sharecations กำลังระบาดในโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1  ตุลาคม 2556

          ในโลกที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด แนวคิดหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลกก็คือการแบ่งปัน (sharing) กันในหลายรูปแบบ คำว่า “sharing economy” และ “collaborative consumption” กำลังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

          ในสิบปีที่ผ่านมาเราเห็นผู้คนร่วมมือและแบ่งปันกันในหลายเรื่องใหญ่ของโลก เช่น open source (ซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยสิ่งที่เรียกว่า source code จนทำให้คนอื่นสามารถร่วมต่อยอด ได้) เว็บไซต์ Wikipedia ที่คนนับล้าน ๆ คนในโลกช่วยกันเขียนเนื้อหาของเรื่องต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้ค้นหากันได้ในแนวเอนไซโคพีเดีย time sharing (การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีการหมุนเวียนผลัดกันไปพักในสถานตากอากาศต่าง ๆ หรือให้คนอื่นเช่า) เสื้อผ้าหรือของมือสอง (เอาของที่ไม่ใช้แล้วมาให้คนอื่นร่วมใช้โดยการขายหรือให้เช่า) homestay (การแบ่งปันให้พักในบ้านโดยเก็บค่าเช่า) ไอเดีย car pooling ฯลฯ

          หนังสือชื่อ “What’s Mine is Yours (2010)” โดย Bachel Botsman เสนอความคิดในเรื่องการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (collaborative consumption) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสารพัดสมบัติ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องในโรงแรม เก้าอี้รับแขก ฯลฯ อย่างหลากหลายลักษณะในระดับกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ก็เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่

          share economy หรือ sharing economy เป็นอีกคำหนึ่งที่เกิดกลางทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความหมายครอบคลุมระบบของเศรษฐกิจและสังคมซึ่งทำให้เกิดการร่วมกันเข้าถึงการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนข้อมูลข่าวสาร หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจนี้ก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งอำนวยให้เกิดการร่วมกันใช้หรือแบ่งปันส่วนที่เหลืออยู่และไม่ได้ใช้ (excess capacity) ของหลายสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

          ลักษณะหนึ่งของ share economy ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยวก็คือ sharecations (share + vacations) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันร่วมกันใช้สรรพสิ่งที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว

          collaborative consumption เป็นแนวคิดซึ่งครอบคลุม (1) ระบบการผลิต (2) สไตล์การใช้ชีวิต และ (3) การเปลี่ยนลักษณะของตลาด

          ไอเดียของการเอาส่วนที่เหลือไม่ใช้ของ CPU ของคอมพิวเตอร์มารวมกันเป็นพลังโดยไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรผลิต CPU ขนาดใหญ่ ตลอดจนการเช่าโรงงานเพื่อผลิตสินค้าคือแง่มุมของระบบการผลิต

          ส่วนสไตล์การใช้ชีวิตนั้นถ้าเป็นภาคการท่องเที่ยวก็ได้แก่ sharecations ตัวอย่างได้แก่การไปเที่ยวด้วยกันเป็นกลุ่มเพื่อแชร์ค่าเดินทาง การให้เช่าโซฟาในบ้านให้นักท่องเที่ยวนอนพัก การแชร์ห้องในโรงแรม (ไม่ถึงกับแชร์เตียงครับ) homestay การเปิดครัวที่บ้านทำอาหารขายแบบภัตตาคาร ฯลฯ

          สำหรับเรื่องการตลาดในลักษณะที่ (3) นั้นจะเห็นได้ว่าการขายเสื้อผ้าใช้แล้ว การให้เช่ารถหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือเครื่องครัว time sharing ของที่อยู่อาศัย การให้เช่าที่พักในระยะเวลา สั้น ๆ เช่น ฤดูร้อน ฯลฯ เกี่ยวพันกับระบบการซื้อขายที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา

          ถ้าไม่มี IT ที่ก้าวหน้าให้ข้อมูลในเรื่องการบริโภคร่วมกันแล้ว sharecations ก็เกิดไม่ได้ ปัจจุบันมีเว็บไซต์สำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในแนวแบ่งปันนี้ เช่น airbnb / couchsurfer / vayable / camaryhop ฯลฯ

          เว็บไซต์เหล่านี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งปันและร่วมมือกันในการเดินทาง การหาที่พักราคาถูกและมีคุณภาพ โดยเฉพาะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาเพื่อนมาร่วมแบ่งปัน

          สิ่งที่อยู่ในใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็คือความไว้วางใจกัน จะให้นักท่องเที่ยวมานอนในโซฟาที่บ้าน มาใช้ห้องน้ำ มาใช้ครัวร่วมกัน ต้องแน่ใจว่าไม่ใช่โจรที่แปลงร่างมา คนมาพักก็ต้องเชื่อใจเพื่อนร่วมพักและเจ้าของที่พัก เว็บไซต์เหล่านี้เสนอหนทางตรวจสอบตัวตนจริงและส่งเสริมไอเดียแบ่งปัน

          มีการประมาณการว่าตลาดของ sharecations ในโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกทีอย่างคู่ขนานไปกับอำนาจซื้อของชาวโลก ความหลากหลายในสไตล์การดำรงชีวิตและไอเดียในการทำมาหากิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก IT เพื่อแบ่งใช้สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน (ทำไมจะทิ้งให้ห้องที่บ้าน และโซฟาที่ไม่ค่อยมีใครใช้ไว้โดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอยากมีประสบการณ์ในการพักในบ้านของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ไปเที่ยวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเรียนรู้วัฒนธรรม)

          เป็นที่ชัดเจนขึ้นทุกทีว่า sharing คือคำตอบของชาวโลกในการแก้ไขปัญหาความจำกัด อย่างไรก็ดี collaboration consumption จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้เกี่ยวพันมีภาพในใจ (mindset) ที่พร้อมต่อการแบ่งปันใช้ร่วมกัน และมีกฎกติกาซึ่งอำนวยให้เกิดความไว้ใจกัน ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวแล้วความไว้วางใจกันเป็นหัวใจสำคัญของ sharecations

          การใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างฟุ่มเฟือยและการไม่ร่วมกันแบ่งปันใช้ทรัพยากรส่วนที่มีเหลืออยู่และไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ล้วนเป็นอาชญากรรมของมนุษยชาติทั้งสิ้น
 

นอนกลางวันเพิ่มประสิทธิภาพ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 กันยายน 2556

         ความรู้ในด้านการบริหารจัดการอัดแน่นอยู่ในเรื่องโครงสร้างองค์กร การสร้างแรงจูงใจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารงานบุคคล การวางแผนกลยุทธ์ ฯลฯ มากกว่าเรื่องของตัวมนุษย์ในฐานะสมาชิกขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกายวิภาค

         มีงานวิจัยจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ชี้ว่าการนอนหลับสั้น ๆ ในเวลากลางวัน (siesta หรือ power map) มีผลต่อผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานและการมีร่างกายแข็งแรงในระยะยาว

         siesta มาจากภาษาสเปนโดยมีรากมาจากภาษาละตินว่า hora sext หรือ sixth hour (หากนับจากเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ชั่วโมงที่หกก็ตรงกับตอนกลางวันพอดี) siesta เป็นพฤติกรรมเก่าแก่ที่มนุษย์ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาวปฏิบัติกันมายาวนานนับร้อย ๆ ปี

         เป็นที่ทราบกันดีว่าร้านรวง โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ในอิตาลีปิดกันหมดในช่วงตอนบ่ายเพื่อผู้คนจะได้กลับบ้านไปทานอาหารกลางวันกันนาน ๆ และหลับงีบใหญ่ก่อนที่จะกลับมาทำงานจนถึงมืด บรรดาประเทศในอเมริกาใต้ ฝรั่งเศส สเปน กัมพูชา ลาว เวียดนาม (บางส่วนของจีนและอินเดีย) ล้วนเคยชินกับวัฒนธรรม siesta ด้วยกันทั้งนั้น ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในญี่ปุ่น อังกฤษ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

         แต่ดั้งเดิมนั้นเหตุผลของ siesta ก็คืออากาศในตอนบ่ายร้อนจนทำงานไม่ได้จึงต้องนอนพัก อย่างไรก็ดีคนในประเทศหนาวหลายประเทศก็ชื่นชอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้ออ้างว่าร้อนจึงไม่น่าฟังขึ้น (อยู่บ้านก็น่าจะร้อนเหมือนกัน) แต่เหตุผลทางชีววิทยาจากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ดูจะมีเหตุมีผลกว่า

         หลังจากอาหารกลางวันมื้อหนักแล้ว glucose หรือน้ำตาลในอาหารจะไปปิดกั้นเซลล์สมอง (neurons) ซึ่งผลิตสัญญาณที่ทำให้มนุษย์ตื่นตัว การที่น้ำตาลไปกีดขวางไม่ให้เซลล์สมองซึ่งผลิต orexins หรือโปรตีนขนาดเล็ก ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมสภาวะตื่นตัวของมนุษย์ทำงานจึงทำให้การตื่นตัวลดลงหรือเกิดอาการง่วงนั่นเองดังนั้น siesta จึงเป็นเรื่องที่เกิดตามมา และเกิดการเลียนแบบกันในหลายวัฒนธรรม

         การนอนหลับของมนุษย์นั้นแยกได้เป็นหลายขั้นตามวงจรของสมองซึ่งกินเวลา 90-120 นาที ขั้นตอนเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ non-rapid eye movement (NREM ซึ่งหมายถึงตาไม่เคลื่อนไหวเร็ว) กับ rapid eye movement (REM ซึ่งหมายถึงตาเคลื่อนไหวเร็ว)

         NREM แยกลงไปเป็นขั้น “หลับเบา” “หลับปานกลาง” และตามมาด้วย slow-wave sleep (หลับชนิดคลื่นช้าหรือหลับลึกซึ่งเมื่อตื่นมาแล้วจะงัวเงียนานกว่าจะหาย) ส่วน REM นั้นคือการหลับที่เกี่ยวพันกับการฝัน ในขั้นนี้ถึงแม้คลื่นสมองจะคล้ายคลึงกับภาวะตื่นแต่ปลุกได้ยากกว่า ขั้นอื่น ๆ

         งานวิจัยพบว่า siesta ที่นาน 10-20 นาที คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสร้างความสดชื่น การตื่นตัวและการสร้างพลังงาน การหลับในช่วงสั้น ๆ เช่นนี้จะทำให้ผู้หลับเพียงอยู่ในช่วงต้น ๆ ของ NREM คือ หลับไม่ลึก

         หากเป็น siesta 30 นาที อาจทำให้เกิด sleep inertia คือการงัวเงียตามมาซึ่งอาจกินเวลานานถึง 30 นาทีหลังจากตื่นแล้วจึงจะกลับสู่สภาวะปกติ และรู้สึกได้ถึงผลดีของ siesta

         siesta ที่นานถึง 60 นาทีช่วยในเรื่องพัฒนาความจำข้อเท็จจริง หน้าคนและชื่อ การหลับนานขนาดนี้อาจลามเข้าไปถึงการหลับลึก ผลเสียคือความงัวเงียที่ตามมานาน

         ถ้า siesta นาน 90 นาที ก็คือการครบวงจรของการนอนหลับโดยคนปกติ ซึ่งหมายถึงการผ่านขั้นตอน NREM (“หลับเบา” “หลับนาน” และ “หลับลึก”) และ REM คือ ช่วงฝัน การหลับนานขนาดนี้เป็นประโยชน์ต่องานที่เกี่ยวกับการใช้อารมณ์ (เล่นละคร ) การจำที่เป็นระบบ (เล่นเปียโน) และการสร้างสรรค์

         ช่วงเวลาของ siesta ที่เหมาะสมที่สุดคือ 10-20 นาที ในช่วงเวลา 13-16 น. (ถ้าช้ากว่านี้อาจมีผลต่อการนอนหลับในเวลากลางคืน) สำหรับคนที่ไม่ได้นอนตามปกติอย่างเพียงพอในเวลากลางคืน siesta คือสิ่งที่ควรกระทำเพื่อสุขภาพที่ดี ข้อสังเกตสำหรับคนที่นอนไม่เพียงพอก็คือการฝันในช่วง siesta ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ควรฝันในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้

         ปัจจุบันในญี่ปุ่นและบางประเทศในโลกตะวันตกสนับสนุนให้บุคลากรขององค์กรมี siesta หลังอาหารกลางวันเป็นเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยจัดห้องประชุมที่มีไฟมืดให้นั่งหลับ (ถ้านอนแล้วยาวแน่นอน) ซบกับหมอนที่โค้งรอบคอหรือคล้ายห่วงยางเล่นน้ำ หน่วยงานเหล่านี้พบว่าบุคลากรของตนมีความสดชื่นกระตือรือร้นมากขึ้นหลัง siesta

         คนทั่วไปสามารถงีบหลับกลางวันได้ในทุกแห่ง เช่น บนเก้าอี้ทำงาน ใต้โต๊ะ ในรถยนต์ บนเก้าอี้ในบ้าน ฯลฯ อาจนอนหรือนั่งก็ได้ เพียงแต่ต้องพยายามหลีกเลี่ยง การหลับยาวอันเนื่องมาจากอยู่ในท่านอนสบายเกินไป ควรนั่งซบกับโต๊ะ หรือนั่งเก้าอี้ที่ไม่เอนหลังสบาย หรือไม่นอนบนที่นอนนิ่มกว้างขวางเพราะจุดประสงค์คือ siesta ถ้าจะหลับสบายบนที่นอนต้องเก็บเอาไว้ตอนกลางคืน

         การเพิ่มผลิตภาพของบุคลากรเป็นสิ่งพึงปรารถนาที่สุดขององค์กร ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตามที siesta เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ลงทุนน้อยที่สุด และเห็นผลทันทีที่สุด องค์กรเสียเงินมากมายในการสัมมนาฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ทำไมไม่ลองมองที่ประเด็นกายวิภาคของบุคลากรโดยการใช้ siesta เพื่อเพิ่มพลังสมองดูบ้าง

         การหาประโยชน์จากสมองที่มีอยู่เป็นเรื่องสำคัญ แต่การรู้จักใช้สมองและพักผ่อนสมองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

โศกนาฏกรรมของทรัพยากร และชุมชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 กันยายน 2556

          ชะตากรรมจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไม่มีขอบเขตอันนำไปสู่ความเจ็บปวดนั้นเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการ แต่มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งเชื่อมั่นในสปิริตของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ออกมาบอกว่าชุมชนนี่แหละสามารถร่วมมือกันหลีกหนีโศกนาฏกรรมนี้ได้

          ในปี 1968 นิตยสาร Science ได้ตีพิมพ์บทความซึ่งต่อมามีการกล่าวขวัญถึงทั่วโลกของ Garrett Hardin ชื่อ “The Tragedy of the Commons”

          ข้อเขียนพยายามอธิบายว่าเหตุใดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยากที่จะแก้ไขได้ Hardin ผู้ประดิษฐ์วลี “โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน” ซึ่งเป็นชื่อของบทความนี้อธิบายว่า ลองจินตนาการว่าที่ดินแปลงหนึ่งที่ “เป็นของทุกคนจนไม่มีใครเป็นเจ้าของ (อย่างแท้จริง)” “เปิดกว้างสำหรับทุกคน” ถูกใช้เป็นที่เลี้ยงวัว สถานการณ์เช่นนี้จะจูงใจให้แต่ละคนเอาวัวเข้าไปเลี้ยง เพราะวัวทุกตัวที่นำไปเลี้ยงจะนำกำไรมาสู่เจ้าของ จำนวนวัวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแรงจูงใจ

          ด้วยการเป็นที่ดินซึ่งมีพื้นที่จำกัดและทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ จะทำให้ไม่สามารถใช้เลี้ยงวัวได้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดจำนวน ณ จุดหนึ่งที่มีจำนวนวัวมากเกินไป ระบบธรรมชาติก็จะล้มเหลว ความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียขึ้นเช่นนี้สังคมจะเป็นผู้รับไปไม่ใช่ผู้เลี้ยงแต่ละคน

          ในบริบทดังกล่าว Hardin เรียกจุดจบที่เขาเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ ว่าโศกนาฏกรรม (tragedy) ซึ่งมิได้สื่อถึงความเศร้า หากหมายถึงการไม่สามารถหลีกหนีสภาวการณ์เสียหายนี้ได้

          Hardin มิใช่คนแรกที่เห็นปรากฏการณ์นี้ หากเขาสามารถให้คำอธิบายประกอบวลีใหม่ได้อย่างกะทัดรัดและโดนใจผู้คน เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนหน้านี้ Aristotle ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว

          เศรษฐศาสตร์ตอบรับไอเดียนี้อย่างอบอุ่นเป็นเวลาหลายสิบปีเพราะสอดคล้องกับปัญหาความไม่ชัดเจนของสิทธิความเป็นเจ้าของ (property rights) ในกรณีที่ทรัพยากรเป็น ‘สมบัติร่วมกัน’ เศรษฐศาสตร์เสนอให้ใช้มาตรการที่ช่วยทำให้ความเป็นเจ้าของปรากฏชัดเจนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา

          ตัวอย่างเช่นการให้เช่าที่ดินสาธารณะหรือการแบ่งพื้นที่ป่าให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ในกรณีของการเช่า ผู้เช่าหรือ “เจ้าของ” จะดูแลผลประโยชน์เป็นอย่างดีมิให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เกินความเหมาะสมจนนำไปสู่ความล้มเหลวของสิ่งแวดล้อม

          ถ้าที่ดินแปลงเดียวกันนี้แบ่งออกเป็นแปลง ๆ ให้เช่า ผู้เช่าก็จะต้องควบคุมให้จำนวนของวัวที่นำมาเลี้ยงและกินหญ้าอยู่ในระดับพอดี หรือกรณี “เจ้าของ” ป่า ก็จะมีการดูแลไม่ให้ใครมาขโมยตัดไม้ หรือใช้ประโยชน์จากป่าอย่างผิดกฎหมาย

          อย่างไรก็ดีในปี 1965 สตรีผู้หนึ่งคือ Lin Ostrom ผู้เรียนจบปริญญาเอกจาก UCLA ด้าน Political Science ได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยศึกษาความร่วมมือกันของประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการสูบน้ำสะอาดจากฟาร์มและแหล่งต่าง ๆ มาทำน้ำประปาของเมือง Los Angeles

          เธอพบว่าประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาการมีทรัพยากรอันจำกัดได้กันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเสมอไปดังที่ Hardin กล่าวไว้ ชุมชนทั้งหลายร่วมกันหาข้อตกลงและร่างสัญญาแบ่งสรรน้ำและกำหนดกติกาใช้น้ำร่วมกันได้อย่างประสบผลสำเร็จ

          เธอไม่เห็นด้วยกับบทสรุปของ Hardin ที่ระบุว่าโศกนาฏกรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาจัดการไม่ให้เป็นทรัพยากรที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกันอีกต่อไป หรือกลายเป็นของรัฐ หรือจัดการโดยภาคเอกชน เธอมั่นใจในการร่วมมือกันของชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาของการมีทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกัน

          ยิ่งศึกษาทั่วโลกเธอก็พบว่ามีชุมชนอยู่ทั่วโลกที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา (ตัวอย่างการจัดการทุ่งหญ้าในสวิสเซอร์แลนด์ การจับกุ้งมังกรในรัฐ Maine การจัดการใช้ป่าในศรีลังกาและน้ำในเนปาล) โดยเธอคิดว่า ‘สมบัติร่วมกัน’ (commons) นี้ มิได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ละแห่งก็มีลักษณะแตกต่างกันไปและชุมชนก็ร่วมมือกันในลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วย

          ‘สมบัติร่วมกัน’ เป็นของชุมชนร่วมกัน ดังนั้นชุมชนจึงสมควรจัดการกันเอง ทุกคนเป็นเพื่อนบ้านกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีตัวอย่างแล้วว่าสามารถจัดการได้ การมีบทบาทของภาครัฐไม่ใช่คำตอบ


          ชาวนาสวิสของหมู่บ้าน Torbel มีกฎระเบียบในเรื่องการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม มีบทลงโทษปรับเพื่อจัดการใช้ทุ่งนาและทุ่งหญ้าตลอดจนใช้ไม้ฟืนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ยังมีชาวประมงของเมือง Alanya ในตุรกีที่จับฉลากกันทุกกันยายนของปีเพื่อสิทธิจับปลาในฤดูหน้า

          เธอได้ศึกษาไปทั่วโลกและบันทึกสิ่งที่เธอพบเพื่อยืนยันบทบาทของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ‘สมบัติร่วมกัน’ งานของเธอมีนัยยะสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับโลกว่าไม่ใช่วิธี top-down เธอเห็นว่าการลงนามของผู้นำเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับโลกเป็นความผิดพลาดเพราะปัญหาการใช้ร่วมกันมันซับซ้อนจนต้องแก้ไขจากชุมชนขึ้นมาแบบ bottom-up

          Lin Ostrom เป็นสตรีคนแรกที่รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2009 เธอเสียชีวิตในวัย 78 ปี เมื่อ 3 เดือนก่อน โดยข้างเตียงของเธอก่อนเสียชีวิตมีร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เธอกำลังตรวจแก้ไขให้ลูกศิษย์

          Garret Hardin และภรรยาเสียชีวิตอย่างตั้งใจพร้อมกันในปี 2007 หลังจากแต่งงานมา 62 ปี และทนทุกข์ทรมานโรคร้ายมานานปี

          ถึงแม้ทั้งสองจากไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งข้อคิดสำคัญไว้อย่างน่าชื่นชมเกี่ยวกับการระมัดระวังการใช้ “สมบัติร่วมกัน” ของชาวโลกและการแก้ไขปัญหาทรัพยากรของโลกด้วยปัญญาของชุมชน

“เพื่อชาติ เพื่อ Humanity”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 กันายน 2556

          การยอมเสียสละเงินทองหรือชีวิตการทำงานให้ชาติอย่างจริงใจนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่การกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติอย่างปิดทองหลังพระนั้นยิ่งกว่า มีคนไทยคนหนึ่งที่ดำรงฐานะของวีรบุรุษของชาติไทยโดยแท้ แต่คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จัก

          เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา บรรดาศิษย์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้ทำคุณาประโยชน์แก่วงการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองของบ้านเรา เป็นปิยมิตรและเป็นที่เคารพรักยิ่งของศิษย์ ได้ร่วมจัดงานการครบรอบ 72 ปี ของท่านอาจารย์ ในวันนั้นนอกจากจะมีการบรรยายวิชาการแล้วได้มีการแสดงละครเวทีเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ Humanity” ซึ่งเขียนบทโดย ท่านอาจารย์เองเมื่อครั้งเป็น ‘ปรีดี พนมยงค์ศาสตราภิชาน’ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวของวีรบุรุษไทยท่านนี้ ………………จำกัด พลางกูร

          หลังจากญี่ปุ่นบุกไทยในปลายปี 2484 ต้นปี 2485 รัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร (อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) และร่วมรบกับญี่ปุ่น ประชาชนไทยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากที่รักชาติไม่พอใจ และร่วมกันสร้างองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ โดยมีหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เป็นหัวหน้า

          ตลอดปี 2485 การจัดรูปแบบองค์กรใต้ดินโดยรวบรวมสมัครพรรคพวกในประเทศไทยดำเนินไปเข้มข้นอย่างคู่ขนานกับการ “กบฎ” ของข้าราชการไทยในสหรัฐอเมริกาซึ่งนำโดยเอกอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และข้าราชการและนักเรียนไทยในอังกฤษซึ่งต่อมานำโดยพันโท หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

          แต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวโดยเชื่อมต่อกับกองบัญชาการของประเทศพันธมิตร สำหรับกลุ่มเสรีไทยในประเทศไทยก็รวบรวมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร ฯลฯ และชาวบ้านประชาชนรวมกำลังได้ 10,000 คน ปัญหาที่ กลุ่มเสรีไทยในประเทศประสบก็คือทำอย่างไรให้ฝ่ายพันธมิตร ตลอดจนกลุ่มเสรีไทยในประเทศอื่น ๆ รับรู้การมีตัวตนของกลุ่มนี้ในประเทศไทย ทำอย่างไรให้รู้ว่ามีคนไทยจำนวนมากไม่พอใจการเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นและต่อต้านการประกาศสงครามและมีความปรารถนาเป็นมิตรกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านและขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากแผ่นดินไทย ฯลฯ กลุ่มเสรีไทยมองข้ามไปถึงหลังสงครามว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะช่วยให้พันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพื่อไทยจะได้ไม่อยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามซึ่งดินแดนอาจถูกยึด แบ่งเป็นส่วน ๆ ชดใช้หนี้สงคราม ฯลฯ

          การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข เพื่อให้ถึงคนเหล่านี้นั้นเลิกคิดได้ เพราะจารชนที่ทำงานให้ญี่ปุ่นมีอยู่เต็มไปหมด ญี่ปุ่นเองก็มีการหาข่าวที่มีประสิทธิภาพ หนทางเดียวก็คือใช้บุคคลสื่อสาร

          ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ก็ตัดสินใจส่งจำกัด พลางกูร คนที่ท่านคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมออกเดินทางไปทำงานสำคัญนี้ การตัดสินใจคาดว่าลำบากมากเพราะท่านรักใคร่ คุ้นเคยกับจำกัด พลางกูร เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นจำกัดมีภรรยาซึ่งก็เป็นคนที่ครอบครัวท่านรักใคร่มากด้วย

          จำกัด พลางกูร เป็นบัณฑิตหนุ่มอนาคตรุ่งในวัย 28 ปี เรียนจบจากมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมด้วยทุนของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) มีความรู้และมันสมองที่เป็นเลิศ กล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น (หลังจากรับราชการอยู่พักหนึ่งก็โดนให้ออกจากราชการเพราะเขียนบทความวิจารณ์การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี) และเหนือสิ่งอื่นใดเป็นคนรักชาติอย่างแรงกล้า มีความกล้าหาญและพร้อมที่จะอาสาเสี่ยงชีวิตไปทำงานชิ้นนี้

          นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกเส้นทางไปเมืองจุงกิง (ฉงชิ่ง ในปัจจุบัน) เมืองหลวงชั่วคราวของจีนซึ่งมีจอมพลเจียง ไคเชกเป็นผู้นำและเป็นมหามิตรของกลุ่มพันธมิตร นายจำกัดใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือน โดยไปกับนายไพศาล ตระกูลลี้ ล่ามภาษาจีน ทั้งสองไปถึงจุงกิงท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ และความเห็นหลากหลายของกลุ่มเสรีไทย

          เมื่อเดินทางถึงจำกัด พลางกูร ติดต่อกับสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มารับตัวเขาไปลอนดอนเพื่อยืนยันการมีตัวตนจริงของขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยหลังจากเขาทำงานที่เมืองจีนเสร็จแล้ว นอกจากนี้เขายังส่งแผนการของคณะเสรีไทยให้รัฐบาลอังกฤษ แต่ก็ไม่เป็นผลในตอนแรก เขาต้องใช้ ความสามารถในการเข้าหาฝ่ายอังกฤษอธิบายสถานการณ์ของไทย เรื่องราวของขบวนการเสรีไทย และสื่อความตั้งใจจริงของคนไทยตลอดเวลาหลายเดือน โดยกินอยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ ที่อยู่ก็คับแคบและหนาวเย็น

          ในที่สุดเขาก็ได้พบจอมพลเจียง ไคเชก ได้ชี้แจงเรื่องราวจนจอมพลรับปากว่าจะช่วยเหลือไทยหากพันธมิตรชนะสงครามและรับรองจะคืนสถานะเอกราชให้ไทย ซึ่งความคิดนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประเทศพันธมิตรในเวลาต่อมา

          อุปสรรคของจำกัดมีหลายประการเช่น ความคลางแคลงสงสัยในตัวเขาว่าเป็นจารชน ความสงสัยในความจริงใจและการมีกลุ่มเสรีไทยที่เข้มแข็ง นายปรีดีเป็นหัวหน้าจริงหรือไม่หรือกล่าวอ้างกันเพื่อสร้างความเชื่อถือ การไม่สามารถติดต่อกับสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาและการตอบรับข้อความที่จำกัดส่งออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

          ขวากหนามสำคัญอันหนึ่งก็คือในตอนแรกทางการจีนพยายามกีดขวางไม่ให้จำกัดติดต่อหรือพบกับฝ่ายอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแม้กระทั่งเสรีไทยจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพราะต้องการบีบให้ไทยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในจีนเพื่อจะหวังมีอิทธิพลเหนือไทยหลังสงคราม

          เมื่อเหตุการณ์คลีคลายขึ้น ตัวแทนจากเสรีไทยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมา พบจำกัดหลังจากพันธมิตรเริ่มเชื่อถือความจริงจังและจริงใจของฝ่ายไทยมากขึ้นอันเป็นผลพวงจากการทำงานหนักของจำกัด แต่อนิจจา…………ได้พบกันก่อนจำกัดเสียชีวิตไม่นาน

          จำกัดเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ตามการสันนิษฐานของหมอจีน ในวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวัยเพียง 28 ปี วาจาครั้งสุดท้ายของเขาก็คือ “เพื่อชาติ…..เพื่อ Humanity…..”

          จำกัดได้บันทึกสิ่งที่เขาได้พบและงานที่ได้ทำไปในช่วงเวลานี้ไว้ในกระดาษกว่า 1,000 หน้า ภรรยาของท่านคือท่านอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยานที่สร้างคนดีไว้เป็นจำนวนมากในสังคมไทยได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ

          วีรบุรุษท่านนี้รู้ดีว่ามีโอกาสได้กลับบ้านน้อยมาก ท่านได้กล่าวไว้กับภรรยาก่อนเดินทางไปว่า “…..ฉลบจ๋า เธอจงอยู่ไปดี ๆ นะ เธอจงคิดว่าได้อุทิศฉันให้แก่ชาติไปแล้วก็แล้วกัน”

          ที่น่ายินดีก็คือท่านอาจารย์ฉลบชลัยย์ ในวัย 97 ปี ได้ร่วมชมการแสดงละครในวันนั้นด้วย และท่านคงเห็นเหมือนกับผู้ชมและนักแสดงศิษย์ชมรมเศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการกล้ายอมเสียสละชีวิตตนเองเพื่อคนอื่นนั้นยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งเพราะทุกคนมีคนละหนึ่งชีวิตเท่านั้น

          ถ้าเราไม่เผยแพร่และไม่เชิดชูวีรบุรุษผู้ยอมสละชีวิตตนเองเพื่อความอยู่รอดของชาติแล้ว ในอนาคตจะมีใครเลียนแบบเล่า ถ้าคนในชาติใดมีความรู้สึกรักชาติและรักประโยชน์ส่วนรวมน้อยลงไป ทุกทีเมื่อใด ชาตินั้นเริ่มนับถอยหลังได้เลย

          พวกเราจะไม่ลืมสิ่งที่คุณจำกัด พลางกูร ได้ทำไว้เป็นอันขาด

ศึกสองยักษ์นักเศรษฐศาสตร์อินเดียระดับโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 กันยายน 2556

          สงครามโต้เถียงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจกับความกินอยู่ดีของคนอินเดียระหว่าง สองยักษ์นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายอินเดียกำลังเป็นที่ฮือฮาในระดับโลก และมีประโยชน์เพราะจะนำไปสู่ประเด็นถกเถียงในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

          Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลขวัญใจชาวโลกกับ Jagdish Bhagwati นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นกันมานานปีระเบิดศึกให้ปรากฏแก่ชาวโลกเมื่อทั้งสองอยู่ในวัย 80 ปี

          ทั้งสองเรียนจบปริญญาตรีที่อินเดีย และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในช่วงเวลาเดียวกันในทศวรรษ 1950 (Manmohan Singh นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อก็ศึกษาอยู่ด้วยกัน) Sen จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ส่วน Bhagwati จบปริญญาเอกจาก MIT ปัจจุบัน Sen สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Bhagwati สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

          ชื่อ Amartya นั้นตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากูร นักวรรณกรรมรางวัลโนเบิลผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนกับตาของเขาผู้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Visva-bharati ด้วยกัน ส่วนพ่อของเขาเป็นอาจารย์สอนเคมีที่มหาวิทยาลัย Dhaka

          Bhagwati มีน้องชายเป็นประธานศาลฏีกาและแพทย์ผ่าตัดที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ตัวเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก

          ชื่อเสียงของนักเศรษฐศาสตร์เรืองนามทั้งสองไล่คู่กันมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี Amartya Sen สนใจและศึกษาปรัชญาอย่างกว้างขวางจนมีงานเขียนและงานวิจัยข้ามสาขาชนิดที่ลงไปสัมผัสชาวบ้านจริง ๆ มากกว่า เรื่องที่สนใจของเขาก็คือความยากจน ปรากฏการณ์อดยากอาหาร (famine) ทฤษฎี Social choice การพัฒนาดัชนีวัด Human Development ทฤษฎีความเป็นธรรม สวัสดิการทางสังคม ฯลฯ Amartya Sen ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1998

          Bhagwati นั้นพัฒนาทฤษฎีการพัฒนาประเทศ และทฤษฎีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เขาสนใจเรื่องโลกาภิวัตน์ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ความยากจน ฯลฯ

          ศึกแตกหักต่อหน้าสาธารณชนครั้งนี้ปะทุขึ้นเมื่อเป็นที่ปรากฏชัดหลังจากอินเดียประสบความสำเร็จในการสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่สองของเศรษฐกิจใหญ่รองจากจีน) แต่ความยากจนอย่างสุด ๆ ของคนอินเดียจำนวนมากก็มิได้หายไปดังเช่นประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ คำถามก็คือมันเกิดอะไรขึ้น

          ในหนังสือใหม่ชื่อ “An Uncertain Glory” Sen เขียนร่วมกับ Jean Dreze วิจารณ์ทางการอินเดียในหลายสมัยที่ผ่านมาว่าการไม่ได้ลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำในโครงการสาธารณสุขและสวัสดิการมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและประชาชน เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคมเช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ

          Sen และ Dreze ระบุว่าการทุ่มเทพัฒนาจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากมายนั้น ผลประโยชน์ไม่ลงไปถึงประชาชนหลายร้อยล้านคน หนึ่งในสามของเด็กที่เสียชีวิตในวัยทารกในโลกเป็นคนอินเดีย หนึ่งในสามของเด็กขาดอาหารในโลกก็เป็นเด็กอินเดีย ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของคนจนนั้นไม่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในทวีปอาฟริกา

          ทั้งสองโทษการเน้นเรื่องธุรกิจการค้าของทางการอินเดียจนละเลยโครงการพัฒนาด้านสังคม ทั้งสองเชื่อว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาจากการปรับเปลี่ยนรายได้ให้เท่าเทียมกัน ยิ่งเศรษฐกิจอยู่ในมือของธุรกิจเท่าใดก็ยิ่งหายนะเพียงนั้น
แนวคิดของ Sen เช่นนี้มีมานานแล้วแต่เมื่อมีการยืนยันอีกครั้งในหนังสือเล่มนี้จึงเกิดเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะหนังสือเล่มใหม่ของ Bhagwati ชื่อ “Why Growth Matters” เน้นว่าการเจริญเติบโตต้องมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจทั้งในและนอกประเทศภายใต้การกำกับนโยบายของภาครัฐ แล้วการปรับเปลี่ยนรายได้ให้เท่าเทียมกันจึงจะเกิดขึ้นได้

          ปัญหาที่เกิดขึ้นของอินเดียนี้ในความเห็นของ Bhagwati มาจากการมีบรรยากาศการลงทุนที่ไม่ดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการอ่านออกเขียนได้ เงินสำหรับโครงการสวัสดิการของรัฐนั้นรั่วไหล รัฐไม่สามารถทำโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างดีก็เป็นแค่โครงการประชานิยม ภาคธุรกิจเท่านั้นจะเป็นตัวผลักดันสำคัญให้เกิดการเจริญเติบโตซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะฉุดให้คนหลุดพ้นความยากจน

          ทั้งสองสาดคำพูดใส่กันอย่างมันส์ในอารมณ์สำหรับสื่อทั้งในประเทศและระดับโลก Bhagwati นั้นดูจะซัดหนักหน่อย อาจเป็นเพราะอัดอั้นตันใจและเป็นรองมานานถึงแม้จะมีความรู้ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เขาดูเป็นนักเศรษฐศาสตร์แท้ ๆ มากกว่าคู่ปรับที่เป็นทั้งนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา ฯลฯ ด้วย อีกทั้งมีบทบาทโดยตรงกับประชาชนทั่วโลกมากกว่า

          ข้อถกเถียงของทั้งสองคนโดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรใหม่ นักเศรษฐศาสตร์ก็เถียงกันมากว่าร้อยปีแล้ว ทั้งสองแนวมุ่งสู่ความกินดีอยู่ดีของประเทศเพียงแต่วิธีการแตกต่างกัน แนวของ Bhagwati คือเน้นการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และสนับสนุนโลกาภิวัตน์ โดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและจะช่วยทำให้ความยากจนลดหายไป

          ส่วนแนวของ Sen นั้น เป็นแนวใหม่กว่าและดูจะมีคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อถือมากขึ้นเป็นลำดับ แนวนี้บอกว่าการเจริญเติบโตไม่ใช่เป้าหมาย (ends) หากเป็นหนทาง (means) ไปสู่ความกินดีอยู่ดี การเน้นบทบาทของธุรกิจในการลงทุนและการค้าอย่างมากจะนำไปสู่ปัญหามากกว่าทางออก

          แนวแรกเชื่อว่าการเจริญเติบโตเกิดจากการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดงานและรายได้เพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเท่าเทียมกันของรายได้ ส่วนแนวหลังต้องปรับเปลี่ยนการเท่าเทียมกันของรายได้ (ช่วยเหลือคนยากจนด้วยโครงการสวัสดิการสังคมขนาดใหญ่) เพื่อเอื้อให้เกิดการเจริญเติบโต มีการเพิ่มขึ้นของงานและรายได้

          หากใช้เหตุใช้ผลและศึกษางานวิจัยโดยไม่ใช้ความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียวแล้วก็จะเห็นว่า ทั้งสองแนวคิดถูกต้อง หากแต่การไปสุดโต่งของแต่ละแนวคิดเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดี การผสมกลมกลืนทั้งสองแนวคิดอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์ น่าจะเป็นผลดีมากกว่าการเลือกแนวคิดใดแนวคิดเดียวอย่างสุดโต่ง

          ไม่ว่าทั้งสองยักษ์จะถกเถียงกันอย่างไร คนจนของอินเดียก็ยังคงจนต่อไปอย่างไม่เห็นทางออก โดยเฉพาะถูกซ้ำเติมในยามนี้ที่ค่าเงินรูปีตกมาก เงินไหลออกมหาศาล ขาดดุลงบประมาณขนาดใหญ่ ข้าวของแพง ฯลฯ ยิ่งสู้กันมันส์เท่าใด หนังสือทั้งสองเล่มก็จะยิ่งขายดีในระดับโลกเพียงนั้น…….และยังคงทำเงินต่อไป

กัญชากำลังน่ารักขึ้น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 สิงหาคม 2556

          กัญชาครั้งหนึ่งเป็นยาเสพติดที่มีโทษอาญา แต่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาประชาชนในหลายประเทศดูจะเป็นมิตรกับกัญชามากขึ้นทุกที ในเวลาอันใกล้การปลูกและการ เสพกัญชาจะเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้เพราะเหตุผลว่ามียาเสพติดอีกหลายอย่างที่ร้ายแรงกว่าที่ต้องปราบปราม

          ในปี 1971 สหรัฐอเมริกาแข็งขันอย่างมากในการเป็นผู้นำปราบปรามยาเสพติดของโลกโดยรวมทั้งกัญชาด้วยถึงแม้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดที่ร้ายแรงก็ตาม อย่างไรก็ดีนับแต่ 1980 เป็นต้นมากระแสความคิดในเรื่องการต่อต้านกัญชาได้พลิกผัน

          ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์มีการอนุญาตให้มีร้านสำหรับ สูบใบกระท่อมและกัญชา ในปี 2001 ปอตุเกสลดโทษการเสพกัญชาจากต้องโดนฟ้องศาลลงมาเป็นค่าปรับ (decriminalize) และบางภาคของสเปนยอมให้มีคลับเสพกัญชาเมื่อ 2-3 ปีก่อน

          ก่อนปลายทศวรรษ 1920 การครอบครองกัญชาหรือเสพไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใดในประเทศส่วนใหญ่ และต่อมางานวิจัยทางการแพทย์พบประโยชน์ของกัญชาว่า cannabis หรือ marijuana หรือ pot นี้มีสาร THC ซึ่งสามารถช่วยลดความเจ็บปวดของคนไข้ได้เป็นอย่างดีในราคาถูก

          ในทศวรรษ 1960 และ 1970 การเสพกัญชาเป็นแฟชั่นในหมู่นักศึกษา ฮิปปี้ และ คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดีทั้งการครอบครองและการเสพนั้นผิดกฎหมายจนอาจติดคุกได้และมีการบันทึกลงประวัติ หากใครถูกบันทึกชื่อก็เรียกได้ว่าแทบหมดอนาคต

          กัญชาเป็นไม้ล้มลุกมี 3 พันธุ์ คือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis ruderalis ทั้งหมดเป็นไม้พื้นเมืองของเอเชียกลางและเอเชียใต้ คนไทยเสพกัญชากันมานมนานหลายร้อยปี โดยเฉพาะเอาใบมาทำอาหารเพราะช่วยให้ลิ้นรับรสอาหารได้ดีขึ้น

          ตลอดเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดของโลกในการต่อต้านกัญชาได้อ่อนพลังลงเป็นลำดับ หลายรัฐยอมให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ลดโทษจากถูกฟ้องร้องเป็นจ่ายค่าปรับ รัฐโคโลราโดเป็นแห่งแรกของโลกในปี 2013 ที่การเสพกัญชาของผู้ใหญ่เพื่อการบันเทิงไม่ผิดกฎหมาย และต่อมารัฐวอชิงตันก็เดินตามรอยเดียวกัน อย่างไรก็ดีมีอีกหลายรัฐที่ยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่อันตราย การสำรวจเมื่อปลายปี 2012 พบว่าคนอเมริกันอายุ 18-29 ปี จำนวน 60% เห็นว่ากัญชาควรถูกกฎหมาย ส่วนในช่วงอายุ 30-64 ปี มีจำนวน 48% และอายุ 65 ปี ขึ้นไปมีจำนวน ร้อยละ 30

          คนจำนวนมากเห็นว่าการเสพกัญชาเป็นเรื่องของความบันเทิงเหมือนการสูบบุหรี่ และมีผลข้างเคียงต่อตนเองและคนอื่นน้อยกว่าการดื่มสุรา กัญชาเป็นเรื่องของรสนิยมและการเลือกส่วนบุคคล ส่วนคนที่เห็นตรงข้ามนั้นเชื่อว่าเป็นการเพิ่มเติมยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งอย่างไม่จำเป็น แค่บุหรี่และเหล้าก็เลวร้ายอยู่แล้ว แต่ก็มีคนจำนวนน้อยมากเท่านั้นที่เห็นว่าควรห้ามเด็ดขาดและให้มีโทษรุนแรงหากฝ่าฝืน ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าการห้ามไม่เป็นผลดังมีตัวอย่างให้เห็น กล่าวคือในปี 1933 ในสหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายห้ามผลิตและดื่มสุราโดยเด็ดขาดแต่ไม่ได้ผลเลย รังแต่จะทำให้มีการแอบค้าขายผิดกฏหมายมากขึ้น เกิดธุรกิจนอกกฎหมายและมาเฟียขึ้นมากมาย

          สำหรับกลุ่มประเทศอเมริกาใต้นั้นได้ต่อสู้ยาเสพติดโดยเฉพาะกัญชามายาวนาน แต่บัดนี้กำลังจะหันมาทำให้กัญชาถูกกฎหมายเพื่อเลิกการปราบปรามกัญชาที่สิ้นเปลืองเงินทองมหาศาลเสียแล้ว

          ในเวลาไม่นานนักก่อนสิ้นปี 2013 อุรุกวัยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่การผลิตและการเสพกัญชาถูกกฎหมาย ไม่เพียงแต่ไม่ถูกฟ้องร้องเท่านั้น ยังไม่มีการปรับอีกด้วย (legalize) ผู้นำอาร์เจนตินา เม็กซิโก โคลัมเบีย และผู้นำความคิดของสังคมอเมริกาใต้ออกมาสนับสนุนความคิดนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงว่ายุคใหม่ของดินแดนแห่งยาเสพติด (กัญชา กระท่อม และต้นโคคา ซึ่งใบโคคาเป็นวัตถุดิบของการผลิตโคเคน) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

          สาเหตุสำคัญของการเกิดทิศทางใหม่มีอย่างน้อย 4 ประการกล่าวคือ (1) มีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์กันอย่างกว้างขวาง สาร THC ในกัญชามีราคาถูก หาได้ง่าย และได้ผล (2) ยุคแสวงหาความสุขสมอย่างทันด่วนของชาวโลกได้ผลักดันให้การเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงเป็นสิ่งปกติ (3) การยอมรับฐานะของกัญชาว่าไม่ต่างไปจากเหล้าและสุราของสังคมสมัยใหม่

          ประการสุดท้ายก็คือการตระหนักของผู้นำกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ว่าสงครามสู้รบกับยาเสพติดนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ได้เสียเงินทองไปมหาศาลกับการปราบปรามกัญชา เมื่อเห็นกันว่ากัญชานั้น “ไร้เดียงสา” กว่าโดยเปรียบเทียบ ดังนั้นก็ควรจะถือว่าการผลิต การครอบครอง และการเสพนั้นถูกกฎหมายเสียเลย ทั้งนี้เพื่อลดคอร์รัปชั่น ความรุนแรง และอาชญากรรมที่เกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติดลง เพื่อให้สามารถหันมาสู้รบกับยาเสพติดอื่น ๆ ได้อย่างเต็มมือและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียเงินน้อยลงมากด้วย

          การทำให้กัญชาถูกกฎหมายนั้นจะทำให้มีจำนวนคนติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น และมีผู้คนเผชิญกับน้ำตามากขึ้นเฉกเช่นเดียวกับที่สุราทำร้ายครอบครัว แต่ในระดับมหภาค ประเทศจะมีการสูญเสียจากความรุนแรงและอาชญากรรมเกี่ยวเนื่องกับการค้ากัญชาผิดกฎหมายน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการปราบปราม

          สำหรับผู้ต่อต้านกัญชาความจำเป็นต้องยอมรับกัญชาให้ถูกกฎหมายนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่ “ผิดด้วยเหตุผลที่ (อาจ) ถูก” (wrong for the right reason) แต่สำหรับผู้สนับสนุนนั้นอาจเห็นว่าเป็นการกระทำที่ “ถูกด้วยเหตุผลที่ผิด” (right for the wrong reason) ก็เป็นได้
การทำให้กัญชาถูกกฎหมายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของสังคมหรือไม่ เวลาจะเป็นตัวบอกเราในที่สุด

คุณภาพชีวิตคนไทยหลังประชาคมอาเซียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 สิงหาคม 2556

          ไม่ว่าผู้คนจะพูดถึงเรื่อง ASEAN กันในแง่มุมไหนก็ตาม สิ่งที่อยู่ลึกในใจก็คือคำถามที่ว่าหลังปี 2015 ที่เป็นประชาคมอาเซียนแล้วคุณภาพชีวิตของตนเองจะเป็นอย่างไร

          ในเบื้องต้นขอย้ำว่าในปี 2015 นั้นเราจะเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community____AC) ไม่ใช่ AEC (ASEAN Economic Community) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          AC นั้นกว้างขวางกว่าเพราะครอบคลุมทั้ง AEC และ APSC (ASEAN Political Security Community) และ ASCC (ASEAN Socio-Cultural Community) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า AC ประกอบ ด้วย 3 เสาหลัก คือ AEC + APSC + ASCC

          คนจำนวนหนึ่งอาจมีความรู้สึกว่าปี 2015 คือปีวิเศษที่จะเกิด AC ขึ้นทันที (คล้ายกับเปิด สวิทช์ไฟ) แต่ความจริงก็คือความเป็น AC นั้นได้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น (ก) ร้อยละ 99.5 ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันในอาเซียนนั้นเก็บภาษีศุลกากรเป็น 0 มากกว่า 2 ปีแล้ว (ข) อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปีแล้ว (ค) ปัจจุบันมีพาสปอร์ตเล่มเดียวก็สามารถไปได้ทั่วอาเซียนโดยไม่ต้องมีวีซ่า ยกเว้นพม่าซึ่งตอนนี้ก็ขอวีซ่าออนไลน์ได้แล้ว (ง) สามารถเดินทางไป 7 ประเทศบนแผ่นดินใหญ่ได้โดยรถยนต์อย่างค่อนข้างสะดวก (ยกเว้นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นเกาะ) (จ) ในบ้านเรามีคนชาติอาเซียนอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนอยู่แล้ว ฯลฯ

          เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกใช้กฎหมายของตนเองโดยไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศบังคับแบบ EU (จะมีก็เพียงข้อตกลงที่จะมีข้อกฎหมายเหมือนกันในบางเรื่องเท่านั้น) ในการนำเข้าสินค้าที่ภาษีศุลกากรเป็น 0 นั้น แต่ละประเทศสามารถเรียกเก็บภาษีอื่นเพิ่มเติมได้อีก หรือสามารถตั้งกฎกติกาในเรื่องความสะอาด สาธารณสุข เงื่อนไขใบอนุญาต ฯลฯ ดังนั้นมันจึงไม่เสรีจริง เช่นเดียวกับการไหลของแรงงานมีฝีมือก็เป็นไปได้ยากเพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายสงวนอาชีพของตนเอง มีกฎกติกาของสภาวิชาชีพ (เช่นไทยบังคับให้แพทย์ พยาบาลต่างชาติต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเป็นภาษาไทยผ่านจึงจะประกอบอาชีพได้)

          การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2015 จะทำให้ข้อตกลงในหลายด้าน เช่น การลงทุนต่างชาติของธุรกิจด้านบริการ การไหลอย่างเสรีของเงินทุน ฯลฯ มีผลใช้บังคับทางกฎหมายขึ้น

          ท่ามกลางความเป็นเสรีจริงและไม่จริงของประชาคมอาเซียน สิ่งหนึ่งที่ปิดกั้นได้ยากก็คือการเดินทางไม่ว่าจะเป็นการแอบมาทำงานของแรงงานไร้ฝีมือ หรือการท่องเที่ยว

          ประเทศไทยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณปีละ 23 ล้านคน หลังปี 2015 เป็นต้นไปเป็นที่เชื่อได้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ (อีกส่วนหนึ่งจะมาจากจีนซึ่งตอนนี้เป็นอันดับหนึ่งคือประมาณ 2.7 ล้านคนต่อปี) เมื่อรวมกับประชากรไทยอีกกว่า 67 ล้านคน ก็พอเห็นภาพของการแย่งกันใช้พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ

          คุณภาพชีวิตของคนไทยในแง่มุมที่มีคนต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้าประเทศคาดได้ว่าจะเลวลงกว่าในปัจจุบัน หากสมรรถนะในการบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์

          ไทยเป็นสังคมเปิดที่มีความเป็นเสรีสูง (ยกเว้นแต่มีนายตำรวจออกมา “ขู่เพื่อเตรียมพร้อมและให้เข้าตากรรมการ” โดยบอกว่าอาจถูกจับติดคุกได้เพราะเล่นไลน์ และกดไลค์!!) เหมาะแก่การท่องเที่ยว มีโอกาสทางธุรกิจ หางานได้ การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน (คนอาเซียนไม่อาจไปหากินได้สะดวกในสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เพราะเขาเข้มข้นเรื่องคนเข้าเมือง ครั้นจะไปอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เขมร พม่า ก็ยังไม่มีโอกาสทางธุรกิจเท่าไทย) ดังนั้นจะมีคนอาเซียนจำนวนมากแห่มาประเทศไทย

          เรามีโอกาสเห็นนักท่องเที่ยว โจรขนาดจูเนียร์ล้วงกระเป๋าลักเล็กขโมยน้อย ตัดช่องย่องเบาจนถึงขนาดซีเนียร์ที่จี้ปล้น แรงงานผิดกฎหมาย ฯลฯ ตลอดจนมาเฟียชาติอาเซียนจำนวนมากบนแผ่นดินเรา

          ไม่ว่าจะมีข้อตกลงกันในอาเซียนในภาคบริการใดว่าจะอนุญาตให้คนต่างชาติได้เป็นเจ้าของธุรกิจโดยถือหุ้นต่ำกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ในบางประเทศที่มีนอมินีขายชาติ (เป็นเจ้าของแต่ในนาม) เราจะเห็นธุรกิจบริการจากต่างชาติมาแย่งธุรกิจของคนในประเทศ และหากไม่มีการดำเนินคดีที่จริงจังเมื่อคนเหล่านี้ถูกจับได้ กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ไร้ความหมาย และ “บางประเทศ” ที่ว่านี้มีโอกาสเป็นประเทศไทยสูง

          ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการจราจร (รถจะติดขัดมากขึ้นกว่านี้หากไม่เพิ่มความจริงจังในการแก้ไขปัญหารถติด) ปัญหาสาธารณสุข (โรคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักก็จะรู้จักมากขึ้น) ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาอุบัติเหตุจากคนอาเซียนอื่นที่เคยชินกับการขับรถชิดขวา ปัญหาคนไทยถูกแย่งงานทำในบางภาคการผลิต ฯลฯ รวมกันจะมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย

          การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นโอกาสที่ดีของคนไทยในด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่ ต้องตระหนักว่าถ้าภาครัฐและเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และไม่มีความจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งการป้องกันและปราบปรามแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่คุณภาพชีวิตของคนไทยจะลดลงหลังการเป็นประชาคมอาเซียน

          ถ้าสมรรถนะของการแก้ไขปัญหาจราจรยังอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน บอกได้เลยว่าหลังการเป็นประชาคมอาเซียนแล้วเราจะสูญเสียทั้งเวลา น้ำมัน สภาพจิตใจ ค่าโสหุ้ยในการดำเนินชีวิตประจำวันและธุรกิจมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมากมาย

          ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไทยจะเป็นตัวตัดสินสำคัญว่าหลังปี 2015 คุณภาพชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร

มนุษย์ “อู้งาน” โดยไม่ตั้งใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6 สิงหาคม 2556
 

         หลายครั้งในชีวิตเรารู้สึกแปลกใจกับพฤติกรรมของตัวเราเองยามเมื่อทำงานคนเดียวและเมื่อทำงานเป็นกลุ่ม การ “อู้งาน” โดยไม่ตั้งใจนี้มีคำอธิบาย

         ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) Rolf Dobelli อธิบายความแตกต่างของพฤติกรรมดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

         ในปี 1913 วิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ Maxmilian Ringelmann ศึกษาการทำงานของม้าและพบเรื่องประหลาดนั่นก็คือแรงดึงจากม้า 2 ตัว ที่ทำงานพร้อมกันให้แรงดึงน้อยกว่าแรงดึงรวมของม้าเมื่อแต่ละตัวดึง เมื่อเขาทดลองกับคนก็พบข้อสรุปแบบเดียวกันคือ ถ้า 2 คนดึงเชือกพร้อมกันโดยเฉลี่ยออกแรงคนละ 93 เปอร์เซ็นต์ของแรงทั้งหมดที่อาจออกได้ พอออกแรงร่วมกัน 3 คน ก็ออกแรงคนละ 85 เปอร์เซ็นต์ และ 8 คน ก็ออกแรงคนละ 49 เปอร์เซ็นต์

         ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า social loafing (SL) นี้เกิดขึ้นเมื่อมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละคนออกแรงน้อยลงกว่าเมื่อทำงานคนเดียวโดยผลงานของแต่ละคนไม่อาจเห็นได้โดยตรงอย่างชัดเจน ในการพายเรือร่วมกันก็จะเกิด SL แต่เมื่อแต่ละคนพายเรือแข่งกันก็ไม่เกิด SL เนื่องจากสามารถเห็นการมีส่วนร่วมของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน

         ถ้าจะว่าไปแล้วปรากฏการณ์ SL เป็นพฤติกรรมที่มีเหตุมีผล ทำไมต้องออกแรงเต็มที่เล่าในเมื่อออกแรงเพียงครึ่งเดียวก็ใช้ได้แล้วโดยไม่มีใครรู้เห็น? ในชีวิตมนุษย์ทุกคน เมื่อเราทำงานเป็นกลุ่มเราล้วนมีส่วนผิดในการกินแรงคนอื่นโดยการ “อู้งาน” แบบไม่ตั้งใจด้วยกันทั้งนั้น

         ภายใต้ปรากฏการณ์ SL เวลาเราทำงานเป็นกลุ่มผลการทำงานของแต่ละคนจะลดลง แต่ไม่เป็นศูนย์เพราะอาจเป็นที่สังเกตได้ของคนอื่น ดังนั้นแต่ละคนจะร่วมงานกลุ่มด้วยการ “อู้งาน” แต่พองาม

         ในการทำงานเป็นกลุ่ม SL ก็เกิดขึ้นในด้านการใช้สมองด้วย ยิ่งกลุ่มใหญ่เท่าใด ผลงานทางสมองของแต่ละคนจะน้อยลงเพียงนั้น เพราะสมาชิกเรียนรู้ที่จะ “อู้งาน” ทางสมองเช่นกันโดยมิได้ตั้งใจ
เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ SL ลงไปอีกก็จะเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มมากขึ้น ในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องใดก็ตามของกลุ่มเช่นคณะกรรมการบริษัท หรือของทีมงาน มีทางโน้นที่กลุ่มจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงในผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการตัดสินใจโดยคน ๆ เดียว

         หากตัดสินใจโดยคน ๆ เดียวเช่น CEO ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น CEO ต้องเป็นผู้แบกรับคนเดียว ดังนั้นความเป็นไปได้ในการเลือกสิ่งที่สุ่มเสี่ยงจะน้อยกว่าการตัดสินใจของกลุ่ม

         เมื่อกลุ่มพิจารณาตัดสินใจ สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มจะรู้สึก “สบายใจ” ที่ผลจากการตัดสินใจของกลุ่มจะไม่มีผลในด้านลบโดยตรงแก่ตนเองเนื่องจากเป็นการพิจารณาร่วม ดังนั้นโอกาสที่จะตัดสินใจชนิดสุ่มเสี่ยงจึงมีมากกว่า

         ในการประชุมของกลุ่ม ปรากฏการณ์ SL ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่สมาชิกจะไม่แสดงความเห็นที่ออกมาเด่นชัดมากเกินไป จนอาจต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมอย่างโดดเดี่ยวคนเดียวหากการตัดสินใจนั้นเกิดผิดพลาดขึ้น นอกจากนี้สมาชิกของกลุ่มจะไม่ทำงานทางสมองมากเท่ากับหากต้องทำคนเดียวเพราะตระหนักดีว่ามีสมองคนอื่นมาร่วมทำงานอยู่ด้วย

         อย่างไรก็ดีมีบทเรียนเรื่องการบริหารจากญี่ปุ่นที่ว่าการตัดสินใจร่วมกันของทีมย่อมดีกว่าการตัดสินใจของคนเดียว กรณีนี้อาจเป็นจริงด้วยวัฒนธรรมเฉพาะของญี่ปุ่นดังที่เราเห็นผลงานของญี่ปุ่นในการผลิตสินค้า อย่างไรก็ดีในวัฒนธรรมอื่นโดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย การทำงานเป็นทีมไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับทำงานเดี่ยว (ไทยเด่นแต่ในเรื่องกีฬาเดี่ยว ส่วนกีฬาเป็นทีมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ)

         ปรากฏการณ์ SL ทำให้พฤติกรรมของบุคคลเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มแตกต่างจากเมื่ออยู่ คนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจสร้างความเสียหายจากความสุ่มเสี่ยงได้ยามเมื่อเป็นกลุ่ม การตระหนักถึงความจริงข้อนี้อาจทำให้เราต้องระวังตัวกันมากขึ้นในการตัดสินใจแบบกลุ่ม
การ “อู้งาน” ทางสมองอย่างไม่รู้ตัวของเด็กวัยโฮโมนว้าวุ่นเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มโดยมี ผู้นำไปในทางที่ผิดคือสูตรสำเร็จสู่ปัญหา การแก้ไขจะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจธรรมชาติของ SL

อย่าไว้ใจตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 กรกฎาคม 2556
   

          สังคมให้ความสำคัญมากมายกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยขาดการตระหนักว่าตัวเลขเบื้องหลังนั้นมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำอยู่มาก และที่ร้ายสุดก็คือมันเป็นความแม่นยำที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วย

          อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ economic growth หมายความถึงอัตราการขยายตัวของ real GDP (มูลค่าที่แท้จริงของผลผลิตมวลรวมในประเทศ) หากมันเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก

          GDP (Gross Domestic Product) หมายถึงมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นจากพื้นที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะโดยองค์กรหรือคนสัญชาติใดก็ตาม มูลค่านี้จะเท่ากับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการผลิตสินค้าและบริการจากพื้นที่ภายในประเทศไทยเสมอ เนื่องจากมูลค่าสินค้าชิ้นหนึ่งจะเท่ากับรายได้รวมของทุกคนที่เกี่ยวพันในการผลิตสินค้าชิ้นนั้น

          ในลิ้นจี่กระป๋องหนึ่งซึ่งมีมูลค่า 40 บาท ส่วนหนึ่งเป็นมูลค่าของลิ้นจี่ (เกษตรกรปลูกลิ้นจี่ได้รายได้ส่วนนี้ไป) ส่วนหนึ่งของน้ำตาล (เกษตรกรปลูกอ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลได้รายได้ส่วนนี้ไป) ส่วนหนึ่งเป็นตัวกระป๋อง (ผู้ผลิตกระป๋องได้รายได้ส่วนนี้ไป) ฯลฯ เมื่อรวมมูลค่าเหล่านี้ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วก็คือรายได้ของทุกคนที่เกี่ยวพันกับการผลิตลิ้นจี่กระป๋องนี้นั่นเอง

          ตัวเลข GDP จากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่งอาจเพิ่มขึ้นโดยไม่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตจริง (ซึ่งเป็นของจริงที่สังคมต้องการ) ก็เป็นได้เนื่องจากเพียงราคาเท่านั้นที่ผลักให้มูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงต้องการการปรับรูปแบบตัวเลข GDP ใหม่ชนิดที่แน่ใจได้ว่าเมื่อเห็นมันเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง ๆ วิธีการก็คือทำให้ GDP ของทุกปีถูกคำนวณโดยใช้ราคาเดียวกัน (เลือกราคาของปีใดปีหนึ่งที่ไม่มีอะไรผิดปกติเป็นปีฐาน) ซึ่งหมายความว่าแปรเปลี่ยน GDP (คำนวณ ณ ราคาปัจจุบัน) เป็น real GDP (คำนวณ ณ ราคาปีฐาน) และ real GDP ก็คือขนาดของเศรษฐกิจ

          คำถามก็คือนักเศรษฐศาสตร์คำนวณได้อย่างไรว่าแต่ละปี GDP มีมูลค่าเท่าใด? ความลับของนักเศรษฐศาสตร์ก็คือใช้หลักวิชาปนกับสิ่งที่เรียกว่า educated guess (การคาดเดาอย่างใช้ความรู้) หรือบางทีก็เรียกว่า guesstimate (guess + estimate)

          การคำนวณ GDP ในแต่ละปีก่อนที่จะปรับตัวเลขเป็น real GDP นั้นก็ใช้ตัวเลขจากปีก่อนเป็นหลักและประเมินว่าในปีใหม่ (ปีปฏิทิน) มีการผลิตเพิ่มมากน้อยเพียงใด โดยรวบรวมสถิติการผลิตจากอุตสาหกรรมใหญ่ ภาคบริการใหญ่ การลงทุน ฯลฯ ที่เหลือก็ใช้การประเมินโดยพิจารณาการบริโภค ตัวเลขการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบ

          วิธีการนี้ไม่ผิดเชิงวิชาการ แต่ที่น่ากังวลก็คือในความเป็นจริงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเลข GDP ที่ได้มานั้นผิดหรือถูก ตัวเลข GDP ที่ถูกต้องนั้นเท่าใด อย่างดีก็เพียงเทียบเคียงกับฝั่งการบริโภคว่าควรเป็นเท่านั้นเท่านี้ แต่อย่าลืมว่าตัวเลขการบริโภคก็มาจากการเก็บสถิติที่อาจไม่สมบูรณ์และปนมากับการประมาณการอีกเช่นกัน

          การมีตัวเลข GDP นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะชี้ให้เห็นถึงระดับของกิจการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและรายได้ (อำนาจซื้อ) ที่เป็นผลพวงตามมา แต่ก็ควร “เชื่อถือ” อย่างระมัดระวัง อย่าได้นึกว่าเป็นตัวเลขอันศักดิ์สิทธิ์อยู่บนหิ้งที่ถูกต้องอย่างไม่มีวันผิดพลาดได้

          ต่อให้ตัวเลข GDP ที่ถืออยู่ในมือนั้นถูกต้อง (ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้) ก็มิได้หมายความว่ามันจะสะท้อนถึงความเป็นจริงของเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจาก GDP มิได้รวมรายได้อันเกิดจากการผลิตที่ไม่ผ่านตลาด (มูลค่าผักผลไม้หลังบ้านที่ปลูกไว้กินเอง แรงงานของภรรยาที่ทำงานแม่บ้าน ฯลฯ) และไม่รวมรายได้อันเกิดจากกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย เช่น การผลิตยาเสพติด งานของหญิงบริการ งานรับจ้างอุ้มฆ่า ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการผลิต

          เคยมีนักวิชาการคำนวณว่ารายได้อันเกิดจากเศรษฐกิจใต้ดิน (กิจกรรมผิดกฎหมาย) ของไทยนั้นอาจมีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของตัวเลข GDP พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมใต้ดินซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ผู้คนสัมผัสได้จริง ๆ

          หากลงลึกไปกว่านี้ก็จะเห็นว่าตัวเลข GDP นั้นมีลักษณะของการเป็นแหล่งกำเนิดของรายได้ กล่าวคือเป็นตัวเลขของรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาหนึ่งปี ยังมีรายได้ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งโอนมาจากต่างประเทศ เช่น เงินกู้ เงินโอน ฯลฯ ที่ GDP มิได้ครอบคลุมอีก

          GDP ในทางทฤษฎีนั้นไม่ว่าจะคำนวณจากด้านมูลค่าผลผลิต รายได้ หรือรายจ่าย จะเท่ากันเสมอ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงการคำนวณจากด้านมูลค่าผลผลิตนั้นสะดวกและมีความแม่นยำกว่า (รายได้มีทั้งจากการผลิต จากเงินโอน จากสิ่งผิดกฎหมาย จึงแยกได้ยาก ด้านรายจ่ายก็ยากเช่นกันเพราะอาจนับซ้ำได้ง่าย) แต่ก็แม่นยำในขอบเขตที่จำกัด วิธีการที่ตรวจสอบก็คือดูความสอดคล้องของตัวเลข GDP กับสถิติอื่น ๆ ที่เก็บได้จริง

          GDP เป็นตัวเลขหนึ่งของบัญชีรายได้ประชาชาติที่มีประโยชน์แต่มิได้ใช้วัดความสุขดังที่หลายคนพยายามยัดเยียดให้ การใช้ตัวเลข GDP ควรคำนึงถึงข้อจำกัดโดยไม่ลืมว่าไม่มีทางพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าตัวเลข GDP ที่ถูกต้องนั้นคือเท่าใด

          อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผู้คนพยายามประเมินนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ท้าทายความแม่นยำไม่ได้ มันเป็นเพียงตัวเลขที่มีความรู้สึกปนอยู่มากอย่างไม่อาจไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ทำอย่างไรกับ Authority Bias

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 กรกฎาคม 2556
  

          “คันเร่งของหัวรถจักรค้างจึงวิ่งจากสถานีมักกะสันพุ่งเข้าชนสถานีหัวลำโพง” “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากนักศึกษาคอมมูนิสต์ซ่องสุมมีอาวุธอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางการจึงจำเป็นต้องบุกเข้าไป” คำอธิบายสองเหตุการณ์นี้ประชาชนไทยจำนวนมากเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเพราะทางการเป็นคนบอก

          เหตุการณ์แรกคนต่างชาติหัวเราะฟันโยกในความไร้เดียงสาของคนไทย มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่หัวรถจักรและขบวนรถรวม 6 คัน คันเร่งค้างจนสามารถวิ่งผ่านทางมาได้เป็นกิโลเมตรและพุ่งเข้าชนสถานีหัวลำโพงจนคนตายไป 5 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คนในเหตุการณ์ปี 2529 ความจริงก็คือหนังสือพิมพ์ฝรั่งในบ้านเรารายงานว่าในช่วงนั้นมีการประท้วงกันอยู่และมีคนเห็นคนขับบังคับหัวรถจักรเข้าชนแบบคามิกาเซ่ โดยโดดลงจากหัวรถจักรก่อนถึงจุดปะทะ

          เหตุการณ์ที่สองนั้นในปัจจุบันเราก็รู้กันแล้วว่าไม่เป็นความจริง มีผู้ชุมนุมไร้เดียงสาจำนวนมากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ แต่ตอนแรกผู้คนส่วนใหญ่เชื่ออย่างสนิทใจ

          เหตุที่เราเชื่อทั้งสองเหตุการณ์ก็เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มีสิ่งหนึ่งอยู่ในใจที่เรียกว่า “authority bias” กล่าวคือมีความเอนเอียงเชื่อเพราะ authority หรือ “ผู้มีอำนาจ” เป็นผู้บอก

          ผู้คนทุกชาติมี “authority bias” ด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สติปัญญาของแต่ละคน และด้วยความมีตัวตนของความเอนเอียงเช่นนี้ จึงมีความพยายามกันมากที่จะเป็น authority เพื่อหาประโยชน์จากความเอนเอียงโดยธรรมชาติ

          พราหมณ์ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ผู้คนเชื่อว่าสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ (แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ยังติดต่อไม่ได้) ดังนั้นพราหมณ์จึงอยู่ในวรรณะที่สูงสุด ใคร ๆ ก็ซูฮกให้ทั้งนั้นเพราะต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าในโลกนี้และโลกหน้า (ตามคำบอกของพราหมณ์) พราหมณ์กลายเป็น authority สำคัญจนทุกวันนี้ในเรื่องการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

          พระก็เป็นอีก authority หนึ่งของสังคมไทยที่คนไทยนับถือและเชื่อคำพูด คนจำนวนหนึ่งงมงายมากจนทำให้พระและเณรที่ทุศีลทั้งหลายร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ถ้าไม่มี authority bias พุทธมามกะบางส่วนคงไม่สูญเงินกันไปมากมายกับพระที่หาประโยชน์จากความเอนเอียงเช่นว่านี้หรอก

          พระที่เป็นหมอดูน่าเชื่อถือกว่าหมอดูธรรมดาก็เพราะการห่มผ้าเหลืองทำให้มีความเป็น authority มากกว่าคนเดินดิน ดังนั้นคนธรรมดาเหล่านี้จึงต้องฝึกหัดการทรงเจ้าเข้าผี มีอาศรม มีกะโหลก มีเครื่องรางเสริมเพื่อให้ดูขลังและมี authority มากขึ้นเพื่อหาประโยชน์จาก authority bias

          นายวิรพล สุขผล อดีตหลวงปู่เณรคำหลอกลวงได้ก็เพราะการสร้าง authority ด้วยการสร้างเรื่องว่าเป็นผู้วิเศษเป็นหลวงปู่ในร่างพระหนุ่ม เคยเกิดร่วมชาติกับพระพุทธเจ้า เป็น “พุทธบุตร” (เคยจำได้ว่าลูกพระพุทธเจ้าชื่อราหุล ไม่ใช่วิรพล) และเป็นตัวกลางพาไปสู่สวรรค์ได้

          เราเห็นคนจำนวนหนึ่งบ้าคลั่งเครื่องแบบ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ลูกจ้าง ฯลฯ เนื่องจากเครื่องแบบทำให้ authority โดดเด่นขึ้น ชาวบ้านเห็นความมีอำนาจของพวกเขา และพวกเขาก็ได้ประโยชน์จาก authority bias

          เมื่อเรื่องมันเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงต้องระวังคำพูด คำชี้แจง ความเห็น คำแนะนำ ฯลฯ จาก “ผู้มีอำนาจ” ทั้งหลาย เพราะหากไม่ระวังเราจะเชื่อเขามากกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันเราก็มักมองข้ามการรับฟังจากคนอื่นที่อาจมีข้อแนะนำที่ดีกว่าแต่บังเอิญขาด authority

          มนุษย์โดยทั่วไปมักเชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ที่มี authority โดยธรรมชาติ (บางคน “ติดหมอ” ด้วย ไม่ยอมรับการรักษาจากหมอคนอื่น มันพิสูจน์ว่า authority ก็มีคิวเหมือนกัน) คำแนะนำเพื่อป้องกันการวินิจฉัยโรคที่อาจผิดพลาดโดยหมอคนเดียว (อย่าลืมว่ามนุษย์มีโรคทั้งหมดที่ทำให้เจ็บป่วยได้กว่าหนึ่งหมื่นโรค) ก็คือให้ไปหารือหมอคนที่สองเพื่อหา “second opinion” หรือการวินิจฉัยโรคอีกครั้งโดยหมออีกคนเพื่อความแน่ใจ

          ในโลกธุรกิจนั้นบริษัทที่มี authority bias อย่างแรงเพราะมี CEO เป็นเผด็จการ (ไม่ฟังใคร และไม่มีใครหือ) ทุกคนเชื่อฟังหมดมีโอกาสทำให้บริษัทพังได้ง่ายเช่นเดียวกับกัปตันเครื่องบินในสมัยก่อนที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดในเที่ยวบิน นักบินผู้ช่วยก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดอันตรายจึงมี

          โครงการ CRM (Crew Resource Management) ซึ่งอบรมให้กัปตันและพนักงานร่วมกันหารือเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็คือการแก้ไขปัญหา authority bias นั่นเอง

          มนุษย์จะไม่ตัดสินใจผิดพลาดเพราะเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหากตระหนักถึงการมี authority bias ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจากโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือมนุษย์ด้วยกันเองก็ตามที

          authority bias นี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้ทำรัฐประหารต้องหาผู้อ่านประกาศคณะปฏิวัติทางโทรทัศน์ที่ประชาชนรู้จักว่าเป็นตัวแทน “authority ใหม่” ที่น่าเชื่อถือ มิฉะนั้นประชาชนอาจนึกว่าเป็นละครโทรทัศน์ตอนเย็น