ปีใหม่ และ “คนใหม่”

วรากรณ์  สามโกเศศ
5 มกราคม 2559

          เมื่อปีใหม่มาถึงสิ่งแรกที่นึกถึงทุกปีก็คือ New Year’s Resolution หรือรายการของความตั้งใจ หรือสัญญากับตนเองว่าจะทำอะไรให้สำเร็จในปีใหม่ อย่างไรก็ดีมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการมาถึงของปีใหม่ที่น่าสนใจ

          ถึงแม้ว่า New Year’s Resolution จะเป็นประเพณีฝรั่งแต่ก็เป็นของดีเพราะเป็นการพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก มีความสุภาพกับคนอื่นมากขึ้น ใช้จ่ายเงินน้อยลงโดยเฉพาะลดหนี้ ตั้งใจทำงานมากขึ้น ว่ายน้ำเป็น พัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ฯลฯ

          New Year’s Resolution มีที่มาจากด้านศาสนา ชาวบาบิโลน (1894 B.C.-141 B.C.) สัญญากับพระเจ้าว่าในปีใหม่จะคืนของที่ยืมไปและชำระหนี้คืน ชาวโรมัน (27 B.C.-395 A.D.) เริ่มต้นทุกปีโดยให้สัญญากับเทพเจ้า Janus (เดือน January ตั้งตามชื่อเทพเจ้านี้) ต่อมาชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการสวดภาวนาและกำหนดในใจว่าจะทำสิ่งใดในปีใหม่

          ในยุคต่อมาผู้คนก็รับเอาประเพณีนี้มาไว้ในชีวิตประจำวัน เคยมีการสำรวจในปี 2000 และพบว่าร้อยละ 40 ของคริสต์ศาสนิกชนมี New Year’s Resolution สำหรับคนทั่วไป สิ่งที่ตั้งใจและสัญญากับตนเองในปีใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดได้แก่ (ไม่ได้เรียงตามความนิยม) (ก) ทำให้รูปลักษณ์ดีขึ้น (กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก เลิกนิสัยเก่า ๆ ที่ ไม่ดี) (ข) พัฒนาการคิดเชิงนามธรรม เช่น คิดในแง่บวก หัวเราะบ่อยขึ้น (ค) ใช้จ่ายน้อยลง แก้ไขเรื่องหนี้ ออมเงิน ลงทุน (ง) ตั้งใจทำงานมากขึ้น ทำธุรกิจส่วนตัว หางานใหม่ที่ดีกว่า (จ) ตั้งใจเรียนมากขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (ภาษาต่างประเทศ ดนตรี) อ่านหนังสือมากขึ้น พัฒนาพรสวรรค์ (ฉ) พัฒนาตนเอง ลดความเครียด อารมณ์ดีขึ้น จัดการเวลา ดูโทรทัศน์น้อยลง ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนน้อยลง (ช) มีจิตอาสา ช่วยคนอื่น พัฒนาทักษะชีวิต ทำงานให้การกุศล ฯลฯ

          จากการสำรวจพบว่าสาเหตุที่ทำให้ New Year’s Resolution ล้มเหลวก็คือการตั้งเป้าไว้ไม่ใกล้ความจริง (มีคนตอบร้อยละ 35) ไม่มีการติดตามผลของคำสัญญา (ร้อยละ 33) ลืมคำสัญญา (ร้อยละ 22) และ 1 ใน 10 คน บอกว่ามีคำสัญญามากเกินไป

          การศึกษาในปี 2007 ของ Richard Wiseman แห่ง University of Bristol ซึ่งสำรวจ 3,000 คน พบว่าร้อยละ 88 ของคนที่มี New Year’s Resolution ล้มเหลว (ถึงแม้ว่าครึ่งหนึ่งคนเหล่านี้มั่นใจว่าจะสำเร็จตอนเริ่มต้นให้คำสัญญา) การศึกษาพบว่าสำหรับผู้ชายนั้นประสบความสำเร็จเพราะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน (ลดน้ำหนัก 1 ปอนด์ต่ออาทิตย์ไม่ใช่เพียงระบุว่าลดน้ำหนักเท่านั้น) ส่วนผู้หญิงนั้นประสบผลสำเร็จเมื่อประกาศให้คนอื่นรู้ว่ามีเป้าหมายอย่างไร และได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน

          New Year’s Resolution เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าขบคิด แต่ถ้าใครไม่ต้องการเดินเส้นทางนี้แต่อยากได้อะไรใหม่ ๆ ไว้ใคร่ครวญในปีใหม่นี้ลองอ่านเรื่อง “รักคนไกล แต่ระอาคนใกล้” ที่ผู้เขียนได้มาจากอินเตอร์เน็ตดังต่อไปนี้

          “_ _ _ _ _ รักป่ารักต้นไม้ทั่วทั้งโลกนั้น บางครั้งกลับง่ายกว่ารักต้นไม้ในบ้าน เราพร้อมจะไปปลูกป่าทั่วทุกหนแห่ง แต่คร้านที่จะดูแลต้นไม้ในบ้าน ปลูกป่านอกบ้านไม่ใช่เรื่องยาก แค่หย่อนกล้าไม้ลงหลุมแล้วกลบ จากนั้นก็กลับบ้านได้เลย แต่ปลูกต้นไม้ที่บ้านสิ เรายังต้องรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยนานนับปี ครั้นต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ก็ยังต้องเสียเวลากวาดใบไม้ร่วงไม่หยุดหย่อน วันดีคืนดี กิ่งไม้อาจตกมากระแทกหลังคาเป็นรู เป็นเพราะต้นไม้นอกบ้านให้แต่สิ่งดีๆ มีแต่สิ่งที่น่าชื่นชม ไม่เป็นภาระแก่เราเลย เราจึงรักเขาได้ง่าย ส่วนต้นไม้ในบ้านนั้นเรียกร้องการดูแลเอาใจใส่จากเรา แถมยังอาจก่อปัญหาให้ด้วย หลายคนจึงมองเห็นแต่ข้อเสียของเขา จนรู้สึกระอาขึ้นมา

          เป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี้หรือเปล่า ผู้คนเป็นอันมากจึงรักและชื่นชมคนอื่นได้ง่ายกว่าคนในบ้าน เราเห็นแต่ความดีของคนไกลตัวเพราะเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเราเลย ส่วนคนในบ้านนั้นอยู่ใกล้กับเรามากเกินไปจึงเห็นแต่ข้อเสียของเขา หรือเห็นเขาเป็นภาระที่ต้องดูแลเอาใจใส่จนกลบข้อดีของเขาไปเกือบหมด ผลก็คือเรามักสุภาพอ่อนโยนกับคนไกล แต่มึนตึงฉุนเฉียวง่ายมากกับคนใกล้ตัว

          ลองมองให้เห็นคุณประโยชน์หรือความดีของต้นไม้ในบ้านบ้าง เราอาจจะรักเขาได้ง่ายขึ้น หลายคนมาเห็นประโยชน์ของต้นไม้ในบ้านก็หลังจากที่โค่นมันจนเหลือแต่ตอ แต่นั่นก็สายไปแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือหากเรารู้จักชื่นชมเขาขณะที่ยังอยู่กับเรา กับคนในบ้านก็เช่นกัน เราควรหัดชื่นชม คุณความดีของเขาบ้าง ที่แล้วมาเราอาจมองข้ามไป เพราะคุ้นชินความดีที่เขาทำกับเราจนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

          เพลงที่แสนไพเราะหากได้ฟังทุกวันทุกคืนก็กลายเป็นเพลงดาษ ๆ ไม่มีเสน่ห์สำหรับเรา ฉันใดก็ฉันนั้น คำพูดที่ไพเราะของภรรยา น้ำใจของสามี หรือความใส่ใจของพ่อแม่ หากเราได้ยินได้ฟังหรือได้รับติดต่อกันเป็นปี ๆ หรือนานนับสิบปี ก็กลับกลายเป็นสิ่งสามัญจนเรามองไม่เห็นความสำคัญ ไม่ต่างจากอากาศที่เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าทั้ง ๆ ที่ขาดมันไม่ได้เลย

          น่าแปลกก็ตรงที่หากคนใกล้ตัวทำผิดพลาดหรือสร้างความไม่พอใจแก่เรา แม้เพียง ครั้งเดียว การกระทำนั้น ๆ กลับฝังใจเราได้นานหรือลึกกว่าความดีที่เขาทำกับเรานับร้อยนับพันครั้ง ใช่หรือไม่ว่าเวลาเขาทำดีกับเรา เรามองว่านั่นเป็น “หน้าที่ของเขา” หรือเป็น “สิทธิที่เราควรได้รับ” แต่เมื่อใดที่เขาทำไม่ดีกับเรา ทำให้เราไม่พอใจ เรากลับมองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น “สิ่งที่ไม่สมควร” เป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” ดังนั้นจึงฝังใจเราได้ง่ายกว่า อันที่จริงเขาอาจไม่ได้ทำผิดพลาดเกินวิสัยปุถุชน แต่ความที่เรามักจะมีความคาดหวังสูงจากคนใกล้ชิด ความผิดพลาดของเขาแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เราหัวเสีย ขุ่นเคือง หรือน้อยเนื้อต่ำใจได้ง่ายและนาน

          คนในบ้านหรือคนใกล้ตัวนั้น ไม่ว่าจะดีแสนดีเพียงใด ก็ย่อมมีวันที่ต้องกระทบกระทั่งกับเราบ้าง แต่หากเราไม่ฝังใจอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้น หันมามองและชื่นชมคุณความดีของเขา เปิดใจรับรู้ความรักที่เขามีต่อเรา เราจะรักเขาได้ง่ายขึ้น และตระหนักว่าเขามีความสำคัญต่อชีวิตของเรายิ่งกว่าคนไกลตัวเสียอีก อย่ารอให้เขาจากไปเสียก่อนถึงค่อยมาเห็นคุณค่าของเขา ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

          อะไรก็ตามยิ่งอยู่ใกล้ตัวมากเท่าไร เราย่อมหน่ายแหนงและระอาได้ง่ายมากเท่านั้น เพราะใจที่ชอบเห็นแต่แง่ลบมากกว่าแง่บวก มิใช่แค่ต้นไม้ในบ้าน หรือคนในบ้านเท่านั้น หากยังรวมถึงทรัพย์สมบัติในบ้านด้วย แต่นั่นยังไม่ใกล้เท่ากับร่างกายและจิตใจของเราเอง ไม่ว่าสวยเท่าใดก็ยังเห็นแต่ความไม่งามของตัวเอง ไม่ว่าจะทำดีเพียงใดก็ยังเห็นแต่ตัวเองในแง่ร้าย คนที่เกลียดตัวเองนั้นทุกวันนี้มีมากมาย ยิ่งรักก็ยิ่งเกลียดเพราะไม่ดีอย่างที่หวัง ยิ่งยึดติดคาดหวังกับความสมบูรณ์พร้อม ก็ยิ่งเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง

          ลองมองให้เห็นความดีของตัวเองบ้าง ให้อภัยกับความผิดพลาด ยอมรับความไม่สมบูรณ์พร้อม ใช้สิ่งที่มีอยู่แม้น้อยนิดเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แล้วคุณจะรักตัวเองได้มากขึ้น_ _ _ _ _”

          สำหรับท่านที่คิดว่าชีวิตของท่านแสนธรรมดา ไม่มีอะไรดี “เป็นพิเศษ” ให้น่าชื่นใจเลย ลองอ่านสิ่งที่ท่าน Thích Nh?t H?nh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) พระภิกษุชาวเวียตนาม นิกายเซ็นของมหายานซึ่งเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างสูงกล่าวไว้

          “_ _ _ _ _ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว

          ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปหางาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น

          แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่อง นอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต

          เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

          สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา¬¬_ _ _ _ _”

          เมื่อปีใหม่มาเยือน ถ้าคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีปีใหม่ เราต้องเป็น “คนใหม่” ไม่ว่าจากการมี New Year’s Resolution หรือได้แง่คิดใหม่ ๆ ในชีวิตก็ตาม มนุษย์จะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ตามล้วนมาจากความคิดทั้งนั้น

ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน

วรากรณ์  สามโกเศศ
2 กุมภาพันธ์ 2559

          ไต้หวันได้ผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกเช่นเดียวกับเมียนมาร์และเกาหลีใต้ แต่ละคนล้วนฝ่าฟันขวากหนามอย่างกล้าหาญเพื่อพิสูจน์ความสามารถ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) แห่งไต้หวันมีอะไรดีจึงชนะเลือกตั้งอย่างพลิกประวัติศาสตร์

          ไต้หวันซึ่งเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1895 เป็นที่หมายตาของจอมพลเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งตั้งแต่ตอนเป็นประธานาธิบดีของประเทศจีนและต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง เมื่อพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1949 จึงถอยร่นมาใช้เกาะฟอร์โมซาซึ่งเป็นชื่อในสมัยนั้นเป็นแผ่นดินใหม่และเป็นไต้หวันมาจนทุกวันนี้

          เจียงไคเช็กเป็นประธานาธิบดีจนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1975 รองประธานาธิบดีก็ครองอำนาจแทนเป็นเวลา 3 ปี และต่อมาได้ลูกชายของเจียงไคเช็กคือเจียงชิงโกะเป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็อยู่ในตำแหน่งได้ 10 ปี ในปี 1988 ลีเต็งฮุยรองประธานาธิบดีก็ได้เป็นประธานาธิบดีแทน ลีครองอำนาจอยู่ได้จนถึง 1996 ก็ทนแรงกดดันจากทุกทิศในเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

          ลีเต็งฮุยตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งชนะได้เป็นประธานาธิบดีอยู่จนปี 2000 อำนาจของพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งดำรงมาตั้งแต่ 1949 ก็สะดุดลง เฉินสุ่ยเปียนจากพรรค DPP (Democratic Progressive Party) ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี 2 สมัย จนถึงปี 2008 คราวนี้พรรคก๊กมินตั๋ง กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การนำของหม่า ยิ่ง จิ่ว เขาชนะเลือกตั้ง 2 สมัย 8 ปี และเป็นประธานาธิบดีต่ออีกไม่ได้จึงส่งตัวแทนพรรคคือ Eric Chu ลงแข่งกับไช่อิงเหวินแห่งพรรค DPP ในปี 2016 และชัยชนะก็ตกเป็นของเธอ

          ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรค DPP ได้สร้างประวัติศาสตร์ภายใต้การนำของไช่อิงเหวิน ซึ่งเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 68 ที่นั่ง จาก 113 ที่นั่ง ก๊กมินตั๋งได้เพียง 35 ที่นั่ง ดังนั้นจึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งประเทศที่พรรคตรงข้ามก๊กมินตั๋งได้ที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไช่อิงเหวินเข้าทำงานในเดือนพฤษภาคม 2016 เธอก็จะมีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนงานของเธอ

          ไช่อิงเหวินไม่เคยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งใด ๆ มาก่อน แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไร้ประสบการณ์ เธอเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยในไต้หวันหลายแห่ง พร้อมกับทำงานรับใช้ชาติในหลายโอกาส เธอเป็นหัวหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศ เคยรับผิดชอบงานในระดับที่ถือว่าทัดเทียมกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเคยทำงานระดับรัฐมนตรีในงานกิจการสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่

          ถึงเธอจะคุ้นเคยกับการสานสัมพันธ์กับจีนประเทศมหาอำนาจ (มีประชากร 1,400 ล้านคน เทียบกับไต้หวัน 23 ล้านคน มีพื้นที่ 4-5 เกาะรวมกันเล็กกว่ามณฑลขนาดเล็กของจีน และอยู่ใกล้กันขนาดมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากฝั่งทะเลจีน) แต่เธอก็อยู่ในพรรคที่เห็นด้วยกับแนวคิดเป็นอิสระจากจีน (Pro-Liberation) กล่าวคือปัจจุบันจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่ยอมรับให้ปกครองแบบอิสระภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

          ตลอดเวลาที่หาเสียงประเด็นการเมืองร้อนแรงนี้ถูกหยิบขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่เธอเสนอในเรื่องความเป็นอิสระนั้นสอดคล้องกับความรู้สึกของคนไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนท่วมท้นในการนับว่าตนเป็นคนไต้หวันมากกว่าเป็นคนจีน ชัยชนะของเธอครั้งนี้ทำให้จีนไม่เป็นสุข เพราะฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งของการต้องการความเป็นอิสระจากจีนเช่นกัน การประท้วงต่อต้านจีนครั้งใหญ่ในฮ่องกงในปี 2015 คือสารที่คนฮ่องกงต้องการส่งไปถึงจีนเช่นเดียวกับชัยชนะครั้งนี้ของเธอ

          ในสมัยประธานาธิบดีหม่าแห่งพรรคก๊กมินตั๋งก่อนหน้าเธอ ไต้หวันมีความสนิทชิดเชื้อกับจีนมากขึ้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบกับประธานาธิบดีหม่าในสิงคโปร์เพื่อหารือกันในปลายปี 2015 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเวลากว่า 60 ปี ที่ผ่านมา จีนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่สุดของไต้หวัน มีเที่ยวบินตรงระหว่างหลายเมืองในจีนกับไทเป นับวันไต้หวันดูจะต้องอาศัยจีนมากขึ้นทุกที

          ชัยชนะของเธอตีความได้ว่าถึงแม้คนไต้หวันจะไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีน แต่ก็ต้องการส่งสารให้รู้ว่าต้องการความเป็นไต้หวัน รักระบบประชาธิปไตย และการปกครองตนเอง

          ปฏิกิริยาของจีนจากชัยชนะครั้งนี้ก็คือความเงียบ โดยมีทีท่าว่าไม่สนใจชัยชนะของเธอ และพยายามทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญ ส่วนประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ก็ไม่เอ่ยวาจาที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือยั่วยุ หากเห็นว่าต้องหาหนทางที่จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างสันติภาพและเศรษฐกิจร่วมกันโดยอยู่บนฐานของความเป็นอิสระและเป็นตัวเองของไต้หวัน

          เธอมีประวัติอย่างใดจึงสามารถชนะใจคนไต้หวันได้ ถึงแม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งที่แล้วคือปี 2012 ก็ตาม ในเบื้องต้นเธอเป็นลูกหลานคนไต้หวันดั้งเดิม (ฝั่งยายของเธอ) เรียนจบกฎหมาย National Taiwan University (มหาวิทยาลัยมีชื่อของไต้หวัน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคนก่อตั้ง) จบกฎหมายจาก Cornell และจบปริญญาเอกจาก London School of Economics and Political Science (LSE))

          ในปี 1984 เธอกลับไต้หวัน สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยอยู่หลายปี ก่อนที่จะเริ่มงานการเมืองในทศวรรษ 1990 เธอเล่นการเมืองจริงจังโดยเป็นสมาชิกพรรค DPP ในปี 2004 และในปี 2010 ลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของ New Taipei City โดยแข่งกับ Eric Chu (ต่อมาเป็นคู่แข่งของเธอในปี 2016) แต่ก็พ่ายแพ้ ในปี 2012 ก็ลงแข่งประธานาธิบดีก็พ่ายแพ้อีก เธอไม่ท้อถอยสู้ต่อไปจนชนะขาดลอยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งเธอชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและก็ได้เป็นประธานาธิบดีเลย

          ปัจจุบัน ไช่อายุ 60 ปี เป็นโสด เธอเป็นจีนแคะ (Hakka) เช่นเดียวกับประธานาธิบดีหม่า (ลี กวนยู ซุนยัดเซ็น เติ้งเสี่ยวผิงก็เป็นจีนแคะ) การมีเชื้อสายคนไต้หวันดั้งเดิมช่วยเธอในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะให้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนมีเทือกเถาที่รักแผ่นดินเกิด

          ในวัฒนธรรมที่เชิดชูคนมีการศึกษา พื้นฐานการศึกษาของเธอถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบ กอปกับความสามารถในการพูดหลายภาษาและมันสมองของเธอภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าจ้างต่ำ ช่องว่างถ่างยิ่งขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน ตลอดจนความกังวลของคนไต้หวันในเรื่องระยะทางที่ใกล้ชิดเกินไปกับจีน ทั้งหมดนี้ทำให้เธอได้รับคะแนนเสียงกว่า ร้อยละ 56

          การเคลื่อนไหวต่อต้านจีนในไต้หวันในปี 2014 ที่เรียกว่า Sunflower Movement โดยคน หลายร้อยคนบุกยึดรัฐสภาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเงื่อนไขข้อตกลงการค้ากับจีนที่กำลังเจรจากันอยู่ ลักษณะการประท้วงโดยแท้จริงแล้วคือการต่อต้านจีน ไม่พอใจพรรคก๊กมินตั๋งและประธานาธิบดีหม่าเธอได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากการ

          ประท้วงครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้อกับสิ่งที่เธอเรียกร้องคือความเป็นอิสระของไต้หวัน พรรคของเธอต่อต้านการรวมไต้หวันเข้ากับจีนดังที่สมาชิกหลายคนของพรรค ก๊กมินตั๋งต้องการ

          นอกจากจีนจะปวดหัวกับเศรษฐกิจที่พลิกผัน การก่อการร้ายในประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างศรัทธาของพลเมืองที่มีต่อพรรค ฯลฯ แล้ว ยังต้องกังวลกับปัญหาฮ่องกงและไต้หวันอีกด้วย

          ไม่มีประเทศใดที่ไม่มีปัญหา มากน้อยแตกต่างกันไป ประเด็นอยู่ที่ผู้นำจะทำอย่างไรให้คนในชาติและภาครัฐร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

ประชามติเรื่อง EU ของอังกฤษ

วรากรณ์  สามโกเศศ
24 พฤษภาคม 2559

         นอกจากการลงประชามติในเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยในวันที่ 7 สิงหาคม ปีนี้แล้ว ก่อนหน้าที่จะถึงนี้มีประชามติอีกอันหนึ่งที่มีผลกระทบกว้างไกลและมีความหมายต่อคุณภาพชีวิตของคนในโลก นั่นก็คือการลงคะแนนเสียงของคนอังกฤษว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของ EU ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรียกเรื่องนี้กันว่า “Brexit” ซึ่งมาจาก British + Exit

          เป็นความฝันของคนยุโรปมานับร้อยปีว่าควรมีรวมตัวกันเชิงการค้าเพราะจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในปี 1957 จึงเกิด Treaty of Rome ซึ่งสร้าง Common Market หรือ EEC (European Economic Community) ขึ้น แต่อังกฤษมิได้เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อตั้ง อังกฤษพยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิกถึง 2 ครั้ง คือในปี 1963 และ 1967 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะประธานาธิบดี Charles de Gaulle แห่งฝรั่งเศส ขัดขวางจนเมื่อหมดอำนาจลงแล้วจึงได้เป็นสมาชิกในปี 1973

          เมื่อต่อมา EEC กลายเป็น European Union (EU) ด้วย Maastricht Treatyในปี 1993 อังกฤษก็ยังคงเป็นสมาชิกองค์การนี้ที่เปลี่ยนรูปมาเป็นทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

          อย่างไรก็ดีคนอังกฤษนั้นคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องเป็นสมาชิกกลุ่มนี้มาตลอด พรรคการเมืองก็มีความเห็นแตกแยกกัน ดังนั้นในปี 1975 อังกฤษจึงมีการลงประชามติว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของ EEC ต่อไปหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าประมาณ 2 ใน 3 เห็นว่าควรอยู่ต่อไป

          ถึงแม้จะเป็นสมาชิกของ EU ในจำนวนทั้งหมด 28 ประเทศ แต่อังกฤษก็มีอะไรพิเศษกว่าสมาชิกประเทศอื่น เช่น ไม่ใช้เงินยูโร แต่ยังคงใช้เงินปอนด์เช่นเดิม (มี 9 ประเทศที่เป็นสมาชิก EU แต่ไม่ใช้เงินยูโร) และไม่ร่วมในการให้วีซ่าหมู่เข้าประเทศ EUที่เรียกว่า Schengen เหมือนประเทศ EUอื่นๆ (คนที่ไม่ใช่พลเมืองของ EU ต้องขอวีซ่าเข้าอังกฤษต่างหาก) อย่างไรก็ดีอังกฤษก็ถูกผูกพันไว้หนาแน่นด้วยกฎเกณฑ์กลางโดยเฉพาะในเรื่องเงินที่ต้องจ่ายสนับสนุนประเทศ EUอื่นเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

          เหตุที่เกิดประชามติเรื่อง Brexit ขึ้นก็เพราะมีความรู้สึกในหมู่คนอังกฤษว่าประเทศตนเองมีอิสระเสรีในการตัดสินใจน้อยลงเนื่องจากการเป็นสมาชิก EU มีตัวเลขว่าร้อยละ 55 ของจำนวนกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ออกมีสาเหตุมาจากการถูกบังคับโดยกติกาของการเป็นสมาชิก EU นอกจากนี้การถูกบังคับให้ต้องรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิกนับหมื่นทุกปีก็ไม่ถูกใจประชาชน และยิ่งปัญหาอพยพของคนจากซีเรีย ตุรกี และประเทศอื่น ๆ รุนแรงขึ้น พร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจของกรีกที่ชาว EU ต้องร่วมกันอุ้ม หนักหนาขึ้น คนอังกฤษก็เกิดความลังเล

          นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron แห่งพรรค Conservative ในปี 2012 ปฏิเสธที่จะให้มีประชามติเรื่อง Brexit แต่เมื่อทนแรงกดดันไม่ได้จึงต้องสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2015 ว่าหากชนะจะจัดให้มีประชามติ Brexit ก่อนสิ้นปี 2017 ดังนั้นเมื่อได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงผ่านกฎหมายประชามติ 2015 ทั้งหมดนี้คือที่มาของการลงประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิถุนายน 2016

          เรื่องจะลงคะแนน yes หรือ no กับประชามติ Brexit ครั้งนี้ถือว่าคึกคักมาก กฎหมายอนุญาตให้ต่อสู้กันได้ด้วยการรณรงค์ของทั้งสองฝ่าย นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้รัฐมนตรีและ ส.ส. ของพรรคออกมาสนับสนุนหรือคัดค้านได้อย่างเสรี คนอังกฤษได้เห็นสารพัดกลุ่มออกมารณรงค์ต่อสู้กัน เช่น Vote Leave / Grassroots Out / Britain Stronger in Europe / Leave EU / Conservatives In ฯลฯ

          นายกรัฐมนตรี Cameron เห็นว่าควรอยู่ต่อ ดังนั้นในตอนต้นปีนี้จึงเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของ EU ที่ Brussels เพื่อต่อรองเงื่อนไขการเป็นสมาชิกของ EU ให้ดีขึ้น เช่นได้เงื่อนไขว่าเงินที่ต้องช่วยจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้อพยพจากประเทศ EU อื่น ๆ นั้นมีเพดานไม่ใช่ไม่มีขีดจำกัดเช่นเดิม ตลอดจนมีการยืนยันว่าลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรปนั้นได้รับการยกเว้นในบางเรื่อง ไม่ต้องผูกติดกับเงื่อนไขที่ EU กำหนด ฯลฯ อย่างไรก็ดีคนอังกฤษเห็นว่าสิ่งที่ได้มาก่อนประชามติ Brexit นั้นเล็กน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่ได้ช่วยให้คนเปลี่ยนใจมาสนับสนุนการอยู่ต่อเพิ่มมากขึ้น

          การสำรวจเสียง yes หรือ no ของ Brexit นั้น ณ ปัจจุบันถือว่าสูสีกันมาก กล่าวคืออยู่ประมาณ 40 กับ 40 โดยมีร้อยละ 20 ยังไม่ตัดสินใจ แต่ละฝ่ายก็งัดเหตุผลออกมาโน้มน้าวผู้จะลงคะแนนเสียง

          สำหรับผู้สนับสนุน no หรือการเห็นว่าควรออกจากการเป็นสมาชิก EU นั้นให้เหตุผลว่าการออกมาจะทำให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ในด้านการเป็นศูนย์กลางการเงินของลอนดอน ธนาคารและสถาบันการเงินเบื่อหน่ายกับดีกรีการกำกับควบคุมซึ่งมีมากขึ้นทุกที และในการประกอบธุรกิจการค้าก็เช่นกัน กฎกติกาที่ต้องทำเหมือนกันในทุกประเทศสมาชิกทำให้อังกฤษไม่คล่องตัว

          เหตุผลของ yes หรือการอยู่ต่อก็คืออังกฤษจะได้ประโยชน์ในด้านการค้า จะยังคงเป็นสมาชิกของ Single Market ของ EU กล่าวคือค้าขายกันโดยไม่มีภาษีขาเข้า หากออกไปก็เท่ากับละทิ้ง EU ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้คนเกรงขามทั้งในเรื่องเศรษฐกิจการค้าและการธนาคาร “ความแค้น” ของสมาชิก EU ต้องมีอยู่ และเมื่อทำการค้ากันในภายหลังก็จะถูกกีดกันจนเสียหายได้

          งานศึกษาของ David Hummels และ Georg Schaur (2012) พบว่าสินค้าทั่วไปที่ขนส่งข้ามไปมากันนั้นทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นเสมือนกับมีอัตราภาษีขาเข้าระหว่างร้อยละ 0.6 ถึง 2.1 ซึ่งเท่ากับว่าสินค้าต้องมีอัตราภาษีขาเข้าสูงขึ้นอีก แต่หากเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่มีภาษีขาเข้าเช่น EU ต้นทุนก็จะสูงขึ้นน้อยกว่า ดังนั้นการเป็นสมาชิก EU จึงเป็นประโยชน์ต่อการค้าขายกับต่างประเทศ(มูลค่าการส่งออกของอังกฤษไป EU เท่ากับร้อยละ12.6 ของ GDP)

          สำหรับคนนอกประเทศนั้นแทบจะหาคนสนับสนุนการออกไปจาก EU ของอังกฤษไม่ได้เลย ประธานาธิบดีโอบามาถึงกับเดินทางมาอังกฤษเพื่อ “หาเสียง” ให้กับกลุ่ม yes เนื่องจากเสถียรภาพของยุโรปเป็นยอดปรารถนาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาปวดหัวกับจีนและรัสเซียอยู่เต็มมือแล้ว

          การลงประชามติ Brexit เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของ EU เนื่องจากนานาปัญหาประดังเข้ามานับตั้งแต่คลื่นอพยพของผู้คนข้ามทะเลเมดิเตอเรเนี่ยน (ในปี 2015 มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน) ปัญหาเศรษฐกิจกรีกที่ยังไม่จบ วิกฤตเงินยูโรก็ยังไม่พ้นฝั่ง การเจริญเติบโตของ EU ที่ อืดอาด การว่างงานสูงของเยาวชน ฯลฯ

          หากอังกฤษออกไป EU ก็จะถูกครอบงำโดยเยอรมันอีกทั้งสูญเสียบารมีและความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์นี้จะทำให้คน EU เกิดแนวคิดปกป้องตนเอง (protectionist) ซึ่งตรงข้ามการค้าเสรีและเกิดความระแวงซึ่งกันและกันมากขึ้น ความเป็นเอกภาพของยุโรปก็จะลดน้อยลง

          ผู้นำ EU กังวลกับผลกระทบที่ไม่มีใครตอบได้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้อาจมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ในเยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ทุกคนไม่ต้องการให้อังกฤษออกไปเพราะจะกระทบต่อดุลยภาพเดิมที่มีอยู่

          เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่มีใครหยุดเรื่อง Brexit ได้ Cameron ต้องการให้คนอังกฤษที่มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะอยู่หรือไปในทุกพรรค และทุกระดับได้แสดงความเห็นเพื่อประเด็นนี้จะได้จบไปเสียที

          คนอังกฤษก็ต้องการแสดงความเห็นเช่นกันเมื่อเห็นตัวเลขว่าในปี 2014/2015 อังกฤษเป็น 1 ใน 10 ประเทศซึ่งจ่ายเงินออกไปให้ EU มากกว่าที่ได้รับกลับมา (ประเทศที่หนักกว่าก็คือฝรั่งเศสและเยอรมัน ) ประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือโปแลนด์ ฮังการี และกรีก นอกจากนี้มีการคำนวณว่าเมื่อหักกลบลบเงินที่จ่ายให้ EU โดยทุกภาคส่วนและที่ได้รับกลับมาแล้ว อังกฤษจ่ายมากกว่ารับเป็นเงินประมาณ 8,800 ล้านปอนด์ (458,000 ล้านบาท) ในปี 2014/2015 ซึ่งเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าของปี 2009/2010

          คนชาติใดที่เห็นตัวเลขนี้แล้วก็คงต้องถามตัวเองเหมือนกันว่าสุดท้ายเมื่อคิดสะระตะทุกอย่างแล้วมันคุ้มหรือเปล่าที่จะเป็นสมาชิก EU ต่อไป ถึงจะรู้ว่า “ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” แต่คำถามก็คือมันต้องแพงถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

บันทึกช่วยจำสำหรับลูก

วรากรณ์  สามโกเศศ
30 สิงหาคม 2559

          ข้อเขียนดี ๆ มีอยู่มากมายในอินเตอร์เน็ต มีข้อเขียนหนึ่งที่อยากให้ได้อ่านกันอย่างกว้างขวางจึงขอนำมาสื่อสารต่อ

          ข้อเขียนนี้แพร่หลายมากในโลกออนไลน์ภาษาจีน เป็นบันทึกที่เหลียงจี้จาง (Michael Leung) นักจัดรายการวิทยุยอดนิยมของฮ่องกงเขียนให้ลูกชาย มีความว่า

          “ลูกพ่อ : พ่อเขียนบันทึกช่วยจำนี้ให้ลูกด้วยเหตุผล 3 ข้อ (1) ชีวิตคนเราโชคเคราะห์ไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่ได้นานเพียงใด เรื่องบางเรื่องพูดเร็วสักหน่อยจะดีกว่า (2) พ่อเป็นพ่อของลูก ถ้าพ่อไม่บอก ก็คงไม่มีใครบอก (3) สิ่งที่พ่อบอกในบันทึกนี้ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่พ่อได้มาจากความพ่ายแพ้ดังนั้นจะช่วยให้ลูกเดินทางผิดพลาดน้อยลง

          ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ลูกควรจดจำในชีวิต

          (1) คนที่ทำไม่ดีกับลูก ลูกอย่าได้ติดใจนัก ในชีวิตของลูกไม่มีใครมีหน้าที่ต้องทำดีกับลูก นอกจากพ่อกับแม่แล้ว ใครดีกับลูก ลูกต้องถนอมรัก รู้คุณ

          (2) ไม่มีใครที่ทดแทนไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดที่จำต้องครอบครอง หากมองเรื่องนี้ได้ทะลุ ต่อไปถึงแม้ลูกจะสูญเสียทุกอย่างที่รักที่สุดในโลกไป ก็ควรเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนัก

          (3) ชีวิตนั้นสั้น วันนี้อาจจะยังใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย พรุ่งนี้จะรู้สึกว่าชีวิตทิ้งลูกไปไกล ดังนั้นถนอมชีวิตให้ดีได้เร็วเท่าใด วันเวลาที่จะได้ใช้ชีวิตก็จะมีมากเพียงนั้น แทนที่จะหวังอายุยืน จงใช้ชีวิตอย่างทะนุถนอมโดยเร็วจะดีกว่า

          (4) ความรักเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง และความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนได้ตามเวลาและสภาพจิตใจ ถ้าคนที่ลูกรักที่สุดจากลูกไป ขอให้อดทนรอคอยสักหน่อย ให้เวลาค่อย ๆ ชะล้าง ให้จิตใจค่อย ๆ นิ่งลง ความขมขื่นของลูกก็จะค่อย ๆ จืดจาง อย่าได้ขยายความงดงามของความรักจนเกินงาม และอย่าได้ขยายความเศร้าของการเสียความรักจนเกินควร

          (5) แม้จะมีคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษามากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าขี้เกียจเรียนแล้วจะประสบความสำเร็จได้ ความรู้ที่ลูกได้เรียนจะเป็นอาวุธที่ลูกมีติดตัว คนเราสร้างตัวโดยไม่มีอะไรได้ แต่ถ้าไม่มีความรู้อาจไม่มีแม้แต่เหล็กสักท่อนในมือ จงจำให้ดี!

          (6) พ่อไม่ขอร้องให้ลูกเลี้ยงดูพ่อในบั้นปลายชีวิต ทำนองเดียวกัน พ่อก็ไม่สามารถเลี้ยงลูกในบั้นปลายชีวิต เมื่อลูกโตจนเลี้ยงตัวเองได้ หน้าที่ของพ่อก็สิ้นสุดลง จากนี้ไปลูกจะนั่งรถเมล์หรือวิ่ง จะกินหูฉลาดหรือเส้นหมี่ ลูกต้องรับผิดชอบตัวเอง

          (7) ลูกเรียกร้องให้ตัวเองรักษาคำมั่นสัญญาได้ แต่จะเรียกร้องให้คนอื่นรักษาคำมั่นสัญญาไม่ได้ ลูกเรียกร้องให้ตัวเองทำดีต่อคนอื่นได้ แต่ไม่อาจคาดหวังให้คนอื่นดีต่อลูก เราทำต่อคนอื่นอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำต่อลูกเช่นเดียวกัน ถ้าลูกมองไม่เห็นเรื่องนี้ ก็รังแต่จะเพิ่มความทุกข์อันไม่จำเป็นให้เท่านั้น

          (8) พ่อซื้อล็อตเตอรี่มา 26 ปี ยังคงยากไร้แม้แต่รางวัลที่สามก็ไม่เคยถูก ขอยืนยันว่าคนเราจะรวยได้ต้องพากเพียรทำงานเท่านั้น “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี “

          (9) ญาติมีบุญมาพบกันได้เพียงครั้งเดียว ไม่ว่าชาตินี้พ่อจะอยู่กับลูกได้นานเพียงใด ลูกต้องถนอมวันเวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน ชาติหน้าไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็จะไม่ได้พบกันอีก “

          มีคนเคยพูดว่าชีวิตคนหนึ่งนั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าหนึ่งได้พบใคร และสองได้อ่านอะไร สิ่งแรกอาจมีชะตากรรมเป็นตัวร่วมกำหนด แต่สำหรับสิ่งหลังนั้นตัวเราเองเป็นคนกำหนดโดยแท้
 

แนวคิด “ตลาดจ๋า” กำลังเปลี่ยนแปลง

วรากรณ์  สามโกเศศ
5 กรกฎาคม 2559 

          การเป็นโลกเสรีทางเศรษฐกิจกันเกือบสุดทางดังที่ชาวโลกคุ้นเคยกันมากว่า 30 ปี นั้น ขณะนี้กำลังประสบการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากผ่านประสบการณ์ ผิดและถูก สัญญาณสำคัญก็คือการออกมายอมรับว่าแนวคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไปของ นักเศรษฐศาสตร์ IMF กลุ่มหนึ่งและจากคำให้สัมภาษณ์ของ Chief Economist คนใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้

          แนวคิดการเป็นเสรีของโลกในด้านเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า neoliberalism นั้นหมายถึงทุนนิยมแบบเนื้อหาเต็มๆซึ่งอยู่บนฐานของสองเรื่องคือ หนึ่ง เพิ่มการแข่งขันด้วยการลดเลิกผ่อนปรนกฎกติกา (deregulation) ตลอดจนการเปิดตลาดภายในประเทศทั้งสินค้า บริการ ตลาดเงินและตลาดทุนสู่การแข่งขันกับต่างประเทศ สองบทบาทที่น้อยลงของภาครัฐผ่าน privatization(การนำวิธีการของเอกชนมาใช้ในภาครัฐ) ตลอดจนจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการมีงบประมาณขาดดุลและสะสมหนี้

          บุคคลสำคัญที่ผลักดันแนวคิดนี้คือMilton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลยักษ์ใหญ่ของโลกและของสำนัก Chicago (University of Chicago) ที่เต็มไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์แนวคิดเสรี อิทธิพลของกลุ่มนี้แรงมากปรากฎเห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบันเช่น(1)ขึ้นเครื่องบินด้วยราคาต่ำอันเนื่องมาจากการลดละเลิกผ่อนปรนกฎหมายและกฎเกณฑ์บังคับต่าง ๆ (2) รปภ. หรือคนทำความสะอาดหน่วยราชการใช้บริษัท(3)ตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารมีการสรรหา(4)เงินเดือนของพนักงานรัฐในบางองค์กรทัดเทียมภาคเอกชน (5) ตลาดเสรีการค้า เช่น AFTA / NAFTA / WTOฯ(6) การแข่งขันเสรีในการผลิตอย่างปราศจากการผูกขาด ฯลฯ

          Friedman ได้เป็นที่ปรึกษาของชิลีในต้นทศวรรษ 1970 โดยมีลูกศิษย์นักเศรษฐศาสตร์ที่จบจาก Chicago หลายคน (“Chicago Boys”) ร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจแนว neoliberalismจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ชิลีระหว่าง 1985-1990 มีอัตราการขยายตัวของรายได้ที่แท้จริงต่อหัวร้อยละ 5 ต่อปี จนกลายเป็นตัวอย่างไปทั่วโลกว่าโมเดลของการใช้สองฐานข้างต้นเป็นสิ่งที่ได้ผล

          แนวคิดเศรษฐกิจเสรีดังกล่าวแพร่กระจายเป็นโรคระบาด และมีส่วนผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Washington Consensus หรือชุดของนโยบายเศรษฐกิจ 10 เรื่องที่ถือว่าเป็น “มาตรฐาน” ของแพ็คเกจปฏิรูปประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรง ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ ในกรุง Washington เช่น IMF / World Bank / กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา

          ต่อมาความหมายของ Washington Consensus ได้เพี้ยนไป ถูกใช้อย่างกว้างขวางในความหมายของการโน้มเอียงสู่เส้นทางที่ยึดตลาดเสรีเป็นหลัก (market fundamentalism หรือ neoliberalism)

          “องค์กรดูแลระดับโลก “(IMF / World Bank และอื่น ๆ ในระดับโลก) มีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศกำลังพัฒนาเมื่อมีการนำเอาแนวคิด neoliberalism นี้มาใช้ เมื่อครั้ง “ต้มยำกุ้ง” ของไทย IMF ผู้ให้กู้เงินบังคับให้ไทย “รัดเข็มขัด” อย่างแน่น ปล่อยให้ “คนใกล้ตาย” จากการไม่มีเงินใช้หนี้ตายไปตามกลไกตลาด ทรัพย์สินที่มีปัญหาปล่อยให้กลไกตลาดแก้ไข ปล่อยเสรีเรื่องเงินทุนไหล เข้าออก ปล่อยให้ตลาดมีการแข่งขันเสรี ฯลฯ ทุกคนคงจำความเจ็บปวดนั้นได้ ทุกอย่างเป็นไปตามแนวคิด neoliberalism

          อินโดนีเซียเจ็บปวดหนักเมื่อฝูงชนแห่ประท้วงและเกิดจลาจลเข้าจี้ปล้นเมื่อไม่พอใจการปรับราคาน้ำมันที่รัฐบาลควบคุมให้ต่ำมานาน IMF บังคับให้ปล่อยราคาน้ำมันเป็นอิสระมิฉะนั้นจะลากลับบ้านไม่ช่วย เมื่อค่าเงินรูปีตกต่ำอย่างหนัก ข้าวของแพง หนี้สินต่างประเทศล้นพ้นตัว ประธานาธิบดีซูฮาโตซึ่งครองอำนาจมานานกว่า 32 ปี ก็ต้องยอมและในที่สุดก็หลุดออกจากอำนาจ

          บทความในวารสาร Finance & Development, June 2016, ของ IMF เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF สามคน บทความหนึ่งมีชื่อว่า “Neoliberalism : Oversold?” ยอมรับว่าในบางกรณีการแก้ไขปัญหาโดยใช้นโยบาย neoliberalism ไม่ได้ผลเพราะ แทนที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตกลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นและไม่อำนวยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

          คำให้สัมภาษณ์ของ Chief Economist ของ IMF คือ Maurice Obstfeld ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ neoliberalism นั้นมิใช่ยาเดียวอีกต่อไปแล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละโรคต้องรักษาด้วยยาและวิธีที่ต่างกัน แนวคิดใหม่นี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนพื้นพิภพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมาตลอด 30 กว่าปี อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาหลายปี แต่การตีพิมพ์บทความเช่นนี้เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างกึ่งทางการครั้งแรก

          ว่าไปแล้วคนธรรมดา ๆ ก็มองเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของ IMF ในกรณีของไทยกับอินโดนีเซียนั้นมันแปลกประหลาด การยังปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกเสรี การใช้กลไกตลาดจ๋าในช่วงวิกฤตคือ การฆ่ากัน การรัดเข็มขัดขนาดหนักของคนกรีกในปัจจุบันอันเนื่องมาจากรัฐบาลตัดงบประมาณเพราะเป็นเงื่อนไขของการให้กู้ยืมก็เป็นอีกตัวอย่างของการมากเกินไปของ neoliberalism หรือไม่

          แนวคิด neoliberalism ยังไม่หายไปข้ามคืน การเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกรณีภายใต้แนวคิดตลาดเสรีนั้นไม่ผิดพลาด เพียงแต่ว่าจะเลือกใช้อย่างไรเท่านั้น

นายกฯ อิสราเอลติดคุกข้อหาคอรัปชั่น

วรากรณ์  สามโกเศศ
23 กุมภาพันธ์ 2559

         ในแวดวงของคนที่สนใจเรื่องการปราบปรามคอรัปชั่นคงไม่มีข่าวใดที่น่าตื่นเต้นเท่าข่าวการถูกจำคุกเพราะหลายข้อหาคอรัปชั่นของอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ ผ่านมา ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือทั้งอดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเคยรับตำแหน่งสมัยเดียวกันอยู่ระยะหนึ่ง ถูกจำคุกทั้งคู่ และอยู่ในคุกเดียวกันด้วยในขณะนี้

          ชื่อของนายกรัฐมนตรีคนดังคือ Ehud Olmert และของอดีตประธานาธิบดีที่ว่าคือ Moshe Katsav ทั้งสองมีอายุเท่ากันคือ 70 ปี และเป็นนักการเมืองรุ่นเดียวกันมายาวนาน คงนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งจะได้ร่วมชะตากรรม ทั้งสองหมดแล้วซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศที่เคยมี คนแรกมีโลภะเป็น เจ้าเรือน ส่วนคนหลังนั้นราคะเป็นสาเหตุ

          ทั้งสองจบมหาวิทยาลัยเดียวกัน คือ Hebrew University of Jerusalem อดีตนายกฯ เรียนจบเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ส่วนอดีตประธานาธิบดีเรียนจบจิตวิทยาปรัชญาและกฎหมาย Olmert ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่อายุ 28 ปี ใน ค.ศ. 1973 ส่วน Katsavได้เป็นตั้งแต่ปี 1977 ทั้งสองเคยเป็นรัฐมนตรีกันคนละหลายสมัย และเคยเป็นนายกเทศมนตรีเหมือนกัน

          Olmert เคยเป็นรัฐมนตรีระหว่างปี 1988 ถึง 1992 นายกเทศมนตรีเมือง Jerusalem ระหว่าง 1993-2003 กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งระหว่างปี 2003-2006 และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2006-2009

          ในปี 2006 นายกรัฐมนตรี คือ Ariel Sharon ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีมา 5 ปี ป่วยหนักอันเนื่องมาจากเส้นโลหิตในสมองแตก Olmert ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีจึงได้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่หลายเดือน และเมื่อ Sharon หมดสภาพทางกฎหมายก็มีเลือกตั้งใหม่ และ Olmert ก็นำพรรค Kadima ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งสูงสุด ตั้งรัฐบาลผสมและได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มภาคภูมิ

          อย่างไรก็ดีสิ่งที่เขาได้ทำไว้ในอดีตมากมายก็ตามมาหลอกหลอนเขา กล่าวคือตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เขาถูกกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่นหลายคดีในหลายตำแหน่งที่เขาเคยเป็นมา ที่หนักที่สุดก็คือตลอดเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี มีแต่ข้อกล่าวหาคอรัปชั่นที่ผุดขึ้นมาจนความนิยมในตัวเขา ครั้งหนึ่ง ตกลงไปเหลือแค่ร้อยละ 3 เมื่อข้อกล่าวหาสะสมมากขึ้นก็มีการประท้วงบีบคั้นเขา จนในที่สุดต้องลาออก

          ทันทีที่ลาออกในปี 2009 การสอบสวนคดีต่าง ๆ ก็เข้มข้นยิ่งขึ้น เขาหลุดหลายคดี แต่มีอยู่สามคดีที่หลักฐานมัดเขาแน่นมากจนถูกตัดสินจำคุก มีการอุทธรณ์อยู่นาน จนในที่สุดเมื่อแพ้อุทธรณ์เขาก็ถูกจำคุก หลังออกจากตำแหน่งมาประมาณ 6 ปี พอดี

          ข้อกล่าวหาล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น คดีที่เขาหลุดไปเพราะผู้สอบสวนบอกว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เช่น (ก) ใช้วิธีซื้อที่ดินผืนงามในราคาถูกมากโดยต่ำกว่าราคาตลาด 300,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เป็นนายกเทศมนตรี (ข) ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เขาช่วยเหลือให้เพื่อนสนิทซื้อธนาคารในราคาถูกเป็นพิเศษ และถึงแม้จะมีพยานคนสำคัญให้การปรับปรำเขาแต่เขาก็รอด (ค) ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์-อุตสาหกรรม-แรงงาน เขามีการตัดสินใจในหลายเรื่องที่ดูจะเป็นประโยชน์อย่างจงใจแก่เพื่อนนักธุรกิจหลายคนรวมกันเป็นมูลค่ามหาศาล (ง) เขาแต่งตั้งพรรคพวกในพรรคให้ดำรงตำแหน่งที่มีผลประโยชน์มาก ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง (จ) ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีสมัยแรก เขาปิดบังยอดเงินกู้จากเพื่อนนักธุรกิจชาวอเมริกันอย่างน่าสงสัย เพราะหลายปีที่ผ่านไปก็ยังไม่มีการใช้คืน ยอดเงินกู้ที่แท้จริงคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ฯลฯ

          คดีที่เขาไม่รอดเพราะมีหลักฐานหนักแน่นก็คือ (ก) คดีที่เขาช่วยเพื่อนนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับใบอนุญาตสร้างอาคารสูงชานเมือง Jarusalem ซึ่งถือว่าน่าเกลียดมากเพราะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่โด่งดัง (ข) คดีช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยแลกกับสินบนให้ขยายพื้นที่โครงการได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ของเมือง

          Jarusalem แถบตะวันตกเฉียงใต้ถึงกว่า 10 เท่า (ค) คดีหลอกเงินบริจาคโดยเขาเดินทางไปพูดในต่างประเทศให้กลุ่มการกุศล และเรียกเก็บเงินค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยทำให้เข้าใจว่าเป็นผู้สนับสนุนรายเดียว ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเก็บเงินยอดเดียวกันจากหลายคน

          จากคดีข้างต้นศาลชั้นต้นจำคุกเขารวม 6 ปี แต่เมื่อต่อสู้และอุทธรณ์ก็ได้รับการลดโทษโดยศาลฎีกาเหลือเพียง 18 เดือน แต่ต่อมาศาลเพิ่มอีก 1 เดือนรวมเป็น 19 เดือน เมื่อพบว่าเขาพยายามข่มขู่และซื้อพยาน

          คดีของเขายังไม่จบ ยังเหลือคดีที่มีหลักฐานชัดเจนอีกหนึ่งคดีที่อาจมีโทษเพิ่มอีก 8 เดือน ขณะนี้อยู่ในช่วงอุทธรณ์ คดีนี้เป็นคดีใหญ่และครึกโครมมากเพราะมีหลักฐานว่าเขารับเงินไปทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 600,000 เหรียญสหรัฐ ตลอดเวลา 15 ปี จากเพื่อนักธุรกิจชาวอเมริกัน โดยแลกกับสิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ที่นักการเมืองสามารถบันดาลให้ได้

          คดีนี้พยายานคนสำคัญที่ปรักปรำเขาคือคนให้เงินและลูกน้องคนสนิทเพราะกลัวติดคุก ทั้งสองให้การอย่างมีหลักฐานประกอบอย่างละเอียด เช่น บัญชีธนาคารของเขา เอกสารสนับสนุน การเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือโดยใช้หัวจดหมายของรัฐมนตรี

          เมื่อมีข่าวการจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรี Olmert คนอิสราเอลจำนวนมากรู้สึกเสียใจเพราะเขาเป็นนักการเมืองเท้าติดดิน มีเสน่ห์ และระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็พยายามสานต่อเรื่องการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอย่างมาก จนคนบางกลุ่มเกลียดชัง แต่คนอิสราเอลบอกว่า ‘กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย’ ไม่ว่าจะชอบพอกันเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทุกคนต้องติดคุกเหมือนกันหาก ทำผิด ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

          ศาลก็พยายามพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมถึงแม้ชื่อเสียงของเขาในเรื่องคอรัปชั่นจะมีมานานแล้วก็ตาม เฉพาะคดีที่มีหลักฐานแน่ชัดอย่างไม่มีข้อกังขาเท่านั้น

          ที่ถูกตัดสินลงโทษ การตัดสินจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศ ผลดีก็คือการมีหลักนิติธรรม (Rule of Law) ของสังคมอิสราเอล ผลเสียก็คือชื่อเสียงของประเทศที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีกระทำสิ่งชั่วร้ายเช่นนี้ อย่างไรก็ดีบางคนมองว่าเป็นผลดีเพราะแสดงให้เห็นว่าสังคมนี้น่านับถือ ไม่ว่าใหญ่แค่ไหนก็ติดคุกได้ทั้งนั้น

          สำหรับอดีตประธานาธิบดี Moshe Katsav เป็นประธานาธิบดีระหว่าง ค.ศ. 2000-2007 โดยลาออกเองเพื่อแลกกับโทษไม่จำคุก (วิธีการที่เรียกว่า plea bargaining ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าตำรับ กล่าวคือยอมสารภาพเพื่อรับโทษเบาโดยไม่ไปสู้คดีในชั้นศาล) เมื่อมีการสอบสวน ลับ ๆ และพบว่าเขาข่มขืนลูกน้องสาว 2 คน และลวนลามทางเพศลูกน้องอีกหลายคนเป็นระยะเวลายาวนาน

          Katsav ตัดสินใจโลเลเลยติดคุก ตอนแรกนั้นยอมลาออกเพื่อรับโทษเบา แต่ต่อมาเปลี่ยนใจสู้คดีในชั้นศาล เพราะเชื่อว่าคนขนาดเขาแล้วและคดีแบบนี้ โอกาสติดคุกคงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดีเขาเข้าใจผิดเพราะศาลตัดสินจำคุก 7 ปี หลังจากการอุทธรณ์ล้มเหลวก็เข้าคุกตั้งแต่ปี 2010

          อิสราเอลเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกในโลกที่อดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรี (ร่วมสมัยด้วยกัน 1 ปี) ติดคุก ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมามีรัฐมนตรีถูกตัดสินจำคุก 10 คน (เกือบทั้งหมดเป็นคดีคอรัปชั่น) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 12 คน

          ดินแดนนี้เฮี้ยนเพราะไม่ต้องการให้คนในประเทศเห็นว่าความเลวเป็นเรื่องธรรมดา คุ้นเคยกับมันจนทำลายคุณธรรมของสังคม อิสราเอลเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศสารขัณฑ์อย่างยิ่ง

ถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

วรากรณ์  สามโกเศศ
18 ตุลาคม 2559

         คนไทยเกือบทั้งประเทศเกิดและเติบโตในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช การเสด็จสวรรคตของพระองค์นอกจากนำมาซึ่งความโศกเศร้าอย่างยิ่งแก่พสกนิกรแล้วยังเปรียบเสมือนว่าส่วนหนึ่งของชีวิตของตนเองหายไปด้วย คำถามที่น่าคิดก็คือพวกเราจะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่พวกเราได้อย่างไรอย่างตลอดไป

          ตลอดชีวิตนับแต่เกิดมา คนไทยทั้งประเทศสามารถนึกถึงอดีตของชีวิตตนเองและครอบครัวโดยไปเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน 70 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ได้เสมอ เช่น ลูกคนโตจงมัธยมปลายตอนทรงครองราชย์ครบ 60 ปี จบชั้นมัธยมต้นเมื่อตอนเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จต่างประเทศ แม่ตายเมื่อตอนพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมสมเด็จย่า ฯลฯ การเสด็จสวรรคตของพระองค์เปรียบเสมือนความหลังเหล่านั้นได้หายไปด้วยอย่างปวดร้าวใจ

          ต่อไปนี้ไม่สามารถเชื่อมโยงเช่นนั้นในความรู้สึกเดียวกันได้อีกแล้ว จะมีก็แต่ความทรงจำของสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงทิ้งไว้ให้แก่พสกนิกรเท่านั้น คำถามที่น่าพิจารณาก็คือความทรงจำใดที่จะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นการถวายความจงรักภักดีอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไปได้

          ท่ามกลางมรดกที่พระองค์ท่านทรงทิ้งไว้ให้ลูกหลานไทยมากมาย ผู้เขียนขอหยิบมาเพียงชิ้นเดียว และขอนำมาเสนอเป็นอาหารสมอง

          การทุ่มเทพระองค์ในการทรงงานอย่างมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแสดงให้คนไทยเห็นเป็นตัวอย่าง หากพวกเราย้อนไปนึกถึงอดีตที่ผ่านมาก็จะเห็นอย่างเด่นชัดในเรื่องนี้ เมื่อก่อนหลายคนอาจเห็นไม่ชัด แต่แปลกที่เมื่อน้ำตากลบตาแล้วกลับมองเห็นชัดขึ้น

          ถ้าอยากเอาเรื่องนี้มาแปรให้เป็นรูปธรรมแก่สังคมเรา เหล่าบุคคลที่ควรใคร่ครวญอย่างยิ่งก็คือบรรดาข้าราชการและพนักงานรัฐทั้งหลายที่รับเงินเดือนจากราษฎรผ่านภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม

          เป็นที่ทราบกันดีว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการไทยลดต่ำลงเป็นอันมาก ในขณะที่ผลตอบแทนสูงขึ้นเป็นอย่างมากจนข้าราชการเป็น “อาชีพ” ที่คนจำนวนมากใฝ่ฝัน

          ถ้าบรรดาคนเหล่านี้ตั้งใจถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริงแล้ว ก็สมควรพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาให้เห็นการเป็นตัวอย่างของพระองค์ในการทุ่มเทและทรงงานอย่างมุ่งมั่นอย่างแท้จริง (2) ประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ว่าตลอดชีวิตของความเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐ ได้ทุ่มเทตนเองเพื่องานอย่างจริงจัง สมกับเงินเดือนที่ได้รับมาจากราษฎรหรือไม่ (3) หากคำตอบในข้อ (2) เป็นว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจก็ต้องปรับปรุงโดยพิจารณาแก้ไขโดยใช้ตัวอย่างของพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ

          การกระทำตาม 3 ขั้นตอนนี้จะทำให้ท่านมิได้เสียน้ำตาไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากแปรเปลี่ยนให้เกิดสิ่งงดงามแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมสมดังพระปณิธานของพระองค์ในการครองแผ่นดิน

          ในโอกาสแห่งความโศกเศร้านี้ในแง่มุมหนึ่งเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมแห่งการเรียนรู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ภาครัฐควรใช้ช่วงเวลาปีนี้แปรเปลี่ยนความโศกเศร้าจากการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นพลังแห่งการเดินตามรอยพระยุคลบาท ปลุกเร้าสำนึกของข้าราชการและพนักงานรัฐในการทำงานเพื่อประชาชน ปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงานที่ลดต่ำลงให้ฟื้นขึ้นมาทัดเทียมผลตอบแทนที่สูงขึ้น

          การขาดดุลยภาพระหว่างผลงานกับผลตอบแทนของข้าราชการและพนักงานรัฐจะนำไปสู่ปัญหาอีกนานัปการ เช่น (ก) รายจ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้นมากในด้านผลตอบแทนและสวัสดิการโดยไม่ได้ผลงานที่น่าพอใจกลับคืนมา (ข) ทรัพยากรสำหรับการลงทุนที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ ก็จะมีไม่เพียงพอเพราะถูกแย่งชิงไปในข้อแรก (ค) หนี้ภาครัฐก็อาจสูงขึ้นมากเพราะยากที่จะหารายได้มาชดเชยรายจ่ายมหาศาลของข้อ (ก) ที่เปรียบเสมือนการสูญเปล่า ผลพวงที่ตามมาก็คือภาระของภาครัฐและการสูญเสียโอกาส ฯลฯ

          สำหรับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนั้น ตัวอย่างของการทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานของพระองค์ก็สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี ภาคเอกชนคือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานก็คีอการเพิ่มศักยภาพของประเทศ

          สำหรับประชาชนทั่วไปการทุ่มเทให้กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ด้วยการมุ่งมั่นทำงานและอบรมดูแลสั่งสอนลูกหลานคือการสร้างชาติอย่างแท้จริง ถ้าสังคมเรามีพ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบ เราก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ และสังคมเช่นนี้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาได้เสมอ

          ถ้าเราไม่ยึดพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยกันสร้างสังคมเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้แล้ว ก็เรียกไม่ได้ว่ามีความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

เตรียมตัวกับ Internet Finance

วรากรณ์  สามโกเศศ
13 ธันวาคม 2559

          สำหรับคนในวงการปรากฏการณ์ Internet Finance ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเพราะมีตั้งแต่ก่อนปี 2006 ในจีน แต่นับตั้งแต่ปี 2013 ดูจะแพร่หลายยิ่งขึ้นจนน่าตกใจว่าอาจนำไปสู่ปัญหาในหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบาดข้ามชาติมาไทย

          ในความหมายอย่างกว้าง Internet Finance (IF) ครอบคลุม (ก) กิจกรรมด้านไอทีของบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน และ (ข) กิจกรรมดั้งเดิมทั้งหมดที่สถาบันการเงินเอาไอทีมาประยุกต์ใช้ในบริการของสถาบันการเงิน

          ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มแรกก็ได้แก่การเป็นตัวกลางการชำระเงินให้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น We Chat Pay หรือ AliPay ของจีน กล่าวคือผู้ซื้อมีเงินในบัญชีและเอาไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ (ที่เรียกว่า debit card คือมีเงินอยู่ในบัตรแล้วจึงจ่าย ซึ่งต่างจาก credit card ซึ่งจ่ายไปโดยยังไม่ได้ “จ่ายเงินจริง” ต้องเรียกเก็บภายหลังซึ่งหากจ่ายไม่ครบก็คือการกู้ยืมเงินนั่นเอง)

          ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนซื้อของในร้าน 7-11 (ที่นิยมมากก็คือนมเม็ดสวนจิตรลดา ยาหม่อง โก๋แก่ เถ้าแก่น้อย ฯลฯ) ก็ไม่ต้องจ่ายเงินสด เพียงเข้าแอพ AliPay ในโทรศัพท์มือถือ (บริษัทลูกของ Alibaba ของแจ็ค หม่า) คนขายก็เอาที่ยิงป้ายยิงไปบนจอ ก็จะหักเงินจากบัญชีแบบ debit card เรียบร้อย

          ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มสอง ก็ได้แก่ Mobile Banking อันได้แก่ถอนเงิน โอนเงิน ฝากเงินผ่านไอที ดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันผ่านมือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ

          อย่างไรก็ดีความหมายอย่างแคบของ IF ก็คือกิจกรรมไอทีซึ่งจ่ายเงินโดยฝ่ายที่สาม (ฝ่ายหนึ่งและสองคือผู้ซื้อและผู้จ่ายเงินซื้อของ) ดังเช่นกรณีของ Ali Pay การกู้ยืมเงินออนไลน์ การขายตรงของกองทุนเพื่อการลงทุน การระดมทุนสำหรับโครงการจากคนจำนวนมาก (crowd funding) การขายประกันออนไลน์ ตลอดจนการโอนเงินระหว่างกันเป็น digital currency เช่น หน่วยเป็น bitcoin (ปัจจุบันมี digital currency ไม่ต่ำกว่า 400 ชนิด และทุกวันจะมีคนคิดขึ้นมาใหม่ทุกวันเพื่อให้การโอนเงินระหว่างกันสะดวกและปลอดภัยใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่สุด)

          Ali Pay ฃึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เปิดตัวในปี 2004 และ Credit East ในปี 2005 แต่ที่เกิดเป็น ไฟไหม้ป่านั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดตัว Yu’ebao ซึ่งเป็น platform เพื่อการซื้อขายออนไลน์สำหรับตลาดเงินอันมี Ant Financial Services ของ Alibaba เป็นเจ้าของในปี 2013

          AliPay ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 450 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านราย ใน 20 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนประมาณร้อยละ 70 มี 2 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รับชำระเงินโดย AliPay เมื่อ AliPay ประสบความสำเร็จ ไอเดียอื่น ๆ ที่สำคัญออนไลน์ เช่น กู้เงินระหว่างบุคคล (P2P) การซื้อขายกองทุน การระดมทุนก็เกิดขึ้นตามมา

          P2P เติบโตอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 platforms (ระบบไอทีฃึ่งอำนวยให้เกิดธุรการการเงิน) ในจีน ดึงดูดให้คนเกือบ 3 ล้านคนปล่อยเงินกู้ Mybank ซึ่งเป็นของกลุ่ม Alibaba ก่อตั้งปี 2015 ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยและผู้ก่อสร้างธุรกิจรายใหม่ นับถึงปัจจุบันบริการลูกค้ารายย่อยกว่า 3 ล้านราย ปล่อยกู้ไปแล้ว 45,000 ล้านหยวน สามารถปล่อยกู้เงินด่วนโดยโอนเงินให้ในเวลาเพียง 3 นาที (ปล่อยกู้ตั้งแต่ 1 หยวนขึ้นไป) เวลาใช้คืนภายใน 24เดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ประการใด

          บริษัทไม่กลัวหนี้สูญเพราะเขามีข้อมูลของผู้กู้จากการเป็นลูกค้าซื้อขายออนไลน์ก่อนหน้านี้ใน Alibaba แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดยักษ์ของผู้บริโภคหรือ big data นี่แหละคือหัวใจของธุรกิจทุกลักษณะ

          นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ant Fortune ของกลุ่มเดียวกันที่ใช้ไอทีเป็นโอกาสแก่ประชาชนในการฝากเงินและลงทุนในบริษัทแม่คือ AliPay ได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือเมื่อลูกค้าฝากเงินใน AliPay เป็น debit card หากไม่ใช้เงินก็จะกลายเป็นเงินลงทุนในบริษัท แต่ก็สามารถนำเงินนี้มาใช้จ่ายได้ตลอดเวลา ผลตอบแทนก็คิดให้ตามวันเวลาของการเป็นเงินลงทุน

          P2P นั้นมีมากมายหลายบริษัท และระหว่างบุคคลก็มีเช่นกัน นอกประเทศจีนก็มี platform สำหรับกิจกรรมเช่นนี้ เช่น Lending Club / Prosper / On Deck ฯลฯ การซื้อขายกองทุน การประกันออนไลน์โดยตรงก็ร้อนแรงไม่น้อย

          ปรากฏการณ์ IF ที่ระเบิดขึ้นอย่างน่ากลัวนี้เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่หลายระดับภายในประเทศจีน การกู้ยืมออนไลน์โดยคนไม่รู้จักกันเป็นปุ๋ยอย่างดีของการต้มตุ๋นลักษณะแชร์แม่ชม้อย (ฝรั่งเรียกว่า Ponzi Scheme) กล่าวคือเสนอให้ดอกเบี้ยอย่างสูงเป็นพิเศษโดยตอนแรกก็จ่ายให้โดยดี แต่เมื่อเงินเข้ามากขึ้นก็หายตัวไปเลย

          ความกังวลอีกระดับหนึ่งก็คือการปล่อยกู้ข้ามประเทศ สิ่งที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนในอนาคตก็คือคนไทยจะได้มีโอกาสชมเชยการกู้ยืมชนิดทันใจออนไลน์ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และคนไทยก็จะเป็นหนี้กันหนักมือขึ้นกว่าที่กู้กันอยู่แล้วในประเทศ ถ้าธนาคารต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมี Big Data ของลูกค้ามากเพียงพอและวิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าใครมีหรือไม่มีปัญหาผ่อนใช้เมื่อใด เราก็จะเห็นการเป็นทาสจากการเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องหนี้ของประชาชนก็ทำงานได้ยากเพราะไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับไม่ให้ต่างประเทศปล่อยหนี้ได้ จะทำได้ก็ด้วยมาตรการควบคุมฝั่งของเรา แต่ก็ครอบคลุมได้ยากเพราะมันผ่านเข้าออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ต้องคุ้มครองก็คือธุรกิจของสถาบันการเงินของประเทศเรา

          รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงปัญหาไฟไหม้ป่านี้ดี ในเดือนตุลาคมปีนี้จึงมีกฎเกณฑ์ออกมาบังคับ IF มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะเรื่องต้มตุ๋น การกระทำใต้ดินผิดกฎหมาย บริษัทเถื่อน ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลเพียงใด

          IF ไม่ใช่เรื่องที่เลวเพราะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบธุรกรรมอันเนื่องมาจากความสะดวก และสามารถลดต้นทุนลงได้มาก อีกทั้งเปิดช่องให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปผลิตและประกอบการค้าอีกด้วย

          สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ประโยชน์จะเกิดได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างนวตกรรมทางการเงินและการจัดการในเรื่องความเสี่ยง นอกจากนี้ความพอดีในเรื่องออกกฎการควบคุมตลอดจนการบังคับใช้กฎก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ

          ปรากฏการณ์ระเบิด IF นี้เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นแห่งแรก แต่ก็มิได้หมายความว่า IF ไม่มีในประเทศอื่น ๆ ในเวลาอีกไม่นานคลื่นนี้ก็จะถาโถมเข้ามาในโลก

          การทันโลก ทันเทคโนโลยี และมีสติ พร้อมกับการออกนโยบายและมาตรการที่ทันเหตุการณ์ผ่านการเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนปรากฏการณ์นี้ให้เป็นคุณมากกว่าโทษเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
 

โดรนสังหารและสร้างสรรค์

วรากรณ์ สามโกเศศ
7 มิถุนายน 2559

          ไม่มีใครไม่รู้จักโดรน (drone) ในปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับโดรนดูจะไปในทางไล่สังหารศัตรู แต่ในความเป็นจริงแล้วโดรนมีบทบาทที่กว้างขวางกว่านั้น โดรนมีบทบาทที่สำคัญในอนาคตของโลกพราะเป็นเทคโนโลยีของยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0

          UAV หรือ Unmanned Aircraft System คืออากาศยานที่มีพลังขับเคลื่อนโดยปราศจากคนขับ คอมพิวเตอร์ช่วยบินโดยอัตโนมัติหรือมีการบังคับจากระยะไกล อาจใช้แล้วเสียหายไปเลยหรือเอากลับมาใช้อีก และอาจใช้ขนส่งสินค้าที่ทำลายล้าง หรือสินค้าปกติก็ได้

          เมื่อเห็นคำจำกัดความนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าโดรนที่เราคุ้นเคยว่าเอาไว้ใช้เพื่อสังหารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ UAV เท่านั้น

          โดรนที่ทำลายล้างมิใช่เป็นเพียงแค่เครื่องบินลำเล็กที่ขนระเบิดวิ่งเข้าใส่รถยนต์ หรือตึกรามบ้านช่องดังที่เห็นกันในภาพยนตร์เท่านั้น หากมีทั้งชนิดระเบิดแล้วกลับเอามาใช้ใหม่ได้ด้วยและมีทั้งขับเคลื่อนด้วยการบังคับตนเองและโดยการบังคับระยะไกล

          UAV มี 6 ชนิดซึ่งได้แก่ (1) ใช้เป็นเป้าซ้อมยิงจากพื้นดินหรือเอาไว้บินลวงข้าศึก (2) ใช้ลาดตะเวนเพื่อหาข้อมูลสำหรับการสงคราม (3) ใช้สำหรับบินโจมตีสร้างความเสียหายในกรณีที่ การบินมีความเสี่ยงสูง (4) ใช้สำหรับโลจิสติกส์ เช่น ในการขนส่งสินค้า อาหาร ยุทธภัณฑ์ ฯ (5) ใช้สำหรับการค้นคว้าวิจัย เช่น ในเรื่องอวกาศ ภูมิศาสตร์ พัฒนาการบิน ฯ และ (6) ใช้สำหรับการพาณิชย์เพื่อ เก็บภาพ ข้อมูล การเกษตร ฯ

          โดรนที่เราคุ้นเคยและนึกว่ามีชนิดเดียวคือชนิด (3) และโดรนที่ใช้สำหรับหาข้อมูลประกอบอาการอาพาธคือชนิด (6) โดรนของเล่นที่มีขายกันในราคาตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 60,000 บาทอาจบินไม่ได้สูงนักเนื่องจากไม่มีความจำเป็น เช่น สูงไม่เกิน 2,000 ฟุตและระยะที่ไปได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร แต่เทคโนโลยีปัจจุบันนั้นไปไกลมาก ชนิด (3) ที่ใช้สำหรับการสงความนั้นบินได้สูงถึง 18,000 ฟุต รัศมีทำการ 160 กิโลเมตร และยังมีชนิดที่มีความสามารถสูงสุดบินได้สูงถึง 30,000 ฟุต โดยมีรัศมีทำการไม่มีจำกัด

          นอกจากนี้ยังมีโดรนที่บินด้วยความเร็วชนิดที่เรียกว่า hypersonic (ความเร็วเกินกว่า 5 Mach หรือ 5 เท่าของความเร็วของเสียง โดยเสียงเดินทางได้เร็วประมาณ 340 เมตรต่อวินาที หรือ 1,236 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และบินได้สูงถึง 50,000 ฟุต ในรัศมีทำการ 200 กิโลเมตร

          เมื่อโดรนมีความสามารถสูงถึงขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงถูกใช้บินแทนเครื่องบินที่มนุษย์ขับ ซึ่งมีต้นทุนในการฝึกฝนคนขับสูง และหากตกก็ทำให้เกิดความสูญเสียด้านจิตใจได้มาก นับวันเราจะเห็นโดรนถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงครามและในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ มากขึ้นทุกที

          มนุษย์มิได้เพิ่งนึกออกว่าเหตุใดจึงไม่ใช้เครื่องบินที่ไม่มีคนขับเข้าไปทิ้งระเบิดแทน ที่จริงมีมานานแล้วแต่ยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่จะทำการแทนนักบินได้ ในปี ค.ศ. 1849 ออสเตรียส่งบัลลูนที่บรรจุระเบิดให้ลอยตัวไปทิ้งลงเมืองเวนิส(โชคดีที่ไม่ได้ผล จึงยังมีอาคารที่งดงามและมีเรือให้นักท่องเที่ยวนั่งทั้งๆที่คนเวนิสหันไปใช้การคมนาคมวิธีอื่นกันนานแล้ว) นวตกรรม UAV เริ่มปรากฏตัวจริงจังในตอนเริ่มต้นทศวรรษ 1900 โดยใช้เป็นเป้าซ้อมมือสำหรับทหาร

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) มีความพยายามพัฒนา UAV และใช้อยู่บ้างประปรายอย่างไม่เป็นผล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) มีการใช้ UAV ในการฝึกฝนทหารอเมริกันที่ยิงต่อสู้อากาศยานและในการโจมตี กองทัพนาซีของเยอรมันผลิต UAV หลายรูปแบบเพื่อใช้โจมตีฝ่ายพันธมิตร และสามารถสร้างความเสียหายได้มาก

          กองทัพสหรัฐอเมริกาพัฒนา UAV อย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการใช้ในสงครามเวียดนาม อย่างลับ ๆ ถึงกว่า 3,000 เที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียนักบิน มิใช่เพื่อการทำลายเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

          ในช่วงสงคราม Yom Kippur War ในปี 1973 ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งนำโดยอียิปต์และซีเรีย ถึงแม้อิสราเอลจะเป็นฝ่ายมีชัยยึดครองพื้นที่ได้กว้างขวางแต่ก็สูญเสียเครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในเวลาต่อมาอิสราเอลจึงพัฒนา UAV อย่างประสบความสำเร็จ และสามารถนำมาใช้อย่างได้ผลในทศวรรษ 1980

          ในช่วงเวลาเดียวกันและต่อมากองทัพสหรัฐอเมริกาจึงร่วมมือกับอิสราเอลในหลายโครงการเพื่อพัฒนา UAV ในส่วนของ EU นั้นก็มีโครงการพัฒนา UAV เช่นเดียวกับจีน รัสเซีย อิหร่าน ฯลฯ มีประมาณการว่า ในปี 2013 ไม่ต่ำกว่า 50 ประเทศใช้ UAV

          สำหรับกิจการพลเรือนก็มีการพัฒนา UAV อย่างกว้างขวางขึ้นเช่นเดียวกันเพื่อใช้ในการสำรวจการผลิตสินค้าเกษตร ใช้ตามหาการหลงทาง ตรวจสอบท่อและสายไฟ ดูแลจัดการสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ จัดส่งยาและวัสดุการแพทย์ไปในพื้นที่ยากลำบากต่อการเช้าถึง ดูแลสิ่งแวดล้อม ประสานงานความช่วยเหลือในกรณีพิบัติภัย สำรวจที่ดินและการออกโฉนด ป้องกันไฟป่า ตรวจสอบหลักฐานไฟไหม้ ป้องกันปัญหาดินถล่ม แก้ไขน้ำท่วมฉับพลัน ฯลฯ หรือแม้แต่ตรวจสอบกิจกรรมและอารมณ์ของผู้ชุมนุมจำนวนมาก

          โดรนสำหรับการสงครามโด่งดังอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้เมื่อโดรนสหรัฐที่เรียกว่า “รีพเพอร์” ทิ้งระเบิดใส่รถยนต์นั่งคันหนึ่งบนถนนสายเชื่อมต่อระหว่างอิหร่านและปากีสถานสังหารผู้นำตาลีบัน มุโมฮัมหมัด มานซูร์ ได้สำเร็จพร้อมกับคนขับ

          สหรัฐไล่สังหารมานซูร์ หลังจากที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งแทนมูฮัมหมัด โอมาร์ผู้นำคนที่แล้วฃึ่ง เสียชีวิตในปี 2013 จากการป่วยด้วยวัณโรค (การตายของเขาถูกปิดบังอยู่ถึง 2 ปี) โอมาร์เองก็ถูกสหรัฐตามไล่สังหารเพราะเชื่อว่าช่วยเหลือนายบินลาเด็นและกลุ่มอัลกออิดะห์ก่อนเหตุการณ์ 9-11

          มานซูร์เป็นหัวหน้าได้เพียงปีเศษก็หนีโดรนไม่พ้น สาเหตุของการเป็นเป้าหมายก็คือสหรัฐและอาฟกานิสถานพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพสำหรับอาฟกานิสถาน โดยหวังว่าปากีสถานผู้ก่อตั้งตาลีบันแต่แรกจะสามารถชักจูงให้ผู้นำคนใหม่คือมานซูร์ร่วมเจรจาได้ แต่ปรากฏว่าเขาไปในทิศทางตรงกันข้ามกล่าวคือโจมตีเป้าหมายของสหรัฐและอาฟกานิสถานอย่างนองเลือดหลายครั้ง เมื่อเป็นดังนี้ประธานาธิบดีโอบามาจึงเปิดไฟเขียวให้สังหารนายมานซูร์ ปัจจุบันผู้นำตาลีบันคนใหม่ที่ขึ้นมาแทนคือ นายอาคุนด์ซาดา

          การแก้แค้นตอบโต้กันไปของคู่สงครามอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่ายดังที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มิให้ทำให้ทั้งคู่ฟันหลอและตาบอดเท่านั้น หากทำให้คนไม่รู้ อิโหน่อิเหน่ไม่มีทั้งฟัน ตาและชีวิตไปด้วยอย่างน่าสมเพช

          สถิติมีว่า 41 คนที่ถูกสังหารโดยโดรนของสหรัฐไปนั้น มีคนตายไปด้วย 1,147 คน กลุ่ม Reprieve ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลยืนยันว่าโดรนไม่มีความแม่นยำดังที่กล่าวอ้างกัน โดรนซึ่งเป็นอาวุธที่ประธานาธิบดีโอบามาเลือกใช้เป็นพิเศษเพราะเชื่อว่ามีผลต่อเป้าหมายเท่านั้นไม่เป็นความจริงเพราะการสำรวจความเสียหายระดับพื้นดินชี้ให้เห็นว่าเกิดสภาวะอัตรา 1 เป้าหมายต่อ 28 ศพ (1,147 หารด้วย 41)นับตั้งแต่ปี 2004 สหรัฐปล่อยโดรนเพื่อทำลายและสังหารถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 รวม 424 ครั้ง (ในช่วงโอบามา 373 ครั้ง) คนตายประมาณ 2,500-4,000 คน สำหรับอาฟกานิสถาน ตั้งแต่ 2015 สหรัฐใช้โดรนทำลายล้างประมาณ 300 ครั้ง มีคนตายประมาณ 1,500-2,000 คน

          โดรนให้ทั้งคุณและโทษมหันต์ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้และวัตถุประสงค์ จำนวนศพของเป้าหมายไม่ควรเป็นผลงานของโดรน จำนวนสมาชิกของมนุษย์ชาติที่ได้รับประโยชน์ต่างหากที่ควรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโดรน

ความไว้วางใจกันเสริมความมั่งคั่ง

วรากรณ์  สามโกเศศ
6 กันยายน 2559

          ในกิจกรรมที่มนุษย์กระทำกันทุกวัน ความเชื่อถือไว้วางใจ (trust) ระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วการโอนเงินเดือนผ่านธนาคาร การชำระบัญชีน้ำไฟผ่านธนาคารหรือร้านสะดวกซื้อ การรับจ้างทำงานโดยหวังเงินเดือน การสั่งซื้อของทางไปรษณีย์ หรือออนไลน์ หรือแม้กระทั่งฝากเด็กซื้อก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ก็เกิดขึ้นได้ยาก ในสังคมที่มีระดับการพัฒนาต่างกัน โสหุ้ยในการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจและการลงทุนระยะยาว ตลอดจนความมั่งคั่งยั่งยืนก็แตกต่างกันไปด้วย

          มนุษย์เป็นสัตว์ที่หัวดีกว่าสัตว์อื่น ๆ แม้แต่เผ่าพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์เช่น Neanderthal (สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 20,000-30,000 ปีก่อน) ดังนั้นจึงใช้ความเป็นเครือญาติ สมาชิกชุมชน เผ่าพันธุ์ และ “แซ่” เดียวกันเป็นเครื่องมือ สมาชิกเครือข่ายเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ ดังนั้นเราจึงเห็นการค้าขาย ทำมาหากินในกลุ่มเหล่านี้ด้วยกัน หรือรวมกลุ่มกันเพื่อค้าขายกับคนอื่น

          การมีสมาคม “แซ่” ของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่าง ๆเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดเพราะเท่ากับเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในเรื่องการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทั้งการค้าขายกันภายในกลุ่มและกับคนนอกกลุ่มด้วย การ “ร่วมเป็นทองแผ่นเดียวกัน” ข้ามเมือง ข้ามประเทศ เป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้กันมาดึกดำบรรพ์อย่างได้ผลเช่นกัน

          ในทางวิชาการ trust ในเชิงเศรษฐศาสตร์เกี่ยวพันกับการผูกพันเอาทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมซึ่งผลพวงที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยูกับพฤติกรรมในการร่วมมือของหลายฝ่าย สังคมที่มีความไว้วางใจกันต่ำก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งเวลาและเงินทองมากมายในการใช้ไปในการประเมินว่าใครที่น่าไว้ใจได้เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงโดยนักต้มตุ๋น หรือถูกโกง สังคมเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาว เพราะตระหนักดีว่าผลกำไรอาจถูกดูดหายไปโดยคอรัปชั่นของภาครัฐหรือถูกคดโกง

          ตรงกันข้ามในสังคมที่มีความไว้วางใจกันสูง การสูญเสียทรัพยากรเพื่อประเมินว่าใครน่าไว้วางใจนั้นต่ำและ สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนระยะยาว มีงานวิชาการที่พบว่าดีกรีของความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

          ความเชื่อถือไว้วางใจกันช่วยทำให้เกิดการค้าขายที่กว้างขวางขึ้น มีผู้คนมาร่วมในตลาดการเงินมากขึ้น มีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งหมายรวมกันได้ว่ายิ่งสังคมใดมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูงก็จะยิ่งร่วมกระตุ้นให้เกิดความมั่งคั่งยิ่งขึ้น

          ความไว้วางใจกันในสังคมคือทุนทางสังคม (social capital) ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นโดยใช้เวลา และการมุ่งมั่นสร้างสรรค์ ทิศทางก็คือการสร้างสังคมที่มีคุณธรรม ผู้คนมีศีลมีธรรม และมีภาครัฐที่น่าเชื่อถือเป็นหลักฃึ่ง นอกเหนือจากการมีประสิทธิภาพของภาครัฐแล้วการปราศจากคอรัปชั่นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง

          สังคมจะมีความไว้วางใจกันต้องมาจากรากฐานทางศีลธรรมของสังคม ค่านิยมของความซื่อสัตย์ การรักษาคำพูดและสัญญา ความศรัทธาในความดีงามฯลฯ เหล่านี้เป็นหัวใจของการสร้าง social capital ที่สำคัญยิ่งนี้

          ในมิติของความสัมพันธ์กับต่างประเทศ social capital ดังกล่าวยังมีความสำคัญเป็นอันมาก การค้าการลงทุนและธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของบุคคลและองค์กรที่ต่างอยู่ในดินแดนที่มีกฎหมายและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความไว้วางใจกันเท่านั้น

          เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยทำให้การตรวจสอบประวัติ ธุรกรรมในอดีตของผู้ที่จะร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยเป็นไปอย่างสะดวกและกว้างขวางขึ้น (การได้รับอันดับ การได้รับการรับรองภายใต้ระบบประกันคุณภาพ การได้รับรางวัล คือหลักฐานสนับสนุนความน่าไว้วางใจ) ดังนั้นจึงหมายความว่าสังคมยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นในการเป็นสังคมที่มีศีลมีธรรม เป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรีเพื่อเพิ่มพูน social capital ในการมีความน่าไว้วางใจ

          Alberto Alesina แห่ง Harvard Universityและ Eliana La Ferrara แห่ง Bocconi University ใน Milan ร่วมกันศึกษาและพบว่าสังคมที่มีความหลากหลายในด้านรายได้และชาติพันธุ์สูงจะมีระดับความไว้วางใจกันต่ำ

          การกำจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นงานสำคัญในการสร้างความไว้วางใจอันเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งในระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่มีศีลมีธรรม

          เมื่อมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมเดียวกันและต่อไปยังสังคมอื่นจึงมิได้เกิดจากการกดปุ่ม หากเกิดจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกัน การมี อารยธรรมในการสังคม การพูดจาด้วยภาษาที่เหมาะสม และการมีความจริงใจต่อกัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้

          การได้รับความเชื่อถือไว้วางใจคือการมีคุณค่า (value) ซึ่งมิได้เกิดขึ้นข้ามวันข้ามคืน หากเกิดจากการมีคุณธรรมให้ปรากฏแก่ผู้อื่นข้ามระยะเวลา สังคมใดจะมั่งคั่งได้ยั่งยืนก็ต้องเดินในเส้นทางเดียวกันกับบุคคลนั้นแล