Piketty เจ้าของหนังสือดังก้องโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27
พฤษภาคม 2557

ที่มา https://frenchculture.org/events/9552-rising-inequality-and-globalization

          หนังสือที่โลกตะวันตกกล่าวถึงกันมากที่สุดเล่มหนึ่งในปัจจุบันคือ “Capital in the Twenty-First Century” ของ Thomas Piketty หนังสือที่โด่งดังข้ามคืนอย่างไม่มีใครนึกฝัน

          หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์สาเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกันของฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกในสังคมทุนนิยมอย่างน่าสนใจ โดยที่ตนเองไม่ใช่มาร์กซิสต์แต่อย่างใด

          ถ้าจะเปรียบเทียบความดังในเวลาอันรวดเร็วของหนังสือเล่มนี้กับหนังสือคลาสสิค เล่มหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อให้ใกล้เคียงอย่างตั้งใจคือ “Das Kapital” ของ Carl Marx ก็จะแปลกใจ

          ‘Das Kapital’ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันใน ค.ศ. 1867 ขายได้ 1,000 เล่ม ใน 5 ปี อีก 20 ปีต่อมาจึงมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1907 ผู้คนในอังกฤษยังแทบไม่รู้จัก แต่หนังสือของ Piketty เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส และเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2014 ก็โด่งดังเหลือเชื่อ ในสหรัฐอเมริกาเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของ Amazon จนเล่ม ปกแข็งขาดตลาดอยู่หลายเดือน

          สาเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจอย่างมากส่วนหนึ่งก็เพราะว่าวางตลาดในจังหวะที่ผู้คนสนใจความไม่เท่าเทียมกันอยู่พอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่เห็นกันมานานว่าช่องว่างคนรวยคนจนนั้นเป็นเรื่องที่เพียงคนยุโรปเท่านั้นที่หมกมุ่นกัน

          วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ทำให้เห็นชัดว่าการไร้ธรรมาภิบาลและคนรวยในภาคการเงินนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร และรวยมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางที่ทำงานหนักและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเห็นความแตกต่างของระดับความมั่งคั่งและการกระจาย ตัวของความมั่งคั่ง ทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นในสังคมอเมริกันปัจจุบัน

          เมื่อมีหนังสือของ Picketty ซึ่งตั้งใจเขียนให้คนทั่วไปอ่านโดยปราศจากสมการคณิตศาสตร์หรือมีข้อความที่ต้องแบกกระไดมาอ่านด้วย จึงโดนใจคนอเมริกันอย่างจังท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ที่เชื่อมั่นในระบบทุนนิยมที่มีรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรือพวกที่เรียกว่าฝ่ายขวาในสังคมอเมริกัน

          Thomas Picketty เป็นคนฝรั่งเศส ปัจจุบันอายุ 43 ปี เขาจบปริญญาเอกเมื่ออายุเพียง 22 ปี ด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการกระจายความมั่งคั่ง โดยศึกษาที่ EHESS (École des hautes études en sciences sociales) และ LSE (London School of Economics and Political Science) เมื่อจบก็สอนหนังสืออยู่ 2 ปีที่ MIT และกลับมาเป็นนักวิจัยที่ EHESS เขาเป็นผู้บริหารของ Paris School of Economics ที่เขาพยายามก่อตั้งขึ้น

          ตลอดเวลาเขาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เท่าเทียมกัน (Economics of Inequality) จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญของโลกในเรื่องนี้ Picketty เขียนหนังสือหลายเล่ม เล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้เขาดังระดับโลกข้ามคืน

          “Capital in Twenty-First Century” สร้างความฮือฮาเพราะในประการแรก เขาใช้สถิติข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันข้ามระยะเวลา 300 ปี ของหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์จนได้ความจริงที่น่าแปลกใจหลายประการเช่นตัวอย่างที่ 1 ในช่วงเวลา ค.ศ. 1914-1970 ในสหรัฐอเมริกามูลค่าความมั่งคั่งรวมและความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ของประชากรลดลงอย่างมาก แต่ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาช่องว่างดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบเท่าเมื่อปลายศตวรรษที่ 19

          ตัวอย่างที่ 2 มูลค่ามรดกที่ตกทอดกันในแต่ละปีในฝรั่งเศสรวมกันมีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 5 ของ GDP ในทศวรรษ 1950 แต่ปัจจุบันมูลค่านั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวซึ่งไม่ต่างไปจากศตวรรษที่ 19 ที่ตัวเลขนี้สูงถึงร้อยละ 25

          สองตัวอย่างนี้คือส่วนหนึ่งของหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยมมีทางโน้มที่จะทำให้คนรวยและคนจนยิ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันยิ่งขึ้นหากภาครัฐไม่เข้ามาแทรกแซง ความแตกต่างเช่นนี้มีนัยสำคัญของความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทำงานหารายได้

          Picketty ให้คำอธิบายว่าระบบตลาดเสรี หรือบางทีเรียกว่าระบบทุนนิยม มีทางโน้มโดยธรรมชาติสู่การเพิ่มพูนทรัพย์สินและรายได้ของคนรวย พูดง่าย ๆ ก็คือระบบทุนนิยมมีทางโน้มที่นำไปสู่สภาวการณ์ที่คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น

          ฟังดูก็แสนจะธรรมดา ใคร ๆ ก็รู้สึกแต่ไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเหมือนคำอธิบายของหนังสือเล่มนี้ที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหลายประเทศข้ามเวลาถึง 300 ปี

          การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการผลิต หรือรายได้รวมของ สมาชิกในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงจึงหมายถึงการที่ผู้คนทั่วไปมีทางโน้มที่จะมีรายได้สูงขึ้นมาก

          ในระบบทุนนิยม คนรวยมีรายได้สำคัญมาจากการลงทุนของทรัพย์สินและทุนที่ได้สะสมไว้ ถ้ามีอัตราการตอบแทนของทุนสูงก็จะยิ่งทำให้รวยยิ่งขึ้นเพราะผลตอบแทนก็จะแปรรูปเป็นทุน และมีการสะสมจนทำให้มีรายได้สูงยิ่งขึ้นและสะสมเป็นทุนมากขึ้น

          Picketty ศึกษาข้อมูลจริงในประวัติศาสตร์และพบว่าในเศรษฐกิจทุนนิยม อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สินและทุนสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่เสมออย่างเห็นได้ชัดอยู่หลายเท่าตัว และนี่คือสาเหตุว่าเหตุใดคนรวยจึงยิ่งรวย

          เศรษฐกิจเติบโตช้าหมายถึงมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ รายได้ของ คนทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นช้า แต่ถ้าอัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินและทุนสูงกว่า ก็หมายความว่าเจ้าของทุนทรัพย์สินและทุนซึ่งก็ได้แก่คนรวยจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อสถานการณ์นี้ดำรงต่อเนื่องและสูงกว่ากันหลายเท่าตัวก็หมายความว่าคนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น สัดส่วนของรายได้จากการลงทุนจะยิ่งขยายตัวมากกว่าสัดส่วนของรายได้ที่มาจากค่าแรงขึ้นทุกที

          คำอธิบายของ Picketty ทำให้คนอเมริกันเข้าใจชัดยิ่งขึ้นว่าเหตุใดคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์รวมกันเป็นเจ้าของ 70 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งทั้งหมดของประเทศ (ครึ่งหนึ่งของความ มั่งคั่งทั้งหมดนี้ คนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของ) ซึ่งเทียบกับ 65 เปอร์เซ็นต์ในปี 1950

          บ้านเรายังไม่มีการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้อย่างลึกซึ้งเท่า Picketty ผู้เขียนมั่นใจว่าหากศึกษาลงลึกอาจพบความจริงที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็เป็นได้ แค่ดูเผิน ๆ ในปัจจุบันแม่บ้านคนเดียวของสกุลเดียวสามารถเป็นทั้งเจ้าของสายการบิน ที่ดินและทรัพย์สินในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ แฟรนไชส์อีกเป็นจำนวนมากได้

อุดมการณ์และเจ้าหน้าที่รัฐ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
13
พฤษภาคม 2557

Photo by AJ Colores on Unsplash

          การทำงานที่ขาดอุดมการณ์ทำให้ได้ผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่สมประโยชน์กับทรัพยากรที่ต้องเสียไป บ้านเราตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีหลักฐานมากมายว่าการขาดอุดมการณ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของภาครัฐมีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศของเราไม่อยู่ในสภาพที่ควรจะดีกว่านี้มาก

          เกาหลีใต้ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงไล่เลี่ยกับไทยใน พ.ศ. 2540 ถ้าใครพิจารณาเกาหลีใต้ในปัจจุบันให้ดีจะเห็นว่าในเวลา 10 กว่าปีเขาก้าวไปไกลมาก ๆ ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสะอาดงดงามของถนนหนทางและตึกรามบ้านช่อง โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ฯลฯ พูดได้สั้น ๆ ว่าน่าประทับใจมากในความก้าวหน้าของประเทศเขา

          มาเลเซียประสบวิกฤตเศรษฐกิจไล่เลี่ยกับไทยในยุค “ต้มยำกุ้ง” แต่ปัจจุบันมาเลเซียมีรายได้ต่อหัวที่สูงกว่าไทย 1 เท่าตัว มีคุณภาพการศึกษาเป็นที่ยอมรับของชาวโลก ภาครัฐมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบกว่าก่อนเป็นอันมาก

          ตัวอย่างไม่ไกลบ้านเราก็มีอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ ประเทศเหล่านี้ไปไกลกว่าเรามากเพราะเจ้าหน้าที่รัฐของเขามีอุดมการณ์ในการทำงาน มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการทำงานอย่างดีที่สุดในหน้าที่ของตนให้สมกับเงินเดือนที่มาจากภาษีอากรของประชาชน

          เราจะไม่เห็นฝาท่อริมถนนเปิดค้างทิ้งไว้เป็นวัน ๆ โดยไม่มีใครสนใจ ไม่เห็นสายโทรศัพท์ที่หลุดห้อยลงมาเป็นเดือน ๆ และยุ่งตีกันเหมือนฝูงงูเล็กขดกันอยู่ ไม่เห็นการใช้เวลา โทรศัพท์เรียกตำรวจ 911 ที่มาถึงช้ากว่าการโทรเรียกคนส่งพิซซ่า ไม่เห็นถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อนาน เป็นเดือน ไม่เห็นหลุมที่ขุดค้างไว้บนถนนเพราะขาดการประสานงานระหว่างประปาและไฟฟ้า ไม่เห็นการใช้เงินที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น เลือกตั้งครั้งที่แล้วใช้เงินไป 3,885 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ฯลฯ

          เจ้าหน้าที่รัฐของบ้านเราส่วนใหญ่สักแต่ว่าทำงานให้พ้น ๆ ไปในแต่ละวันนับตั้งแต่ข้างบนจนมาล่างสุด เราขาดคนจำนวนมากที่ทุ่มเทให้งานอย่างทำให้แน่ใจได้ว่างานที่เขารับผิดชอบนั้นเกิดเป็นผลขึ้นอย่างจริงจัง และขาดระบบของการสร้างความต่อเนื่องของนโยบาย

          ไม่ว่ารถจะติดกันหนักหนาแค่ไหนเพราะแค่รถ 2 คนสะกิดกันจนเผาผลาญน้ำมันมากมาย คน 2 คนนั้นก็ไม่แคร์และไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอื่นตราบที่ตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ใส่ใจเพราะก็ไอ้แค่รถติดเท่านั้น เวลาจะสูญไปเท่าใดก็เป็นเรื่องของคนอื่น ความรู้สึกว่าต้องเร่งรีบเพราะสังคมเรากำลังสูญเสียจากเหตุการณ์ไร้สาระเช่นนี้หาได้ยาก

          การประสานงานในระบบราชการก็มีน้อย ฉันทำของฉันอย่างนี้แหละและเท่านี้แหละที่พอจะประคองฉันให้ไปได้ ทำไมจะต้องไปประสานงานกับคนอื่นให้ยุ่งยากและอาจทำให้ตนเอง เสียอำนาจด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ก็ช่างมัน เพราะฉันทำงานของฉันเสร็จแล้ว

          สาเหตุของการขาดอุดมการณ์มาจาก (1) การขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ไม่สนใจและแคร์ว่างานของตนในที่สุดแล้วจะมีผลต่อส่วนรวมอย่างไรตราบที่ตนเองเอาตัวรอดได้ก็ก้าวหน้าในงานแล้ว (2) การขาดจิตสำนึกว่าเมื่อทำงานแล้วต้องทำให้ดีที่สุด ให้ผลงานคุ้มกับภาษีอากรที่บังคับเก็บจากประชาชน (3) ระบบความดีความชอบไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของผลงานขั้นที่มีผลต่อส่วนรวม แต่มักเป็นระบบที่หากเป็นพรรคพวกเดียวกันแล้วก็ช่วยเหลือกันอย่างไม่ใยดีกับความไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

          (4) คอรัปชั่นดาษดื่นในสังคมนับตั้งแต่ข้างบนสุดคือนักการเมืองไล่ลงมาจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย ปีศาจตนนี้ทำให้จริยธรรมผู้คนเสื่อม วัน ๆ เห็นแต่ธนบัตรลอยอยู่ข้างหน้าจนบดบังจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและการตั้งใจสร้างผลงานที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ให้ส่วนรวม

          ปีศาจจากอเวจีตนนี้ทำลายระบบคุณธรรมและนิติธรรมในระบบราชการอย่างป่นปี้ เพราะเมื่อวัตถุประสงค์ของงานเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ละเลยประโยชน์ที่เกิดต่อส่วนรวม การกระทำทุกอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น

          คำถามก็คือถ้าเราไม่ช่วยกันปราบปีศาจคอรัปชั่นตนนี้ ณ บัดนี้ เมื่อไหร่เราจะปราบกัน และถ้าเราไม่ช่วยกันปราบแล้ว ใครจะปราบให้เรา

          (5) คุณภาพของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉลี่ยลดต่ำลงเนื่องจากคนมีคุณภาพต่างหันไปทำงานในภาคเอกชนที่มีระบบการทำงานที่สร้างความภูมิใจและสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่คนทำงานได้มากกว่า ตลอดทั้งให้ผลตอบแทนสูงกว่าด้วย การเกิดขึ้นของโอกาสและการขยายตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำให้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจำนวนมากไม่ไหลเข้าสู่ระบบราชการ

          ถ้าสังคมไทยไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ในเวลา 10 ปีข้างหน้า สังคมของเราจะอ่อนแอเพราะขาดภาครัฐที่เข้มแข็งซึ่งสืบเนื่องมาจากการขาดอุดมการณ์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนี้ความสามารถในการจัดการกับสังคมสูงอายุที่กำลังมาถึงข้างหน้า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การมีสังคมที่มั่นคงปลอดภัยและน่าอยู่ การจัดการระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของชาติ การจัดการเรื่องการต่างประเทศ ฯลฯ จะลดถอยลงไปเป็นอันมากอย่างไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์แวดล้อมที่ต้องการความเข้มแข็งในเรื่องเหล่านี้อย่างมาก

          การขาดอุดมการณ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่เปรียบเสมือนสังคมของเราขาดเครื่องยนต์สำคัญอันจะส่งให้เกิดแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า รถยนต์ที่วิ่งไม่เต็มสูบบนถนนที่ลื่น คดเคี้ยว ลมแรง และเต็มไปด้วยภัยที่ไม่คาดฝันนั้นอยู่ภายใต้อันตรายที่น่าหวาดหวั่นยิ่ง

จิตสำนึกเงินของประชาชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6
พฤษภาคม 2557

Photo by Alexander Mils on Unsplash

          เมื่อขับรถไปบนถนนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่งหน เรามักเห็นป้ายใหญ่โตมีรูปนักการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่น นายตำรวจใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฯ และเมื่อเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ก็เห็นรูปรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี อยู่เกือบครึ่งหน้าเกือบทุกวันในหน้าซึ่งประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เรากำลังทำอะไรกันกับทรัพยากรที่เรียกเก็บมาจากประชาชนในสังคมเรา

          ป้ายและสื่อหลายลักษณะเหล่านี้ใช้เงินภาษีอากรโดยไม่ต้องสงสัย คำถามง่าย ๆ ก็คือ แล้วมันเรื่องอะไรที่จะเอาทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนมาปู้ยี้ปู้ยำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้

          ภาษีอากรหรือทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนก็คือสิ่งเดียวกัน ที่ไม่เอาคำว่าเงินไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนนั้นไม่เป็นเงินไปเสียทั้งหมด ในสมัยโบราณมีการเรียกเก็บเป็นเกลือ เป็นทองคำ เป็นข้าวปลาอาหาร ฯ สมัยใหม่ก็ได้แก่การเกณฑ์ทหาร (บังคับใช้แรงงาน และจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่เขาควรจะได้จากการทำงานในอาชีพของเขาตามปกติ)

          การเรียกเก็บเช่นนี้เป็นการบังคับโดยกฎหมาย มีโทษถึงติดคุกหากขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง ไม่มีใครอยากเสียภาษีอากรซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปภาษีทางตรง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งผู้เสียไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังคนอื่น ๆ ได้ และภาษีทางอ้อม (ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีขาเข้า ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ซึ่งผู้เสียสามารถผลักภาระภาษีไปยังคนอื่นได้)

          เงินที่เรียกเก็บจากประชาชนด้วยวิธีการบังคับเช่นนี้ (จ่ายภาษีโดยตรง เช่น ภาษี เงินได้ หรือฝังตัวอยู่ในราคาสินค้าที่ผู้คนทั่วไปซื้อหา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จึงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าแม้นว่าไม่เรียกเก็บมา ประชาชนเขาก็สามารถเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาของครอบครัว หรือขยายความสามารถในการผลิตของครอบครัว เช่น ซื้อรถไถ ซื้อรถกะบะไว้ขนส่ง ลงทุนค้าขาย หรือสามารถเอาไปใช้เพื่อการบริโภคหาความสุขได้

          เงินภาษีอากรหรือรายได้ของรัฐบาลจึงเป็นเงินของประชาชนที่มาอยู่ในมือของภาครัฐ เพื่อให้ทำงานรับใช้ประชาชน ให้สังคมดำเนินไปได้อย่างดี รัฐบาลตลอดจนข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงพึงเคารพ “เลือดเนื้อ” ของประชาชนที่ถูกตัดแบ่งมาเพื่อบริการประชาชนกลับไปอีกที่หนึ่ง

          นักการเมืองที่ปากบอกว่าเคารพเสียงของประชาชนฉันใดก็ต้องเคารพเงินของประชาชนที่มาอยู่ในมือของภาครัฐฉันนั้น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเคารพเช่นเดียวกันเพราะทุกบาทของเงินเดือนมาจากเงินของประชาชน (บางคนอาจเถียงว่าบางส่วนของงบประมาณรายจ่ายของรัฐมาจากเงินกู้ยืม ก็ขอตอบว่าในการใช้หนี้ในอนาคตก็ต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนอีกนั่นแหละมาชดใช้)

          นักการเมืองที่ใช้กลไกการเลือกตั้งเป็นสะพานไปสู่การยึดครองเมืองภายใต้การเชิดชูประชาธิปไตยแบบปลอม ๆ ก็คือการผลาญเงินของประชาชนอีกหนทางหนึ่ง เพราะแทนที่จะเอาเงินภาษีอากรมาทำให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของเงินอย่างแท้จริง กลับเอามาสร้างประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก

          ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ผลาญเงินภาษีอากรของประชาชนอย่างสนุกมือ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายขาดจิตสำนึกว่ากำลังเอาเงินของประชาชนมาใช้สมควรถูกประนามโดยสังคม

          การเอาเงินของประชาชนมาสร้างป้ายใหญ่โตที่ไร้สาระสำหรับสังคม แต่เกิดประโยชน์ส่วนตัวในการประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อ “ความดัง” หรือเพื่อเตรียมหาเสียงเลือกตั้งในอนาคต คือการไม่เคารพประชาชน และไม่เคารพประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

          ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว เขามีกฎหมายห้ามการกระทำเช่นนี้ ได้ทราบว่าในประเทศไทยก็มีผู้เตรียมร่างกฎหมายนี้ไว้แล้วเช่นกัน เพราะยิ่งนับวันก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและท้องถิ่น

          การจ่ายเงินให้สื่อสิ่งพิมพ์ก้อนใหญ่เป็นประจำเพื่อประชาสัมพันธ์งานของหน่วยงานโดยมีรูปนักการเมือง ปลัดกระทรวง อธิบดีปรากฏนอกจากจะเป็นการเอาเงินหลวงมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้ว (คำจำกัดความของคอรัปชั่นอันหนึ่งคือการเอาอำนาจที่สาธารณะมอบให้มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว) ยังเป็นการช่วยทำลายบทบาทที่ดีของสื่ออีกด้วย (ถ้าหนังสือพิมพ์คุ้ยข่าวหรือลงข่าวไม่ดีที่เกิดขึ้นในองค์การของฉัน ก็บ๊ายบายกับเงินส่วนนี้ได้)

          ไม่ว่าจะมองแง่มุมใด การเอาเงินหลวงมาทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์คำขวัญหรือให้พรโดยมีรูปของเจ้าหน้าที่ของรัฐปรากฏอยู่ด้วยไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ถ้าท่านจะใช้เงินส่วนตัวจริง ๆ ติดตั้งในบ้านหรือบนหลังคาบ้านท่านไม่มีใครเขาว่าหรอก

          การแสดงความเคารพทรัพยากรซึ่งถูกบังคับเรียกเก็บจากประชาชนโดยนำมาใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์คืนสู่ประชาชนคือการช่วยจรรโลงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

โจรจะชุกชุมหลัง ASEAN 2015

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29
เมษายน 2557

Photo by Maxim Hopman on Unsplash

          ปี 2015 แห่งการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใกล้เข้ามาทุกที สิ่งที่มักพูดกันในบ้านเราก็คือไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากเศรษฐกิจการค้า โดยมองข้ามผลเสียสำคัญด้านหนึ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยโดยตรง นั่นก็คือความชุกชุมขึ้นของอาชญากรรม จนอาจนำไปสู่ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติ

          ในขณะนี้ถึงแม้จะไม่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Community) โดยสมบูรณ์ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นไปมากแล้วในระดับหนึ่ง ไม่เชื่อมองคนทำงานบ้านของท่าน คนขายของในตลาด แรงงานภาคบริการ คนขายก๋วยเตี๋ยว แรงงานก่อสร้าง แรงงานประมงและ กรีดยาง ฯลฯ ล้วนเป็นคนจากประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านเราทั้งสิ้น ตัวเลขแรงงานเหล่านี้ 6-7 ล้านคน น่าจะไม่ห่างไกลความจริง

          ในด้านการเดินทางในกลุ่ม AC ปัจจุบันคนอาเซียนสามารถเดินทางถึงกันทุกประเทศ (ยกเว้นเมียนมาร์) ได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า เพียงหนังสือเดินทางเล่มเดียวก็ทำให้คล่องตัว สามารถเข้าออกประเทศกันและกันได้อย่างสะดวก

          ตรงจุดนี้แหละที่จะทำให้มีโจรชุกชุมในบ้านเรา ในจำนวนประชากรอาเซียนเกือบ 600 ล้านคน ย่อมต้องมีคนคดในข้อชอบหากินผิดกฎหมายอยู่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องปกติ ถามว่าถ้าคนอาเซียนเหล่านี้คิดจะไปเป็นโจรล้วงกระเป๋า ตัดช่องย่องเบา ปล้นจี้ ประกอบมิจฉาชีพต่าง ๆ จะเลือกเดินทางไปไหน คำตอบก็คือประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ

          ถ้าผมเป็นโจรผมไม่ไปสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ที่มีการควบคุมดูแลคน ต่างด้าวรัดกุมเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานและดูแลกำกับการทำมาหากินคนต่างด้าวต่างถิ่นในบ้านเขาอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากร 230 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 100 ล้านคน ผมก็อาจไม่ไปเพราะคนฐานะดีมาก ๆ มีจำนวนไม่มาก ช่องทางอาจมีอยู่มากแต่โอกาสไม่อำนวยเท่า ที่อื่น ถ้าเป็นเวียดนาม พม่า ลาว และเขมร ก็ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ทักษะโจรของผมทำงานได้ไม่เต็มที่

          กรุงเทพฯ ซิครับคือเมืองสวรรค์แห่งการโจรกรรมและประกอบมิจฉาชีพ เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ (1) มีศูนย์การค้าหรู ๆ และบ้านจำนวนมาก ตลอดจนคนมีเฟอร์นิเจอร์บนตัวเดินกันเพ่นพ่าน สายสร้อยห้อยพระเหลืองอร่าม พูดง่าย ๆ ก็คือมีโอกาสมาก (2) ใครจะเข้าเมืองผิดกฎหมายมาอยู่ใกล้บ้าน คนไทยก็ไม่สนใจเพราะโทรไปบอกใครก็ไม่มีใครตอบสนอง ต่างคนต่างสนใจและระมัดระวังแต่เรื่องของตัวเอง ไม่อยากยุ่งให้มีเรื่องปวดหัว ความเป็นสังคมเปิด สังคมตัวใครตัวมันและความเป็นสังคมใจกว้างทำให้การร่วมมือจากประชาชนอ่อนแอ

          ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบรักษากฎหมายโดยเฉพาะตำรวจมีประสิทธิภาพในการปราบปรามต่ำ (หากไม่ต้องการจับและไม่เห็นประโยชน์ในการปราบปราม) การไม่รับผิดชอบจริงจังยอมให้มีมาเฟียต่างชาติในพัทยา ภูเก็ต สมุย คือตัวชี้ให้เห็นทางโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังปี 2015

          ถ้าการละเลยไม่ปราบปรามแล้วได้ผลประโยชน์มากกว่าการปราบปรามจะไปทำมันทำไมทั้งเหนื่อย ทั้งเสี่ยง และก็ไม่ได้ผลตอบแทน ถ้าความคิดเช่นนี้กลายเป็น norm ไปทั้งหมดเพราะไม่มีอุดมการณ์เป็นตัวคาน โจรจะชุกชุมยิ่งกว่ายุงเพราะบรรดาโจรจากสารทิศจะแห่กันมาประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

          นี่คือข้อเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดและมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทันที บางคนอาจสงสัยว่าก็การไม่มีวีซ่าก็เกิดขึ้นนานพอควรแล้ว ยังไม่เห็นมีโจรชุกชุมดังที่กล่าวเลย

          คำตอบก็คือมันมีความชุกชุมอยู่พอควรแล้วแต่ไม่เป็นข่าว โดยเฉพาะการล้วงกระเป๋าลักเล็กขโมยน้อย แต่การที่กรุงเทพมหานครเป็นสวรรค์ของโจรอาเซียนยังไม่เป็นที่ประจักษ์กว้างขวาง แต่เมื่อถึงปี 2015 ซึ่งการเป็น AC อย่างเป็นทางการเกิดขึ้น อีกทั้งรู้ว่าสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก โจรต่างแดนในบ้านเราก็จะมีมากขึ้นเพราะเห็นช่องทางมากขึ้นทุกขณะ และเมื่อนั้นแหละสวรรค์ของเขาก็จะกลายเป็นนรกของเรา

          ในตอนแรกก็คงเป็นแค่ระดับอนุบาลคือล้วงกระเป๋า ต่อไปก็จะฉกชิงวิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อย จี้ปล้น ตัดช่องย่องเบา และจะหนักมือขึ้นเป็นลำดับ ทั้งหมดนี้จะเป็นความจริงหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเราหย่อนยานในประสิทธิภาพ ภาครัฐไม่มีการเตรียมพร้อมจริงจัง และมองไม่เห็นภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น

          บางคนอาจบอกว่าการไม่มีวีซ่าหมายถึงการไม่ต้องไปขออนุญาตเข้าประเทศเท่านั้น ส่วนจะอนุญาตให้เข้าประเทศหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การกล่าวเช่นนี้ถูกต้องแต่ในความเป็นจริงนั้นเกือบทุกรายก็สามารถเดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเข้าประเทศได้โดยไม่มีการห้ามปรามทั้งสิ้น ดังนั้นการไม่มีวีซ่านั้น จริง ๆ แล้วก็คือการเข้าประเทศได้อย่างเกือบเสรีนั่นเอง

          การเป็น AC นั้นเป็นเรื่องดีเพราะจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ไทยและเพื่อนบ้าน AC แต่ผลเสียเรื่องอาชญากรรมชุกชุมขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่พอมองเห็นกันได้หากตาไม่มืดบอดกันเพราะมีผลประโยชน์เป็นน้ำกรดจนยอมให้คนต่างชาติเข้ามาทำใหญ่โตในบ้านเรา

          ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เตรียมตัวรับมือโจรที่จะชุกชุมขึ้นอย่างจริงจังแล้ว “ราคา” ที่เราต้องจ่ายสำหรับการอยู่ดีกินดีจากการมี AC ก็จะแพงมาก ๆ

ข้อเสนอเสริมสร้างจิตสำนึกจริยธรรม

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22
เมษายน 2557

          ความรู้สึกว่าคอรัปชั่นแพร่ขยายในหมู่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐของบ้านเรามีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน และเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายทำลายบ้านเมืองทั้งในด้านศรัทธาที่คนอื่นมีต่อเราและในด้านมาตรฐานจริยธรรมของสังคม ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไข สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงทุกที
คำถาม

          สำคัญในเรื่องคอรัปชั่นก็คือถ้าพวกเราไม่ช่วยกันแก้ไขในปัจจุบันแล้วเมื่อไหร่จะทำ และถ้าพวกเราไม่เป็นคนทำแล้วใครจะเป็นคนลงมือ เราต้องช่วยกันทันทีและโดยคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ

          ด้วยสปิริตดังกล่าวนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคณะกรรมการการส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกด้านจริยธรรม ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขอนำมาสื่อสารต่อ

          สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมองการณ์ไกลร่วมมือกับโครงการ “โตไปไม่โกง” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดตั้ง “โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม” โดยมีองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นผู้ผลักดันสำคัญ

          โครงการโรงเรียนต้นแบบนี้ประสบความสำเร็จดังที่รู้จักกันดีในนามของ “บางมูลนากโมเดล” ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ พัฒนาครู พัฒนานักเรียน และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม โดยมุ่งสู่ 3 คุณธรรมเป้าหมาย ได้แก่ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง จากการพัฒนาภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี พฤติกรรมของครูและนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเริ่มจากพฤติกรรมที่ “ดี” ขึ้นของเด็กไปสู่ “เก่ง” ขึ้น (กรณีกลับกันคือ ‘เก่ง’ ไปสู่ “ดี” นั้นอาจไม่เกิดขึ้น)

          โครงการส่งเสริมสำนึกด้านจริยธรรมเช่นนี้ก็สมควรทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งและควรแพร่ขยายไปยังโรงเรียนอี่น ๆ ทั่วประเทศเพราะภายในเวลาไม่กี่ปีคนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลังสำคัญของชาติ และจำนวนหนึ่งก็จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          อย่างไรก็ดีในระยะสั้นและกลางการแก้ไขจิตสำนึกด้านจริยธรรมของบางส่วนของคนเหล่านี้ที่เสื่อมก็ต้องทำคู่ไปด้วย ในความเห็นของผู้เขียนสองด้านที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาก็คือ (1) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement) (2) ด้านการดำเนินการเพื่อให้เกิดการฉุกคิดด้านจริยธรรม (moral enforcement)

          คนเหล่านี้มีอายุเกินกว่าที่จะแก้ไขจิตสำนึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ขาดจิตสำนึกจริยธรรมเกิดความกลัวและเกิดความคิดที่จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็คือการลงโทษอย่างเห็นผล และการได้รับข้อมูลจนเกิดความคิดที่เหมาะสม

          ในด้านแรกคือการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีการจับคุมขังที่จริงจังในกรณีคอรัปชั่นหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ตลอดจนปฏิรูปสร้างกลไกป้องกัน ใหม่ ๆ ดังนี้ (ก) สร้างระบบและสภาพแวดล้อมที่คนไม่ดีไม่อาจกระทำความเลวได้เพราะจะถูกจับและถูกลงโทษเสมอ ส่วนคนดีก็ไม่กล้าทำความเลวเพราะไม่มีช่องทางโน้มน้าวให้ทำได้

          งานวิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชี้ให้เห็นว่าคนจะกระทำสิ่งผิดกฎหมายเมื่อประมาณการว่าผลตอบแทนที่อาจได้รับสูงกว่าสิ่งเป็นลบที่คาดว่าจะเกิดกับตัวเขา ตัวอย่างเช่นถ้าการคอรัปชั่นมีโอกาสก่อให้เกิดผลตอบแทนมาก โดยโอกาสที่จะถูกจับลงโทษนั้นใกล้สูญ คนจำนวนมากก็จะคอรัปชั่นอย่างแน่นอน หรือการจี้ปล้นมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าความเจ็บปวดจากการติดคุกซึ่งคาดว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะตำรวจไม่เคยจับได้และถูกลงโทษเลย ถ้าเป็นเช่นนี้โจรผู้ร้ายก็จะชุกชุม

          การบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันกับคนโกงโดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การลงโทษที่เกิดขึ้นในเวลาอันควรจะทำให้คนอื่น ๆ ที่คิดจะทำความผิดเห็นผลลบที่จะเกิดขึ้นแจ่มชัดยิ่งขึ้น

          ในด้านที่สองคือการดำเนินการเพื่อให้เกิดการฉุกคิดด้านจริยธรรมด้วยการให้ข้อมูลที่เหมาะสม ประกอบด้วย (ก) ตลอดเวลายาวนานคนไทยจำนวนมากรวมทั้งกลไกของรัฐมักมีความคิดว่า “ผู้ใหญ่” โดยปกติแล้วไม่ควรติดคุกหรือติดคุกไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเห็นคนใหญ่คนโตเกือบทั้งหมด หลุดรอดจากการถูกจำคุกถึงแม้จะมีความผิดก็ตาม หรือไม่ก็หลุดรอดไปเลยเมื่อเวลาของคดียาวนานจนคนลืมอยู่เนือง ๆ

          สังคมต้องช่วยกันให้ข้อมูลเพื่อช่วยทำให้ความคิดที่ล้าสมัยนี้ตกไป ในต่างประเทศนั้นข้าราชการชั้นสูง รัฐมนตรี แม้แต่ประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อิสราเอล ไต้หวัน ฯลฯ เป็นตัวอย่าง) ถ้าสังคมเราทำลายป้อมความคิดนี้ลงได้ “ผู้ใหญ่” ไทยก็จะเกรงกลัวผลลบจากการโกง และจิตสำนึกแห่งจริยธรรมอาจดีขึ้นทันที การติดคุกจากการทำความผิดเป็นอาหารความคิดอย่างดีสำหรับคนคิดจะโกง

          (ข) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลชาวสวีเดนชื่อ Gunnar Myrdal (1898-1987) ทำวิจัยและเขียนหนังสือชื่อ Asian Drama : An Inquiry into The Poverty of Nations (1968) ได้พบความจริงจากงานวิจัยว่า สิ่งที่ช่วยกระพือให้คนในประเทศกำลังพัฒนาโกงกันอย่างกว้างขวางก็คือความเชื่อที่ว่าใคร ๆ ก็โกงทั้งนั้น คนที่คิดจะโกงจึงคิดว่าการโกงของเขามิได้เป็นสิ่งผิดปกติเพราะใคร ๆ ก็ทำกันทั้งนั้น (แถมไม่ติดคุก)

          Group Psychology หรือจิตวิทยาหมู่เช่นนี้เป็นจริงเสมอไม่ว่าในเรื่องแฟชั่น กระแสความนิยมสินค้า พฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ การให้ข้อมูลว่าคนที่ไม่โกงก็ยังมีในสังคมไทยด้วย การเผยแพร่ตัวอย่างประวัติชีวิตบุคคลดีเด่นของสังคมไทย เรื่องเล่าการต่อสู้จนชนะใจไม่คดโกง การทำให้เห็นว่าการคดโกงและบ้าอำนาจเป็นความผิดปกติที่ชั่วร้าย ฯลฯ การประชาสัมพันธ์ในสื่อต่าง ๆ ทุกรูปแบบจะเป็นการสร้างการฉุกคิดที่ดี

          แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือการออกกฏหมายคุ้มครองผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล (Whistleblower) ของการทำงานในภาครัฐซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศในปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกา คานาดา มาเลเซีย อังกฤษ อินเดีย มอลต้า ฯลฯ การที่คนเปิดโปงความไม่ถูกต้องได้รับการคุ้มครองจะทำให้ผู้คิดกระทำผิดเกิดความกลัว และกล้าที่จะทำสิ่งผิดน้อยลง แนวคิดนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ Oscar Wilde (นักประพันธ์เอกชาวไอริช ค.ศ. 1854-1900) ที่ว่า “ถ้าให้หน้ากากเมื่อใด เมื่อนั้นเขาก็จะพูดความจริง”

          การสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรมต้องทำพร้อมกันในหลายด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสอดแทรกในระบบการศึกษา บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง สร้างกลไกป้องกัน สร้างความกลัว บ่มเพาะความคิด ฯลฯ และมีมาตรการใหม่ ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล เป็นต้น

Jokowi ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15
เมษายน 2557

Joko Widodo Photo: Shutterstock

          อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของอาเซียนใกล้จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีพื้นฐานแตกต่างกว่าคนก่อนหน้า 5 คน อย่างสิ้นเชิง และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะชื่อเสียงของความสามารถ การถึงลูกถึงคน และความเป็นคนติดดิน

          วันที่ 9 เมษายน 2014 จะมีเลือกตั้ง ส.ส. และผู้แทนในระดับท้องถิ่นครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียที่มีกว่า 17,000 เกาะ มีผู้ลงคะแนน 187 ล้านคน มีพรรคใหญ่ 3 พรรค และพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายสิบพรรค ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยเป็นคนค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ คนรับจ้างขับมอเตอร์ไซค์ แรงงานหาเช้ากินค่ำ ตลอดจนคนเดินดินกินข้าวแกงธรรมดา เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นี้ นับตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา 16 ปี จะเป็นการเมืองที่เรียกว่า ‘inclusive’ กล่าวคือคนเล็กคนน้อยก็มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศเป็นครั้งแรก (เพียงร้อยละ 39 ของผู้สมัครจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า)

          อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 ประธานาธิบดีคนแรกคือ Sukarno ต่อมาคือ Suharto ซึ่งครองอำนาจอยู่ 31 ปีเต็ม จนหมดอำนาจในปี 1998 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ถัดมาคือประธานาธิบดี Habibie และต่อด้วย Wahid และ Megawati จนถึงประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono (SBY) ซึ่งจะครบเทอมที่สองในปี 2014 และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก

          ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1945 จนถึงปัจจุบัน อำนาจการเมืองตกอยู่ในกลุ่มทหารและชนชั้นกลางระดับสูง ซึ่งล้วนผูกพันกับประธานาธิบดี Sukarno และ Suharto ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (SBY ก็เคยเป็นทหารเอกคนหนึ่งของ Suharto)

          แม้แต่ 3 พรรคใหญ่คือ Golkar (พรรคทหารเก่า) พรรค Gerindra (นำโดยนายพล Subianto อดีตนายทหารใหญ่ของซูฮาโต) และพรรค Indonesian Democratic Party-Struggle (PDI-P) ซึ่งนำโดยอดีตประธานาธิบดี Megawati Sukarnoputri (ลูกสาวของประธานาธิบดี Sukarno) ตัวละครก็วนเวียนกันอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม

          เมื่อมีตัวละครใหม่ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวพันเลยกับอดีตผู้นำทั้งหลายที่ผ่านมา อีกทั้งมีความสามารถในการสื่อสารกับประชาชนธรรมดาได้ดี และมีความสามารถ พลเมืองผู้เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการเมืองอินโดนีเซียจึงตื่นตัวสนับสนุนนาย Joko Widodo ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Jokowi อดีตนายกเทศมนตรีเมือง Surakarta (ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่าเมือง Solo) และปัจจุบันเป็นผู้ว่าการมหานคร Jakarta ปัจจุบัน Jokowi มีอายุ 53 ปี เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จาก Gadjah Mada University อดีตเคยเป็นนักธุรกิจเซลล์แมนขายเฟอร์นิเจอร์ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo บ้านเกิดของเขาในปี 2005 เขาก็แสดงฝีมือด้วยทัศนคติ ‘can do’ ให้ประชาชนเห็นภายใต้การแสดงออกถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์

          ในช่วง 7 ปีที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี เมือง Solo ก้าวหน้าไปมาก เขาสร้างตลาดของเก่า ตลาดเครื่องไฟฟ้า สร้างทางเดินยาว 7 กิโลเมตร กว้าง 3 เมตรคู่กับถนนใหญ่ ปรับปรุงสวนสาธารณะขนาดใหญ่สองแห่ง เข้มงวดการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่รอบเมือง รีแบรนด์ Solo ให้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเกาะ Java เพื่อการท่องเที่ยวภายใต้คำขวัญ “The Spirit of Java” สนับสนุนให้ Solo เป็นศูนย์กลางสัมมนาประชุมสำคัญระดับโลกหลายครั้ง สร้างโครงการประกันสุขภาพสำหรับชาว Solo ทุกคน สร้าง Solo Techno Park เพื่อสนับสนุนโครงการรถยนต์ของประเทศ พัฒนาการขนส่งสาธารณะ ฯ

          ชื่อเสียงของ Jokowi ดังขึ้นทุกทีจนในปี 2012 ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการมหานคร Jakarta ในปี 2012 และเป็นที่นิยมมากเพราะตัดสินใจเด็ดขาดเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินและขนส่งสาธารณะที่คาราคาซังมานาน และการจราจรก็แทบเป็นอัมพาตในปัจจุบัน

          Jokowi ดังเพราะความเป็นผู้นำของเขาในการเข้าถึงคนธรรมดาในยุคการเมือง ‘inclusive’ ที่ประชาชนตื่นตัวในสิทธิของตนเอง เขาสื่อสารให้คนตัวเล็ก ๆ มองเห็นว่าเขาจริงใจ ถึงลูกถึงคน และมือสะอาด เขาห้ามญาติพี่น้องยุ่งเกี่ยวกับการประมูลงานตั้งแต่สมัยเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo

          ประชาชนซึ่งเบื่อหน่ายการเมืองที่วนเวียนอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ และเต็มไปด้วยคอรัปชั่น ตั้งใจจะลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น การสำรวจเชื่อว่าจะเพิ่มจากเดิมร้อยละ 71 เป็น 80 คนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 50-60 ล้านคน เริ่มเปลี่ยนใจจากเดิมที่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นจะไปร่วมเป็นตัวเลขสูงขึ้น Jokowi เป็นนักการเมืองที่ไม่เพียงแต่อุ้มเด็กถ่ายรูปเท่านั้น เขายังไปเยี่ยมสลัมแหล่งอาศัยของคนยากจนจำนวนมากใน Jakarta แต่งตัวธรรมดา พูดคุยกับชาวบ้านเรื่องราคาอาหาร น้ำท่วม การทำมาหากิน เขาทำอย่างที่เรียกว่า ‘เล่นเป็น’ ซึ่งประชาชนก็ตอบรับเขาเป็นอย่างดีเพราะศรัทธาในความจริงใจ

          ถึงแม้จะอยู่ในพรรคของลูกสาวประธานาธิบดี Sukarno แต่เขาก็สามารถรักษาภาพลักษณ์ของ ‘คนใหม่’ ได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้นพรรคของเขาต้องผ่านด่านการเลือกตั้งวันที่ 9 เมษายนนี้ไปก่อน กฎหมายกำหนดว่าพรรคใดจะเสนอชื่อคนสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของคะแนนเสียงทั้งหมด หรือได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 (112 จาก 560 คน) หรือร่วมกับพรรคอื่นเพื่อให้มีสัดส่วนเสียงเพิ่มขึ้น

          การสำรวจความนิยมเมื่อกลางเดือนมีนาคมระบุว่า ในการเลือกตั้ง 9 เมษายน นี้ พรรค PDI-P จะได้คะแนนเสียงร้อยละ 20.1 Golkar ได้ร้อยละ 15.8 และ Gerindra ได้ร้อยละ 11.3 และถ้ามีการเลือกประธานาธิบดีกันในวันนี้ Jokowi จะชนะได้คะแนนร้อยละ 31.8 ตามด้วยนายพล Subianto ของพรรค Gerindra ร้อยละ 14.3 และนายพล Wiranto ของพรรค Hanura ร้อยละ 10.3

          การสำรวจชี้ให้เห็นว่าในการเลือกตั้ง 9 เมษายน นี้ จะไม่มีพรรคใดชนะเด็ดขาด จะมีการร่วมมือกันระหว่างพรรคเพื่อส่งตัวแทนลงแข่งประธานาธิบดีใน 3 เดือนข้างหน้า ถ้าพรรค PDI-P ซึ่งมี Jokowi เป็นตัวชูโรงสามารถผ่านด่านเสียงสนับสนุนร้อยละ 25 ไปได้ เขาก็จะมีพลังอิทธิพลส่วนตัวมากยิ่งขึ้นและเกือบแน่นอนว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถึงจะได้ไม่ถึงร้อยละ 25 หรือ ส.ส. ไม่ถึงร้อยละ 20 พรรคที่เข้ามาร่วมกับ PDI-P ก็ต้องส่งเขาเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ดี และเมื่อเห็นโมเมนตั้ม ของ Jokowi ในการเมืองในอินโดนีเซียในขณะนี้แล้ว โอกาสที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีนั้นมีสูงมาก

          ไม่รู้ว่าเพราะหน้าตาของ Jokowi ละม้ายคล้ายประธานาธิบดี Obama (ผู้ซึ่งได้รับความนิยมในอินโดนีเซียสูงเพราะเติบโตในประเทศนี้ระหว่างอายุ 6-10 ปี) หรือไม่จึงมีส่วนช่วยความเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ซึ่งทำให้ประชาชนอินโดนีเซียตื่นเต้นการเลือกตั้งกันอยู่ในตอนนี้

โลกนี้ไม่มีอีเมล์ฟรี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8
เมษายน 2557

Photo by Stephen Phillips – Hostreviews.co.uk on Unsplash

          บริการอีเมล์ของต่างประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น gmail / yahoo / hotmail ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใดจนคิดว่าเป็นบริการฟรี แต่หารู้ไม่ว่ามันไม่ได้ฟรีจริงดังที่คิด เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

          วลี ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ ผู้เขียนใช้หากินมากว่า 20 ปีแล้ว โดยตั้งเป็นชื่อหนังสือหลายภาค และนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในหลายบทความ ที่มาของวลีนี้ก็คือ ‘there’s no free lunch’ หรือไม่มีอาหารกลางวันที่ฟรี วลีภาษาอังกฤษนี้มีที่มาจากการที่โรงเตี้ยมในอังกฤษเมื่อ 200 กว่าปีก่อน มักติดป้ายว่า ‘free lunch’ แต่ถ้าหากผู้

          เข้าไปใช้บริการไม่ยอมจ่ายเงินสั่งอาหารอื่นเพิ่มด้วยก็จะถูกโยนออกมาข้างนอก ดังนั้นจึงทำให้เกิดวลีว่า ‘there’s no free lunch’ มีความหมายว่าไม่มีอะไรที่ฟรีจริง ๆ มันต้องมีอะไรแอบแฝงอยู่เป็นแน่

          Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลชื่อดังนำเอาวลีในภาษาอังกฤษนี้มาใช้ในเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความหมายว่าไม่มีอะไรที่ฟรี กล่าวคือหากจะได้อะไรมาก็จำเป็นต้องเอาบางสิ่งหรือหลายสิ่งไปแลก

          สิ่งที่ Friedman เอามาใช้นี้เป็นสัจธรรมทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือทุกสิ่งที่ได้มาล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น ซึ่งมิได้หมายความว่าต้องเป็นตัวเงิน ตัวอย่างเช่นหากเอาที่ดินไปปลูกมะม่วง อาจได้มะม่วงมาก็จริงอยู่แต่ก็จำต้องเสียสละมะละกอซึ่งอาจปลูกได้แทนจากที่ดินผืนนี้ หรือพูดอีกอย่างว่าได้มะม่วงมาโดยเอามะละกอไปแลก อีกตัวอย่างก็คือการอ่านหนังสือที่ได้มาโดยไม่ต้องจ่ายเงินก็ไม่ฟรีเพราะต้องเสียเวลาไปกับการอ่าน เวลาที่อ่านนี้สามารถเอาไปนอนได้ ดังนั้นจึงได้ความรู้จากหนังสือแต่จำต้องเอาการนอนไปแลก

          หากต้องการเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต้องเสียสละเวลาที่ควรเอาไปหาความสุขเพื่อเอามาใช้ทำงาน อยากมีรูปร่างสวยก็ต้องยอมเสียสละไม่กินอะไรตามใจชอบ อยากรักษาโรคให้หายก็ต้องยอมรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อยากมีความรู้ดีก็ต้องยอมอดทนเอาเหงื่อและน้ำตาไปแลก ฯลฯ

          สำหรับบริการอีเมล์ก็เช่นเดียวกัน ตลอดเวลากว่า 15 ปีที่มีบริการนี้มา ผู้คน นับพันล้านคนในโลกใช้บริการกันอย่างกว้างขวางเพราะไม่เสียค่าบริการ โดยมิได้ตระหนักว่าต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวมากมาย เนื่องจากผู้ให้บริการมีเทคโนโลยีในการประมวลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อนำไปขายหรือใช้ประโยชน์ต่อ

          ในสัญญาที่ทุกคนรีบคลิกคำว่า ‘agree’ เมื่อเริ่มใช้บริการอีเมล์นั้น คนแทบจะทั้งหมดมิได้อ่านอย่างละเอียดว่าเขาสามารถเอาข้อความที่เราส่งและรับจากใครต่อใครนั้นไปใช้อะไรได้บ้าง และถึงแม้จะอ่านก็คงละเลยในเนื้อหาเพราะอยากใช้บริการที่เกือบจะเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในชีวิตไปแล้ว

          วิธีการหลักที่ผู้ให้บริการใช้เพื่อหารายได้ก็คือมองหาคำหลัก ๆ เพื่อให้รู้ว่าผู้ใช้กำลังพูดคุยกันถึงเรื่องอะไร ด้วยความถี่มากน้อยเพียงใด และในบริบทใด จากนั้นก็เอาบทสรุปของข้อมูลไปจับคู่กับสินค้าที่ผู้โฆษณาเชื่อว่าผู้ใช้บริการสนใจ

          ตัวอย่างเช่นถ้ามีการคุยกันถึงเรื่องการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย ระหว่างผู้ใช้อีเมล์กันอยู่เนือง ๆ โดยใช้คำหลัก ๆ ในเรื่องนี้ เครื่องจักรที่แสนฉลาดก็จะตรวจจับได้และนำไปสังเคราะห์และจับคู่กับสินค้าประเภทอาหารสุขภาพที่ผู้โฆษณาแต่แรกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้มีทางโน้มสูงที่จะซื้อสินค้านั้นอยู่ที่ใด แต่ตอนนี้ผู้ให้บริการรู้และจะจับคู่ให้โดยการโฆษณาสินค้านั้นจะไปปรากฏบนจอของผู้รับบริการนั้นอยู่บ่อย ๆ ข้อสังเกตก็คือผู้ให้บริการมิได้ทำสิ่งนี้ให้ผู้โฆษณาสินค้าโดยไม่เก็บเงินอย่างแน่นอน และนี่คือแหล่งรายได้ของผู้ให้บริการ

          นอกจากนี้ผู้ให้บริการอีเมล์ยังใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘data mining’ หรือขุดเหมืองข้อมูล จากข้อความที่ส่งเข้าและส่งออกของผู้ใช้บริการคนหนึ่ง เมื่อตรวจจับ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ข้ามเวลาก็จะได้ ‘หน้าตา’ ของผู้รับบริการว่าเป็นผู้มีรสนิยมสินค้าใดเป็นพิเศษ มีรายได้สักเท่าใด (หากโอนเงิน ถอนเงิน ยื่นภาษี พูดคุยถึงเรื่องรายได้ผ่านบริการอีเมล์) ‘หน้าตา’ ของผู้บริโภคเช่นนี้เป็นสิ่งหอมหวานในเชิงการตลาดเป็นอย่างยิ่ง

          การตรวจจับข้อมูลออกและเข้าเช่นนี้อุปมาเหมือนกับการหา ‘หน้าตา’ ของเจ้าของขยะจากการวิเคราะห์ขยะที่เขาทิ้ง ขยะจะบอกหมดว่าชอบกินผลไม้ใด กินน้ำผลไม้หรือไม่ ชอบกินเหล้าหรือกินเบียร์ ชอบกินเนื้อหรือกินปลา บริโภคผักมากน้อยแค่ไหน เป็นหนี้บัตรเครดิตมากน้อยเพียงใด กินยารักษาโรคอะไร ฯลฯ

          พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือเจ้าของขยะหรือผู้ใช้บริการเกือบ ‘ล่อนจ้อน’ หมด หากขุดเหมืองข้อมูลนี้ได้ลึกจริง ๆ และสามารถถลุงสินแร่จากเหมืองนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          นี่คือสิ่งที่ผู้ใช้บริการอีเมล์ต้องจ่ายไปเพื่อแลกกับการได้ใช้บริการอีเมล์โดยไม่เสียค่าบริการ พูดอีกอย่างแบบเล่นโวหารก็คือใช้บริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินแต่ไม่ฟรี

          ถ้าคิดว่าการสูญเสียความเป็นส่วนตัวเช่นนี้น่าตกใจ ลองพิจารณาคำให้การของ Edward Snowden อดีตผู้ทำงานให้ National Security Agency ของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าทางการสหรัฐอเมริกามีโครงการชื่อ Prism ซึ่งเป็นโปรแกรมที่วิเคราะห์อีเมล์และข้อมูลสื่อสารทุกชิ้นในโลกไซเบอร์ ตลอดจนคำพูดที่สื่อสารกันทางโทรศัพท์ทั่วโลกและนำมาหาความเชื่อมต่อกันในเรื่องที่เป็นประเด็น เช่น การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ฯลฯ หากคำกล่าวนี้เป็นจริงก็หมายความว่าความเป็นส่วนตัวของพวกเรานั้นแทบไม่เหลือเลย

          รัฐบาลจีนมีบริการอีเมล์ให้ประชาชนใช้ จีนมี facebook ในเวอร์ชั่นของจีนเองเนื่องจากไม่ไว้ใจอีเมล์อเมริกัน สำหรับคนไทยและข้าราชการไทยนั้นเราใช้บริการอีเมล์ต่างประเทศกันอย่างกว้างขวาง และน่าจะ ‘ล่อนจ้อน’ โดยมิได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดต่อประเทศ

          ปัจจุบันสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. มีบริการอีเมล์ MailGoThai สำหรับให้ข้าราชการไทยสื่อสารถึงกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณกว่า 230,000 คน ซึ่งถือว่ายังต่ำอยู่มาก

          บริการอีเมล์นั้นสะดวก ไม่เสียค่าบริการ แต่อย่าได้คิดเลยแม้แต่ขณะจิตว่ามันเป็นของฟรี…..เพราะ ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’

ชีวิตแบบปรนัย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
มีนาคม 2557

Photo by Yuzki Wang on Unsplash

          “เธอเลือกเอาแล้วกันระหว่างฉันกับแม่เธอ” “ระหว่างเราสองคน เธอเป็นคนเลือก” “ถ้าไม่ฆ่ามัน มันก็ต้องฆ่าเราแน่” การคิดแบบนี้มีพื้นฐานมาจาก “ข้อสอบปรนัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ลวงตาและลวงใจจนสามารถทำให้ปวดใจได้

          ข้อสอบแบบที่มีเป็นข้อ ๆ ให้เลือกโดยผู้ทำต้องเลือกข้อที่ถูกที่สุดคือ “ข้อสอบปรนัย” ซึ่งต่างจาก “ข้อสอบอัตนัย” ที่เป็นคำถามและให้บรรยายตอบ ข้อสอบชนิดแรกมีตัวถูกเพียง ตัวเดียวและต้องเป็นหนึ่งในข้อที่ให้มาด้วย ในขณะที่ข้อสอบชนิดที่สอง ผู้ตอบสามารถเขียนตอบได้อย่างเสรี จะใช้คำตอบอะไรก็ได้โดยไม่ถูกตีกรอบให้เหมือนกรณีของ “ข้อสอบปรนัย”

          ขีวิตที่มีคนกำหนดกรอบมาให้ เช่น เรียนหนังสือ 12 ปี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย จบออกมาก็ทำงาน มีครอบครัว ฯลฯ หรือต้องเรียนวิชาต่าง ๆ ตามที่หลักสูตรกำหนดมาให้ หรือต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สังคมมี หรือต้องทำตัวตามค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ชีวิตแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชีวิตปรนัย” (คล้ายชื่อหนังสือของอาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เมื่อหลายปีก่อน)

          ในทางตรงกันข้ามชีวิตที่ไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมหรือคนอื่นกำหนดให้ ทำตัวไป ตามใจชอบ ไม่ศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรที่กำหนด มีความเป็นเสรีสูงจนไม่ต้องการทำงานแบบออฟฟิสได้ ฯลฯ ก็อาจเรียกได้ว่า “ชีวิตอัตนัย”

          ในชีวิตของมนุษย์นั้น ความเคยชินกับ “สังคมปรนัย” ซึ่งประสบตั้งแต่แรกเกิดทำให้มักมีวิธีคิด “ข้อสอบปรนัย” ในการดำเนินชีวิตไปด้วยจนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ

          จากคำพูดแรกในย่อหน้าแรกสามีไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง “ฉันกับแม่เธอ” เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเลือกแม้แต่น้อย การปรับความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกฝ่าย อาจช่วยแก้ปัญหาได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดกรณีต้องมีการเลือก

          “ไม่ใช่พวกเราก็ต้องเป็นพวกมัน” เป็นวิธีคิดที่ง่ายและเขลา ถ้าจะให้มันเป็นปรนัย จริง ๆ ก็อาจมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ใช่ทั้ง “พวกเรา” และ “พวกมัน” ก็เป็นได้ อาจมีอีกหลายกลุ่มที่ผสมความคิดความชอบบางเรื่องข้ามกลุ่มผสมปนเปกันจนนับกลุ่มไม่ถ้วน (ทำได้และไม่ผิดกฎหมาย) จนเกิดมีตัวเลือกนับไม่ถ้วน

          อย่างไรก็ดี ไม่มีอะไรจะมาบังคับว่าต้องเป็นตัวเลือกต่าง ๆ แบบปรนัย ความขัดแย้งซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการคิดว่ามีกลุ่มโดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องของการแบ่งพรรคแบ่งพวกก็เป็นได้ อาจเป็นเรื่องของความรู้สึกมนุษย์ที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ อย่าลืมว่าเราไม่เคยแบ่งกลุ่มคนตามวัยและห้ำหั่นกันเพราะมีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนอายุ 15 กับ 60 ปี เรายอมรับความคิดที่แตกต่างกันเนื่องจากวัยโดยไม่เคยแบ่งออกเป็น “พวกเขา” หรือ “พวกเรา”

          สำหรับ “ระหว่างเราสองคน” รู้ได้อย่างไรว่าหนุ่มเขาจะเลือกคนหนึ่งคนใดของคุณ สองคน เขาอาจเลือกคนอื่นก็เป็นได้ หรืออาจไม่ต้องการเลือกเลยก็ได้เพราะไม่เอาทั้งสองคน และก็ไม่มีคนอื่นด้วย การคิดแบบนี้จึงสร้างความผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้นในโลกที่ “ชีวิตไม่ใช่ปรนัย” หนุ่มอาจปฏิเสธที่จะทำโจทย์ข้อนี้ก็ได้ เพราะเขาไม่คิดว่าจะต้องมีการเลือกเนื่องจากการมีแฟนสองคนพร้อมกันอาจเป็นสไตล์ชีวิตที่เขาต้องการและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็อาจเป็นได้

          “ไม่ฆ่ามัน มันก็ฆ่าเรา” เป็นวิธีคิดที่ช่วยนำคนไปสู่เรื่องปวดหัวให้พ่อแม่ ครอบครัวและตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับคนที่มีนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้นซึ่งอาจติดมาจากการชอบดูหนังบู๊จีนนั้น การคิดแบบปรนัยเช่นนี้ดูจะเป็นอันตรนิสัยที่ขุดออกได้ยาก พวกเขาลืมไปว่าคนมันไม่ได้มีชีวิตอยู่รอดเพราะการฆ่ากันป่าเถื่อนเหมือนสมัยอยู่ในถ้ำเมื่อ 50,000 ปีก่อน มนุษย์ปัจจุบันมีอารยธรรมที่ทำให้สามารถพูดจา ใช้เหตุใช้ผลกันได้ ถ้ามีความเชื่อในกระบวนการเช่นนี้อยู่บ้าง “ความคิดแบบปรนัย” ก็จะลดน้อยไป และสังคมอยู่กันได้ด้วยความสงบสุข

          การคิดกันแบบปรนัยในสังคมไทยเป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะสิ่งแวดล้อมชวนให้คิดไปในทิศทางนี้ เมื่อเล่นหวยกันเป็นลมหายใจเข้าออก ก็เผชิญกับสภาวะ “ถูก” กับ “ถูกกิน” (สำหรับผู้รู้เลขล็อกล่วงหน้ามีแต่ “กิน ๆ ๆ” อย่างเดียว)

          เมื่อคนจนยังมีอยู่ให้เห็นเต็มประเทศไทย ก็เห็นมีแต่ “คนจน” หรือ “คนรวย” เมื่อใดที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งคนออกตามฐานะมีจน วาทกรรม “อำมาตย์” “ไพร่” ก็มีส่วนช่วยให้คนคิดแบบปรนัยในหลายส่วนของประเทศ

          ความคิดแบบปรนัยทำให้มนุษย์เห็นทางตันได้ง่ายกว่าความคิดแบบอัตนัยซึ่งอาจมีตัวเลือกเหมือนกันแต่มีจำนวนที่ไม่สิ้นสุดเนื่องจากไม่มีกรอบเป็นตัวขีดกำหนด การคิดพลิกแพลง การมีความคิดริเริ่ม การไม่ยึดติด การมีความอ่อนไหวปรับตัว ล้วนเกี่ยวโยงกับความคิดแบบอัตนัยทั้งสิ้น

          เมื่อโดยแท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์เปรียบเสมือนข้อสอบอัตนัย การคิดแบบปรนัยเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตจึงมักไม่ประสบผลสำเร็จ เปรียบเสมือนกับการเอาน๊อตรูกลมไปใส่สลักเกลียวเหลี่ยม

ความรุนแรงสร้างความรุนแรง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
มีนาคม 2557

Photo by Clay Banks on Unsplash

          การยิง M79 เข้าใส่ผู้ชุมนุม ผู้ถูกชุมนุมและตำรวจถูกฆ่าตาย การแสดงวาจาข่มขู่ ลูกฆ่าพ่อแม่และน้อง แม่ยายจ้างยิงลูกเขย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือความรุนแรงในปัจจุบัน

          กรณีฆาตกรรม ทำร้าย ปล้นฆ่า ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนเป็นผลพวงจากการได้เสพและประสบความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านสื่อทั้งหลาย

          กรณีที่สมควรได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมไทย แต่ถูกกลบโดยข่าวการเมืองก็คือการฆาตกรรมพ่อแม่และน้องชายที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตนับล้าน ๆ บาท ลูกชายคนโตสารภาพว่าใส่ยานอนหลับในอาหารของทั้งครอบครัว และเอาปืนยิงขมับทั้งสามคนตอนดึก ก่อนหน้านั้นก็ปิดกล้องวงจรปิดเพื่อมิให้มีการบันทึกภาพ

          คำถามก็คือหนุ่มวัย 19 ปี ศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชื่อของรัฐ กระทำการดังกล่าวได้อย่างไร สังคมเราป่วยถึงขนาดนี้เชียวหรือ คำตอบก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัวทำให้ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติ และอาจเป็นความสับสนระหว่างความจริงและสิ่งลวงตาของผู้กระทำ

          ว่ากันว่าสงครามเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในสังคม กล่าวคือหลังสงครามแล้วในทุกสังคมสิ่งที่เกิดตามมาก็คือความรุนแรงอันเนื่องมาจากได้ผ่านการฆ่าฟันอย่างรุนแรงมาแล้ว การกระทำโหดร้ายทารุณเสมือนเป็นงานประจำวัน ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นของเราอาจมีสภาพคล้ายกับสงครามในใจของคนบางกลุ่ม เมื่อคุ้นเคยกับความรุนแรงเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดตามมาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนเหล่านี้

          สถิติของความรุนแรงในระดับโลกก็คือมนุษย์ตายด้วยสาเหตุของความรุนแรงประมาณ ปีละ 1.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เกินกว่า 50% มาจากการฆ่าตัวตาย 35% มาจากฆาตกรรม และเกินกว่า 12% มาจากสงครามหรือรูปแบบอื่นของความรุนแรง

          ในทวีปอาฟริกาที่ความรุนแรงหนักหน่วงกว่าทวีปอื่น ๆ ในจำนวนประชากร 100,000 ล้านคน ประชากรในแต่ละปีตายด้วยสาเหตุความรุนแรง 60.9 คน ในสหรัฐอเมริกาก็มีสถิติตความรุนแรงที่ไม่น่าเชื่อ เด็กประมาณ 10 คนต่อวันตายด้วยปืนที่เก็บไว้ในบ้าน

          งานวิจัยพบว่ามีสหสัมพันธ์สูงระหว่างระดับของความรุนแรง และสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอันได้แก่ความยากจนที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน รายได้และเพศที่ขาดความ เท่าเทียมกัน การบริโภคแอลกอฮอร์และยาเสพติด ตลอดจนการขาดการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสม อันก่อให้เกิดการไร้ความรู้สึกปลอดภัยและมีเสถียรภาพของเด็ก

          ถึงแม้ว่าสหสัมพันธ์ดังว่ามิได้บอกว่าอะไรเป็นเหตุและผล แต่ก็อนุมานได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ปูพื้นฐานสู่ความรุนแรงซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงอีกต่อหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

          การฆ่ากันเพื่อล้างแค้นของแต่ละฝ่ายหรือ ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ (ดังที่เรียกกันว่า an eye for an eye, a tooth for a tooth ซึ่งเมื่อกระทำเช่นนี้กันแล้วทั้งสองฝ่ายก็จะฟันหลอและตาบอดด้วยกัน) ก็คือวัฏจักรของความรุนแรงนั่นเอง

          ถึงแม้ความรุนแรงจะเป็นสมบัติของมนุษยชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตลอดระยะเวลา 150,000-200,000 ปี ของความเป็นมนุษย์ที่ยืนสองขาแบบปัจจุบัน หรือประมาณ 7,500-10,000 ชั่วคน แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะต้องปล่อยตัวตามธรรมชาติของเรา

          เมื่อมนุษย์มีอารยธรรม มีศาสนา ความรุนแรงเพื่อรักษาความอยู่รอดของตนเองก็ลดน้อยลงไปเป็นอันมาก ความสามารถในการอดกลั้นความโกรธมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความรุนแรง อย่างไรก็ดีความสามารถดังกล่าวแตกต่างกันในตัวมนุษย์แต่ละคน

          การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างรวดเร็วในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการผ่อนปรนความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมไทย

          ในสังคมตะวันตกเมื่อหญิงหมดรักชาย ต้องการไปรักคนอื่น ชายก็จะยอมรับโดยดุษณีภาพเพราะมีค่านิยมเด่นชัดในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคล เมื่อเขาหมดรักเราถึงจะแสนโกรธและสุดเศร้าก็จำต้องยอมรับสถานภาพที่ถูกทิ้งของตนเอง

          อย่างไรก็ดีในสังคมไทย ค่านิยมในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลยังไม่เกิดขึ้นอย่าง แข็งขันในขณะที่การผ่อนปรนความสัมพันธ์ระหว่างเพศก้าวไปไกลแล้ว ดังนั้นเราจึงมักได้อ่านข่าวฆาตกรรมหญิงที่หมดรักฆาตกร หรืออาจรวมไปถึงฆ่าชายคนรักใหม่อยู่เนือง ๆ กล่าวคือเมื่อหญิงหมดรัก ชายรู้สึกเสียศักดิ์ศรีโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลในการรักชอบคนอื่น ดังนั้นจึงอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ (จนต้องย้ายไปอยู่บางขวางคนเดียว)

          ความรุนแรงเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะมนุษย์เคยชินกับมันได้ง่ายและชอบที่จะเลียนแบบอย่างไร้สมอง ดังนั้นวิธีสกัดความรุนแรงที่ได้ผลก็คือการไม่ยอมให้ความรุนแรงในดีกรีที่สูงเกิดขึ้นในเบื้องต้นเป็นอันขาด

เงินและแรงจูงใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11
มีนาคม 2557

Photo by 金 运 on Unsplash

          ข้อเสนอผลประโยชน์ถูกใช้เป็นแรงจูงใจให้บุคคลกระทำสิ่งที่ผู้บริหาร องค์การ หรือสังคมต้องการ อย่างไรก็ดีในหลายกรณีแรงจูงใจอาจมีผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือมีผลทำให้บุคคลกระทำในสิ่งที่ต่างไปจากที่ต้องการให้กระทำ

          คนจำนวนมากคิดว่าเงินเป็นแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพที่สุดและได้ผลกับทุกคน พูดง่าย ๆ ก็คือเงินซื้อทุกคนได้เสมอในทุกสถานการณ์ ในเชิงตรรกะความเข้าใจดังกล่าวนี้ผิดแน่นอนถ้าหากมีคนบางกลุ่มหรือในบางสถานการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น

          ตัวอย่างที่รู้จักกันดีในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือเส้นสัพพลายของแรงงาน ถ้าแกนนอนคือจำนวนชั่วโมง แกนตั้งเป็นค่าจ้างต่อชั่วโมง ในจำนวนชั่วโมงระดับหนึ่ง เส้นสัพพลายแรงงานจะชันขึ้น กล่าวคือถ้าค่าจ้างสูงขึ้นก็ต้องการจะเสนอขายแรงงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อถึงจำนวนชั่วโมงระดับหนึ่งถึงแม้จะเสนอให้ค่าจ้างสูงขึ้น จำนวนชั่วโมงที่เสนอทำงานก็จะไม่เพิ่มขึ้น กลับอยู่ที่จำนวนคงที่ พูดง่าย ๆ ก็คือเส้นสัพพลายของแรงงานชันขึ้นทางขวาจนถึงจำนวนชั่วโมงระดับหนึ่งเส้นก็จะตั้งฉาก

          ลักษณะของเส้นสัพพลายเช่นนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นจริงในหลายภาคการผลิต มนุษย์ถึงแม้จะกลายเป็นแรงงานแต่ก็ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ เมื่อทำงานจนถึงจำนวนชั่วโมงสูงระดับหนึ่ง ต่อให้ค่าจ้างสูงแค่ไหนก็ไม่ทำแล้ว ต้องการหย่อนใจหรือพักผ่อน

          ข้อยกเว้นที่เงินซื้อคนไม่ได้ในกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อเงินอย่างน่าภาคภูมิใจท่ามกลางสภาพการณ์ที่มนุษย์มักพ่ายแพ้อำนาจเงิน (สุภาษิตจีนบอกว่า “เงินจ้างให้ผีโม่แป้งยังได้เลย”)

          หลายท่านคงเคยช่วยเหลือเพื่อนด้วยความจริงใจ มิได้ปรารถนาเงินทองหรือสิ่งใดตอบแทน แต่กลับถูกยัดเยียดให้รับเงินทองหรือสิ่งของตอบแทนจนเสียความรู้สึกที่ดีและกระทบถึงความสัมพันธ์ด้วย สำหรับคนจำนวนหนึ่งเงินมิใช่สิ่งจูงใจที่ทรงอานุภาพ มนุษย์บางคนยังมีสิ่งที่เหนือกว่าเงินเป็นแรงจูงใจ

          ในสังคมของเรามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ทำงานหนัก แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่ทัดเทียมกับแรงงาน บางส่วนของคนเหล่านี้ได้แก่พนักงานของรัฐ ลูกจ้างที่ทำหน้าที่รักษาป่า รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดูแลให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติในท้องถิ่นทุรกันดาร ลูกจ้างเอกชน ฯลฯ คนเหล่านี้มีอยู่จริงแต่เรามองไม่เห็น เพราะเราเห็นแต่คนที่ทำเพื่อเงินหรือเพื่อหวังให้บรรลุความทะเยอทะยานของตนในสื่อในแต่ละวันกัน

          ความรักชาติ ความรักและภักดีต่อสิ่งที่ตนเชื่อและเคารพบูชา ความภาคภูมิใจในตนเอง การตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ความปรารถนาดีต่อมนุษย์คนอื่นอย่างจริงใจ ฯลฯ เป็นแรงจูงใจที่สำคัญกว่าเงินสำหรับคนเหล่านี้

          ในสมัยโบราณทหารที่เดินทางนับเป็นพันกิโลเมตรเพื่อต่อสู้ฟาดฟันฝ่ายตรงข้าม มีแรงจูงใจสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นก็คือเงินทองสมบัติพัสถานที่ได้มาจากผู้พ่ายแพ้ นอกเหนือความกลัวตายหากไม่รบ การถูกปลุกเร้าให้รักเมือง รักเผ่าพันธุ์ของตนเองเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มตนโดยผู้นำก็เป็นปัจจัยเสริมการใช้เงินทองที่ปล้นชิงมาได้เป็นแรงจูงใจ

          อย่างไรก็ดีเงินมิได้เป็นแรงจูงใจที่ดีในทุกกรณี ในทางกลับกันอาจก่อให้เกิดผลเสียในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นถ้าองค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไรให้โบนัสตอบแทนแก่พนักงานที่สามารถระดมเงินบริจาค ภายในเวลาไม่นานก็จะพบว่าพนักงานจะมุ่งแต่หาเงินบริจาค โดยละเลยการใช้เงินบริจาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด ละเลยการสร้างระบบการบริหารงานที่เป็นธรรมาภิบาล เพราะทุกคนมุ่งแต่จะหาโบนัส

          สำหรับคนที่มีความภาคภูมิใจในงานที่ตนเองทำ การใช้เงินเป็นแรงจูงใจจะไม่เกิดผลดี แต่สำหรับงานที่ไร้คุณค่า ไร้ความหมาย โดยเฉพาะหากได้คนที่มิได้มีอุดมการณ์ในการทำงาน มิได้มีความภาคภูมิใจในงานที่ตนเองทำมาทำงานเหล่านี้แล้ว เงินจะเป็นแรงจูงใจที่ได้ผลที่สุด

          นักวิทยาศาสตร์มีศัพท์เฉพาะสำหรับปรากฏการณ์ที่แรงจูงใจด้านการเงินกลับทำลายแรงจูงใจอื่น ๆ ที่ดีไปเสียหมดว่า motivation crowding กล่าวคือมนุษย์จำนวนหนึ่งต้องการทำสิ่งที่งดงามและมีความหมายจากหัวใจโดยมิได้หวังผลตอบแทนทางการเงิน แต่การให้เงินแก่การกระทำนั้นจะทำให้แรงจูงใจที่จะทำความดีนั้นถูกบ่อนเซาะไป

          คนที่ทำงานอาสาสมัครด้วยหัวใจจริงจะรังเกียจการให้เงินตอบแทนแก่เขา แต่สำหรับอาสาสมัครที่ใจยังไม่เต็มร้อย การให้เงินตอบแทนจะก่อให้เกิด motivation crowding

          การสัญญาว่าจะให้เงินลูกหากตั้งใจเรียน หากสอบได้คะแนนดี หากมีความประพฤติดี จะทำลายความตั้งใจของเขาที่จะเป็นนักเรียนที่ดีและลูกที่ดีของพ่อแม่เพราะมันเกิด motivation crowding ขึ้นในครอบครัว หากระบบตบรางวัลลูกรุนแรงมากขึ้น ต่อไปอาจต้องจ้างลูกเข้านอนก็เป็นได้

          อำนาจเงินนั้นรุนแรงเพราะมีผลในการจูงใจอย่างสำคัญ แต่มันไม่ได้ทำงานในทุกกรณี การจ้างผีให้โม่แป้งนั้นก็อาจทำได้ แต่บ่อยครั้งที่มันเป็นผีที่ไม่ได้โม่แป้งจริง หากเป็นผีเพื่อมาหลอกกินเงินเสียละมากกว่า