Tobin Tax สูงส่งกว่าที่กำลังจะทำ

วรากรณ์  สามโกเศศ
12 เมษายน 2559

         เรื่องร้อนแรงที่สุดในยุโรปตอนนี้คงไม่หนีเรื่องการอพยพของผู้คนนับล้านเข้าสู่ยุโรป การก่อการร้ายและเรื่องการลงประชามติของอังกฤษในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ว่าจะอยู่ต่อกับ EU หรือจะ ‘ลาจาก’ ดังที่เรียกกันในชื่อว่า Brexit เหตุผลของกลุ่ม ‘ลาจาก’ ที่นับว่ามาแรงขึ้นทุกวันก็คือเรื่องความสามารถในการควบคุมหลายสิ่งที่การเป็นสมาชิกEU ให้ไม่ได้ เช่น การต้องจ่ายเงินมหาศาลสนับสนุนสมาชิก อื่น ๆ กฎหมายควบคุมการจ้างงานและการประกอบการค้า ฯลฯ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบก็คือเรื่อง Tobin Tax

          James Tobin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลในปี 1981 แห่งมหาวิทยาลัยเยล ถ้ายังมีชีวิตอยู่คงแปลกใจที่ชื่อของตนถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งราวกับจะวัดรอยเท้า John Maynard Keynes ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ตัวเขาเคยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกวิเคราะห์วิจารณ์กลไกที่ Keynes กล่าวถึงในการเข้าสู่ดุลยภาพของระดับการว่างงานชนิดไม่ตั้งใจ

          Tobin Tax หรือการเก็บภาษีจากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศตามแนวคิดของ James Tobin ที่ 11 สมาชิกของ EU กำลังพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้คือเหตุผลหนึ่งของผู้สนับสนุนการ ‘ลาจาก’ EU เพราะเชื่อว่าจะทำร้ายอังกฤษในที่สุดเพราะหากไม่ออกมาก็ต้องเก็บ Tobin Tax ด้วย

          11 สมาชิกที่เห็นชอบกับ Tobin Tax ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ออสเตรีย เบลเยี่ยม กรีซ ปอร์ตุเกส สโลวาเกีย สโลวาเนีย และเอสโตเนีย เหตุผล ง่าย ๆ ที่ต้องการเก็บ Tobin Tax ก็เพราะต้องการได้เงินมาแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของ EU

          James Tobin ถ้าฟื้นขึ้นมาก็คงสะดุ้งอีกเหมือนกันเพราะสิ่งที่เขาเสนอนั้นแตกต่าง จากที่ 11 สมาชิกกำลังเสนออยู่ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์และลักษณะของภาษีที่เก็บ

          ในปี 1972 James Tobin เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราประมาณร้อยละ 0.5 เหมือนกันหมดในทุกประเทศจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทั้งหมด และนำเงินเหล่านี้ไปเก็บสะสมไว้ที่ธนาคารโลกเพื่อเอาไปใช้เป็นเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีก็เพื่อไม่ให้มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในปริมาณมากจนมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของการไหลของเงินทุน

          พูดง่าย ๆ ก็คือต้องการจูงใจไม่ให้มีการเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศมากจนทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพโดยจงใจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นจากการต้องจ่ายภาษีนี้

          Tobin ย้ำว่าจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีการเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทั้งหมดในทุกประเทศ (ที่เป็นสมาชิกธนาคารโลก หรือ IMF) โดยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม หากสูงหรือตำ่เกินไปก็ไม่ได้ผล และจะต้องร่วมมือกันอย่างกว้างขวางด้วย

          อย่างไรก็ดีเหมือนทุกสิ่งในโลก เมื่อวันเวลาผ่านไปก็มีการ “แปลงสาร” เกิดขึ้น จนมีการขยายไอเดียของ Tobin Tax ไปถึงการเก็บภาษีจากการเปลี่ยนมือหุ้น หุ้นกู้ และธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีอัตราการเก็บภาษีร้อยละ 0.1 ถึง 1 อีกด้วย

          11 ประเทศของ EU นี้ไปไกลกว่าคือต้องการเก็บเพื่อหารายได้มาแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ของภาครัฐที่หลายประเทศสมาชิกเผชิญอยู่และเกิดสภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” กับประเทศผู้ช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้ เสถียรภาพของการไหลของเงินทุนระหว่างประเทศมิใช่ประเด็นหลัก

          Tobin Tax ในปัจจุบันจึงมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปจาก “ต้นฉบับ” ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเพื่อหารายได้อ้างความเป็นธรรมที่สถาบันการเงินควรจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อเอาเงินไปช่วยลดระดับหนี้สาธารณะซึ่งตนเองก็มีส่วนช่วยให้มันเพิ่มขึ้นด้วย (รัฐบาลได้โดดเข้าไปช่วยสถาบันการเงินให้หลุดออกมาจากวิกฤตการเงินด้วยการกู้เงินมามากมาย)

          ผู้เห็นด้วยกับการเก็บเชื่อว่า Tobin Tax จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้น ถ้าแม้นว่ามีการเก็บภาษีในลักษณะนี้แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 ของประเทศในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ รัสเซีย เม็กซิโก เกาหลี อาจไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายจากการที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงมากเมื่อถูกคุกคามโดยผู้เก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ

          ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่าการเจ็บครั้งนั้นมิได้เกิดจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนสูงอย่างเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่ง Tobin Tax ไม่น่าจะช่วยให้หลีกการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง ตลอดจนช่วยสร้างเสถียรภาพของการไหลของเงินทุนได้ขนาดนั้น

          นอกจากนี้การเก็บ Tobin Tax จะทำให้มีจำนวนธุรกรรมการเงินน้อยลง ผู้ออมและกองทุนเงินออมทั้งหลายจะได้ผลตอบแทนตำ่ลง เนื่องจากสถาบันการเงินในหลายสถานการณ์สามารถผลักภาระภาษีไปสู่ลูกค้าได้

          คำถามที่น่าสนใจก็คือมีการทดลองเก็บ Tobin Tax ในประเทศใดบ้างหรือไม่? คำตอบก็คือ Tobin Tax ในเวอร์ชั่นหนึ่งมีการทดลองในสวีเดนในปี 1984 กล่าวคือในตอนแรกมีการเก็บภาษีในอัตรา ร้อยละ 0.5 จากการซื้อและขายหุ้น และต่อมาลดลงเป็นลำดับจนเหลือเพียงร้อยละ 0.003 ผลปรากฏว่าเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 3 ของที่คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ย ในปี 1991 จึงมีการยกเลิกภาษีนี้

          อย่างไรก็ดียังมีการเก็บ Tobin Tax ในบางลักษณะในฮ่องกง มุมไบ โซล ไทเป โจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก โดยเก็บรวมกันได้ประมาณปีละ 600,000 ล้านบาท และตัวเลขนี้แหละที่ 11 ประเทศ EU กำลังน้ำลายไหลและมองเห็นเป็นโอกาส

          คนอังกฤษซึ่งมีลักษณะอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วโดยธรรมชาติมีความรู้สึกกังวลกับมาตรการ Tobin Tax นี้อยู่ค่อนข้างมาก ลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินโลกมีธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในข่ายของการถูกเก็บภาษีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีใครตอบได้ว่าหากมี Tobin Tax ตามข้อบังคับของ EU ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อการเป็นศูนย์การเงินของโลก ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงว่าเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกนั้นไม่มี Tobin Tax

          บ่อยครั้งสิ่งซึ่งเป็นข้อสรุปตามกรอบคิดเชิงทฤษฎีนั้นแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่นการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น ในตอนพิจารณามีข้อสรุปทางทฤษฎีว่ามีสารพัดข้อดี ปัญหาอุปสรรคก็มีเช่นกัน แต่สรุปว่ามีข้อดีมากกว่า ปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าที่ EU เละเป็นวุ้นทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นผลอย่างสำคัญจากการใช้เงินสกุล ยูโรร่วมกัน

          Tobin Tax ในครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน อังกฤษมีการใช้ stamp duty หรือค่าธรรมเนียมที่เก็บจากการซื้อขายหุ้นมาช้านาน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลกระทบของ Tobin Tax อย่างไรก็ดีอย่าลืมเรื่องราวของการสรุปครั้งเงินยูโรเป็นอันขาด

          James Tobin มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1918-2002 (เสียชีวิตตอนอายุ 84 ปี) ได้ให้ไอเดียในเรื่องการเก็บภาษีจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลก และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา ใครที่ “แปรสาร” Tobin Tax เพื่อหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว กำลังมองข้ามความสูงส่งของความคิดที่จะสร้างเสถียรภาพและความเท่าเทียมขึ้นในเวลาเดียวกัน
 

อุบัติเหตุสงกรานต์ 2559

วรากรณ์  สามโกเศศ
10 พฤษภาคม 2559

         อุบัติเหตุทางถนนระหว่างสงกรานต์ 2559 ที่ผ่านไปทำให้เกิดข้อคิดขึ้นหลายประการที่มีความสำคัญต่อการอยู่หรือการไปจากโลกนี้หรือพิการของคนจำนวนนับแสนในอนาคต

          การวิเคราะห์สถิติของผู้เสียชีวิตระหว่างสงกรานต์ของทุกปีเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ต้องกระทำด้วยความรอบคอบเพราะตัวเลขมีปัญหาในหลายมิติ ประการแรก ข้อมูลมาจากการจัดเก็บของหลายหน่วยงานของรัฐและเป็นข้อมูลดิบของการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละวัน ผู้บาดเจ็บหลายคนอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมาซึ่งตัวเลขมิได้สะท้อนการเสียชีวิตเช่นนี้ ประการสอง การที่มีคนตายและบาดเจ็บจากสงกรานต์ครั้งนี้เพิ่มขึ้นมิได้หมายความว่าเหตุการณ์เลวร้ายลงเสมอไป เพราะปีที่ผ่าน ๆ มามีจำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์น้อยกว่าปีที่ผ่านมานับหมื่นนับแสนคัน เมื่อจำนวนมากขึ้นก็ย่อมมีการเดินทางมากขึ้น (โดยเฉพาะน้ำมันที่มีราคาถูกลง) มีจำนวนคนเกี่ยวพันมากขึ้น จำนวนอุบัติเหตุก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา

          ประการที่สาม ข้อมูลที่ระบุสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมีปัญหาโดยธรรมชาติของตัวมัน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่มีการวิเคราะห์เหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเชิงวิชาการ (accident scene เหมือน crime scene ในภาพยนตร์) ตัวเลขที่บอกจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น (หากเก็บสถิติการตายจากมรณบัตรก็จะพบว่า “หัวใจวาย” เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดเพราะถ้าตายแล้วหัวใจก็ต้องวายอย่างแน่นอน นอกจากนี้บ่อยครั้งที่สาเหตุการตายเป็นเรื่องของการผสมปนเปจนยากที่จะแยกตอบได้

          ไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีการวิเคราะห์ว่าความเร็วเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเพราะอาจเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอร์ก็เป็นได้ เจ้าหน้าที่บางท้องที่อาจวิเคราะห์ลงไปลึก บางคนอาจระบุตามความเชื่อนอกเสียจากได้กลิ่นแอลกอฮอร์ชัดเจน

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาของตัวเลขที่พึงระมัดระวังในการตีความ (จังหวัดที่มีคนตายน้อยที่สุดมิได้หมายความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ดูแลดีที่สุด หากจังหวัดนั้นมีความยาวของถนนในจังหวัดสั้นกว่าอีกจังหวัดก็ย่อมมีทางโน้มจำนวนอุบัติเหตุน้อยกว่า) ถ้าจะให้แม่นยำว่าพื้นที่จังหวัดใดมีการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ากันอย่างแท้จริงแล้วต้องดูจำนวนอุบัติเหตุต่อหนึ่งกิโลเมตรของถนนในจังหวัดนั้น ๆ หรือต่อระยะทางการเดินทางของทุกคนที่ใช้ถนนของจังหวัดนั้นๆ

          ในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2559 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 คน บาดเจ็บ 3,656 คน (จำนวนคนพิการต้องใช้เวลาตามดูการเจ็บป่วยกว่าที่จะได้สถิติที่แน่นอน) ซึ่งมากกว่าปีผ่านมาซึ่งเกิดขึ้น 3,373 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 364 คน บาดเจ็บ 3,559 คน แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของตัวเลขดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนจึงไม่ขอวิเคราะห์ว่าบ้านเรามีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ หากจะตอบได้จะต้องรู้จำนวนกิโลเมตรที่ทุกคนเดินทางและจำนวนอุบัติเหตุในช่วงเวลานั้นของทั้งสองปี อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตหลายประการจากอุบัติเหตุ “สงกรานต์2559” ดังต่อไปนี้

          ข้อหนึ่ง การเกิดอุบัติเหตุถือได้ว่ามีจำนวนสูงมาก (เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 63 คน เมื่อเทียบกับตัวเลขตายเฉลี่ยปกติวันละ 40 ฃึ่งถือว่าสูงในมาตราฐานโลก)

          ข้อสอง ร้อยละ 57 ของผู้ที่เกี่ยวพันกับอุบัติเหตุเสียชีวิต ณ จุดเกิดอุบัติเหตุ และส่วนใหญ่คือร้อยละ 59 เป็นคนในพื้นที่

          ข้อสาม กว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่ยานยนตร์เอง

          ข้อสี่ จักรยานยนตร์เป็นยานพาหนะที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ประมาณ 2 ใน 3 หรือ 239 ราย รองลงมาคือรถปิคอัพ (ร้อยละ 16)

          ข้อห้า สถิติย้อนหลัง 5 ปี ชี้ว่ามีแนวโน้มของดัชนีความรุนแรง (SI-Severity Index ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อ 100 ครั้งของอุบัติเหตุ) เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 10.23 ในปี 2555 เป็น 11.35 ในปี 2556 และ 12.82 ของสงกรานต์ปี 2559

          ข้อหก ทางการระบุว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุคือ “ดื่มแล้วขับ” (ร้อยละ 31.7) รองลงมาคือขับรถเร็ว (ร้อยละ 28.5) อย่างไรก็ดีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุเป็นสิ่งพึงระมัดระวังดังที่กล่าวแล้ว หากนำสองปัจจัยนี้มารวมกันก็จะเป็นร้อยละ 60 หรือพอกล่าวได้ว่าสองสาเหตุที่พันกันอยู่นี้เป็นสิ่งสร้างความวิบัติอย่างจริงแท้แน่นอน

          ข้อเจ็ด ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีการดื่มร่วมด้วย มักมีพฤติกรรมเสี่ยงประกอบด้วยเสมอ กล่าวคือร้อยละ 87 ไม่สวมหมวกนิรภัย และร้อยละ 98 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

          ข้อแปด กว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุ (ร้อยละ 53) เกิดในช่วงบ่ายถึงค่ำ (12-20 น.)

          เป็นที่ชัดเจนว่า “การดื่มสุรา” และ “การขับรถเร็ว” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ 2559 (ซึ่งไม่ต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา) และในช่วงเวลาอื่น ๆ ด้วย สังคมเราสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละไม่ต่ำกว่า 14,600 ราย (40 x 365) และถ้าอัตรานี้ไม่เพิ่มขึ้น ในเวลา 10 ปี เราจะสูญเสียชีวิตไปถึง 146,000 ราย สถิตินี้ถือได้ว่าสูงมากโดยมีสถิติใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น อิหร่าน ลิเบีย อูแกนดา ไนจีเรีย แองโกลา โอมาน เวเนซูเอลลา ฯลฯ ไทยอยู่ในอันดับ 14 ของโลก ในจำนวน 172 ประเทศ (อันดับหนึ่งคืออิหร่าน และรองลงมาอิรัก เวเนซูเอลลา กิอานา ลิเบีย โดมินิกัน ฯลฯ)

          อันดับนี้จัดตามจำนวนการตายจากอุบัติเหตุการจราจรต่อประชากร 100,000 คน ประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกคือมัลดีฟ(ต้องระวังการตีความตัวชี้นี้เพราะประเทศที่ไม่มีถนน ไม่มีรถแต่มีประชากรสูง ย่อมมีสถิติที่ดี)

          จากข้อเท็จจริงข้างต้น สิ่งที่ควรใคร่ครวญและดำเนินการต่อไปก็คือ หนึ่ง จำนวนอุบัติเหตุการจราจรของบ้านเราต้องทำให้ลดต่ำลงทันที การสูญเสียถึง 14,600 คนต่อปี เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ควรยอมรับ (แผ่นดินไหวรุนแรงในอิเควดอร์ในช่วงเวลาเดียวกับสงกรานต์ 2559 มีคนตาย 654 คน แต่บ้านเราไม่มีภัยธรรมชาติหากมีภัยที่สร้างขึ้นมาเองจนตายไปด้วยจำนวนที่ไม่ไกลกันนัก)

          สอง การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญ (ในเมืองจาร์กาต้า ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งมีประชากรไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯและมีวัฒนธรรมคล้ายกัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคนต้องใส่หมวกนิรภัย) นวตกรรมยึดรถเป็นเรื่องควรชื่นชมแต่ก็มีสถิติน้อยมากคือยึดรถไว้หากมึนเมาขณะขับขี่ได้ 6,613 คัน หรือ 9.5 คัน/จังหวัด/วัน/

          การตั้งด่านตรวจที่มีอุปกรณ์ครอบครันมิใช่มีเครื่องวัดแอลกอฮอร์จังหวัดละไม่กี่เครื่อง เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทันที การแก้ไขกฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดต้องแยกออกเป็นโดยประมาทและอย่างอันตราย (มิได้มีเพียงประมาทเช่นปัจจุบัน) โดยมีโทษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่กระทำผิด

          สาม ภาครัฐต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบการลดอุบัติเหตุโดยตรง มิใช่มีเพียงคณะกรรมการระดับชาติที่ประสานให้ต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตนโดยไม่มีเจ้าภาพกลาง การวิเคราะห์เชิงวิชาการเพื่อหาความจริงจากอุบัติเหตุแต่ละครั้งจะให้บทเรียนเพื่อแก้ไขมิให้เกิดขึ้นอีก (ปัจจุบันเกือบทุกอาทิตย์รถตู้เกิดอุบัติเหตุและไฟไหม้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเกิดจากอะไร งานวิชาการเท่านั้นที่จะตอบได้)

          ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหานี้กันจริงจังตั้งแต่บัดนี้โดยให้ความสนใจตลอดทั้งปีมิใช่เฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น มีทางโน้มที่จำนวนการตายและพิการจะเพิ่มมากขึ้นเพราะจำนวนรถและพื้นที่ถนนที่มีมากขึ้น และคนที่ประสบเคราะห์กรรมอาจเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผู้รับผิดชอบก็เป็นได้(ข้อมูลมาจาก “รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทาง  ถนน____สงกรานต์ 2559 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 

อ่านออกเขียนได้เชิงข้อมูล

วรากรณ์  สามโกเศศ
26 กรกฎาคม 2559

        การสื่อสารที่สำคัญในโลกยุคโบราณระหว่างมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือการเขียนหนังสือ ถ้าใครเข้าใจตัวอักษรและกฎกติกาของการเขียนภาษานั้น ๆ ก็ย่อมอ่านออกและถ้าเขียนเพื่อสื่อสารได้ด้วยก็เรียกว่า “รู้หนังสือ” หรือ “อ่านออกเขียนได้” (literate) อย่างไรก็ดีในยุคปัจจุบันที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลสารพัดชนิด หากสามารถเข้าใจสิ่งที่ “แอบ” อยู่ในข้อมูล แปลความหมายได้ก็เรียกว่าเป็นผู้ “อ่านออกเขียนได้เชิงข้อมูล” ซึ่งความสามารถนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีชีวิตที่อยู่รอดและอยู่ดีในปัจจุบัน

          ชื่อทางการของสิ่งที่กล่าวข้างต้นก็คือ data literacy ซึ่งถ้า “การอ่านออกเขียนได้”(literacy) หมายถึงความสามารถในการอ่านเพื่อความรู้ และเขียนอย่างอ่านได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อีกทั้งสามารถคิดได้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ data literacy (การอ่านออกเขียนได้เชิงข้อมูล) ก็หมายถึงความสามารถที่จะบริโภคข้อมูลเพื่อความรู้ ผลิตต่อได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และคิดได้ลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อมูลนั่นเอง

          data literacy นั้นถ้าตีความอย่างแคบก็รวมเฉพาะ statistical literacy หรือความสามารถในการใช้เครื่องมือทางสถิติเพื่อหาความหมายจากข้อมูล มีความเข้าใจว่าจะจัดการอย่างไรกับข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) รู้ว่าจะนำข้อมูลไปใช้งานต่อไปอย่างไร รู้ว่าจะเชื่อมต่อชุดข้อมูลต่าง ๆ เข้ากันได้อย่างไร และสามารถตีความข้อมูลเหล่านั้นได้

          นักวิเคราะห์ในภาคเอกชนและภาครัฐจำเป็นต้องมี data literacy ที่ลึกซึ้งในสภาพการที่ข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกทีเพื่อที่จะหาความจริงที่อยู่ในข้อมูลเหล่านี้อันจะนำมาใช้ประกอบกับตัดสินใจในเรื่องการดำเนินงานและนโยบายต่อไป

          มีตัวเลขอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงขนาดใหญ่โตของข้อมูลในโลกซึ่งระบบดิจิตัลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่โตมโหฬารขึ้นมา ในหนึ่งวันมีการเกิดข้อมูลในโลกไซเบอร์ประมาณ 38 tetra bytes ซึ่งเท่ากับหนังสือขนาดปกติ 40 ล้านเล่ม ลองจินตนาการดูว่าถ้าไม่มี data literacy แล้วจะหาประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร

          ในระดับพื้นฐานนั้นผู้มี data literacy จะสามารถแปร data (ข้อมูล) เป็น information (สารสนเทศ) แปรเปลี่ยนเป็น knowledge (ความรู้) และทำให้เกิด wisdom (ปัญญา) ในขั้นต่อมา

          ถ้าเจ็บหัวใจเป็นพัก ๆ นี่คือข้อมูล ถ้าเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาแบบแผนก็จะได้ความรู้ว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ คราวนี้ก็ถึงปัญญาคือการรู้ความเหมาะสมในการนำความรู้นั้น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ กล่าวคือถ้าอยากมีชีวิตอยู่นาน ๆ ก็ไปรักษาและดูแลตัวเองให้ดีกว่าเดิม

          การจะได้มาซึ่งความรู้และปัญญาจากข้อมูลก็คือการมี data literacy ซึ่งประกอบด้วยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และตีความหมาย

          หากจะตีความ data literacy ไปไกลกว่านั้นโดยไม่ยึดติดกับการใช้เครื่องมือทางสถิติและคณิตศาสตร์ก็หมายถึงการสามารถเข้าใจข้อมูลในชีวิตประจำวัน สามารถตีความและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น (1) การอ่านคนเป็น สามารถตีความได้ว่าจากข้อมูลพฤติกรรมที่ประสบ ควรจะปฏิบัติต่อคน ๆ นั้นอย่างไร data literacy เช่นนี้จะทำให้ไม่ถูกหลอก (2) มีสิ่งที่เรียกว่า social intelligence หรือความฉลาดทางสังคม ซึ่งหมายถึงการสามารถตีความข้อมูลทางสังคมที่ประสบและวางตนได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม ตัวอย่างมีรอบตัวเช่นสังเกตเห็นว่าเพื่อนไม่สบายใจ ไม่พูดจาตอกย้ำปมด้อยของเพื่อนที่สังเกตเห็น ไม่ทักลูกติดภรรยาเพื่อนว่าหน้าเหมือนเพื่อน ตีความคำพูดรอบกายที่ได้ยินว่ามีความหมายอย่างไร ฯลฯ

          การมี data literacy ในแนวนี้จะทำให้แยกออกได้ว่าอะไรเป็น fact (ข้อเท็จจริง) และอะไรเป็น truth (ความจริง) ตัวอย่างเช่น (1) ลูกที่หญิงคลอดออกมาเป็นลูกคือ fact แต่ truth อาจเป็นได้ว่าไม่ใช่ลูกทางพันธุกรรมเพราะเพียงอาศัยมดลูกมาเกิดเท่านั้น (2) หญิงสาวหน้าตารูปร่างงดงามเป็น fact แต่ truth ก็คือเธอเป็นชาย (3) การเห็นคู่แต่งงานเป็นหญิงชายตามปกตินั้นเป็น fact แต่ truth ก็อาจเป็นว่าเป็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันก็เป็นได้

          คนที่แยก fact กับ truth ไม่ออกอาจประสบปัญหาในชีวิตปัจจุบันที่การผ่าตัดเสริมสวยช่วยทำให้จำหน้าคนไม่ได้ ไม่ว่าภรรยาจะไปผ่าตัดหน้าจนจำไม่ได้อย่างไร truth ก็คือเธอเป็นภรรยาคนเดิม แต่ fact ก็คือหน้าตาของเธอเปลี่ยนแปลงไป ถ้าใครอ่อนในเรื่องแยก truth กับ fact ในกรณีนี้ที่จำเธอไม่ได้เพราะหน้าตาแย่ลงก็อาจเจ็บตัวได้

          data literacy ทั้งในแง่วิชาการที่ต้องใช้ความเข้าใจเครื่องมือทางสถิติและคณิตศาสตร์เพื่อแปรเปลี่ยนข้อมูลเป็นความรู้และปัญญา และในแง่การสามารถเข้าใจข้อมูลในชีวิตประจำวัน เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนในศตวรรษที่ 21 ที่รอบตัวเพียบล้นไปด้วยข้อมูลจำเป็นต้องมีเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          คนไม่อ่านหนังสือไม่ต่างอะไรไปจากคนอ่านหนังสือไม่ออกฉันใด คนที่ไม่สามารถตีความข้อมูลรอบตัวได้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากคนตาและหูพิการฉันนั้น
 

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจยา

วรากรณ์  สามโกเศศ
5 เมษายน 2559

         สุภาษิต “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” เป็นจริงและดูจะเป็นจริงยิ่งขึ้นเมื่อสิ่งที่น่านับถือเป็นคน “ว่า” แต่ถ้า “ว่า” ผิดในเรื่องคอขาดบาดตายมีผลต่อชีวิตของมนุษย์แล้ว เราก็สมควรตรึกตรองและเชื่ออะไรต่ออะไรน้อยลงสักหน่อย สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้คือความไม่น่าเชื่อถือของยาบางตัวที่ใช้ผลการทดลองเป็นตัวตัดสินให้ผู้คนใช้

          ขณะนี้เรียกได้ว่าโลกวิทยาศาสตร์กำลังประสบกับสิ่งที่เรียกว่า “Replication Crisis” กล่าวคือเมื่อทำการทดลองเหมือนกับที่บทความซึ่งตีพิมพ์ในวารสารมีชื่อหลายชิ้นระบุแล้วแต่ปรากฏว่า ผลออกมาไม่เหมือนกัน จะเป็นความตั้งใจ มั่ว” แต่แรกหรือไม่ก็ตาม แต่มีความสำคัญมากเพราะในหลายกรณีเป็นเรื่องของความเป็นความตาย โดยเฉพาะในเรื่องยา

          กรณีของ Study 329 ซึ่งทำการทดลองยาชื่อ Paxil รักษาอาการซึมเศร้า เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัท Glaxo Smith Kling (GSK) เป็นผู้ผลิตและได้รับอนุญาตให้วางตลาดในปี 1992 ยานี้ทำเงินมหาศาลให้บริษัทผู้ผลิต ในต้นทศวรรษของปี 2000 ยานี้ทำเงินให้ปีละ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ใช้ยานี้คือเด็กและวัยรุ่นนับล้าน ๆ คนทั่วโลก เหตุผลที่ได้วางตลาดก็เพราะผลจากการศึกษาของ Study 329 พิสูจน์ว่ายานี้ได้ผล

          ในปี 2003 ทางการอังกฤษเกิดความสงสัยในประสิทธิภาพของ Paxil จึงย้อนกลับไปดูวิธีการศึกษาของ Study 329 อย่างละเอียดและพบสิ่งที่ไม่คาดคิด กล่าวคือการศึกษานั้นใช้เล่ห์กลอย่าง จงใจจนมีผลออกมาว่าเป็นยาที่ให้ผลในการลดอาการซึมเศร้า ในปี 2012 ทางการอเมริกาปรับบริษัทนี้เป็นเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ของการทำผิดกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรมยา คือ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่ GSK ใช้วิธีการ “พิเศษ” ในการศึกษาและรายงานการได้ผลของยาหลายชนิด ซึ่งในจำนวนนี้มี Paxil รวมอยู่ด้วย

          ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Study 329 จึงกลายเป็นกรณีคลาสสิคที่ผู้คนเล่าขานกันถึงงานวิชาการที่ใช้วิธีที่เรียกว่า “outcome switching” ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งไว้ แต่ระหว่างการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเพื่อให้ได้คำตอบดังที่ต้องการ

          ในกรณีของ Paxil นั้นจากการทบทวนการศึกษาพบว่าใช้ “outcome switching” ชัดเจน กล่าวคือในตอนแรกต้องการทดลองว่ายานี้มีผลอย่างไรต่อ 8 ตัวแปรซึ่งร่วมกันอธิบายการลดอาการซึมเศร้า เช่น ถามคนที่ทดลองกินยานี้ว่าทำให้อยากคุยกับคนอื่นมากขึ้นเพียงใด อยากบริโภคอาหารมากขึ้น ฯลฯ แต่เมื่อผลการทดลองออกมาว่า Paxil ไม่มีอะไรดีกว่ากินแป้งธรรมดา ๆ ผู้วิจัยก็เพิ่มเติมตัวแปรเข้าไปใหม่อีก 19 ตัว ซึ่งพอจะเป็นตัวชี้วัดการได้ผลของยา แต่ผลปรากฏว่าเพียง 4 ตัวแปรเท่านั้นที่พอเกิดผลบ้าง ผู้ศึกษาจึงใช้ 4 ตัวแปรนั้นมาสรุปว่าเป็นผล โดยนำเสนอราวกับว่า 4 ตัวนี้มีความสำคัญมากเสียเหลือเกินจนได้คำตอบ Paxil ว่ามีผลดีต่ออาการซึมเศร้า

          เมื่อทางการลองทบทวนยาหลายตัวเข้าก็พบ “outcome switching” อยู่เกลื่อนกลาด ซึ่งบางครั้งเป็นไปอย่างมีเหตุผล เช่น ผู้ทดลองยาไม่อาจตอบแบบสอบถามยาว ๆ ได้ดังตั้งใจใช้แต่เดิมก็ต้องใช้ตัวแปรอื่นมาแทน เช่น ระดับความดันโลหิต แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือผู้ศึกษาจะหาตัวแปรมาใช้ใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแตกต่างไปจากที่ได้ออกแบบไว้แต่แรกจนได้คำตอบที่ต้องการคือยานี้ได้ผลดีในที่สุด (เมื่อทั้งหมดเป็นไปอย่างต้องการได้คำตอบตามที่ตั้งไว้ดังนั้นอะไรที่พอมีสหสัมพันธ์ (correlation) กับการใช้ยาก็เอามาขยายให้ความสำคัญ)

          ทีมนักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Oxford ที่ Center for Evidence-Based Medicine ตั้งโครงการชื่อ COMPARE ขึ้นเพื่อทำอะไรสักอย่างกับความน่ากลัวนี้ (Paxil บ่อยครั้งนอกจากจะไม่ช่วยลดอาการซึมเศร้าแล้วยังนำไปสู่การฆ่าตัวตายอีกด้วย)

          บางคนอาจสงสัยว่าทางการของประเทศพัฒนาแล้วไม่มีการควบคุมดูแลบริษัทยาให้มีการศึกษาทดลองที่ไม่ “มั่ว” และผู้ศึกษาไม่ต้องลงนามยืนยันผลการทดลองพร้อมกับอธิบายรายละเอียดการทดลองหรือ คำตอบก็คือมีหมดเพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายนั้นหย่อนยานในยุคปลายทศวรรษ 1990 และถึงแม้จะตื่นตัวขึ้นในตอนนี้แต่ยาเหล่านั้นก็ขายมาแล้วหลายปีและมีจำนวนมากมาย

          บทความที่ศึกษาเรื่องความ “มั่ว” นี้ตีพิมพ์ในปี 2015 (วารสาร BMC Medicine) ระบุว่าร้อยละ 31 ของการทดลองเพื่ออนุญาตให้ใช้ยาไม่เป็นไปตามกระบวนการวิจัยที่วางแผนไว้แต่แรก บทความอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2015 ในวารสาร PLOS ONE ระบุว่าจาก 137 การทดลองดังว่า ร้อยละ 18 ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาเมื่อผ่านการวิจัยมาแล้วครึ่งหนึ่ง และร้อยละ 64 เปลี่ยนแปลงเช่นกันโดยใช้ตัวแปรอื่น ๆ ที่สำคัญน้อยกว่ามาเพิ่มเติม (กรณี outcome switching)

          สำหรับ COMPARE นั้นใช้วิธีตรวจสอบวิธีการศึกษาและผลการทดลองดังที่ระบุไว้ในบทความซึ่งตีพิมพ์ใน 5 วารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก (The New England Journal of Medicine / The Journal of the American Medical Association / The Lancet / Annals of Internal Medicine และ The BMJ โดยพบว่ามีอยู่เพียง 9 การทดลองเท่านั้นที่สมบูรณ์แบบกล่าวคือทำทุกอย่างตามที่ได้ออกแบบไว้แต่แรกและถ้าเปลี่ยนแปลงก็จะบอกเหตุผลอย่างชัดเจน 58 การทดลองมีข้อบกพร่อง และจากจำนวนการทดลองทั้งหมดนี้ก่อให้เกิด 300 outcomes (ผลที่เกิดขึ้น) ซึ่งควรจะได้มีการรายงานไว้ ในขณะที่อีก 357 outcomes ถูกนำมาใส่เพิ่มเติมโดยมิได้ระบุไว้ในเอกสารแต่แรกที่ระบุว่าการทดลองตั้งใจจะทำอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่ชัดเจนว่ามี outcome switching เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

          ผลที่ออกมานี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากบรรณาธิการวารสารเหล่านี้ราวแผ่นดินไหวเพราะการจะได้ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้ต้องมีการกลั่นกรองอย่างเข้มข้น มีผู้เชี่ยวชาญอ่านวิเคราะห์จนแน่ใจว่าสมบูรณ์แบบและน่าเชื่อถือได้จึงได้รับการตีพิมพ์ แต่จู่ ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งมาบอกว่างานที่ทำนั้นยังใช้ไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือมีดีกรี “ความมั่ว” อยู่มากในวารสารที่เชื่อกันว่าเป็นชั้นยอดของโลก

          หัวหน้าทีม COMPARE ส่งจดหมายระบุความบกพร่องออกไปถึงวารสารเหล่านี้รวม 58 ฉบับ มีวารสารที่เอาจดหมายไปตีพิมพ์บอกผู้อ่านต่อเพียง 7 ฉบับ บางฉบับก็ถูกด่ากลับมา สิ่งที่ทีมนี้ต้องการก็คือให้ระวังเรื่อง outcome switching ให้มาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ทุกวารสารต่างมีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่แล้ว

          Dr. Ben Goldacre แพทย์และนักระบาดวิทยาหัวหน้าโครงการบอกกำลังจะเขียนบทความ วิเคราะห์งานศึกษาและจดหมายที่ตอบกลับมา ทั้งหมดนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในแวดวงวิชาการให้ระวังเรื่อง ‘ความมั่ว’ (ผู้เขียนพูดแทน) อย่างไรก็ดี Dr.Goldacre ไม่ได้บอกว่าจะมีวารสารฉบับใดรับที่จะตีพิมพ์บทความของตน

          เมื่อผู้เขียนพบบทความเกี่ยวกับเรื่อง outcome switching นี้ในการทดลองความได้ผลของยาในนิตยสาร The Economist เมื่อไม่นานมานี้ก็รู้สึกว่าต้องนำมาเผยแพร่ต่อ เพราะผู้คนทั้งโลกมักเชื่อว่าทางการหลายประเทศได้ตรวจตราดีแล้ว ส่วนคนที่มีความรู้ดีก็เชื่อเพราะเคยอ่านบทความตีพิมพ์ยืนยันการได้ผลของยาในวารสารชั้นนำของโลกแล้ว ดังนั้นมันต้องเป็นยาที่ได้เรื่องแน่นอนแต่ความจริงก็คือเบื้องหลังการถ่ายทำนั้น น่าหวาดหวั่นมาก ๆ เพราะบริษัทยามีแขนที่ยาวและแข็งแกร่งมากมายาวนาน

          บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คืออย่าได้ไว้ใจอะไรง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมอันนำมาซึ่งกำไรมหาศาล เพราะมันมักมีอะไรที่ยอกย้อนมากกว่าที่ตาเปล่ามองเห็นเสมอ

เหล้าเก่าที่ต้องเป็นเหล้าใหม่ในขวดการศึกษา

วรากรณ์  สามโกเศศ
27 กันยายน 2559

          เรื่องหนึ่งที่ร้อนแรงด้านการศึกษาระดับโลกในปัจจุบันก็คือการเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนโปรแกรมสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไรและมีความจำเป็นอย่างไร

          เมื่อต้นปี 2016 ประธานาธิบดีโอบามาได้ชี้แจงประชาชนว่า เขาจะจัดสรรเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนการเขียน code ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ computer education ทั้งนี้เพื่อให้มีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21

          ในการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้นมีความจำเป็นต้องสร้าง ‘ภาษา’ เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำงาน ภาษาเหล่านี้แต่ดึกดำบรรพ์ก็ได้แก่ Fortran / Cobalt / Assembly ฯลฯ และที่ทันสมัยในปัจจุบันได้แก่ Java / JavaScript / PHP / Python ฯลฯ

          ใครจะให้คอมพิวเตอร์ทำงานรับใช้ได้ก็ต้องสามารถสื่อสารกับมันได้ซึ่งก็หมายความว่าคนสั่งต้องเรียนรู้ภาษาประดิษฐ์เหล่านี้ ในสมัยเมื่อ 40-50 ปี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายสาขาต้องเรียนรู้การทำงานของคอมพิวเตอร์ ต้องเรียนรู้การเขียนโปรแกรมซึ่งหมายถึงมีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสั่งให้มันทำงาน

          ผู้เขียนเรียนการเขียนโปรแกรม Fortran 4 (ห้ามร้องโอ้โฮ) ต้องเรียนตรรกะของการเขียนเพื่อสั่งงาน โดยเขียนโปรแกรมเป็นบรรทัด ๆ แต่ละบรรทัดก็พิมพ์ลงบนกระดาษที่เจาะรู เมื่อพิมพ์ทุกบรรทัดซึ่งหมายถึงครบทุกใบก็จะเอาไปส่งที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเป็นถาด ๆ และรอคอย บางครั้งเป็นชั่วโมง หากเครื่องหมายผิดหนึ่งที่หรือตรรกะผิดก็ต้องมาพิมพ์ใบใหม่เพื่อแก้ไขกว่าที่จะได้ผลออกมาตามที่ต้องการ เช่น ใส่ข้อมูลเข้าไปบวกจนคำสั่งเพื่อให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์หาค่าสหสัมพันธ์ของตัวแปร ซึ่งหากทำด้วยมือก็อาจใช้เวลาเป็นวัน ๆ ในขณะที่เครื่องทำได้ในเวลาครึ่งวินาที

          ในสมัยต่อมาปริญญา Computer Science ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทก็มักหายไปกลายเป็น Information Technology เมื่อมีการเอาความรู้คอมพิวเตอร์ไปผสมกับเทคโนโลยีโทรคมนาคม รูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีคนเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อให้ใช้กันสะดวกโดยไม่ต้องเขียนเองดังที่ผู้เขียนต้องทำที่ดังเล่าข้างต้น computer science จึงมีการเรียนการสอนกันน้อยลงมาก เหลือเฉพาะในหมู่ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ผู้คนทั้งหมดมุ่งสู่ความสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนที่รากฐานกัน และคำว่าเขียน program ก็กลายเป็นคำว่าเขียน code แทน (programming เป็น coding)

          การให้เด็กเรียน coding ก็คือการเรียนการเขียนโปรแกรม ซึ่งประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่าต้องการให้เด็กเหล่านี้สามารถทำงานได้ทันทีที่เรียนจบ เพราะโลกข้างหน้าเป็นโลกของการสั่งงานให้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์ประกอบไปกับการเรียนตรรกะของการเขียน เข้าใจกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

          ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่สบายใจมานานที่เห็นผู้คนใช้สิ่งสำเร็จรูปกันโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ตรรกะของการใช้ ไม่รู้ขีดจำกัด ไม่รู้กลไกการทำงานของโปรแกรม ผู้เขียนเชื่อว่าการเรียนรู้ coding และ computer science ขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญของการเกิดนวตกรรมที่เราต้องการ

          ผู้เขียนขอเปรียบเทียบเรื่องนี้กับหมูแดง ผู้คนซื้อหมูแดงมากินกันอย่างเอร็ดอร่อยก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่ต้องทำเอง แต่ตราบที่ไม่รู้ว่าหมูแดงเขาทำกันอย่างไร วัตถุดิบประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละวัตถุดิบมีส่วนช่วยในการสร้างรสชาติในลักษณะใด มีการทำกี่แบบ วัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ วัตถุดิบใดที่ทำให้เก็บไว้ได้นาน ฯลฯ การนำไปต่อยอดเป็นนวตกรรม เช่น ยำหมูแดง ต้มยำหมูแดง หมูแดงแผ่น ลาบหมูแดง ฯลฯ ก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่ก้าวไกลและไม่ยั่งยืน

          ในการให้เรียนรู้ coding นั้น มิได้ต้องการให้เด็กทุกคนเป็นมืออาชีพในอนาคต (เรียนไวโอลินก็มิได้มุ่งเก่งกว่าโมสาร์ท หากเพื่อแสวงหาความอ่อนโยน และความงดงาม) หากมันช่วยให้เด็กรับเอาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตลอดจนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้าไว้ในชีวิต ซึ่งสองสิ่งนี้จะครอบงำโลกอีกยาวนาน และ “การรับ” นำไปสู่ “การตื่นตัวและการยอมรับ”

          การศึกษาเป็นกระบวนการ ไม่ใช่รู้หรือไม่รู้และจบกัน พ่อแม่พาลูกไปวัดมิได้ต้องการให้บวชเป็นสมภารต่อไป หรือเป็นมหา หากต้องการให้ซึมซาบคำสอนและและมีวัตรปฏิบัติในเรื่องศีลเรื่องธรรม การเรียน coding จะเป็นตัวกลางนำเด็กไปสู่การมองโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่างชัดเจนขึ้น มีความระแวดระวัง เข้าใจข้อจำกัด มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความภูมิใจในความสามารถของตนเอง และมีวิชาที่จะไปหากินต่อได้อย่างสะดวกขึ้น

          สำหรับเด็กจำนวนหนึ่งในชั้นมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีวะที่เก่งในด้านนี้ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็น programmer ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในโลกในปัจจุบันและในอนาคต อันใกล้ อย่าลืมว่าถ้าไม่มี coding ก็ไม่มี computer software ไม่มี applications และ websites (ทั้ง browser ทั้ง OS คือ operating system ทั้ง applications ทั้งไลน์ ทั้ง Facebook และ websites ต่าง ๆ อาศัย coding ทั้งสิ้น) ที่กำลังสร้างกันอยู่โดยเฉพาะในเรื่อง start-up ที่เกี่ยวกับ IT

          เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้การเรียน computer science และการเขียน code ของเด็กนักเรียนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในอังกฤษและบางประเทศในยุโรป อเมริกาต้องเร่งตามให้ทันเพราะตระหนักดีว่า coding คือรากฐานของนวตกรรมดิจิตอล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของมนุษย์ปัจจุบัน

หลีกหนีอันตรายด้วยความคิด

วรากรณ์ สามโกเศศ
1 มิถุนายน 2559

         นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า “ชีวิตคือเรื่องของการเลือก (life is about choices)” แต่ในความเป็นจริงคนจำนวนมากรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์เองด้วยมักมองข้ามความจริงข้อนี้ไปจนประสบความเสียหายในหลายลักษณะอย่างน่าเสียดาย ถ้าเราตระหนักในเรื่องความเสี่ยงที่เกิดจากการเลือก การตัดสินใจของเราอาจเฉียบคมขึ้นก็เป็นได้

          Rolf Dobelli ยกเรื่องนี้ขึ้นมาในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) อย่างน่าสนใจ โดยให้แนวคิดที่เรียกว่า “alternative paths” หรือ “เส้นทางเลือกอื่น”

          สมมุติว่ามีเศรษฐีบ้าชวนคุณเล่นเกมส์ Russian roulette เพราะอยากให้คุณตายจะได้ภรรยาคนสวยของคุณไปครอง กติกาก็คือเอากระสุนหนึ่งนัดใส่เข้าไปในหนึ่งในห้าช่องของปืนลูกโม่ แล้วหมุนเพื่อไม่ให้รู้ว่าลูกกระสุนที่ใส่เข้าไปอยู่ตรงช่องที่เข็มฉนวนจะแทงหรือไม่ ถ้าลั่นไกแล้วคุณไม่ตาย รับไปเลย 10 ล้านบาท แต่ถ้ามันโป้งออกมาก็จบเพราะคุณย่อมไม่สามารถรับเงินได้ และอาจเสียภรรยา (ตายไปแล้วจะมัวหวงอยู่ทำไม) เมื่อคุณคิดสาระตะดูแล้วก็ตอบตกลงเพราะเห็นว่ามีโอกาสรอดสูง และหากชนะก็สบายไปตลอดชาติ

          ขอคั่นเรื่องการเสี่ยงนี้ด้วยประวัติของ Russian roulette สักหน่อย เกมส์นี้ทหารรัสเซียในรูมาเนียเริ่มเล่นกันในปี 1917 โดยเริ่มจากการท้าทายว่าใครใจถึงกว่ากัน หรือพนันกัน เกมส์ก็มี 2 ลักษณะ กล่าวคือลักษณะแรกทุกครั้งที่ลั่นไกและปืนไม่ดังก็จะหมุนลูกโม่ใหม่เพื่อสลับกันยิงในครั้งต่อไป ลักษณะที่สองคือผลัดกันยิงคนละครั้งโดยไม่มีการหมุนลูกโม่จนตายกันไปข้างหนึ่ง ว่ากันว่าในสงครามเวียดนามเมื่อทหารอเมริกันบางคนเมาก็มีการเล่นเกมส์นี้กัน ซึ่งในบ้านเราก็คงมีบ้างอย่างไม่ต่างกัน

          คราวนี้กลับมาเรื่องตอบตกลงแล้วว่าจะเล่นเกมส์นี้ คุณก็หยิบปืนที่หมุนลูกโม่เป็นอย่างดีด้วยมือที่สั่น เอามาจ่อขมับ แล้วก็ลั่นไกในขณะที่สาร adrenaline วิ่งพล่านอยู่ทั่วตัว และแล้วเสียงที่ได้ยินคือคลิ๊ก คุณชนะได้เงินมา 10 ล้านบาท ก็เอาไปปลูกบ้านกลางเมือง และลงทุนทำธุรกิจจนร่ำรวย

          ข้างบ้านที่คุณอยู่มีนักกฎหมายเก่งซึ่งขยันขันแข็งมาก มีรายได้จากการให้คำปรึกษาชั่วโมงละ 2,000 บาท เขาทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง ปีหนึ่งแทบไม่ได้พัก จนมีฐานะเช่นเดียวกับคุณในเวลา 20 ปี

          ถึงแม้เรา 2 คนจะมีฐานะเท่าเทียมกัน แต่เบื้องหลังที่เรามาถึงจุดนี้นั้นต่างกันมาก ผมรวยมาเพราะเอาชีวิตไปแลกเล่นเกมส์ “เล่นกับนรก” ส่วนทนายความคนนี้รวยมาจากการทำงานหนักมากเป็นเวลายาวนาน

          เมื่อตอนเริ่มเกมส์ ลูกโม่มี 5 นัด นัดหนึ่งคือความตาย อีก 4 นัดคือทางเลือกซึ่งนำไปสู่เงิน 10 ล้านบาท ส่วนทนายความหากทำงานในชนบทอาจได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 500 บาท (ชีวิตชิล ๆ สบาย ๆ ไม่เร่งรัด อากาศดี) ถ้าหากไปทำงานเมืองใหญ่ที่มีอำนาจซื้อสูงอาจได้ชั่วโมงละ 3,000 บาท ในกรณีนี้แต่ละทางเลือกนำไปสู่เป้าหมายที่แตกต่างกัน และสิ่งที่ได้รับและสูญเสียก็แตกต่างกันด้วย

          ทางเลือกเช่นนี้เรียกว่า alternative paths สำหรับผมนั้นมี 4 alternative paths ส่วนทนายความมี 2 alternative paths อย่างไรก็ดีเราทั้งสองแทบไม่ได้คิดถึงเรื่องทางเลือกนี้เลย ผมแทบมิได้ตระหนักถึงความเสี่ยงถึงชีวิตที่ผมได้ทำไปเนื่องจากผมได้ชนะมาแล้ว ส่วนทนายความนั้นแตกต่างจากผม เขาไม่ได้เสี่ยงเลือก alternative path ที่จะทำให้เขาอาจตายได้ทันที

          alternative paths เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และเรามักมองข้าม หรือตระหนักถึงมันน้อยมาก ถ้าไม่ใช่ทางเลือกที่เสี่ยงถึงกับตายก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้ารอดมาจาก “เกมส์นรก” หรือจากการเก็งกำไรหุ้น หรือการพนันจนรวยแล้ว ต้องตระหนักให้มากว่า alternative path คือความวิบัติได้ทันที คำสาปของการรวยจากการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายก็คือมักชอบที่จะทำซ้ำอีก เพราะมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติหากประสบความสำเร็จจากวิธีใดก็มักจะทำซ้ำอยู่เรื่อยไปจนถึงจุดจบในที่สุด

          ในปี 1976 นักเล่นกลมีชื่อชาวฟินแลนด์ Aimo Leikas ถึงจุดจบจากการเล่น Russian roulette บนเวทีต่อหน้าคนดูหลังจากที่รอดมาได้ 1 ปีเต็ม เขามีชื่อเสียงในความกล้าหาญโดยมิได้ตระหนักถึง alternative pathที่อาจสร้างความวิบัติให้เขาได้หลายครั้งในอดีตจนกระทำซ้ำแล้วฃ้ำอีกจนพลาดในที่สุด

          บทเรียน alternative paths ก็คือความเสี่ยงไม่อาจมองเห็นได้ตรง ๆ ดังนั้นจึงควรตระหนักถึง alternative paths หรือทางเลือกอื่นที่อาจเกิดผลไปในอีกทางเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่เคยเอาชนะการกระทำที่เสี่ยงมากมาแล้วในอดีต

          คนที่มีเหตุผลน่าจะคิดว่าความสำเร็จที่มาจากความเสี่ยงที่สูงมากมีคุณค่าน้อยกว่าความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนักบากบั่นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้สิ่งที่เป็นอันตรายก็คือผู้ที่เอาชนะความเสี่ยงสูงมีทางโน้มที่จะกระทำซ้ำอีกจนหนีไม่พ้นความวิบัติในที่สุด

          การสามารถมองเห็น alternative paths โดยคนนอกเป็นงานที่ยาก และการมองเห็นโดยคนในก็เกือบจะเป็นไปไม่ได้เพราะสมองมักบอกเราเสมอว่าความสำเร็จของเรานั้นเหมาะสมแล้วไม่ว่ามันจะมาจากความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยเพียงใดก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับทางเลือกอื่นจะถูกบดบังหมดยกเว้นแต่ทางเลือกที่เรากำลังเดินเท่านั้น

          ไม่มีสิ่งใดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเราได้เท่ากับความคิดที่หมกมุ่นว่าเส้นทางที่เราเดินอยู่นั้นถูกต้องแล้วโดยมิได้ตระหนักถึงทางเลือกอื่น
 

หน้าแตกกับ Trump

วรากรณ์  สามโกเศศ
15 พฤศจิกายน 2559

         หน้าแตกครับหน้าแตก ทั้งในระดับโลกคือนักทำโพลล์มืออาชีพ นักวิชาการชั้นยอดลงมาจนถึงระดับท้องถิ่น คือ ผู้เขียน ไม่มีคำแก้ตัว มีแต่คำอธิบาย

          ในเบื้องต้นต้องยอมรับว่าผิดพลาดในการทำนายกันทุกสำนักใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มีอยู่เจ้าเดียวที่บอกว่า Trump จะชนะ คือ โพลล์ของหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times สาเหตุของความผิดพลาดจะมีการวิเคราะห์กันอีกยืดยาวในอนาคต แต่ถ้าดูกันเร็ว ๆ ก็พูดได้ว่าวิชาสถิติไม่ได้ผิดพลาด คนเอาไปใช้ต่างหากที่ผิดพลาด

          ส่วนใหญ่พยากรณ์ว่า Clinton จะชนะประมาณ 2% ซึ่งโพลล์ในอดีตที่ผ่านมาจะผิดพลาดจากคะแนนจริงประมาณ 2% ซึ่งหมายความว่าอาจชนะกันถึง 4% หรือใกล้เคียงกันขนาดใกล้ 0%

          อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่ตีความแบบฟันธงว่า Clinton ชนะแน่ 2% ซึ่งในความเป็นจริง Clinton ก็ชนะคะแนนนิยมเหนือ Trump ประมาณ 0.28% ซึ่งอยู่ในขอบเขตของความผิดพลาดทางสถิติในอดีตที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าไม่ได้ดูกันลงไปในรายละเอียดในระดับรัฐว่าแต่ละคนพยากรณ์ว่าชนะกันกี่ % และมีความผิดพลาดทางสถิติมากน้อยพอที่จะลบล้างการมีคะแนนนำหรือไม่

          เหตุที่ต้องให้ความสนใจระดับรัฐก็เพราะประเทศนี้ประหลาดที่แพ้ชนะกันอยู่ที่ใครได้ Electoral Votes (EV) มากกว่ากัน ใครชนะรัฐไหนไม่ว่ามากน้อยกี่คะแนนก็ได้ EV ไปทั้งหมดเลย แต่ละรัฐก็มี EV ไม่เท่ากัน

          ผลเลือกตั้งที่ออกมาคือ Clinton ชนะ Trump ในเรื่องคะแนนนิยม 50.4% ต่อ 49.86% กล่าวคือชนะกัน 0.28% หรือ 337,636 คะแนน

          สำหรับ EV นั้น Trump ได้ 290 และClinton ได้ 228 ดังนั้นถึงแม้ Clinton จะได้รับคะแนนสูงกว่าแต่ก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะได้ EV น้อยกว่า

          ณ จุดนี้ขอบอกว่าคะแนนนี้ยังไม่เป็นทางการเพราะมีอีก 20 EV ที่ยังไม่ได้เอามารวม แต่แน่ชัดว่าไม่ต่างจากนี้มากนัก

          เหตุใดโพลล์จึงพลาดระดับรัฐ? คำตอบก็คือไม่ว่าจะมีวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการทำโพลล์อย่างไรก็แล้วแต่ ก็หนีการมีสมมุติฐานไปไม่ได้เมื่อความเป็นจริงไม่ตรงกับสมมุติฐาน ก็พยากรณ์คลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่นโพลล์มีสมมุติฐานว่าจะมีคนมาลงคะแนนเป็นจำนวนเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจก็ไม่เอามาปนด้วย และผลจากโพลล์ก่อนหน้าเลือกตั้งจะเป็นจริงในวันเลือกตั้ง

          เมื่อคนมาลงคะแนนเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น และที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเกิดเทคะแนนให้สองคนไม่เป็นสัดส่วนกัน และอีกทั้งใน 2 วันหลังมีคนเปลี่ยนใจ ดังนั้นโพลล์ก็ทำนายผิดอย่างแน่นอน

          การเก็บโพลล์ก็เหมือนกับถ่ายรูปไว้(วันทำโพลล์)และคาดว่าในเวลาต่อมา แต่ละคนหน้าตาจะไม่แก่ ไม่เปลี่ยนไป เพื่อที่จะแน่ใจได้ว่าภาพที่ถ่ายไว้ก่อนหน้าจะเหมือนภาพที่เกิดขึ้นจริงในวันลงคะแนน
          แต่ในความเป็นจริงตอนถ่ายรูป บางคนแอบซ่อนหน้าไว้ไม่ให้เห็น แกล้งทำปากเบี้ยวปากบูดให้หน้าตาผิดไปจากปกติ บางคนก็ไปผ่าตัดทำจมูก ทำตาสองสามชั้น หรือทำส่วนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางก่อนที่จะถึงวันมายืนให้ผู้คนเห็น (วันลงคะแนน) เมื่อเป็นดังนี้ภาพที่ถ่ายไว้ก่อนหน้าจึงไม่เหมือนภาพของผู้คนที่มาปรากฏตัวจริง

          นี่คือข้อจำกัดของโพลล์ ดังนั้นจึงหันมาใช้โมเดลความเป็นไปได้แทนในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลจากโพลล์ต่าง ๆ ข้อมูลคุณภาพของโพลล์ต่าง ๆ (ทำชุ่ย ๆ นั่งเทียน เขียนเอง) ข้อมูลอื่น ๆ ที่โพลล์ไม่ครอบคลุม ฯลฯ และพยากรณ์ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ (ที่จริงมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 แต่แปรค่าเป็น % เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น)

          ข้อถกเถียงของนักวิชาการกับนักทำโพลล์มืออาชีพก็คือการสร้างโมเดลความเป็นไปได้โดยเอาข้อมูลโพลล์ที่ประเมินด้วยวิจารณญาณอีกครั้งกว่าจะเอาเข้าไปเป็นตัวแปร เป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ พวกโพลล์นักวิชาการ เช่น Princeton Election Commission (PEC)ของ Professor Sam Wongนักวิชาการเรืองนามเถียงว่าเป็นวิธีที่ประหลาด ตัวแปรต้องเป็นข้อมูลที่ปราศจากการตีความ เมื่อได้มาอย่างไร ก็ต้องใส่เข้าไปในโมเดลเช่นนั้น มันจึงจะเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่อิงวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง

          ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง มีสงครามน้ำลายสู้กันระหว่าง PEC กับ FiveThirtyEight ซึ่งเป็นของ Nate Silver หนุ่มอายุไม่ถึง 40 ปี ที่ดังมากในสหรัฐในเรื่องการทำนาย

          PEC พยากรณ์ว่า Clinton มีความเป็นไปได้ในการชนะ 99% และอีก 4 แห่ง ก็ไปในทิศเดียวกันคือ 88-98% ส่วน Nate Silver ให้ Clinton มีความเป็นไปได้ที่จะชนะแค่ 67% และเพิ่มมาเป็น 71.4% ในที่สุด

          ผลที่ออกมาคือผิดทุกคน Nate Silver ได้เขียนอย่างระมัดระวัง เตือนให้นึกถึงความไม่แน่นอนเพราะมีคนยังไม่ตัดสินใจลงคะแนนกว่า 10% ของคนที่เชื่อว่าจะมาลงคะแนน เตือนให้ระวังคนผิวสีว่าจะไม่มาลงคะแนน เตือนให้ระวังคนผิวขาวผู้ใช้แรงงานว่าจะออกมาลงคะแนนมากกว่าที่เคยลงมา ฯลฯ สรุปแล้ว Nate Silver ดูจะผิดน้อยกว่า และหน้าแตกน้อยกว่า เขาระบุหลายรัฐที่อาจตกเป็นของ Trump ไว้ถูกต้อง เช่น Florida / North Carolina หรือแม้แต่ Pennsylvania ฯลฯ

          อย่างไรก็ดี Nate Silver ก็มีการผิดพลาดที่ฉกรรจ์ เช่น ให้ความเป็นไปได้ของการที่ Clinton ชนะคะแนนนิยมแต่แพ้ EV เพียง 10.5% และให้ Clinton ได้คะแนนนิยมเหนือ Trump ถึงร้อยละ 3.6

          “ความเป็นไปได้” (probability) คือโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ “มีโอกาส” มันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ในปีนี้เราเห็น (1) ทีม Leicester City ได้เป็นแชมป์ Premier League ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นชื่อทีมนี้มาตั้งแต่ปี 1919 (2) Brexit ถล่มโลก (3) World Series (เบสบอลล์) ปีนี้ทีม Chicago Cubs ชนะครั้งแรกนับตั้งแต่เร่ิมมีการแข่งขันในปี 1903 (4) ทีมรักบี้ All Blacks ของ New Zealand อันสุดเกรียงไกรเป็นแชมป์โลก 2 สมัยติดกัน ปีนี้ชนะติดกันมา 18 ครั้ง เกิดพ่ายแพ้ทีม Ireland ซึ่งไม่เคยชนะแม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่พบกันมา 28 ครั้ง ในสนามเมือง Chicago แบบน่าอับอายก่อนหน้าเลือกตั้งไม่กี่วัน

          คน (ไม่) น่าสงสารคือบริษัทรับพนันของอังกฤษ เจ๊งกันยับเยินเพราะต่อรองแบบแทง 1 บาท หากTrump ชนะได้ 5 บาท ส่วน Clinton แทง 1 บาท หากชนะได้ 25 สตางค์

          งานนี้หน้าแตกกันอย่างสะใจ (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) เพราะเชื่อมั่นตัวเลขของโพลล์มากเกินไป และเชื่อว่าเมื่อหลายคนระดับยักษ์พูดตรงกันมันก็ต้องจริงแน่ ๆ เราต้องเอาแผลครั้งนี้มาเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต
 

สังคมไซเบอร์และการระมัดระวัง

วรากรณ์  สามโกเศศ
19 กรกฎาคม 2559 

         การที่คนจำนวนไม่น้อยในบ้านเราระแวงโครงการ PROMPT PAY ซึ่งต้องการให้ประชาชน นักธุรกิจ SME’s โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมโครงการซึ่งใช้เลขประจำตัว 13 หลักคู่กับเบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัญชีเพื่อรับและโอนเงิน โดยเฉพาะจากภาครัฐนั้นพอเข้าใจได้หากข้อมูลดังที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นจริงทั้งหมด

          ที่ Korea University อันมีชื่อเสียง มีอยู่หนึ่งวิชาเอกที่ไม่มีชื่อวิชา มีแต่หมายเลขและ คนเรียนไม่เปิดเผยตัวตน ทุกอย่างเป็นไปอย่างเร้นลับเพราะเป็นหลักสูตรพิเศษของภาครัฐที่มีชื่อว่า The Cyber Defense Curriculum

          รัฐบาลให้เงินสนับสนุนหลักสูตรและผู้เรียนอย่างเต็มที่ นักศึกษาเหล่านี้แข่งขันกันเข้ามาเรียน สมัครเป็นร้อย ๆ รับปีละรุ่น ๆ ละ 30 คน โดยผ่านการคัดกรองอย่างเข้มข้น นอกจากเรียนฟรีแล้วยังได้เงินใช้ประจำเดือน จบออกมาทำงานใช้ที่กระทรวงกลาโหม 7 ปี หน้าที่ก็คือการเป็น “นักรบ ไซเบอร์” ต่อสู้กับศัตรูในโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่หลังสงครามเกาหลีในปี 1953

          นักศึกษาเหล่านี้เรียนคณิตศาสตร์ กฎหมาย วิชาถอดและตั้งรหัส วิชาแฮกกิ้ง หัดใช้โปรแกรมจำลองการถูกโจมตีและโจมตีศัตรู เกาหลีเหนือนั้นมีนักรบลักษณะนี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 คน โจมตีทั้งสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ทางไซเบอร์ไม่เว้นแต่ละวัน มีตัวเลขว่าที่ผ่านมาเกาหลีเหนือแฮ็กเข้าไปในคอมพิวเตอร์มากกว่า 140,000 เครื่อง ใน 160 บริษัทและหน่วยราชการ อีกทั้งยังไปหยอดโค๊ดและซอฟแวร์อันตรายโดยวางแผนระยะยาวที่จะโจมตีครั้งใหญ่ในอนาคต
          การโจมตีครั้งใหญ่เช่นนี้ก็ได้แก่การล้วงตับข้อมูล ทำให้ข้อมูลปั่นป่วน เปลี่ยนแปลงข้อมูล ทำให้ระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งมหาชน ระบบป้องกันภัย ระบบความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ มีปัญหาหนัก ในปี 2013เกาหลีใต้โทษเกาหลีเหนือสำหรับการโจมตีสถาบันการเงิน และการส่งคลื่นกระจายเสียงและภาพทางไซเบอร์จนคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ได้เป็นเวลากว่าหนึ่งอาทิตย์

          เกาหลีใต้มี “นักรบไซเบอร์” อยู่เพียง 500 คน แต่เชื่อว่ามีความสามารถสูงกว่าเพราะพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ปี 2012 โดยใช้โครงการ Talpiot ของอิสราเอลเป็นต้นแบบ โครงการนี้ระดมนักศึกษาปัญญาเลิศมาเรียนเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อทำงานป้องกันประเทศ

          โครงการ Talpiot เริ่มตั้งแต่ปี 1979 ผู้เข้าโครงการจะเรียนระดับปริญญาตรีด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ Hebrew University พร้อมกับการฝึกฝนในสนามเพื่อให้รู้จักการรบ เมื่อเรียนจบก็ทำงานให้กระทรวงกลาโหมหรืออุตสาหกรรมผลิตอาวุธ หลายคนต่อมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยมีชื่อเสียงระดับโลก

          นอกจากสงครามไซเบอร์ที่มีจริง ‘นักรบไซเบอร์’ ที่มีความสามารถสูงในการแฮก และป่วนข้อมูลแม้แต่ในองค์การที่มีระบบการป้องกันสูงอย่างมากแล้วนั้นก็มีจริงด้วย

          เมื่อได้ยินข่าวคราวเรื่อง Stuxnet Virus ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสงครามไซเบอร์เพื่อรับมือและรุกรานศัตรูแล้วก็ยิ่งทำให้ไม่ไว้ใจโลกไซเบอร์ยิ่งขึ้น

          ข่าวที่ออกมาซึ่งน่าจะมีความจริงอยู่ไม่น้อยเพราะมีหนังสือและข้อเขียนหลายชิ้นที่กล่าวถึงการโจมตีอุปกรณ์นิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งอยู่ในขั้น “ตั้งไข่” จนเสียหายอย่างหนักอันนำไปสู่การยอมลงนามร่วมมือกันควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอมริกาและอิหร่านเมื่อไม่นานมานี้

          “Zero Days” เป็นภาพยนตร์สารคดีซึ่งเพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้เล่าเรื่องการเอาซอฟแวร์ไปฝังตัวในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งเพื่อทำลายระบบการทำงานและล้วงข้อมูล นอกจากเกาหลีเหนือแล้ว จีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสามารถสูงในสงครามไซเบอร์

          ระบบ PROMPT PAYนี้โดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเก่าที่เคยทำกันอยู่ เพียงแต่ครั้งนี้เอาเลขประจำตัวมาจับคู่กับเบอร์โทรศัพท์และเลขบัญชีเพื่อความสะดวกเพื่อส่งเสริมธุรกิจ on-line อันจะทำให้การค้าขายในโลกไฃเบอร์สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง อย่างไรก็ดีการเอาข้อมูลสามชุดมารวมกันอย่างชัดแจ้งนั้นเป็นของใหม่ที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

          การแฮ็กและล้วงตับข้อมูลไม่ว่าจะพยายามป้องกันไว้ดีอย่างไรนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สมมุติว่าถ้ามีใครแฮ็กเข้าไปทั้งในระบบทะเบียนราษฎร์และหมายเลขโทรศัพท์ทั้งหมดได้ โดยทุกธนาคารไม่มีระบบป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพเสมอหน้ากัน เงินในบัญชีที่จะหายข้ามคืนนั้นอาจเป็นฝันร้ายที่เป็นจริงได้

          นักธุรกิจและผู้ไม่ต้องการเปิดโอกาสให้รัฐยื่นมือเข้าไปล้วงดูธุรกรรมในอดีตของบัญชีในธนาคารของตน หากต้องการอยู่ในระบบ PROMPT PAY ก็จะเปิดบัญชีใหม่ ดังนั้นสิ่งที่รุ่งเรืองแน่นอนก็คือจำนวนบัญชีในธนาคารที่จะเพิ่มขึ้นมาก และเบอร์โทรศัพท์ใหม่อีกเป็นจำนวนมากเพื่อจับคู่กับบัญชีใหม่ ๆ ที่ต้องเปิดต่อไปในอนาคต

          ธุรกิจทั้งหลายจะไปได้ดีด้วยไซเบอร์ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะประสบก็คือความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และการสูญไปของความเป็นส่วนตัว อย่าเชื่อใจและไว้วางใจมากเกินไปกับโลกไซเบอร์ เงินอาจหมดบัญชีได้หากไม่ระมัดระวังอย่างดี เงินอาจระเหยได้โดยไม่รู้ตัวเพราะคนมีคาถาวิเศษที่คอยจะเสกนั้นมีอยู่ทั่วโลก
 

ไวรัส Zika อาละวาด

วรากรณ์ สามโกเศศ
9 กุมภาพันธ์ 2559

          โลกตื่นเต้นกับการระบาดของไวรัสชื่อ Zika เนื่องจากทำความเสียหายได้มากมายต่อสุขภาพ และทำให้พ่อแม่ต้องร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด ขณะนี้ยังไม่ระบาดในเอเชียและส่วนอื่น ๆ ของโลก นอกจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้โดยเฉพาะบราซิลซึ่งประสบปัญหาหนักหน่วง แต่ก็คาดว่าน่าจะระบาดไปทั่วโลกในระดับหนึ่งในสถานที่ซึ่งยุงลายสามารถอาศัยอยู่ได้

          ชื่อ Zika มาจากชื่อป่าในอูกันดาซึ่งพบการติดไวรัสนี้ในลิงในปี 1947 และสามารถแยกไวรัสตัวนี้ออกมาได้ในปี 1952 และพบการติดเชื้อในมนุษย์ในปี 1954 ในไนจีเรีย ระหว่างปีนั้นถึงปี 2007 พบประมาณ 14-15 รายของการติดเชื้อไวรัส Zika ในคนในบริเวณอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดีเหตุการณ์พลิกผันในปี 2007เมื่อพบหนึ่งกรณีในเกาะเล็กแห่งหนึ่งในทางตอนใต้ของมหาสมุทรปาซิฟิกตอนใต้ซึ่งสร้างความงุนงงเนื่องจากอยู่ไกลออกไปมาก แต่ที่มึนยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Zika ในบราซิลในกลางปี 2015

          น่าเห็นใจชาวบราซิลที่กีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นในปี 2016 ในเดือนสิงหาคม ถ้าหากควบคุมไม่อยู่อาจมีผลกระทบต่อการจัดซึ่งได้ลงทุนไปมหาศาลแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจก็คือบริษัท TATA ของอินเดียซึ่งกำลังจะเปิดตัวรถยนต์ขนาดกะทัดรัดที่มีชื่อว่า Zica ในเร็ว ๆ นี้ การมีชื่อพ้องอย่างไม่ส่งเสริมการขายนั้นเกิดขึ้นเสมอ เช่น โทรศัพท์รุ่น Lumia ของ Nokia ก็ขายไม่ได้ดีในสเปนเพราะ Lumia เป็นคำแสลงในภาษาสเปน หมายถึง “หญิงบริการ” หรือพริกไทยดำยี่ห้อ Shito ในกานาขายไม่ดีในประเทศอื่น

          คนติดเชื้อไวรัส Zika ก็เพราะยุงลาย (มีชื่อสายพันธุ์ทางชีววิทยาว่า Aedes หนึ่งในสายพันธุ์นี้ที่ร้ายกาจคือ Aedes Aegypti) เป็นพาหะ เมื่อกัดคนที่มีเชื้อ Zika และไปกัดคนอื่นๆก็จะพลอยติดเชื้อไปด้วย การฟักตัวของเชื้อก็ประมาณ 2-7 วัน อาการไม่รุนแรงของการปวดหัว มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ หรือตาแดง อาจปรากฏ แล้วก็หายไป

          ถ้าเป็นผู้หญิงท้องที่เป็นเหยื่อยุงลายซึ่งมักกัดในเวลากลางวันก็จะเกิดผลร้ายอย่างยิ่งเนื่องจากมีทางโน้มที่เด็กเกิดมาจะมีสมองเล็กผิดปกติ (microcephaly) ซึ่งก็คือการผิดปกติทางสมอง เมื่อเด็กเติบโตขึ้นร้อยละ 15 เท่านั้นที่สมองทำงานด้านการคิดได้เป็นปกติ ส่วนใหญ่จะพิการ เช่น เดินไม่ได้ ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ เป็นลมชัก พิการทางสายตา ฯลฯ หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

          องค์การอนามัยโลกสงสัยความเชื่อมโยงระหว่าง Zika กับ Microcephaly อย่างยิ่ง ดังที่กำลังเกิดในบราซิล ตั้งแต่ตุลาคม 2015 ถึงปัจจุบันมีกรณีเด็กสมองเล็กดังกล่าว 4,000 ราย ซึ่งสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ในบริเวณที่ Zika ระบาดหนัก เช่น Recife ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีกรณีสมองเล็กถึง 300ราย ในเวลาเพียง 6 เดือน เทียบกับ 5 รายต่อปีก่อนหน้านี้

          ถ้าหากเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่ไม่ท้อง หากได้รับเชื้อ Zika ก็มีโอกาสประสบกับภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง พิการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ หรือเป็นเดือนจึงจะกลับมาเป็นปกติ อาการเหล่านี้เรียกว่า “Guillain-Barré Syndrome (GBS)” ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเซลล์ประสาทอันเนื่องมาจากได้รับไวรัส Zika ในร่างกาย

          ล่าสุดแพทย์สงสัยว่า Zika อาจติดกันผ่านเพศสัมพันธ์ หรือผ่านจากแม่สู่ลูกขณะคลอด หรือผ่านยุงพันธุ์อื่นด้วย อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสงสัย แต่ที่ชัดเจนก็คือยุงร้ายกว่าเสืออย่างแน่นอน

          ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้ออย่างต่ำ 3 อย่างคือเชื้อไข้เลือดออก(Dengue) เชื้อไข้เหลือง (Yellow Fever) และเชื้อ Zika วัคฃีนไข้เหลืองนั่นมีแล้ว ไข้เลือดออกกำลังทดลอง ส่วน Zika ยังอยู่ในขั้นต้น คาดว่าอาจเริ่มทดลองได้ประมาณปลายปี 2016

          ยุงลายน่ากลัวเพราะปรับตัวได้ดี สามารถอาศัยในเมืองที่มีเลือดคนสาระพัดหน้าเป็นอาหาร ไข่ได้ทุกที่ที่มีน้ำไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ไห กระป๋อง หรือแม้แต่แจกันดอกไม้ ในบ้านเรายุงลายเติบโตได้เป็นอย่างดีและอยู่อย่างมีความสุข

          วงวิชาการสงสัยว่า Zika มาถึงบราซิลได้อย่างไรในปี 2015 บางคนสันนิษฐานว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ที่บราซิลอาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากมีคนมาจากทุกมุมโลกนับหมื่นนับแสนคน อาจมีคนที่มีเชื้อ Zika เดินทางมาและถูกยุงลายกัด และแพร่ระบาดออกไป

          ข้อสันนิษฐานนี้ทำให้เกิดความหวาดหวั่นในมุมกลับว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีคนนับหมื่นนับแสนเดินทางมาบราซิลเพื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หากรับเชื้อ Zikaไป ก็จะนำกลับไปบ้านของตนเอง และถ้ามียุงลายอาศัยอยู่ก็อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดทั่วโลกได้

          นักระบาดวิทยาคาดว่าในประชากรจำนวน 205 ล้านคนของบราซิล จะมีคนติดเชื้อ Zika ประมาณ 500,000-1,500,000 คนเมื่อสิ้นปี 2016 และสำหรับทวีปอเมริกาใต้ทั้งหมดตัวเลขจะเป็น 3-4 ล้านคน ขณะนี้มีการระบาดของ Zika ใน 20 ประเทศโดยที่มีนอกทวีปอเมริกาใต้คือ Cape Verve ในอาฟริกา และซามัวในมหาสมุทรปาซิฟิก ในเอเชียนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจน

          ทวีปอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและคานาดานั้นก็เชื่อว่า Zika จะระบาดไปถึงยกเว้นคานาดาซึ่งหนาวเกินกว่าที่ยุงลายอาศัยอยู่ได้ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หนีไม่รอด Zika จะมาเยือนเพียงแต่จะรุนแรงหรือไม่เท่านั้น เหตุที่มั่นใจเช่นนี้ก็เพราะการเป็นโลกไร้พรมแดน การเดินทางไปมาถึงกันทุกวันอย่างสะดวกในราคาถูกทำให้ Zika ไปมาถึงกันได้อย่างง่ายดาย ผ่านการทำงานของเจ้ายุงลาย

          WHO ให้คำแนะนำในการป้องกันพิษจาก Zika ได้อย่างน่ารักมากว่า (1) คนท้องไม่ควรเดินทางไปในบริเวณที่ Zika ระบาด (2) ในบริเวณที่ Zika ระบาดนั้นควรใคร่ควรญให้ดี ก่อนท้อง (3) ระวังอย่าให้ยุงลายกัด โดยการหลีกเลี่ยงบริเวณที่ยุงลายอาศัยอยู่ (4) ใส่เสื้อผ้าหนาปิดมิดชิด และทายาป้องกันยุงกัด

          Zika น่ากลัวเพราะทำให้เด็กในท้องพิการ และทำให้เป็น GBS เคลื่อนไหวไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่พบที่เสียชีวิตโดยตรงจาก Zika การป้องกันก็ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงยุงลาย (ก็ไม่มีใครอยากเจอมันหรอก แต่มันอยากเจอเรา )และถ้ากลัวลูกพิการจาก Zika ก็หลีกเลี่ยงการท้อง (ฟังดูแปลกแต่ถูกต้องแบบกำปั้นทุบดิน)

          เราไม่ควรแตกตื่นกับ Zika ควรมีสติต่อสู้กับมัน (คงคล้ายกับกรณีของไวรัส Sika หรือสีกากับสงฆ์) โดยการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเราเพราะอาจนำมาซึ่งเชื้อ Zika ในยามที่มันมาถึงบ้านเรา และอาจนำมาซึ่งโรคไข้เลือดออกซึ่งมาอยู่ในบ้านเรานานแล้ว

          “วัคซีน Zika ชั่วคราว” ในอนาคตอันใกล้ก็คือการระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดซึ่งก็คล้ายกับ “วัคซีนชีวิตถาวร” ซึ่งได้แก่การระมัดระวัง ประคับประคองชีวิตอย่างไม่ประมาทกระมัง

ว่าด้วยเรื่องมาตรฐาน

วรากรณ์  สามโดเศศ
7 ธันวาคม 2559

          นับตั้งแต่มีสมาร์ทโฟน เรามีเวลาที่ตรงกันทุกเครื่องในโลกซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาตรฐานตรงกันอย่างแน่แท้ไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดีในปัจจุบันดูเหมือนว่ามาตรฐานในหลายเรื่องจะไม่ตรงกัน สิ่งที่เรียกว่า new normal ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องมาตรฐานในหลายกรณีทำให้เกิดปัญหา

          การบอกเวลาในปัจจุบันใช้สิ่งที่เรียกว่า atomic clock เป็นเครื่องกำหนดเวลามาตรฐาน จากนั้นก็ใช้เครื่องส่งสัญญาณทางวิทยุ (radio transmitter) กระจายข้อมูลเวลาไปยังตัวอื่น ๆ ซึ่งอยู่ทั่วโลก จนทำให้นาฬิกาโดยเฉพาะที่อยู่หน้าจอสมาร์ทโฟนบอกเวลาตรงกัน

          บางท่านอาจบอกว่าสมาร์ทโฟนในระบบ Android มักมีปัญหาในเรื่องความเที่ยงตรงซึ่งก็เป็นความจริง แต่โดยทั่วไปแล้วเวลาบนสมาร์ทโฟนเป็นมาตรฐานเดียวกันในโลกโดยอาศัย atomic clock ของ U.S. Naval Observatory ใน Washington D.C. ซึ่งบอกเวลาของสหรัฐอเมริกาเป็น ตัวหลัก และโลกก็อาศัยนาฬิกาเครื่องนี้เป็นมาตรฐานด้วย

          คำว่า “มาตรฐาน (standard)” ในเรื่องนี้จึงชัดเจนเพราะเป็นรูปธรรมและตรงกัน (ประเทศใดเวลาเร็วช้ากว่ากี่ชั่วโมง กี่นาที ก็ปรับเวลาท้องถิ่นไปโดยอาศัยเวลานี้เป็นหลัก) ซึ่งมาจากการใช้เกณฑ์เดียวกัน

          สำหรับสิ่งที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” นั้นหมายถึงเรื่องในสถานการณ์เดียวกัน แต่ใช้สองเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น นักเรียนทำผิดเหมือนกันทุกประการ แต่ถูกลงโทษด้วยความรุนแรงแตกต่างกันจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที หรือกระทำกรรมดีเหมือนกันในทุกลักษณะแต่ได้รับรางวัลแตกต่างกัน

          นอกจาก “มาตรฐานเดียว” ของเวลา และ “สองมาตรฐาน” ดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ คือ new normal หรือเรียกอีกอย่างว่า “เกณฑ์ปกติใหม่” หรือ “มาตรฐานใหม่” ก็น่าจะได้

          ตัวอย่างเช่นแต่ก่อนเศรษฐกิจเติบโตปีละ 4-5 เปอร์เซ็นต์ แต่มาบัดนี้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และความสามารถเปลี่ยนไปจนเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นนี้เราเรียกว่า “เกณฑ์ปกติใหม่” หรือ “มาตรฐานใหม่” คือ จากเกณฑ์ปกติเดิม 4-5 กลายเป็น 2-3
วัยรุ่นจนถึงวัยมหาวิทยาลัยชอบพูดจากันด้วยภาษาพ่อขุนให้คนอื่นได้ยิน ก็เรียกได้ว่าเป็น new normal หรือเกณฑ์มาตรฐานใหม่ กล่าวคือคนสมัยก่อนเขาถือกันว่าเป็นกิริยามารยาทที่ ไม่ดี เป็นการหยาบคาย แต่ปัจจุบันเขาถือกันว่าเป็นมาตรฐานใหม่อันเป็นปกติ สำหรับบางคนนั้นเห็นว่าเป็นการเสื่อมลงของความเป็นอารยะของคนไทย แต่สำหรับคนบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

          ในเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องเวลา ซึ่งชัดเจนว่า “มาตรฐาน” คืออะไร ส่วนการใช้ภาษาพ่อขุนนั้นต่างจิตต่างใจกัน บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ หรืออาจถือว่าเป็น old normal คืออ้างว่าสมัยอยุธยา หรือย้อนไปถึงสุโขทัย การพูดจาเช่นนี้เป็นมาตรฐานปกติ

          ในเรื่องจริยธรรมซึ่งควรจะเป็นเรื่องของมาตรฐานเดียวเพราะเป็นสิ่งแท้แน่นอนและอกาลิโก (ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา) คนสมัยใหม่บางส่วนก็ถือว่ามีเรื่องของ new normal เข้ามาเกี่ยวพันด้วย กล่าวคือ ‘โกงเล็กน้อย’ หรือมาตรฐานใหม่นั้นไม่เป็นไร เพราะมนุษย์ก็ต้องมีเลวบ้างจึงจะเรียกว่าเป็นปุถุชน( โกงก็เหมือนการท้อง ท้องนิดเดียวไม่มี : ผู้เขียน)

          มาตรฐานในเรื่องจริยธรรมของสังคมใดเปลี่ยนไปได้ตราบที่คนในสังคมนั้นยอมรับ ในบางวัฒนธรรมการหักหลังกันระหว่างหุ้นส่วนในการประกอบธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นมาตรฐานที่เขาทำกันอย่างเป็นเรื่องธรรมดาโดยสังคมยอมรับ ใครหักหลังเพื่อนได้แนบเนียนและมากเท่าใด ก็ถือว่ายิ่งเก่งเพียงนั้น

          ปัจจุบันมีคนไม่น้อยมีความกังวลในเรื่องมาตรฐานในระดับโลกเมื่อนาย Donald Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าจะชอบสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าอิทธิพลอเมริกาทางความคิดและวัฒนธรรมนั้นมีผลต่อโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

          การปฏิเสธว่าจะยังคงประกอบธุรกิจต่อไปควบคู่กับการเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของจริยธรรมในโลก และมีคนจำนวนมากรวมทั้งนักการเมืองทั่วโลกเลียนแบบ

          กฎหมายสหรัฐอเมริกามิได้ห้ามไว้เพราะตระหนักว่าคนในระดับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีนั้นย่อมมีวิจารณญาณที่ดีพร้อมทั้งมีจริยธรรมและวัฏปฏิบัติอันงดงามเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน สิ่งนี้เป็นมาตรฐานของคนเป็นประธานาธิบดีมาตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี ของประธานาธิบดี 44 คน

          ประธานาธิบดี Nixon ลาออกก่อนที่จะถูกรัฐสภาประนาม (impeach) อันอาจนำไปสู่การถูกไล่ออกเนื่องจากประชาชนไม่พอใจมากที่เขาโกหกและถูกจับได้ในเรื่องที่ว่าไม่รู้เรื่องการดักฟังที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ตึก Watergate

          Nixon ตกจากอำนาจเพราะทำลายความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อตำแหน่งประธานาธิบดีมายาวนาน ในตอนนั้นถือว่าเป็น “อาชญากรรม” ที่คนอเมริกันรับไม่ได้ นี่คือมาตรฐาน หรือ norm ดั้งเดิมของการเมืองและสังคมอเมริกัน

          มาบัดนี้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ตอนหาเสียงถูกจับผิดว่าพูดโกหกทุก 4 นาทีครึ่ง

          ผู้คนจึงระแวงกับ new normal เป็นอันมากและก็ไม่ผิดหวัง เพราะแค่ยังไม่ทันสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีตัวจริง ก็แสดงให้เห็นว่าจะสร้าง new normal ใหม่ขึ้นแล้ว

          ถ้า Donald Trump สามารถทำสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ดังกล่าวได้สำเร็จ ก็เป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าโลกอาจเผชิญกับปรากฏการณ์ใหม่ของ new normal ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นได้

          คนในโลกไม่เข้าใจนาย Trump ว่าคิดอย่างไรจึงยืนยันว่าจะทำธุรกิจต่อไปเพราะไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่รัฐมนตรี วุฒิสภา ฯลฯ ถูกกฎหมายบังคับให้เอาหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดที่มีไปรวมไว้ให้เอกชนผู้รับจ้างดูแลธุรกิจจัดการโดยเจ้าของไม่รู้ว่ามีการไปลงทุนอย่างไรในธุรกิจใดบ้าง (ดังเรียกว่า blind trust)

          การมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ก็คือการเปิดโอกาสให้เกิดคอรัปชั่น กล่าวคือใช้อำนาจของตนตามกฎหมายที่ได้รับมอบมาเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนกลับมาสร้างประโยชน์ให้ส่วนตัว เช่น ธุรกิจกาสิโนที่นาย Trump เป็นเจ้าของอาจมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างผ่านการใช้อำนาจของตนทางตรงและอ้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจของตน ถ้าตนเองไม่มีธุรกิจนี้หรือไม่รู้ว่าบัดนี้ตนเองมีธุรกิจเช่นนี้อยู่หรือไม่ คอรัปชั่นในลักษณะนี้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

          ถ้าสังคมมีความมั่นคงในมาตรฐานของจริยธรรมแล้ว ผู้นำทุกคนก็จำต้องอยู่ในกรอบเดียวกันด้วย แต่ถ้าหากประชาชนไม่ใช้เหตุใช้ผล ใช้แต่ความชอบโดยส่วนตัวเป็นสรณะแล้ว ความเสื่อมทรามในเรื่องจริยธรรมก็อาจกระจายไปในระดับโลกได้