หากเข้าใจถูกต้อง ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 มิถุนายน 2559

          “จงใช้ชีวิตราวกับว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต” “ผมก็เป็นคนดีในบางเรื่องและเลวในบางเรื่องเหมือนคนทั่วไป” “ต้องซื้อของมีราคาให้ตัวเองเป็นรางวัล” “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ฯลฯ ประโยคเหล่านี้ฟังดูดีแต่ถ้าไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว อาจเกิดความเสียหายได้ร้ายแรง

          ถ้าจำไม่ผิดมหาตมะ คานธี เป็นคนกล่าวประโยคแรกที่ว่า “จงใช้ชีวิตราวกับว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต” คนทั่วไปจะเห็นว่าเมื่อมหาบุรุษกล่าวไว้ก็ต้องเป็นจริง แต่ถ้าเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องไตร่ตรองก่อน จะเชื่อ ไม่ใช่เชื่อเพราะคนเขาเชื่อตาม ๆ กันมา

          ถ้าเชื่อประโยคนี้ก็ไม่ต้องสีฟัน ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องไปทำงาน ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องออมเงิน มีเท่าใดก็ใช้ให้หมดเพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว อย่างไรก็ดี ถ้าทำเช่นนี้จริงในเวลาไม่นานเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ตาย ชีวิตก็จะยุ่งเหยิงมาก คำพูดน่าฟังมากนั้น ฟังดูแล้วสุดเก๋ แต่เมื่อพิจารณาจริง ๆ แล้วมันปฏิบัติไม่ได้ เข้าใจว่ามหาตมะ คานธี มิได้หมายความตามนี้ หากเตือนให้เตรียมตัวเสมออย่างไม่ประมาท เพราะคนเราจะตายเมื่อใดก็ไม่รู้

          เมื่อผู้เขียนได้ยินคนรุ่นปัจจุบันพูดประโยคที่ว่า “ผมก็เป็นคนดีในบางเรื่องและเลวในบางเรื่องเหมือนคนทั่วไป” แล้วรู้สึกใจหาย ไม่รู้ว่าเขาคิดจะเป็นคนเลวเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร น่ากลัวมากหากเชื่ออย่างนี้จริง ๆ เพราะความเลวมันมีหลายระดับและก่อให้เกิดผลเสียด้วยความรุนแรงที่ไม่เหมือนกัน ประการสำคัญความคิดของแต่ละคนและประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน จนอาจเห็นว่าการหลอกลวงต้มตุ๋นคนอื่นหรือการทุจริตในหน้าที่ (ในบางครั้ง) เป็นความเลวเพียงเล็กน้อย ส่วนความดีคือการจูงเด็กข้ามถนน

          อีกคนอาจเห็นว่าความเลวคือการรับศีลห้าในตอนเช้าแล้วกินเหล้าในตอนเย็น ส่วนความดีคือการไม่รังแกและเบียดเบียนคนอื่นที่อ่อนแอหรืออ่อนด้อยกว่า คำจำกัดความที่ไม่เหมือนกันของคนเพียงสองคนก็ทำให้โลกยุ่งแล้ว และเกิดความเสียหายในระดับที่ต่างกัน

          ผู้เขียนอยากบอกเขาว่าเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วต้องเป็นคนดีตลอดเวลา มีธรรม ประจำใจ ส่วนที่บอกว่าเลวได้บ้างเหมือนคนทั่วไปนั้นหมายถึงการละเมิดบางเรื่องที่ไม่ขัดกับหลักธรรมอย่างร้ายแรงและไม่ตั้งใจ เช่น ขับรถอย่างนักเลงขาดน้ำใจ ขัดใจพ่อแม่ในบางเรื่อง ระเบิดอารมณ์กับคนในครอบครัว ฯลฯ ข้อความนี้มิใช่ใบอนุญาตให้ทำความชั่วร้ายแรงในบางครั้ง และในเวลาอื่นก็ละเว้นและทำดีอย่างอื่น

          ความชั่วกับความดีหักลบกันไม่ได้ ดังเช่นบาปกับบุญ ถ้ามันหักกันเป็นรายการในบัญชีได้แล้ว โลกจะปั่นป่วนมาก จะมีคนที่ฆ่าคนอื่นแล้วทำบุญกรวดน้ำไปให้ผู้ตายหรืออุปการะลูกเขาตลอดชีวิต

          “ต้องซื้อของมีราคาให้ตัวเองเป็นรางวัล” มีรากมาจากตะวันตก แต่คนในภูมิภาคนี้เขามีวัฒนธรรมการใช้เงินมาก่อนพวกเรา เพราะเขารวยและเรียนรู้มาก่อนเราร้อยถึงสองร้อยปี การซื้อของดี ๆ ให้ตัวเขาเองจึงอยู่ในขอบเขตไม่ทำให้เขาเสียฐานในการออมเงินจนเดือดร้อนในอนาคต แต่สำหรับคนไทยเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้เงินไม่เป็น (ที่เราเห็นเขารูดการ์ดรูปแพะและแกะกันอยู่ทุกวันนั้นมิได้หมายความว่าใช้เงินเป็นในความหมายนี้)

          คนที่ “กินอยู่เกินฐานะ” คือพวกใช้เงินไม่เป็น ถ้าจะใช้เงินเป็นแล้วต้อง“กินอยู่ต่ำกว่าฐานะ” ซึ่งหมายถึงว่าสามารถกินอยู่ตามฐานะการเงินที่ตัวเองมีได้ แต่ก็ไม่ใช้จ่ายขนาดนั้นดังนั้นจึงมีเงิน เหลือเก็บ ในทางตรงกันข้ามถ้า “กินอยู่เกินฐานะ” ก็หมายถึงว่าต้องหาส่วนที่ขาดไปเพราะมีเงินไม่พอด้วยการเป็นหนี้ คนไทยที่ให้รางวัลตัวเองด้วยของดีราคาแพง จึงมีโอกาสอยู่ในประเภทหลังนี้เสียแหละมาก

          “การให้รางวัลตัวเอง” ไม่จำเป็นต้องเป็นของดีมีราคา การไม่ใช้จ่ายเงินซื้อของเหล่านี้สำหรับบางคนในบางฐานะแล้วอาจเป็นรางวัลให้ตัวเองด้วยซ้ำ กล่าวคือเมื่อไม่เป็นหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจนทำให้ของมีราคาสูงขึ้น และเมื่อไม่ซื้อ เงินที่อาจใช้ซื้อนั้นก็กลายเป็นเงินออมอันนำมาซึ่งการลงทุนและการได้รับผลตอบแทนในอนาคตโดยไม่ต้องทำงานให้ร่างกายสึกหรอ

          สำหรับ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” นั้นคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจเอาเองว่าหมายถึงทำทั้งความดีและความชั่วปนกันไปได้เพราะเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ แต่ในความหมายที่แท้จริงนั้นหมายถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ถึงแม้จะทุกข์แสนสาหัสแต่ก็สามารถกลับมามีความสุขได้ และถึงแม้จะตกต่ำแต่ก็สามารถกลับมารุ่งเรืองได้อีกอย่างอาจสลับกันไปได้ในอนาคต

          สุภาษิตไทยบทนี้มิได้สร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความชั่วและความดีสลับกันแต่ประการใด ดังกล่าวแล้วความชั่วและความดีหักลบกันไม่ได้ ความชั่วนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัวในเวลาต่อไป ส่วนความดีนั้นรังแต่จะทำให้เกิดความสุข ความภาคภูมิใจ และความสงบราบรื่น สองสุดโต่งนี้ผสมปนเปกันไม่ได้อย่างไร ความดีกับความชั่วก็ปนกันไม่ได้ฉันนั้น

          ประโยคเหล่านี้มีมานานแล้ว หากแต่การตีความมักแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในยุคนั้น ๆ ในปัจจุบันความสับสนในเรื่องว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดเกิดขึ้นตลอดเวลา และการตีความว่าความดีและความชั่วไปด้วยกันได้เพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตซึ่งอุดมด้วยบริโภคนิยมทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป

          สังคมต้องช่วยกันประคับประคองคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สับสนและซับซ้อนซึ่งสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยได้ก็คือการเข้าใจความหมายของประโยคเหล่านี้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง

อาชญากรนาซีคนสุดท้าย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7 มิถุนายน 2559

          เวลาเป็นสิ่งมีประโยชน์เพราะเป็นยารักษาความเศร้าจากการสูญเสีย ความผิดหวังและการอกหักได้อย่างชะงัด อย่างไรก็ดีเวลาอาจเป็นตัวสนับสนุนความอยุติธรรมก็ได้เช่นกัน ดังในกรณีของการนำอาชญากรขึ้นศาลเพื่อพิพากษาให้รับโทษจากความชั่วร้ายที่ได้ทำในอดีตเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว

          เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา Reinhold Hanning อายุ 94 ปี อดีตผู้คุมค่ายกักกันนรกที่นาซีสร้างขึ้นคือ Auschwitz ถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมหมู่ผู้คนจำนวน 170,000 คน ระหว่างเดือนมกราคม 1943 ถึงมิถุนายน 1944 ที่เขาทำงานอยู่

          Hanning เป็นทหารนาซีหน่วยพิเศษที่เรียกว่า SS ซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของทุกคนในเยอรมันนี และประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่กองทัพนาซียึดครอง ประวัติของเขาที่มีการเปิดเผยก็คือเมื่ออายุได้ 18 ปีก็อาสาเข้าเป็นทหารของพรรคนาซี Waffen SS หลังจากออกรบในสงครามอยู่หลายปีจนบาดเจ็บจากระเบิด ก็ได้รับการเลื่อนขั้นให้มาทำงานเบาที่ค่าย Auschwitz โดยรับหน้าที่เป็นผู้คุมหอคอยของค่าย

          Auschwitz มิได้หมายถึงค่ายกักกันเพียงค่ายเดียวที่กักขังนักโทษระหว่าง ค.ศ. 1940 ถึง 1945 หากเป็นกลุ่มของคุกซึ่งอยู่ในประเทศโปแลนด์โดยประกอบด้วย Auschwitz I (ค่ายแรก) Auschwitz II – Birkenau และ Auschwitz III – Monowitz และค่ายกักกันย่อยๆอีก 45 แห่ง

          ผู้ที่ถูกกักขังก็ได้แก่ยิวจากเยอรมันและประเทศที่เยอรมันยึดครองพวกยิบซี (Romani) / คนเชื้อสายสลาฟ / ชาวโปแลนด์ / นักโทษสงครามสหภาพโซเวียต / คนพิการ / ผู้เห็นตรงข้ามทางการเมือง เช่น คอมมูนิสต์ ฟาสซิสต์ ฯลฯ

          จำนวนผู้ถูกกักขังประมาณได้ยากเนื่องจากมีการเข้าและตายทุกวัน จากการฆ่าด้วยการรมกาซพิษเมื่อเดินทางมาถึงด้วยรถไฟจากหลายแดนไกล ตายจากการขาดอาหารและเจ็บป่วย มีประมาณการว่าที่ค่าย Auschwitz มีคนตายประมาณ 1.1-1.5 ล้านคนโดยมี SS ที่ทำงานดูแลจัดการทั้งฆ่า เผา และควบคุมดูแลอยู่ประมาณ 6,000-7,000 คน

          เมื่อบรรดาผู้ถูกจับเดินลงจากรถไฟเป็นทิวแถวก็จะมีนายทหาร SS เป็นคนคัดเลือกว่าจะเก็บใครไว้ทำงานในค่าย หรือเอาไปทดลองทางการแพทย์ หรือใครที่สมควรเอาไปห้องรมควันกาซเลย ครอบครัวทั้งหมดจะถูกแยกกัน บ้างก็ไปตาย บ้างก็อยู่รอด ส่วนใหญ่เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และคนสูงอายุจะถูกฆ่าหมดเพราะถือว่าเป็นภาระ
แพทย์เยอรมันใช้คนเหล่านี้เป็นหนูทดลองยา ทดลองวิธีผ่าตัดรักษาพยาบาลใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ยากที่จะรอดออกมาเหมือนเดิม

          เมื่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปลดปล่อยผู้ถูกกักขังค่าย Auschwitz ในเดือนมกราคม 1945 นั้น มีเหลืออยู่ประมาณ 60,000 คน และถึงแม้จะได้รับอิสรภาพแล้วก็ตายอีกหลายหมื่นคนเพราะต้องเดินเท้าฝ่าความหนาวและอาหารที่ขาดแคลนกลับบ้านของตน ค่ายกักกันอื่น ๆ อีกนับร้อยในประเทศที่เยอรมันยึดครองก็มีผู้รอดชีวิตมาไม่มาก

          หลังสงครามมีการคิดบัญชีกับทหาร SS ของ Auschwitz ที่ทำทารุณกรรมแต่ก็สามารถลงโทษได้เพียงร้อยละ 12 ของ 7,000 คน ที่เคยทำงาน ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะมีพยานที่ให้การหนักแน่นจำนวนมากก็ตาม

          ในเยอรมันนีนั้นเรื่องการลงโทษนาซีหลังสงครามเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากเพราะมีสมาชิกพรรคนาซีถึง 8 ล้านคน (ร้อยละ 10 ของประชากร) คนจำนวนมากเหล่านี้ก็กลับมาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ หลังสงคราม หลังจากการตั้งศาลอาชญากรรมสงครามที่ Nuremberg ในปี1945 แล้ว ฝ่ายพันธมิตรก็มอบให้แต่ละประเทศดำเนินการเกี่ยวกับอาชญากรจากสงครามกันเอง

          หน่วยงานพิเศษของเยอรมันนีดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบอาชญากรรมที่ Auschwitz ได้เพียง 50 คน (ประเทศอื่น ๆ ก็ดำเนินการด้วยจนตัวเลขขึ้นไปถึงร้อยละ 12 ได้) ทั้งนี้เนื่องจากศาลต้องการหลักฐานที่ชัดแจ้ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปพยานแก่ตายเป็นจำนวนมากขึ้น คดีเหล่านี้จึงเงียบไปทุกที พวกเคยก่อกรรมทำเข็ญไว้ก็แอบอยู่ในประเทศต่อไป บ้างก็อพยพไปอยู่บราซิล อาเยนดินา และประเทศอื่น ๆ ในอเมริกาใต้อย่างมีความสุข

          จุดเปลี่ยนที่ทำให้สามารถลากคออาชญากรเหล่านี้มาลงโทษได้มากขึ้นเกิดขึ้นหลังปี 2000 เมื่ออัยการเยอรมันเกิดแนวคิดฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งใหญ่ฆ่าล้างเผาพันธุ์ของศตวรรษ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ถือว่าเป็นแขนขา มีส่วนร่วมในอาชญากรรม

          กรณีแรกที่ทำได้สำเร็จภายใต้กลยุทธ์ใหม่นี้ก็คือศาลเยอรมันนีได้ลงโทษ John Demjanjuk ซึ่งเป็นผู้คุมชาวยูเครนทำงานที่ค่าย Sobibor ในโปแลนด์ รายต่อมาคือ Oskar Groening อายุ 94 ปี จำคุก 4 ปี ในฐานร่วมสมคบฆ่าคนตาย 300,000 คน ที่ Auschwitz คนนี้เป็น SS ที่มีชื่อเล่นว่า “book-keeper of Auschwitz” กล่าวคือเป็นคนทำหน้าที่นับเงินสดที่เอามาจากผู้ที่ส่งเข้าห้องกาซรมควันและผู้ถูกคุมขัง

          Reinhold Hanning คือรายที่สามที่คาดว่าน่าจะสังเวยกลยุทธ์ใหม่นี้ ถึงแม้จะมีพยานในวัยใกล้ 90 ปี และ 80 กว่าปี 3-4 คน มาให้การปรักปรำ แต่ทุกคนก็จำเขาไม่ได้ว่าทำอะไร เพียงแต่มีหลักฐานว่าเขาทำงานที่นี่แน่นอน และเมื่อเป็น “กลไกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก็ย่อมมีความผิดไปด้วย

          อัยการของเยอรมันของหน่วยนี้บอกว่ามีอีก 2 รายที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ดีมีหนึ่งในนั้นเสียชีวิตไปแล้ว และอีกหนึ่งคนศาลตัดสินว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะนำขึ้นศาลได้ ดังนั้น Hanning จึงน่าจะเป็นนาซีอาชญากรจากสงครามรายสุดท้าย

          หลายคนคงสงสัยว่าผู้ต้องหาก็อายุ 94 ปีแล้ว ไม่น่าจะอยู่ในโลกรับโทษไปได้อีกนาน และมันเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้วถึง 70 กวราปี จะอภัยให้คุณปู่คุณชวดกันไม่ได้เลยหรือ

          ในเรื่องนี้ประเด็นมันไปไกลกว่าเรื่องอายุและการให้อภัย อาชญากรรมที่นาซีทำไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เป็นบทเรียนที่ชาวโลกต้องไม่ลืม และต้องร่วมกันทำให้แน่ใจได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าสิ่งเลวร้ายที่ใครก็ตามทำไปจะถูกคิดบัญชีเสมอไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ผู้คนก็จะเกรงกลัวและกล้าทำน้อยลงในอนาคต ถ้าชาวโลก “เอาจริง” เช่นนี้ ก็จะเป็นการทำตามคำขวัญที่ว่า “never again”

          เรื่องคอรัปชั่นในบ้านเราถ้าต้องการล้างให้สิ้นซากก็ต้องทำแนวนี้ คือแค่เขกเข่า หรือตีมือ และเลิกรากันไปไม่พอ ถูกให้ออกจากราชการแล้วต้องยึดทรัพย์ให้หมด และไม่ใช่เฉพาะที่ตนมีเท่านั้นในตอนที่ถูกลงโทษ ต้องไปดูย้อนหลังว่าฝากหรือโอนให้แก่ใครบ้าง และตามเอากลับมาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเล่นกันไม่เลิก ไม่ให้มีที่ยืนและที่นอนเลย จึงจะถูกต้องและยุติธรรม

          ฮิตเลอร์ใช้กลไกพรรคนาซีก่อสงครามโลกจนปั่นป่วนไปทั่วโลก มีคนตายรวมทั้งสิ้นไม่ว่าทหารหรือพลเรือนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน หรือร้อยละ 3 ของประชากรโลกในปี 1940 ซึ่งเท่ากับ 2.3 พันล้านคน เฉพาะยิวที่ตายด้วยมือนาซีนั้นไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 2 ใน 3 ของยิวที่อยู่อาศัยในยุโรปทั้งหมด

          Hanning ไม่สารภาพว่าตนเองฆ่าใครที่ Auschwitz แต่บอกว่าเสียใจและขอโทษ เขาตระหนักดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ Auschwitzเพราะเตาเผาทำงานตลอดเวลาและได้กลิ่นเนื้อคนไหม้ เขารู้สึกละอายใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชญากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ และละอายใจที่เห็นความ อยุติธรรมเช่นนี้แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร

          ข้อความสุดท้ายนี้ไม่รู้ว่าเขาประชดคนเยอรมันในวัยใกล้เคียงกับเขาหรือเปล่า เพราะหลักฐานระบุชัดเจนขึ้นทุกทีว่าการทำสิ่งเลวร้ายเช่นนี้โดยฮิตเลอร์ และพรรคพวกนั้น คนเยอรมันโดยทั่วไปทราบดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย

จาก “นายกเทศมนตรี” สู่ “ประธานาธิบดี”

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
31 พฤษภาคม 2559 

FILE – In this Wednesday, Dec. 20, 2017, file photo, Philippine President Rodrigo Duterte addresses the troops during the 82nd anniversary celebration of the Armed Forces of the Philippines in suburban Quezon city northeast of Manila, Philippines. Human rights groups say the Philippine president’s recent remarks about troops shooting female communist rebels in the genitals to render them “useless” can encourage sexual violence and war crimes. (AP Photo/Bullit Marquez, File)

          ฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีคนใหม่ที่เป็น “ม้ามืด” แบบ “ไม่มืด” และมีลักษณะประจำตัวที่แตกต่างจากคนในระดับผู้นำอื่น ๆ ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่นบอกว่าหากได้เป็นประธานาธิบดีจะฆ่า โจรที่ปล้นฆ่า ผู้ค้ายา อาชญากรฆ่าข่มขืน ฯลฯ ประมาณ 100,000 คน และจะเอาศพโยนลง อ่าวมะนิลา และฝากบอกไปถึงคนเหล่านี้ด้วยว่าระวังให้ดี จะโดนฆ่าแน่ ๆ ยังมีที่ดุเดือดเผ็ดมันมากกว่านี้อีก

          ชื่อของเขาคือ Rodrigo Duterte โดยผู้คนเรียกชื่อเล่นทางการเมืองของเขาว่า Digong และล่าสุดสื่อตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่า “Duterte Harry” ในอดีตสื่อต่างประเทศในปี 2002 ตั้งชื่อเขาว่า “The Punisher” (นักปราบ) ชื่อดุเช่นนี้มีความเป็นมาและมีส่วนอย่างสำคัญกับการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนร้อยละ 39 โดยคนที่รองลงไปได้คะแนนร้อยละ 23 เท่านั้น

          Digong เป็นนายกเทศมนตรีของ Davao City ในเกาะมินดาเนา เมืองนี้มีประชากรประมาณ 500,000 คน เขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีติดต่อกันมา 22 ปี จากเมืองที่มีอาชญากรรมชุกชุมจนถือกันว่าเป็นเมืองอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาทำให้กลายเป็นเมืองปลอดภัยที่สุดของโลก

          วิธีการของเขาก็คือ “วิสามัญฆาตกรรม” บรรดาโจรทั้งหลายไปเรียบด้วยหน่วยกิจกรรมพิเศษของเขา องค์กรต่างประเทศประมาณว่าเขาสั่งฆ่าไป 700 คน แต่เขาบอกว่าตัวเลขจริงคือ 1,700 คน นอกจากใช้วิธีที่ผิดกฎหมายแต่ไม่มีใครขัดขวางเพราะเห็นดีเห็นชอบด้วยแล้ว เขาห้ามดื่มเหล้านอกบ้านหลังเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ห้ามพ่อแม่ปล่อยวัยรุ่นออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่ม บังคับให้ติดกล้องซีซีทีวีทุกแห่ง ห้ามปรามการพนัน ปราบปรามการเสพยา สร้างงาน ฯลฯ เรียกได้ว่าทำทุกอย่างจนอาชญากรรมลดหายไป

          ประชาชนชอบใจเพราะเขาไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม เพราะโดยนิสัยเขาเป็นคนออกนักเลงอยู่แล้ว ตอนเป็นเด็กถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึง 2 ครั้ง และแม้แต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาก็ถูกห้ามเข้าพิธีรับปริญญาเพราะไปยิงเพื่อนที่พูดจาดูถูก

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้รับเลือกก็คือผลงานเก่าและความสามารถในการหาเสียง ซึ่งกติกากำหนดให้หาเสียงกันได้นานถึงเกือบ 5 เดือน เมื่อตอนต้นการหาเสียง Duterte หรือ Duterte Harry (ชื่อที่สื่อเรียกเพราะเขาสั่งฆ่าโดยไม่ต้องให้ลำบากขึ้นศาลเหมือนพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง Dirty Harry เมื่อหลายปีก่อน) มีคะแนนนิยมน้อยมาก ตัวเก็งคือ Grace Poe (ลูกสาวของนักอ่านข่าวดังในโทรทัศน์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบได้เป็นประธานาธิบดี) กับ Manuel Roxas (หลานปู่ของประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และทายาททางการเมืองของประธานาธิบดี Aquino คนปัจจุบันที่ลงสมัครอีกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นได้วาระเดียว)

          คะแนนเสียงเขาดีขึ้นเป็นลำดับจนแซงสองคนไปอย่างขาดลอย ชื่อเสียงของการเป็นคน เอาจริง ไม่กลัวใคร มีผลงานปราบอาชญากรรม ไม่ใช่ลูกหลานของครอบครัวเศรษฐีที่ครองอำนาจการเมืองกันมายาวนานในประเทศนี้ ฯลฯ และเหนือสิ่งอื่นใด เขาพูดหาเสียงได้ตื่นตาตื่นใจ เล่าเรื่องตลกให้ผู้คนได้หัวเราะ มีคำพูดที่โดนใจ กล้าเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ถึงแม้จะไม่ได้พูดถึงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ ๆ แต่เขาก็บอกถึงความตั้งใจที่จะปราบความยากจน ปราบคอรัปชั่น ลดความเหลื่อมล้ำของโอกาส ที่สำคัญที่สุดคือการแสดงออกถึงความจริงใจ และในที่สุดประชาชนก็เชื่อเขาถึงแม้เขาจะพูดจาหลายเรื่องที่ฟังไม่ได้ แต่ก็หลุดออกมาจากปากเพราะความมันส์ของการพูด

          เขาพูดเชิงตลกถึงกรณีข่มขืนและฆ่านักสอนศาสนาชาวออสเตรเลียในปี 1988 ว่าที่จริงแล้วน่าจะให้นายกเทศมนตรีคือเขาเป็นคนลงมือคนแรกเพราะเธอหน้าตาดี นอกจากนี้ก็ยังวิจารณ์สันตะปาปาที่มาเยือนฟิลิปปินส์ว่าเป็นต้นเหตุทำให้รถติด การพูดที่เกินเลยเช่นนี้ทำให้เขาต้องออกมาขอโทษขอโพย

          Duterte เล่าว่าสมัยเขาเป็นเด็ก เขาถูกพระละเมิดทางเพศ (เขากล้าระบุชื่อพระด้วยเพื่อให้เห็นว่าเป็นคนจริง) เขารับว่าเป็นคนเจ้าชู้มีหญิงและลูกหลายคน ถึงตอนแต่งงานแล้วก็วุ่นวายเรื่องผู้หญิงไม่หยุดจนต้องเลิกกับภรรยา ในขณะที่เขาหาเสียงในวัย 71 ปีเขามีสถานะเป็นโสด แต่ก็มีภรรยาและลูกนอกสมรส

          ภรรยาคนแรกเคยเป็นแอร์โฮสเตส มีเชื้อสายเยอรมัน แต่งงานกัน 25 ปี มีลูกด้วยกัน 3 คน ต่อมาอยู่กินกับพยาบาลและมีลูกสาวเป็นวัยรุ่นหนึ่งคน เขามีหลานทั้งหมด 8 คน ครึ่งหนึ่งเป็นมุสลิม และอีกครั้งหนึ่งเป็นคริสเตียน

          ถึงแม้ว่าเขาจะเติบโตเป็นคริสตัง (โรมันแคทอลิก) แต่ก็ไม่ใช่คนเคร่งศาสนา ไม่เคยเข้าโบสถ์มานานแล้ว ในเรื่องสุขภาพเขาบอกว่าทนทุกข์ทรมานจาก Buerger’s Disease ซึ่งทำให้เส้นเลือดที่แขนขาอักเสบซึ่งเชื่อว่านิสัยสูบบุหรี่ที่เรื้อรังมานานมีส่วนเป็นสาเหตุสำคัญ แต่เขาปฏิเสธข่าวลือว่าเป็นมะเร็งในลำคอในระยะแรก (การเปิดเผยเช่นนี้ประชาชนเห็นว่าเป็นความจริงใจ กล้าเปิดเผยสิ่งไม่ถูกต้องที่ตนกระทำ ตลอดจนเรื่องส่วนตัวอย่างแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ)

          ดูเผิน ๆ Duterte อาจเป็นที่น่ารังเกียจของผู้หญิงจำนวนหนึ่ง แต่ผลงานที่เขาได้ทำไว้ชี้ชัดว่าเขาให้ความเคารพสิทธิสตรี เขาเป็นเจ้าภาพหลักของ Beijing Women’s Conference ในปี 1995 จน Hillary Clinton ขอบคุณเขาบนเวที เขาสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในเมืองที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี อีกทั้งเป็นผู้สนับสนุนสิทธิของผู้มีเพศสภาพและเพศกำเนิดไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง เขาเห็นด้วยกับการอนุญาตให้แต่งงานกันได้

          Duterte เป็นนักกฎหมาย จบจาก 2 มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงโดดเด่น แต่ด้วยความฉลาด การทำงานชนิดถึงลูกถึงคน (เขาขี่มอเตอร์ไซต์ตรวจงาน ตามโรงพักและหน่วยงานปราบอาชญากรรมในเวลาวิกาลอยู่สม่ำเสมอจนเป็นที่เลื่องลือในความเอาใจใส่และความรับผิดชอบ)

          เขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นแบบโบราณ (ถึงแม้จะเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ไม่มีผลงานเด่นชัด) ผู้สร้างความประทับใจในเรื่องความปลอดภัย ความมีขื่อมีแปของบ้านเมืองให้ประชาชนในท้องถิ่น และด้วยผลงานนี้ประชาชนฟิลิปปินส์จึงเชื่อใจว่าเขาจะทำได้อีกครั้งในระดับชาติ

          งานในระดับประธานาธิบดีไม่ได้เกี่ยวพันแต่เฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากครอบคลุมไปถึงเรื่องระดับชาติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความมั่นคง ฯลฯ เราคงต้องดูกันต่อไปว่านายกเทศมนตรีจากเมืองเล็ก ๆ จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ดีเพียงใด

ดอกโบตั๋นที่ลั่วหยาง

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 พฤษภาคม 2559

          ดอกโบตั๋นมีชื่อเสียงเลื่องลือในความงามจนมีภาพวาดทั้งในอดีตและปัจจุบันในจีน ยุโรป และทวีปอเมริกามากมายเนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย ยุโรป และบริเวณตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อมีคำเล่าลือเช่นนั้น เพื่อน ๆ และผมจึงตามไปดูกันที่เมืองลั่วหยาง (Luoyang) เมื่อปลายสงกรานต์ที่ผ่านมา

          เราไปกัน 20 คน หญิงเกือบทั้งหมด สนุกสนานมากเพราะเป็นคนในวัยเดียวกัน รู้จักกันตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงก่อนเดินทาง ผู้เขียนแอบไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะไปกันรอดหรือไม่เพราะจากไลน์ที่เขียนถึงกันนั้น รู้สึกว่ามีความหวั่นไหวกันในหลายเรื่อง แต่เมื่อไปกันแล้วไม่มีปัญหาใด ๆ เลย ทุกคนเดินกันทนทานกระฉับกระเฉง (ถึงแม้บางคนจะช้าหน่อย) โดยเฉพาะตรงใกล้ร้านขายของ ทุกคนมีรสนิยมที่ตรงกันอยู่อย่างน้อยสองอย่างคือเข้าห้องน้ำกับถ่ายรูป โดยเฉพาะกับดอกโบตั๋น (แถมติดดอกโบตั๋นเทียมบนผมกันเต็มพิกัดเพื่อถ่ายรูปอีกด้วย หลานยายหลานย่าเห็นรูปแล้วงงกันเป็นแถว)

          ดอกโบตั๋นกับดอกท้อนั้นแตกต่างกัน โบตั๋นคือ peony ซึ่งเป็นดอกโดด ๆ ดอกใหญ่ มีกลีบเป็นชั้น ๆ ซ้อนกัน ส่วนดอกท้อคือ plum flower ซึ่งเป็นดอกช่อออกชมพู และก็ต่างจากดอกซากุระหรือดอกเชอรี่ซึ่งเป็นช่อออกชมพูขาวเช่นเดียวกัน (ลูกเชอรี่ไม่ได้มาจากซากุระ)

          ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่คนจีนร่ำรือกันในความงาม มีบทกวีที่กล่าวถึงความงามมากมายในเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) โบตั๋นมีถึงกว่า 40 พันธุ์ มีสีเดียวเช่นแดง เหลือง ชมพู ขาว จนกระทั่งถึงผสมหลายสีในดอกเดียวกัน โบตั๋นเป็นไม้พุ่มที่มีผู้นิยมปลูกกันในสวนมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง ดอกของมันเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมานับพันปี

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดอกไม้ประจำชาติจีน ในปี 1903 ในสมัยราชวงศ์ชิง มีการประกาศให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ในปี 1929 สมัยรัฐบาลจีนยุคใหม่(ราชวงศ์ชิงล้มไปตั้งแต่ 1912) ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติเนื่องจากโยงใยกับหลักสาม ประการของอดีตประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น ซึ่งได้แก่ nationalism / democracy และ the livelihood of the people

          ต่อมาไต้หวันในปี 1964 ได้ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติ ในปี 1994 สมาคมผู้ปลูกดอกไม้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พยายามผลักดันให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ทางการก็เก็บเรื่องไว้เงียบ ในปี 2003 ก็มีกระบวนการเลือกดอกไม้ประจำชาติอีกครั้งแต่ก็เงียบไปอีกครั้ง จนกระทั่งบัดนี้จีนก็ยังไม่มีดอกไม้ประจำชาติทางการ การเมืองเรื่องดอกไม้โบตั๋นจึงน่าสนใจ เพราะครั้นจะเลือกดอกโบตั๋นราชวงศ์ชิงฃึ่งถูกโค่นล้มไปก็เลือกไปแล้วในปี 1903 ครั้นจะเลือกดอกท้อก็ถูกไต้หวันเลือกไปแล้ว และคงมีคนจีนไม่พอใจโดยเฉพาะบริเวณเมืองลั่วหยาง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองซีอานแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่และมีประชาชนชื่นชอบดอกโบตั๋นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ตัดสินใจ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปรับภาระ ดังแนวคิดของเติ้ง เสี่ยว ผิงเกี่ยวกับเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้และไม่ถึงขนาดคอขาดบาดตาย

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดังเฉพาะในจีนเท่านั้น รัฐสภาอินเดียน่าของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1957 แทน zinnia (ดอกบานชื่น) ที่เป็นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1931

          คนจีนเรียกดอกโบตั๋นว่า “หมู่ตาน” ชื่อโบตั๋นในภาษาไทยนั้นมาจากชื่อดอกไม้นี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า “โบะตัง” ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยเรียกว่าโบตั๋นกันมาตั้งแต่สมัยไหน หรือเพี้ยนมาจาก “หมู่ตาน” ก็เป็นได้ (ขนาดชื่อของ “เฮนรี เบอร์นี” ทูตอังกฤษเดินทางมาไทยในสมัยราชกาลที่ 3 คนไทยยังเรียกว่า “หันแตร บารนี”

          โบตั๋นมิได้งามแต่รูปเท่านั้น หากหลายพันธุ์มีกลิ่นหอมและรุ่มรวยในสรรพคุณทางยามานับพันปี ทั้งเมล็ด เปลือก ราก ใบ คนจีนใช้เป็นสมุนไพรประจำบ้านเช่นเดียวกับ charlemagne ในประวัติศาสตร์อังกฤษที่เป็นทั้งเพื่อนของหมอและคนปรุงอาหาร หลายส่วนประกอบของต้นโบตั๋นลดไข้ รักษาการอักเสบ ปวดหัวตัวร้อน รักษาอาการชัก ฯลฯ

          ดอกท้อกับดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่แข่งขันกันมายาวนานในประวัติศาสตร์จีน โบตั๋นเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ดอกไม้แห่งความมั่งคั่งและเกียรติยศ” “ราชาของดอกไม้” ในญี่ปุ่นเรียกโบตั๋น บางพันธุ์ว่า “นายกรัฐมนตรีของดอกไม้” ความนิยมโบตั๋นกระจายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น (ดอกโบตั๋นกับสัตว์เป็นลายสักที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น)

          เอกสารของจีนกล่าวว่าการปลูกโบตั๋นเริ่มตั้งแต่เมื่อ 1,400-4,000 ปีก่อน เพื่อใช้เป็นสมุนไพร แต่มีการนำมาปลูกในสวนเพื่อความงามในสมัยจักรพรรดิ Yang (ค.ศ. 605-617) ของราชวงศ์สุ่ย ต่อมาในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โบตั๋นได้รับความนิยมอย่างมาก มีการคัดสรรพันธุ์ที่งดงามมาปลูกในสวนของพระราชวัง

          ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) การปลูกโบตั๋นได้กระจายไปทั่วประเทศ ลั่วหยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมการปลูกโบตั๋นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ลั่วหยางมีอุณหภูมิที่ไม่หนาวเกินไป อีกทั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำจากแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำเว่ย ไม่ห่างคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองไคเฟ็งกับหังโจวริมทะเล (ขุดในสมัยราชวงศ์สุ่ย) และคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเซี่ยงไฮ้กับเทียนจิน (ขุดในสมัยราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1279-1368) ฯลฯ ลั่วหยางจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างการคมนาคมในประเทศกับเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อไปต่างประเทศ

          ลั่วหยางเป็น 1 ใน 7 ของเมืองเก่าแก่ของจีน เป็นบริเวณที่เป็นเมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 5,000 ปี เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากการเป็นเมืองหลวงการปลูกโบตั๋นของโลกแล้ว

          เนเธอร์แลนด์มีดอกทิวลิป อังกฤษมีดอกกุหลาบ จีน (ลั่วหยาง) ก็มีดอกโบตั๋น เป็นสัญลักษณ์สำคัญแก่โลก (ไทยต่อไปอาจมีดอกเบี้ย) ภาพเขียนดอกโบตั๋นไม่ว่าโดยจิตรกรจีน ยุโรป หรืออเมริกัน ไม่ว่าในสไตล์ใดจับตาจับใจเสมอด้วยความงามจากความซับซ้อนของกลีบ และความหลากหลายของสี

          ทุกปีดอกโบตั๋นจะบานประมาณครึ่งหลังของเดือนเมษายนเท่านั้น เมืองลั่วหยางจัดนิทรรศการทุกปีระหว่าง 15-29 เมษายน ถ้าอยากจะดูดอกโบตั๋นบานอย่างงดงามเต็มที่โดยไม่ชอกช้ำ ไม่มีใครบุกเข้าไปกอดจับ ลูบคลำ รวมทั้งถ่ายรูปแบบประชิดดอกและลำต้นแล้ว ควรไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล หรือก่อนหน้าด้วยซ้ำเพราะมีสวนดอกโบตั๋นเอกชนให้ชมอีกหลายแห่ง

          ดอกโบตั๋นงามจริง ๆ ครับ แต่ต้องเตรียมตัวไปด้วยสปิริตของการต่อสู้ในทุกเรื่องตั้งแต่ เข้าแถว ขึ้นรถ เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร ฯลฯ เพราะมีจำนวนคนมากจริง ๆ ที่ต้องการสิ่งเดียวกับพวกเรา

ออกจาก “กล่อง” ด้วย “ทัศนะฝังใจ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 พฤษภาคม 2559

          พ่อบ้านโทษแม่บ้านที่ลูกเกเรไม่เอาถ่านว่าเป็นเพราะตามใจ ไม่ดูแลใกล้ชิด CEO เผด็จการขององค์กรดุด่าลูกน้องที่ต่างทำงานกันอย่างหนักว่ายังไม่เอาไหน ขาดสมอง สองตัวอย่างนี้เกิดขึ้นทุกวันในครอบครัวและองค์กรทั้งธุรกิจและเอกชน พฤติกรรมของทั้งสองคนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเพราะตนเองอาจเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้เกิดจากการมองโลกด้วยสายตาที่เป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์ ตราบที่มีใน ‘ทัศนะฝังใจ’ (mindset) เช่นนี้หนทางแก้ไขปัญหาก็ตีบตัน

          การมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าวอุปมาเหมือนดังทารกที่เพิ่งหัดคลานหลุดเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะชิดฝาและร้องไห้หาทางออกมาไม่ได้ ครั้นจะขึ้นไปข้างบนก็ติดท้องโต๊ะจะดันไปอีกทางก็เป็นผนัง เด็กน้อยต้องคิดว่าทั้งหมดเป็นเพราะสิ่งภายนอก โดยลืมนึกไปว่าที่ตนเองตกอยู่ในสภาพนี้ก็เพราะคลานเข้าไปเอง

          การพยายามแก้ไขปัญหาโดยโทษแต่สิ่งภายนอกนั้นจะไม่สามารถหาทางออกได้เลยดังเช่นกรณีทารก หรือพ่อบ้าน หรือ CEO นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์โทษคนอื่นนี้ว่า self-deception ซึ่งเป็นเรื่องปกติเชิงจิตวิทยาที่เกิดขึ้นทุกแห่งหนทุกเวลา การตระหนักถึงลักษณะเช่นนี้และการพยายามมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้

          นักวิชาการเรียกการมองแคบ ๆ โดยคำนึงถึงแต่เป้าหมายส่วนตัว โดยละเลยการรวมเอาสิ่งที่ตัวเองกระทำเข้าไปรวมด้วยว่า Inward Mindset (“ทัศนะฝังใจแบบเข้าหาตนเอง”)

          การมองเช่นนี้จะมีแต่คำถามว่า “คนอื่น ๆ จะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร” แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นการมี “ทัศนะฝังใจแบบออกจากตนเอง” (Outward Mindset) ก็จะแก้ไขปัญหาได้เพราะจะเป็นการมองที่เน้น “เป้าหมายของเรา” เป็นหลัก โดยคิดว่า “ตนเองมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร”

          Outward Mindset จะทำให้มององค์รวม เช่น ผลสำเร็จขององค์กร ผลงานของทีม ในตัวอย่างเรื่องพ่อบ้านก็จะทำให้พิจารณาว่าตนเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คำถามเช่นตนเอง ทำหน้าที่พ่อสมบูรณ์แล้วหรือยัง เคยช่วยแม่บ้านอบรมดูแลลูกหรือไม่ ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น ในเรื่อง CEO ก็จะเกิดการมองว่าตนเองอาจเป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรต่ำลง คนลาออกกันอยู่ตลอดเวลา สมาชิกขาดกำลังใจ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้มาจากพฤติกรรมเผด็จการของตนเอง

          Outward Mindset จะก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบแทนที่จะเป็นการโทษกัน การให้มากกว่าการเอามา การเน้นผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการได้หน้า การเกิดผลลัพธ์มากกว่าการมีแต่ปัญหา การเข้าร่วมของทุกคนมากกว่า “ของใครของมัน” การเปลี่ยนจาก “silos” (การทำงานเสมือนเป็นโกดังเก็บของแยกจากกัน) กลายเป็นความร่วมมือ การเปลี่ยนจากความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่โดยไม่ปรับปรุงเป็นการเกิดนวตกรรม ฯลฯ

          แนวคิด Outward Mindset มาจากการริเริ่มของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและอบรมใหญ่ในสหรัฐอเมริกาชื่อ Arbinger กลุ่มนี้ผลิตหนังสือชื่อ Leadership and Self-Deception ซึ่งขายได้กว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก มีการแปลเป็น 20 ภาษารวมทั้งภาษาไทย (ครั้งแรกออกในปี 2000 และปรับปรุง 2010) และอีกเล่มคือ Outward Mindset จะวางตลาดในเดือนมิถุนายน 2016 นี้

          เมื่อนึกถึงปัญหาที่เคยเห็นและประสบด้วยตนเอง ก็เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้มีประโยชน์ Self-Deception หรือการหลอกตัวเองด้วยการโทษคนอื่นและสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง (เปรียบเสมือนกับ “อยู่ในกล่อง”) อยู่เสมอเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาซึ่งหลายครั้งอยู่ในระดับหญ้าปากคอก ยากโดยไม่จำเป็น เรามักลืมนึกไปว่าตัวเราเองอาจมีส่วนเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเสียเองก็เป็นได้

          หนังสือเล่มนี้เล่าถึงกรณีของหมอชื่อ Ignaz Semmelweis ซึ่งเป็นสูตินารีแพทย์ชาวยุโรป ในกลางทศวรรษ 1850 ทำงานในโรงพยาบาล Vienna General Hospital เขาพบว่าหญิงที่มาคลอดลูกในวอร์ดหนึ่งของโรงพยาบาลที่เขาดูแลอยู่นั้น มีอัตราการตายสูงมากถึง 1 ใน 10 ส่วนอีกวอร์ดหนึ่งมีอัตรา 1 ใน 50

          เขาพยายามศึกษาวิจัยและแก้ไขทุกวิถีทางโดยเปรียบเทียบกับอีกวอร์ดหนึ่งแต่อัตราการตายก็ไม่ลดลงเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องลาไปทำงานที่อื่นเป็นเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่าในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่นั้นอัตราการตายลดลงอย่างมาก หมอ Ignaz จึงค้นคว้าต่อและพบว่าตัวเขาเองนั้นแหละคือสาเหตุ กล่าวคือเขามักทำวิจัยทางการแพทย์ด้วยการผ่าตัดศพที่อยู่อีกห้องหนึ่งใกล้กัน ในยุคที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของเชื้อโรคนั้นเขามิได้ล้างมือให้สะอาดเมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยกับศพมาเป็นหมอทำคลอด

          หมอ Ignaz “อยู่ในกล่อง” เพราะมัวแต่โทษสิ่งอื่น ๆ ว่าทำให้อัตราการตายของหญิงคลอดสูงโดยไม่ได้พิจารณาว่าตนเองนั้นแหละคือต้นเหตุของปัญหา ถ้าเขาใช้ Outward Mindset ในการแก้ไขปัญหาเขาคงไม่มองข้ามบทบาทของตนเองเป็นแน่

          ในชีวิตประจำวัน Outward Mindset ทำให้เกิดการพิจารณาผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่นมากกว่าที่จะพิจารณาว่าใครจะทำประโยชน์ หรือผลเสียให้แก่ตนเอง การมองออกไปเช่นนี้จะทำให้เกิดความรักเมตตาคนอื่นเพราะเปลี่ยนขั้วจากการมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองมาเป็นการมองผลประโยชน์ขององค์รวม ซึ่งการมององค์รวมจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อมีการประเมินผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่น

          การจะออกจาก “กล่อง” ของ Self-Deception ได้ก็มาจากการรู้ว่า “กล่อง” คืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร และตระหนักว่ามี “กล่อง” นี้อยู่เสมอในชีวิตมนุษย์

          ไม่มีใครที่สามารถอยู่นอก ‘กล่อง’ ได้ตลอดเวลาโดยคิดแนว Outward Mindset อยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เราจะตกเข้าไปอยู่ใน ‘กล่อง’ บ่อย ๆ ตามธรรมชาติ โทษผู้อื่น เน้นเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการตระหนักว่า ‘กล่อง’ นั้นมีจริงก็จะช่วยทำให้เกิดความระมัดระวังและอยู่ นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’ แล้ว

          กล่าวกันว่าคนรุ่นใหม่เป็นพวก “Me Generation” กล่าวคือเน้นความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ ดังนั้นแนวคิด Outward Mindset จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบันเพื่อที่จะทัดทานพลัง Me ของยุค เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นนี้มีเวลาอยู่นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’

คะทสิโกะ ภรรยานายพลโตโจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 พฤษภาคม 2559 

          คนไทยวัย 50 ปีขึ้นไปรู้จักนายพลโตโจ กันแทบทุกคน แต่คงจะมีไม่มากคนนักที่รู้จัก นางคะทสึโกะ ภรรยาของเขาผู้มีชีวิตที่น่าสงสาร แต่ทรงไว้ด้วยเกียรติอย่างน่าภาคภูมิใจ

          โตโจเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยดำรงตำแหน่งระหว่างตุลาคม 1941 ถึงกรกฎาคม 1944 ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบตลอดสงคราม ยกเว้นช่วงก่อนที่จะแพ้สงครามเท่านั้น (ญี่ปุ่นแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม 1945) ดังนั้น เมื่อแพ้สงครามจึงเป็นเป้าหมายแรกของการเป็นอาชญากรสงคราม

          คะทสึโกะ มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกุชิมะ บิดาเป็นคนมีชื่อเสียงในท้องถิ่น เธอเดินทางไปโตเกียวเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น (นิฮอนโจชิไดอากุ) โดยศึกษาปริญญาตรีภาษาญี่ปุ่น ผู้ที่รับรองเธอให้เข้าเรียน คือ ฮิเดโนริ โตโจ ญาติห่าง ๆ ซึ่งเป็นนายทหารของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งต่อมามียศพลโท

          เธอมีร่างเล็ก น่ารักสดใสและมีความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาเดียวกัน ในยุคนั้นถ้าจะแนะนำให้เป็นสะใภ้บ้านไหน ก็คงไม่มีใครปฎิเสธ แต่ญาติผู้ใหญ่คนนี้ไม่ต้องเสียเวลาเพราะลูกชายที่เป็นร้อยโทหนุ่มมีนามว่า ฮิเดกิ โตโจ เกิดต้องใจเธอและได้ร่วมหอลงโรงกัน

          เมื่อได้มาเป็นสะใภ้ของบ้าน เธอทำงานหนักช่วยครอบครัวเพราะสามีมีน้องถึง 13 คน และแม่สามีก็จุกจิกเข้มงวดกับสะใภ้มาก เธอต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยและทุ่มเทกายและใจให้สามีและบ้าน ทั้ง ๆ ที่หากเรียนต่ออีกเพียงปีเดียวก็จะได้ปริญญาแล้ว

          ร้อยโทหนุ่มสามีของเธอนั้นเป็นคนที่จริงจังกับชีวิตมาก เช่นเดียวกับเธอ แต่เขานั้นไปสุดโต่งกว่า เพราะเป็นคนที่หากได้ตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว เขาก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนง่าย ๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

          ตอนที่แต่งงานกันนั้น เขากำลังเตรียมตัวจะสอบเข้าวิทยาลัยทหารบก พ่อสนับสนุนเขาอย่างมากเพราะเห็นว่าเป็นใบเบิกทางที่สำคัญดังกรณีของตัวเขา อย่างไรก็ดีฮิเดกิสอบมาแล้ว 2 ครั้งก็ไม่ได้เพราะไม่มีเวลาดูหนังสือ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจึงทุ่มเทเต็มที่โดยมีภรรยาดูแลสนับสนุน มีการวางแผน เวลาดูหนังสืออย่างมีขั้นตอน และในที่สุดเขาก็สอบได้

          ตอนแต่งงานกันใหม่ ๆ นั้น โตโจมีเงินเดือนเพียง 33 เยนกับอีก 33 เซนเท่านั้น (โปรดสังเกตว่าเงินเฟ้อหลังสงครามทำให้ 33 เยนแทบซื้ออะไรไม่ได้เลยในปัจจุบัน) กองทัพหักไป 2 เยน เพื่อเป็นเงินสะสมและอีก 15 เยนมอบให้แม่ไว้ซื้อข้าวสำหรับครอบครัว ดังนั้น จึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียรกับเงินที่เหลือ

          โตโจเป็นคนชนิดที่คนสมัยใหม่เรียกว่าเผด็จการ ภรรยาและลูกอีก 7 คนอยู่ในโอวาท เขาเข้มงวดและเจ้าระเบียบมาก เป็นคนมือสะอาด ไม่หาเศษหาเลย แยกเรื่องส่วนตัวกับงานอย่างเด็ดขาด ไม่เคยช่วยเหลือญาติมิตรแบบส่วนตัวเลยถึงแม้ในตอนหลังเขาจะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทหารบก และประธานเสนาธิการ (เทียบเท่าผู้บัญชาทหารสูงสุดที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ) ก็ตาม

          คะทสึโกะมีชีวิตที่อุทิศให้สามีและลูกแบบหญิงญี่ปุ่นสมัยโบราณ โตโจนั้นถึงแม้เวลาอยู่บ้านจะช่วยเลี้ยงดูลูกอย่างรักใคร่และอ่อนโยนแต่ก็มีเวลาอยู่บ้านไม่มากนัก หน้าที่จึงตกอยู่กับเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่โตโจรับผิดชอบสามตำแหน่งสำคัญในตัวคนเดียว เธอต้องช่วยรับแขก ประสานงานติดต่อในยามที่เขาไม่อยู่จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว

          ในระหว่างสงครามเธอไม่เคยใส่ชุดกิโมโนหรือใส่เสื้อใหม่ เพราะต้องประหยัดให้คนญี่ปุ่นดูเป็นตัวอย่าง เวลาโตโจไม่อยู่เธอมีหน้าที่ส่งทหารออกศึกและรับป้ายดวงวิญญาณของทหารที่เสียชีวิตในต่างแดนบ่อยครั้งจนถูกสื่อโจมตีว่าทำตัวเหมือน ‘ โกเหม่ยหลิง ’ (เลียนแบบชื่อของ ‘ ซ่งเหม่ยหลิง ’ ภรรยาของ เจียงไคเช็ค ผู้มีบทบาทเจ้ากี้เจ้าการกับอเมริกา เนื่องจากเธอเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา และพูดภาษาอังกฤษได้ดี)

          เธอและเขามีลูกด้วยกัน 7 คน ชาย 3 คน และหญิง 4 คน ลูกแต่ละคนมีชีวิตที่แตกต่างกันราวกับนิยาย ฮิเดทากะลูกชายคนโตไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นคนที่ไม่ถูกกับพ่อเลย ขณะที่พ่อถูกขังอยู่ในคุกในฐานะอาชญากรสงครามเขาไม่เคยไปเยี่ยม แถมบ่นว่า ‘ เวรกรรมแต่ปางไหน กรรมจึงมาตกถึงลูกหลาน ไม่น่าเกิดเป็นลูกโตโจเลย’ ลูกคนนี้เสียชีวิตหลังสงครามเลิกไม่กี่ปี

          มิทสึเอะ ลูกสาวคนโต จิตใจหนักแน่นไม่แพ้บุรุษ คู่รักตายก่อนแต่งงาน จึงไม่ยอมมีคู่อยู่นาน เมื่อหลังสงครามเธอแต่งงานได้ 2 ปี ก็เสียชีวิต โตโจได้พึ่งพาลูกสาวคนนี้มากที่สุดในขณะที่อยู่ในคุกก่อนถูกพิพากษา

          มาคิเอะ เป็นลูกสาวคนสอง หลังสงครามยุติลงสามียิงตัวตายจากกรณีพัวพันการฆาตกรรมหัวหน้ากองกำลังรักษาพระองค์ (คดีนี้เกิดจากนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งไม่ยอมแพ้สงคราม บุกเข้าไปในพระราชวังขณะที่พระเจ้าจักรพรรดิ์จะประกาศยอมแพ้สงคราม) ปืนสั้นญี่ปุ่นกระบอกนี้มีผู้นำมามอบให้โตโจและกระบอกนี้เองที่โตโจพยายามใช้ปลิดชีพตัวเองเมื่อทหารอเมริกันเข้ามาจับที่บ้านเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม

          ซาชิเอะ แต่งงานกับสามีนักสร้างภาพยนตร์ และต่อมาเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ เธอกับมาคิเอะเป็นผู้ดูแลแม่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกสาวคนเล็กสุดคือ คิมิเอะ นั้นแต่งงานกับชาวอเมริกัน โดยแม่ไม่ขัดขวางและเธอคิดว่าหากโตโจยังอยู่ก็คงยินยอมด้วย เหตุผลของเธอก็คือระหว่างที่โตโจติดคุกอยู่นั้นมีทหารอเมริกันชื่อ เคนวาร์จ เป็นหนึ่งในผู้คุม ทั้งสองนับถือชอบพอกันมาก เขาช่วยดูแลครอบครัวโตโจที่ถูกรังเกียจโดยสังคมญี่ปุ่น บ้านถูกก้อนหินขว้างอยู่บ่อย ๆ สื่อเหยียดหยามดูถูกว่าเป็นคนนำญี่ปุ่นสู่สงครามและความปราชัย ครอบครัวโตโจถือว่าเขาเป็นมิตรในยามยาก ความรู้สึกที่ดีนี้จึงถูกถ่ายทอดมาถึงคนอเมริกันโดยทั่วไปด้วย

          นายพลโตโจยิงตัวตายแต่ไม่สำเร็จลูกกระสุนเฉียดหัวใจ เขาทำสิ่งที่ได้บอกไว้แล้วว่ายอมตายดีกว่าถูกจับเป็นเชลย ทหารญี่ปุ่นนับหมื่นคนฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับเขา ครั้งหนึ่งครอบครัวโตโจเองก็เคยคิดจะตายด้วยกันทั้งครอบครัว (ลูกชายคนโตบอกว่า ‘ ทำไมต้องไปตายเพราะพ่อแบบนั้น ’)

          เมื่อศาลตัดสินว่าโตโจมีความผิดมีโทษแขวนคอ เขาก็ยอมรับชะตากรรมร่วมกับอีก 6 คน อย่างทรนงขณะมีอายุ 63 ปี และถึงแม้ครอบครัวต้องเผชิญกับการรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกพร้อมกับความโศกเศร้า คะทสึโกะก็ยืนหยัดอย่างไม่หวาดหวั่น เธอทำตามที่สามีสั่งเสียไว้ก่อนตายว่า ‘เธออาจรู้สึกสะเทือนใจ แต่ควรอยู่จนครบอายุขัยของตัวเอง’ คือมีชีวิตอยู่เพื่อกู้ชื่อสามีและสามารถทำได้สำเร็จในปี 1979 นับเป็นเวลา 31 ปี หลังจากที่เขาจากไป กล่าวคือ ได้นำป้ายวิญญาณของโตโจพร้อมกับเพื่อน 6 คน ไปไว้ที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ อันเป็นสถานที่อันทรงเกียรติเก็บป้ายวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากการรับใช้พระเจ้าจักรพรรดิ์ตั้งแต่สมัยเมอิจิ เป็นต้นมา

          คะทสึโกะมีชีวิตอยู่อย่างเต็มไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีจนเสียชีวิตในปี 1982 เมื่อมีอายุได้ 92 ปีเธอคือหญิงผู้สู้ชีวิต อุทิศทุกสิ่งทำงานในหน้าที่เต็มที่และจริงจังอย่างภาคภูมิใจในความรักชาติรักบ้านเมืองของตนเอง (ข้อมูลจากหนังสือ “15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร แปลและเรียบเรียง)

บันทึกคนขี้รำคาญ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 พฤษภาคม 2559

          ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นคนขี้รำคาญ หลายเรื่องในสังคมไทยเราเป็นเรื่องน่ารำคาญ ดังนั้นเพื่อเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกและเพื่อให้ท่านผู้อ่านมีส่วนร่วมด้วยทางอารมณ์ ลองดูกันนะครับว่าเรารำคาญในเรื่องเดียวกันหรือไม่

          เรื่องแรกคือการใส่หมวกกันน็อคในบ้านเรา การใส่หมวกป้องกันเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ถ้าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อคและประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตไปเลยโดยไม่นอนเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราแย่งเตียงคนป่วยในโรงพยาบาลก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่ถ้าเกิดกระโหลกร้าวจนมีอาการต่อเนื่องที่ต้องรักษาพยาบาลโดยใช้ทรัพยากรของสังคมที่แย่งชิงมาจากสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างนี้ก็เป็นปัญหาเพราะสภาวการณ์เช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากใส่หมวกกันน็อค

          กรณีของการใช้เข็มขัดนิรภัยและใส่หมวกกันน็อคก็อยู่บนเหตุผลเดียวกันกล่าวคืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่นมาจากการไม่ใช้สองสิ่งนี้

          ในฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ หรือแม้แต่จาร์กาต้า และเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอินโดนีเซียถึงแม้จะมีมอเตอร์ไซค์รวมล้าน ๆ คันแต่ทุกคนใส่หมวกกันน็อค (ขอย้ำว่าทุกคน) และเป็นหมวกจริง ไม่ใช่หมวกปลอม ผู้เขียนดูเมืองเหล่านี้ของประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่ต่างจากเราแล้วรู้สึกสะท้อนใจ และรู้สึกรำคาญว่าเหตุใดเขาจึงสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ในขณะที่บ้านเรากฎหมายเป็นเศษกระดาษ มั่นใจว่าหาก ทุกคนทำตามกฎหมายแล้วจะประหยัดทรัพยากรของสังคมเราได้นับเป็นหมื่นล้านบาท และประหยัดน้ำตาไปได้มากมาย ถ้านับมูลค่าชีวิตและค่าเสียโอกาสของคนในครอบครัว ตลอดจนมูลค่าความเสียใจ (ถ้าคำนวณได้) เข้าไปด้วยแล้ว เราอาจประหยัดไปได้นับแสนล้านบาทต่อปีทีเดียว

          เรื่องที่สองคือการล่องหนของตำรวจจรารกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนสังเกตุว่าใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นตำรวจมาโบกรถดูแลการจราจรที่ติดขัดบางตามาก ๆ บางจุดก็โบกรถประเดี๋ยวประด๋าวสัก 1 ชั่วโมงแล้วก็กลายเป็นนินจาไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          จะอ้างว่ามีกล้อง CCTV ที่ตรวจจับการทำผิดกฎจราจรแล้วดังนั้นการจราจรต่อไปจะติดขัดน้อยลงเพราะเป็นการทดแทนการใช้แรงงานดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ใช่ที่ การติดขัดจราจรแก้ไม่ได้แน่นอนด้วยกล้องเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายผ่านกล้องอย่างมีประสิทธิภาพพอเนื่องจากการดูแลกล้อง การดำเนินงานออกใบสั่ง การเรียกเก็บเงิน ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย

          ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มายืนดูการจราจรเพื่อบังคับทางอ้อมให้ลูกน้องทำงานอย่างแข็งขันนั้นบัดนี้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปเสียแล้ว ตำรวจที่เห็นหนาตาและทำงานอย่างแข็งขันก็ตอนตั้งด่านตรวจจับ ไม่แน่ใจว่าเหตุที่ขาดตำรวจมาโบกรถนั้นเป็นเพราะแต่ละสถานีตำรวจปัจจุบันมีแต่ร้อยตำรวจตรีที่เลื่อนมาจากนายดาบ (ผลงานของอาเหลิมเขา) ซึ่งมีการเลื่อนในครั้งนั้นนับหมื่นคน จะให้คนระดับนายตำรวจสัญญาบัตรไปโบกรถหรือ มันไม่สมฐานะครับ งานอย่างนี้ต้องให้อาสาสมัครจราจรเขาทำกันในตอนเช้าและเย็นเวลาเร่งด่วน ไอ้ครั้นจะพึ่ง ‘จ่าเฉย’ มันก็จะเสียหน้า ปีหนึ่ง ๆ เราจึงเสียเงินจากการเผาผลาญน้ำมันเพราะจราจรติดขัดในระดับที่เกินสมควรนับแสนล้านบาท

          ถ้าใส่ใจเรื่องการจราจรติดขัดมากขึ้นกว่านี้อีกหน่อย และป้อมยามตามสี่แยกที่ปิดเปิดไฟจราจรนั้นสว่างและโปร่งใสกว่านี้ ไม่มืดเป็นไนท์คลับเช่นปัจจุบันจนไม่รู้ว่ามีตำรวจควบคุมไฟจราจรอยู่หรือไม่ หรือปล่อยให้ไฟมันปิดเปิดกันตามอัตโนมัติ เราคงมีคุณภาพชีวิตกันดีกว่านี้แน่

          เรื่องที่สามคือเรื่องการใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนเรียกขานกันของวัยรุ่นหรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ เรื่องนี้บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับคนขี้รำคาญเช่นผู้เขียน มันเป็นเรื่องที่ควรบ่น

          การใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนในหมู่เพื่อนสนิทในสถานที่อันเหมาะสมไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันเป็น “วาทกรรม” ของมนุษย์อย่างหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความสนิทสนม แต่ถ้าหากเป็นการใช้ในที่สาธารณะอันไม่บังควรแล้ว มันจะทำให้คนใช้มีค่าต่ำลงในสายตาคนอื่น ๆ

          คนจำนวนมากลืมไปว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สาธารณะซึ่งหากไม่จำกัดวงไว้เป็นอย่างดีแล้ว คนอื่น ๆ ก็จะเห็นการใช้สรรพนามเช่นนั้น ซึ่งไม่ว่าจะพยายามดูอย่างเห็นใจเพียงใดก็ไม่อาจหลีกหนีความรู้สึกที่เป็นลบต่อผู้ใช้ได้

          ผู้เขียนเคยเห็นนักศึกษาสาวหน้าตาดี 3-4 คน จากมหาวิทยาลัยใหญ่มีชื่อเสียงของรัฐแห่งหนึ่งใช้ภาษาพ่อขุนกันอย่างสนุกสนานบนรถไฟฟ้าในระดับที่ดังอย่างไม่สะทกสะท้านสายตาของผู้ร่วมโดยสาร เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่ากำลังทำลายคุณค่าของตนเองและของมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนอยู่ในสายตาคนจำนวนหนึ่ง

          ผู้เขียนเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นคู่รักกันใช้สรรพนามพ่อขุนอยู่บ่อย ๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียและที่ได้ยินกับหูจนสงสัยว่าสรรพนามเช่นนี้มันช่วยทำให้เกิดบรรยากาศโรแมนติกขึ้นได้มากเพียงใด (ถ้าอินกับหนังสือของ “ไม้ เมืองเดิม” กันเป็นพิเศษก็อาจเป็นไปได้ แต่มั่นใจว่าไม่รู้จัก หรือแม้แต่ “ผู้ชนะสิบทิศ” ก็ไม่น่าจะเคยได้ยินชื่อ)

          เรื่องที่สี่คือการเข้ามาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของคนต่างชาติในธุรกิจบางประเภทในเมืองท่องเที่ยวของบ้านเรา มันเป็นเรื่องน่ารำคาญก็เพราะเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศที่ใดเราก็ตัวลีบเพราะเป็นบ้านเมืองของเขา ไม่กล้าไปกร่างให้เป็นปัญหา ยิ่งคนต่างชาติไปซ่าเป็นเจ้าพ่อในเมืองท่องเที่ยวของประเทศเขานั้นแทบไม่เคยได้ยิน จะมีก็แต่สยามประเทศของเราเท่านั้นที่ยอมให้คนต่างชาติมาทำใหญ่โตในบ้านเราได้

          ไม่เข้าใจว่าปล่อยไว้ได้อย่างไร ควันไฟจากแบงค์พันมันเข้าตาหรืออย่างไรเจ้าหน้าที่รัฐของเราจึงมองไม่เห็น ศิโรราบราวกับเผชิญหน้าคนถือปืนกล อำนาจในมือเรามีอยู่เต็มที่ที่จะจัดการ เราจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ทำความเสียหายให้แก่บ้านเมืองของเราไปถึงไหนกัน

          ปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ก็คือมีคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นส่วนน้อยและคนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงคนไทยเหล่านี้เป็นเพียง ‘ผี’ ที่ให้ใช้ชื่อโดยไม่ได้ร่วมประกอบธุรกิจจริงจัง ยิ่งนับวันยิ่งมีมากขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแต่เงินทองทั้งหมดรั่วไหลกลับไปบ้านเขาเพราะโดยแท้จริงคนชาติเดียวกันเป็นคนทำธุรกิจ คนไทยแทบไม่ได้อะไรเลย ที่น่ารำคาญก็คือเจ้าหน้าที่ของเราทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่จับ ‘ผี’ คนไทยเหล่านี้มาใส่คุกสักจำนวนหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ แบบนี้แหละจะหยุดกระแสได้อย่างชะงัด

          ถ้าการบ่นเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้บ้างก็ถือว่าเป็นการสร้างความรำคาญที่พอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าอ่านแล้วยิ่งรู้สึกรำคาญชีวิตมากขึ้นก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยครับ

Zaha สถาปนิกหญิงคนดังของโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 เมษายน 2559

          ความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนต่างชาติ และการถูกมองว่าเป็นคน “แปลกแยก” ล้วนเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในวิชาชีพ แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้อย่างไม่หวาดหวั่น เธอคือ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงอาหรับชื่อก้องโลก ผู้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ด้วยวัย 65 ปี

          Zaha ชื่อที่เธอใช้เรียกตัวเองรับรางวัลสถาปนิกระดับโลกนับไม่ถ้วน สุดยอดของรางวัลคือ Pritzker Architecture Prize ซึ่งเธอได้รับในปี 2004 และ รับรางวัล Stirling Prize สองปีฃ้อนคือ ในปี 2010 และ 2011 อีกรางวัลเกียรติยศที่สำคัญยิ่งก็คือในปี 2012 เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษระดับสูงขั้น DBE หรือ Dame Commander of the Most Excellent Order of the British Empire

          DBE ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอันดับสองถัดจาก GBE หรือ Dame Grand Cross of the Most Excellent Order of the British Empire ซึ่งสองระดับสูงสุดนี้ผู้ได้รับจะมีคำนำหน้าว่า Sir สำหรับชาย และ Dame สำหรับหญิง

          สำหรับ Pritzker Architecture Prize นับถือกันว่าเป็น Noble Prize ของสถาปนิกกันทีเดียว รางวัลที่ให้ประจำปีกันนี้มอบให้แก่สถาปนิกทั่วโลกที่ผลงานมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเชิดชูมนุษย์ชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มมอบกันตั้งแต่ปี 1979 โดย Hyatt Foundation ส่วน Stirling Prize นั้นเป็นสุดยอดรางวัลของ Royal Institute of British Architects (RIBA) ฃึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานเป็นเลิศด้านสถาปนิกประจำปีโดยเริ่มมอบตั้งแต่ปี 1996เป็นต้นมา

          ผลงานโดดเด่นของเธอมีมากมาย ที่คนรู้จักกันมากก็คือ London Aquatic Center ในลอนดอนซึ่งสร้างขึ้นสำหรับกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2012 /Guangzhou Opera House (2010) / MAXXI (National Museum of the 21st Century Arts ที่กรุงโรม (ชนะ Stirling Prize ในปี 2010) ฯลฯ ถ้ารวมอาคารที่เธอชนะการออกแบบจากทั่วโลกและมีการสร้างแล้วนับได้กว่า 100 อาคาร

          Zaha เป็นเหยื่อสนุกปากของผู้สื่อข่าวด้านสถาปัตยกรรมของสื่อใหญ่ในโลกอยู่หลายปีเนื่องจากเธอได้รับรางวัล Pritzker ก่อนเวลาอันสมควรในสายตาของคนเหล่านี้ ถึงเธอจะมีความสามารถสูงแต่พวกเขาเห็นว่าเธอยังไม่ถึงขั้นนั้น ดังนั้นเป็นเวลายาวนานที่เธอต้องพิสูจน์ และก็ได้ทำสำเร็จอย่างงดงามก่อนที่จะเสียชีวิต

          เธอเป็นลูกสาวของนักการเมืองฐานะดีชาวอิรัก ได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียนคริสตังในอิรัก จากโรงเรียนประจำในอังกฤษ และในสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะกลับมาเรียนด้านคณิตศาสตร์ จาก American University of Beirut และศึกษาต่อที่ The Architectural Association School of Architecture ในลอนดอนในปี 1972 ความสามารถของเธอฉายแสงที่นี่ จากสาวขี้อายไม่กล้าแสดงออกกลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง จนถึงแข็งกร้าว เมื่อเรียนจบก็ทำงานกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในเนเธอร์แลนด์ จนได้เป็นเจ้าของร่วมบริษัทใน ค.ศ. 1977 ในปี 1980 เธอตั้งบริษัทออกแบบของเธอเองในลอนดอน

          บริษัทของเธอชนะการประกวดออกแบบหลายโครงการ จนวงการได้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของเธอที่เน้นความคมของเรขาคณิต และความแหวกแนวสมัยใหม่ออกไปทางความอลังการ

          ในกลางทศวรรษ 1980 เธอสอนที่ Harvard Graduate School of Design และในทศวรรษ 1990 ก็สอนที่ University of Illinois ที่ Chicago’s School of Architecture และต่อมาที่มหาวิทยาลัย Columbia และ Yale และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเธอก็เป็นอาจารย์สอนที่เวียนนา

          Zaha ทำหลายอย่างไปพร้อมกันนับตั้งแต่ออกแบบตกแต่งภายในอาคารใหญ่โตทั้งใหม่และเก่าแก่ (รวมถึง Mind Zone ใน Millennium Dome ในลอนดอน) ออกแบบเสื้อผ้าและรองเท้าบูทของ แบรนด์เนม ตลอดจนอาคารศิลปะในยุโรปหลายแห่ง บริษัทของเธอมีลูกจ้างถึง 400 คน

          ถึงแม้เมื่อเธอได้รับรางวัล Pritzker ในปี 2004 นั้นจะถูกวิจารณ์ว่ายังไม่เหมาะสม แต่หลายคนในวงการนี้เห็นว่าสิ่งที่ผู้วิจารณ์มีความรู้สึกแฝงอยู่ก็คืออคติของการเป็นผู้หญิงต่างชาติและเป็นอาหรับด้วย (เธอไม่ค่อยมีความสุขนักกับการเป็นพลเมืองอังกฤษ และการอยู่อาศัยในลอนดอน ตอนปลายชีวิตเธอชอบไมอามี่ สหรัฐอเมริกามากกว่าจนเสียชีวิตที่นี่จากหัวใจล้มเหลว)

          เธอพยายามหนักที่จะพิสูจน์การสมควรเป็นผู้ชนะรางวัลนี้และเธอก็ประสบช่วงเวลาทอง ในต้นทศวรรษของปี 2000 Zaha ชนะการประกวดแบบระหว่างประเทศจำนวนมากมาย หลายโครงการถึงจะชนะแต่ก็ไม่ได้สร้างเพราะราคาที่แพงเกินไปจนต้องยกเลิกและประกวดใหม่ดังกรณีของ National Olympic Stadium ของโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020

          Zaha เปลี่ยนสไตล์จากเรขาคณิตมาเป็น “Queen of the Curve” กล่าวคืออาคารของเธอมีความโค้ง เลี้ยวลด กลมกลืนอย่างงดงามแปลกตาในยุคสมัยใหม่ เธอถนัดออกแบบอาคารลักษณะที่เรียกว่า Iconic Building คืออาคารอลังการที่งดงามใหญ่โต เป็นตัวชูความยิ่งใหญ่ ตัวอย่างของ Iconic Building ได้แก่ White House / ทัชมาฮาล / The Louvre / The Burj Al Arab (อาคารสูงเป็นรูปใบเรือที่ดูไบ) / Sydney Opera House / Empire State Building / Eiffel Tower / Big Ben / พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคาร Petronas ของมาเลเซีย ฯลฯ

          จากสถาปนิกที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบอาคารที่ไม่ได้รับการสร้าง กลายมาเป็นสถาปนิกที่เชื่อมั่นในตัวเอง เป็นผู้เลือกลูกค้า เป็นผู้บอกลูกค้าว่าหน้าตาอาคารควรเป็นอย่างไรและดื้อดึงไม่ถอย เป็นผู้มีวาทศิลป์ในการนำเสนอ และเป็นผู้มีบุคลิกภาพในด้านความจริงใจ ปากร้าย จิตใจดี ภาคภูมิใจในความเป็นอาหรับ ฯลฯ นั้นมิใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดต้องใช้เวลาและการทำงานหนักอย่างยาวนาน

          เธอเป็นสถาปนิกผู้ใช้จินตนาการเป็นหลัก ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมเป็นรองและความอลังการตลอดจนงบประมาณที่มหาศาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในทุกโครงการที่เธอตอบรับงานในตอนบั้นปลายของชีวิต ถ้าไม่แน่จริงอย่าได้เสนอตัวมาจ้างเธอออกแบบเป็นอันขาด

          อย่างไรก็ดีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องต่อสู้กับการแข่งขันออกแบบระหว่างประเทศที่เจ้าของโครงการจัดขึ้นอย่างช่ำชอง อาคารจำนวนมากเหล่านี้ได้มาด้วยฝีมือและการต่อสู้ในโลกของวิชาชีพที่ผู้ชายครอบงำ และมีอคติต่อความเป็นตัวตนของเธอ

          ถึงแม้ Zaha จะไม่มีผู้สืบทอดความเป็นอัจฉริยะของเธอ แต่อาคารอันงดงามแปลกตาที่เธอทิ้งไว้ให้โลกคือทายาทตัวจริงของสถาปนิกหญิงสำคัญของโลกคนนี้

อะไรอยู่ในสมองนักเศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 เมษายน 2559

           คำว่า “เศรษฐศาสตร์” ดูลึกลับ น่ากลัว น่าปวดหัวกับตัวเลข ยิ่งนักเศรษฐศาสตร์แล้วยิ่งมึนว่าเขาทำอะไรกันและในหัวเขาคิดถึงอะไร ขาดทุน-กำไร ต้นทุน เงิน ๆ ทอง ๆ การผลิต การบริโภค ฯลฯ

          “เศรษฐศาสตร์” เป็นคำน่ารังเกียจสำหรับสังคมไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เพราะมีนัยยะของ “สังคมนิยม” “คอมมูนิสต์” เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบบเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1917 ในรัสเซียเป็น “ระบอบคอมมูนิสต์” โรงเรียนกฎหมายไทยมีการสอนวิชานี้แต่แฝงอยู่ใน ชื่ออื่น

          “เศรษฐศาสตร์” ได้รับการยอมรับในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณหลัง ค.ศ. 1946) มีการตั้ง “คณะเศรษฐศาสตร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1949 (2492) ที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ขึ้นใน พ.ศ. 2504 อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

          “เศรษฐศาสตร์” ฝึกฝนให้ตระหนักว่าทุกสิ่งมีความจำกัด (scarce) ซึ่งหมายความว่ามีความต้องการมากกว่าที่จะสนองตอบได้ ดังนั้นจึงเห็นความจำกัดในเรื่องทรัพยากรของประเทศและของโลก ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน เงินทอง ฯลฯ และครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมด้วย เช่น เวลาและโอกาส

          เมื่อเกิดความจำกัดขึ้นจึงทำให้เกิดการต้องเลือกเกิดขึ้น เช่น ประเทศไทยมีที่ดินจำกัดอยู่เพียงประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร แต่เราอยากมีที่ดินมากกว่านี้เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งอุ้มน้ำ ทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งขาดแคลน คำถามก็คือแล้วเราจะแบ่งมันใช้ในแต่ละด้านอย่างไร (ถ้าไม่มีความจำกัดก็ไม่ต้องมีปัญหานี้เพราะจะจัดเอาไปใช้แต่ละด้านมากมายเท่าไรก็ทำได้)

          ไม่ว่าจัดสรรอย่างไรเมื่อรวมกันทั้งหมดก็ต้องเป็น 500,000 ตารางกิโลเมตร สมมุติถ้าเราจัดให้เป็นป่าไปเกือบหมดก็เหลือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าเอาไปใช้เพื่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตรมากก็จะเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยที่จะเป็นแหล่งแห่งความชุ่มชื้นผลิตน้ำสืบต่อไปถึงลูกหลาน

          คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วจะจัดสรรให้แต่ละด้านไปอย่างไร ตรงนี้แหละที่นักเศรษฐศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยให้ความกระจ่างได้ว่าแต่ละการเลือกในการจัดสรรที่ดินมีผลดีผลเสียอย่างไร และมากน้อยเพียงใดเพื่อคนที่รับผิดชอบจะได้ตัดสินใจ ถ้าเป็นระดับย่อยคือที่ดินของเราเอง เราเป็นคนตัดสินใจแต่ถ้าเป็นระดับประเทศ ประชาชนตัดสินใจผ่านคนที่เขาเลือกเข้าไปทำงานแทนฃึางคำตอบอาจเป็นว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดผสมกับการควบคุม

          ในเรื่องเงินทองก็เหมือนกัน ยาจกจนถึงเศรษฐีก็เผชิญปัญหาอย่างเดียวกันคือจะจัดสรรเงินอย่างไรอย่างเหมาะสม สำหรับยาจกนั้นปวดหัวน้อยเนื่องจากมีเงินน้อยจึงมีทางเลือกจำกัด แต่สำหรับเศรษฐีหรือคนมีอันจะกินแล้วค่อนข้างปวดหัว (แต่ถ้าไม่มีเงินจะปวดหัวกว่า) ว่าจะเอาเงินที่มีจำกัดไปปลูกบ้านหลังใหญ่และเหลือเงินอีกส่วนที่น้อยกว่าไปลงทุนด้านอื่นหรือบริโภค

          ถ้าคิดว่าทั้งชีวิตหนึ่งแต่ละคนจะหาเงินได้จำนวนหนึ่งโดยได้รับอย่างกระจายไปในแต่ละช่วงชีวิต คำถามก็คือจะจัดการกับมันอย่างไร จะใช้จ่ายมันอย่างไร ถ้ามีมากใช้มากก็จะไม่มีเงินออมสำหรับหาดอกผลจากมันในอนาคต ถ้ามีมากใช้น้อยเกินไปก็ขาดความสุข

          การขาดแคลนและต้องเลือกเช่นนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ไม่มีอะไรฟรี” กล่าวคือ “จะได้บางอย่างก็ต้องยอมเอาบางอย่างไปแลก”เสมอ เช่น อยากมีเงินออมเพื่อให้หาดอกผลก็ต้องเสียสละการบริโภคในวันนี้ไปแลก แต่ถ้าอยากบริโภคมาก ๆ ในวันนี้ก็ได้มาด้วยการต้องเสียสละเงินออมซึ่งอาจสร้างดอกผลให้ได้ในอนาคต

          นักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแลกได้กับเสียนี้ว่า “ค่าเสียโอกาส” (opportunity cost) ในกรณีข้างต้นก็คือการเสียสละการบริโภคในวันนี้ไป กับอีกกรณีคือการยอมเสียสละเงินออมเพื่อความสุขในวันนี้ สมมุติว่าถ้าวันนี้มีทางเลือก 2 อย่าง คือ อยู่บ้านกับออกไปทำงาน ไม่ว่าจะเลือกอยู่บ้านหรือการทำงานก็ล้วนมี “ค่าเสียโอกาส“ ทั้งนั้น ถ้าอยู่บ้าน “ค่าเสียโอกาส” ก็คืองานที่ไม่ได้ทำเพราะต้องยอมเสียสละไปเพื่ออยู่บ้าน ถ้าไปทำงาน “ค่าเสียโอกาส” ก็คือการยอมเสียสละความสุขจากการที่ได้อยู่บ้าน (สมมุติว่าอยู่บ้านแล้วมีความสุขนะครับ) เพื่อจะได้ไปทำงาน

          นี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวของนักเศรษฐศาสตร์เสมอเพราะทุกอย่างในโลกล้วน ขาดแคลน ดังนั้นจึงต้องเลือกและทุกการเลือกก็มี “ค่าเสียโอกาส” การต้องเลือกนี่แหละคือเรื่องปวดสมอง เพราะไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ต้องเอาบางสิ่งไปแลกเสมอ (“ไม่มีอะไรฟรี”) และ “ฟรี” ในที่นี้กินความกว้างขวางกว่าเงิน เงินทองนั้นเป็นเพียงทรัพยากรอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ขาดแคลนอย่างมาก ๆ สำหรับมนุษย์คือเวลา

          ตัวอย่างหนึ่งที่การเลือกเกี่ยวพันกับเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว เมื่อถึงวัยทองสุภาพสตรีก็มี 2 ทางเลือก หนึ่งปล่อยไปตามธรรมชาติไม่กินฮอร์โมนซึ่งจะทำให้ร่างกายโทรมเร็วขึ้น อาจมีปัญหากระดูกสันหลัง กระดูกบางขึ้น จิตใจห่อเหี่ยว อีกทางเลือกหนึ่งก็คือกินฮอร์โมนซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่ากินแล้วอาจเกิดมะเร็งเต้านมหากมีทางโน้มที่จะเป็นอยู่แล้วทางพันธุกรรม

          ในกรณีนี้มีความขาดแคลนเกิดขึ้นคือเลือกได้ทางเดียวเท่านั้น ไม่ว่าตัดสินใจเลือกเส้นทางใดก็ล้วน “ไม่ฟรี” ทั้งสิ้น ถ้าไม่กินฮอร์โมนก็แก่เร็ว ถ้ากินฮอร์โมนก็อาจเป็นมะเร็ง การตัดสินใจเลือกครั้งนี้อาจหมายถึงชีวิตก็ได้ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า สามารถเอาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

          อีกเรื่องหนึ่งในสมองของคนพวกนี้ก็คือผลิตภาพ (productivity) ซึ่งหมายถึงว่าหนึ่งหน่วยของวัตถุดิบผลิตได้มากน้อยเพียงใด เช่นที่ดิน 1 ไร่หรือแรงงาน 1 คน มีความสามารถในการผลิตได้มากเพียงใด ความร่ำรวยหรือยากจนของสังคมใดก็อยู่ตรงนี้แหละ ถ้าสังคมใดมีคนที่มีคุณภาพก็สามารถบันดาลให้เกิดผลิตภาพสูง จนช่วยให้ มีผลผลิตมากมายแก่สมาชิกเพื่อแบ่งปันกัน ถ้าสังคมนั้นมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงความสามารถในการผลิตต่อหนึ่งหน่วยวัตถุดิบนั้นต่ำ ผลผลิตไม่มีพอให้สมาชิก สังคมนั้นก็ยากจน

          เมื่อทรัพยากรทุกอย่างขาดแคลน ความสามารถในการผลิตต่อหน่วยวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก สมาชิกในสังคมมีความสุขจากการได้บริโภคสินค้าและบริการ ถ้าสังคมใดมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงว่าแต่ละหน่วยวัตถุดิบผลิตได้น้อยจนผลผลิตไม่เพียงพอต่อสมาชิกซึ่งหมายถึงความยากจนนั่นเอง

          นักเศรษฐศาสตร์คือนักจัดการความขาดแคลน การเข้าใจธรรมชาติและกลไกของการแก้ไขความขาดแคลน การรู้วิธีการประเมินผลได้ผลเสีย การคาดคะเน ตลอดจนการวางแผนใช้ทรัพยากรทำให้นักเศรษฐศาสตร์มีบทบาทต่อสังคมเสมอ

Wool ไม่ใช่ขนแกะ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 เมษายน 2559

          เมื่อได้ยินคำว่า wool เรามักนึกถึงขนแกะ แต่แท้จริงแล้ว wool มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายพันธุ์ ซึ่งขนของมันมีลักษณะพิเศษ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ woolหลายอย่างที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากในอนาคต

          มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นขนยาวเป็นเส้นหนาพันกันเป็นเกลียวของสัตว์ตระกูลแกะจากหนังสัตว์ที่แล่เอามาก็เกิดความคิดที่จะเอามาต่อกันให้ยาวเป็นเส้นและก็ทอขึ้นเป็นผ้า wool

          สัตว์ตระกูลแกะที่ขนของมันสามารถเอาไปใช้เป็น wool ได้นั้นก็ได้แก่แกะ แพะ อูฐ alpacas (สัตว์ที่หน้าตาคล้ายแกะแต่หูกาง หน้าตาออกไปทางอูฐ มีอยู่มากในอเมริกาใต้) ฯลฯ สัตว์ในตระกูลแกะที่ไม่ได้เอามาใช้งานโดยมนุษย์นั้นมีอยู่ด้วยกันถึงกว่า 200 พันธุ์

          หลักฐานของการใช้เสื้อทอจาก wool นั้นปรากฏในหลุมศพอียิปต์อายุกว่า 3,400 ปี และในที่ต่าง ๆ ย้อนอายุขึ้นไปถึง 2,000 กว่าปี สันนิษฐานว่าในตอนต้นนั้นกระบวนการฝั้นให้เป็นเส้นจากขนสัตว์นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะสัตว์ตระกูลแกะที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านในยุคแรกมีขนแยะก็จริง แต่แยกได้เป็นสองชั้นคือชั้นนอกเป็นเส้นยาวแข็งที่เรียกว่า kemp และชั้นในมีเส้นละเอียดอ่อนกว่าเรียกว่า fleece เมื่อขนชั้นนอกแข็งจึงทอได้ยาก แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปมนุษย์ก็เลือกเฉพาะสายพันธุ์ที่มี fleece มาก

          Wool มีลักษณะพิเศษที่สามารถทอเป็นเส้นได้เนื่องจากมีสารที่เรียกว่า alpha-keratin ซึ่งพบในขน เขา เล็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สารนี้ทำให้เส้นมันติดกันได้ง่ายเป็นพิเศษ เซลล์ชั้นนอกของขนหมุนเป็นเกลียวจนเกิดช่องว่างที่ทำให้ขนอีกเส้นหนึ่งเข้ามาติดและพันกันเป็นเกลียวเส้นขึ้นมาได้

          การคัดสายพันธุ์ทำให้ปัจจุบันมีแต่ขนอ่อนเป็น fleece เหลืออยู่เท่านั้น ขน wool ของพันธุ์ปัจจุบันมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 16 ไมครอน จากแกะพันธุ์ Merinos ที่มีชื่อเสียงจนถึง 40 ไมครอน ถ้าใครใส่เสื้อหนาวที่ทำจาก wool แล้วรู้สึกมีอะไรแทงจนคัน นั่นหมายถึงว่าใช้ขนแกะเส้นใหญ่และ ปลายขนแยงผิวหนัง ไม่ใช่เรื่องภูมิแพ้แน่ เพราะยังไม่เคยมีกรณีแพ้ woolปรากฏในทางการแพทย์เลย

          wool นั้นเป็นสิ่งมีค่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถูกใช้เป็นสิ่งชดใช้หนี้สงคราม ค่าไถ่ตัวจากการลักพา ชดใช้หนี้การค้า ฯลฯ แต่มีข้อเสียสำคัญคือมีลักษณะใหญ่โตมัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมซึ่งยากต่อการขนส่ง ต่างจากทองคำซึ่งถ้ามีมูลค่าเท่ากันจะมีน้ำหนักแตกต่างกันมาก และกินที่น้อยกว่ามาก ๆ

          นอกจากใช้ wool สำหรับสิ่งทอไม่ว่าจะเป็นเสื้อกางเกงสารพัดรูปแบบ ผ้าพันคอ หมวก ถุงเท้า ถุงมือ ฯลฯแล้วยังสามารถใช้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการค้าอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ใช้เป็นตัวปรับเสียงเปียโนผ่านการสอดแทรกระหว่างสายเปียโนในเครื่อง ใช้เป็นตัวดูดซับน้ำมันรั่วในทะเล ฯลฯ ปัจจุบันมีการใช้ wool ในการเกษตรด้วยในแถบรัฐมอนตานาของสหรัฐอเมริกา

          มีการใช้ wool เป็นตัวคลุมดินเพื่อป้องกันการเซาะพังของดินได้เป็นอย่างดี เกษตรกรในนิวซีแลนด์ริเริ่มใช้ขนแกะชนิดเลวคลุมดินเพื่อเก็บความชื้นให้ต้นอ่อน หรือเมล็ดอ่อนก่อนงอก อีกทั้งใช้โรยเป็นแนวรั้วเพื่อเป็นปุ๋ยอีกด้วย

          wool เหมาะสมในการคลุมดินเพราะเบาพอที่ต้นอ่อนเช่นข้าวโพดจะงอกแทรกขึ้นมาได้ อีกทั้งมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ(biodegradable) เมื่อย่อยสลายช้า ๆ มันจะเป็นปุ๋ยที่ดีเพราะทำให้เกิดไนไตรเจนในดินถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ขายกันซึ่งมีเพียง ร้อยละ 6 เมื่อแนวรั้ว wool ย่อยสลายก็จะเกิดปุ๋ยธรรมชาติขึ้น

          นอกจากสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้แล้ว wool ยังเป็นสิ่งที่เก็บน้ำไว้ได้ดีอีกด้วย wool มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ในตัว กล่าวคือมันดูดซับน้ำโดยตรงไม่ได้ดีเนื่องจากบนขนมี fatty acid proteins หรือกรดโปรตีนไขมันซึ่งทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำโดยตรงได้ แต่โครงสร้างภายในของขนสามารถดูดซับความชื้นของไอน้ำได้เป็นอย่างดี

          พูดสั้น ๆ ก็คือ wool เกลียดของเหลวแต่ชอบไอน้ำ การเอามันคลุมผิวดินโคนต้นทำให้เก็บความชื้นจากไอน้ำได้ดี ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาเซาะปุ๋ยที่มีประโยชน์ไปจากโคนต้น

          ลักษณะพิเศษเช่นนี้ของ wool หากมีการวิจัยกันอย่างลึกซึ้งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรไทย ปัจจุบันมีการเลี้ยงแกะกันอยู่บ้างในบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง หรือแม้แต่ในอีสาน แต่ wool ที่ได้ยังไม่มีคุณภาพดีพอที่จะได้ราคา ถ้าหากเอามาใช้คลุมดินและเป็นปุ๋ยได้อย่างคุ้มทุนและสร้างกำไรแล้ว การเลี้ยงแกะเอาเนื้อและ wool อาจเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งได้สำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องการปลูกพืชพึ่งน้ำมากอีกต่อไป

          อีกลักษณะที่มีความเป็นพิเศษอย่างยิ่งของ wool ก็คือติดไฟได้ยากมาก ๆ wool จะติดไฟเมื่อมีความร้อนถึงประมาณ 1,382 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งว่า wool นั้นต้านไฟได้ดีมาก อีกลักษณะที่ต่างไปจากไนลอนและโพลีเอสเตอร์ (polyester) ก็คือเมื่อติดไฟจะไม่หลอมเหลวเป็นหยดหรือละลาย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ต้องการใช้ wool เป็นวัตถุดิบในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับทหาร พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกู้ระเบิด

          ประโยชน์ของ wool ในเรื่องไม่หวาดเสียวก็มีดังเรื่องลูกเบสบอลล์ซึ่งแข็งมาก (ถ้าโดนจุดสำคัญของร่างกายก็ทำให้เสียชีวิตได้) ภายในลูกเบสบอลล์คุณภาพชั้นดีจะมีเส้น wool ม้วนอยู่เป็น ชั้น ๆ อย่างแน่นเป็นก้อน แต่ละลูกใช้เส้น wool ยาวประมาณ 370 หลา เพื่อช่วยให้ลูกเบสบอลล์สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ดีหลังจากที่ถูกตีแล้วทุกครั้ง

          มนุษย์นั้นมีความอัศจรรย์ตั้งแต่รู้จักใช้ขนสัตว์จากสัตว์ตระกูลแกะมาปั่นเป็นเกลียวเส้นและเอามาทอเป็นเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความหนาว รู้จักเอาเนื้อลูกแกะ (lamb) มาเป็นอาหาร และปัจจุบันก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการเอามันมารับใช้ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม

          เราต้องคิดและทำวิจัยกันอย่างกว้างขวางในแนวดัดแปลงเช่นกันสำหรับยางซึ่งเรามีวัตถุดิบอยู่มากมายในปัจจุบันและจะยิ่งมากกว่านี้อีกในอนาคตเมื่อต้นยางจำนวนมหาศาลเริ่มให้น้ำยางและต้นยางเริ่มแก่ขึ้น ถ้าทำได้สำเร็จเราอาจมีนวัตกรรมของสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าออกสู่ตลาดโลก