การบ้านนั้นสำคัญหรือ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 กุมภาพันธ์ 2556
         

การบ้านของนักเรียนไทยกำลังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในปัจจุบันว่ามีมากไปหรือไม่   หากมีก็ควรมีลักษณะใด    ใช้เวลานานเท่าใดในแต่ละวัน   เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเด็กหรือไม่    ประเด็นเหล่านี้หลายคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องรอง  พราะความสำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการมีการบ้าน

           ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์  แห่งสถาบันรามจิตติยืนยันในรายงานวิจัย “ปรับการเรียนเปลี่ยนการบ้าน ประสบการณ์และแนวโน้มนานาประเทศ”   ว่าทั่วโลกกำลังมีกระแสต่อต้านการบ้าน (เด็กร้องไชโย)  ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 3 เดือนก่อนทางการประกาศยกเลิกนโยบายมีการบ้าน  สิงคโปร์ก็ไม่   ประกาศไม่เอาการบ้าน     กระแสสังคมจีนหนุนให้ลดการบ้าน    เดนมาร์ก  ฟินแลนด์  ญี่ปุ่น   มีทางโน้มลดการบ้านลงอีก

          ครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1901      รัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายยกเลิกการบ้านของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่สอง     อย่างไรก็ดีในปัจจุบันการบ้านในสหรัฐอเมริกาก็กลับมา    อีกครั้งและดูจะหนักขึ้นในทุกชั้นเรียน     แต่ถึงจะหนักอย่างไรก็คงสู้เด็กไทยในโรงเรียนที่มีการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะในเมืองไปไม่ได้

           เด็กไทยในโรงเรียนเหล่านี้ในช่วงชั้นประถมปลายต้องทำการบ้านกัน 5 คืนต่ออาทิตย์   ใช้เวลาคืนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง   ยิ่งในชั้นมัธยมปลายยิ่งหนักขึ้นเพราะต้องแข่งขันกันสู่อุดมศึกษา  

        จุดประสงค์ดั้งเดิมของการบ้านก็คือการเพิ่มพูนความรู้    ทักษะและความสามารถของเด็ก     การบ้านที่เหมาะสมควรถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนเพิ่มเติมสิ่งที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว     เตรียมตัวสำหรับบทเรียนที่ยากในวันถัดไป   ต่อยอดสิ่งที่ได้รู้โดยนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่     ตลอดจนนำความสามารถหรือทักษะที่ได้รับไปบูรณาการ

           การบ้านที่ดีในยุคปัจจุบันและยุคต่อไป     ต้องเน้นเรื่องของการเรียนรู้ผ่านการฝึกทักษะ     ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านการรับข้อมูลหรือองค์ความรู้     ทั้งนี้เนื่องจากความรู้แตกตัวขยายองค์ความรู้มากมายอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีไอทีในปัจจุบัน      ความรู้หลายเรื่องอาจผิดในวันข้างหน้า (เช่นไม่มีภาวะเรือนกระจก)   และเด็กสามารถหาอ่านได้เองจากอินเตอร์เน็ต 

          ตัวอย่างเช่น     ทักษะชีวิต     ซึ่งได้แก่ความสามารถในการอดกลั้น     ความสามารถในการทำให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ    ความสามารถในการพูดโน้มน้าว    ความสามารถในการเอาตัวรอดในสิ่งแวดล้อมที่ลำบาก   ฯลฯ   นักเรียนอาจมีทักษะเช่นนี้ได้จากการทำการบ้าน   ในการฝึกหัดทักษะเหล่านี้ผ่านเกมส์    ข้อสอบทางจิตวิทยา      แบบฝึกหัดทดลองสถานการณ์ออนไลน์       การอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์     ตลอดจนการฝึกฝนกับครอบครัว

           การบ้านที่ไม่ดีคือการส่งเสริมการท่องจำ       การรับความรู้โดยไม่ผ่านการใช้เหตุใช้ผลหากใช้ความจำ     การทำแบบฝึกหัดที่เน้นผลลัพธ์โดยไม่ได้สนใจกระบวนการคิด

           ปัจจุบันมีการเชื่อว่าการบ้านคือการเตรียมตัว     ฝึกฝนทักษะเพื่อจะไปรับการเรียนรู้ที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น   กล่าวคือเรียนด้วยตนเองที่บ้านแต่ไปทำโครงงานหรือเข้ากระบวนการเรียนรู้กับ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน

            การบ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของครู     เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้    การบ้านไม่ควรเป็นเครื่องมือของการหารายได้พิเศษของครูในตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิกแล้ว       โดยพ่อแม่จำเป็นต้องยอมจ่ายเงินเพื่อลดภาระของตนเองหรือเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับครูจนลูกของตนเองเสียประโยชน์

           กฎที่ใช้กันของเวลาในการทำการบ้านในแต่ละวันของเด็กก็คือ   เพิ่มขึ้น 10 นาที    ทุกชั้นเรียนของเด็ก    เช่น   ประถมสามควรทำการบ้านคืนละ 30 นาที   แต่เมื่อขึ้นไปเรียนประถมสี่   ควรทำการบ้านคืนละ 40 นาที  ดังนี้เรื่อยไป      กฎ “10 นาที”  นี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด

           อย่างไรก็ดีปัจจุบันเวลาที่ทำการบ้านดูจะไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาการบ้านนั้นใช้ทำอะไร      ถ้าเป็นการบ้านที่ส่งเสริมการท่องจำถึงแม้จะใช้เวลานานก็ไม่มีประสิทธิภาพต่อการเป็นผู้มีการศึกษาเมื่อเติบโตขึ้น      เท่ากับการบ้านที่ใช้ไปในการเตรียมพร้อมต่อการฝึกฝนและรับทักษะสำคัญเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้   และเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริงในเวลาต่อไป

           การมีความทุกข์จากการทำการบ้านมากเกินไปของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย     อาจสะสมจนทำให้เกลียดการเรียนรู้ในเวลาต่อไปซึ่งเท่ากับว่าการบ้านเป็นตัวทำลายการเป็นคนมีการศึกษาซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนหนังสือ

Infographics ช่วยการเรียนรู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 กุมภาพันธ์ 2556

          Infographics กำลังเป็นคำฮิตติดหูผู้คนอยู่ในปัจจุบัน การเข้าใจความหมายและธรรมชาติของมันอาจช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ภาพผังองค์กร แผนที่ สถิติ เครือข่าย ฯลฯ ที่มีภาพโยงใยและสีสันงดงาม เห็นแล้วเข้าใจง่ายนั่นแหละคือ infographics ซึ่งมีทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว

          ถ้าความเจ็บปวดจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วไม่บดบังความทรงจำเรื่อง “ปลาวาฬ” เสียหมด หลายท่านคงจำคลิปครั้งนั้นที่อธิบายว่าเหตุใดน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ และสถานการณ์รุนแรงเพียงใดกันได้ motion graphics หรือ 2-D animation เช่นนั้นสร้างความประทับใจให้ประชาชนเพราะความง่ายในคำอธิบายประกอบภาพ

          การสร้าง infographics ซึ่งมาจากสองคำคือ information + graphics มีวัตถุประสงค์ง่าย ๆ คือการทำให้สิ่งที่ยากเป็นสิ่งที่ง่าย ตัวอย่างแรก ๆ ของ infographics ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คือภาพเขียนต่าง ๆ บนผนังถ้ำเมื่อประมาณ 32,000 ปีก่อน (มนุษย์ยืน 2 ขา มีหน้าตาเหมือนคนปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน)

          ต่อมาเมื่อ 5,000 ปีก่อน infographics ชั้นยอดกำเนิดขึ้นที่อียิปต์ซึ่งได้แก่ อักษรจารึกของอารยธรรมอียิปต์ที่เรียกว่า hieroglyphics หรืออักษรที่เป็นภาพ infographics ยอดเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งคือภาพสเกตซ์อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายพร้อมคำอธิบายของ Leonardo da Vinci ใน ค.ศ. 1510

          ใน ค.ศ. 1786 วิศวกรชาวสก็อต ชื่อ William Playfair เป็นคนแรกที่นำข้อมูลสถิติมาแสดงเป็นรูป pie chart กราฟ แท่ง ฯลฯ จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการนำเสนอตัวเลขสถิติในรูปแบบต่าง ๆ ที่พิศดารและกว้างขวางมากขึ้น

          ระหว่าง ค.ศ. 1970-1990 infographics เป็นที่นิยมมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อความซับซ้อนของวิชาความรู้และของสังคมมีมากขึ้นควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้าน IT และซอฟแวร์ ในช่วงเวลานี้หนังสือพิมพ์ USA today / Time Magazine และ The Sunday Times ของอังกฤษเริ่มนำเสนอ infographics ในข่าวและบทวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

          ในกระบวนการย่อยข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ใช้รูปแบบการเรียนรู้ 4 แบบด้วยกันกล่าวคือ (1) การมองเห็น ใช้ภาพผัง แผนที่ ฯลฯ เพื่อการเข้าใจแทนคำพูด (2) การได้ยิน มนุษย์เรียนรู้โดยการฟังคำที่ออกเสียง (3) อ่าน / เขียน เรียนรู้โดยการอ่านและเขียน (4) ประสบการณ์ (kinesthetic) เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติ

          Infographics ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้หลายประการดังนี้ (1) ทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นในเรื่องของแนวคิด ไอเดียและข้อมูลข่าวสาร (2) เพิ่มสมรรถนะในการคิดและพัฒนา ไอเดีย (mindmapping ก็คือลักษณะหนึ่งของ infographics) (3) ทำให้จำได้ง่ายขึ้น คงอยู่นานและสามารถนำกลับมาใช้ได้สะดวกขึ้น

          Infographics เป็นการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น (visual learning) โดยเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างการใช้กราฟิกกับข้อมูลข่าวสาร infographics ที่แสดงไว้ด้านบนของข้อเขียนนี้อธิบายได้ชัดกว่าคำพูดใด ๆ

         ซอฟแวร์สำคัญที่ทำให้เกิดการแตกตัวของ infographics มากมายจนถึงปัจจุบันก็คือ Adobe Flash ซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ. 2000 สำหรับโปรแกรมชั้นยอดในปัจจุบันที่ช่วยสร้างสรรค์ infographics ได้แก่ Infogr.am / Piktochart และ Easel.ly

         ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของ infographics ปัจจุบันเราเห็นการนำเสนอข้อมูลสถิติที่แปลกใหม่ (พื้นที่จังหวัดใหญ่เล็กตามจำนวนประชากร) กราฟข้อมูลตามเวลา (กราฟขึ้นลงสีต่าง ๆ ที่มีความหมายและกะทัดรัด) แผนที่รถไฟใต้ดินและบนดินซึ่งถึงแม้จะซับซ้อนหลายระดับแต่ก็เข้าใจได้ง่าย การโยงใยเครือข่ายของความคิดหรือบุคคลซึ่งซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น โครงสร้างองค์กรที่เข้าใจได้ง่าย ผังและตารางต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ฯลฯ

          Infographics สร้างประสิทธิภาพในการเรียนรู้เนื่องจากมนุษย์รับรู้ข้อมูลจาก 5 แหล่ง (เห็น สัมผัส ได้ยิน กลิ่น รส) งานวิจัยพบว่าการมองเห็นสำคัญกว่าแหล่งอื่น ๆ ทั้งหมด ร้อยละ 50 ของสมองมนุษย์ถูกใช้เพื่อการทำงานด้านการมองเห็นจนสมองสามารถย่อยภาพที่ได้รับทั้งหมดในทันที แต่สำหรับข้อความนั้นสมองย่อยในลักษณะเป็นเส้นตรงกล่าวคือเริ่มจากต้นไปท้ายโดยเรียงกันไปตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ามนุษย์ใช้เวลานานกว่าในการรับทราบข้อมูลจากข้อความ

          ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยยืนยันว่าร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรโดยทั่วไปเป็นผู้เรียนรู้จากการมองเห็น (visual learners) เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้จากการได้ยิน การอ่านเขียนและเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้น infographics จึงสามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่และสามารถย่อยข้อมูลได้รวดเร็วกว่าด้วย

          ปัจจุบันการเรียนรู้ด้วยตนเองของมนุษย์นั้นสำคัญกว่าการสอนเนื่องจากการเพิ่มและกระจายตัวขององค์ความรู้อย่างรวดเร็วจนทำให้สอนอย่างไรก็ไม่มีวันตามทัน การทำอย่างไรให้เกิดความกระหายอยากเรียนรู้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา

หลายแนวคิดของ CSR

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 กุมภาพันธ์ 2556

          CSR เป็นคำที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการ “ทำบุญ” ของธุรกิจ อย่างไรก็ดีหากเจาะลึกลงไปแล้วก็จะพบว่า CSR นั้นมีหลายแนวคิดด้วยกัน

          CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นที่เริ่มรู้จักกันในโลกตะวันตกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 เมื่อผู้นำทางความคิดของโลกชี้ให้เห็นว่า มิใช่เพียงผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของธุรกิจเท่านั้นที่ถูกผลกระทบจากการประกอบธุรกิจไม่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หากแท้จริงแล้วยังมีผู้อื่นอีกซึ่งเรียกรวมกันว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เกี่ยวพันอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่พนักงาน ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้จัดส่งสินค้า ชุมชน สังคม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนมีชะตากรรมร่วมกับองค์กรอย่างแยกไม่ออก

          เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ธุรกิจจึงไม่อาจให้ความสนใจเฉพาะแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น จำเป็นต้องมองออกไปกว้างกว่าเดิม ดังนั้นการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ ความจริงที่สำคัญก็คือการอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกันโดยสร้างสภาวการณ์ win-win ขึ้น

          หนังสือเขียนโดย R. Edward Freeman ชื่อ Strategic Management : A Stakeholder Approach ในปี 1984 มีอิทธิพลต่อความคิดในเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการคำนึงถึงกำไรในระยะยาวจนวลี “doing well by doing good” (อยู่ได้ดีด้วยการทำดี) เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และ CSR มีรากมาจากแนวคิดนี้

          อย่างไรก็ดี CSR มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบัน ถ้าจะสรุปก็มีไม่ต่ำกว่า 3 แนวคิดหรือเวอร์ชั่นดังนี้

          (1) CSR เวอร์ชั่น 1.0 คือ CSR ที่เรารู้จักกันทั่วไป คือ ความมีใจเป็นกุศล ความมี จิตอาสาและจิตสาธารณะของธุรกิจ เรามักเห็นการบริจาคหรือการทำโครงการสาธารณกุศลต่าง ๆ ของเอกชนซึ่งเป็นพื้นฐานของเวอร์ชั่นนี้

          เวอร์ชั่น 1.0 คือการพยายามทำดีเพื่อหวังผลตอบแทนหรืออาจไม่หวังผลตอบแทนในระยะสั้น หรือทำการกุศลด้วยการตระหนักถึงการได้รับกำไรในระยะยาว ตลอดจนการอยู่รอดร่วมกันขององค์กรและสังคม

          (2) CSR เวอร์ชั่น 2.0 คือความกลมกลืนระหว่าง CSR ของธุรกิจไปกับกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร เช่น จะบริจาคเงินเป็นร้อยละของกำไร จะบริจาคเท่านั้นเท่านี้บาทต่อชิ้นที่ขายได้ให้แก่ สาธารณกุศล จะร่วมกันพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ขององค์กรที่มุ่งรักษาความเขียวเป็นหลัก ฯลฯ

          ในเวอร์ชั่นนี้ถึงแม้องค์กรจะตั้งใจทำดีเพื่อให้อยู่รอดด้วยกันทุกฝ่าย แต่การทำดีนั้นก็สอดประสานไปกับกลยุทธ์ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเปิดเผยหรืออย่างแนบเนียนก็ตามที

          ทั้งสองเวอร์ชั่นถูกวิจารณ์ตลอดมาด้วยวาจาและความคิดของประชาชนว่า CSR คือการสร้างภาพให้ดูสวยหรู (window dressing) การสร้างภาพลักษณ์ หรือสาธารณกุศลเชิงการตลาด ฯลฯ ซึ่งผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในหลายกรณีก็มีความจริงอยู่มาก

          (3) CSR เวอร์ชั่น 3.0 เกิดจากบทความของ Michael Porter (ไม่ใช่ Harry Potter) และ Mark Kramer ชื่อ The Big Idea : Creating Shared Value, Rethinking Capitalism ตีพิมพ์ในปี 2011

          ถึงแม้เวอร์ชั่นนี้จะยังอยู่ในขอบเขตของ “doing well by doing” เหมือนสองเวอร์ชั่นแรก แต่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบซึ่งอยู่ในสองเวอร์ชั่นนี้ หากเกี่ยวกับเรื่องการสร้างคุณค่า (creating value)

          เวอร์ชั่น 3.0 ไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยงบประมาณเหมือนสองเวอร์ชั่นแรก หากองค์ประกอบสำคัญคือการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Value_____CSV) ขึ้นในองค์กรเพื่อที่จะนำไปขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งงดงามของสังคมอย่างยั่งยืน

           CSR ชนิดนี้อยู่บนความเชื่ออย่างจริงใจว่าความก้าวหน้าของสังคมและของธุรกิจเชื่อม ถึงกัน และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจกับความกินดีอยู่ดีของสังคมนั้นพึ่งพาซึ่งกันและกัน

           ในเวอร์ชั่น 3.0 CSV ในธุรกิจทั้งหลายจะก่อให้เกิดแรงผลักดันช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาวพร้อมไปกับความก้าวหน้าของสังคม และถ้าองค์กรสามารถสร้าง CSV หรือ “คุณค่าภายในร่วม” เช่นนี้ขึ้นในใจของสมาชิกสังคมด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันของธุรกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           ตัวอย่างของ CSV ก็คือความรักศรัทธาในการรักษาสิ่งแวดล้อม การชื่นชมความดีงาม การสร้างสิ่งที่มีประโยชน์แก่สังคม การประหยัดการใช้ทรัพยากรของโลก การศรัทธาในการให้ ฯลฯ ธุรกิจที่สร้าง CSV ขึ้นในองค์กรได้สำเร็จจะขับเคลื่อนให้ CSR ขององค์กรนั้นสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืนเพราะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

          ทุกเวอร์ชั่นของ CSR ล้วนเกี่ยวกับการให้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โลก แต่ประเด็นสำคัญของ CSR นั้นอยู่ที่ความจริงใจขององค์กร

          การให้แก่ตนเองนั้นอยู่ทนแค่ขณะที่ตนเองมีชีวิตอยู่ แต่การให้คนอื่นนั้นจะอยู่คงทนตลอดไป

Common Nonsense

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 กุมภาพันธ์ 2556

           มนุษย์ทั่วไปมักมีสามัญสำนึก (common sense) แต่มีบางพวกที่ขาดสามัญสำนึกหรือมีสามัญสำนึกที่ผิดชาวบ้านเขา (uncommon sense) ที่ร้ายสุดก็คือพวกที่มีสามัญสำนึกแบบไร้สาระ (common nonsense) ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษอีกคำว่าพวก bull shit หรือ BS

          เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปฟังการบรรยายหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษาของ Sir Harold Kroto ผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1996 ก่อนการบรรยายมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ท่านด้วย ปัจจุบัน Sir Harold Kroto ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ nanotechnology ไอเดียเรื่อง sense ต่าง ๆ ข้างต้นนี้มาจากการบรรยายในวันนั้นของท่าน

         คนที่มี common sense จะรู้ว่าถ้าเอามีดแทงคนก็จะได้เลือดและอาจตายได้ ที่รู้อย่างนี้ก็เพราะว่ามีหลักฐานปรากฏชัดเจนเสมอว่าคนโดนมีดแทงแล้วเลือดไหลแน่นอนและอาจตายได้

         ส่วนคนที่มี uncommon sense นั้นอาจบอกว่าเมื่อโดนมีดแทงก็จะมีเลือดไหลแต่ไม่ตายแน่นอน เพราะถึงแม้มีดจะมีปลายแหลมและยาวอย่างไรก็ไม่มีทางตาย เขาเชื่ออย่างนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นไปได้บนหลักฐานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ uncommon sense ของเขาทำให้เห็นเช่นนั้น

         สำหรับพวก common nonsense นั้น เชื่อว่ามีดปลายแหลมเท่าใดก็แทงไม่เข้า เพราะคนถูกแทงมีของดี ไม่ว่าจะกินว่านหรือมีสิ่งเหนือวิทยาศาสตร์ก็ตาม เขาเชื่อโดยไม่ดูหลักฐานว่าเมื่อมีดปลายแหลมทิ่มเนื้อนั้นเลือดไหลและอาจตายได้ เหตุที่เชื่อว่าแทงไม่เข้าก็มาจากความเชื่อของเขาที่ปราศจากหลักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองว่าแทงไม่เข้าแต่ก็เชื่อ ๆ ตามกันมาแบบนั้น

         น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรามีพวก common nonsense อยู่มากมาย ได้ยินอะไรก็เชื่อไปหมดโดยปราศจากการไตร่ตรองว่ามันมีเหตุมีผลและมีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อนั้นหรือไม่ เหตุผลที่สังคมเราอุดมด้วยข่าวลือไร้สาระก็เพราะเรามีพวกนี้อยู่เต็มไปหมด

          การซื้อซองบอกใบ้หวยจากแผงหนังสือพิมพ์หรือเชื่อการบอกเลขหวยจากหลวงพ่ออย่างมั่นใจคืออาการของคนพวกนี้ คำถามง่าย ๆ ก็คือถ้าคนทำธุรกิจนี้รู้ว่ามันจะออกเลขอะไรแล้ว จะมามัวขายเบอร์ในซองอยู่ทำไม ไปแทงเองเสียไม่ดีกว่าหรือ บางคนอาจเถียงว่ามันศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่ซื้อหรือแทงเอง ถ้าซื้อเองแล้วความวิเศษของเขาจะหมดไปและก็ไม่ถูกด้วย

          ถ้าหากจะโต้กลับก็อาจเป็นว่าก็ไม่แทงหรือซื้อเองสิ แต่กระซิบให้คนอื่นกระทำแทนแล้วแบ่งเงินกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่พวกเดียวกันซื้อซองหวยไปแทง (ทำพิธีซื้อซองหน่อยก็ได้) และแบ่งเงินให้เป็นสินน้ำใจก้อนใหญ่

          พวกยอมเสียเงินเพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็คือพวก common nonsense อีกเหมือนกัน ก็เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วซึ่งหมายถึงการดับขันธ์ไม่กลับมาเกิดอีก แล้วท่านจะอยู่ให้เฝ้าได้อย่างไร

          พวกขูดตัวเลขบนต้นไม้เพื่อขอหวย เห็นงูเผือกตะขาบเผือกก็กราบไหว้บูชาเพื่อขอเลขโดยดูมูลที่ถ่ายว่าเป็นตัวเลขอะไร หลวงพ่อชื่อดังคายหมากออกมามีเค้าเลขอะไร 2012 คือ ปีโลกาวินาศ พวกคอรัปชั่นก็ปล่อยมันไปแล้ววันหนึ่งเวรกรรมจะตามทันเอง ภาครัฐให้อะไรเราฟรีโดยประชาชนไม่ต้องเสียอะไรเลย ฯลฯ

          พวกอุดมด้วย common nonsense หรือกลุ่ม BS เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการปกครองประเทศ ต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนอื่นเป็นอันมากเนื่องจากเขาเชื่อ นับถือ ยึดมั่น ในสิ่งที่ขาดหลักฐานและขาดสามัญสำนึกของคนธรรมดา

          ตราบใดที่การศึกษาของเราไม่สอนให้คนคิดเป็น เราก็จะติดกับดัก common nonsense อยู่อย่างนี้และจะมีคนประเภทนี้อยู่เต็มไปหมดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          พวก common nonsense ที่มีอาการหนักนั้นเขาเรียกกันว่าพวก “เต่าถุย” กล่าวคือเป็นเง่าบัวที่อยู่ใต้โคลนตมชนิดที่เต่ากินเข้าไปแล้วยังคายออกมาเลย

แฮกเกอร์ผู้มีหลักการ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 มกราคม 2556   

Aaron Swartz เป็นอัจฉริยะ IT ได้รับรางวัลสำคัญของประเทศสำหรับการสร้างเว็บไซต์อเมริกันที่มีประโยชน์ด้านการศึกษาตั้งแต่อายุ 13  ปี   เมื่ออายุได้ 14 ปีก็ร่วมงานกับผู้ก่อตั้ง world wide web (www)  และมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าความรู้ที่อยู่ในหนังสือและบทความในห้องสมุดตลอดจนข้อมูลที่เป็นสาธารณะทั้งปวงนั้น   ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีและฟรี

เมื่อโตเป็นหนุ่มเขาเป็นนักต่อสู้คนสำคัญในการคัดค้านความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตของภาครัฐอเมริกัน   เขาสร้าง Reddit เว็บแนว bulletin board ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดเว็บหนึ่งในโลกในปัจจุบัน   และเขาได้สร้างสรรค์งานสำคัญอีกหลายชิ้นที่เป็นประโยชน์ต่อโลก   พร้อมกับตั้งใจทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อช่วยให้โลกเป็นไปตามความเชื่อของเขาซึ่งเขามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

เขาน่าจะช่วยให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ในโลกและปล่อยข้อมูลที่สาธารณชนสมควรได้รับรู้อีกมากมายแต่เขาก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป   เพราะเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2013 ที่ผ่านไปนี้   เขาตัดสินใจแขวนคอตายในวัยเพียง 26 ปี

Aaron Swartz เกิดในเมืองชิคาโก   พ่อเป็นเจ้าของบริษัทซอฟแวร์   เขาฉายแววอัจฉริยะด้าน IT ตั้งแต่เด็ก ๆ      โดยเติบโตขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่มั่นคงว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสมบัติของประชาชน  ทุกสิ่งควรฟรีและเปิดเผยอย่างไม่มีขีดจำกัด

เขาเคยเป็นบรรณาธิการอาสาสมัครของ Wikipedia    เป็นหัวหอกรณรงค์ต่อต้านการร่างกฎหมายชื่อ Stop Online Piracy Act  ซึ่งภาครัฐพยายามใช้อำนาจในการติดตามตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเขาเชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเป็นสะพานไปสู่การแทรกแซงอำนาจของประชาชนในโลกไซเบอร์    Swartz ต่อสู้ร่างกฎหมายนี้อย่างเด็ดเดี่ยวจนชนะในที่สุด
 

“วีรกรรม”  สำคัญที่นำเขาไปสู่การกระทำผิดกฎหมายและการฆ่าตัวตายในที่สุดก็คือในปี 2010 เขาแอบดาวน์โหลดบทความวิชาการจำนวนรวม 4.8 ล้านบทความจากคลังเอกสารวิชาการของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มีชื่อว่า JSTOR และปล่อยออกมาให้นักศึกษาทั้งโลกได้ใช้กันโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีกต่อไป    เขากระทำด้วยความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะความรู้ที่อยู่ในเอกสารส่วนใหญ่นั้นได้มาจากการใช้ภาษีของประชาชน       ดังนั้นเอกสารวิชาการเหล่านี้สมควรให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
 

นอกจากนี้เขายังโพสต์แค็ตตาล็อกของข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ของ Library of Congress ซึ่งปกติขายในราคาแพงลงบน Open Library ให้ได้ใช้กันอย่างเสรีอีกด้วย    แค่นั้นยังไม่พอเขาปล่อยเอกสารคดีต่าง ๆ ของศาลที่เขาเห็นว่าสาธารณชนควรได้รับรู้อีกจำนวน 19.9 ล้านหน้า
 

ทั้งหมดนี้เขาไม่ได้ทำไปเพื่อเงินเลยแม้แต่น้อย   ทั้งที่ถ้าเขาเป็นหัวขโมยตัวจริงแล้วอาจทำเงินให้เขาได้นับล้านเหรียญ    สิ่งที่เขาต้องการคือโลกที่ดีกว่า   เสรีกว่า  และก้าวหน้ากว่าเดิม  ในที่สุด “วีรกรรม” ที่เขาทำไว้ก็เป็นผลร้ายต่อตัวเขา   Swartz ถูกจับและอัยการระบุว่าอาจติดคุกนานถึง 35 ปีได้   โอกาสติดคุกนานขนาดนั้นเริ่มมีผลต่อชีวิตของเขา  บ่อยครั้งที่เขาซึมเศร้า   นอนอยู่ในความมืดคนเดียวเงียบ ๆ  และป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่ยังไม่ถึงวัย 25 ปี 
 

หลังจากที่มีผู้พบเขาเสียชีวิตแล้ว   มีข่าวรอดออกมาว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วันอัยการได้ เสนอข้อต่อรองกับเขา (plea bargaining)  ให้ยอมสารภาพผิดเสียและยอมติดคุก 6 เดือนแทนที่จะไปสู้คดี  ในศาลซึ่งอาจติดคุกนานกว่านั้นมาก      เขาเกือบตกลงแต่ในที่สุดก็ไม่เกิดขึ้นเพราะเจ้าทุกข์คนหนึ่งคือ MIT ไม่เห็นชอบด้วย
 

ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือถึงแม้เขาดูจะมีความผิดแน่นอน   ไม่ว่าจะมีเจตนาดีอย่างไรก็ตาม   แต่มันเป็นความผิดที่สมกับโทษ 35 ปีหรือไม่
 

Aaron Swartz เรียน Stanford อยู่เพียงปีเดียวก็เลิกเรียน    ออกมาอ่านหนังสือปรัชญาเป็นหลัก  และเรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียนจนสามารถทิ้งผลงานสำคัญไว้ให้โลก     บทเรียนหนึ่งที่เขาทิ้งให้สมาชิกร่วมโลกขบคิดก็คือเรื่องความยุติธรรม    ความผิดที่เขาก่อนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่โลกและก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน     โดยสิ่งที่ถูกดาวน์โหลดไปก็ยังอยู่ครบถ้วน     การลงโทษที่เสมือนขโมยของธรรมดานั้นสอดคล้องกับความผิด “สมัยใหม่” เยี่ยงนี้หรือไม่     
 

ชีวิตมีทั้งความยาวและความลึก   ในหลายกรณีความยาวของชีวิตอาจไม่สำคัญเท่ากับความลึกกระมัง

ทองคำทำร้ายอินเดีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 มกราคม 2556

อินเดียเป็นชาติที่พิสมัยทองคำเป็นพิเศษมาเป็นเวลาช้านาน   ทองคำเป็นทั้งเครื่องประดับ   เครื่องมือในการสะสมทรัพย์   และในการเก็งกำไร   การที่เศรษฐกิจอินเดียประสบปัญหาในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชอบทองคำเป็นพิเศษนี่แหละ

  ทองคำเป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์เชื่อถือมาไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ปี   และอาจเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์ใช้ในการประดับและประกอบพิธีกรรม

  มีประมาณการว่าตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีการนำทองคำออกมาใช้ในโลกของเราทั้งหมดประมาณ 171,300 ตัน หรือ 5,500 พันล้านทรอยเอาซ์ (ทรอยเอาซ์เป็นหน่วยของทองคำโดย  1 หน่วยหนัก 31.10347 กรัม  ดังนั้นทองคำ 1 บาทไทยจึงหนัก 0.4887 ทรอยเอาซ์) หรือ 8,876  คิวบิกเมตร   ซึ่งถ้าเอามาปั้นเป็นลูกเต๋าก็จะได้ความยาวด้านละ 20.7 เมตร  นักธรณีวิทยาเชื่อว่าทองคำจำนวนมหาศาลของโลกฝังลึกอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลก หรือลึกลงไปประมาณ 6,300 กิโลเมตร (อยู่ห่างถ้ำลิเจียที่กาญจนบุรีมาก)   มันได้จมลงไปในดินในขณะที่โลกยังมีอายุน้อยเนื่องจากทองคำมีความหนาแน่นสูง (หนัก)    

  ทองคำเกือบทั้งหมดที่มนุษย์ค้นพบกันนั้นล้วนเป็นทองคำที่มาจากอุกกาบาตจำนวนมากที่หล่นลงมาบนโลกในเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา  

  อินเดียเป็นประเทศที่บริโภค (ใช้) ทองคำมากที่สุดในโลก  สถิติในปี 2010 ระบุว่าใช้ถึง 745.7 ตัน  ในขณะที่ในปี 2009 ใช้เพียง 442.37 ตัน รองลงมาคือจีนใช้ 428 ตันในปี 2010  ไทยใช้ 6.28 ตัน รวมแล้วทั้งโลกใช้ทองคำ 2,059.6 ตัน  เปรียบเทียบกับ 1,760.3 ตันในปี 2009  ในปัจจุบันอินเดียในแต่ละปีซื้อทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งโลก  คือประมาณ 800 ตัน  โดยนำเข้าประมาณ 400 ตัน

  คาดว่าครัวเรือนอินเดียทั้งประเทศถือครองทองคำประมาณ 18,000 ตัน   มูลค่าประมาณ 950,000 ล้านเหรียญสหรัฐ   ซึ่งเท่ากับร้อยละ 11 ของปริมาณทองคำทั้งหมดในโลกในปัจจุบัน  หรือเกือบ 3 เท่าของทองคำที่ธนาคารกลางสหรัฐถืออยู่

  ความบ้าคลั่งทองคำในรูปของทองรูปพรรณมีมายาวนาน     อินเดียห้ามนำเข้าทองคำนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947      กฎหมาย The Gold Control Order 1963 และปี 1968 กำกับควบคุมความต้องการทองคำโดยห้ามนำเข้า     ตลอดจนจำกัดปริมาณทองคำที่ช่างทองสามารถมีอยู่ได้ในมือ     เนื่องจากภาครัฐรู้จักรสนิยมของประชาชนดีและตระหนักถึงความต้องการทองคำอย่างไม่มีที่สุดของคนอินเดีย     อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1990 

  ประเพณีให้ทองคำเป็นของขวัญในเทศกาล Diwali งานแต่งงาน  และโอกาสอื่น ๆ อันเป็นมงคล    ตลอดจนปรากฏการณ์เศรษฐกิจสังคมในประเทศ   เช่น   การลักลอบซื้อขายและขนส่งยาเสพติด   การค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด   คอรัปชั่น   การใช้เป็นหลักทรัพย์   การหนีภาษี  การใช้เป็นสินสอด  การค้าขายสินค้าใต้ดิน      การเก็งกำไร     การแสวงหาความมั่นคงจากเศรษฐกิจที่ผันผวน     ฯลฯ    ล้วนมีส่วนในการทำให้ทองคำเป็นที่นิยม 

  ในแต่ละปีอินเดียนำเข้าทองคำกันมากมายเฉลี่ยปีละ 400 ตัน จนสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นอันมาก    นอกจากการนำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้ว    ทองคำซึ่งเป็นอันดับสองมีสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

  เมื่อทางการอินเดียปล่อยข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นเพื่อสกัดการนำเข้า     ตัวเลขการนำเข้าทองคำก็ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก    การเก็บสะสมเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของครัวเรือนก็สูงขึ้นจาก 18,000 ตัน เป็น 20,000 ตัน    ซึ่งยิ่งทำให้การพยายามแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ของ GDP ยากยิ่งขึ้น

  หากอินเดียไม่มีการเกินดุลบัญชีทุน (เงินตราต่างประเทศจากการลงทุนและกู้ยืมสูงกว่าเงินตราต่างประเทศที่ไหลออกจากการไปลงทุนต่างประเทศและใช้คืนหนี้) ก็หมายถึงการขาดดุลการชำระเงิน (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง)     หากสภาวการณ์ขาดดุลนี้รุนแรงและเรื้อรังก็จะนำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินสกุลรูปี      เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบทำให้ราคาของเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินรูปีสูงขึ้น (ค่าเงินรูปีลดลง) ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะกระทบถึงค่าครองชีพของประเทศ (อินเดียนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่ง     ดังนั้นเมื่อเงินตราต่างประเทศมีราคาแพง   ราคาน้ำมันในรูปเงินรูปีก็ย่อมสูงตามไปด้วย)

  การถือทองคำไว้ในมือไม่ว่าในรูปทองรูปพรรณหรือทองแท่งมิได้เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตของสังคม     อีกทั้งมิใช่การลงทุนที่เป็นประโยชน์    ทรัพยากรการเงินของทั้งประเทศไปจมอยู่ และไม่มีผลตอบแทนทางการเงินระหว่างที่ถือไว้อีกด้วย

  อย่างไรก็ดีถ้าทางการอินเดียสนับสนุนให้มีการกู้ยืมโดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน  การเป็นสังคมที่นิยมทองคำก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลขึ้นได้ถ้าไม่มีการนำเข้าอย่างบ้าคลั่งอีกอย่างไม่รู้จบ

  การแสวงหาและถือทองคำไว้ในมือไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมฉันใด  การบ้าคลั่งปริญญาเพื่อเพิ่มวิทยฐานะก็ฉันนั้น  เงินอาจซื้อทองคำและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการได้มาซึ่งปริญญาได้   แต่เงินซื้อปัญญาไมได้

เดิน ๆ ๆ จะช้าอยู่ใย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 มกราคม  2556
 

การเดินนอกจากจะทำให้ถึงที่หมายแล้ว     ยังช่วยสร้างมนุษยชาติ    ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น  และสมองทำงานเข้าที่เข้าทางอีกด้วย

โครงการรณรงค์ “10,000 ก้าว” เพื่อสุขภาพ   ซึ่งริเริ่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดเป้าหมายซึ่งเป็นรูปธรรมของการเดินในแต่ละวัน      ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เชื่อว่าการเดินมีส่วนช่วยทำให้ความดันโลหิต      ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่ดี     ทั้งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย     อย่างไรก็ดีมีหลักฐานปัจจุบันว่าการเดินสำคัญกว่านั้นมาก     สำคัญขนาดทำให้มนุษย์อยู่รอดได้    มนุษย์ฉลาดขึ้น  และทำให้สมองทำงานเป็นปกติด้วย

  นักชีววิทยาสองคน คือ D.E. Lieberman และ D.M. Bramble ได้เขียนบทความในวารสาร Nature ในปี 2004 โดยชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราสืบทอดลูกหลานมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะความอึดทนทานในการเดินวิ่งตามเหยื่อที่เป็นสัตว์อย่างไม่ลดละ   จนในที่สุดสัตว์ก็ทนไม่ไหวต้องล้มลงและเป็นอาหารในที่สุด

  การเดินทนทานทำให้เกิดอาหาร   และอาหารทำให้มีกำลังที่จะผลิตลูกหลาน    ยีนส์จากผู้แข็งแรงเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดลงมาเรื่อย ๆ      เมื่อกฎธรรมชาติมีว่าคนเข้มแข็งสุดเท่านั้นที่อยู่รอด   ก็เลยสรุปได้ว่าลูกหลานปัจจุบันคือผู้ที่มียีนส์ของความอึดอดทนในการเดินเป็นเยี่ยม (เมื่อรู้แล้วและรู้สึกภูมิใจแล้ว    พวกเราก็จงลุกขึ้นเดินกันให้มาก ๆ เพื่อเป็นการคารวะบรรพบุรุษ)

  คู่ขนานไปกับข้อสรุปของสองนักวิชาการข้างต้นก็คือความจริงที่พบว่ามนุษย์นั้นฉลาดขึ้นเป็นลำดับ    กล่าวคือมีมันสมองที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวตลอดระยะเวลาของการพัฒนาในหนึ่ง ล้านปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 150,000-200,000 ปีหลังที่เป็นมนุษย์ยืนสองขา    หน้าตาเหมือนพวกเราในปัจจุบัน 

  ปัจจุบันมนุษย์มีมันสมองใหญ่เป็น 3 เท่าของมันสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิด    อื่น ๆ หากแม้นว่ามีน้ำหนักตัวเท่ากัน

  เหตุที่มันสมองใหญ่ได้ขนาดนี้ก็เพราะการกินเนื้อและความเป็น “สัตว์สังคม” กล่าวคือมีการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรก ๆ     นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบรรพบุรุษของเราในยุคแรก ๆ จำเป็นต้องวางแผนล่าสัตว์เป็นอาหารและออกปฏิบัติการเป็นกลุ่ม     ความจำเป็นดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาระบบการคิดขึ้น      ใครมีการพัฒนาดีก็ได้รางวัลคือสัตว์ที่ล่าได้     ดังนั้นความจำเป็นต้องคิดจึงเป็นตัวผลักดันวิวัฒนาการของสมอง

  ล่าสุดนักมานุษยวิทยาเชื่อว่านอกเหนือจากการกินเนื้อและการเป็น “สัตว์สังคม” แล้ว   การออกแรงในแต่ละวันของมนุษย์ก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น     ในเอกสารวิชาการ Proceedings of the Royal Society ประจำเดือนมกราคมของปี 2013     นักมานุษยวิทยาชื่อ D.A. Raichlen ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความทนทานในการออกกำลังของหนูทดลองในกรงกับการเพิ่มขึ้นของโปรตีนชนิดที่ช่วยทำให้เซลล์สมองขยายตัวขึ้น

  สัตว์ชนิดที่มีความสามารถในการอึดอดทนการออกกำลังสูงคือ   หนู    สุนัข   และหมาป่า     หมาจิ้งจอก    ฯลฯ    จะมีมันสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์อื่นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว

  การทดลองผสมพันธุ์หนูที่มีความอึดทนทานในการออกกำลังผ่านหลายชั่วพ่อแม่    ทำให้พบสารหลายตัวที่สนับสนุนการเติบโตของเนื้อเยื่อในสมอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนชื่อ BDNF  (Brain-derived Neurotrophic Factor)   ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของสมอง และความฉลาดที่ตามมา

  การอึดทนทานในการออกกำลังของมนุษย์ยุคแรกพร้อมไปกับการมีอาหารดี    ทำให้สมองใหญ่ขึ้นและฉลาดขึ้นคล้ายกับกรณีของหนู      ยิ่งเคลื่อนไหวมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น     ยิ่งคล่องตัวในการออกกำลังอึดทนทานมากขึ้น   และฉลาดยิ่งขึ้น

  ข้อสรุปก็คือถ้าการออกกำลังช่วย “ปั้น” โครงสร้างของสมองแล้วไซร้   ก็มีความเป็นไปได้สูงที่การออกกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของสมองในปัจจุบัน

  ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดมีหลักฐานทางการแพทย์มากชิ้นขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงการเดินก็ช่วยทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองดีขึ้น     ดังนั้นการเดินจึงมิใช่เป็นเพียงเรื่องของการเคลื่อนไหวธรรมดาเพื่อให้ถึงจุดหมายเท่านั้น

  กลุ่มคนที่สมองยากที่จะฝ่อเพราะต้องออกกำลังวิ่งอย่างอึดทนทานอยู่เป็นประจำและตามฤดูกาลก็คือส่วนใหญ่ของข้าราชการไทยระดับสูง

ติมอร์อายุ 14 ปี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 พฤศจิกายน 2559

          ติมอร์เป็นประเทศในภูมิภาคนี้ที่คนไทยคุ้นเคยชื่อมานานแต่เมื่อนึกลึกลงไปอีกก็จะตัน ถามง่าย ๆ ว่าอยู่ไกลแค่ไหน ก็มักจะคิดว่าอยู่ใกล้แถวมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่แท้จริงแล้วไกลเกือบถึงออสเตรเลียทีเดียว

          ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปติมอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงานของราชการ ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

          ติมอร์ มีชื่อในภาษาต่างประเทศว่า Timor-Leste ซึ่งหมายถึงติมอร์ตะวันออก (Leste เป็นภาษาโปรตุเกส หมายถึง East) พื้นที่ประกอบด้วยสามส่วน คือ (ก) ส่วนทางตะวันออกของเกาะติมอร์ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ (ส่วนฝั่งตะวันตกเรียกว่าติมอร์ตะวันตกหรือ West Timor ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน) (ข) อีก 2 เกาะเล็กคือ Atauro และ Jaco และ (ค) พื้นที่เล็ก ๆ อยู่โดด ๆ ในติมอร์ตะวันตกซึ่งมีชื่อว่า Oecusse

          ติมอร์มีพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Dili ซึ่งมีประชากรประมาณ 250,000 คน ติมอร์อยู่ทางเหนือของออสเตรเลีย หากบินไปจากประเทศไทยโดยเปลี่ยนเครื่องบินที่สิงคโปร์ซึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง และจากสิงคโปร์ถึง Dili อีกประมาณ 4 ชั่วโมง ดังนั้นจึงใช้เวลาเดินทางถึง 6 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ

          หากพิจารณาว่าอยู่ไกลจากไทยเพียงใดก็จะพบว่าจาก Dili บินไปเมือง Darwin ซึ่งอยู่เหนือสุดของออสเตรเลียใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หากบินไป Denpasar ที่อยู่บนเกาะบาหลีก็ใช้เวลาบิน 1.5 ชั่วโมง

          คนติมอร์ผสมปนเปกันมานานนับร้อย ๆ ปีระหว่าง 2 ชนกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม Australoid ซึ่งมีหน้าตาคล้ายพวกพื้นเมืองที่เรียกว่า Aboriginies ในออสเตรเลีย คือ มีผิวดำ ผมหยิก กับพวกกลุ่ม ชาวเกาะที่เรียกว่า Melanesians ซึ่งได้แก่พวกนิวกินี ฟิจิ โซโลมอน ฯลฯ

          เกาะติมอร์ถูกแบ่งเป็นตะวันตก และตะวันออกมายาวนาน คนดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) และคนโปรตุเกสต่อสู้แย่งกันเป็นเจ้าอาณานิคมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนตกลงกันได้ใน ค.ศ. 1859 โดยแบ่งออกคนละส่วน ตะวันตกเป็นของดัตช์และตะวันออกเป็นของโปรตุเกส

          เกาะติมอร์เป็นแหล่งผลิตไม้จันทน์หอม (sandalwood) น้ำผึ้ง และขี้ผึ้ง (wax) ตลอดจนเป็นแหล่งค้าทาสอีกด้วย ติมอร์ตะวันตกมีชื่อเรียกว่า Dutch Timor ในปี 1949 ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียไป ส่วนติมอร์ตะวันออกนั้นมีประวัติศาสตร์ของการสูญเสียอย่างมหาศาลกว่าที่จะได้เป็นประเทศติมอร์ในทุกวันนี้ ในช่วง 1942-1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อติมอร์ตะวันออกถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นก็มีกองกำลังต่อต้านต่อสู้อย่างดุเดือด เสียผู้คนไปถึง 40,000-70,000 คน

          เมื่อเกิดปฏิวัติในโปรตุเกสในปี 1974 ก็เกิดความคิดที่จะถอนตัวออกจากอาณานิคมแห่งนี้ซึ่งแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อเริ่มถอนตัวออกก็เกิดเรื่องขึ้นทันที กลุ่มนักสู้ที่ต้องการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระมีชื่อว่า Fretilin ซึ่งมีส่วนหนึ่งฝักใฝ่ลัทธิคอมมูนิสต์ ดังนั้นอินโดนีเซียและมหาอำนาจตะวันตกซึ่งหวาดกลัวคอมมูนิสต์ในสงครามเอเชียช่วงนั้นจึงไม่ยอมให้เป็นอิสระ และบุกเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกในปี 1975 โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก กลายเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย แต่สหประชาติไม่รับรอง

          ประชาชนผู้ปรารถนาอิสรภาพของติมอร์ลุกฮือขึ้นต่อสู้โดยใช้ฝั่งมีอาวุธของกลุ่ม Fretilin ต่อต้านทหารอินโดนีเซียที่ส่งไปถึง 35,000 คน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันยาวนาน มีหลักฐานว่าชาวติมอร์ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ อดอาหาร และเป็นโรคตายรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จนกระทั่งสหประชาชาติต้องเข้าแทรกแซง และประชาชนติมอร์ลงประชามติว่าต้องการเป็นประเทศอิสระ ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียอย่างท่วมท้น

          สหประชาชาติส่งกองกำลังสันติภาพเข้าไปดูแลชั่วคราวจนกระทั่งเกิดเป็นประเทศ Timor-Leste ขึ้นในปี 2002 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาหย่าศึกและในการทำงานของกองกำลังสันติภาพของติมอร์อย่างมาก

          ติมอร์ที่ผู้เขียนเห็นนั้นโดยทั่วไปมีสภาพคล้ายกับประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 คือ เมื่อตอนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ประชาชนทั้งหมดเป็นเกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแร้นแค้น ปัญหาสำคัญก็คือการขาดแคลนน้ำและการเป็นสังคมดั้งเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมากกว่าวิทยาศาสตร์

          ตัวอย่างหนึ่งก็คือเมื่อท้องนั้นแม่ต้องกินอาหารให้น้อยที่สุดเพื่อให้ลูกตัวเล็กจะได้คลอดง่าย ดังนั้นเมื่อเกิดมาจึงมีปัญหาสุขภาพ กอบกับอาหารส่วนใหญ่เป็นผัก ถึงแม้อยู่ใกล้ทะเลแต่ชาวติมอร์ก็จับปลาไม่เก่ง และไม่นิยมกินปลาหลายประเภทเพราะเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษ จระเข้น้ำเค็มซึ่งมีอยู่ไม่น้อยก็ไม่ฆ่า เพราะถือว่าเป็นปู่ อีกทั้งเกาะติมอร์ก็มีรูปร่างคล้ายจระเข้อีกด้วย

          แทบทุกอย่างติมอร์นำเข้า ครึ่งหนึ่งของข้าวที่บริโภคทั้งประเทศนำเข้าจากเวียดนาม อาหารตลอดจนสินค้านานาชนิด นำเข้าจากอินโดนีเซียและจีน (สินค้าไทยนั้นมีไม่มาก เป็นที่นิยมแต่ซื้อหากันเฉพาะในกลุ่มผู้มีอันจะกินซึ่งประมาณกันว่ามีอยู่เป็นเรือนหมื่นคน)
สกุลเงินที่ใช้คือเงินเหรียญสหรัฐถึงแม้จะอยู่ไกลจากสหรัฐอเมริกาหลายพันไมล์ก็ตาม เข้าใจว่าเพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรสกุลติมอร์ได้เองตามใจชอบ ซึ่งจะนำไปสู่เงินเฟ้อที่รุนแรงได้ดังที่เกิดในหลายประเทศใหม่

          ตลอดเวลา 14 ปี ของการเป็นประเทศ ติมอร์อยู่มาได้อย่างดีจากส่วนแบ่งรายได้จากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเขตทะเลของตน จนปัจจุบันกองทุนน้ำมันมียอดถึงกว่า 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในสภาวการณ์ที่รัฐบาลเก็บภาษีแทบไม่ได้เลยเพราะความยากจนของประชาชน รัฐบาลจึงต้องใช้ดอกผลจากกองทุนนี้ซึ่งปัจจุบันมียอดเงินประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในการอุ้มชูประเทศ

          สิ่งที่ห่วงใยกันในปัจจุบันก็คือในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้เงินมากกว่าดอกผล ดังนั้นกองทุนจะร่อยหรอลง กอบกับปริมาณน้ำมันและก๊าซที่ขุดได้จากบ่อปัจจุบันอาจหมดลงในเวลาต่ำกว่า 10-15 ปีข้างหน้า การใช้จ่ายของภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในหลายเรื่องก็สูงมาก (ประชาชนติมอร์มี 4G ใช้) อีกทั้งยังอุ้มชูประชาชน ให้ทั้งเมล็ดปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และอีกสารพัด จนทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ที่มีลูกหลานหลายคน (ทั้งประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60) มีทัศนคติค่อนไปในทางไม่พึ่งพาตนเอง

          ติมอร์มีกว่า 15 ภาษาพื้นเมือง รัฐบาลใช้ภาษา Tetum (เตตุม) และโปรตุเกสเป็นภาษาทางการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ปวดหัวก็คือโรงเรียนใช้ตำราภาษาโปรตุเกสที่มีครูอ่านออกไม่มากคนนัก ครั้นจะใช้เตตุมก็ยังไม่พัฒนาจนถึงขั้นเป็นภาษาที่ละเอียดอ่อนจนเป็นสื่อกลางได้

          ติมอร์มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูง ร่ำรวยด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามและทรัพยากรธรรมชาติ เดินทางมาได้ไกลในเวลา 14 ปี อย่างเรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จพอควร แต่ก็ต้องเดินทางอีกไกลมากจึงจะถึงจุดที่น่าพอใจได้
 

ชาตินิยมและความเป็นพลเมือง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 ตุลาคม 2559

          เราได้ยินเรื่องชาตินิยม รักชาติ ที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กมีกันอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์แล้ว ก็ทำให้รู้สึกหวาดหวั่น ทำอย่างไรเราจึงจะมีความเป็นชาตินิยมโดยไม่เกิดปัญหาได้

          ชาตินิยมหมายถึง nationalism ซึ่งหมายถึงความรู้สึกร่วมกันในเรื่องความสำคัญของภูมิภาค หรือความเป็นประชาชน เช่น เกิดร่วมประเทศ ร่วม จังหวัด หรือเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน

          นอกจากนี้ชาตินิยมยังเป็นอุดมการณ์ซึ่งอยู่บนความคิดว่าความจงรักภักดีของแต่ละคนที่อุทิศให้แก่ชาตินั้นทำให้ผลประโยชน์ของชาติอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

          บ่อยครั้งชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอีกด้วย เช่น นาซี ฟาสซิสต์ สังคมนิยม ศาสนา ประชาธิปไตย กล่าวคือจงรักภักดีต่ออุดมการณ์นี้ข้ามประเทศ ข้ามความเป็นเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันอีกด้วย

          สรุปก็คือชาตินิยมเป็นความรู้สึกร่วมกันของกลุ่มคนที่มีต่อดินแดน หรือความเป็นชาติพันธุ์โดยมีความจงรักภักดีและเห็นว่าผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

          สาเหตุของชาตินิยมก็มาจาก 2 เรื่อง กล่าวคือ (1) ทางโน้มตามธรรมชาติที่มีมาแต่ ดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ที่จะแยกเป็นกลุ่มตามความใกล้ชิดของการเกิด เช่น เป็นเผ่า เป็นเมือง เป็นชาติ ฯลฯ (2) ความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

          ทางโน้มตามธรรมชาติกับความอยู่รอดอธิบายว่าเหตุใดชาตินิยมจึงเกิดขึ้น หากความรู้สึกร่วมกันนี้ไม่มีในกลุ่มชนใดก็จะอยู่ไม่รอด ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์ เช่นการถูกกลืนชาติด้วยวัฒนธรรม หรือถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้น ความเป็นชาตินิยมเท่านั้นที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถ อยู่รอด มีความเป็นตัวตน และมีเอกลักษณ์ของตนเองได้

          ถ้าถามว่าเราสมควรสอนเด็กของเราให้มีความเป็นชาตินิยมหรือไม่ ความรู้สึกทั่วไปก็คือสมควรสอนเพราะเราต้องการรักษาแผ่นดินของเราที่บรรพบุรุษสูญเสียเลือดเนื้อรักษามา และเราต้องการเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ มีเอกลักษณ์ของเรา โดยสามารถกำหนดชะตากรรมของสังคมของเราได้เอง

          ในการนี้เราต้องสอนให้เขารักชาติ แต่บ่อยครั้งที่มันมีความหมายกว้างและหละหลวม เมื่อไล่ลงไปลึก ๆ แล้วไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร ผู้เขียนขอเสนอว่ารักชาติหมายถึง 4 อย่างนี้ กล่าวคือ (1) ภาคภูมิใจและหวงแหนความเป็นอิสระ (2) รักษาและหวงแหนทรัพยากรของชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ภูเขา แหล่งน้ำ วัด พระพุทธรูป ทะเล ฯลฯ (3) รักและภาคภูมิใจความเป็นไทยเพราะเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น และ (4) รักเพื่อนร่วมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทยหรือคนอื่นที่มาอยู่อาศัยในบ้านของเรา เพราะความรักเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคมได้

          การรักชาติเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องของความรัก ความจงรักภักดี ความ หวงแหน ความภาคภูมิใจ อย่างไรก็ดีต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมันอาจกลายพันธุ์เป็นความ บ้าคลั่ง และทำลายตัวเราเองได้ในที่สุด เราเห็นตัวอย่างของเยอรมันนีและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

          สิ่งที่ต้องย้ำก็คือรักชาติ แต่ต้องไม่นึกว่าเราวิเศษวิโสกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความจริงเพราะประเทศใดในโลกก็มีดีทั้งนั้น พลเมืองของเขาก็รักชาติของเขาเช่นเดียวกัน หากมนุษย์โลกจะอยู่กันอย่างสันติแล้ว เราต้องยอมรับและตระหนักเสมอว่าวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็ล้วนมีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเช่นเดียวกับเรา

          ถ้าเราต้องการกำกับ ควบคุม ไม่ให้ความเป็นชาตินิยมเตลิดแล้ว เราต้องสอน “ความเป็นพลเมือง” ให้แก่เด็กของเราด้วย “ความเป็นพลเมือง” นั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้สังคมของเรามีความร่มเย็น สามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนอื่น

          “ความเป็นพลเมือง” ได้แก่ (1) การเคารพกฎกติกาของสังคม (2) การยอมรับและเคารพความแตกต่างของผู้คนในชาติ ตลอดไปจนถึงเรื่องความเชื่อ ความเห็น วัฒนธรรมประเพณีของเขาด้วย (3) การเคารพสิทธิของผู้อื่น (4) ยอมรับความเท่าเทียมกันในสังคม ตลอดจนกฎกติกาของเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย (5) มีเสรีภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ

          ‘ความเป็นพลเมือง’ เป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบันที่ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันมากมาย หากขาดกฎกติกาแล้วจะมีปัญหามากมาย และหากเด็กถูกฝึกฝนให้มีลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นพลเมือง คือ พลังของเมือง (พละ + เมือง) ได้เป็นอย่างดี

          ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ชาตินิยมซึ่งเป็นสิ่งน่าพึงปรารถนาเพราะจะทำให้สังคมและวัฒนธรรมของเราอยู่รอดเพราะประชาชนเห็นประโยชน์ของกลุ่มเหนือตนเอง ประชาชนต่างมุ่งหวังให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม และ ‘ความเป็นพลเมือง’ จะกำกับและหล่อหลอมไม่ให้ชาตินิยมกลายเป็นปัญหา

          ทั้งชาตินิยมและความเป็นพลเมืองจะต้องอยู่ในระดับพอเหมาะพอควรผสมกลมกลืนกันอย่างเหมาะสม อันจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความอยู่รอด ความยั่งยืน และความมีเสถียรภาพของสังคมเรา

เข้าใจหน้าที่และความสุข

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18 ตุลาคม 2559

          แนวคิดหนึ่งที่ “ผิด” ในสังคมไทย คือคิดว่าถ้าลูกต้องลำบากบ้าง ความผิดอยู่ที่พ่อแม่ มนุษย์อาจจะเป็นสัตว์เดียวในโลกที่ไม่เข้าใจตรงนี้ เพราะไม่มีสัตว์ประเภทไหนในโลกที่จะพยายามหากินให้ลูกจากเกิดถึงตาย จากเปลถึงหลุม

          แม่นกอินทรีย์มันจะคาบอาหารมาเลี้ยง มาป้อนลูกของมันทุกวันไม่เคยขาด แต่เมื่อวันหนึ่ง ที่ลูกนกจะต้องเริ่มออกจากรังหัดบิน มันจะเริ่มเอาอาหารมาป้อนน้อยลง แต่เอาหนาม เอาหินมาทิ้งในรัง สุมไว้เพื่อสร้างความอึดอัดให้กับลูกเพื่อเป็นการผลักลูกให้เริ่มอยู่ในรังไม่ได้ ทุกวันมันจะคาบลูกมันบินขึ้นไปให้สูง แล้วปล่อยลูกมันทิ้งลงมาให้หัดกระพือปีก ถ้าลูกนกร่วงลงมาไม่บิน มันก็จะโฉบลงมารับบินกลับขึ้นไปและทิ้งลงมาใหม่ ทำอย่างนี้จนวันหนึ่งลูกนกจะกางปีกแล้วเริ่มกระพือบิน เมื่อถึงวันนั้น หน้าที่ของพ่อแม่ก็สำเร็จ

          แต่บางคนเลี้ยงลูกเสมือนว่าเขาจะอยู่ในโลกอย่างค้ำฟ้า จะไม่มีวันจากลูกไป ลูกไม่เคยต้องดิ้นรนทำอะไรเลย รอเงิน รอรถ รอเสื้อผ้า รอไอโฟน จากพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ “ไม่ใช่” การหาความสุขใส่ชีวิตลูก อย่าสำคัญผิด หน้าที่ ของพ่อแม่ไม่ใช่การโปรยกลีบกุหลาบให้ลูกเดิน

          หน้าที่ของคุณ ในฐานะพ่อแม่คือเตรียมชีวิตลูก ให้เขาอยู่ได้บนโลกนี้ (ที่บางทีโหดร้าย) ในวันที่ไม่มีเรา พ่อแม่มีหน้าที่ให้ความรู้ การศึกษา ปลูกฝัง ถ่ายทอดค่านิยมและทัศนคติการมองโลกที่ถูกต้องให้กับเขา แล้วส่งเขาออกไปมีชีวิตของเขาเองโดยที่มีเราคอยเฝ้ามองและส่งเสริมอยู่ห่าง ๆ จนกว่าเขาจะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเราอีกต่อไป นั่นคือหน้าที่ของพ่อแม่

          ถ้าตลอดชีวิตของคุณ ลูกคุณไม่เคยต้องลำบากดิ้นรนขวนขวายอะไรเลย เพราะมีคุณคอยวิ่งเอามาประเคนให้ ไม่เคยหกล้ม เข่าของเขาไม่เคยเลือดซิบ เพราะคุณไม่เคยปล่อยให้เขาผิดพลาดบ้างในชีวิต เมื่อเขาจะล้ม คุณวิ่งเอาฟูกมารองไว้ตลอด แต่วันที่คุณต้องจากโลกนี้ไปและลูกคุณกลายเป็นเรือที่ขาดหางเสือ คุณพลาดในหน้าที่ของคุณแล้ว

          เรื่องที่สองคือ “ทักษะการมีความสุข” ข้อความแนะนำเกี่ยวกับความสุขมีดังต่อไปนี้ (1) ถ้าตอนนี้คุณไม่มีความสุข ในอนาคตคุณก็จะไม่มีความสุข เพราะมันคือนิสัยของคุณ นิสัยที่ชอบสร้างเงื่อนไขการมีความสุขให้ตัวเอง (2) หัดใส่ใจกับสิ่งที่คุณมี หรือข้อดีในชีวิต ตราบใดที่คุณมัวโฟกัสแต่สิ่งที่ยังไม่มี คุณจะไม่มีวันพบความสุข เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่คุณ ‘มี’ อะไร แต่อยู่ที่สิ่งที่คุณ ‘เป็น’ คนยังไง (เป็นคนที่โหยหาแต่สิ่งที่ตัวเองขาด) ไม่สนใจคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีในมือ

          (3) ถึงได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ความสุขคุณจะขึ้นมาแค่วูบเดียว หลังจากนั้นจะลดลงไปจุดค่าเฉลี่ยของคุณ แล้วคุณจะหันไปไขว่คว้า และทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่ได้ต่อไป เป็นวงจรไม่รู้จบ (4) คนที่รอความสุขจากคนอื่นน่าสงสารที่สุด “ฉันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเขาโทรมา” “ฉันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้งานใหม่” หารู้ไม่ว่าความสุขนั้นสร้างเองได้เลยโดยไม่ต้องรอเงื่อนไขใด ๆ และไม่ต้องรอใคร (5) พื้นฐานของการมีความสุขคือการชื่นชมในสิ่งที่คุณมี ถ้าคุณนึกข้อดีในชีวิตคุณไม่ออก ให้ไปถามคนอื่น

          (6) การบ่นเรื่องที่ไม่ดีไม่ได้ช่วยให้คุณสบายใจขึ้น กลับจะทำให้แย่ลง เพราะการเอามาเล่าใหม่เป็นการฉายภาพนั้นซ้ำ ๆ อยู่ในหัว (7) โดยปกติความสุขมักอยู่ตรงหน้าคุณ แอร์เย็น ๆ อาหารอร่อย ๆ วิวสวย ๆ แต่ใจคุณดันไปคิดเรื่องอื่นในหัว (เรื่องที่ไม่มีความสุข) ในตอนนั้นเอง แล้วก็ชอบมาบ่นว่าชีวิตไม่มีความสุข (ตลกสิ้นดี) (8) ตราบใดที่คุณยังเป็นคนธรรมดา คุณจะยังเจอความทุกข์อยู่เรื่อย ๆ จงหัดเป็นคนมองโลกในแง่ดี มองหาประโยชน์ทุกครั้งจากเหตุการณ์แย่ ๆ แล้วคุณจะมีกำไรชีวิตมากกว่าคนอื่น

          (9) คนเราชอบอยู่ใกล้คนมีความสุข ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบบ่นแต่ปัญหาตัวเอง มองแต่ด้านร้าย เอาแต่ด่าคนอื่น คนอยู่ใกล้ ๆ ประสาทจะกิน สุดท้ายจิตใต้สำนึกของพวกเขาจะสั่งให้ค่อย ๆ ห่างคุณไปโดยไม่รู้ตัว (10) ความสุขและการมองโลกในแง่ดีเป็นโรคติดต่อ จงอยู่ใกล้คนเหล่านี้เพื่อรับ และจงแพร่กระจายความสุขเพื่อให้คนอื่นต่อไป

          (11) ความสุขเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด และผลิตจากอากาศได้ทันที ดังนั้นไม่ต้องกลัว คนอื่นแย่งความสุขไป ทุกคนสามารถมีได้มากเท่าที่ต้องการ (12) จงทำตัวเป็น Happiness Machine เครื่องผลิตความสุข แล้วคนมีความสุขเหมือนกันจะถูกดึงดูดเข้ามาหาคุณ (13) ไม่มีคนไร้สุขที่ไหนจะมีความรักที่ดี ไม่มีคนขี้ระแวงมองโลกในแง่ร้ายที่ไหนจะมีความสัมพันธ์ที่สงบสุข (14) ความสุขปลายทางเป็นเพียงมายา จงมองหาความสุขที่มีอยู่ระหว่างทาง (15) ความสุขและการมองโลกในแง่บวกเป็นทักษะ นั่นหมายความว่าคุณสามารถ “ฝึก” ที่จะเป็นคนมีความสุขและมองโลกในแง่บวกได้