cartel ชาไม่น่าจะไปรอด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 กรกฎาคม 2556
 

          ความพยายามในการสร้างกลุ่มผูกขาดราคา (cartel) ของพืชเกษตรโดยเลียนแบบ OPEC ของน้ำมันมีมาตลอดไม่ว่าจะเป็นยาง กาแฟ ข้าว ฯลฯ และก็ประสบความล้มเหลวทั้งสิ้น บัดนี้ 6 ประเทศใหญ่ของผู้ผลิตชาของโลกกำลังจะพยายามทำ “แฮททริก”

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ 6 ผู้ผลิตใหญ่ของชาโลก คือ อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา มาลาวี รวันดา และศรีลังกา ได้ลงนามตกลงกันตั้ง International Tea Producers Forum เพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพของราคาชา รักษาความยั่งยืนของการผลิตชา และส่งเสริมเครื่องดื่มชา

          ในแต่ละปีทั้ง 6 ประเทศร่วมกันผลิตชาถึงเกือบร้อยละ 80 ของโลก หรือ 2.443 ล้านตัน (2010) โดยอินเดียผลิต 1.07 ล้านตัน ศรีลังกา .329 ล้านตัน เคนยา .304 ล้านตัน อินโดนีเซีย .147 ล้านตัน มาเลเซีย .042 ล้านตัน (จีนผลิต .054 ล้านตัน เป็นผู้สังเกตการณ์)

          ชาทำให้เกิดเครื่องดื่มซึ่งเป็นที่นิยมที่สองรองจากน้ำเปล่า (คนติดกาแฟอย่าสงสัยเพราะคนจีนและอินเดียรวมกัน 2,700 ล้านคนในประชากรโลก 7,500 ล้านคน นิยมดื่มชา) คนจีนเชื่อว่าบรรพบุรุษรู้จักชามาเกือบ 5,000 ปีแล้ว

          Camellia sinensis เป็นพืชตระกูลชาที่เติบโตในบริเวณ Tropical และ Subtropical (ชาบางพันธุ์เก็บเกี่ยวได้ในพื้นที่อื่น เช่น ทางเหนือของเกาะอังกฤษ และรัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา) เชื่อกันว่าในสมัยโบราณชาเป็นพืชท้องถิ่นของบริเวณตอนเหนือของพม่าและเชื่อมต่อไปยังมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีน

          มีหลักฐานว่าคนจีนดื่มชากันตั้งแต่เมื่อพันปีก่อนคริสตกาล (3,000 ปีก่อน) พระและพ่อค้าชาวปอร์ตุเกสในศตวรรษที่ 16 เป็นกลุ่มคนนอกชุดแรกที่รู้จักชาและนำไปเผยแพร่แก่ชาวโลก คนอังกฤษรู้จักชาครั้งแรกใน ค.ศ. 1660 แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในกว่าร้อยปีต่อมา กว่าชาจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคมของอังกฤษก็เป็นปลายศตวรรษที่ 19

          ในยุคแรกชามีราคาแพงเพราะจีนผูกขาดดังนั้นใน ค.ศ. 1848 Robert Fortune ถูกส่งไปจีนเพื่อเอาพันธุ์มาปลูกในอินเดีย จนต่อมาปลูกแพร่หลายไปในหลายประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นที่มาของการที่อินเดียเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในการปลูกชาในปัจจุบัน

          พืชเกษตรหลายอย่างที่พยายามผูกขาดพากันล้มเหลวทั้งนั้น เช่น The International Natural Rubber Organization ล่มสลายใน ค.ศ. 2000 หลังจากไทยและมาเลเซียถอนตัว The Association of Coffee Producing Countries ล่มสลายไปไม่นานมานี้หลังจากที่มีข้อเสนอให้ประเทศสมาชิกลดการส่งออกลงร้อยละ 20 ในปี 2000 และในที่สุดก็ช่วยพยุงราคาไว้ไม่ได้ ในที่สุดองค์กรก็ยุบเลิกไป

          OPEC อาจเรียกได้ว่าเป็น cartel เดียวที่พอได้ผลในปัจจุบันในการควบคุมราคาน้ำมันถึงแม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เป็นเวลาหลายปี สาเหตุที่ไม่ล่มสลายก็เพราะว่าไม่มีใคร “ปลูก” น้ำมันได้ มันเป็นทรัพยากรที่งอกไม่ได้ ดังนั้นปฏิกริยาที่ผลิตออกมามากโดยประเทศอื่นที่มิใช่สมาชิกเพราะเห็นว่าราคาดีจึงไม่เกิดขึ้นเหมือนสินค้าเกษตร

          มีคนพูดกันมากเรื่องการผูกขาดข้าวในตลาดโลกเพื่อทำให้ราคาสูง ปัจจุบันเลิกคิดกันไปแล้วเพราะแค่เรื่องข้าวในประเทศเราแห่งเดียวก็แทบเอาตัวไม่รอด นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า cartel ของข้าวไม่ได้ผลเพราะแค่ผูกขาดการผลิตก็ทำได้ยากมาก เนื่องจากประเทศสมาชิกต้องให้ความร่วมมือและรักษากฎกติกาเคร่งครัด ไม่แอบไปขายหลังบ้านในราคาที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกัน (เป็นสิ่งที่สมาชิก cartel ชอบทำกันโดยธรรมชาติ)

          ถึงแม้จะควบคุมปริมาณผลผลิตได้เพื่อให้สามารถจัดการระดับราคาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในเวลาไม่นานก็จะมีคนนอก cartel แห่กันผลิตข้าวเพราะราคาดึงดูดใจ จนในที่สุดก็จะมีข้าวออกมามากในตลาดจนรักษาราคาของ cartel ไว้ไม่ได้

          ชาน่าจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับข้าว แต่ที่ปวดหัวกว่าก็คือชามีหลายประเภท (เช่น ชาดำ ชาเขียว ชาอูลอง ชาขาว) และมีหลากหลายคุณภาพจนยากแก่การกำหนดราคาเดียวกัน อีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานของการกำหนดเกรดของชาอีกด้วย

          นอกจากนี้ยังไม่มีตลาดชาล่วงหน้าเพื่อช่วยทำให้ราคาชามีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และประการสำคัญที่สุดก็คือการยอมรับการมีโควต้าการผลิตและการส่งออกของสมาชิกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพของ cartel

          cartel ของชาเคยมีเมื่อ 80 ปีก่อน และดูจะได้ผลในตอนแรกในการยกระดับราคา แต่ต่อมาก็เลิกร้างไป ในสมัยก่อนนั้นมีผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่รายในโลกที่ถูกควบคุมโดยอังกฤษ แต่ปัจจุบันมีความหลากหลายในชนิดของผลผลิตและประเทศผู้ผลิต การบังคับโควต้าการผลิตและการส่งออกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

          ธรรมชาติของมนุษย์กับองค์การดูจะไม่ต่างกันก็คือการยากที่จะรักษาสัญญาโควต้าการผลิตและการลักลอบขายหลังบ้านในราคาที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ของ cartel ตราบที่ธรรมชาติของมนุษย์เป็นเช่นนี้ cartel ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ความไว้วางใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 กรกฎาคม 2556

          ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานของระบบเศรษฐกิจและการดำเนินไปอย่างดีของสังคม เมื่อใดที่ความไว้วางใจที่เริ่มสั่นคลอน เมื่อนั้นปัญหาจะทยอยตามกันมาอย่างไม่ จบสิ้น

          ลองจินตนาการดูในกรณีสุดโต่งว่าหากสมาชิกของระบบเศรษฐกิจไม่ไว้วางใจธนบัตรที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศตนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น บ้านเมืองและสังคมจะปั่นป่วนเพราะทุกคนจะหันกลับไปสู่ระบบแลกเปลี่ยนของกัน (barter system) หรือหันไปใช้เงินสกุลอื่นกันเกือบทั้งหมด

          ชั่วเวลาหนึ่งในประเทศพม่าในสมัยก่อน ค.ศ. 1988 วิสกี้ Red Label และบุหรี่ยี่ห้อ 555 เป็นสิ่งที่คนพม่าปรารถนาที่จะรับมากกว่าเงินจ๊าด ทั้งสองสิ่งทำหน้าที่เสมือนเงินตราในยุคที่คนพม่าไม่ไว้วางใจค่าเงินจ๊าดที่ผันผวนและมีค่าอ่อนลงทุกขณะ

          ถ้าผู้คนไม่เชื่อถือเงินบาท เวลาชำระเงินเดือนหรือค่าแรงกันก็จะใช้ทองคำ สิ่งของ มีค่า ข้าว ผัก ปลา ฯลฯ ความโกลาหลไม่สะดวกจะเกิดทุกหย่อมหญ้า การค้าขายจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเพียงแค่การดำเนินธุรกิจก็ไม่เป็นไปตามปกติแล้ว การจัดหาวัตถุดิบมาผลิตแทบจะเป็นไปไม่ได้

          อะไรที่จะทำให้เงินบาทไม่เป็นที่ยอมรับ ผู้คนขาดความไว้วางใจได้ขนาดนั้น ตอบง่าย ๆ ก็คือการที่ธนบัตรไหลเข้าสู่ตลาดมากมายโดยมีที่มาจากการพิมพ์เพิ่มของภาครัฐจนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างผิดสังเกตเนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการมิได้ขยายตัวได้มากในระยะเวลาสั้น แต่ปริมาณเงินขยายตัวเร็วกว่ามาก จนอำนาจซื้อพุ่งสูงขึ้นกลายเป็นสถานการณ์ “เงินไล่จับสินค้าที่มีจำกัด” ข้าวของแพงขึ้นเรื่อย ๆ

          ประเทศ ?imbabwe เป็นตัวอย่างล่าสุด เกิดเงินเฟ้อนับแสนเปอร์เซ็นต์ใน 10-15 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นไม่จบสิ้น ประชาชนไม่เชื่อถือ “ธนบัตรกงเต็ก” นี้ขึ้นทุกที ในที่สุดการแก้ไขก็ทำได้สำเร็จเมื่อเลิกใช้เงินสกุลท้องถิ่นและหันมาใช้เหรียญสหรัฐแทน

          หากภาครัฐไทยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นมากมายในช่วงเวลาที่ไม่นาน ถึงแม้จะมีทุนสำรองเงินตราค้ำประกันธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นมากเหล่านี้ก็ตาม (ในรูปของทองคำ และเงินตราต่างประเทศสกุลที่สำคัญ) ผู้คนก็จะเกิดความไม่เชื่อถือคลางแคลงในการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้มี หน้าที่รับผิดชอบการเพิ่มขึ้นของธนบัตร

          จริงอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายในการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ไม่ใช่รัฐบาลทั้งนี้เพื่อการถ่วงดุลซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของสากล รัฐบาลทั่วโลกไม่อยากเก็บภาษีมาก ๆ จากประชาชนเพราะทำให้ความนิยมตก ดังนั้นรัฐบาลในหลายประเทศที่ขาดธรรมาภิบาลในการ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมักใช้วิธีพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อเป็นเงินมาใช้แทนภาษี

          ประเทศไทยเรานับว่าโชคดี เท่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีอิทธิพลมากพอหรือไม่ใช้อำนาจในการบีบให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแทนการเก็บภาษีเพิ่ม แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 2 คน ถูกปลดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และภายใต้กฎหมายปัจจุบันผู้ว่าการธนาคารแห่ง

          ประเทศไทยถูกปลดโดยคณะรัฐมนตรีได้ เงื่อนไขนี้ทำให้ ผู้เฝ้าดูเศรษฐกิจไทยไม่อาจละสายตาได้

          บทเรียนจากหลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแทนการเก็บภาษีเมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายมากมายอันเกิดจากการผูกพันในอดีต มีหนี้สินอยู่มากจนไม่อาจกู้เพิ่มได้อีกมากนัก อีกทั้งภาษีก็ไม่อาจเก็บเพิ่มได้อีก และประการสำคัญสามารถบีบหรือชักจูงให้ธนาคารกลางยอมพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมากขึ้นได้เพื่อนำมาใช้จ่าย การกระทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมาทันที

          ความไม่ไว้วางใจดังกล่าวถึงนั้นกินความตั้งแต่ความคลางแคลงใจการแก้ไขปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายของรัฐบาล การไม่วางใจการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะในการใช้อำนาจในการเพิ่มปริมาณธนบัตร การไม่ไว้วางใจความมั่นคงของรัฐบาล ความมั่นคงของสถาบันการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ขององค์กรและปัจเจกบุคคล ความไม่ไว้วางใจเงินสกุลท้องถิ่น ฯลฯ

          ความไม่ไว้วางใจเปรียบได้ดังเชื้อโรคที่สามารถแพร่ไปทั่วทิศได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถทำให้การดำเนินไปของระบบเศรษฐกิจชะงักงันได้

          ปัญหาความไม่ไว้วางใจต้องแก้ไขที่รากก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟไหม้ป่าทำลายสิ่งต่าง ๆ ลงอย่างน่ากลัว ในเรื่องการให้ความไว้วางใจว่าจะไม่เกิดเงินเฟ้ออันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณธนบัตรอย่างไร้ความรับผิดชอบนั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบไปเต็ม ๆ

          ความไว้วางใจในระดับมหภาคระหว่างประชาชนและภาครัฐจะเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่าย สร้างธรรมาภิบาลของระบบการทำงานให้ประจักษ์ อีกทั้งให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาเงินใช้จ่ายจากภาครัฐมีไม่เพียงพอจะไมเกิดขึ้น

          ความไว้วางใจโดยทั่วไปในสังคมทำให้สามารถคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง สร้างชุมชนที่มีความยั่งยืนและทำให้สมาชิกชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้

          รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของประชาชนสร้างสังคมที่น่าอยู่ ดังนั้นจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องสร้างเชื่อมั่นในทุกลักษณะให้ปรากฏแก่ใจของประชาชน

          ถึงแม้ความไว้วางใจเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้แต่ประชาชนรู้สึกเสมอว่ามันมีอยู่หรือไม่

e-cigarette

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 กรกฎาคม 2556

          ปัจจุบันถ้าเห็นคนกำลังยืนพ่นควันอย่างเคลิบเคลิ้มในสถานที่ต้องห้าม มีป้ายเขียนว่า No Smoking อย่าได้ปรี่เข้าไปต่อว่าเขาเป็นอันขาดเพราะท่านอาจหน้าแตก เนื่องจากเขาไม่ได้ smoking แต่ vaping อยู่ก็เป็นได้

          แต่ดั้งเดิมผู้คนติดนิโคตินจากการเผาไหม้ยาสูบในบุหรี่และสูดควันเข้าไป อย่างนี้เรียกว่า smoking แต่ปัจจุบันมีบุหรี่เทียมชนิดใหม่ที่เรียกว่า e-cigarette หรือ PV (Personal Vaporiser)คนไทยเรียกว่าบุหรี่ไฟฟ้า การใช้บุหรี่ชนิดใหม่นี้เขาเรียกว่า vaping มาจาก vaporize ซึ่งหมายถึงระเหย ดังนั้น vaping จึงหมายถึงการสูดดมไอระเหย

          e-cigarette เป็นแท่งกลมคล้ายบุหรี่ แบ่งเป็นส่วนของแบตเตอรี่และส่วนที่บรรจุขวดเล็กใส่ของเหลวเสริมกลิ่มหอมของดอกไม้และผลไม้ผสมกับนิโคติน เมื่อดูดอากาศเข้าไปมันก็จะไปเปิดสวิชไฟเกิดไฟแดงที่ปลายแท่งพร้อมกับการทำงานของแบตเตอรี่ เกิดความร้อนทำให้ของเหลวในขวดที่บรรจุไว้ระเหยขึ้นมาเป็นควัน ดูดเข้าไปในปอดเพื่อเสพนิโคตินแล้วก็พ่นควันออกมา

          vaping ทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินโดยมีควันไอน้ำเข้าปอดและพ่นออกมาเหมือนควันบุหรี่ โดยไม่มีการเผาไหม้ให้เป็นควันเข้าไปในปอดให้เสียสุขภาพ

          e-cigarette นี้เรียกได้ว่าเป็นประดิษฐกรรมชั้นยอดที่ลดผลเสียจากควันบุหรี่แก่ผู้ใช้และไม่มีควันมือสอง (second-hand smoke) กระทบคนข้างเคียงแม้แต่น้อย เรียกง่าย ๆ ว่าสามารถทำให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมได้โดยหันมาใช้ PV แทน

          อย่างไรก็ดีปรากฏว่า WHO / The American Lung Association / American Cancer Society / The American Heart Association / FDA / EU ฯลฯ ต่างพากันไม่สนับสนุน e-cigarette เป็นเสียงเดียวกัน มันมีอะไรอยู่ในกอไผ่หรือจึงไม่ส่งเสริมสิ่งที่สามารถทดแทนบุหรี่ได้และองค์กรเหล่านี้ก็ต่อต้านการสูบบุหรี่กันมายาวนาน?

          ผู้ประดิษฐ์ e-cigarette เป็นคนแรกของโลก คือ Herbert A. Gilbert เขาได้ จดทะเบียนสิทธิบัตรใน ค.ศ. 1963 และใน ค.ศ. 1967 หลายบริษัทพยายามติดต่อเขาเพื่อผลิตออกมาขาย แต่หลังจาก 1967 แล้วเรื่องก็เงียบหายไป

          ในปี 2000 Hon Lik เภสัชกรจีนประดิษฐ์บุหรี่ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกัน และผลิตออกมาขายในตลาดจีนในปี 2004 และจดทะเบียนลิขสิทธิ์ต่างประเทศในปี 2007 e-cigarette ได้รับความนิยมขึ้นเป็นลำดับจนปัจจุบันมีผู้ใช้นับเป็นล้านคนในโลก และดูจะมีอนาคตจนสร้างความหวั่นไหวให้แก่วงการบุหรี่และวงการยาสูบโลก

          ใน PV นั้นนิโคตินจะผสมอยู่ในของเหลวที่มีชื่อว่า Propylene Glycol เพื่อให้ระเหยเป็นไอ ของเหลวนี้ใช้ในยาพ่นจมูกของผู้เป็นหืดหอบ เป็นสารผสมอาหารคนและสัตว์ ผสมครีมเสริมความงาม ผสมตัวยาเพื่อการละลาย ฯลฯ เท่าที่พบ Propylene Glycol ไม่ก่อให้เกิดพิษในคนและสัตว์

          การใช้ของเหลวนี้ผสมนิโคตินเพื่อให้เป็นไอแทนควันบุหรี่นั้น ถึงแม้อาจทำให้เลิกการสูบบุหรี่ก็จริงอยู่แต่ไม่ได้ทำให้เลิกติดนิโคตินเพราะหันมาติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแทน ดังนั้นจึงไม่อาจสู้ได้กับการเลิกบุหรี่ไปทั้งหมด นี่คือเหตุผลแรกที่ทำให้วงการแพทย์ของโลกไม่พิศวาท e-cigarette

          สอง เกรงว่า Propylene Glycol อาจก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาวเนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่มากเพียงพอที่จะลงมติรับรองการใช้ e-cigarette ในขณะนี้

          สาม อาจมีการเอาสารเสพติดอื่นใส่ในขวดเล็กของแท่งบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดการเสพสิ่งเสพติดอื่นขึ้นได้อีกมากและสามารถใช้ได้อย่างแนบเนียนด้วย

          สี่ ความเก๋ของ e-cigarette และความกลัวควันบุหรี่อาจดึงดูดให้เยาวชนหันมาติดนิโคตินมากขึ้น และเท่ากับเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการที่จะหันไปสูบบุหรี่ในภายหน้า การยอมรับ PV จะทำให้การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่พ่ายแพ้ในระยะยาวได้

          ทั้งสี่เหตุผลนี้ทำให้การขายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย (แต่มีการขายกันในอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผย) แต่การใช้นั้นไม่ผิดกฎหมาย

          อย่างไรก็ดีน่าจะมีเหตุผลอื่นที่ทำให้บางองค์กรสุขภาพในระดับโลกออกมาต่อต้าน PV การเกรงกลัวว่าใน 10 ปีข้างหน้าชาวโลกอาจหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่จริงนั้นมีอยู่ชัดเจนเพราะบริษัทผลิตบุหรี่ใหญ่ ๆ ในโลกปัจจุบันต่างโดดกันเข้าไปในตลาดผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่ทั้งหมดผลิตในประเทศจีน

          การสูบบุหรี่น้อยลงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกยาสูบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดจน ผู้ที่มีธุรกิจเกี่ยวพันอีกมากมาย เช่น บริษัทผู้ขายแผ่นยาแปะแขน และลักษณะอื่น ๆ เพื่อช่วยลดการติดบุหรี่ ฯลฯ ปัจจุบันคนทั้งโลกสูบบุหรี่ประมาณ 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชายทั้งโลก ดังนั้นถ้าคนจำนวนมากเหล่านี้สูบบุหรี่จริงกันน้อยลงมากอะไรจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

          ราคาของบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 1,800-4,000 บาท แล้วแต่ความวิจิตรพิสดาร ขวดเล็กหนึ่งขวดในแท่งบุหรี่ไฟฟ้าจุนิโคตินประมาณเท่ากับบุหรี่ 1-4 มวน (มวนละ 1 มิลลิกรัม)

          การสูบบุหรี่ก็เป็นปัญหาปวดหัวพออยู่แล้ว แต่เมื่อสิ่งทดแทนปรากฏตัวขึ้น แทนที่จะยินดีตอบรับแต่กลับลังเลเพราะไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โลกใบนี้มีความซับซ้อนและสิ่งต่าง ๆ โยงใยกันอย่างคาดไม่ถึงในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงดีกรีของความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาในโลกที่ซับซ้อนยิ่งนี้

บิดาของวิชา Cliometrics

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 มิถุนายน 2556

          ประวัติศาสตร์ สถิติขั้นสูง และเศรษฐศาสตร์ มาสัมพันธ์กันได้อย่างไร? ศาสตร์ที่มีชื่อว่า Cliometrics อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อย่างมีหลักฐานตัวเลข เชิงวิชาการสนับสนุน ไม่ใช้ความมีเหตุมีผลแต่อย่างเดียวดังที่เคยกระทำกันมา

          Cliometrics มาจากคำว่า Clio ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาประจำวิชาประวัติศาสตร์ใน เทพปกรณัมกรีก (Green Mythology) ส่วน Metrics หมายถึงตัววัดเชิงปริมาณ บางทีก็เรียกชื่อวิชานี้ว่า New Economic History (ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจใหม่) หรือ Econometric History (ประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐมิติ) ในวิชานี้เครื่องมือทางสถิติถูกนำมาใช้ผสมกับเศรษฐศาสตร์เพื่อพยายามเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นผ่านการวัดเชิงปริมาณ

          วิชา History of Economics หมายถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ เช่น ศึกษาการเชื่อมโยงของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ข้ามยุคสมัย ประวัติศาสตร์ของแนวคิดต่างๆ ในเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ส่วน Economic History หมายถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น ศึกษาการเกิดขึ้นของการค้าเสรีของไทยจากอดีต ศึกษาปรากฏการณ์ “ต้มยำกุ้ง” การดำเนินชีวิตเชิงเศรษฐกิจของคนไทยในสมัยสุโขทัย ฯลฯ

          Econometrics หรือเศรษฐมิติคือการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางสถิติเข้ากับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพยากรณ์ จำลองภาวะเศรษฐกิจ เข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปร ต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างกับการว่างงาน ค่าจ้างกับค่าครองชีพ เป็นต้น

          มี ‘เจ้าพ่อ’ ของวงการ Cliometrics อยู่คนหนึ่งเป็นผู้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1993 เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จากไปในวัย 86 ปี โดยทิ้งความอื้อฉาวเชิงวิชาการไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

          ศาสตราจารย์ Robert Fogel เป็นอเมริกันยิว สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ในสมัยเป็นนักศึกษาเป็นคอมมูนิสต์ แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรีได้ 8 ปี ก่อนที่จะเรียนปริญญาเอกที่ Johns Hopkins University เขาก็ละทิ้งอุดมการณ์คอมมูนิสต์อย่างสิ้นเชิงเพราะเห็นว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์

          งานเขียนสำคัญของเขาที่เขย่าวงการเศรษฐศาสตร์ก็คือหนังสือชื่อ Time on the Cross : The Economics of American Negro Slavery (1974) เขาศึกษาเรื่องทาสในสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางโดยมีข้อมูลเชิงปริมาณสนับสนุน และได้ผลการศึกษาที่ตรงข้ามกับความเชื่อในแวดวงประวัติศาสตร์และประชาชนที่มีมายาวนาน โดยเขาสรุปว่าระบบทาสอเมริกัน (ใช้ผิวดำที่จับจากอาฟริกามาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงานในไร่ฝ้าย กาแฟ และอ้อย) นั้นมีประสิทธิภาพในการหาประโยชน์จากขนาดการผลิต (Economy of Scale) ที่ใหญ่ในระบบ plantation (ผลิตโดยการปลูกในแปลงขนาดใหญ่ที่มีการดูแลอย่างเป็นระบบ) ก่อให้เกิดกำไรมหาศาล และทาสมิได้มีความเป็นอยู่ที่เลวร้ายถูกเฆี่ยนถูกตีทุกเมื่อเชื่อวัน ดังที่เคยเข้าใจกัน

          Fogel แสดงตัวเลขให้เห็นว่าทาสผิวดำมีความเป็นอยู่มิได้เลวร้ายไปกว่าผู้ใช้แรงงานในเวลาเดียวกันในเขตอุตสาหกรรมทางเหนือ นอกจากนี้นายทาสยังพยายามดูแลทาสเป็นอย่างดีเพราะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งอีกด้วย ระบบทาสนั้นมีประสิทธิภาพจนเชื่อว่าถ้าไม่มีสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) แล้ว ระบบทาสผิวดำในอเมริกาก็ยากที่จะเลิกได้

          เมื่อการศึกษามีข้อสรุปเช่นนี้ก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันที นักวิชาการและผู้รู้ในสังคมรวมกันออกมาถล่มว่าเขาเอนเอียง เข้าข้างคนผิวขาวที่เคยเอาเปรียบคนผิวดำ (Fogel ไม่ได้ตอบโต้เรื่อง เชื้อชาติ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาแต่งงานกับอเมริกันผิวดำ) แต่เขาก็มีหลักฐานตัวเลขและวิธีการศึกษาที่น่าเชื่อถือโต้ตอบตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา

          Fogel มีงานศึกษาที่อื้อฉาวอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1964 เรื่องบทบาทของรถไฟในการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยเขามีข้อสรุปตรงข้ามความเข้าใจและการยอมรับกันมาแต่ดั้งเดิม

          สิ่งที่เชื่อกันมาก็คือการขนส่งทางรถไฟของข้าวสาลี ข้าวโพด หมู และวัว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 หลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกานั้น สามารถช่วย ลดต้นทุนจนเกิดเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ Fogel พิสูจน์ด้วยการใช้ Cliometrics ว่า ถ้าแม้นไม่มีรถไฟก็จะมีการขนส่งโดยเครือข่ายทางน้ำผ่านคลองที่มีอยู่แล้วและโดยเกวียนขนส่งอยู่ดี เขาคำนวณว่าถ้าไม่มีรถไฟแล้วผลผลิตรวมของทั้งประเทศในปี ค.ศ. 1890 ก็จะลดไปเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

          ไม่ว่าเขาจับงานวิจัยใดก็เป็นเรื่องขึ้นมาทั้งนั้น แต่นักวิชาการก็ ‘ตี’ เขาได้ยากเพราะเขาใช้เครื่องมือสถิติขั้นสูงและวิธีการวิเคราะห์ที่เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นความจริงบางประการในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจซึ่งหลายเรื่องก็ตรงข้ามกับข้อสรุปที่เคยเข้าใจกัน สิ่งที่ผู้คนชื่นชมเขาก็คือความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage) เขากล้าที่จะเสนอสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดกระแสหลักโดยมีหลักฐานสนับสนุนจาก Cliometrics

          ในช่วงปลายชีวิต เขาหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ มาตรฐานการครองชีพ สารอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความมีอายุยืน (เขาพบว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคนเตี้ยและผอมมีทางโน้มที่จะเจ็บป่วยมากกว่าคนอื่น ๆ) เขาเชื่อว่าสามารถหาบทเรียนได้จากประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ของอนาคตโดยการใช้สถิติและเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือ

          Fogel ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชา Cliometrics รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานในการรื้อฟื้นความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโดยการใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือเชิงปริมาณร่วมกันเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสถาบันซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายต่อไป

          เศรษฐศาสตร์เป็นเพชรเม็ดงามของสังคมศาสตร์ในทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีนักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักการศึกษา นักจิตวิทยา แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ วิศวกร นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ หลงใหลในเศรษฐศาสตร์ และนำศาสตร์ที่ตนเองเชี่ยวชาญมาประยุกต์ต่อยอดเข้ากับเศรษฐศาสตร์จนเกิดความเจริญงอกงามของความรู้และปัญญา โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

สีนั้นสำคัญไฉน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18 มิถุนายน 2556

          สีในสังคมไทยปัจจุบันเป็นตัวแทนของความเห็น ความคิด ความเชื่อ และความชอบของสมาชิกแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ดีถ้าเจาะลึกลงไปในเรื่องของสีเชิงวิชาการแล้ว เราจะพบความสำคัญของมันที่มีต่อการดำรงชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

          Discovery Channel Magazine ฉบับ June, 2013 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสีที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนขอนำบางส่วนมาใช้ในข้อเขียนนี้

          อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นนับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ (ต่อประชากร 100,000 คน ไทยมี 7.8 คน อังกฤษ 11.8 คน สหรัฐ 12 คน ญี่ปุ่น 21.7 คน จีน 22.2 คน เกาหลีใต้ 31.7 คน กรีนแลนด์ 108.1 คน) ในแต่ละปีมีกรณีฆ่าตัวตายเฉลี่ย 30,000 ราย วิธีการที่นิยมกันมากก็คือโดดจากชานชาลาสถานีให้รถไฟทับ บริษัทรถไฟญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไขด้วยการเอาสีเขียวสดมาทาบริเวณทางเดินข้ามทางรถไฟที่ใกล้กับชานชาลาตั้งแต่เมื่อ 13 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่าสีสด ๆ จะช่วยเปลี่ยนสภาพจิตใจอันหดหู่ของผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายได้

          อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ไม่ได้ผล เมื่อปี 2009 บริษัทรถไฟหันมาใช้ไฟสีน้ำเงินส่องลงบนบริเวณชานชาลาของสถานีที่มีปัญหามากเป็นพิเศษ โดยเชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อผู้ต้องการฆ่าตัวตาย และก็ปรากฏว่าได้ผล ในปี 2012 มีผู้ฆ่าตัวตาย 27,766 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่า 30,000 คน นักวิชาการสองคน คือ Tetsuya Matsubayashi และ

          Michiko Ueda ศึกษาเรื่องนี้และตีพิมพ์บทความใน Journal of Affective Disorders (May, 2013) โดยพบว่าสีน้ำเงินมีอิทธิพลต่อการลดลงของกรณีโดดให้รถไฟทับและมีส่วนดึงให้สถิติความถี่ของการฆ่าตัวตายของประเทศลดลง ที่เห็นได้ชัดก็คือเกือบจะไม่มีการฆ่าตัวตายในสถานีที่ติดตั้งไฟสีน้ำเงินเลย

          ความเชื่อในเรื่องอิทธิพลของสีที่มีต่อจิตใจและพฤติกรรมมนุษย์มีมานานแล้ว หลักฐานชิ้นสำคัญก็คือการทดลองของนักจิตวิทยาในปลายทศวรรษ 1970 ด้วยการทาสีห้องขังนักโทษในคุกด้วยสีชมพู และพบว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของนักโทษลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          อิทธิพลของสีดังกล่าวทำให้เจ้าบ้านนิยมทาสีชมพูในห้องพักนักกีฬาของ “ทีมเยือน” เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกอ่อนลง และเสียเปรียบในการแข่งขัน ในปัจจุบันมีกฏของกีฬาในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าจะทาสีใดก็ได้ในห้องพักนักกีฬาของ “ทีมเยือน” แต่จะต้องเป็นสีเดียวกันกับสีที่ทาภายในห้องพักนักกีฬา “ทีมเหย้า” นี่คือหลักฐานของความสำคัญของสี

          ในปัจจุบันสถาปนิกทั่วโลกนิยมใช้สีโทนอ่อนเหลืองหรือฟ้าทาผนังและเพดานห้องภายในเพื่อลดความรุ่มร้อนของผู้อยู่อาศัย มีเรื่องเล่ากันว่าในยุคปลายทศวรรษ 1960 อัตราการฆ่าตัวตายสูงอย่างผิดสังเกตของนักศึกษาในหอพักต่างชาติของมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย แคมปัส Berkeley ซึ่งทาผนังในบางห้องด้วยสีแดง

          มีงานวิจัยพบว่าในการแขงขันกีฬาโอลิมปิกที่ Athens ในปี 2004 นักกีฬาประเภทมวย เทควอนโด และมวยปล้ำ ที่มีสีแดงติดกำกับเพราะอยู่ฝ่ายแดงได้เปรียบเพราะมีหลักฐานว่ามีจำนวนชนะมากกว่าฝ่ายน้ำเงินอย่างไม่สอดคล้องกับหลักสถิติ งานวิจัยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งปี 2008 สำหรับกีฬาประเภทดังกล่าวก็พบหลักฐานยืนยันเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าผู้ศึกษาเชื่อว่ากรรมการเป็นผู้ทำให้ฝ่ายแดงชนะมากกว่าเนื่องจากความเอนเอียงอันเกิดจากการได้เห็นสีแดงบนร่างกาย

          นักวิชาการเชื่อว่าสีแดงมีอิทธิพลในเชิงครอบงำจิตใจมนุษย์มากว่าสีอื่น (ขอย้ำว่าเรากำลังพูดกันถึงเรื่องจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องการเมือง) เนื่องจากเกี่ยวพันกับสีของเลือด เนื้อ และการเกิดซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นอกจากนี้มนุษย์ใช้ดินสีแดงซึ่งเป็นผลจากเม็ดสีของ iron oxide มาใช้เป็นสีเขียนตามร่างกาย เขียนผนังถ้ำเมื่อ 30,000 ปีก่อน เขียนภาพบนภาชนะและบนเสื้อผ้า ฯ

          ในการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาเรื่องสีพบว่าในธงชาติทั่วโลกมีสีแดงปรากฏอยู่ ร้อยละ 77 สีขาวร้อยละ 73 และสีน้ำเงินร้อยละ 53 และในการสำรวจประชากรใน 30 กว่าประเทศพบว่าสีน้ำเงินเป็นสีที่คนชอบมากที่สุด และในหลายสีที่บอกว่าเกลียดมากที่สุดก็คือสีเหลือง

          อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาลึกลงไปก็พบว่ามิได้รังเกียจสีเหลือง แต่ไม่ชอบคำว่าสีเหลือง ความจริงที่พบก็คือสีทาบ้านที่ขายดีที่สุดคือสีโทนเหลือง เพราะเมื่อเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น วานิลลา แชมเปญ ฯลฯ สีโทนเหลืองเหล่านี้กลับขายดีกว่าสีน้ำเงินหลายหมื่นเท่าตัว

          ในภาษาอังกฤษ yellow หมายถึงขี้ขลาด ซึ่งมีนัยยะไปในทางลบ ดังนั้นจึงเข้าใจว่าคนไม่ชอบคำนี้แต่ชอบโทนสีของมัน นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เหมาะแก่การทาสีโทนเหลืองมากกว่า สีน้ำเงิน เช่น ฝาห้อง เพดาน เป็นต้น

          นักวิชาการสีเชื่อว่าแถบสีขาว ดำ และแดง คือการผสมปนกันของสีที่แสดงออกถึงพลังอำนาจมากที่สุด ตัวอย่างเช่น แถบสีของ Nazi โลโก้ของโคคาโคล่า ตลอดจนเครื่องหมายสัญลักษณ์ขององค์กรระดับโลก เครื่องหมายยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ

          อย่าดูถูกอิทธิพลของสี สินค้าจำนวนมากมายขายไม่ออกก็เพราะใช้สีที่ไม่ดึงดูดใจลูกค้า ไม่สอดคล้องกับลักษณะของสินค้า (เช่น กางเกงมวยสีชมพูหรือม่วงสดสำหรับชกมวยไทย) ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของลูกค้า (หมวกสีเขียวในจีนไม่เหมาะเพราะวลีว่า “ใส่หมวกสีเขียว” ตรงกับ ‘กำลังถูกสวมเขา’ ในภาษาไทย)

          เรื่องการชอบสีใดในเชิงการเมืองของไทยไม่เกี่ยวกับการทรงอิทธิพลของสีในเชิงวิชาการ จะชอบสีใดไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอิทธิพลของสี คงคล้ายกับที่เขาบอกว่าเรารักชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องรักรัฐบาลกระมัง

Khashoggi กับความรวยชั่วคราว

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11 มิถุนายน 2556    

          ในทศวรรษ 1970 และ 1980 ชื่อของ Adnan Khashoggi นักค้าอาวุธ นักธุรกิจ ตัวกลางค้าขายเชื่อมซาอุดิอาระเบียกับโลกตะวันตกโลดแล่นว่าเป็นมหาเศรษฐีที่ทรงอิทธิพลและรวยที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบันหลังจากติดคุกในสวิสเซอร์แลนด์ หนีคดีในอเมริกาอยู่หลายปี ความมั่งคั่งล้นฟ้าที่ว่านั้นก็หายไปพร้อมกับชื่อเสียง

          Khashoggi ปัจจุบันอายุ 78 ปี เกิดในซาอุดิอาระเบีย เชื้อสายตุรกี พ่อเป็นหมอที่มีชื่อเสียง เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของ King Abdul Aziz Al Saud สมาชิกราชวงศ์และเศรษฐี แม้กระทั่งเป็นหมอประจำตัวพ่อของ Osama Bin Laden ผู้เป็นมหาเศรษฐีก่อสร้าง น้องสาวของ Khashoggi คนหนึ่งเป็นภรรยาของ Mohammed Al-Fayed และเป็นแม่ของ Dodi Fayed ผู้เสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหญิง Diana

          เขาเรียนหนังสือในอเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก เรียนหลายมหาวิทยาลัยแต่ไม่จบเพราะออกมาเป็นนักธุรกิจเสียก่อนเพราะเห็นช่องทางเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในต้นทศวรรษ 1970

          Khashoggi มีเครือข่ายกว้างขวางในซาอุดิอาระเบียเพราะเรียนหนังสือและเป็นเพื่อนสนิทกับเจ้าชายหลายองค์ เขาเป็นตัวแทนของหลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบีย

          สมบัติสำคัญของเขาก็คือเครือข่ายสัมพันธ์กับคนสำคัญในยุคนั้นทั้งด้านอาวุธ น้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์ เขามีเพื่อนเป็นผู้นำประเทศ เศรษฐี ดาราภาพยนตร์ ภาพที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาก็คือเป็นคนรวยที่สุดในโลก วันหนึ่งใช้เงิน 250,000 เหรียญสหรัฐ (10 ล้านบาทในอัตราแลกเปลี่ยนสมัยนั้น) เพื่อรับรองแขก ทั้งจัดหาความสะดวกสบาย จัดหาหญิงงามจากทั่วโลกให้เพื่อน ๆ และคู่ค้าธุรกิจ แนะนำช่องทางทำมาหากิน ขยายมิตรไมตรีไปทั่ว ว่ากันว่าเขาเป็นยอดในเรื่องการจัดการกับผู้คนเช่นนี้

          โลกก็ฮือฮาในภาพลักษณ์ของเขา ภาพเขาปรากฏบนปกของนิตยสาร Time, Newsweek หลายครั้ง ใคร ๆ ก็เรียกหาแต่เขา ตัวเลขความรวยที่อ้างอิงกันก็คือเขามีทรัพย์สินสุทธิมูลค่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท)

          การใช้ชีวิตที่หรูหรา การมอบของขวัญล้ำค่าให้เพื่อน ปาร์ตี้ที่ใช้เงินครั้งละนับล้านเหรียญ (ครั้งหนึ่งมีงานอยู่ 5 คืนติดกัน) มีบ้านอยู่ทั่วโลกกว่า 12 หลัง (ที่นิวยอร์กเป็นเจ้าของ 16 อพาร์ทเม้นท์ติดกันเป็นบล็อก) ทำให้เขาต้องใช้จ่ายเงินมากมหาศาล

          ชีวิตเขาผันผวนในปลายทศวรรษ 1980 อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายที่สุดหรูหรา การตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด และการไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์อื้อฉาว 2 เหตุการณ์ คือ การซ่อนสมบัติของมหามิตร คือ Ferdinand Marcos และกรณี Iran-Contra

          เมื่อรัฐบาลอเมริกันพยายามคืนสมบัติที่ Ferdinal และ Imelda Marcos ฉ้อฉลมาจากประชาชนฟิลิปปินส์ก็พบว่าทรัพย์สินกว่า 160 ล้านเหรียญ ซึ่งประกอบด้วยภาพเขียนล้ำค่าที่ถูกลักลอบมาจาก Metropolitan Musem of Manila และอสังหาริมทรัพย์ที่แอบซ่อนทรัพย์ไว้นั้น Khashoggi เป็นผู้เก็บไว้โดยมีการทำเอกสารซื้อขายย้อนหลังเพื่ออำพรางความฉ้อฉล หลังจากต่อสู้กันอยู่นานหลายปี Khashoggi ก็หลุดพ้นคดี

          ส่วนเรื่อง Iran-Contra นั้น รัฐบาลอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี Reagan แอบขายอาวุธให้อิหร่านอย่างผิดกฎหมายเพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน และเอาเงินนี้ส่งต่อไปช่วยกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ในนิการากัว ในเรื่องนี้ Khashoggi มีบทบาทเป็นนายหน้าค้าขายคนสำคัญ

          เมื่อชื่อเสียงหายไป มิตรภาพและเครือข่ายก็หายไปด้วย พร้อมกับทรัพย์สินมหาศาลที่เขาเคยมีซึ่งร่อยหรอลงไปจากการใช้จ่ายสูงและการลงทุนที่ผิดพลาด ปัจจุบันเขาต้องขายบ้านไปเกือบทั้งหมด รวมทั้งเรือยอร์ชที่ถือกันว่าราคาแพงที่สุดในโลกในสมัยนั้น โดยขายให้ Donald Trump ในราคาเพียง 30 ล้านเหรียญ จากราคาจริง 70 ล้านเหรียญ

          ปัจจุบัน Khashoggi มีคดีหนีเงินค่าหุ้นรวมดอกเบี้ยเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เจ้าหนี้ต้องต่อสู้โดยใช้ปัญหาทางเทคนิคกฎหมายในการบังคับให้ใช้หนี้ข้ามประเทศ ปัจจุบันเขาต้องเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ในยุโรป ถึงคาดว่าจะมีทรัพย์สินแอบไว้บ้างแต่ก็ไม่มีชีวิตเหมือนอดีตแม้แต่น้อย

          สิ่งที่ชายผู้สูงเพียง 160 เซนติเมตร เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เป็นนักธุรกิจที่ไม่เก่งแต่เป็นมหาเศรษฐี เป็นนักจัดการความสัมพันธ์และเป็นนักประชาสัมพันธ์ชั้นยอดทิ้งเป็นบทเรียนแก่ชาวโลกก็คือ “ของจริง” เท่านั้นที่เป็นสิ่งที่คงทนต่อวันเวลา

          ความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่หลงใหลได้ปลื้ม หวือหวาชื่นชมกับชื่อเสียงและอำนาจที่ตามมา แต่เมื่อความผันผวนมาเยือน ในที่สุดมนุษย์ก็มีโอกาสเห็นสาเหตุแห่งความล่มสลายซึ่งหมอกแห่งอานุภาพเงินและอำนาจเคยบังตาอยู่

การพนันหรือการเสี่ยงโชค

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 มิถุนายน 2556    

          การพนันกับการเสี่ยงโชคแตกต่างกันในลักษณะของการเล่นและผลกระทบ ถึงแม้การเสี่ยงโชคจะดูไร้เดียงสา แต่ถ้าหากมีการมอมเมามาก ๆ ก็อาจมีผลเสียไม่ต่างไปจากการพนัน

          ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมการสัมมนาและวิจารณ์บทความเรื่อง ‘การพนันหรือการ เสี่ยงโชค’ ซึ่งเขียนโดย รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และพวกเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขอนำเอาบางประเด็นที่ได้คุยกันในวันนั้นมาเป็น “อาหารสมอง”

          คำว่า ‘การพนัน’ สื่อความหมายด้านลบในภาษาไทย เมื่อครั้งที่พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ออกมานั้นสังคมไทยไม่รู้จักคำว่า ‘การเสี่ยงโชค’ เนื่องจากเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง และมีความหมายที่แตกต่างออกไป (แม้แต่คำว่า ‘สวัสดี’ ก็เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการใน พ.ศ. 2486 หลังจากที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้บัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2476 ใครอยากให้ใครชมตลอดเวลาก็ต้องชื่อสวัสดิ์ เพราะสวัส-ดี)

          กฎหมายฉบับนี้ระบุแต่คำว่าการพนัน แต่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีหลากหลายรูปแบบที่คล้ายคลึงการพนันเกิดขึ้นจนกฎหมายตามไม่ทัน

          การพนันของไทย ไพ่ ถั่ว โป ไฮโล บิลเลียด สนุกเกอร์ บาคาร่า ฯลฯ ตลอดจน ‘โจรแขนเดียว’ (slot machines ที่มากับฐานทัพอเมริกัน) นั้นคนไทยรู้จักกันมานานแล้วในนามของ ‘การพนัน’ และตรงกับลักษณะดังปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าว

          ในประเทศไทยการเสี่ยงโชคเริ่มต้นกันเมื่อ 50 ปีก่อนด้วยการส่งชิ้นส่วนชิงโชค รายการหนึ่งให้คนซื้อผงซักฟอกและมีสร้อยคอทองคำปนมาด้วย (ผงซักฟอกยี่ห้อนั้นขายปลีกกันเป็นกิโล เพราะเพื่อนเล่นเกาะกล่องหาสายสร้อยก่อนและเอาผงซักฟอกมาชั่งขาย) และดีกรีหนักขึ้นทุกทีจนปัจจุบันไปไกลถึงเสี่ยงโชคจับรางวัลทองคำ โทรศัพท์มือถือ กันเป็นรายวัน และรายชั่วโมง

          ในโลกตะวันตกนั้นความบันเทิงมิได้ครอบคลุมเฉพาะการท่องเที่ยว สวนสนุก ชอบปิ้ง ร้องเพลง บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ เท่านั้น หากกินไปถึงเรื่องการเอาเงินจำนวนน้อยไปเล่นให้สนุก เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ซึ่งการสนุกนี้มีทั้งการพนันและสิ่งที่เรียกว่า “การเสี่ยงโชค”

          อย่างไรก็ดี คนตะวันตกเข้าบ่อนเพื่อการหย่อนใจเพราะถือว่าเป็นการบันเทิง อย่างหนึ่ง แต่คนไทยและคนตะวันออกส่วนใหญ่เข้าบ่อนเพื่อหาความเครียดเนื่องจากถือว่าเป็นการไปวัดดวงชะตาเพื่อความร่ำรวย

          อะไรคือความแตกต่างระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ? ล๊อตเตอรี่ และหวย เป็นการพนันหรือการเสี่ยงโชค?

          ‘การพนัน’ คือการเล่นที่มีการวางเดิมพันซึ่งกำหนดโดยผู้เล่น มีการแข่งขันต่อสู้ มีผู้ประกอบการ (เจ้ามือ) มีลักษณะของการต่อรองกันถึงผลได้และผลเสียของคนสองฝ่าย ส่วน ‘การเสี่ยงโชค’ ไม่มีการแข่งขันต่อสู้ มีลักษณะของการเสี่ยงทาย ไม่มีการต่อรองแพ้ชนะ ได้เสีย ฯลฯ

          หากสิ่งที่เล่นกันมีลักษณะตรงไปตรงมาเช่นนี้ เส้นแบ่งระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ก็ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากผู้เล่นไม่หวังแค่เสี่ยงโชค หากมุ่งมั่นทุ่มเทเงินทองเพื่อหวัง ได้เสีย สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็น ‘การเสี่ยงโชค’ ก็อาจกลายเป็น ‘การพนัน’ ไปได้

          ตัวอย่างเรื่องล๊อตเตอรี่ หากผู้ซื้อ ๆ เพื่อหวังรางวัล ในแต่ละงวดก็เป็นการเสี่ยงโชค แต่ถ้าซื้อหลายใบเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อหวังรวยเป็นร้อยล้านก็อาจแปรเปลี่ยนเป็น ‘การพนัน’ ไปได้ เพราะผู้เล่นหวังได้เสีย เสมือนกับมีการแข่งขันเกิดขึ้น

          ยิ่งการเล่นหวยแล้วมีทางโน้มที่จะเป็นการพนันมาก เนื่องจากเงินที่แทงหวย (ไม่ว่าจะแทงบน-ล่าง วิ่ง หรือเดินหรือนอน) นั้นเกิดจากการกระทำของผู้เล่นที่หวังได้-เสีย โดยใช้เงินที่ซื้อหวยนั้นเป็นเดิมพันเพื่อจะได้อีกหลายต่อ ดังนั้นการเสี่ยงโชคอาจแปรเปลี่ยนเป็นการพนันได้ ถ้าผู้เล่นเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการมุ่งได้-เสียเป็นสำคัญ

          การพนันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนรวยล้นฟ้าเป็นยากจกได้ในคืนเดียว เป็นสิ่งที่ทำให้คนหมกมุ่นจนไม่สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ เสียทั้งเวลา โอกาส เงินทอง และความเป็นไปได้ในการสูญเสียทุกอย่างที่ได้สร้างมาในชีวิตในเวลาอันสั้น

          เรื่องที่น่ากังวลของสังคมไทยนอกเหนือจากการพนันที่มีอยู่ในทุกหย่อมหญ้าแล้วก็คือการเสี่ยงโชคชนิด ‘รวยเปรี้ยงปร้าง รวยซ้ำ รวยซ้อน’ ด้วยการใช้เบอร์ในฝาเครื่องดื่มชิงโชคกันทุกวัน ทุกชั่วโมง ปรากฏการณ์นี้กำลังสร้างบรรยากาศที่บ่มเพาะให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยหมกมุ่นในการใช้เงินน้อยต่อยอดเพื่อให้ได้เงินมาก สร้างความฝันลม ๆ แล้ง ๆ (ซื้อน้ำมากินจนพุงอืดก็แทบไม่มีสิทธิ์ลุ้น) และที่สำคัญก็คือการบ่มเพาะจิตใจของการเป็นนักพนัน ตลอดจนบ่อนเซาะความเชื่อศรัทธาซึ่งเป็นสากลในเรื่องที่ว่าความสำเร็จในชีวิตมาจากการบากบั่นทำงาน

          ‘การเสี่ยงโชค’ ชนิดที่มอมเมาผู้คนจะหล่อหลอมและบ่มเพาะให้ผู้คนรักการพนันในระยะเวลายาว สิ่งที่ดูไร้เดียงสาในปัจจุบันหากไม่ควบคุมให้อยู่ในความเหมาะสมแล้ว จะกลายเป็นยาพิษสำหรับประชาชนในเวลาต่อไปได้

อิทธิพลของ “คนเมืองเสมือน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 พฤษภาคม 2556     

           ขณะนี้เมืองใหญ่ในอีสานหลายเมืองขยายตัวทั้งพื้นที่และระดับกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างน่าตกใจ โคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ฯลฯ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและอย่างไร้ทิศทาง ราคาที่ดินพุ่งขึ้น คอนโดมิเนียมผุดขึ้นราวดอกเห็ด สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อว่าอัตราการอยู่อาศัยในเขตเมือง (Urbanization Rate) กำลังสูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าอัตราดังกล่าวสูงกว่าที่เข้าใจกัน

          ตัวเลขที่อ้างอิงกันในปัจจุบันก็คือไทยมีอัตราการอยู่อาศัยในเขตเมืองประมาณร้อยละ 30 หรือกว่านั้นเล็กน้อย ส่วนอีก 70% ผู้คนอาศัยอยู่ในเขตที่ไม่ใช่เมือง (ชนบท) โดยให้คำจำกัดความว่าเขตเมืองคือกรุงเทพมหานคร พัทยา เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล

          โลกในสมัยก่อนไร้เดียงสาและตรงไปตรงมาเช่นนี้ ดังตัวเลขที่ว่ากว่าร้อยละ 50 ของประชากรไทยเป็นเกษตรกร สมัยก่อนการเป็นเกษตรกรนั้นชัดเจนคือเป็นเกษตรกรก็เป็นเต็มตัว ดังนั้นจะเรียกใครว่าเป็นเกษตรกรจึงง่ายไม่ซับซ้อน แต่ในสมัยนี้ไม่มีใครที่ทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เกือบทั้งหมดทำหลายอย่างเพื่อหารายได้เพิ่มเติมเพราะอยู่ไม่ได้ด้วยการเกษตรเท่านั้น จำเป็นต้องรับจ้างหรือไปทำงานในโรงงาน ขายของอิสระ ขับแท็กซี่หรือตุ๊ก ๆ แรงงานก่อสร้าง ขายล็อตเตอรี่ เข็นรถขายของ ฯลฯ

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันคำว่าเกษตรกรจึงไม่มีความหมายที่กระชับ ตัวเลข ร้อยละ 50 จึงไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดว่าต้องทำงานไม่ต่ำกว่ากี่ชั่วโมง ต่อปีจึงจะเป็นเกษตรกรก็ตามที แต่ผู้คนก็ยังเข้าใจว่าเกษตรกรคือคนทำกินด้วยการเกษตรเต็มเวลา

          สังคมไทยปัจจุบันมีคนจำนวนมากอยู่อาศัยในชนบทแต่รับโทรทัศน์ดาวเทียม มีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต มีรถปิคอัพ มอเตอร์ไซค์ ส่วนหนึ่งในวันเสาร์อาทิตย์ก็ขับรถ เข้าเมืองพาลูกและญาติไปกินอาหารภาคสมัยใหม่ (แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ไอศกรีม สุกี้ ฯ) หรือส่งลูกไปเรียนพิเศษในเมือง ลักษณะอย่างนี้คงเรียกเขาว่าเป็นคนชนบทในคำจำกัดความดั้งเดิมไม่ได้

          ถึงแม้จะอยู่อาศัยในเขตชนบทแต่เขามีความคิด พฤติกรรม รสนิยมและความเชื่อเหมือนคนในเมือง คนเหล่านี้เป็น “คนเมืองเสมือน” (virtual urban people) ถ้าเราไม่นับเขาไว้ในการเป็นคนเมือง เราก็ผิดพลาดแน่นอน

          ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางจำนวนมากทำให้การรับข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว อิทธิพลของสื่อสูงจนทำให้รสนิยมและความเชื่อของเขาใกล้เคียง คนเมืองมากขึ้น ถึงแม้ตัวจะอยู่ในชนบทก็ตาม

          ตัวเลขการเป็นคนเมืองร้อยละ 30 ของสังคมไทยจึงไร้ความหมาย การให้คำจำกัดความโดยอาศัยแหล่งที่พักพิงเป็นฐานจึงไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สภาวการณ์ที่ “ระยะทางตายแล้ว” (distance is dead) ทำให้ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความของการเป็นคนเมืองเสียใหม่

          สมัยก่อนคนเมืองมีรสนิยมในการบริโภค มีความเชื่อ มีสไตล์การแต่งกายและการดำรงชีพที่แตกต่างจากคนชนบทอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันช่องห่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้แคบลงทุกขณะ ถึงแม้รายได้ต่อครัวเรือนยังแตกต่างกันอยู่มากก็ตามที

          ถ้าใช้การที่คนในชนบทบางส่วนมีลักษณะหลายประการเหมือนกับคนเมืองเป็นเกณฑ์ตัดสินแทนเขตที่อยู่ ตัวเลข urbanization rate ของสังคมไทยอาจขึ้นไปถึงร้อยละ 50 หรือ 60 ก็เป็นไปได้ และภายในเวลาไม่กี่ปีอาจขึ้นไปถึงร้อยละ 70-80 ของประชากรทั้งประเทศ

          การใช้เกณฑ์ตัดสินการเป็นคนเมืองใหม่นั้นมีนัยสำคัญกว้างขวาง เมื่อ คนเมืองมีจำนวนมากขึ้น นโยบายของรัฐในเรื่องต่าง ๆ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข แรงงาน พาณิชย์ ประชาสัมพันธ์ ฯ ก็จำต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

          คนเมืองปกติมีความรู้มากฉันใด คนเหล่านี้ก็ไม่ต่างออกไป การให้บริการของภาครัฐตลอดจนการให้ข้อมูลข่าวสารก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ตัวอย่างเช่นงานของเกษตรตำบล การศึกษานอกโรงเรียน งานอนามัย ฯ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ

          การมี “คนเมืองเสมือน” จำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทบีบบังคับให้ภาครัฐและเอกชนที่ประกอบธุรกิจต้องมีระบบการคิดใหม่ กรอบการคิดแบบเก่าในสถานการณ์ใหม่ของความเป็นคนเมืองใช้ไมได้อีกต่อไป

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมีคนเมืองขึ้นในชนบทก็คือฐานะทางเศรษฐกิจ ถ้าชนบทขาดคนกลุ่มใหญ่ที่มีฐานะดีขึ้นอย่างชัดเจน (จากภาคเศรษฐกิจทั้งในและนอกระบบ เช่น เป็นลูกจ้างหรือช่างในโรงงาน ขับรถรับจ้างในเมือง ขายของแบบซื้อมาขายไป ขายอาหาร เข็นรถขายผลไม้ ทำการเกษตรสมัยใหม่ ฯ) ก็จะไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์) ขาดอุปกรณ์ช่วยการเดินทางติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ รถนั่งหรือรถปิคอัพ ฯ

          โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตคือตัวเปลี่ยนโลกทัศน์ ความเชื่อ พฤติกรรม และวิถีการดำรงชีวิตของเกือบทุกคนในชนบท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้ามาในชีวิตได้ก็ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของคนชนบทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานภายนอกภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญมากกว่ารายได้จากภายในภาคเกษตรเอง

          “คนเมืองเสมือน” เหล่านี้แหละเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย การให้การศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นพิเศษตลอดจนการสร้างทัศนคติที่เหมาะสมแก่ “คนเมืองเสมือน” เป็นเรื่องน่าใคร่ครวญเพราะพวกเขาคือผู้มีอิทธิพลต่อเพื่อน ๆ ในชนบทไทยอยู่ในขณะนี้

จงลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 พฤษภาคม 2556     

          การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับอนาคตของชาติมากกว่าที่อาจเข้าใจกัน การลดจำนวนหมายถึงคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และการเท่าเทียมระหว่าง เด็กเล็กในชนบทด้วยกันเองมากขึ้น

          การยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าทำอย่างจริงจัง ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมีการทำอยู่บ้างแต่ก็เลิกไป สภาพการณ์ความเป็นจริงในเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กมีดังต่อไปนี้

          (1) สังคมเรามีเด็กเกิดน้อยลงเป็นลำดับ ในช่วงเวลา ค.ศ. 1955 ถึง 1995 เรามีเด็กเกิดเกินกว่า 1 ล้านคนต่อปีต่อเนื่องกัน แต่ในช่วง 1995-2000 เหลือ 955,000 คนต่อปี 2000-2005 เหลือ 914,000 คน 2005-2010 เหลือ 872,000 คน และระหว่าง 2010-2015 คาดว่าจะเกิดเฉลี่ยปีละไม่ถึง 750,000 คน

          เมื่อหักลบการตายในแต่ละปีของคนไทย ปัจจุบันก็จะมีจำนวนประชากรเพิ่มสุทธิ ปีละ 300,000 คนเศษ ๆ เมื่อเทียบกับกว่า 1 ล้านคนในช่วง 1965-1975 มีการประมาณการว่าจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคนในปัจจุบันอาจสูงขึ้นไปไม่เกิน 70 ล้านคนและจะลดลง หลักฐานสนับสนุนขั้นหนึ่งก็คืออัตราเจริญพันธุ์ของหญิงไทย (Total Fertility Rate) ลดลงเป็นลำดับจากการมีลูกตลอดชีวิตเฉลี่ย 6.14 คนในปี 1950 เหลือ 1.63 คนในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าไม่สามารถมีลูกถึง 2 คน เพื่อทดแทนพ่อแม่ได้

          (2) โรงเรียนที่ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ มีประมาณ 30,000 โรงเรียน มีนักเรียนประมาณ 7.57 ล้านคนในปัจจุบัน (ในปี 2551 มี 9.93 ล้านคน)

          โรงเรียนที่มีนักเรียน 20-40 คน มีประมาณ 2,000 โรงเรียน 40-60 คน มี 3,163 โรงเรียน ต่ำกว่า 60 คน มี 5,962 โรงเรียน และต่ำกว่า 120 คน มี 17,000 โรงเรียน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด

          โรงเรียนเล็กขนาดต่ำกว่า 120 คนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตนอกเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท พ่อแม่มีฐานะไม่ดีนัก

          (3) กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณปีละ 460,000 ล้านบาท (มากที่สุดของกระทรวงทั้งหมด) กว่าร้อยละ 75 ของยอดนี้เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณเกือบ 500,000 คน (ครู 450,000 คน บุคลากรทางการศึกษา 50,000 คน)

          (4) ในประเพณีของการโยกย้ายครูนั้นจะโยกย้ายครูไปโรงเรียนอื่นมิได้ยกเว้นแต่จะเป็นความเห็นพ้องของเจ้าตัว ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนจำนวนมากที่มีครูไม่ครบจำนวน 8 คน ตามมาตรฐานสาระการเรียนรู้ (8 วิชา) และสัดส่วนครูไม่ถึงนักเรียน 20-25 คนต่อครู 1 คนก็ตามที แต่ก็ไม่อาจบังคับให้ย้ายไปอยู่ได้

          กระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายตัวของครูในโรงเรียน ต่าง ๆ ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองทุกระดับ (ใครก็อยากเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ สัดส่วนนักเรียนกับครูจึงต่ำกว่าเกณฑ์) โดยบรรจุครูใหม่ในโรงเรียนที่มีครูเกษียณอายุในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท

          อัตราครูก็ไม่ได้เพิ่มมาเป็นเวลานานเพราะถูกบีบให้กระจายครู เพราะจำนวนครูโดยรวมไม่น้อยเลยแต่กระจุกอยู่ในบางพื้นที่ อีกทั้งการจ้างข้าราชการ 1 คน ทางการคำนวณว่าจะใช้เงินถึง 35 ล้านบาท (คำนวณล่าสุดโดยตัวเลขสูงขึ้นจาก 18 ล้านบาท เพราะมีสวัสดิการพ่อแม่ คู่ชีวิต และลูกครู เงินเดือนปรับใหม่สูงขึ้น คนมีอายุยืนมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น)

          การขาดแคลนครูในโรงเรียนในชนบทเป็นเวลาเนิ่นนานนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ได้ยินกัน ซึ่งทำให้เกิดครูมีสอนไม่ครบทุกวิชา (ต้องเอาครูพละไปสอนภาษาอังกฤษ ครูศิลปะไปสอน พลศึกษาฯ) สัดส่วนครูกับนักเรียนไม่เข้าเกณฑ์

          จากสภาพการณ์เช่นนี้ถ้าไม่แก้ไขอะไรเลย สิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้น (1) นับหมื่นโรงเรียนจะไม่มีเด็กเข้าโรงเรียนเพราะจำนวนเกิดจะน้อยลงเป็นลำดับ โรงเรียนที่เล็กและเล็กมาก เช่น 20-60 คน จะไม่มีนักเรียน ครูที่มีอยู่เพียง 2-4 หรือ 6 คน จะไม่มีงานทำ แต่หลวงต้องจ่ายเงินเดือนให้ตลอด หากไม่ปิดโรงเรียนและมีเด็กน้อยมากอีกทั้งครูไม่ยอมย้ายก็จะเป็นการสูญงบประมาณไปอย่างมาก

          (2) เด็กชนบทยากจนซึ่งมีจำนวนกว่า 4-5 ล้านคน จะไม่มีวันได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเลยด้วยครูจำนวน 2-3 คนที่สอน 8 วิชา และบางแห่งอาจมีครูเพียง 2 คนก็เป็นได้ จะเรียนกันกระพร่องกระพร่องแบบนี้เรื่อยไปอีกนานจนโรงเรียนไม่มีนักเรียน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

          (3) ปัจจุบันเด็กชนบทในโรงเรียนขนาดเล็กที่พ่อแม่พอมีตังค์ก็นั่งรถตู้ที่มารับไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไกลออกไปซึ่งพ่อแม่รู้ว่ามีคุณภาพสูงกว่า คนที่ไม่มีตังค์ก็ต้องอดทนกับโรงเรียนเล็กใกล้บ้านต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก ความเหลื่อมล้ำนี้มีอยู่มาก ใครที่เข้าไปดูโรงเรียนในชนบทจะเห็นชัดเจน

          (4) เงิน 460,000 ล้านบาทถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ถ้าเอาคุณภาพการศึกษาที่สังคมต้องการมาเป็นเกณฑ์วัด เราไม่สามารถใช้เงินทุ่มไปที่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทได้ถนัดมือเพราะโรงเรียนกระจายตัวอยู่ทั่วไปหมด (สมัยก่อนสร้างไว้จำนวนมากเพราะการคมนาคมไม่สะดวก แต่เมื่อสะดวกแล้วก็ยังค้างเติ่งอยู่) ห้องสมุดดี ๆ สำหรับนักเรียนทุกโรงเรียนเป็นไปไม่ได้ นอกจากลดจำนวนลงไปมาก

          หากจะจ้างครูใหม่อีกมากมายเพื่อสอนในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะกินเงินมาก และในไม่กี่ปีจะเอาครูเหล่านี้ไปไว้ที่ไหนเพราะไม่มีเด็กให้สอน

          ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การยุบโรงเรียนอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ หากโรงเรียนอยู่ในที่ทุรกันดารหรือทำไว้แล้วดีมาก (มีการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กกันอยู่แล้วโดยการวิ่งรอกครู เอานักเรียนใส่รถเอาไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ) อยากเป็น home school ที่ชุมชนช่วยกันและทำได้ดีก็ควรสนับสนุนให้ทำต่อไป

          โรงเรียนเล็กใดที่ท้องถิ่นอยากรับโอนไปดูแลเองไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ อบจ. ก็ควรพิจารณาปล่อยไป โรงเรียนใดที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็โปรดได้เห็นแก่สิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็ก จงยุบด้วยการควบรวมกับโรงเรียนอื่นพร้อมกับให้เงินอุดหนุนค่ารถเพื่อการเดินทางแก่พ่อแม่เด็กเถิด

          คะแนนสอบที่ต่ำของเด็กไทยในเกือบทุกวิชาส่วนหนึ่งก็มาจากคะแนนสอบของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้แหละที่ช่วยฉุดลงมาเนื่องจากโรงเรียนไม่มีครูที่มีคุณภาพครบทุกสาระการเรียนรู้ และไม่มีสัดส่วนระหว่างครูกับเด็กที่เหมาะสม

          ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กจะลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขด้วยการพิจารณาเป็น ราย ๆ ด้วยหลายมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์

          เรื่องลดจำนวนโรงเรียนลงนั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวเพราะมีคนได้เสียมาก อัตราผู้อำนวยการโรงเรียนจะหายไปหลายพันอัตรา นักการเมืองท้องถิ่นไม่ชอบเพราะบางชุมชนไม่พอใจ กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ชอบใช้ประเด็นนี้สร้างความสำคัญให้ตนเอง มีหลายคนเสียอำนาจ แต่คนสำคัญที่เราลืมนึกถึงไปก็คือเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้

          การมีโรงเรียนขนาดเล็กไม่ควรเกี่ยวกับความโรแมนติกของการมีโรงเรียนใกล้ชุมชน หากควรคำนึงปัญหาคุณภาพและสิทธิในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในภาพรวมของชาติ

ความเคยชินนำสู่ความหายนะ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 พฤษภาคม 2556    

          การช่วยเหลือประชาชนด้วยการทำให้ราคาพลังงานต่ำเพื่อช่วยให้ค่าครองชีพต่ำเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดีเมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจนำไปสู่ความหายนะได้ สิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำไปเป็นบทเรียนที่พึงสังวรณ์สำหรับประเทศอื่น ๆ

          การรักษาราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาตลาดกระทำกันมายาวนานในเกือบทุกประเทศ แต่มักเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะก่อให้เกิดภาระการเงินแก่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาที่ประชาชนจ่ายและราคาตลาด

          ส่วนต่างนี้เรียกกันว่าเงินอุดหนุนหรือ subsidy ซึ่งหมายถึงการถ่ายโอนของทรัพยากรจากภาครัฐสู่ประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับภาษีซึ่งเป็นการถ่ายโอนของทรัพยากรจากประชาชนสู่ภาครัฐ

          ภาษี (tax หรือ positive tax) มิได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเงินทองเท่านั้น ในอดีตมีการเก็บภาษีเกลือ (จ่ายเป็นเกลือ) หรือการเกณฑ์แรงงานมารบหรือทำงาน (เปรียบเสมือนกับถูกเก็บภาษีเพราะเท่ากับต้องเสียสละเงินทองไปเพราะไม่มีโอกาสไปทำมาหากินส่วนตัว)

          Subsidy หรือเงินอุดหนุนหรือเงินชดเชยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า negative tax เพราะทรัพยากรไหลสวนทางกับ tax ในขณะที่ทรัพยากรไหลออกจากฝั่งประชาชน คือ positive tax การไหลในทางตรงกันข้ามคือจากภาครัฐสู่ประชาชนจึงเรียกว่า negative tax

          หลายคนอาจจำเหตุการณ์ในปี 1998 ที่ประธานาธิบดี Suharto หลุดจากตำแหน่งในเวลาไม่กี่วันหลังจากเป็นประธานาธิบดีมา 31 ปีได้ สาเหตุมาจากการขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่เพราะถูกบังคับจาก IMF (ภาพนาย Comdesu ผู้จัดการ IMF ท้าวสะเอวดูการลงนามยอม IMF ยังตรึงตาไม่ รู้ลืม) เนื่องจากภาครัฐอินโดนีเซียจ่ายเงินอุดหนุนราคาน้ำมันขนาดใหญ่โตมโหฬารมายาวนานเพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูง

          IMF เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะทำเช่นนั้นต่อไปได้เพราะประสบวิกฤตอันเป็นผลพวงจากการติดเชื้อ “ต้มยำกุ้ง” จากไทย เงินทุนสำรองของอินโดนีเซียหดหาย ราคา ดอลลาร์ในรูปเงินรูเปียสูงมาก ตราบที่น้ำมันมีราคาถูกผู้คนก็จะบริโภคกันมาก เงินตราต่างประเทศซึ่งเป็นส่วนผสมอยู่ในการบริโภคต้องไหลออกนอกประเทศไปอีกมหาศาลก็จะยิ่งทำให้เงินดอลล่าร์แพงขึ้นอีก (ค่าเงินรูเปียตกลงไปอีก) วิธีแก้ไขตามสติปัญญาของ IMF ในตอนนั้นก็คือต้องหยุดทิศทางของการมีราคาพลังงานต่ำด้วยการชดเชย ผลก็คือบ้านเมืองลุกเป็นไฟผู้คนประท้วงวุ่นวายจนประธานาธิบดีต้องพ้นจากตำแหน่ง

          ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายปี ภาครัฐอินโดนีเซียก็ยังกลับมากระทำอย่างเดิมอีกเพราะประชาชนเคยชินกับการใช้เงินรัฐอุดหนุนราคาพลังงาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือรายจ่ายเรื่องนี้สูงมากจนพุ่งขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณประเทศในปี 2013

          ราคาน้ำมันในอินโดนีเซียถูกที่สุดในเหล่าประเทศที่ผลิตและนำเข้าน้ำมัน (อินโดนีเซียนำเข้ามากกว่าส่งออก) น้ำมันเบนซินมีราคาเพียงลิตรละประมาณ 13 บาท หรือ 4,500 รูเปีย (สหรัฐอเมริกาแพงกว่า 1 เท่า)

          เมื่อทำให้ถูกอย่างนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนใช้กันสนุกมือและรัฐจำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี เมื่อทนสถานการณ์ไม่ไหวจึงมีแผนการปรับราคาขึ้นเป็น 6,500 รูเปียต่อลิตร (19.7 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50)

          ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะแบ่งการปรับราคาเป็น 2 ประเภทกล่าวคือกลุ่มแรกผู้ใช้ รถมอเตอร์ไซค์และรถสาธารณะจะคงราคาไว้เท่าเดิมคือ 4,500 รูเปียต่อลิตร ส่วนกลุ่มสองผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวและการค้า เช่น รถขนส่ง รถของบริษัท จะปรับราคาขึ้นเป็น 6,000 รูเปีย

          อย่างไรก็ดีหลังจากใคร่ครวญแล้วก็พบว่าคงจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ยากเพราะราคาต่างกันมาก คงจะมีมือดีโยกข้ามการใช้จนเอาไม่อยู่ดังนั้นจึงจำใจจะปรับราคาขึ้นเป็น 6,500 รูเปียต่อลิตรสำหรับทุกกลุ่ม

          ทันทีที่มีข่าวออกมาว่ารัฐบาลเตรียมจะปรับราคา ผู้คนเป็นหมื่นออกมาประท้วงกันบนถนน ประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono หรือ SBY หัวหน้าพรรค Democratic Party ซึ่งมีเสียงเป็นรองคู่แข่งและ SBY ลงสมัครอีกครั้งไม่ได้แล้วตระหนักดีว่าราคาน้ำมันในอินโดนีเซียเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างอารมณ์คนในประเทศได้มาก การล้มคว่ำของประธานาธิบดี Suharto จากราคาน้ำมันยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจนักการเมือง แต่ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลมีทางเลือกไม่มากนัก

          อินโดนีเซียนั้นมีกฎหมายห้ามรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเกินกว่าร้อยละ 3 ของงบประมาณรายปี ถ้าปรับราคาน้ำมันขึ้นซึ่งหมายถึงการลดการชดเชยก็จะช่วยลดรายจ่ายจนทำให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ในวงที่กฎหมายกำหนดได้

          ในประชากร 230 ล้านคนของอินโดนีเซียมีคนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 29 ล้านคน และอยู่เหนือเส้นความยากจนเล็กน้อยอีก 70 ล้านคน การขึ้นราคาน้ำมันมากขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และคนที่ถูกกระทบมากที่สุดก็คือคนเหล่านี้ เชื่อว่าอาจมีประชากรหล่นลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนอีกหลายสิบล้านคน

          มิใยที่องค์กรระหว่างประเทศจะเตือนเรื่องการใช้เงินอุดหนุนมหาศาลช่วยทำให้ราคาน้ำมันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่อาจแก้ไขได้เพราะประชาชนเคยชินต่อการใช้น้ำมันราคาถูกมายาวนาน ถึงแม้ SBY จะพยายามลดภาระด้านการเงินของรัฐบาลตั้งแต่ ค.ศ. 2009 แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะมีแรงค้านมากมายจากพรรคของตนเองและจากประชาชน

          ปัญหาที่รัฐบาลอินโดนีเซียประสบครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับหลายประเทศที่ทำให้ประชาชนเคยชินกับการใช้ของถูกหรือฟรีจนติดเป็นนิสัยซึ่งจะเป็นภาระที่หนักอึ้งในระยะยาว

          ความเคยชินของมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการได้รับเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะอาจนำไปสู่ความหายนะของส่วนรวมได้