติบโตของทารกสะดุดหยุดชะงักได้ ทารกลักษณะนี้เมื่อโตขึ้นมีทางโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน

          งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า C-sections ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปกระทบ microbiota ที่ทารกมีมาแต่แรกอาจทำให้เกิดการปรับระบบภูมิคุ้มกันของทารกไปในด้านลบจนอาจทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ หรือ หอบหืดเมื่อโตขึ้นได้ หรือแม้แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (โรคเบาหวาน Type 1)

          งานศึกษาล่าสุดพบว่าการมีอัตรา C-sections สูงถึงประมาณครึ่งหนึ่งของการเกิดของเด็กจีนเกี่ยวพันกับการพุ่งสูงขึ้นของโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กของเด็กในประเทศนี้ ในเซี่ยงไฮ้มีอัตราการเกิดโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ต่อปีระหว่างปี 1997 ถึง 2011 และคาดว่าอัตรานี้จะเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัวระหว่างปี 2016 ถึง 2020

          นอกจากนี้ยังพบอีกว่าคนที่มี microbiota ในลำไส้เปลี่ยนแปลง (ลดลง) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ งานศึกษาเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า C-sections ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในจีนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาอาจเป็นตัวจุดประกายให้เกิดโรคเบาหวานอย่างดาษดื่นในหมู่พลเมืองจีนในอนาคต

          การเกิดกระแส C-sections ในจีนมาจากหลายสาเหตุ (ก) เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ไม่อยากเจ็บปวดจากการคลอดลูก อีกทั้งสามารถเข้าถึงบริการแพทย์ได้สะดวกขึ้น หมอตำแยและพยาบาลผดุงครรภ์ในจีนจึงหมดอาชีพ แม่หญิงทั้งหลายต่างคลอดลูกที่โรงพยาบาลซึ่งทำให้การเลือก C-sections เป็นไปอย่างสะดวก (ข) โรงพยาบาลถูกบังคับให้เก็บค่าธรรมเนียมจากการคลอดธรรมชาติเพียงครึ่งเดียวของ C-sections และการคลอดธรรมชาติมีต้นทุนสูงกว่า ดังนั้นหมอจึงมักสนับสนุนให้เลือก C-sections เพื่อประโยชน์ด้านรายได้ของโรงพยาบาล (ค) เกิดความสะดวกสำหรับแม่และแพทย์ โดยแพทย์ไม่ต้องรอให้เจ็บท้องเต็มที่หรือต้องถูกตามตัวไม่เป็นเวล่ำเวลา ส่วนแม่ก็สามารถวางแผนชีวิตได้คล่องตัวขึ้น (ง) สามารถเลือกวันเวลาที่ลูกเกิดได้ตามโหราศาสตร์ (คนจีนชอบที่จะให้คลอดก่อน 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันโรงเรียนเปิดเพื่อให้ลูกได้เรียนเร็วขึ้น)

          นอกจากนี้นโยบาย “ลูกคนเดียว” ของภาครัฐจีนทำให้ผู้หญิงไม่กังวลกับท้องต่อไปว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่หลังจากทำ C-sections ไปแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้มีทางโน้มสู่ C-sections กันมากขึ้นทุกที จนเป็นอัตราสูงสุดในโลก

          ในบ้านเราซึ่งมีอัตรา C-sections ใกล้เคียงกับอินเดียคือกว่าร้อยละ 40 (ในอินเดียมีอัตรา C-sections ถึงร้อยละ 58 ในรัฐ Tamil Nadu ทางตอนใต้ของประเทศ) ก็มีเหตุผลไม่ต่างจากคนจีนและอินเดีย เหตุผลทางวัฒนธรรมในเรื่องฤกษ์ยามมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในหลายครอบครัว จนทำให้ C-sections เป็นคำตอบ (“ดวงบังคับเกิด” แทน “ดวงเกิด”) เช่นเดียวกับเหตุผลในเรื่องความสามารถในการควบคุมด้านเวลา แรงสนับสนุนจากแพทย์ผู้ทำคลอด ความสะดวกของทุกฝ่าย จนกระทั่งอาจมองข้ามเรื่องความเสี่ยง และผลเสียที่อาจเกิดตามมา

          WHO พยายามบอกว่า C-sections เป็นทางเลือกที่พิเศษเมื่อการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเกิดปัญหา เช่น ตำแหน่งของทารกทำให้คลอดได้ยากมาก มีการกีดขวางการเคลื่อนตัวของทารก หัวใจและความดันโลหิตของแม่และ/หรือทารกอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง แม่มีปัญหาสุขภาพและหมดแรงเบ่ง ฯลฯ

          แฟชั่นการคลอด C-sections แพร่กระจายไปเกือบทั้งโลกในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา จากอัตราไม่เกินร้อยละ 8 ก่อนหน้านั้น (ในทศวรรษ 1970 คนจีนน้อยคนมากที่รู้จัก C-sections) ได้กลายเป็นกว่าร้อยละ 30 ในประเทศส่วนใหญ่ ความกินดีอยู่ดีทำให้ความเจ็บปวดจากการเป็นแม่เป็นเรื่องน่ากลัว และเมื่อสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่รีรอ อีกทั้งธุรกิจแพทย์ก็พร้อมที่จะรับมือ

          ในสังคมไทยปัจจุบัน C-sections ได้กลายเป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ และเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่ตกเทรนด์และมีเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่ในกรุงเทพกรุงเทพมหานคร คุณแม่เหล่านี้อาจไม่มีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับผลเสียที่มีต่อทารกและตนเองอย่างเพียงพอ

          ถ้าผมเป็นทารกคงจะน้อยใจมากหากมีแม่ที่ชื่นชม C-sections ตามแฟชั่นโดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพของผมเมื่อโตขึ้น อย่าลืมว่าเมื่อแม่เป็นคนนำผมมาสู่โลก แม่ก็ต้องรับผิดชอบชีวิตผมอย่างรอบคอบที่สุดด้วยนะครับ

เมียนมาร์เลือกตั้ง 2015

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3
พฤศจิกายน 2558

Photo by Gayatri Malhotra on Unsplash

         เมียนมาร์เป็นเพื่อนบ้านสำคัญของเรา แต่ดูเหมือนสังคมไทยรู้เรื่องการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้กันไม่มากนัก

          หากย้อนหลังประวัติศาสตร์ไปเมื่อปี 1962 พม่าซึ่งเป็นชื่อเดิมมีการปฏิวัติเพื่อเข้าสู่เส้นทางที่เรียกว่า Socialist Burmese Way และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึง 1990 ก็ไม่มีเลือกตั้ง รัฐบาลทหารครองอำนาจมาตลอด

          ในปี 1990 มีการเลือกตั้ง นางอองซาน ซูจี (ลูกสาวของผู้ก่อตั้งกองทัพบกพม่าและถือกันว่าเป็นบิดาของเมียนมาร์สมัยใหม่อันเป็นผลจากการเป็นผู้นำต่อสู้อังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม จนได้รับ เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คะแนนรวมได้กว่า 60% และได้คะแนนจากที่นั่งในรัฐสภา 80% แต่ก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลทหารคุมขังไว้ในบ้านเป็นเวลา 15 ปี

          พรรค NLD (National League for Democracy) ของเธอบอยคอร์ตเลือกตั้งในปี 2010 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดีในปี 2012 พรรค NLD ก็ส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมซึ่งมีจำนวน 45 ที่นั่ง ปรากฏว่าพรรค NLD ได้รับเลือกตั้งถึง 43 ที่นั่ง

          รัฐบาลเมียนมาร์เปิดกว้างมากขึ้นทุกที ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ชักชวนอองซาน ซูจี หรือชื่อที่คนเมียนมาร์เรียกอย่างรักใคร่ว่า The Lady ลงเล่นการเมืองซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เธอก็ร่วมมือลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถพังทลายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าผู้มีสามีหรือภรรยา หรือลูกเป็นคนสัญชาติอื่นไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 2015 นี้มาถึง อย่างไรเสียเธอก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี (จะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมีเสียงเกิน 75% แต่ในสภาที่มีตัวแทนทหารอยู่ 25% จึงหมายความว่าถ้าทหารไม่ยอมก็แก้ไขไม่ได้) ในจำนวนกว่า 90 พรรคที่ส่งคนลงเลือกตั้ง จริง ๆ แล้วมีเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่ต่อสู้กันคือ พรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นแขนขาของทหารที่ครองอำนาจกับพรรค NLD (National League For Democracy) ซึ่งเป็นพรรคของ The Lady

          การเลือกประธานาธิบดีของเมียนมาร์ก็ซับซ้อนพอควรคือเลือกกันเดือนพฤศจิกายน แต่จะได้ประธานาธิบดีต้องรอจนถึงเดือนมีนาคมตามรัฐธรรมนูญ สภาบนมีวุฒิสมาชิก 224 คน ในจำนวนนี้เป็นโควต้าของทหาร (เรียกว่า Army Representative อยู่ 25%) เสีย 56 คน มีให้เลือกตั้ง 168 คน

          สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรมี 440 คน เป็นของทหาร 25% คือ 110 คน และที่เหลือ 330 ให้เลือกตั้ง ดังนั้นจึงมีจำนวนทั้งสภาบนและสภาล่างรวม 664 คน เป็นโควต้าของทหารรวม 166 คน มีให้เลือกตั้ง 498 คน

          หลังเลือกตั้งแล้ว 3 กลุ่ม คือ สภาบน สภาล่าง และทหาร จะส่งตัวแทนมาแข่งเป็นประธานาธิบดีกลุ่มละ 1 คน รวมเป็น 3 คน และมาลงคะแนนในที่ประชุมรวมทั้งหมด 664 คน คนที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็นประธานาธิบดี อีก 2 คน ที่เหลือเป็นรองประธานาธิบดี

          เห็นได้ชัดว่ากลุ่มทหารได้เปรียบเพราะมีที่นั่งแน่นอนอยู่แล้วคือ 25% ของ 664 คือ 166 คน พรรค USDP จึงมีโอกาสชนะสูง แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอนถ้า The Lady ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นก็อาจชนะได้ คาดว่าเธอจะได้รับความนิยมจากกลุ่มบามันน์ (ชาติพันธุ์พม่าประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรพม่า 50 ล้านคน อีก 1 ใน 3 คือชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฯลฯ ซึ่งมีอยู่ 7 กลุ่มใหญ่) ซึ่งอยู่หนาแน่นทางใต้และตอนกลาง บริเวณนี้มีการเลือกตั้ง 291 คน ส่วนชนกลุ่มน้อยรวมกันมีการเลือกตั้ง 207 คน

          คาดว่าชนกลุ่มน้อยจะเลือกพรรคของชาติพันธุ์ตนเอง ซึ่งถ้าหากรวมตัวกับ NLD แล้วก็น่าหวาดหวั่นสำหรับพรรค USDP พอควร แต่พรรค UNDP มีความชัดเจนว่าถ้าชนะแล้วประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนพรรค NLD ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจาก The Lady ไม่อาจเป็นได้จึงต้องมีตัวแทน ซึ่งส่วนใหญ่ที่สนิทกับ The Lady ก็สูงอายุแทบทั้งนั้น

          เคยมีข่าวลือว่านายพล ฉ่วย มาน ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานพรรค USDP อาจเป็นสะพานเชื่อมกับ The Lady ได้ดีเพราะนอกจากจะมีคนนิยมแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเสรีนิยมของ The Lady เมื่อร่วมมือกันแล้วก็อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นขวากหนามขวางทางเธอได้ อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้นายพล ฉ่วย มาน ก็ถูก “ปฏิวัติเงียบ” ถูกถอดออกจากทั้งสองตำแหน่งเพราะดูจะใกล้ชิดพรรค NLD และ The Lady เกินไป

          เรื่องหนึ่งที่เป็นกระแสที่น่ากลัวก็คือการต่อต้านมุสลิมอันเป็นผลจากบทบาทของชน กลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นมุสลิมอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ในรัฐอาระกันที่ติดกับบังคลาเทศ (เมียนมาร์มีพรมแดนติดกับอินเดีย จีน บังคลาเทศ ลาว และไทย) โรฮิงญามีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคนในเมียนมาร์ การฆ่าฟันกันระหว่างชาวพุทธและมุสลิมมีมาตลอดเวลา ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาสมาคมเพื่อคุ้มครองชาติพันธุ์และศาสนา (พุทธ) ซึ่งเรียกกันว่า Ma Ba Tha มีพระผู้ใหญ่หลายรูปเป็นผู้นำต่อต้านมุสลิม และได้รับความรู้สึกร่วมจากชาวเมียนมาร์จำนวนมาก (ในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีมุสลิมแม้แต่คนเดียว) กระแสความรู้สึกเช่นนี้เป็นสิ่งคุกคามสันติภาพและความสงบของประเทศได้ในช่วงเวลาต่อไป

          ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี คนส่วนใหญ่เชื่อว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อาจไม่ต้องการอยู่ครบเทอมเนื่องจากปัญหาสุขภาพ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันอีกคนคือนายพล Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารบก

          บรรยากาศเลือกตั้งของเมียนมาร์คึกคักมากเนื่องจากประชาชนได้มีโอกาสเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ในเวลา 53 ปี (ถ้าไม่นับเลือกตั้งซ่อมในปี 2012) รถกระบะที่มีป้ายและรูปตลอดจนผู้สมัครยืนพูดบนรถวิ่งกันไปทั่วคล้ายบรรยากาศเลือกตั้งของไทยสมัยก่อนที่อาศัยสไตล์การหาเสียงแบบถึงตัวเช่นนี้

          ในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้อยู่ในต่างแดนเรียกได้ว่าเมียนมาร์ล้ำหน้าไทยก็ได้เพราะเพียงไม่กี่การเลือกตั้งก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสำหรับคนเมียนมาร์ในต่างแดนได้แล้ว เพียงแต่ไปใช้สิทธิกันน้อยมากเนื่องจากข่าวสารมีจำกัดและมีปัญหาเรื่องบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งอยู่มาก

          ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งจากการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 30 ล้านคน การหันกลับไปปิดประเทศอย่างเดิมไม่มีทางเกิดขึ้นแล้ว เมียนมาร์เปิดกว้างมากขึ้นโดยเป็นประเทศสุดท้ายของ ASEAN ที่ยอมให้พลเมืองของประเทศสมาชิกเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (เดินทางด้วยเครื่องบินจะมีปัญหาน้อยสุด) อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตก เชื่อว่ายังมีโอกาสของการกลับไปสู่บรรยากาศของปี 1990 เมื่อพรรคของ The Lady ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

          ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสถานการณ์แบบปี 1990 จะกลับมาอีกถึงแม้ The Lady จะชนะแบบถล่มทลายก็ตาม ช่วงเวลาระหว่างพฤศจิกายนถึงมีนาคมก่อนที่รู้ว่าใครเป็นประธานาธิบดีจะเป็นเวลาของการต่อรองระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองเพื่อหาทางออกให้ประเทศและกลุ่มอำนาจของตน “อากาศ” ที่มีให้หายใจมากขนาดนี้จะทำให้มีโอกาสในการเกิดอาการผิดสำแดงต่ำถึงต่ำมาก

          ดู ๆ ไปแล้วการเมืองไทยกับเมียนมาร์ไม่แตกต่างกันมากนักถึงแม้เราจะมี “ประชาธิปไตย” กันมาแล้วถึง 83 ปี ในขณะที่เมียนมาร์เพิ่งมี “ประชาธิปไตย” ยุคใหม่ไม่ถึง 5 ปี ดี

แนวคิด Resilience Dividend เพื่อเมือง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27
ตุลาคม 2558

Photo by Brett Jordan on Unsplash

          เมื่อหันไปมองรอบตัว เราจะเห็นสิ่งคุกคามเมืองอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากผู้ก่อการร้าย ภัยโลกร้อน โรคระบาด มลภาวะ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฯลฯ นับวันสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำจนกลายเป็น “new normal” หรือ “เกณฑ์ปกติใหม่” ไปแล้ว เราจะหาทางต่อสู้มันได้อย่างไร นักคิดในโลกปัจจุบันได้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า “Resilience Dividend” หรือ “ผลตอบแทนจากการกลับสู่สภาวะเดิม”

          Resilient หมายถึงสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังจากมีสิ่งหนึ่งไปขัดขวางสภาพปกติของมัน เช่น ฟองน้ำ เมื่อถูกบีบก็แปลงสภาพ แต่เมื่อปล่อยมือมันก็กลับสู่สภาพปกติ สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเราเชื่อกันมานานว่าเป็น Resilient Economy กล่าวคือไม่ว่าจะมีการประท้วง น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วมันก็จะกลับสู่สภาวะเดิมหรือสภาวะปกติคือมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10-20 ต่อปี การเจริญเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ต่อปี อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีจำนวนคนที่มีความเชื่อดังกล่าวอยู่ไม่มากนัก

          Resilience ซึ่งเป็นคำนามของ Resilient หมายถึงการสามารถกลับคืนสู่สภาวะเดิมหรือปกติหลังจากสิ่งขัดขวางหมดไป น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ มี Resilience อยู่สูงพอควรกล่าวคือ เมื่อน้ำลดทุกอย่างก็กลับคืนสู่ภาวะปกติจนแทบไม่เห็นร่องรอยภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน อย่างไรก็ดีมีคำถามว่าแล้วเราจะมี

          Resilience ในลักษณะนี้เพื่อรับมือน้ำท่วมอีกครั้งแล้วครั้งเล่ากระนั้นหรือ และเราแน่ใจได้หรือว่าเราจะสามารถรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่จะถาโถมเข้าใส่ แนวคิดใหม่ของ Resilience Dividend หมายถึงการหาผลตอบแทนจากการมี Resilience ในหลายลักษณะ ถ้าไม่มีก็สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขมากกว่าตั้งรับ

          กลุ่มที่ริเริ่มและผลักดันแนวคิดนี้คือมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ซึ่งมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2013 โดย Dr. Judith Rodin ซึ่งเป็นประธานของมูลนิธิได้เสนอแนวคิดไว้ในหนังสือ “The Resilience Dividend” (2013)

          Judith Rodin เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย Pennsylvania มาก่อน และเป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาที่ Yale อยู่หลายปี เธอเป็นประธานมูลนิธิมาตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อความคิดของผู้บริหารเมืองทั่วโลกเนื่องจากแนวคิดนี้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเป็นไปของโลกอย่างยิ่ง

          เธอบอกว่าการสร้าง Resilience หรือการสามารถกลับสู่สภาพเดิมเป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงที่สุดอันหนึ่งในชีวิตของเราเนื่องจากมันมี 3 ทางโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อโลกใน 10 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ (ก) อัตราการอยู่อาศัยในเขตเมือง (Urbanization Rate) จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกจะถึง 9 พันล้านคน (จาก 7 พันล้านคนในปัจจุบัน) ในกลางศตวรรษ ในปัจจุบันมีคนอาศัยในเขตเมืองถึงร้อยละ 50 ของประชากร

          (ข) ปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งมีผลกระทบมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และจะหนักมือขึ้นในอนาคตอันใกล้ เป็นสิ่งคุกคามธุรกิจ สถาบัน และเมือง เช่น อากาศร้อนได้ฆ่าคนอเมริกันมากกว่าจำนวนคนตายที่เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งหมดรวมกัน และผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความร้อนจะมากขึ้นจนมีคนตายมากขึ้น และ (ค) โลกาภิวัตน์ ทำให้เหตุการณ์ไม่ดีในแห่งหนึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่ดีในอีกแห่งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว เช่น economic shocks และโรคติดต่อ ฯลฯ สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็วอย่างไร้พรมแดน

          3 ปัจจัยข้างต้นทำให้เกิดการเชื่อมต่อของสังคม-สิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจ ซึ่งมีผลอย่างมหาศาลและน่ากลัวยิ่งต่อเมือง สิ่งซึ่งมากระทบจนทำให้เราต้องวุ่นวายในปัจจุบัน เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ภัยผู้ก่อการร้าย โรคระบาด ฯลฯ จะเกิดบ่อยกว่านี้ รุนแรงกว่านี้ และอันตรายกว่านี้สำหรับคนซึ่งมีจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันเมืองก็ต้องควบคุม

          “ความเครียดเรื้อรัง” (chronic stresses) เช่น อาชญากรรม ซึ่งจะพัฒนาช้า ๆ จนมีผลเสียข้ามเวลาอย่างไม่ต่างจาก shocks ทั้งหลายเลย

          Judith Rodin บอกว่าอย่าหลอกตัวเองอีกต่อไปว่าในที่สุดสิ่งต่าง ๆ ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิม มันจะไม่เป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน เราจะแพ้ถ้าเราคิดแต่จะทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูเมืองจากวิกฤต ที่ถูกต้องนั้นควรใช้แนวคิด Resilience Dividend ซึ่งมิได้หมายความถึงการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายเท่านั้น หาก

          Resilience จะทำให้เมืองแน่ใจได้ว่าจะมีการกลับมาทำงานอย่างเดิมและด้วยประสิทธิภาพที่สูงทั้งในสภาพแวดล้อมดีที่สุดและเลวที่สุด มันเหมือนกับตัวปลดล๊อกให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการลงทุนทางธุรกิจ และการมีส่วนร่วมกันในความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น

          ตัวอย่างของการทำให้เกิดผลตอบแทนจาก Resilience ก็ได้แก่เมือง Medellin ในประเทศโคลัมเบียซึ่งเคยเป็นเมืองอันตรายที่สุดในอเมริกาใต้ มีทั้งความรุนแรง ฆ่ากันหลายศพต่อวัน คอรัปชั่น ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การขาดโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ แต่ปัจจุบันได้รับผลตอบแทนจาก Resilience กล่าวคือเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย คนมีงานทำและ ความเหลื่อมล้ำลดลงมาก

          สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะในยุคทศวรรษ 1990 เกิดแนวคิดกำจัดอาชญากรรมโดยสร้างชุมชนที่มี Resilience มากขึ้นด้วยการทำให้คนจนซึ่งเป็นคนก่ออาชญากรรมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้บริหารสร้าง Resilience โดยสร้างระบบคมนาคมให้คนจนสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น มีงานทำและ มีรายได้ สร้างรถรางไฟฟ้าวิ่งจากชุมชนแออัดที่มีคนจนอยู่มากมายเชื่อมต่อเข้ากับระบบขนส่งมวลชน สร้างบันไดเลื่อนไฟฟ้าให้คนจนซึ่งอยู่ในชุมชนแออัดบนเขาสามารถถึงจุดหมายบนเขาเพียง 6 นาที แทนที่จะเป็น 30 นาที

          เส้นทางขนส่งนี้สามารถใช้รับส่งคนเวลาเกิดวิกฤตได้ด้วย เมื่อคนจนมีงานทำและมีรายได้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง อาชญากรรมก็ลดลงในที่สุด พูดสั้น ๆ ว่าแนวคิดสร้าง Resilience ให้แก่เมืองทำได้ทั้งในด้านรูปธรรมคือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและนามธรรม คือมีชุมชนเข้มแข็ง มีความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันจนสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

          ขณะนี้แนวคิดนี้กระจายไปทั่วโลก มูลนิธิ Rockefeller เชิญชวนให้เมืองต่าง ๆ สมัครเข้าเป็นเครือข่าย Resilience City เพื่อรับความช่วยเหลือให้คำแนะนำในการเป็นเมืองที่มี Resilience มากกว่าเดิม

          ตัวอย่างต่อไปนี้อาจทำให้ชัดเจนขึ้นว่า Resilience คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ในเชิงรูปธรรม เมืองมี Resilience มากขึ้นหากมีระบบระบายน้ำท่วมขังได้รวดเร็ว มีบันไดดับไฟที่สูงเพียงพอต่ออาคารสูงมาก มีการสร้างอาคารที่คำนึงถึงแผ่นดินไหวรุนแรง สร้างการจ้างงานในระดับชุมชน มีคลองที่ระบายน้ำได้ดีไม่มีบ้านเรือนกีดขวาง มีทางเดินให้ความสะดวกในชุมชนแออัด มีระบบการจราจรที่ไม่เป็นง่อย ฯลฯ

          ในด้านนามธรรม การปราบปรามคอรัปชั่นเด็ดขาดคือการสร้าง Resilience Dividend ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง หากสาธารณชนเข้มแข็งสนใจติดตามการใช้งบประมาณก่อสร้าง ตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของพนักงานรัฐ ปัญหาโครงสร้างอาคารพาณิชย์และของรัฐขาดมาตรฐานก็จะไม่มี จนสามารถทนทานต่อปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

          ถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความสามัคคีกลมกลืนกันก็จะไม่มีปัญหาใดที่ช่วยเหลือกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยยาเสพติด ภัยโรคระบาด ภัยก่อการร้าย ฯลฯ การมีกล้อง CCTV มีการปราบปรามอาชญากรรมที่ได้ผล มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง คือการสร้าง Resilience อย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดผลตอบแทน

          การสร้างงานให้ชุมชน การกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน การเปิดกว้างให้ทุกคนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันจากการเป็นผู้อยู่อาศัย ในเมือง ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการสร้าง Resilience Dividend

          แนวคิดใหม่ของ Resilience Dividend ทำให้เกิดความคิดเชิงนวัตกรรมในการเตรียมรับมือกับภัยที่มาสู่เมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เมืองกลับสู่สภาวะปกติเท่านั้นหากต้องการให้อยู่ในสภาวะที่ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

          แนวคิดใหม่ที่กำลังมีอิทธิพลต่อเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ในปัจจุบันสมควรได้รับการพิจารณาไตร่ตรองโดยสังคมไทย และผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเมืองเพราะจะมีวิกฤติแล้ววิกฤตเล่าถาโถมเข้าสู่เมืองต่าง ๆ ของบ้านเราอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้เหมือนเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

FIFA อื้อฉาวมาถึงไทย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 ตุลาคม 2558

Photo by Fauzan Saari on Unsplash

         คนทั้งโลกชอบฟุตบอลมากแค่ไหนก็จับตามอง “ความเน่า” ของ FIFA มากเท่านั้น ล่าสุดประธาน FIFA คือ Sepp Blatter และประธาน UEFA (Unión Europea de Fútbol Asociado) คือ Michel Platini ถูกสั่ง “พักงาน” 90 วัน โดยคณะกรรมการจริยธรรมซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายวรวีร์ มะกูดี (บังยี___นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและกรรมการ FIFA) โดนสั่งพักงานโดย FIFA เช่นกัน ลองมาดูกันว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงโดนกันทั่วหน้า

          ผู้เขียนเขียนเรื่อง “ความเน่า” ของ FIFA มาหลายครั้งในปี 2014 ขอนำเอาข้อเขียนบางส่วนมาลงอีกครั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนที่จะเจาะลงไปเรื่องการพักงานดังกล่าว

          นิตยสาร The Economist ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2014 มีปกเป็นรูปคนกำลังเตะฟุตบอลบนหาดทรายในบราซิลซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งฟุตบอลโลก 2014 และมีอักษรตัวโตประกอบว่า Beautiful Game, Ugly Business การขึ้นปกเช่นนี้มีความหมายลึกซึ้ง

          “…..จำเลยคนสำคัญคือ FIFA (Fédération Internationale de Football Association) ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทุก 4 ปี และทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลก โดยมีสมาชิกรวม 209 ประเทศ ไทยก็เป็นสมาชิกประเทศหนึ่ง

          การ ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่นบางคนหรือทั้งทีมในการแข่งขันนัดสำคัญทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมาเป็น ‘ความลับที่เปิดเผย’ กันในหมู่ผู้รู้เรื่องฟุตบอล รายงานลับของ FIFA ที่ถูกแฉโดย New York Times ระบุการ ‘ซื้อ’ กรรมการเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เจ้าพ่อนักพนันต้องการโดยผ่านสมาคมผู้จัดท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของ FIFA ในการแข่งขันหลายแมทช์มิตรภาพใน อาฟริกาใต้ในปี 2010 เพื่อประชาสัมพันธ์การแข่งขันฟุตบอลโลก

          Europol หน่วยข่าวกรองของ EU ระบุว่ามี 680 แมทช์ระหว่างปี 2008-2011 ในการแข่งขันลีกใหญ่ในยุโรป และรอบคัดเลือกเพื่อไปแข่งขันฟุตบอลโลกที่น่าสงสัยว่าจะมีทุจริต ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่น และ ‘ล้มบอล’ แต่ FIFA ก็ไม่เคยลงโทษใคร

          ชื่อเสียงของ FIFA เน่ายิ่งขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษลงข่าวก่อนหน้าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ไม่กี่วันโดยตีแผ่อีเมล์ของคนวงในที่เล่าเรื่องการ ‘ซื้อ’ กรรมการหลายคนของ FIFA ด้วยเงิน 5 ล้านเหรียญเพื่อให้การ์ต้าได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2022 หลักฐานการติดสินบนมีท่วมท้นจนมีข่าวว่าหลังการแข่งขันที่บราซิลอาจมีการพิจารณาทบทวนใหม่

          จะไปแข่งในการ์ต้าทำไมท่ามกลางทะเลทรายที่ไม่มีผู้คนจำนวนมากดูและร้อนจัดจนต้องเลื่อนไปจัดในเดือนธันวาคมแทนที่จะเป็นมิถุนายนดังที่เคยจัดกันมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันที่มีความพร้อมในการจัดมากกว่าอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็จะยิ่งเห็นความบ้ายิ่งขึ้น

          FIFA ใหญ่โตท่วมโลกเพราะมีจำนวนสมาชิกมากและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดกฎกติกา การยอมรับผลการแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียง NGO ที่ตั้งอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์และได้สิทธิพิเศษทางภาษี เหตุที่ชื่อสมาคมเป็นฝรั่งเศสก็เพราะตั้งในปารีสเมื่อปี 1904 และเติบโตมีอำนาจเป็นลำดับตามความนิยมกีฬาฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น (มีการคำนวณว่าในปัจจุบันมีผู้เล่นฟุตบอลจริงจังและเป็นครั้งคราวในโลกกว่า 300 ล้านคน)

          ความอื้อฉาวในเรื่องการทุจริตและความหรูหราฟู่ฟ่าของกรรมการ FIFA โดยใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มีคฤหาสน์ใหญ่โต มีความเป็นอยู่ที่เกินความพอดี ทำให้เกิดความหมั่นไส้และ เกลียดชังในหมู่แฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในตัวนาย Sepp Blatter ประธานผู้มีอายุ 78 ปี ผู้ครองตำแหน่งมายาวนาน 16 ปี…..”

          ทั้งหมดนี้คือที่มาของการสอบสวนโดยคณะกรรมการจริยธรรมของ FIFA หลังจากที่ถูกหน่วงเหนี่ยวมานานโดย Blatter สมาชิกฝั่งอังกฤษพยายามผลักดันให้มีการสอบสวนจนกระทั่งเมื่อ ต้นตุลาคมนี้ก็ประกาศลงโทษ “พักงาน” มิให้ประธาน FIFA และ Platini พร้อมกับเลขาธิการ FIFA นาย Jerome Valcke ยุ่งเกี่ยวกับกิจการฟุตบอลทั้งปวง ตลอดจนพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 90 วัน

          ข้อหาของ Blatter และ Platini ซึ่งเป็นรองประธานด้วย (คงจำยอดนักเตะฝรั่งเศสคนนี้กันได้) ก็คือร่วมกันกระทำความผิดโดย Blatter มอบเงิน 2 ล้านยูโร (80 ล้านบาท) ให้ Platini ก่อนหน้านี้จะมีการเลือกตั้งประธาน FIFA ในปี 2011 หลังจากนั้นไม่นาน Platini ซึ่งเป็นตัวเก็งก็ถอนตัวจากการลงสมัคร

          ที่โดนหนักกว่าเพื่อนก็คือ Chung Mong-joon มหาเศรษฐีทายาทบริษัทฮุนไดแห่ง เกาหลีใต้ ผู้กำลังจะเป็นผู้สมัครแข่งตำแหน่งประธาน FIFA โดนคณะกรรมการชุดนี้สั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานฟุตบอลเป็นเวลา 6 ปี และปรับ 100,000 สวิสฟรังก์ (3,699,000 บาท) โดยโดนข้อหาเสนอสินบนต่อกรรมการ FIFA โดยเขียนเป็นจดหมายเพื่อให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

          Chung ออกมาโวยว่า Blatter โดนเบามากแค่ 90 วัน แต่เขาโดน 6 ปี และ Blatter กำลังวางแผนจะลงสมัครเป็นประธานอีกหลังจากการ “พักงาน” จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สิ้นสุดลงพอดี คณะกรรมการชุดนี้จริง ๆ แล้วก็คือ Hit Man ของ Blatter เพื่อกำจัดเขาผู้กำลังจะสมัครแข่ง

          เมื่อ Blatter ทำหน้าที่ประธาน FIFA ไม่ได้ FIFA ก็ให้ Issa Hayatou ผู้เป็น รองประธานมายาวนานรักษาการแทน ที่ตลกก็คือเขาเคยถูกลงโทษในข้อหารับสินบนเป็นเรื่องอื้อฉาวของ FIFA ในอดีตเหมือนกัน (FIFA หากรรมการที่มีประวัติดีไม่ได้เลยหรือ)

          ฟัง ๆ ดูแล้วราวกับว่าการลงโทษ Blatter เป็นเรื่อง “เล่นละครต้มคนดู” เนื่องจากถูก “พักงาน” ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน พร้อมกับ Platini ผู้อื้อฉาวร่วมคดี โดยไม่มีการลงโทษอะไรเพิ่มเติม คำสั่งของคณะกรรมการจริยธรรมระบุเพียงแค่การ “พักงาน” เท่านั้น

          สื่อต่างประเทศมิได้ลงข่าวว่า “บังยี” กรรมการ FIFA อีกคนซึ่งโดนลงโทษในลักษณะเดียวกันมีข้อหาใด ถ้ากรรมการชุดนี้เล่น ‘ละคร’ จริง สถานการณ์ก็ดูจะคล้ายกับกรณีของ Blatter บังยีก็สามารถลงเลือกตั้งได้อีกหลังจากพ้นการถูก “พักงาน”

          คำถามก็คือเหตุใด FIFA ตัวแทนสโมสรสมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งก็คือตัวแทนของนักดูฟุตบอลของทั้งโลกจึงไม่ทำหน้าที่ที่ดี มีเรื่องอื้อฉาวมายาวนาน คำตอบอาจเป็นว่าไม่มีสิ่งใดผูกพันหรือบังคับให้กรรมการ FIFA เป็นตัวแทนที่ดี (Agents) ตราบที่ผู้ดู (Principals) ขาดกลไกในการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และ FIFA ซึ่งถูก

          ครอบงำโดย Blatter ก็มิได้ตั้งใจที่จะเป็นตัวแทนที่ดีดังนั้นอย่าได้คาดหวังเลยว่าคนดูจะได้รับสิ่งที่ตนเองคาดหวัง แม้แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่านี้ ทฤษฎีตัวแทน (Principal-Agent Theory) ระบุว่าอย่าคาดหวังว่าตัวแทนจะทำการแทนเราได้เป็นอย่างดีที่สุดเป็นอันขาด ตัวอย่างมีมากมาย เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทนายความ กรรมการบริษัท เอเย่นทำการแทนต่าง ๆ ฯลฯ

          FIFA มีเรื่องอื้อฉาวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงจัง เมื่อมีการลงโทษ ก็เป็นเพียงแค่ “เขกเข่า” เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารเหล่านี้ดำรงตำแหน่งกันมายาวนานและครอบงำเกือบทุกองคาพยพของ FIFA

          ผู้กล้าหาญแห่งประเทศไทยในเรื่องคอรัปชั่นทั้งหลายโปรดทราบด้วยว่าบัดนี้ “การเขกเข่า” เริ่มมีให้เห็นน้อยลงเป็นลำดับแล้ว ถ้าจะหลีกเลี่ยงมิให้ถูกลงโทษในทุกดีกรีก็มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินในเส้นทางสุจริต

“Go South” และ Group of 77

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
13
ตุลาคม 2558

geography

         ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ชาย 2 คนกำลังจะปล้นร้านเหล้าโดยแอบอยู่มุมตึก คนหนึ่งถามอีกคนว่า “Are you good?” คำบรรยายเป็นภาษาไทยคือ “คุณเป็นคนดีหรือเปล่า?” ต่อมา สักพักเมื่อสถานการณ์ดูจะไม่ค่อยดีเพราะรถตำรวจผ่านมา อีกคนก็พูดว่า “We are going south” คำบรรยายคือ “เรากำลังจะไปทางใต้กัน” ผู้เขียนแอบดูคำบรรยายแล้วปวดหัวเหลือกำลัง (กำลังจะปล้นถามว่าเป็นคนดีหรือเปล่า และจู่ ๆ จะไปใต้กันแล้ว) คิดว่าวันหนึ่งจะต้องเขียนถึงและวันนี้ก็คือโอกาสนั้นแล้ว

         “Are you good?” ในบริบทนี้ก็คือ “Are you ok?” และ “Go South” ก็คือ “Go Down” สำนวนหลังนี้น่าจะมีอะไรเป็นแง่คิด

         “go south” เป็นสำนวนอเมริกันหมายถึงแย่ลง ต่ำลง หายตัวไป หรือห่างหายไปจากสายตา ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายว่ากำลังเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี คือสถานการณ์แย่ลง สาเหตุที่ “ทิศใต้” เกี่ยวพันกับ “ต่ำลง” ก็เพราะรูปภาพเข็มทิศที่ใช้กันนั้นเข็มทิศจะชี้ไปทางทิศเหนือซึ่งไปทางข้างบน ดังนั้น “ทิศใต้” จึงเป็นไปในทางตรงกันข้าม

         Oxford English Dictionary บันทึกว่ามีการใช้กันตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โดยเป็นภาษาตลาด (ไม่ใช่ภาษาเขียนหรือทางการ) ถ้าเป็นตลาดหุ้น “go south” ก็หมายถึงราคาหรือมูลค่าลดลง สำหรับสำนวนเกี่ยวกับทิศก็มีอีกเช่น “go west” ของคนอเมริกันซึ่งหมายถึงการไปเสี่ยงหาความมั่งคั่งโดยใช้คำนี้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 เมื่อมีการขยายทิศทางการออกไปหากินกันทางทิศตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการพบทองคำในรัฐแคลิฟอร์เนีย

         ในระดับประเทศและโลก คำว่า “south” มีความหมายอีกอย่างหนึ่งแต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ด้อยกว่า “north” กล่าวคือภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกทำให้เรียกกลุ่มประเทศยากจน หรือด้อยพัฒนาว่ากลุ่ม south

         หากจินตนาการแผนที่โลกโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ Global North ซึ่งรวมพื้นที่อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และพื้นที่พัฒนาแล้วของเอเชียตะวันออก (เกาหลี จีน ญี่ปุ่น) และ Global South ซึ่งประกอบด้วยอาฟริกา อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและประเทศในตะวันออกกลาง

         “กลุ่มเหนือ” เป็นพื้นที่ร่ำรวยกว่า “กลุ่มใต้” อย่างเห็นได้ชัดใน 3 ลักษณะเป็นอย่างน้อย ซึ่งได้แก่ (ก) ร้อยละ 90 ของ “กลุ่มเหนือ” มีอาหารและที่อยู่อาศัยเพียงพอ (ข) “กลุ่มเหนือ” มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่า (ค) “กลุ่มเหนือ” มีเทคโนโลยีที่สูงกว่า มีเสถียรภาพทางการเมืองและมีสินค้าอุตสาหกรรมเป็นฐาน

         ในเชิงเศรษฐกิจ “กลุ่มเหนือ” ถึงแม้จะมีประชากรรวมกันเพียง 1 ใน 4 ของโลก แต่เป็นเจ้าของ 4 ใน 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโลก ร้อยละ 90 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลกผลิตและเป็นเจ้าของโดย “กลุ่มเหนือ”

         เมื่อลักษณะของภูมิเศรษฐศาสตร์เป็นเช่นนี้จึงเรียกประเทศที่ยากจนว่าเป็น south ถึงแม้ว่าจะอยู่ทางเหนือตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ก็ตามที ในทางกลับกันประเทศที่อยู่ทางใต้หากร่ำรวย เช่น ออสเตรเลีย ก็ถือว่าเป็น north

         ในการแบ่งแประเทศในยุคสงครามเย็น (ประมาณ ค.ศ. 1950-1989) ประเทศถูกแบ่งเป็น east และ west โดย east ก็คือจีนและสหภาพโซเวียต ส่วน west ก็คือสหรัฐอเมริกาและพรรคพวกที่ร่ำรวยทั้งหลายอันได้แก่ประเทศยุโรปตะวันตก

         ยังมีการแบ่งประเทศอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า first world คือประเทศที่พัฒนาแล้ว และ third world คือประเทศที่กำลังพัฒนา first world จึงกลายเป็น north และ third word กลายเป็น south

         ความร่วมมือ North-South จึงหมายความถึงการร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Countries) กับประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries ซึ่งเป็นคำไม่น่ารังเกียจเท่า poor countries) และ South-South Cooperation จึงหมายความถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง

         South-South นี้แหละที่นำไปสู่ Group of 77 ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเพิ่งไปรับตำแหน่งประธานกลุ่มนี้กลับมา

         Group of 77 จัดตั้งขึ้นในปี 1964 โดยกลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติซึ่งล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันแบบ South-South โดยเป็นองค์กรแบบไม่เป็นทางการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของ UN

         ความร่วมมือที่ว่านี้ก็เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างพลังอำนาจในการต่อรองร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ภายใต้ระบบของสหประชาชาติ และสนับสนุนความร่วมมือแบบ South-South ในการพัฒนาประเทศ

         Group of 77 นั้นถึงแม้ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 134 ประเทศ (แต่ก็ยังคงชื่อของ Group of 77 ไว้เช่นเดิม) ในตอนแรกตั้งมีสมาชิก 77 ประเทศอย่างไรก็ดีมีหลายประเทศที่ต่อมาถอนตัวออกไป เช่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ฯลฯ

         กลุ่มนี้มีผลงานในอดีตมากมาย และเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใน UN (การจัดตั้ง UNCTAD เป็นผลงานหนึ่ง) อย่างไรก็ดีความสำคัญของกลุ่มนี้แปรเปลี่ยนไปตามบริบท สิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขของแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น ความซับซ้อนและความหลากหลายของโลกปัจจุบันทำให้พลังของ Group of 77 ผันแปรไปตามกาลเวลา

         ประธานของ Group of 77 ผลัดเปลี่ยนกันไปตามเขตภูมิศาสตร์ คือ อาฟริกา เอเชียปาซิฟิก และละตินอเมริกา ในปี 2015 ประธานคืออาฟริกาใต้ และปี 2016 คือประเทศไทย การที่ไทยได้เป็นประธาน Group of 77 นั้นเข้าใจว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของนักการทูตมืออาชีพของไทยทั้งที่กรุงเทพฯ นิวยอร์ก เจนีวา และกรุงวอชิงตันดี.ซี.โดยแท้เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขจำกัดของไทย การโน้มน้าวชักจูงหว่านล้อมเพื่อนสมาชิกให้เห็นแง่มุมของผู้นำไทยและประโยชน์ที่กลุ่ม จักได้รับ ตลอดจนการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเชิงการทูตทำให้ไทยได้รับตำแหน่งนี้ซึ่งมีนัยยะสำคัญของการได้รับการยอมรับจากชาวโลกในระดับหนึ่ง

         “Go South” ในกรณีของ Group of 77 มิได้หมายความถึงการเลวร้ายลง หากหมายถึงดีขึ้นหรือไปทางทิศเหนือ คือ “อุดร” ซึ่งตรงข้ามกับทิศใต้ คือ “ทักษิณ”