วัวสัตว์อันตรายของอินเดีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
23 สิงหาคม 2559

         วัวเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างเป็นที่สุด ผลิตภัณฑ์อาหารมากมายมาจากนม อีกทั้งหนัง เขา กระดูก เนื้อเป็นของมีค่าและยามเมื่อมีชีวิตอยู่ก็ช่วยไถนา มูลก็เป็นทั้งปุ๋ยและเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดีสัตว์ไร้เดียงสาไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใครนี้ได้กลายเป็นสัตว์อันตรายเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งฆ่าฟันในกลุ่มมนุษย์จำนวนกว่าพันล้านคน

         ในประชากรกว่า 1,300 ล้านคนของอินเดีย มีฮินดูอยู่ประมาณ 1,037 ล้านคน และมุสลิมประมาณ 182 ล้านคน ทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันมาเป็นพันปี กระทบกระทั่งกันมาตลอดด้วยสาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมความเชื่อในเรื่องวัวที่แตกต่างกัน

          ฮินดูซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมเช่นเดียวกับศาสนา คนฮินดูถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาหลายพันปีเช่นเดียวกับชาวอียิปต์ ชาวกรีก ชาวยิว ชาวโรมันในยุคโบราณ เหตุผลก็เพราะประโยชน์นานับประการของวัวจนวัวเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งมาแต่ ดึกดำบรรพ์ มีสถานะคล้าย “ผู้ดูแล” ซึ่งเสมือนกับเป็นแม่

          คำในภาษาสันสกฤตของวัวคือ “โค” ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า “cow” ในภาษาอังกฤษ และ bos” ในภาษาละติน ทั้งหมดมาจากคำว่า “gwous” ในภาษา Proto-Indo-European

          มุสลิมซึ่งเข้าครอบครองอินเดียในศตวรรษที่ 7 บริโภคเนื้อวัวแทนหมูซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนา ส่วนฮินดูส่วนใหญ่นั้นไม่บริโภคเนื้อวัว ตัวขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในปัจจุบันมิได้เกิดจากเรื่องใครกินอะไร หากมีที่มาจากความขมขื่นจากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1947 ที่มีการแบ่งประเทศอินเดียและให้คนมุสลิมอพยพไปอยู่ปากีสถานตะวันตก (ต่อมาเรียกว่าปากีสถาน) และปากีสถานตะวันออก (ต่อมาเป็นประเทศบังคลาเทศใน ค.ศ. 1971)

          คนมุสลิมที่ยังอยู่ในอินเดียรู้สึกขมขื่นเพราะเป็นคนอินเดียเหมือนกันแต่ไม่เท่ากัน ดังนั้นวัวจึงเสมือนเป็นชนวนของการลุกฮือขึ้นต่อสู้ฆ่าฟันกันระหว่าง ค.ศ. 1717 ถึง 1977 มีสถิติว่า 22 จาก 167 เหตุการณ์ของการจลาจลฆ่าฟันกันระหว่างฮินดูและมุสลิมมีสาเหตุโดยตรงจากเรื่องการฆ่าวัว

          กฎหมายในอินเดียเกี่ยวกับการฆ่าวัวนั้นแตกต่างกัน ใน 29 รัฐมี 24 รัฐที่การฆ่าวัวและขายเนื้อวัวมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในเรื่องอายุและเพศของวัว เนื้อวัวที่ฃื้อขายได้หรือลักลอบซื้อขายกันนั้นมีราคาถูกกว่าไก่และปลา ดังนั้นจึงเป็นอาหารของมุสลิมที่ยากจนและพวก dalit (จัณฑาลซึ่งได้แก่ผู้อยู่ในวรรณะต่ำสุด)

          อย่างไรก็ดีในปัจจุบันฮินดูที่อยู่ในประเทศอินเดียจำนวนไม่น้อยก็แอบบริโภคเนื้อวัวด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮินดูที่อยู่ในประเทศอื่นเช่น มาเลเซีย ฮินดูไม่ฆ่าวัวโดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมุสลิม (อินเดียส่งเนื้อวัวและเนื้อควายออกนอกประเทศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งร้อยละ 80 เป็นเนื้อควาย) ถึงแม้วัวจะเดินเกะกะบนถนนที่รถติดโดยไม่มีใครข่มเหงรังแก แต่ถึงจุดหนึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะเข้าโรงฆ่าสัตว์ ที่กล่าวนี้เป็นความจริงที่ไม่กล้ายอมรับกันเปิดเผยในสังคมอินเดีย

          งานวิชาการของ Dr.Jha ในหนังสือ The Myth of the Holy Cow ได้เอาข้อเขียนทางศาสนาตลอดจนตำราโบราณมาอ้างอิงว่าฮินดูในสมัยโบราณนั้นบริโภคเนื้อวัว แต่ผู้เขียนถูกขู่เข็ญโดยกลุ่มฮินดูขวาจัดซึ่งกล่าวว่าเหตุที่มีการกินเนื้อวัวกันในอินเดียนั้นก็มาจากอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่แพร่กระจายเข้ามาในอินเดีย

          ปัจจุบันกลุ่มฮินดูขวาจัดกำลังแสดงพลังในหลายเมืองโดยอ้างว่าการคุ้มครองวัวนั้นคือหน้าที่ของชาวฮินดู การป้องกันรักษาวัวโดยทำลายผู้ที่ฆ่าวัวและกินเนื้อวัวคือสิ่งที่สมควรทำ วัวกำลังกลายเป็นสัตว์ไร้เดียงสาที่อันตรายอีกครั้งในอินเดีย กลุ่มฮินดูขวาจัดกระจายอยู่ในหลายเมือง เสาะแสวงหาผู้ฆ่าวัวอย่างผิดกฎหมาย ขู่เข็ญ ขู่ฆ่า รวมทั้งลอบฆ่าคนเหล่านี้ ซึ่งโดยนัยยะก็คือการฆ่ามุสลิมนั่นเอง

          เมื่อไม่นานมานี้ที่เมืองอัคราที่ตั้งของทัชมาฮาล สมาชิกฮินดูฝ่ายขวา 5,000 คน ล้อมกรอบร้านขายเนื้อ โรงฆ่าสัตว์ และที่รัฐอุตรประเทศ มีคนถูกฆ่าเพราะมีข่าวลือว่าบริโภคและสะสม เนื้อวัว อีกหลายเมืองก็มีความคุกรุ่นจนนายกรัฐมนตรี Modi ออกมาห้ามปราม (เมื่อตอนหาเสียงก็เคยโจมตีสมาชิกพรรครัฐบาลที่อยู่ตรงข้ามว่าส่งเสริมการฆ่าวัวเพื่อหาเงินจากการส่งออก) เพราะเกรงว่าจะเกิดจลาจลฆ่าฟันกันระหว่างฮินดูและมุสลิมดังเช่นที่เกิดขึ้นที่เมือง Nellie ในปี 1983 ครั้งนั้นมุสลิม 1,800 คนถูกฆ่าซึ่งถือว่าเป็นฆาตกรรมหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือเด็กและผู้หญิง

          ไม่น่าเชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือสื่อสารเห็นหน้ากัน เล่น Pokémon Go ขับรถไฟฟ้า และอีกไม่นานจะนั่งรถที่ไม่ต้องมีคนขับ ฯลฯ แต่ยังมีคนไล่ฆ่าฟันกันด้วยสาเหตุจากความเชื่อในเรื่องวัวที่แตกต่างกัน

          อย่างไรก็ดีถ้าเห็นเพียงว่าวัวเป็นสาเหตุของการฆ่าฟันก็ไม่ถูกต้องเพราะนักการเมืองต่างพรรคที่หาประโยชน์จากกลุ่มฮินดูขวาจัดก็มีส่วนร่วมในการช่วยกระพือโหมข้อขัดแย้งเพื่อหาคะแนนนิยมจากสถานการณ์ที่มีเชื้อไฟเดิมอยู่แล้ว

          มหาตมะ คานธี บอกว่าหากจะวัดว่าประเทศใดยิ่งใหญ่ และมีความก้าวหน้าทางศีลธรรมเพียงใดให้ดูว่าคนในชาตินั้นดูแลสัตว์ทั้งหลายอย่างไร การปกป้องคุ้มครองวัวมิใช่เป็นแค่เรื่องของวัว หากหมายถึงการคุ้มครองดูแลชีวิตทั้งหลายที่อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ในโลกด้วย

          บ้านเราดูแลสัตว์กันดีเพียงใด ช้างม้าวัวควายและผู้อ่อนแอในบ้านเราได้รับการคุ้มครองปกป้องอย่างดีเพียงพอแล้วหรือไม่

โลกระส่ำด้วย Pokémon

วรากรณ์  สามโกเศศ
16 สิงหาคม 2559

          ในปัจจุบันถ้าไม่ได้ยินคำว่า Pokémon Go ต่ำกว่า 10 ครั้งต่อวัน คงนอนไม่หลับเป็นแน่ บ้านเรามักพูดถึงแต่เรื่องอันตรายอันเกิดจากเกมส์ที่ร้อนแรงนี้ แต่โดยแท้จริงแล้วมีอีกหลายประเด็น เมื่อประมวลภาพเข้าด้วยกันแล้วกล่าวได้ว่าเกมส์นี้ทำให้โลกระส่ำ

          Pokémon Go (PG) เป็นเกมส์ที่คิดค้นโดยบริษัท Niantic ซึ่ง Google เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับ Nintendo ของญี่ปุ่น PG ไม่ใช่เกมส์แรกหากมีมาหลายเวอร์ชั่นแล้วโดย PG เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด เกมส์ชื่อ Ingress ของบริษัทนี้ซึ่งเปิดตัวก่อนหน้านี้ คนเล่นต้องเดินออกไป “จับ” สัตว์หรือตัวการ์ตูนของฝ่ายตรงข้ามโดยใช้ Google Map แต่เมื่อไม่ได้รับความนิยมเพราะเล่นยาก PG จึงเป็นเวอร์ชั่นที่ปรับปรุงออกมารับตลาด

          Pokémon เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ต่อมามีการทำเป็นภาพยนตร์และเอาตัวละครในเรื่องมาอยู่ในเกมส์ เพิ่มตัวการ์ตูนมากขึ้นจนถึง 722 ตัว และพัฒนาจนมาเป็น PG ในที่สุด PG เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 และภายในเวลา 3 อาทิตย์ใน 30 ประเทศที่เปิดตัว มีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น PG 400 ล้านครั้ง

          ประเด็นแรก ที่ห่วงกันในเรื่องอันตรายนั้นเป็นเรื่องจริง มีอุบัติเหตุที่คนเล่นตกลงไปในน้ำ ในท่อน้ำ ตกมอเตอร์ไซค์ถูกรถชน เกี่ยวพันในอุบัติเหตุจำนวนมาก มันเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับการก้มหน้าใช้สมาร์ทโฟนแต่ต้องเดินไปด้วยและสนุกไปด้วยกับการ “จับ” ดังนั้นอันตรายจึงย่อมมีมากกว่า

          ความเพลิดเพลินและความมุ่งมั่นจะ “จับ” ให้ได้มากตัว อาจนำไปสู่ที่เปลี่ยว ถูกจี้ปล้น หรือทำร้ายก็มีไม่น้อยในหลายประเทศ การต้องเปิดเผยสถานที่ตนเองในแผนที่ขณะเล่นก็เท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวซึ่งคนมุ่งร้ายอาจหาประโยชน์ได้

          ประเด็นที่สอง เราเสียเวลากับ Facebook กับ Line กับการดูคลิปมาเพียงพอแล้ว เมื่อมี PG ให้เล่นก็จะยิ่งทำให้เสียเวลาและเสียงานมากขึ้น (ต้องเคลื่อนไหวไปอยู่ในที่ ๆ ไม่จำเป็นต้องไป ละทิ้งหน้าร้านที่ต้องเฝ้าหรือถ้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเล่น PG ขณะเข้าเวรก็น่าเป็นห่วง) สมาร์ทโฟนทำลายสมาธิการเรียนในห้องเรียน ทำลายชั่วโมงทำงานของลูกจ้างเพียงพอแล้วโดยไม่จำเป็นต้องมี PG มาเพิ่ม

          ประเด็นที่สาม เจ้าของเกมส์ทำเงินได้มากมายจากเกมส์นี้ที่ถึงแม้จะดาวน์โหลดฟรีก็ตาม บริษัทสามารถเอาข้อมูลที่คนเล่นต้องเป็นสมาชิก G-mail ไปทำประโยชน์ทางการค้าได้มากมาย เช่น วิเคราะห์แบบแผนการบริโภค ขาย e-mail address (ทำได้ในหลายประเทศ) เป็นฐานลูกค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือสามารถเอาตัวการ์ตูนใดไป “หยอด” ลงที่ใด จำนวนเท่าใด ให้ปรากฏตัวบ่อยครั้งเท่าใด ฯลฯ ได้ทั้งนั้น โดยขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินของศูนย์การค้าหรือธุรกิจที่ต้องการให้ลูกค้าที่เล่นเกมส์ไปปรากฏตัวมาก ๆ ในศูนย์การค้าหรือหน้าร้านค้าซึ่งย่อมทำให้โอกาสทางธุรกิจมีมากขึ้น ตัวอย่างคือ McDonald ในญี่ปุ่นรวม 2,900 สาขาจ่ายเงินจำนวนมากให้ Niantic เพื่อให้ “หยอด” ตัวการ์ตูนหน้าร้านมาก ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจ เข้าใจว่าในบ้านเราก็มีคนจ่ายเงินกันไม่น้อย น่าเสียดายที่เงินเหล่านี้ไหลออกไปนอกประเทศแทบทั้งหมด

          นอกจากนี้บริษัทเกมส์ก็สามารถหาเงินจากการขาย “อาวุธ” เครื่องมือ “จับ” อุปกรณ์นำทาง ตลอดจนแอพพลิเคชั่นเสียเงินอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ “จับ” ได้ถนัดมือขึ้น และสนุกสนานมากขึ้นด้วย

          ประเด็นที่สี่ Niantic ควรรับผิดชอบในการ “หยอด” การ์ตูนไว้ในสถานที่ ๆ อาจเกิดอันตราย เช่น ริมถนนที่รถสัญจรไปมามาก ควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12-13 ปี เล่น เลือกสถานที่ “หยอด” เช่น วัดวาอาราม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เวลาของการปล่อย ตลอดจนความถี่ โดยมุ่งความปลอดภัยของผู้บริโภคประกอบการแสวงหารายได้ด้วย

          ประเด็นที่ห้า ไม่น่าเชื่อว่า PG สามารถสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศได้ จีนและรัสเซียออกประกาศว่าจะไม่ยอมให้ PG เข้าไปในประเทศเพราะเป็นเกมส์ของ CIA ที่แฝงการทำจารกรรมอย่างแนบเนียน กล่าวคือเมื่อภาครัฐห้ามประชาชนไม่ให้เข้าไป “จับ” ในที่หวงห้ามซึ่งอาจเป็นที่ตั้งขีปนาวุธ แหล่งเก็บอาวุธ ที่ตั้งลับทางทหารหรือการค้นคว้าวิจัยที่ลับ ฯลฯ เจ้าของเกมส์ก็จะรู้ได้ว่าสถานที่เหล่านี้คือสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เมื่อคนเล่นมากขึ้นในทุกพื้นที่ CIA ก็จะสามารถเก็บข้อมูลได้กว้างขวางมากขึ้น

          นอกจากนี้การ “จับ” ก็จะต้องเปิดกล้องซึ่งเปิดโอกาสการถ่ายรูปอาคารของราชการซึ่งอาจเป็นเป้าหมายของโดรน (drone) ได้ในอนาคต เนื่องจากเมื่อโดรนสามารถจับคู่ภาพถ่ายที่เก็บไว้ในเครื่องกลสมองกับภาพอาคารจริงก็พุ่งเข้าโจมตีได้แม่นยำ

          สงครามเย็น (ค่อนไปทางร้อนในหลายกรณี) ระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีนใน ปัจจุบันก่อให้เกิดความระแวงได้ในทุกโอกาส PG เกิดขึ้นมาท่ามกลางบริบทของความระแวง ดังนั้นจึงอาจทำให้ความขัดแย้งเขม็งเกลียวยิ่งขึ้นอย่างน่าหวาดเสียวหากเกิดความเข้าใจผิดขึ้น

          ไม่น่าเชื่อว่าเกมส์ของโลกไซเบอร์เพียงเกมส์เดียวสามารถเขย่าโลกได้ถึงเพียงนี้ ในเวลาไม่ถึง 6 อาทิตย์พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการออกกำลังเดินมากขึ้น มีความสนุกสนานมากขึ้น พ่อแม่กับลูกสามารถร่วมสนุกกัน พ่อแม่ต้องพาลูกออกไป “ล่า” ในเวลาวิกาล หรือต้องออกไปโดยลำพังเพื่อ “จับ” มาให้ลูกเพื่อจะได้เอาไปโชว์เพื่อนที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น มีชีวิตที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ฯลฯ

          ถึงแม้วันหนึ่ง PG จะจางหายไปตามกฎธรรมชาติ แต่ระหว่างที่มีพละกำลังอยู่ตามแฟชั่นโลกในขณะนี้ เราก็ต้องช่วยกันควบคุมให้อยู่ในกรอบแห่งความสนุกสนานและความพอเหมาะพอควรอย่างปราศจากอันตรายให้จงได้
 

เลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กำลังร้อนแรง

วรากรณ์  สามโกเศศ
29 มีนาคม 2559

         การเมืองในหลายประเทศ ASEAN กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในตอนต้นของการเป็นประชาคมอาเซียนดังเช่นปัจจุบัน หน้าตาของประชาคมที่รอคอยกันมานานจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมาก

          ประเทศใหญ่ในอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญ มีขนาดประชากรและเศรษฐกิจที่รวมกันใหญ่โตมากก็คือไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

          ในขณะนี้การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะหาเสียงกันจนถึงเลือกตั้งในต้นเดือนพฤษภาคม

          ฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก ๆ 6 ปี โดยดำรงตำแหน่งวาระเดียว การเลือกตั้งเช่นนี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับเป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1986

          ลองทบทวนประวัติศาสตร์กันเล็กน้อย หลังจากการเมืองวุ่นวาย มีปฏิวัติ มีการประท้วง ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Marcos ในที่สุดในปี 1986 ก็ได้นาง Corozon Aquino เป็นประธานาธิบดี ต่อด้วย Fidel Ramos / Joseph Estrada / นาง Gloria Arroyo และ Benigno Aquino III ลูกชายของนาง Corozon Aquino ในปัจจุบัน

          ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้งในปี 2010 ในช่วงเวลาเกือบ 6 ปี ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงสุดในอาเซียน ถึงแม้จะยังอยู่หลังหลายประเทศใน ASEAN เนื่องจากมีประชากรขนาดใหญ่ (ครั้งหนึ่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีประชากรใกล้เคียงกับไทยคือ 45 ล้านคน แต่ปัจจุบัน 100 ล้านคน) และมีปัญหาเก่าหมักหมมอยู่มากมาย

          เมื่อประธานาธิบดีมีผลงานใช้ได้ สามารถพลิกผันเศรษฐกิจจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผู้คนจึงสนใจว่าใครจะมาเป็นต่อเพื่อให้แน่ใจว่าจะสานงานต่อไป หลังจากต่อสู้แย่งชิงการสนับสนุนจากประธานาธิบดีกันตลอดปี 2515 ก็ได้คำตอบแน่ชัดว่าเขาสนับสนุน Manuel Roxas II ผู้มีชื่อเล่นในสื่อว่า Mar อายุ 58 ปี แต่ที่แปลกก็คือทั้งที่เขามีพื้นฐานครอบครัวทางการเมืองที่ถือว่า สุดยอด มีความรู้ดี มีประสบการณ์เพียบพร้อม ไม่มีชื่อเสียงด้านคอรัปชั่น แต่คะแนนนิยมกลับไม่โลดแล่น

          คนที่มาแรงอยู่ตลอดกลับเป็นสาวใหญ่อายุ 47 ปี ชื่อ Grace Poe เพิ่งเป็นวุฒิสมาชิกครั้งแรกในปี 2013 ที่เธอดังก็เพราะในปีนั้นได้รับคะแนนเสียงสูงกว่าวุฒิสมาชิกทุกคน สาเหตุหนึ่งที่เธอได้รับความนิยมก็เพราะเธอเป็นเด็กที่พ่อแม่เอามาทิ้งและได้รับการอุ้มชูเป็นลูกสาวบุญธรรมของ Fernando Poe (FPJ) ราชาพระเอกหนังยอดนิยมในอดีต

          FPJ เป็นที่รักและชื่นชมของคนฟิลิปปินส์มาก เขาลงเลือกตั้งประธานาธิบดี ในปี 2004 แข่งกับนาง Gloria Arroyo อย่างสูสี เชื่อกันว่าในครั้งนั้นถ้าไม่มีการโกงเลือกตั้งกันแหลกลาญแล้วเขาต้องได้เป็นประธานาธิบดีเขาชอกช้ำใจเหมือนเพื่อนรักดาราภาพยนตร์ด้วยกันที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2001 แต่ถูกถอดถอนก่อนครบวาระคือ นาย Joseph Estrada

          คนที่สามคือ Jejomar Binay อายุ 74 ปี ลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพื่อสมัครเป็นประธานาธิบดีครั้งนี้ ในอดีตเป็นนายกเทศมนตรีของ Metro Makati เป็นนักการเมืองเก่าแก่ มีชื่อเสียงด้านคอรัปชั่น เขาเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาคนจำนวนหนึ่ง แต่ก็มาแรงในการแข่งขัน ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

          คนที่สี่คือนาย Rodrigo Duterte อายุ 70 ปี อดีตนายกเทศมนตรี Davao City ผู้กำลังได้รับความนิยมเพราะมีผลงานและนโยบายชัดเจนในการปราบปรามอาชญากรรม เมืองนี้อยู่ทางใต้ของเกาะ Mindanao เขาปราบโจรได้หมดเพราะฆ่าตายเกลี้ยง จนมีชื่อเสียงไม่ดีด้านสิทธิมนุษยชน

          คนสุดท้ายเป็นหญิง อายุ 70 ปี มีข่าวว่ากำลังเป็นมะเร็งแต่เจ้าตัวปฏิเสธ มีประสบการณ์กว้างขวาง นโยบายเด่นคือปราบอิทธิพล เคยเป็นพิพากษา ทำงานบริหารหลายตำแหน่ง สมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม เธอชื่อ Miriam Defensor-Santiago

          โพลล่าสุด (ไม่มีความแม่นยำเหมือนโพลในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป) ระบุว่า Poe นำ 26% Binay และ Duterte ประมาณ 23-24% ส่วน Roxas ได้ 22% สรุปได้ว่าไล่เลี่ยกัน มีโอกาสไม่ต่างกันมากเพราะต้องหาเสียงกันอีกกว่า 2 เดือน และแต่ละคนก็มี “ปัญหา” ที่อาจปะทุขึ้นมาในด้านลบได้เสมอ

          Poe นั้นก่อนหน้านี้โดนศึกหนักเพราะ COMELEC (องค์กรคล้าย กกต. ของเรา) กล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติเนื่องจากอยู่ในประเทศนี้ไม่ครบ 6 ปี และไม่เป็นพลเมืองของประเทศ ประเด็นก็คือเธอเรียนหนังสือในอเมริกาและสละสัญชาติฟิลิปปินส์ แต่เมื่อกลับบ้านและคิดจะลงเลือกตั้งก็กลับมาถือสัญชาติฟิลิปปินส์อีกครั้ง คดีถึงศาลฎีกาและตัดสินอย่างไม่ได้ใจประชาชนว่าเธอมีสิทธิลงสมัคร เรียกได้ว่าเธอผ่านด่านนี้มาอย่างก้ำกึ่งพอควร

          Binay หาเสียงเก่ง เป็นทุกสิ่งของทุกคน มีเสน่ห์ มีเงิน ฯ ประชาชนประเทศนี้นิยมเลือกตัวบุคคล ไม่สนใจพรรค ชอบสีสัน ชอบความครึกครื้น การหาเสียงต้องมีดนตรีประกอบอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะเวลาที่ไปหาเสียงในพื้นที่นอกเมืองหลวง ผู้แข่งขันสู้กันด้วยคำพูดที่พยายาม สรรหามารัดรึงใจผู้ลงคะแนน 54 ล้านคน ในเรื่องเหล่านี้ Binay นักการเมืองเก่ากึ๊กมีอยู่เพียบพร้อมและเต็มไปด้วยทุนสนับสนุน

          Roxas ที่เกือบจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วเพราะได้รับความนิยมสูง แต่ปฏิเสธให้เพื่อนคือ Aqino หรือ Noynoy ลงแทน ความรู้สึกอาลัยนาง Aqinos ผู้แม่ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตของประชาชนนั้นรุนแรงจนทำให้ลูกชายได้เป็นประธานาธิบดี ตัวเขาลงแข่งรองประธานาธิบดีแต่แพ้ Binay

          Mar เรียนจบ Wharton พ่อเป็นอดีตวุฒิสมาชิกและเป็นหลานปู่ของประธานาธิบดี Roxas ส่วนตานั้นเป็นมหาเศรษฐีอุตสาหกรรม Mar เคยเป็น ส.ส. และ ส.ว. และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญหลายกระทรวง เช่น คมนาคม พาณิชย์ ฯลฯ เป็นรัฐมนตรีคู่คิดของประธานาธิบดี และเป็น “ทายาท” อย่างชัดแจ้ง

          ปัญหาของ Mar ตามที่ถูกกล่าวหาก็คือเขาขาดเสน่ห์ในการเป็นนักการเมือง เก่งก็จริงแต่ในประเทศนี้ที่ฝรั่งเรียกว่า Fiesta Democracy (ประชาธิปไตยแบบเฉลิมฉลองความสุข) นั้น ถึงเป็น “ทายาท” ของประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเลือกเสมอไปถ้าไม่ถูกใจประชาชน

          ในที่สุดน่าจะมี 3 คน คือ Poe / Mar / และ Binay ที่จะแข่งกันสูสี คาดว่าในที่สุดจะได้ประธานาธิบดีที่ไม่มีเสียงชนะอย่างท่วมท้นฃึ่งทำให้ขาดพลังในความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองซึ่งต่างจากกรณีของ Noynoy

          ทั้งสามมีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ต่างกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคมเหมือนกันเพียงแต่ไม่เท่ากัน Poe กับ Binay นั้นเข้าถึงคนจนได้ดีกว่า โดยเฉพาะ Poe เข้าถึงคนเมืองที่อยากเห็นสิ่งใหม่ ๆ คนรวยมีการศึกษาก็นิยมเธอเช่นกัน สื่อเห็นว่าเธอน่าจะมีคะแนนนำเหนืออีก 2 คนในขณะนี้

          Roxas มีฐานเสียงไม่ต่างจาก Poe ถ้าจะชนะต้องเจาะประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องการเห็น คือ ความเป็นผู้นำ การปราบคอรัปชั่น นโยบายกับจีนเรื่องเกาะทะเลใต้ (มีคดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องจีนในศาลโลกค้างอยู่ในขณะนี้) เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อไปและช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ประสบการณ์ ฯ

          น่าเสียดายที่ในช่วงเวลาซึ่งชาติต้องการความเข้มแข็ง เด็ดขาดในการนำซึ่งจะได้มาจากแรงสนับสนุนของความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งแบบ “เสียงขาด” นั้นจะไม่เกิดขึ้น

          เมื่อคำนึงถึงคะแนนเสียงที่คาดว่าจะก้ำกึ่งกันมากระหว่างผู้สมัคร และหากมีการประท้วงเรื่องการนับคะแนนกันใหญ่โตแล้วก็จะนำมาซึ่งความยุ่งยากอีกไม่น้อย

ลูกคนเดียว “ทำร้ายจีน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
16 กุมภาพันธ์ 2559

         การตัดสินใจดำเนินนโยบายในระดับชาติอย่างสมเหตุสมผล ณ จุดหนึ่งของเวลาอาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงในระยะยาวก็เป็นได้ ดังนโยบาย “ลูกคนเดียว” (One-child Policy) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

          ระหว่างปี 1978-1980 ทางการจีนมีการเตรียมการในเรื่องวางแผนครอบครัวอย่างแข็งขันและประกาศใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” ในปี 1980 อย่างเด็ดเดี่ยว และมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น

          ในปี 1949 เมื่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรประมาณ 540 ล้านคน แต่เมื่อถึงปี 1976 ประชากรก็พุ่งขึ้นเป็น 940 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวในเวลาเพียง 27 ปี

          ตัวเลขนี้ยิ่งน่ากลัวเมื่อคำนึงถึงว่าระหว่างปี 1959-1961 มีคนจีนตายเพราะความอดอยากไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน (ทางวิชาการประมาณว่าอาจถึง 30 ล้านคนด้วยซ้ำ) ทางการจีนเห็นว่าจำนวนประชากรจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า เพราะจะต้องให้ปัจจัยสี่ซึ่งต้องการทรัพยากรมากมาย การมีประชากรขนาดใหญ่มากและสามารถตายได้ถึง 15-30 ล้านคนเพราะขาดอาหารในช่วงเวลา 2 ปี เป็นบทเรียนที่มีราคาแพงที่ต้องหลีกหนี

          ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ1970 มีการพูดกันมากในระดับโลกถึงเรื่องประชากรจะล้นโลก หนังสือชื่อ Limit to Growth สนับสนุนโดย Club of Rome และ Sierra Club เสนอโมเดลแสดงจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นมากและก่อให้เกิดความอดอยากอย่าง น่ากลัว พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อได้มีประสบการณ์อันเลวร้ายจากความอดอยากครั้งใหญ่ และข้อมูลการถกเถียงในระดับโลกจึงออกนโยบายที่เฉียบพลันและรุนแรง นั่นก็คือบังคับให้แต่ละครอบครัวมีลูกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น

          ในตอนแรกนโยบายนี้ซึ่งผู้รับผิดชอบคือมณฑลต่าง ๆ เป็นไปอย่างเข้มข้นหากข้าราชการหรือสมาชิกพรรคเกิดมีลูกเกินกว่า 1 คน อาจถูกไล่ออก ครอบครัวจะถูกปรับเป็นเงินก้อนใหญ่ (ทั้งพ่อและแม่จ่าย) ผู้ใช้แรงงานสูญเสียสวัสดิการ ถูกไล่ออกจากงานดี ๆ และเลยเถิดไปถึงการบังคับให้ทำแท้ง การบังคับให้ทำหมัน ตลอดจนการลุแก่อำนาจต่าง ๆ เพราะแต่ละท้องถิ่นสามารถใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติได้ เมื่อเป็นดังนี้จึงเกิดการคอรัปชั่น และความไม่พอใจของประชาชน แต่ไม่กล้าแสดงออก

          ปัญหาสังคมที่เกิดตามมาก็คือการลักขโมยเด็กผู้ชาย บางกรณีมีความพยายามอยากได้ ลูกชายโดยฆ่าเด็กหญิงลูกคนแรก ไม่มีการรับเด็กกำพร้าไปเลี้ยง (ลูกตนเองก็มีได้และมีได้แค่หนึ่งจะหาเรื่องไปเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงทำไม) มีการขายลูกชาย ฯลฯ

          สังคมจีนเห็นภาพการทำแท้งเด็กในครรภ์อายุ 7 เดือน ที่เต็มไปด้วยเลือด มีประสบการณ์น้ำตาตกเมื่อขออนุญาตแต่งงานและมีลูกไม่ได้ (ทุกอย่างต้องขออนุญาตทางการ) เศร้าโศกเพราะถูกบังคับให้ทำแท้งท้องที่สอง สารพัดความทุกข์ของประชาชนที่ต้องการความเป็นธรรมชาติของการมีครอบครัว

          ในช่วงเวลาต่อมาคือกลางทศวรรษ 1980 ทางการจีนจึงเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น เข้มงวดกับคนที่อยู่ในเมืองโดยเฉพาะชาติพันธุ์ฮั่น (คนจีน) สำหรับคนที่อยู่ในชนบทไม่ว่าจะเป็นฮั่นหรือไม่สามารถมีลูกได้ 2 คน เฉพาะชาติพันธุ์ไม่ใช่ฮั่นเท่านั้นที่มีลูกได้ 2 คนในเขตเมือง เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเขตห่างไกลเช่น ทิเบตจะมีลูกกี่คนก็ได้

          จีนมีประชากร 1,008 ล้านคนในปี 1982 (เพิ่มจากปี 1976 เพียงประมาณ 60 ล้านคน) พรรคคอมมูนิสต์จีนรู้ว่าเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจสูงในหมู่ประชาชน ดังนั้นในปี 1987 จึงยอมให้ครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นลูกโทนสามารถมีลูกได้ 2 คน บางมณฑลที่ลูกคนแรกเป็นหญิงก็ให้ขออนุญาตเพื่อมีลูกคนที่สองได้ (ควบคุมให้ลูก 2 คนมีอายุห่างกัน 3-4 ปี)

          ทางการจีนเห็นตัวเลขประชากรว่าในปี 2000 มี 1,266 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 257 ล้านคน จากปี 1982 หรือในเวลา 18 ปี) และ 1,340 ล้านคน ในปี 2010 (เพิ่มขึ้น 74 ล้านคนในเวลา 10ปี) ดังนั้นจึงเริ่มผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ในปี 2013 จึงประกาศให้คู่ที่พ่อหรือแม่เป็นลูกโทนขออนุญาตมีลูกได้ 2 คน (กฎนี้สำหรับคนในเมือง ส่วนพวกในชนบทนั้นมีลูกได้ 2 คน อยู่แล้ว)

          สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือถึงแม้จะอนุญาตเช่นนี้ แต่ใน 11 ล้านคู่ฃึ่งอยู่ในข่ายที่จะมีลูกคนที่สองได้นั้นในปี 2014 มีเพียง 1 ล้านคู่เท่านั้นที่ขออนุญาต ความจริงนี้ทำให้ทางการจีนตัดสินใจว่าถึงเวลาของการยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ได้แล้วโดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2016 เป็นต้นไป โดยทุกครอบครัวสามารถขออนุญาตมีลูกคนที่ 2 ได้เสมอหน้ากันหมด

          เหตุที่ทางการใจดีนั้นมิใช่เพราะต้องการให้ประชาชนพอใจพรรค หากเหตุผลใหญ่ก็คือเมื่อมองไปข้างหน้าแล้วจีนจะประสบปัญหาด้านประชากรที่หนักหน่วงเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ก่อนปี 2030 จีนจะสูญเสียคนในวัยแรงงานไป 67 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนสูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว (ก่อน 2050 หนึ่งในสามของประชากรจีนจะมีอายุเกิน 60 ปี)

          นอกจากนี้ประชากรจีนก็มีแต่จะลดลงในอนาคตจนทำให้แรงงานมีจำนวนน้อยลง มีคนประเมินว่าในปี 2030 ประชากรจีนจะมีจำนวนสูงสุดที่ประมาณ 1,429 ถึง 1,346 ล้านคน และจะลดลง

          แน่นอนว่าโครงสร้างประชากรเช่นนี้เป็นผลพวงจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” โดยไม่ต้องสงสัย อัตราเจริญพันธุ์ (จำนวนลูกโดยเฉลี่ยของผู้หญิงหนึ่งคนในขีวิต) ของจีนอยู่ที่ประมาณ 5เมื่อต้นทศวรรษ 1970 ลดลงเหลือ 1.6 ในปัจจุบัน (ของไทยคือ 1.41)

          การเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ไม่สามารถช่วยทดแทนแรงงานที่หายไปจำนวนมาก เพราะมีหลักฐานให้เห็นว่าต่อให้มีลูก 2 คน ได้ก็มีหลายครอบครัวมากที่ไม่ยอมมี เหตุผลง่าย ๆ ก็คือการมีลูกอีกคนนั้นต้องใช้จ่ายเงินอีกมากมาย และทำให้เสียเวลา เสียโอกาสในการทำมาหารายได้ (ในสมัยจีนเก่าที่ไม่มีงานให้ทำ การมีลูกคนที่สองไม่ทำให้เสียโอกาสในการหารายได้)

          โรงเรียนของรัฐที่ดีก็มีจำนวนที่นั่งจำกัดและอาจต้องจ่ายเงินพิเศษหรือถ้าเข้าโรงเรียนเอกชนก็มีราคาแพงกว่ามาก ค่าครองชีพก็สูงโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง ดังนั้นการยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” จึงไม่เป็นผลทำให้ครอบครัววิ่งไปขออนุญาตมีลูกคนที่สองกันมากมาย

          ความบิดเบี้ยวของการมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 30 ล้านคน ในปี 2020 เป็นผลพวงจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่เกิดจากความพยายามมีลูกผู้ชายให้ได้เพราะมีได้เพียงคนเดียว (บ้านเราปัจจุบันมีหญิงมากกว่าชาย 800,000 คน ตัวเลขนี้อาจถึง 1 ล้านคนในเวลาไม่นาน

          การมีแรงงานจำนวนมากจนค่าแรงในประเทศต่ำและผลิตสินค้าในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง เป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจจีน หากต้องการเดินไปในทิศทางที่ประสบผลสำเร็จเช่นที่ผ่านมาแรงงานก็จะขาดแคลนในเวลาไม่เกิน 15-20 ปี การจะนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศหรือการอพยพเข้าจีนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเพราะไม่มีความคุ้นเคย และจำนวนที่ขาดนั้นเป็นล้าน ๆ คนต่อปี

          จำนวนชายที่มากกว่าหญิงเป็นสิบ ๆ ล้านคนจนหาภรรยาได้ยากขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาทางเพศในสังคม ปัญหาค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ

          Malthus (ค.ศ. 1766-1834) นักประชากรยุคแรกบอกว่าอำนาจอันยิ่งใหญ่ในการเพิ่มขึ้นของประชากรไม่อาจหยุดยั้งได้โดยปราศจากความปวดร้าวและความชั่วร้าย
 

แรงงานข้ามชาติคือทรัพย์สินที่มีค่า

วรากรณ์  สามโกเศศ
3 พฤษภาคม 2559

          ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็พบแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านของเรา และคาดว่าจะมีลูกหลานอยู่ที่พักในประเทศเราอีกไม่น้อย คำถามสำคัญก็คือเราจะทำอย่างไรกับลูกหลานเหล่านี้ และแรงงานข้ามชาติที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของเราเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายฃึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน

          ตัวเลขล่าสุดของปี 2557 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้ว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติประมาณ 1.3 ล้านคน ทั้งถูกกฎหมายและเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดีองค์กรพัฒนาเอกชนให้ตัวเลขว่าน่าจะมีแรงงานข้ามชาติทั้งหมดประมาณ 1-2 ล้านคน ตัวเลขนี้ดูจะขัดกับความรู้สึกของผู้ที่สนใจตัวเลขนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าตัวเลขน่าจะขึ้นไปถึง 3-4 ล้านคน หรือแม้แต่ 5 ล้านคน เมื่อคำนึงถึงว่าตัวเลขทางการนั้นเก่าไปประมาณเกือบ 2 ปี และจำนวนแรงงานไทยนั้นลดน้อยลงท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องดำรงอยู่เพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับร้อยละ 3-5 ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ลดน้อยลงจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้

          ในปี 2557 ประชากรไทยมีงานทำประมาณ 38.4 ล้านคน จำนวนแรงงานในวัย 15-64 ปี พุ่งขึ้นเล็กน้อยจนสูงสุดในปี 2558 และลดลงตามโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนการเกิดน้อยลงเป็นลำดับ (ในปี 2557 มีจำนวนการเกิดประมาณ 770,000 คน เทียบกับจำนวนกว่า 1 ล้านคน ในระหว่างปี 2506-2526)

          ในขณะที่คนในวัย 15-64 ปี มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกับคนในวัย 0-14 ปี ประชากรในวัย 65 ปี ขึ้นไปกลับมีจำนวนสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีจำนวน 10 ล้านคน ในปี 2025 และ 20 ล้านคน ในปี 2050

          ตัวเลขแรงงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเราต้องพึ่งแรงงานต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่หายไป ดังนั้นอย่างไรเสียเราก็จะเห็นแรงงานข้ามชาติในบ้านเราไปอีกนานเท่านาน ส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยากที่จะกลับบ้านของตนเองหากเราใช้ประวัติศาสตร์ของการมีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมาในโลกเป็นบทเรียน

          ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี จึงจะสามารถให้ค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (ค่าจ้างที่สามารถซื้ออาหารและข้าวของจริง) ได้เท่ากับไทย หรืออาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น และเมื่อคำนึงถึงการคุ้นเคยกับชีวิตที่อยู่มานับสิบปี มีลูกหลานเรียนหนังสือและทำงานอยู่ในประเทศไทยแล้ว ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะยกครอบครัวกลับบ้านเกิด

          การที่แรงงานข้ามชาติตลอดจนลูกหลานจะอยู่ในประเทศไทยต่อไปซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำของภาครัฐไทย และสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสำคัญ

          ในสมัยรัชกาลที่ 3 มอญจำนวน 300,000 คน อพยพมาอยู่ในบ้านเราโดยตั้งรกรากริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ทิศเหนือไล่ลงมาจนถึงปากเกร็ด (ไทยในขณะนั้นมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน หรือต่ำกว่า) และกลายเป็นบรรพบุรุษของคนไทยจำนวนมากในปัจจุบันโดยอยู่กันอย่างราบรื่นและผาสุก ข้าวแช่ซึ่งเป็นอาหารมอญก็กลายเป็นอาหารของชาววัง(เนื่องจากสาวมอญได้เข้าไปอยู่ในรั้วในวัง ) ส่วนแกงขี้เหล็กก็เป็นอาหารมอญที่คนไทยบริโภคกันจนลืมที่มา

          ชาติมิได้อยู่บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ของพลเมือง ทุกประเทศในโลกประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ เพราะพลเมืองของทุกประเทศล้วนเป็นคนอพยพมายังดินแดนนั้น ๆ ด้วยกันทุกคน เพียงแต่ว่าบรรพบุรุษของใครอพยพมาถึงก่อนเท่านั้น ดินแดนสยามก็เช่นเดียวกันเป็นแหล่งอยู่อาศัยของผู้คนหลายชาติพันธุ์ตลอดประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี ที่ผ่านมา

          การที่เรามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในบ้านเราและกลายเป็นพลเมืองของเราในที่สุดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ในสมัยก่อนเมื่อรบชนะก็จะเกณฑ์ผู้คนของเมืองนั้น ๆ ชาติพันธุ์นั้น ๆ ให้มาอยู่อาศัยในดินแดนของผู้ชนะเนื่องจากสิ่งมีค่าที่สุดมากกว่าแผ่นดินซึ่งเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ก็คือแรงงาน ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ศิลปะวัฒนธรรม วิธีการดำรงชีวิต การประกอบและถนอมอาหาร ฯลฯ ติดตัวมาด้วย

          เมื่อแรงงานเหล่านี้ตลอดจนลูกหลานมีโอกาสอาศัยอยู่ในบ้านของเราสูงโดยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคของเศรษฐกิจไทย เราก็ต้องพยายามทำให้เขาเป็นคนไทยและ/หรือมีใจเป็นไทยจนกลายเป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การทำเช่นนี้จะทำให้เขาเป็นทรัพย์สินอันมีค่า มิใช่สิ่งที่จะสร้างปัญหาและภาระให้แก่สังคมของเรา

          การให้ความจริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเขาเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความเป็นพลเมืองไทยที่ดีในตัวเขา ต้องให้โอกาสศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมผ่านการศึกษานอกระบบ ทั้งความรู้ภาษาไทย การพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการให้โอกาสการศึกษาในระบบที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง

          สำหรับลูกหลานของแรงงานข้ามชาติทุกคนต้องได้รับโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กไทย (พ่อแม่เขาก็จ่ายภาษีเหมือนกันผ่านภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้และบริโภคสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนพลังงาน) ทิศทางที่เราทำอยู่ในขณะนี้ที่ให้ลูกแรงงานข้ามชาติทุกคนได้เข้าโรงเรียน (จำนวนมากอยู่ในแถบชายแดน จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี) นั้นถูกต้องแล้ว แต่ต้องเพิ่มคุณภาพและให้โอกาสที่จะศึกษาเกินกว่าการศึกษาภาคบังคับ อย่าลืมว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน “ความเป็นไทย” และการมีใจให้เราจะติดตัวเขาไปเสมอ ถ้าเรารักและปรารถนาดีต่อเด็กเหล่านี้อย่างจริงใจ

          การให้ความสำคัญแก่เด็กเหล่านี้อย่างจริงจังจะเป็นการลงทุนด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คุ้มค่ายิ่งในระยะยาว นับวันการเป็นประชาคมอาเซียนจะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทุกด้าน การมีสมาชิกเพื่อนบ้านอยู่ในตำแหน่งสำคัญในอนาคตที่เคยศึกษาในประเทศไทย และมีใจให้เราไม่น่าจะเป็นผลเสียต่อสังคมของเรา

          ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องอาศัยทั้งการดำเนินการของภาครัฐและความรู้สึกนึกคิดของคนไทยทั้งมวล พื้นฐานวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันและความเป็น “นักปฏิบัติ” ของคนไทยมีส่วนช่วยอย่างสำคัญที่จะทำให้กระบวนการปรับแรงงานข้ามชาติเป็น “พลเมืองไทย” ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

          คนไทยนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนใจกว้างกับคนต่างชาติต่างภาษาอยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจประเด็นความสำคัญของการแปลงแรงงานข้ามชาติเป็น “พลเมืองไทย” ก็จะยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งขึ้นของสังคมเราและระหว่างนี้เราก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
 

รู้จัก Duterte Harry

วรากรณ์  สามโกเศศ
17 พฤษภาคม 2559

         ในช่วงปีที่ผ่านไปมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำและรัฐบาลของหลายประเทศ ASEAN ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนาม เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา (นายกรัฐมนตรีคนเดิมแต่ยกเครื่องคณะรัฐมนตรีใหม่เกือบทั้งหมด) และที่เกิดขึ้นล่าสุดก็คือฟิลิปปินส์

          เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสรัฐมนตรีหลายท่านและข้าราชการระดับอธิบดีของบางประเทศเหล่านี้ รู้สึกประทับใจในความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีมักเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาจากการส่งไปเรียนหนังสือต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการกลับมาช่วยบ้านเมืองหลังจากไปเรียนและทำงานต่างแดนมาเป็นเวลานาน

          เรื่องนี้น่าคิดมากว่าเพื่อนบ้านของเราต่างก้าวไปไกล มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมารับใช้ชาติ หากรัฐบาลไทยชุดหลังเลือกตั้งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มีระดับความรู้ความสามารถอย่างไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าปฏิวัติไม่นานแล้ว เราคงอับอายขายหน้าเวลาไปประชุมต่างประเทศเป็นแน่ (ในปีนี้ที่ลาวเป็นประธาน ASEAN จะมีการประชุมในทุกระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่และรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับกิจการของ ASEAN ไม่ต่ำกว่า 800 ครั้ง) เพราะตามเขาไม่ทัน

          สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของฟิลิปปินส์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าใครได้เป็นประธานาธิบดี ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวซ้ำในเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว จะขอกล่าวถึงประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันเท่านั้น

          Rodrigo Duterte อายุ 71 ปี มีชื่อเล่นทางการเมืองว่า Digong ผู้ได้รับฉายาก่อนเลือกตั้งจากสื่อตะวันตกว่าเป็น “Trump of the East” เนื่องจากมีเนื้อหาการหาเสียงที่คล้ายคลึงกัน ทั้งสองใช้วิธีการที่เรียกว่า stump speech กล่าวคือพูดซ้ำ ๆ ในสถานที่ไปหาเสียงเลือกตั้งต่าง ๆ ด้วยเนื้อหาเหมือนเดิมโดยคัดเลือกคำพูดจากที่ผู้ฟังชอบและปรบมือเป็นพิเศษมาใช้

          ทั้งสองพยายามทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงชอบตน (กรณีของ Donald Trump คือหาเสียงให้คนพรรครีพับลิกันเลือกตนเป็นตัวแทนไปแข่ง) ด้วยการพูดให้โดนใจเชิงจิตวิทยาในจุดที่ผู้ฟังชอบหรือหวาดหวั่นอยู่

          Trump บอกว่าจะไม่ยอมให้มีการอพยพมุสลิมเข้าประเทศ และจะไปไกลจนถึงไม่ยอมให้เข้าประเทศสักคน จะจัดการกับคนอเมริกันใต้ให้อยู่ในขอบเขต (ไม่ใช่มีจำนวนมากเกินไป) ดูถูกนักการเมือง จะจัดการกับโจรผู้ร้าย ต่อต้านการค้าเสรี จะจัดการกับจีนซึ่งเป็นตัวการทำให้คนอเมริกันว่างงาน ฯลฯ

          ส่วน Duterte มาในสไตล์ของ “นักปราบ” จะปราบโจรผู้ร้ายและนักค้ายาให้เกลี้ยงประเทศ (จะฆ่าสัก 100,000 คน และโยนลงในอ่าวมะนิลาหากได้เป็นประธานาธิบดี) เป็นผู้ต้องการสร้าง “law and order” ให้เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ให้จงได้ ปราบความยากจน จะกำจัดโจรโดยไม่ต้องขึ้นศาลให้เสียเวลา เศรษฐกิจนั้นก็จะแก้ไขอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม จะไม่ยอมให้กลุ่มนักธุรกิจร่ำรวยที่ครอบงำประเทศมีที่ยืน ฯลฯ

          ภาพลักษณ์ที่ Duterte ต้องการให้เกิดในใจผู้คนก็คือ “ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น” ไม่ก้มหัวให้กับครอบครัวร่ำรวยที่ทายาทเป็นนักการเมืองมีอำนาจอยู่ทั่วประเทศ มีคำพูดที่เว่อร์แต่ฟังแล้วปลื้ม เช่น “ถึงผมจะตกนรกเพราะทำอะไรที่ไม่ดี (เช่น ฆ่าโจร) แต่ผมก็พอใจตราบที่ทำให้ประชาชนของผมได้ขึ้นสวรรค์”

          การเป็นนักพูดหาเสียงชั้นยอดของเขาในช่วงเวลาหาเสียงที่ยาวถึง 4-5 เดือนทำให้เกิดโอกาสที่จะสร้างคะแนนนิยม ในตอนแรกของการสมัครเมื่อต้นธันวาคม 2558 ชื่อเขาไม่อยู่ในสายตาเลย ผู้ที่คนคิดว่าจะแข่งกันก็คือ Grace Poe ( ลูกสาวบุญธรรมของ “นักข่าว-ดารา” จากจอโทรทัศน์ผู้เกือบได้เป็นประธานาธิบดี)กับ Manuel Roxas (หลานปู่ของประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง)ฃึงเป็นทายาททางการเมืองของ Aquino ประธานาธิบดีที่ไม่อาจลงสมัครได้อีกเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นได้วาระเดียวคือ 6 ปี

          ฟิลิปปินส์นั้นมีวัฒนธรรมของการหาเสียงที่ไม่ต่างจากไทย นั่นคือคนสมัครต้องพูดได้ “มันส์” และถูกใจคนฟัง บางครั้งก็ร้องเพลง เต้นระบำ เล่าโจ๊กคาบลูกคาบดอก มีคำพูดที่ ผู้ฟังฮา ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ไปกระทบกระทั่งคนอื่น (เขาพูดถึงกรณีที่นักสอนศาสนาชาวออสเตรเลียถูกข่มขืนและฆ่าเมื่อปี 1988 เขาบอกว่าน่าจะให้นายกเทศมนตรีฃึ่งก็คือตัวเขาเป็นคนลงมือคนแรกเพราะเธอ หน้าตาดี) จนต้องขอโทษ ขอโพย ลามปามกระทั่งไปวิจารณ์สันตปาปาที่ทรงเยือนฟิลิปปินส์และทำให้การจราจรติดขัด

          Duterte นั้นเป็นนายกเทศมนตรี Davao City ในเกาะมินดาเนาซึ่งมีประชากรประมาณ 500,000 คน ติดต่อกันเกินกว่า 20 ปี และครั้งหนึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่มีบทบาทอะไร มากนัก

          ผลงานของเขาก็คือการทำให้เมืองที่ชุกชุมไปด้วยอาชญากรรมกลายเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากการ “วิสามัญฆาตกรรม” โจรไป 7,000 คน (Human Right Watch ระบุตัวเลขนี้ แต่เขาบอกตอนหาเสียงว่าจริง ๆ คือ 1,700 คน!)

          มีการกล่าวขวัญว่าชื่อเสียงของการเป็น “นักปราบ” ชื่อดังทำให้เขาถูกทาบทามถึง 4 ครั้ง จากประธานาธิบดี 4 คน ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เขาปฏิเสธโดยไม่มีใครทราบชัดว่าเขามองไปที่การลงแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีเลยหรือไม่เพื่อจะได้ไม่ช้ำ

          เขาไม่เคยลงสมัครแข่งตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อนดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นคนหน้าใหม่ สำหรับคนไทยอาจรู้สึกแปลกที่หากเปรียบเทียบก็เสมือนนายกเทศมนตรีเมืองขนาดกลางแถบทางใต้ (เกาะนี้อยู่ทางใต้) ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (ประธานาธิบดี) หลังจากหาเสียงเพียง 4 เดือน (จริง ๆ แล้วไม่น่าแปลกใจเพราะเคยมีคนที่หาเสียงน้อยกว่านี้ และไม่เคยมีตำแหน่งการเมืองมาก่อนยังได้เป็นเลย)

          Duterte ไม่ได้เปิดเผยชัดเจนในเรื่องนโยบายสำคัญใน 4 เรื่องที่ควรเป็นประเด็นคือการดำเนินการเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับกับจีน ปฏิรูประบบภาษี การเปิดเสรีการค้า และการผ่อนปรนการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนต่างชาติ

          คำพูดจากการหาเสียงชนิด “เอามั นส์” โดยเน้นแต่เรื่องภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลต่างประเทศกังวล อย่างไรก็ดีลึก ๆ เข้าไปแล้วเชื่อว่าเมื่อได้เป็นประธานาธิบดีตัวจริง เสียงจริง ก็ต้องกระทำตนในแบบที่ประธานาธิบดีพึงปฏิบัติ โดยอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมคนศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นสิ่งสากล

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าประมาทคนแก่อายุ 71 ปี ที่ช่ำชองการหาเสียง สื่อฟิลิปปินส์มิได้พลาดที่ดู Duterte ผิดไปจนมองข้ามในตอนแรก หากผิดพลาดที่ไม่เข้าใจคนฟิลิปปินส์สมัยปัจจุบัน

รู้จัก Disruptive Technologies

วรากรณ์  สามโกเศศ
22 พฤศจิกายน 2559 

          สมัยก่อนเชื่อกันว่ามีเพียงความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม และศาสนาเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่งมา 200 กว่าปีหลังนี้ที่มนุษย์ตระหนักว่าเทคโนโลยีนี่แหละคือตัวการสำคัญที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 40 กว่าปีหลังนี้ที่เทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดสังคมใดที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็มีโอกาสถูกทิ้งไปไม่เห็นฝุ่น

          ที่จริงมนุษย์ในโลกตะวันตกเริ่มเห็นแล้วว่าเครื่องมือตีพิมพ์ข้อความได้ โดย Johannes Gutenberg ตั้งแต่ ค.ศ. 1439 มีผลกระทบต่อความเชื่อของคนเป็นอย่างมาก คริสตศาสนาสามารถเผยแพร่คำสอนผ่านการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลทำให้คริสตศาสนากระจายไปทั่วโลกได้ก็เพราะเทคโนโลยีนี่แหละ

          มีการกล่าวกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย คือ นอร์เวย์ สวีเดน และ เดนมาร์ก ซึ่งเป็นลูกหลานไวกิ้งสามารถไล่ทันอังกฤษซึ่งมีอารยธรรมก่อนหน้าได้ก็เพราะการแพร่ของคริสตศาสนาไปในบริเวณนี้เมื่อประมาณ ค.ศ. 1100 ซึ่งพระบังคับให้ทุกคนต้องอ่านหนังสือให้ออก หากพระไปตรวจสอบและพบว่าใครอ่านหนังสือไม่ออกก็จะถูกประจาน เอามานั่งกันไว้เป็นพิเศษแถวหน้าในโบสถ์ และทำพิธีให้ไม่ได้ เช่น แต่งงาน ดังนั้นทุกครอบครัวจึงต้องบีบบังคับ ดูแล ให้ลูกหลานอ่านหนังสือออกซึ่งเป็นหัวใจไปสู่การมีคุณภาพชีวิตระดับโลกในเวลาต่อมา

          นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ในปี 1969 ที่เทคโนโลยี IT เริ่มเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง วิธีการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป วิวัฒนาการของเทคโนโลยีก็ไปไม่หยุด จนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในปัจจุบันที่มีการผสมผสานของเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมี IT คอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เป็นแกนนำ ปัจจุบันมีคำเรียกบรรดาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า disruptive technologies

          disrupt หมายถึง ขัด ขวาง กีดขวาง หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงให้เปลี่ยนไปจากสภาวะที่ดำรงอยู่ การเรียกเทคโนโลยีใหม่ ๆ ว่า disruptive technologies มิได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ดี เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่ ประการสำคัญก็คือกระทบต่อการทำมาหากิน ธุรกิจ การดำเนินชีวิตของผู้คน ฯลฯ

          ในตอนแรกใน ค.ศ. 1995 นิยมเรียกกันว่า disruptive innovation ซึ่งเน้นไปที่นวตกรรมที่มีลักษณะขัดขวางดังกล่าว ตัวอย่างที่พูดกันก็คือรถยนต์ Ford Model T ออกตลาดใน ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากจนทดแทนรถม้าไปหมดในสหรัฐอเมริกา และต่อมาในยุโรป

          ที่จริงรถยนต์เกิดก่อนรถ Ford รุ่นนี้ 30 ปี แต่ไม่เป็น disruptive innovation เพราะราคาแพง มีคนใช้ไม่กี่คัน มีการพัฒนาเป็นลำดับแต่ไม่สามารถทดแทนรถม้าได้ แต่เมื่อ Ford Model T ออกมาในราคาถูกเพราะผลิตเป็นกอบเป็นกำและใช้งานได้ดี รถม้าก็หายไปเพราะนวตกรรมนี้ มันจึงเป็น disruptive innovation อย่างแท้จริง

          การปรากฏตัวของ Wikipedia ในโลกไซเบอร์ก็เป็น disruptive innovation เพราะไปทดแทนเอ็นไซโคลพีเดียชุดหนังสือและที่เป็นดิจิตอลอยู่ในไซเบอร์ซึ่งทั้งหมดต้องซื้อ แต่Wikipedia ฟรี และสะดวกต่อการใช้

          ในเวลาต่อมา Clayton M. Christensen เจ้าพ่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (ขายหนังสือสุดฮิต Innovator’s Dilemma, 1997) จุดประกายเรื่อง disruptive technologies โดยกล่าวว่า ประการแรกของเทคโนโลยี คือ sustaining technology ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย และ disruptive technology ซึ่งเป็นพายุลูกใหม่ ในตอนแรกอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น

          ลองมาดูกันว่า disruptive technology ตามที่ McKinsey Global Institute ประมวลไว้ 12 อย่างมีอะไรบ้าง

          (1) Mobile internet เครื่องมือใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงทั่วโลกที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น laptop / smartphones ทำอะไรได้มากมาย เช่น สามารถตรวจโรคระยะไกล (เจาะเลือดและให้เครื่องมือติดตั้งกับ smartphones ตรวจน้ำตาลในเลือด )หรือ mobile banking ฃึงเป็นการทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

          (2) Automation of knowledge work ขณะนี้ IBM ประดิษฐ์เครื่องมือชื่อว่า Watson ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคจากข้อมูลและอาการ ร่างคำฟ้อง และแนะนำเรื่องกฎหมาย สร้างซอฟต์แวร์ที่ “ฉลาด” คิดวิเคราะห์ได้จากข้อมูลที่ใส่เข้าไป

          (3) Internet of Things (IOT) ให้ IP address แก่สารพัดสิ่งไม่ว่าเป็นตัวสินค้า เม็ดยา ชิ้นวัสดุโดยฝัง sensors ขนาดเล็กจนถึงเล็กที่สุดเพื่อส่งข้อมูลสื่อสาร ซึ่งสามารถเอาไปใช้งานได้ เช่น คุณภาพของดิน รู้จาก sensors ที่โรยไว้ในดิน ก็จะรู้ว่าควรปลูกอะไร ใส่ sensors ในเม็ดยาเพื่อให้ปล่อยสารอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ฯลฯ

          (4) Advanced robotics หุ่นยนต์ผ่าตัดเพื่อให้คนไข้ถูกกระทบน้อยที่สุด และผ่าตัดอย่างแม่นยำ (De Vinci เป็นชื่อที่รู้จักกันดี) หรือใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าปรมาณู

          (5) Cloud technology เทคโนโลยีเก็บข้อมูลและซอฟต์แวร์รวมเพื่อใช้งาน ซึ่งช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องลงทุนด้านคอมพิวเตอร์สูง

          (6) Autonomous vehicles ได้แก่ drones ใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง ไว้ถ่ายรูป สำรวจผลผลิตเกษตรหรือป่าหรือแหล่งน้ำ ฯลฯ ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเริ่มมีออกมาใช้บ้างแล้วในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

          (7) Next-generation genomics เทคโนโลยีปรับปรุงพัฒนายีนส์เพื่อรักษาโรค ตลอดจนพัฒนาพันธุ์สัตว์ พืช ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

          (8) Next-generation storage เทคโนเก็บไฟฟ้า และพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน ที่มีประสิทธิภาพสูง สร้าง fuel cells เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ ตลอดจนนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด

          (9) 3D printing การพิมพ์ระบบ 3 มิติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดต่ำลง เช่น การพิมพ์สินค้าออกมาเป็นชิ้นที่จับต้องได้ทำให้เลือกแบบที่ต้องการได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในด้าน ทันตกรรมและการแพทย์อีกด้วย

          (10) Advanced materials การผลิตวัสดุใหม่ ๆ เช่น วัสดุที่ทำความสะอาดตัวเอง กลับสู่สภาพเดิมเสมอ แข็งแรงและเบาเป็นพิเศษ หรือเป็นสารตัวนำไฟฟ้า กำลังก้าวหน้าไปไกลทุกขณะ

          (11) Advanced oil and gas exploration and recovery เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการบุกเบิกขุดค้นหาน้ำมันและก๊าซ ทำให้ได้น้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น

          (12) Renewable electricity เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่าง ๆ ที่ไม่มีวันหมดเช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด ลม คลื่น น้ำพุร้อน ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ มีตัวเลขว่าก่อนปี 2050 มีความเป็นไปได้สูงที่แหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะเป็นดวงอาทิตย์

          เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง มีความก้าวหน้าตลอดเวลา การที่มันจะเป็น disruptive technologies หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ถูกกระทบปรับตัวได้ดีเพียงไร สิ่งสำคัญที่จะช่วยก็คือการมีทัศนคติที่เป็นบวกว่ามันคือโอกาส ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำลาย และพร้อมที่จะนำมันมาปรับใช้
 

รู้จัก AED ตัวช่วยสำคัญ

วรากรณ์  สามโกเศศ
26 มกราคม 2559

           ปัจจุบันหากสังเกตให้ดีจะเห็นตู้กระจกเล็ก ๆ ติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะทั้งในและต่างประเทศ โดยมีอักษรใหญ่เขียนว่า AED การรู้ความหมายของตัวอักษรและรู้ความสำคัญของสิ่งที่อยู่ในตู้อาจช่วยชีวิตตัวท่านเองและคนที่อยู่ใกล้ท่านก็เป็นได้

           AED ย่อมาจากคำว่า Automated External Defibrillator ซึ่งหมายถึงเครื่องมือชนิดกระเป๋าหิ้ว ซึ่งประเมินอาการการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจฉับพลันของคนป่วยได้โดยอัตโนมัติ และช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทันทีด้วยการช็อกกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจ (defibrillation) ดังที่เราเคยเห็นกันในภาพยนตร์เพื่อให้หัวใจกลับมาสู่การเต้นอย่างปกติได้อีกครั้ง

           เวลาผู้นำหรือ VIP เดินทางมักเห็นแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ถือกล่อง AED นี้ติดตามไปด้วยเสมอเพื่อช่วยเหลือขั้นต้นก่อนที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือเครื่องมือที่ทำหน้าที่คล้ายกับการปั้มหัวใจด้วยมือ(CPR____Cardiopulmonary Resuscitation) แต่มีประสิทธิภาพกว่ามากเนื่องจากเป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า

           เราเห็น CPR กันในภาพยนตร์อย่างผิด ๆ เกือบทุกเรื่อง การประกบปากของ ผู้ช่วยเหลือเข้ากับคนป่วยก็เพื่อให้มีออกซิเจนซึ่งมีอยู่ในลมหายใจออกประมาณร้อยละ 6 เข้าไปในปอดของผู้ป่วย วิธีที่ถูกก็คือต้องดันต้นคอขึ้นเพื่อให้หน้าหงาย ลมจากปากจะได้สามารถเข้าปอดได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่บนที่ราบ

           CPR คือกระบวนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนโดยมุ่งแก้ไขเพื่อมิให้สมองขาดออกซิเจนจนกว่ามีการเยียวยาทางการแพทย์เพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือดและการหายใจกลับคืนมาเป็นปกติ CPR จะกระทำต่อผู้ป่วยที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้และไม่มีลมหายใจ หรือหายใจอย่างผิดปกติ

           หากสมองขาดเลือดซึ่งขนส่งออกซิเจนไปสู่สมองเกินกว่า 6 นาที แล้ว เยื่อในสมองอาจถูกทำลายจนนำไปสู่สภาวะสมองตายได้ การปั้มหัวใจโดยการเหยียดแขนตรงและใช้มือสองข้างไขว้นิ้วร่วมกันกดลงไปตรงจุดเหนือลิ้นปี่ โดยกดลงไปอย่างแรงช้า ๆ อย่างแข็งขัน ให้อกยุบลงไปประมาณ 5 เซ็นติเมตรและก็ปล่อย และทำเช่นนี้อีกในอัตราไม่ต่ำกว่า 100-120 ครั้งต่อนาทีจนคนป่วยรู้สึกตัว หรือเสียชีวิต( บางครั้งอาจต้องทำอยู่ถึงเกือบ 30 นาทีจนแน่ใจว่าไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองจึงหยุด)

           นอกจากการกดเช่นนี้แล้วให้มีการประกบปากหายใจเข้าสลับในอัตรา 30 ครั้งต่อการหายใจเข้า 2 ครั้ง (ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ใช้กับผู้ใหญ่) เมื่อรู้สึกตัวก็จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อไปทันที

           CPR มีจุดประสงค์ใหญ่ให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนอยู่ไปยังสมองและหัวใจ CPR เป็นวิธีช่วยชีวิตสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ตัวของมันเองอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาต่อไปเพื่อให้ภาวะปกติของร่างกายกลับคืนมา ตรงจุดนี้แหละที่ AED เข้ามาช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า

           CPR เป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกหัดมาก่อนอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าคนธรรมดาจะช่วยชีวิตไม่ได้ การปั้มหัวใจด้วยวิธีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องประกบปากให้ลมหายใจเข้าเป็นข้อแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันสำหรับคนที่ไมได้รับการฝึกหัดมาก่อน

           AED พัฒนาขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นเครื่องมือช่วยชีวิตผู้ที่ประสบสภาวการณ์ผิดปกติที่เลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจ (hear attack) ที่ง่ายและสะดวกแก่การใช้คนธรรมดาที่ผ่านการฝึกฝนเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่คนเดินถนนก็สามารถใช้ได้

           เมื่อเปิดสวิทซ์ AED จะให้คำสั่งเป็นภาษาต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้ทั้งเสียงและภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากให้เอาขั้วไฟฟ้าที่เป็นผ้านิ่มเชื่อมต่อเข้ากับคนป่วย เครื่องมือก็จะตรวจสถานะความเจ็บป่วยของคนไข้ ประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือไม่ หากต้องมีการกระตุ้น เครื่องจะเตือนให้ตรวจคนไข้ว่าไม่มีโลหะอยู่บนร่างกาย (ระวังตะขอเสื้อชั้นใน ตะขอกางเกง กระดุมเสื้อ) และไม่มีใครแตะตัวคนป่วย จากนั้นเครื่องจะสั่งให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า จากนั้นเครื่องจะประเมินว่าจำเป็นต้องใช้ CPR ประกอบหรือช็อตอีกครั้งหรือไม่

           AED จะเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจและกระแสไฟฟ้าจากสมอง ตลอดจนการรักษาที่ได้ทำไปในรูปดิจิตัล ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในการเยียวยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

           AED มีหลายรุ่น มีทั้งถูกและแพง โดยมีระดับความก้าวหน้าในการให้ข้อมูลและการใช้ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีทุกเครื่องจะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันในการประเมินอาการ และให้คำสั่งในเรื่องการปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ

           ปัจจุบันในประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นตู้ใส่ AED อยู่ในสถานที่สาธารณะ ทุกแห่ง เนื่องจากได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตผู้คนจาก heart attack แพทย์เองเมื่อประสบคนหมดสติก็ต้องตรวจสอบอาการ โดยมีเครื่องมือวัดการเต้นของหัวใจและหาข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งแพทย์ไม่มีอยู่กับตัวตลอดเวลา ส่วน AED นั้นเป็นเครื่องมืออัตโนมัติที่สามารถประเมินสถานการณ์ของคนเจ็บป่วยได้ทันทีและให้การรักษาในกรณีที่ต้องการกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจอันนำไปสู่การไหลเวียนของโลหิตสู่สมองและส่วนอื่นของร่างกายได้ทันเหตุการณ์

           สิ่งที่ AED ต้องการอย่างยิ่งก็คือการดูแลรักษาให้มีสภาพใช้การได้ทันทีเฉกเช่นเดียวกับเครื่องมือดับเพลิง แบตเตอรี่ต้องไม่หมดอายุ เครื่องอยู่ในสภาพดีและทำงานอย่างถูกต้อง เพียงติดตั้ง AED และทอดทิ้งไว้อย่างไม่มีการตรวจสอบเป็นระยะเป็นอันตราย เพราะให้ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แก่ประชาชนว่าสามารถช่วยเหลือได้และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างขาดประสิทธิภาพ

           AED เป็นเครื่องมือช่วยชีวิต หรือ “การรับ” ซึ่งอาจไม่ทำให้รอดชีวิตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีที่สุดก็คือการไม่ต้องหวังพึ่งพา AED เป็นหลักใหญ่ โดยพยายามดูแลสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี มีวินัยในการใช้ชีวิตตามกลยุทธ์ “การรุก” ต่อเมื่อไม่เป็นผลแล้วจึงค่อยอาศัย AED
 

มโนธรรมและภาระสังคม

วรากรณ์  สามโกเศศ
13 กันยายน 2559

          Ashish Awasthi เซลล์แมนขายยาชาวอินเดีย อายุ 27 ปี กระโดดให้ขบวนรถไฟชนเพื่อฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากแรงกดดันที่ได้รับจากการต้องขายสินค้าให้ถึงเป้าของบริษัทข้ามชาติ ข่าวนี้จุดประกายเรื่องจริยธรรมการขายในอินเดีย และมีแง่คิดให้บ้านเราด้วย

          สินค้าที่ Ashish ถูกบังคับให้ทำเป้าการขายนั้นน่าตกใจเพราะมันคือยา ซึ่งไม่ใช่ขนมที่จะมาเร่ร่อนขายเพื่อให้ถึงเป้า

          หนังสือพิมพ์ New York Times ได้เข้าไปทำข่าวเรื่องนี้ และนำมาเล่าต่อจนทำให้นึกถึงสถานการณ์ในประเทศไทยในเรื่องการขายโดยเฉพาะการขายตรง

          เมื่อก่อนหน้านี้ในอินเดียไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยา จนกระทั่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาอินเดียจึงมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตร แต่ผลพวงจากการไม่มีกฎหมายมานานทำให้มีบริษัทผลิตยาจำนวนมากมายเป็นพัน ๆ บริษัท มีตัวยาเดียวกันในหลากหลายยี่ห้อจนผู้บริโภคมึนงง และหนักที่สุดก็คือแข่งขันกันขายอย่างรุนแรงด้วยการตัดราคา

          เมื่อยาต้อง “ถูกกฎหมาย” การสั่งการใช้ยาของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทไหนได้รับการสั่งยาจากแพทย์มาก ๆ ก็กำไรไม่รู้เรื่อง และแพทย์ก็รวยไม่รู้เรื่องไปด้วยเพราะได้ส่วนแบ่งกลับคืนมา (ใครไม่รู้ก็รู้ซะ ในบ้านเราก็มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกัน) จรรยาบรรณของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญว่ายาใดเหมาะสมแก่คนไข้ตามโรค มิใช่ตามความใจกว้างของบริษัทยาที่ให้ส่วนแบ่ง

          ในอินเดีย ยอดขายยาต่อปีของทั้งประเทศตกประมาณ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (544,000 ล้านบาท) สำหรับคน 1,300 ล้านกว่าคน ดังนั้นจึงทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทยาโดยเฉพาะบริษัทยาต่างประเทศกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

          การว่างงานที่มีอยู่สูงในอินเดีย ดึงดูดให้มีคนเข้ามาเป็นเซลล์แมนขายยากันอย่างคึกคัก (แต่ละเดือนมีคนเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน) รายได้ดีแต่งานหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าการขายที่สูงจนทำให้แต่ละคนหนักใจ และนำไปสู่การฆ่าตัวตายดังกรณีของ Ashish

          กลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ก็คือจัด Health Camp หรือจัดงานตรวจสุขภาพให้ประชาชนฟรี คนตรวจก็คือเจ้าหน้าที่ ๆ มิใช่แพทย์ โรคที่ชอบระบุว่าเป็นก็คือกลุ่มที่เรียกว่า NCD (non-communicable disease) ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ อันได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ ฯลฯ เพราะโรคเหล่านี้เรื้อรัง “ดูดเงิน” ได้มากอีกหลายปี

          แพทย์ที่ร่วมสังฆกรรมด้วยก็จะสั่งยาที่ผลิตโดยบริษัทซึ่งเป็นผู้จัดงาน งานลักษณะนี้จัดกันไปทั่วท้องถิ่นและบ่อย ฃึ่งไปด้วยดีในสังคมที่บริการการแพทย์ยังไปไม่ทั่วถึงอย่างยิ่ง อันตรายที่เห็นชัดก็คือคนตรวจไม่ใช่หมอ (หมอหลีกเลี่ยงงานนี้จะได้ดูเนียน) ซึ่งผิดกฎหมาย และจุดประสงค์คือขายยา มิใช่รักษาโรค ลองจินตนาการดูว่าผลสุดท้ายประชาชนจะเป็นอย่างไร

          วิธีการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นนัก ในบ้านเราก็มีการจัดโปรโมตยาตัวใหม่ให้สาธารณะชนมาฟังและ/หรือตรวจและก็ขายยา หรือการขายหนังสือเรียนโดยเชิญครูไปเข้าสัมมนาในสถานที่เลี้ยงอันโอ่โถง แต่ที่น่ากังวลก็คือมันเป็นยาไม่ใช่ขนม คนตายได้ง่าย ๆ หรือไตวายจากยาที่ไม่เหมาะสมจนอาจต้องฟอกไตไปตลอดชีวิตก็เป็นได้

          บ่อยครั้งที่เซลล์แมนเหล่านี้ต้องหาเงินมาซื้อยาไว้เองเพราะต้องทำเป้าให้ได้มิฉะนั้นจะตกงานที่หาแสนยากเย็น ตำแหน่งเซลล์แมนยาในบริษัทยาของต่างประเทศก็ทำให้มีฐานะในสังคม เมื่อเป็นดังนี้สิ่งที่เกิดตามมาก็คือการโน้มน้าวขายยาหรือวิตามินเสริมให้คนอื่นต่อเพื่อ “ลดโหลด” ยาในสต๊อกที่ตนต้องฃื้อไว้โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเหมาะสมกับคนซื้อหรือไม่

          เรื่องที่เกิดในอินเดียเป็นอุทาหรณ์สำหรับบ้านเรา การขายตรงที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วหัวระแหงสร้างภาระให้แก่ผู้ขายเพราะต้องซื้อไว้เอง ซึ่งในที่สุดเมื่อขายกันมากเข้า ลูกค้าก็คือคนขายนั่นเอง (ในอังกฤษมีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ขายต้องซื้อไว้เองเพื่อทำเป้า)

          บริษัทขายตรงจัดคนมาพูดเพื่อโน้มน้าวให้เป็นคนขาย ให้ชื่นชมในคุณภาพของสินค้าก็ได้กันไปต่อหนึ่งแล้วเพราะค่าเข้าอบรมแสนแพง ต่อมาได้ส่วนแบ่งการขายจากการผลิตและจากผู้ขาย ส่วนผู้ขายก็ได้กำไรจากผู้บริโภค สุดท้ายแล้วผู้แบกภาระก็คือประชาชนผู้บริโภค และหากบริโภคไปแล้วมีปัญหาสุขภาพ ผู้แบกภาระขั้นสุดท้ายก็คือประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหลาย ซึ่งก็คือเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ

          ถ้าสินค้าที่ขายเป็นประโยชน์ มีโทษน้อย (เสียเงินและอาจได้สารเคมีที่ไม่พึงปรารถนาเป็นของแถม) ก็ยังพอถือได้ว่าประชาชนผู้บริโภคได้ประโยชน์ ประเด็นอยู่ตรงจริยธรรมของบริษัทขายยาดังตัวอย่างข้างต้นและบริษัทขายตรง

          ในกระบวนธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมานับตั้งแต่บริษัท ผู้บริหารบริษัท คนขาย ตลอดถึงแพทย์ สิ่งสำคัญก็คือมโนธรรมของแต่ละคน การขาดคุณธรรมไม่ว่าของขั้นตอนใดล้วนนำไปสู่ปัญหาในเวลาต่อมาทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป

          การรู้ทันของผู้บริโภคและของประชาชนในเรื่องการขายเหล่านี้เท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการไม่ถูกหลอกให้เป็น “เบี้ย” ในกระดานหมากรุกมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

มติที่ประชุมเอนเอียงโดยธรรมชาติ

วรากรณ์  สามโกเศศ
20 กันยายน 2559

          ถ้าคุณเคยเห็นผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่กำลังจะลงมติเห็นชอบในมติหนึ่งที่คุณเห็นว่าไม่เข้าท่าเอาเลย แต่คุณก็ไม่กล้าค้านเพราะคนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย คุณก็เลยต้องลงมติตามเขาไป ถ้าคุณเป็นเช่นนี้เหมือนคนส่วนใหญ่ก็แสดงว่ากำลังมีสิ่งที่เป็นอันตรายแฝงอยู่เพราะอาจเป็นมติที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกแห่งในโลก และดูจะสาหัสในบางวัฒนธรรมเช่นสังคมไทย

          ปรากฏการณ์ข้างต้นเรียกว่า social proof ดังที่ Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) ได้ชี้ให้เห็น สิ่งนี้เกิดขึ้นในแทบทุกเรื่องที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวพัน ไม่เชื่อลองชวนเพื่อน10-20 คน ไปยืนริมถนน และชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าอย่างไม่มีสาเหตุ รับรองได้ว่าอีกไม่นานจะมีหลายคนหยุดและมองขึ้นไปในท้องฟ้าและชี้ตามคุณด้วย

          เสียงปรบมือหลังการแสดงหรือการพูดก็เหมือนกัน ถ้ามีใครปรบมือนำสักนิดก็จะมีคนปรบมือตามกันเกรียว ตลาดหุ้นพังพินาศก็เพราะเมื่อหุ้นราคาตกก็มักจะ “แห่” ตามกัน social proof อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “herd instinct” หรือ “สัญชาติญาณฝูง” สิ่งนี้จะทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองกำลังกระทำสิ่งที่ถูกต้องเมื่อกระทำสิ่งเดียวกันกับคนอื่น ๆ

          ทำไมมนุษย์จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้? ในสมัยมนุษย์อยู่ถ้ำเมื่อ 50,000 ปีก่อน “สัญชาติญาณฝูง” อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการอยู่รอด ลองจินตนาการว่าเมื่อเดินป่ากันอยู่ดี ๆกับพรรคพวก จู่ ๆ ก็พากันวิ่งป่าราบ ถ้าคุณเป็นนักคิดใคร่ครวญก็อาจลังเลว่ามันกระต่ายตื่นตูมอะไรกันนักหนา และวินาทีนั้นคุณก็อาจถูกเสือโดดงับก็เป็นได้ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีก็คือไม่คิดไม่ถาม วิ่งตามเลย ส่วนคนที่เป็นนักคิดก็จะไม่มีเชื้อพันธุ์เหลือให้สืบมาถึงทุกวันนี้

          แบบแผนของการเอาตัวรอดเช่นนี้น่าจะฝังตัวอยู่ในยีนส์ของเราจนนำมาใช้กับสถานการณ์ ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียได้มากมายดังกล่าวแล้วในเรื่องการประชุมข้างต้น

          ปรากฏการณ์ในเรื่องการประชุมมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า groupthink ซึ่งเป็นลักษณะย่อยหนึ่งของ social proof ซึ่งเป็นจุดอันตรายของกระบวนการตัดสินใจ กล่าวคือในการประชุมหารือเพื่อหาคำตอบนั้น หากสิ่งแวดล้อมของที่ประชุมเป็นไปในทิศทางที่ทำให้คนหนึ่งคนหรือจำนวนหนึ่งมีอิทธิพลต่อที่ประชุม ก็จะทำให้คนอื่น ๆ คล้อยตาม โดยขาดการไตร่ตรองจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ

          ผู้เขียนมีประสบกาณณ์ในการเข้าร่วมประชุมในทุกระดับของประเทศเป็นเวลานานปีจนสังเกตเห็นว่าบ่อยครั้งของการตัดสินใจของคณะกรรมการจะมีเรื่องของ groupthink เข้าไปเกี่ยวพันอยู่ด้วยเสมอ

          ลักษณะของ groupthink ของสังคมไทยเท่าที่สังเกตเห็นมีดังนี้ (1) ประธานครอบงำการประชุมโดยอาจไม่รู้ตัว ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง เพื่อรับฟังความเห็นต่าง ๆ เท่าที่ควร ดังนั้นข้อสรุปจึงเป็นไป “ตามโผ” ที่ฝ่ายเลขานุการจัดมา

          (2) ประธานเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอำนาจวาสนาหรือมีบารมีเป็นที่เกรงใจของผู้เข้าร่วมประชุมจนคล้อยตามสิ่งที่ประธานต้องการเสมอ ไม่กล้าแสดงความเห็นเป็นอย่างอื่น

          (3) ประธานเป็นผู้ไม่ครอบงำการประชุม รับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและจริงใจ หากแต่ในคณะกรรมการที่ประชุมนั้นมีบางคนที่พูดเก่ง โน้มน้าวคนฟังได้เก่ง มีเหตุมีผล จนที่ประชุมมักจะเป๋ไปตามความเห็นนั้น โดยไม่ได้ช่วยกันไตร่ตรองให้รอบคอบและหากผู้นั้นมีบารมี หรืออำนาจวาสนาประกอบด้วยแล้ว อิทธิพลของ groupthink ก็จะยิ่งแรงยิ่งขึ้น

          (4) คล้ายข้อ (3) หากแต่มีสมาชิกคนอื่น ๆ จำนวนหนึ่งที่มักคอยสนับสนุนและเห็นฟ้องกับ “บุคคลที่มีอิทธิพล” นั้นอยู่เสมอ จนเห็นตามกันไปหมด

          (5) เมื่อที่ประชุมประกอบด้วยสมาชิกที่ชอบพอกลมเกลียวกัน มีวัฒนธรรมของการคล้อยตามกัน ไม่ขัดกันเพราะถือเป็นพี่เป็นน้องกัน บรรยากาศของความกลมกลืนไม่ขัดแย้งกันก็จะมีสูง และ groupthink ก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะ groupthink ไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงด้วยความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสร้างสรรค์ พิจารณาอย่างรอบคอบทุกแง่มุม หากแต่ “เฮ” ตามกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมของการเห็นพ้องกันสูงอยู่แล้ว (คนไม่เห็นด้วยบ่อย ๆ จะกลายเป็นคนแปลกแยก) และเมื่อบวกเอาการถือชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ เข้าไปผสมด้วยแล้ว ที่ประชุมนั้นก็อาจพากันเข้ารถเข้าพงได้ไม่ยากนัก และถ้า”เป็นรกเป็นพง” ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยแล้ว ก็อาจเกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ได้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้งในประวัติศาสตร์ก็มาจาก groupthink นี้แหละ

          ความผิดพลาดของมนุษย์ที่ฉกรรจ์ยิ่งก็คือความคิดที่ว่าถ้าคนเป็นสิบล้าน หรือร้อยล้านเขาเชื่อหรือทำกันแล้ว(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ) มันต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าเมื่อความเชื่อหรือการกระทำนั้นมันเริ่มมาจากปรากฏการณ์ groupthink แต่แรกแล้ว สิ่งที่เกิดตามต่อ ๆ มาก็เป็นกลไกตามธรรมชาติ ดังคำพูดที่ว่า “เมื่อลิงตัวที่ 100 โดดข้ามรั้ว ลิงตัวที่ 101 ก็ย่อมโดดตาม ด้วย ” ประเด็นสำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าลิง 100 ตัวแรกโดดไปแล้วเจออะไร และที่เริ่มโดดกันนั้นก็เพราะกลุ่มหัวหน้าลิงประชุมกันแล้วลงมติว่าสมควรกระโดด (สมมุติว่ามี groupthink ในหมู่ลิงฃึ่งเป็นสมมุติฐานที่ไม่ น่าผิด)

          อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของการตั้งกรรมการหลายคนนั้นก็เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าปล่อยให้ groupthink ทำงานแล้วมันก็จะเป็นการพิจารณาของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งผิดจากความตั้งใจแต่แรก

          การตระหนักถึงปรากฏการณ์ groupthink จะทำให้ที่ประชุมระมัดระวังอยู่เสมอจนได้มติที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ