ดอกโบตั๋นที่ลั่วหยาง

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 พฤษภาคม 2559

          ดอกโบตั๋นมีชื่อเสียงเลื่องลือในความงามจนมีภาพวาดทั้งในอดีตและปัจจุบันในจีน ยุโรป และทวีปอเมริกามากมายเนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย ยุโรป และบริเวณตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อมีคำเล่าลือเช่นนั้น เพื่อน ๆ และผมจึงตามไปดูกันที่เมืองลั่วหยาง (Luoyang) เมื่อปลายสงกรานต์ที่ผ่านมา

          เราไปกัน 20 คน หญิงเกือบทั้งหมด สนุกสนานมากเพราะเป็นคนในวัยเดียวกัน รู้จักกันตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายเมื่อ 50 ปีก่อน ในช่วงก่อนเดินทาง ผู้เขียนแอบไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะไปกันรอดหรือไม่เพราะจากไลน์ที่เขียนถึงกันนั้น รู้สึกว่ามีความหวั่นไหวกันในหลายเรื่อง แต่เมื่อไปกันแล้วไม่มีปัญหาใด ๆ เลย ทุกคนเดินกันทนทานกระฉับกระเฉง (ถึงแม้บางคนจะช้าหน่อย) โดยเฉพาะตรงใกล้ร้านขายของ ทุกคนมีรสนิยมที่ตรงกันอยู่อย่างน้อยสองอย่างคือเข้าห้องน้ำกับถ่ายรูป โดยเฉพาะกับดอกโบตั๋น (แถมติดดอกโบตั๋นเทียมบนผมกันเต็มพิกัดเพื่อถ่ายรูปอีกด้วย หลานยายหลานย่าเห็นรูปแล้วงงกันเป็นแถว)

          ดอกโบตั๋นกับดอกท้อนั้นแตกต่างกัน โบตั๋นคือ peony ซึ่งเป็นดอกโดด ๆ ดอกใหญ่ มีกลีบเป็นชั้น ๆ ซ้อนกัน ส่วนดอกท้อคือ plum flower ซึ่งเป็นดอกช่อออกชมพู และก็ต่างจากดอกซากุระหรือดอกเชอรี่ซึ่งเป็นช่อออกชมพูขาวเช่นเดียวกัน (ลูกเชอรี่ไม่ได้มาจากซากุระ)

          ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่คนจีนร่ำรือกันในความงาม มีบทกวีที่กล่าวถึงความงามมากมายในเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) โบตั๋นมีถึงกว่า 40 พันธุ์ มีสีเดียวเช่นแดง เหลือง ชมพู ขาว จนกระทั่งถึงผสมหลายสีในดอกเดียวกัน โบตั๋นเป็นไม้พุ่มที่มีผู้นิยมปลูกกันในสวนมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง ดอกของมันเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมานับพันปี

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดอกไม้ประจำชาติจีน ในปี 1903 ในสมัยราชวงศ์ชิง มีการประกาศให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ในปี 1929 สมัยรัฐบาลจีนยุคใหม่(ราชวงศ์ชิงล้มไปตั้งแต่ 1912) ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติเนื่องจากโยงใยกับหลักสาม ประการของอดีตประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น ซึ่งได้แก่ nationalism / democracy และ the livelihood of the people

          ต่อมาไต้หวันในปี 1964 ได้ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติ ในปี 1994 สมาคมผู้ปลูกดอกไม้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พยายามผลักดันให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ทางการก็เก็บเรื่องไว้เงียบ ในปี 2003 ก็มีกระบวนการเลือกดอกไม้ประจำชาติอีกครั้งแต่ก็เงียบไปอีกครั้ง จนกระทั่งบัดนี้จีนก็ยังไม่มีดอกไม้ประจำชาติทางการ การเมืองเรื่องดอกไม้โบตั๋นจึงน่าสนใจ เพราะครั้นจะเลือกดอกโบตั๋นราชวงศ์ชิงฃึ่งถูกโค่นล้มไปก็เลือกไปแล้วในปี 1903 ครั้นจะเลือกดอกท้อก็ถูกไต้หวันเลือกไปแล้ว และคงมีคนจีนไม่พอใจโดยเฉพาะบริเวณเมืองลั่วหยาง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองซีอานแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่และมีประชาชนชื่นชอบดอกโบตั๋นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ตัดสินใจ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปรับภาระ ดังแนวคิดของเติ้ง เสี่ยว ผิงเกี่ยวกับเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้และไม่ถึงขนาดคอขาดบาดตาย

          ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดังเฉพาะในจีนเท่านั้น รัฐสภาอินเดียน่าของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1957 แทน zinnia (ดอกบานชื่น) ที่เป็นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1931

          คนจีนเรียกดอกโบตั๋นว่า “หมู่ตาน” ชื่อโบตั๋นในภาษาไทยนั้นมาจากชื่อดอกไม้นี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า “โบะตัง” ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคนไทยเรียกว่าโบตั๋นกันมาตั้งแต่สมัยไหน หรือเพี้ยนมาจาก “หมู่ตาน” ก็เป็นได้ (ขนาดชื่อของ “เฮนรี เบอร์นี” ทูตอังกฤษเดินทางมาไทยในสมัยราชกาลที่ 3 คนไทยยังเรียกว่า “หันแตร บารนี”

          โบตั๋นมิได้งามแต่รูปเท่านั้น หากหลายพันธุ์มีกลิ่นหอมและรุ่มรวยในสรรพคุณทางยามานับพันปี ทั้งเมล็ด เปลือก ราก ใบ คนจีนใช้เป็นสมุนไพรประจำบ้านเช่นเดียวกับ charlemagne ในประวัติศาสตร์อังกฤษที่เป็นทั้งเพื่อนของหมอและคนปรุงอาหาร หลายส่วนประกอบของต้นโบตั๋นลดไข้ รักษาการอักเสบ ปวดหัวตัวร้อน รักษาอาการชัก ฯลฯ

          ดอกท้อกับดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่แข่งขันกันมายาวนานในประวัติศาสตร์จีน โบตั๋นเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ดอกไม้แห่งความมั่งคั่งและเกียรติยศ” “ราชาของดอกไม้” ในญี่ปุ่นเรียกโบตั๋น บางพันธุ์ว่า “นายกรัฐมนตรีของดอกไม้” ความนิยมโบตั๋นกระจายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น (ดอกโบตั๋นกับสัตว์เป็นลายสักที่นิยมกันมากในญี่ปุ่น)

          เอกสารของจีนกล่าวว่าการปลูกโบตั๋นเริ่มตั้งแต่เมื่อ 1,400-4,000 ปีก่อน เพื่อใช้เป็นสมุนไพร แต่มีการนำมาปลูกในสวนเพื่อความงามในสมัยจักรพรรดิ Yang (ค.ศ. 605-617) ของราชวงศ์สุ่ย ต่อมาในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โบตั๋นได้รับความนิยมอย่างมาก มีการคัดสรรพันธุ์ที่งดงามมาปลูกในสวนของพระราชวัง

          ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) การปลูกโบตั๋นได้กระจายไปทั่วประเทศ ลั่วหยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์นี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมการปลูกโบตั๋นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ลั่วหยางมีอุณหภูมิที่ไม่หนาวเกินไป อีกทั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำจากแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำเว่ย ไม่ห่างคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองไคเฟ็งกับหังโจวริมทะเล (ขุดในสมัยราชวงศ์สุ่ย) และคลองที่ขุดเชื่อมต่อระหว่างเซี่ยงไฮ้กับเทียนจิน (ขุดในสมัยราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1279-1368) ฯลฯ ลั่วหยางจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างการคมนาคมในประเทศกับเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อไปต่างประเทศ

          ลั่วหยางเป็น 1 ใน 7 ของเมืองเก่าแก่ของจีน เป็นบริเวณที่เป็นเมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 5,000 ปี เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากการเป็นเมืองหลวงการปลูกโบตั๋นของโลกแล้ว

          เนเธอร์แลนด์มีดอกทิวลิป อังกฤษมีดอกกุหลาบ จีน (ลั่วหยาง) ก็มีดอกโบตั๋น เป็นสัญลักษณ์สำคัญแก่โลก (ไทยต่อไปอาจมีดอกเบี้ย) ภาพเขียนดอกโบตั๋นไม่ว่าโดยจิตรกรจีน ยุโรป หรืออเมริกัน ไม่ว่าในสไตล์ใดจับตาจับใจเสมอด้วยความงามจากความซับซ้อนของกลีบ และความหลากหลายของสี

          ทุกปีดอกโบตั๋นจะบานประมาณครึ่งหลังของเดือนเมษายนเท่านั้น เมืองลั่วหยางจัดนิทรรศการทุกปีระหว่าง 15-29 เมษายน ถ้าอยากจะดูดอกโบตั๋นบานอย่างงดงามเต็มที่โดยไม่ชอกช้ำ ไม่มีใครบุกเข้าไปกอดจับ ลูบคลำ รวมทั้งถ่ายรูปแบบประชิดดอกและลำต้นแล้ว ควรไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล หรือก่อนหน้าด้วยซ้ำเพราะมีสวนดอกโบตั๋นเอกชนให้ชมอีกหลายแห่ง

          ดอกโบตั๋นงามจริง ๆ ครับ แต่ต้องเตรียมตัวไปด้วยสปิริตของการต่อสู้ในทุกเรื่องตั้งแต่ เข้าแถว ขึ้นรถ เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร ฯลฯ เพราะมีจำนวนคนมากจริง ๆ ที่ต้องการสิ่งเดียวกับพวกเรา

ออกจาก “กล่อง” ด้วย “ทัศนะฝังใจ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 พฤษภาคม 2559

          พ่อบ้านโทษแม่บ้านที่ลูกเกเรไม่เอาถ่านว่าเป็นเพราะตามใจ ไม่ดูแลใกล้ชิด CEO เผด็จการขององค์กรดุด่าลูกน้องที่ต่างทำงานกันอย่างหนักว่ายังไม่เอาไหน ขาดสมอง สองตัวอย่างนี้เกิดขึ้นทุกวันในครอบครัวและองค์กรทั้งธุรกิจและเอกชน พฤติกรรมของทั้งสองคนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเพราะตนเองอาจเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้เกิดจากการมองโลกด้วยสายตาที่เป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์ ตราบที่มีใน ‘ทัศนะฝังใจ’ (mindset) เช่นนี้หนทางแก้ไขปัญหาก็ตีบตัน

          การมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าวอุปมาเหมือนดังทารกที่เพิ่งหัดคลานหลุดเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะชิดฝาและร้องไห้หาทางออกมาไม่ได้ ครั้นจะขึ้นไปข้างบนก็ติดท้องโต๊ะจะดันไปอีกทางก็เป็นผนัง เด็กน้อยต้องคิดว่าทั้งหมดเป็นเพราะสิ่งภายนอก โดยลืมนึกไปว่าที่ตนเองตกอยู่ในสภาพนี้ก็เพราะคลานเข้าไปเอง

          การพยายามแก้ไขปัญหาโดยโทษแต่สิ่งภายนอกนั้นจะไม่สามารถหาทางออกได้เลยดังเช่นกรณีทารก หรือพ่อบ้าน หรือ CEO นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์โทษคนอื่นนี้ว่า self-deception ซึ่งเป็นเรื่องปกติเชิงจิตวิทยาที่เกิดขึ้นทุกแห่งหนทุกเวลา การตระหนักถึงลักษณะเช่นนี้และการพยายามมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้

          นักวิชาการเรียกการมองแคบ ๆ โดยคำนึงถึงแต่เป้าหมายส่วนตัว โดยละเลยการรวมเอาสิ่งที่ตัวเองกระทำเข้าไปรวมด้วยว่า Inward Mindset (“ทัศนะฝังใจแบบเข้าหาตนเอง”)

          การมองเช่นนี้จะมีแต่คำถามว่า “คนอื่น ๆ จะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร” แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นการมี “ทัศนะฝังใจแบบออกจากตนเอง” (Outward Mindset) ก็จะแก้ไขปัญหาได้เพราะจะเป็นการมองที่เน้น “เป้าหมายของเรา” เป็นหลัก โดยคิดว่า “ตนเองมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร”

          Outward Mindset จะทำให้มององค์รวม เช่น ผลสำเร็จขององค์กร ผลงานของทีม ในตัวอย่างเรื่องพ่อบ้านก็จะทำให้พิจารณาว่าตนเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คำถามเช่นตนเอง ทำหน้าที่พ่อสมบูรณ์แล้วหรือยัง เคยช่วยแม่บ้านอบรมดูแลลูกหรือไม่ ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น ในเรื่อง CEO ก็จะเกิดการมองว่าตนเองอาจเป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรต่ำลง คนลาออกกันอยู่ตลอดเวลา สมาชิกขาดกำลังใจ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้มาจากพฤติกรรมเผด็จการของตนเอง

          Outward Mindset จะก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบแทนที่จะเป็นการโทษกัน การให้มากกว่าการเอามา การเน้นผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการได้หน้า การเกิดผลลัพธ์มากกว่าการมีแต่ปัญหา การเข้าร่วมของทุกคนมากกว่า “ของใครของมัน” การเปลี่ยนจาก “silos” (การทำงานเสมือนเป็นโกดังเก็บของแยกจากกัน) กลายเป็นความร่วมมือ การเปลี่ยนจากความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่โดยไม่ปรับปรุงเป็นการเกิดนวตกรรม ฯลฯ

          แนวคิด Outward Mindset มาจากการริเริ่มของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและอบรมใหญ่ในสหรัฐอเมริกาชื่อ Arbinger กลุ่มนี้ผลิตหนังสือชื่อ Leadership and Self-Deception ซึ่งขายได้กว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก มีการแปลเป็น 20 ภาษารวมทั้งภาษาไทย (ครั้งแรกออกในปี 2000 และปรับปรุง 2010) และอีกเล่มคือ Outward Mindset จะวางตลาดในเดือนมิถุนายน 2016 นี้

          เมื่อนึกถึงปัญหาที่เคยเห็นและประสบด้วยตนเอง ก็เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้มีประโยชน์ Self-Deception หรือการหลอกตัวเองด้วยการโทษคนอื่นและสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง (เปรียบเสมือนกับ “อยู่ในกล่อง”) อยู่เสมอเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาซึ่งหลายครั้งอยู่ในระดับหญ้าปากคอก ยากโดยไม่จำเป็น เรามักลืมนึกไปว่าตัวเราเองอาจมีส่วนเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเสียเองก็เป็นได้

          หนังสือเล่มนี้เล่าถึงกรณีของหมอชื่อ Ignaz Semmelweis ซึ่งเป็นสูตินารีแพทย์ชาวยุโรป ในกลางทศวรรษ 1850 ทำงานในโรงพยาบาล Vienna General Hospital เขาพบว่าหญิงที่มาคลอดลูกในวอร์ดหนึ่งของโรงพยาบาลที่เขาดูแลอยู่นั้น มีอัตราการตายสูงมากถึง 1 ใน 10 ส่วนอีกวอร์ดหนึ่งมีอัตรา 1 ใน 50

          เขาพยายามศึกษาวิจัยและแก้ไขทุกวิถีทางโดยเปรียบเทียบกับอีกวอร์ดหนึ่งแต่อัตราการตายก็ไม่ลดลงเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องลาไปทำงานที่อื่นเป็นเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่าในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่นั้นอัตราการตายลดลงอย่างมาก หมอ Ignaz จึงค้นคว้าต่อและพบว่าตัวเขาเองนั้นแหละคือสาเหตุ กล่าวคือเขามักทำวิจัยทางการแพทย์ด้วยการผ่าตัดศพที่อยู่อีกห้องหนึ่งใกล้กัน ในยุคที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของเชื้อโรคนั้นเขามิได้ล้างมือให้สะอาดเมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยกับศพมาเป็นหมอทำคลอด

          หมอ Ignaz “อยู่ในกล่อง” เพราะมัวแต่โทษสิ่งอื่น ๆ ว่าทำให้อัตราการตายของหญิงคลอดสูงโดยไม่ได้พิจารณาว่าตนเองนั้นแหละคือต้นเหตุของปัญหา ถ้าเขาใช้ Outward Mindset ในการแก้ไขปัญหาเขาคงไม่มองข้ามบทบาทของตนเองเป็นแน่

          ในชีวิตประจำวัน Outward Mindset ทำให้เกิดการพิจารณาผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่นมากกว่าที่จะพิจารณาว่าใครจะทำประโยชน์ หรือผลเสียให้แก่ตนเอง การมองออกไปเช่นนี้จะทำให้เกิดความรักเมตตาคนอื่นเพราะเปลี่ยนขั้วจากการมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองมาเป็นการมองผลประโยชน์ขององค์รวม ซึ่งการมององค์รวมจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อมีการประเมินผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่น

          การจะออกจาก “กล่อง” ของ Self-Deception ได้ก็มาจากการรู้ว่า “กล่อง” คืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร และตระหนักว่ามี “กล่อง” นี้อยู่เสมอในชีวิตมนุษย์

          ไม่มีใครที่สามารถอยู่นอก ‘กล่อง’ ได้ตลอดเวลาโดยคิดแนว Outward Mindset อยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เราจะตกเข้าไปอยู่ใน ‘กล่อง’ บ่อย ๆ ตามธรรมชาติ โทษผู้อื่น เน้นเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการตระหนักว่า ‘กล่อง’ นั้นมีจริงก็จะช่วยทำให้เกิดความระมัดระวังและอยู่ นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’ แล้ว

          กล่าวกันว่าคนรุ่นใหม่เป็นพวก “Me Generation” กล่าวคือเน้นความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ ดังนั้นแนวคิด Outward Mindset จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบันเพื่อที่จะทัดทานพลัง Me ของยุค เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นนี้มีเวลาอยู่นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’

คะทสิโกะ ภรรยานายพลโตโจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 พฤษภาคม 2559 

          คนไทยวัย 50 ปีขึ้นไปรู้จักนายพลโตโจ กันแทบทุกคน แต่คงจะมีไม่มากคนนักที่รู้จัก นางคะทสึโกะ ภรรยาของเขาผู้มีชีวิตที่น่าสงสาร แต่ทรงไว้ด้วยเกียรติอย่างน่าภาคภูมิใจ

          โตโจเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยดำรงตำแหน่งระหว่างตุลาคม 1941 ถึงกรกฎาคม 1944 ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบตลอดสงคราม ยกเว้นช่วงก่อนที่จะแพ้สงครามเท่านั้น (ญี่ปุ่นแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม 1945) ดังนั้น เมื่อแพ้สงครามจึงเป็นเป้าหมายแรกของการเป็นอาชญากรสงคราม

          คะทสึโกะ มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกุชิมะ บิดาเป็นคนมีชื่อเสียงในท้องถิ่น เธอเดินทางไปโตเกียวเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น (นิฮอนโจชิไดอากุ) โดยศึกษาปริญญาตรีภาษาญี่ปุ่น ผู้ที่รับรองเธอให้เข้าเรียน คือ ฮิเดโนริ โตโจ ญาติห่าง ๆ ซึ่งเป็นนายทหารของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งต่อมามียศพลโท

          เธอมีร่างเล็ก น่ารักสดใสและมีความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาเดียวกัน ในยุคนั้นถ้าจะแนะนำให้เป็นสะใภ้บ้านไหน ก็คงไม่มีใครปฎิเสธ แต่ญาติผู้ใหญ่คนนี้ไม่ต้องเสียเวลาเพราะลูกชายที่เป็นร้อยโทหนุ่มมีนามว่า ฮิเดกิ โตโจ เกิดต้องใจเธอและได้ร่วมหอลงโรงกัน

          เมื่อได้มาเป็นสะใภ้ของบ้าน เธอทำงานหนักช่วยครอบครัวเพราะสามีมีน้องถึง 13 คน และแม่สามีก็จุกจิกเข้มงวดกับสะใภ้มาก เธอต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยและทุ่มเทกายและใจให้สามีและบ้าน ทั้ง ๆ ที่หากเรียนต่ออีกเพียงปีเดียวก็จะได้ปริญญาแล้ว

          ร้อยโทหนุ่มสามีของเธอนั้นเป็นคนที่จริงจังกับชีวิตมาก เช่นเดียวกับเธอ แต่เขานั้นไปสุดโต่งกว่า เพราะเป็นคนที่หากได้ตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว เขาก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนง่าย ๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

          ตอนที่แต่งงานกันนั้น เขากำลังเตรียมตัวจะสอบเข้าวิทยาลัยทหารบก พ่อสนับสนุนเขาอย่างมากเพราะเห็นว่าเป็นใบเบิกทางที่สำคัญดังกรณีของตัวเขา อย่างไรก็ดีฮิเดกิสอบมาแล้ว 2 ครั้งก็ไม่ได้เพราะไม่มีเวลาดูหนังสือ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจึงทุ่มเทเต็มที่โดยมีภรรยาดูแลสนับสนุน มีการวางแผน เวลาดูหนังสืออย่างมีขั้นตอน และในที่สุดเขาก็สอบได้

          ตอนแต่งงานกันใหม่ ๆ นั้น โตโจมีเงินเดือนเพียง 33 เยนกับอีก 33 เซนเท่านั้น (โปรดสังเกตว่าเงินเฟ้อหลังสงครามทำให้ 33 เยนแทบซื้ออะไรไม่ได้เลยในปัจจุบัน) กองทัพหักไป 2 เยน เพื่อเป็นเงินสะสมและอีก 15 เยนมอบให้แม่ไว้ซื้อข้าวสำหรับครอบครัว ดังนั้น จึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียรกับเงินที่เหลือ

          โตโจเป็นคนชนิดที่คนสมัยใหม่เรียกว่าเผด็จการ ภรรยาและลูกอีก 7 คนอยู่ในโอวาท เขาเข้มงวดและเจ้าระเบียบมาก เป็นคนมือสะอาด ไม่หาเศษหาเลย แยกเรื่องส่วนตัวกับงานอย่างเด็ดขาด ไม่เคยช่วยเหลือญาติมิตรแบบส่วนตัวเลยถึงแม้ในตอนหลังเขาจะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทหารบก และประธานเสนาธิการ (เทียบเท่าผู้บัญชาทหารสูงสุดที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ) ก็ตาม

          คะทสึโกะมีชีวิตที่อุทิศให้สามีและลูกแบบหญิงญี่ปุ่นสมัยโบราณ โตโจนั้นถึงแม้เวลาอยู่บ้านจะช่วยเลี้ยงดูลูกอย่างรักใคร่และอ่อนโยนแต่ก็มีเวลาอยู่บ้านไม่มากนัก หน้าที่จึงตกอยู่กับเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่โตโจรับผิดชอบสามตำแหน่งสำคัญในตัวคนเดียว เธอต้องช่วยรับแขก ประสานงานติดต่อในยามที่เขาไม่อยู่จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว

          ในระหว่างสงครามเธอไม่เคยใส่ชุดกิโมโนหรือใส่เสื้อใหม่ เพราะต้องประหยัดให้คนญี่ปุ่นดูเป็นตัวอย่าง เวลาโตโจไม่อยู่เธอมีหน้าที่ส่งทหารออกศึกและรับป้ายดวงวิญญาณของทหารที่เสียชีวิตในต่างแดนบ่อยครั้งจนถูกสื่อโจมตีว่าทำตัวเหมือน ‘ โกเหม่ยหลิง ’ (เลียนแบบชื่อของ ‘ ซ่งเหม่ยหลิง ’ ภรรยาของ เจียงไคเช็ค ผู้มีบทบาทเจ้ากี้เจ้าการกับอเมริกา เนื่องจากเธอเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา และพูดภาษาอังกฤษได้ดี)

          เธอและเขามีลูกด้วยกัน 7 คน ชาย 3 คน และหญิง 4 คน ลูกแต่ละคนมีชีวิตที่แตกต่างกันราวกับนิยาย ฮิเดทากะลูกชายคนโตไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นคนที่ไม่ถูกกับพ่อเลย ขณะที่พ่อถูกขังอยู่ในคุกในฐานะอาชญากรสงครามเขาไม่เคยไปเยี่ยม แถมบ่นว่า ‘ เวรกรรมแต่ปางไหน กรรมจึงมาตกถึงลูกหลาน ไม่น่าเกิดเป็นลูกโตโจเลย’ ลูกคนนี้เสียชีวิตหลังสงครามเลิกไม่กี่ปี

          มิทสึเอะ ลูกสาวคนโต จิตใจหนักแน่นไม่แพ้บุรุษ คู่รักตายก่อนแต่งงาน จึงไม่ยอมมีคู่อยู่นาน เมื่อหลังสงครามเธอแต่งงานได้ 2 ปี ก็เสียชีวิต โตโจได้พึ่งพาลูกสาวคนนี้มากที่สุดในขณะที่อยู่ในคุกก่อนถูกพิพากษา

          มาคิเอะ เป็นลูกสาวคนสอง หลังสงครามยุติลงสามียิงตัวตายจากกรณีพัวพันการฆาตกรรมหัวหน้ากองกำลังรักษาพระองค์ (คดีนี้เกิดจากนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งไม่ยอมแพ้สงคราม บุกเข้าไปในพระราชวังขณะที่พระเจ้าจักรพรรดิ์จะประกาศยอมแพ้สงคราม) ปืนสั้นญี่ปุ่นกระบอกนี้มีผู้นำมามอบให้โตโจและกระบอกนี้เองที่โตโจพยายามใช้ปลิดชีพตัวเองเมื่อทหารอเมริกันเข้ามาจับที่บ้านเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม

          ซาชิเอะ แต่งงานกับสามีนักสร้างภาพยนตร์ และต่อมาเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ เธอกับมาคิเอะเป็นผู้ดูแลแม่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกสาวคนเล็กสุดคือ คิมิเอะ นั้นแต่งงานกับชาวอเมริกัน โดยแม่ไม่ขัดขวางและเธอคิดว่าหากโตโจยังอยู่ก็คงยินยอมด้วย เหตุผลของเธอก็คือระหว่างที่โตโจติดคุกอยู่นั้นมีทหารอเมริกันชื่อ เคนวาร์จ เป็นหนึ่งในผู้คุม ทั้งสองนับถือชอบพอกันมาก เขาช่วยดูแลครอบครัวโตโจที่ถูกรังเกียจโดยสังคมญี่ปุ่น บ้านถูกก้อนหินขว้างอยู่บ่อย ๆ สื่อเหยียดหยามดูถูกว่าเป็นคนนำญี่ปุ่นสู่สงครามและความปราชัย ครอบครัวโตโจถือว่าเขาเป็นมิตรในยามยาก ความรู้สึกที่ดีนี้จึงถูกถ่ายทอดมาถึงคนอเมริกันโดยทั่วไปด้วย

          นายพลโตโจยิงตัวตายแต่ไม่สำเร็จลูกกระสุนเฉียดหัวใจ เขาทำสิ่งที่ได้บอกไว้แล้วว่ายอมตายดีกว่าถูกจับเป็นเชลย ทหารญี่ปุ่นนับหมื่นคนฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับเขา ครั้งหนึ่งครอบครัวโตโจเองก็เคยคิดจะตายด้วยกันทั้งครอบครัว (ลูกชายคนโตบอกว่า ‘ ทำไมต้องไปตายเพราะพ่อแบบนั้น ’)

          เมื่อศาลตัดสินว่าโตโจมีความผิดมีโทษแขวนคอ เขาก็ยอมรับชะตากรรมร่วมกับอีก 6 คน อย่างทรนงขณะมีอายุ 63 ปี และถึงแม้ครอบครัวต้องเผชิญกับการรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกพร้อมกับความโศกเศร้า คะทสึโกะก็ยืนหยัดอย่างไม่หวาดหวั่น เธอทำตามที่สามีสั่งเสียไว้ก่อนตายว่า ‘เธออาจรู้สึกสะเทือนใจ แต่ควรอยู่จนครบอายุขัยของตัวเอง’ คือมีชีวิตอยู่เพื่อกู้ชื่อสามีและสามารถทำได้สำเร็จในปี 1979 นับเป็นเวลา 31 ปี หลังจากที่เขาจากไป กล่าวคือ ได้นำป้ายวิญญาณของโตโจพร้อมกับเพื่อน 6 คน ไปไว้ที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ อันเป็นสถานที่อันทรงเกียรติเก็บป้ายวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากการรับใช้พระเจ้าจักรพรรดิ์ตั้งแต่สมัยเมอิจิ เป็นต้นมา

          คะทสึโกะมีชีวิตอยู่อย่างเต็มไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีจนเสียชีวิตในปี 1982 เมื่อมีอายุได้ 92 ปีเธอคือหญิงผู้สู้ชีวิต อุทิศทุกสิ่งทำงานในหน้าที่เต็มที่และจริงจังอย่างภาคภูมิใจในความรักชาติรักบ้านเมืองของตนเอง (ข้อมูลจากหนังสือ “15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร แปลและเรียบเรียง)

บันทึกคนขี้รำคาญ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 พฤษภาคม 2559

          ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นคนขี้รำคาญ หลายเรื่องในสังคมไทยเราเป็นเรื่องน่ารำคาญ ดังนั้นเพื่อเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกและเพื่อให้ท่านผู้อ่านมีส่วนร่วมด้วยทางอารมณ์ ลองดูกันนะครับว่าเรารำคาญในเรื่องเดียวกันหรือไม่

          เรื่องแรกคือการใส่หมวกกันน็อคในบ้านเรา การใส่หมวกป้องกันเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ถ้าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อคและประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตไปเลยโดยไม่นอนเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราแย่งเตียงคนป่วยในโรงพยาบาลก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่ถ้าเกิดกระโหลกร้าวจนมีอาการต่อเนื่องที่ต้องรักษาพยาบาลโดยใช้ทรัพยากรของสังคมที่แย่งชิงมาจากสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างนี้ก็เป็นปัญหาเพราะสภาวการณ์เช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากใส่หมวกกันน็อค

          กรณีของการใช้เข็มขัดนิรภัยและใส่หมวกกันน็อคก็อยู่บนเหตุผลเดียวกันกล่าวคืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่นมาจากการไม่ใช้สองสิ่งนี้

          ในฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ หรือแม้แต่จาร์กาต้า และเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอินโดนีเซียถึงแม้จะมีมอเตอร์ไซค์รวมล้าน ๆ คันแต่ทุกคนใส่หมวกกันน็อค (ขอย้ำว่าทุกคน) และเป็นหมวกจริง ไม่ใช่หมวกปลอม ผู้เขียนดูเมืองเหล่านี้ของประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่ต่างจากเราแล้วรู้สึกสะท้อนใจ และรู้สึกรำคาญว่าเหตุใดเขาจึงสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ในขณะที่บ้านเรากฎหมายเป็นเศษกระดาษ มั่นใจว่าหาก ทุกคนทำตามกฎหมายแล้วจะประหยัดทรัพยากรของสังคมเราได้นับเป็นหมื่นล้านบาท และประหยัดน้ำตาไปได้มากมาย ถ้านับมูลค่าชีวิตและค่าเสียโอกาสของคนในครอบครัว ตลอดจนมูลค่าความเสียใจ (ถ้าคำนวณได้) เข้าไปด้วยแล้ว เราอาจประหยัดไปได้นับแสนล้านบาทต่อปีทีเดียว

          เรื่องที่สองคือการล่องหนของตำรวจจรารกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนสังเกตุว่าใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นตำรวจมาโบกรถดูแลการจราจรที่ติดขัดบางตามาก ๆ บางจุดก็โบกรถประเดี๋ยวประด๋าวสัก 1 ชั่วโมงแล้วก็กลายเป็นนินจาไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          จะอ้างว่ามีกล้อง CCTV ที่ตรวจจับการทำผิดกฎจราจรแล้วดังนั้นการจราจรต่อไปจะติดขัดน้อยลงเพราะเป็นการทดแทนการใช้แรงงานดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ใช่ที่ การติดขัดจราจรแก้ไม่ได้แน่นอนด้วยกล้องเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายผ่านกล้องอย่างมีประสิทธิภาพพอเนื่องจากการดูแลกล้อง การดำเนินงานออกใบสั่ง การเรียกเก็บเงิน ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย

          ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มายืนดูการจราจรเพื่อบังคับทางอ้อมให้ลูกน้องทำงานอย่างแข็งขันนั้นบัดนี้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปเสียแล้ว ตำรวจที่เห็นหนาตาและทำงานอย่างแข็งขันก็ตอนตั้งด่านตรวจจับ ไม่แน่ใจว่าเหตุที่ขาดตำรวจมาโบกรถนั้นเป็นเพราะแต่ละสถานีตำรวจปัจจุบันมีแต่ร้อยตำรวจตรีที่เลื่อนมาจากนายดาบ (ผลงานของอาเหลิมเขา) ซึ่งมีการเลื่อนในครั้งนั้นนับหมื่นคน จะให้คนระดับนายตำรวจสัญญาบัตรไปโบกรถหรือ มันไม่สมฐานะครับ งานอย่างนี้ต้องให้อาสาสมัครจราจรเขาทำกันในตอนเช้าและเย็นเวลาเร่งด่วน ไอ้ครั้นจะพึ่ง ‘จ่าเฉย’ มันก็จะเสียหน้า ปีหนึ่ง ๆ เราจึงเสียเงินจากการเผาผลาญน้ำมันเพราะจราจรติดขัดในระดับที่เกินสมควรนับแสนล้านบาท

          ถ้าใส่ใจเรื่องการจราจรติดขัดมากขึ้นกว่านี้อีกหน่อย และป้อมยามตามสี่แยกที่ปิดเปิดไฟจราจรนั้นสว่างและโปร่งใสกว่านี้ ไม่มืดเป็นไนท์คลับเช่นปัจจุบันจนไม่รู้ว่ามีตำรวจควบคุมไฟจราจรอยู่หรือไม่ หรือปล่อยให้ไฟมันปิดเปิดกันตามอัตโนมัติ เราคงมีคุณภาพชีวิตกันดีกว่านี้แน่

          เรื่องที่สามคือเรื่องการใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนเรียกขานกันของวัยรุ่นหรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ เรื่องนี้บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับคนขี้รำคาญเช่นผู้เขียน มันเป็นเรื่องที่ควรบ่น

          การใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนในหมู่เพื่อนสนิทในสถานที่อันเหมาะสมไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันเป็น “วาทกรรม” ของมนุษย์อย่างหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความสนิทสนม แต่ถ้าหากเป็นการใช้ในที่สาธารณะอันไม่บังควรแล้ว มันจะทำให้คนใช้มีค่าต่ำลงในสายตาคนอื่น ๆ

          คนจำนวนมากลืมไปว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สาธารณะซึ่งหากไม่จำกัดวงไว้เป็นอย่างดีแล้ว คนอื่น ๆ ก็จะเห็นการใช้สรรพนามเช่นนั้น ซึ่งไม่ว่าจะพยายามดูอย่างเห็นใจเพียงใดก็ไม่อาจหลีกหนีความรู้สึกที่เป็นลบต่อผู้ใช้ได้

          ผู้เขียนเคยเห็นนักศึกษาสาวหน้าตาดี 3-4 คน จากมหาวิทยาลัยใหญ่มีชื่อเสียงของรัฐแห่งหนึ่งใช้ภาษาพ่อขุนกันอย่างสนุกสนานบนรถไฟฟ้าในระดับที่ดังอย่างไม่สะทกสะท้านสายตาของผู้ร่วมโดยสาร เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่ากำลังทำลายคุณค่าของตนเองและของมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนอยู่ในสายตาคนจำนวนหนึ่ง

          ผู้เขียนเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นคู่รักกันใช้สรรพนามพ่อขุนอยู่บ่อย ๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียและที่ได้ยินกับหูจนสงสัยว่าสรรพนามเช่นนี้มันช่วยทำให้เกิดบรรยากาศโรแมนติกขึ้นได้มากเพียงใด (ถ้าอินกับหนังสือของ “ไม้ เมืองเดิม” กันเป็นพิเศษก็อาจเป็นไปได้ แต่มั่นใจว่าไม่รู้จัก หรือแม้แต่ “ผู้ชนะสิบทิศ” ก็ไม่น่าจะเคยได้ยินชื่อ)

          เรื่องที่สี่คือการเข้ามาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของคนต่างชาติในธุรกิจบางประเภทในเมืองท่องเที่ยวของบ้านเรา มันเป็นเรื่องน่ารำคาญก็เพราะเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศที่ใดเราก็ตัวลีบเพราะเป็นบ้านเมืองของเขา ไม่กล้าไปกร่างให้เป็นปัญหา ยิ่งคนต่างชาติไปซ่าเป็นเจ้าพ่อในเมืองท่องเที่ยวของประเทศเขานั้นแทบไม่เคยได้ยิน จะมีก็แต่สยามประเทศของเราเท่านั้นที่ยอมให้คนต่างชาติมาทำใหญ่โตในบ้านเราได้

          ไม่เข้าใจว่าปล่อยไว้ได้อย่างไร ควันไฟจากแบงค์พันมันเข้าตาหรืออย่างไรเจ้าหน้าที่รัฐของเราจึงมองไม่เห็น ศิโรราบราวกับเผชิญหน้าคนถือปืนกล อำนาจในมือเรามีอยู่เต็มที่ที่จะจัดการ เราจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ทำความเสียหายให้แก่บ้านเมืองของเราไปถึงไหนกัน

          ปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ก็คือมีคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นส่วนน้อยและคนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงคนไทยเหล่านี้เป็นเพียง ‘ผี’ ที่ให้ใช้ชื่อโดยไม่ได้ร่วมประกอบธุรกิจจริงจัง ยิ่งนับวันยิ่งมีมากขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแต่เงินทองทั้งหมดรั่วไหลกลับไปบ้านเขาเพราะโดยแท้จริงคนชาติเดียวกันเป็นคนทำธุรกิจ คนไทยแทบไม่ได้อะไรเลย ที่น่ารำคาญก็คือเจ้าหน้าที่ของเราทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่จับ ‘ผี’ คนไทยเหล่านี้มาใส่คุกสักจำนวนหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ แบบนี้แหละจะหยุดกระแสได้อย่างชะงัด

          ถ้าการบ่นเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้บ้างก็ถือว่าเป็นการสร้างความรำคาญที่พอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าอ่านแล้วยิ่งรู้สึกรำคาญชีวิตมากขึ้นก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยครับ

Zaha สถาปนิกหญิงคนดังของโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 เมษายน 2559

          ความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนต่างชาติ และการถูกมองว่าเป็นคน “แปลกแยก” ล้วนเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในวิชาชีพ แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้อย่างไม่หวาดหวั่น เธอคือ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงอาหรับชื่อก้องโลก ผู้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ด้วยวัย 65 ปี

          Zaha ชื่อที่เธอใช้เรียกตัวเองรับรางวัลสถาปนิกระดับโลกนับไม่ถ้วน สุดยอดของรางวัลคือ Pritzker Architecture Prize ซึ่งเธอได้รับในปี 2004 และ รับรางวัล Stirling Prize สองปีฃ้อนคือ ในปี 2010 และ 2011 อีกรางวัลเกียรติยศที่สำคัญยิ่งก็คือในปี 2012 เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษระดับสูงขั้น DBE หรือ Dame Commander of the Most Excellent Order of the British Empire

          DBE ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอันดับสองถัดจาก GBE หรือ Dame Grand Cross of the Most Excellent Order of the British Empire ซึ่งสองระดับสูงสุดนี้ผู้ได้รับจะมีคำนำหน้าว่า Sir สำหรับชาย และ Dame สำหรับหญิง

          สำหรับ Pritzker Architecture Prize นับถือกันว่าเป็น Noble Prize ของสถาปนิกกันทีเดียว รางวัลที่ให้ประจำปีกันนี้มอบให้แก่สถาปนิกทั่วโลกที่ผลงานมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเชิดชูมนุษย์ชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มมอบกันตั้งแต่ปี 1979 โดย Hyatt Foundation ส่วน Stirling Prize นั้นเป็นสุดยอดรางวัลของ Royal Institute of British Architects (RIBA) ฃึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานเป็นเลิศด้านสถาปนิกประจำปีโดยเริ่มมอบตั้งแต่ปี 1996เป็นต้นมา

          ผลงานโดดเด่นของเธอมีมากมาย ที่คนรู้จักกันมากก็คือ London Aquatic Center ในลอนดอนซึ่งสร้างขึ้นสำหรับกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2012 /Guangzhou Opera House (2010) / MAXXI (National Museum of the 21st Century Arts ที่กรุงโรม (ชนะ Stirling Prize ในปี 2010) ฯลฯ ถ้ารวมอาคารที่เธอชนะการออกแบบจากทั่วโลกและมีการสร้างแล้วนับได้กว่า 100 อาคาร

          Zaha เป็นเหยื่อสนุกปากของผู้สื่อข่าวด้านสถาปัตยกรรมของสื่อใหญ่ในโลกอยู่หลายปีเนื่องจากเธอได้รับรางวัล Pritzker ก่อนเวลาอันสมควรในสายตาของคนเหล่านี้ ถึงเธอจะมีความสามารถสูงแต่พวกเขาเห็นว่าเธอยังไม่ถึงขั้นนั้น ดังนั้นเป็นเวลายาวนานที่เธอต้องพิสูจน์ และก็ได้ทำสำเร็จอย่างงดงามก่อนที่จะเสียชีวิต

          เธอเป็นลูกสาวของนักการเมืองฐานะดีชาวอิรัก ได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียนคริสตังในอิรัก จากโรงเรียนประจำในอังกฤษ และในสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะกลับมาเรียนด้านคณิตศาสตร์ จาก American University of Beirut และศึกษาต่อที่ The Architectural Association School of Architecture ในลอนดอนในปี 1972 ความสามารถของเธอฉายแสงที่นี่ จากสาวขี้อายไม่กล้าแสดงออกกลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง จนถึงแข็งกร้าว เมื่อเรียนจบก็ทำงานกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในเนเธอร์แลนด์ จนได้เป็นเจ้าของร่วมบริษัทใน ค.ศ. 1977 ในปี 1980 เธอตั้งบริษัทออกแบบของเธอเองในลอนดอน

          บริษัทของเธอชนะการประกวดออกแบบหลายโครงการ จนวงการได้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของเธอที่เน้นความคมของเรขาคณิต และความแหวกแนวสมัยใหม่ออกไปทางความอลังการ

          ในกลางทศวรรษ 1980 เธอสอนที่ Harvard Graduate School of Design และในทศวรรษ 1990 ก็สอนที่ University of Illinois ที่ Chicago’s School of Architecture และต่อมาที่มหาวิทยาลัย Columbia และ Yale และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเธอก็เป็นอาจารย์สอนที่เวียนนา

          Zaha ทำหลายอย่างไปพร้อมกันนับตั้งแต่ออกแบบตกแต่งภายในอาคารใหญ่โตทั้งใหม่และเก่าแก่ (รวมถึง Mind Zone ใน Millennium Dome ในลอนดอน) ออกแบบเสื้อผ้าและรองเท้าบูทของ แบรนด์เนม ตลอดจนอาคารศิลปะในยุโรปหลายแห่ง บริษัทของเธอมีลูกจ้างถึง 400 คน

          ถึงแม้เมื่อเธอได้รับรางวัล Pritzker ในปี 2004 นั้นจะถูกวิจารณ์ว่ายังไม่เหมาะสม แต่หลายคนในวงการนี้เห็นว่าสิ่งที่ผู้วิจารณ์มีความรู้สึกแฝงอยู่ก็คืออคติของการเป็นผู้หญิงต่างชาติและเป็นอาหรับด้วย (เธอไม่ค่อยมีความสุขนักกับการเป็นพลเมืองอังกฤษ และการอยู่อาศัยในลอนดอน ตอนปลายชีวิตเธอชอบไมอามี่ สหรัฐอเมริกามากกว่าจนเสียชีวิตที่นี่จากหัวใจล้มเหลว)

          เธอพยายามหนักที่จะพิสูจน์การสมควรเป็นผู้ชนะรางวัลนี้และเธอก็ประสบช่วงเวลาทอง ในต้นทศวรรษของปี 2000 Zaha ชนะการประกวดแบบระหว่างประเทศจำนวนมากมาย หลายโครงการถึงจะชนะแต่ก็ไม่ได้สร้างเพราะราคาที่แพงเกินไปจนต้องยกเลิกและประกวดใหม่ดังกรณีของ National Olympic Stadium ของโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020

          Zaha เปลี่ยนสไตล์จากเรขาคณิตมาเป็น “Queen of the Curve” กล่าวคืออาคารของเธอมีความโค้ง เลี้ยวลด กลมกลืนอย่างงดงามแปลกตาในยุคสมัยใหม่ เธอถนัดออกแบบอาคารลักษณะที่เรียกว่า Iconic Building คืออาคารอลังการที่งดงามใหญ่โต เป็นตัวชูความยิ่งใหญ่ ตัวอย่างของ Iconic Building ได้แก่ White House / ทัชมาฮาล / The Louvre / The Burj Al Arab (อาคารสูงเป็นรูปใบเรือที่ดูไบ) / Sydney Opera House / Empire State Building / Eiffel Tower / Big Ben / พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคาร Petronas ของมาเลเซีย ฯลฯ

          จากสถาปนิกที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบอาคารที่ไม่ได้รับการสร้าง กลายมาเป็นสถาปนิกที่เชื่อมั่นในตัวเอง เป็นผู้เลือกลูกค้า เป็นผู้บอกลูกค้าว่าหน้าตาอาคารควรเป็นอย่างไรและดื้อดึงไม่ถอย เป็นผู้มีวาทศิลป์ในการนำเสนอ และเป็นผู้มีบุคลิกภาพในด้านความจริงใจ ปากร้าย จิตใจดี ภาคภูมิใจในความเป็นอาหรับ ฯลฯ นั้นมิใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดต้องใช้เวลาและการทำงานหนักอย่างยาวนาน

          เธอเป็นสถาปนิกผู้ใช้จินตนาการเป็นหลัก ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมเป็นรองและความอลังการตลอดจนงบประมาณที่มหาศาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในทุกโครงการที่เธอตอบรับงานในตอนบั้นปลายของชีวิต ถ้าไม่แน่จริงอย่าได้เสนอตัวมาจ้างเธอออกแบบเป็นอันขาด

          อย่างไรก็ดีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องต่อสู้กับการแข่งขันออกแบบระหว่างประเทศที่เจ้าของโครงการจัดขึ้นอย่างช่ำชอง อาคารจำนวนมากเหล่านี้ได้มาด้วยฝีมือและการต่อสู้ในโลกของวิชาชีพที่ผู้ชายครอบงำ และมีอคติต่อความเป็นตัวตนของเธอ

          ถึงแม้ Zaha จะไม่มีผู้สืบทอดความเป็นอัจฉริยะของเธอ แต่อาคารอันงดงามแปลกตาที่เธอทิ้งไว้ให้โลกคือทายาทตัวจริงของสถาปนิกหญิงสำคัญของโลกคนนี้

อะไรอยู่ในสมองนักเศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 เมษายน 2559

           คำว่า “เศรษฐศาสตร์” ดูลึกลับ น่ากลัว น่าปวดหัวกับตัวเลข ยิ่งนักเศรษฐศาสตร์แล้วยิ่งมึนว่าเขาทำอะไรกันและในหัวเขาคิดถึงอะไร ขาดทุน-กำไร ต้นทุน เงิน ๆ ทอง ๆ การผลิต การบริโภค ฯลฯ

          “เศรษฐศาสตร์” เป็นคำน่ารังเกียจสำหรับสังคมไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เพราะมีนัยยะของ “สังคมนิยม” “คอมมูนิสต์” เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบบเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1917 ในรัสเซียเป็น “ระบอบคอมมูนิสต์” โรงเรียนกฎหมายไทยมีการสอนวิชานี้แต่แฝงอยู่ใน ชื่ออื่น

          “เศรษฐศาสตร์” ได้รับการยอมรับในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณหลัง ค.ศ. 1946) มีการตั้ง “คณะเศรษฐศาสตร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1949 (2492) ที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ขึ้นใน พ.ศ. 2504 อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

          “เศรษฐศาสตร์” ฝึกฝนให้ตระหนักว่าทุกสิ่งมีความจำกัด (scarce) ซึ่งหมายความว่ามีความต้องการมากกว่าที่จะสนองตอบได้ ดังนั้นจึงเห็นความจำกัดในเรื่องทรัพยากรของประเทศและของโลก ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน เงินทอง ฯลฯ และครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมด้วย เช่น เวลาและโอกาส

          เมื่อเกิดความจำกัดขึ้นจึงทำให้เกิดการต้องเลือกเกิดขึ้น เช่น ประเทศไทยมีที่ดินจำกัดอยู่เพียงประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร แต่เราอยากมีที่ดินมากกว่านี้เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งอุ้มน้ำ ทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งขาดแคลน คำถามก็คือแล้วเราจะแบ่งมันใช้ในแต่ละด้านอย่างไร (ถ้าไม่มีความจำกัดก็ไม่ต้องมีปัญหานี้เพราะจะจัดเอาไปใช้แต่ละด้านมากมายเท่าไรก็ทำได้)

          ไม่ว่าจัดสรรอย่างไรเมื่อรวมกันทั้งหมดก็ต้องเป็น 500,000 ตารางกิโลเมตร สมมุติถ้าเราจัดให้เป็นป่าไปเกือบหมดก็เหลือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าเอาไปใช้เพื่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตรมากก็จะเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยที่จะเป็นแหล่งแห่งความชุ่มชื้นผลิตน้ำสืบต่อไปถึงลูกหลาน

          คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วจะจัดสรรให้แต่ละด้านไปอย่างไร ตรงนี้แหละที่นักเศรษฐศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยให้ความกระจ่างได้ว่าแต่ละการเลือกในการจัดสรรที่ดินมีผลดีผลเสียอย่างไร และมากน้อยเพียงใดเพื่อคนที่รับผิดชอบจะได้ตัดสินใจ ถ้าเป็นระดับย่อยคือที่ดินของเราเอง เราเป็นคนตัดสินใจแต่ถ้าเป็นระดับประเทศ ประชาชนตัดสินใจผ่านคนที่เขาเลือกเข้าไปทำงานแทนฃึางคำตอบอาจเป็นว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดผสมกับการควบคุม

          ในเรื่องเงินทองก็เหมือนกัน ยาจกจนถึงเศรษฐีก็เผชิญปัญหาอย่างเดียวกันคือจะจัดสรรเงินอย่างไรอย่างเหมาะสม สำหรับยาจกนั้นปวดหัวน้อยเนื่องจากมีเงินน้อยจึงมีทางเลือกจำกัด แต่สำหรับเศรษฐีหรือคนมีอันจะกินแล้วค่อนข้างปวดหัว (แต่ถ้าไม่มีเงินจะปวดหัวกว่า) ว่าจะเอาเงินที่มีจำกัดไปปลูกบ้านหลังใหญ่และเหลือเงินอีกส่วนที่น้อยกว่าไปลงทุนด้านอื่นหรือบริโภค

          ถ้าคิดว่าทั้งชีวิตหนึ่งแต่ละคนจะหาเงินได้จำนวนหนึ่งโดยได้รับอย่างกระจายไปในแต่ละช่วงชีวิต คำถามก็คือจะจัดการกับมันอย่างไร จะใช้จ่ายมันอย่างไร ถ้ามีมากใช้มากก็จะไม่มีเงินออมสำหรับหาดอกผลจากมันในอนาคต ถ้ามีมากใช้น้อยเกินไปก็ขาดความสุข

          การขาดแคลนและต้องเลือกเช่นนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ไม่มีอะไรฟรี” กล่าวคือ “จะได้บางอย่างก็ต้องยอมเอาบางอย่างไปแลก”เสมอ เช่น อยากมีเงินออมเพื่อให้หาดอกผลก็ต้องเสียสละการบริโภคในวันนี้ไปแลก แต่ถ้าอยากบริโภคมาก ๆ ในวันนี้ก็ได้มาด้วยการต้องเสียสละเงินออมซึ่งอาจสร้างดอกผลให้ได้ในอนาคต

          นักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแลกได้กับเสียนี้ว่า “ค่าเสียโอกาส” (opportunity cost) ในกรณีข้างต้นก็คือการเสียสละการบริโภคในวันนี้ไป กับอีกกรณีคือการยอมเสียสละเงินออมเพื่อความสุขในวันนี้ สมมุติว่าถ้าวันนี้มีทางเลือก 2 อย่าง คือ อยู่บ้านกับออกไปทำงาน ไม่ว่าจะเลือกอยู่บ้านหรือการทำงานก็ล้วนมี “ค่าเสียโอกาส“ ทั้งนั้น ถ้าอยู่บ้าน “ค่าเสียโอกาส” ก็คืองานที่ไม่ได้ทำเพราะต้องยอมเสียสละไปเพื่ออยู่บ้าน ถ้าไปทำงาน “ค่าเสียโอกาส” ก็คือการยอมเสียสละความสุขจากการที่ได้อยู่บ้าน (สมมุติว่าอยู่บ้านแล้วมีความสุขนะครับ) เพื่อจะได้ไปทำงาน

          นี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวของนักเศรษฐศาสตร์เสมอเพราะทุกอย่างในโลกล้วน ขาดแคลน ดังนั้นจึงต้องเลือกและทุกการเลือกก็มี “ค่าเสียโอกาส” การต้องเลือกนี่แหละคือเรื่องปวดสมอง เพราะไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ต้องเอาบางสิ่งไปแลกเสมอ (“ไม่มีอะไรฟรี”) และ “ฟรี” ในที่นี้กินความกว้างขวางกว่าเงิน เงินทองนั้นเป็นเพียงทรัพยากรอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ขาดแคลนอย่างมาก ๆ สำหรับมนุษย์คือเวลา

          ตัวอย่างหนึ่งที่การเลือกเกี่ยวพันกับเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว เมื่อถึงวัยทองสุภาพสตรีก็มี 2 ทางเลือก หนึ่งปล่อยไปตามธรรมชาติไม่กินฮอร์โมนซึ่งจะทำให้ร่างกายโทรมเร็วขึ้น อาจมีปัญหากระดูกสันหลัง กระดูกบางขึ้น จิตใจห่อเหี่ยว อีกทางเลือกหนึ่งก็คือกินฮอร์โมนซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่ากินแล้วอาจเกิดมะเร็งเต้านมหากมีทางโน้มที่จะเป็นอยู่แล้วทางพันธุกรรม

          ในกรณีนี้มีความขาดแคลนเกิดขึ้นคือเลือกได้ทางเดียวเท่านั้น ไม่ว่าตัดสินใจเลือกเส้นทางใดก็ล้วน “ไม่ฟรี” ทั้งสิ้น ถ้าไม่กินฮอร์โมนก็แก่เร็ว ถ้ากินฮอร์โมนก็อาจเป็นมะเร็ง การตัดสินใจเลือกครั้งนี้อาจหมายถึงชีวิตก็ได้ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า สามารถเอาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

          อีกเรื่องหนึ่งในสมองของคนพวกนี้ก็คือผลิตภาพ (productivity) ซึ่งหมายถึงว่าหนึ่งหน่วยของวัตถุดิบผลิตได้มากน้อยเพียงใด เช่นที่ดิน 1 ไร่หรือแรงงาน 1 คน มีความสามารถในการผลิตได้มากเพียงใด ความร่ำรวยหรือยากจนของสังคมใดก็อยู่ตรงนี้แหละ ถ้าสังคมใดมีคนที่มีคุณภาพก็สามารถบันดาลให้เกิดผลิตภาพสูง จนช่วยให้ มีผลผลิตมากมายแก่สมาชิกเพื่อแบ่งปันกัน ถ้าสังคมนั้นมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงความสามารถในการผลิตต่อหนึ่งหน่วยวัตถุดิบนั้นต่ำ ผลผลิตไม่มีพอให้สมาชิก สังคมนั้นก็ยากจน

          เมื่อทรัพยากรทุกอย่างขาดแคลน ความสามารถในการผลิตต่อหน่วยวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก สมาชิกในสังคมมีความสุขจากการได้บริโภคสินค้าและบริการ ถ้าสังคมใดมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงว่าแต่ละหน่วยวัตถุดิบผลิตได้น้อยจนผลผลิตไม่เพียงพอต่อสมาชิกซึ่งหมายถึงความยากจนนั่นเอง

          นักเศรษฐศาสตร์คือนักจัดการความขาดแคลน การเข้าใจธรรมชาติและกลไกของการแก้ไขความขาดแคลน การรู้วิธีการประเมินผลได้ผลเสีย การคาดคะเน ตลอดจนการวางแผนใช้ทรัพยากรทำให้นักเศรษฐศาสตร์มีบทบาทต่อสังคมเสมอ

Wool ไม่ใช่ขนแกะ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 เมษายน 2559

          เมื่อได้ยินคำว่า wool เรามักนึกถึงขนแกะ แต่แท้จริงแล้ว wool มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายพันธุ์ ซึ่งขนของมันมีลักษณะพิเศษ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ woolหลายอย่างที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากในอนาคต

          มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นขนยาวเป็นเส้นหนาพันกันเป็นเกลียวของสัตว์ตระกูลแกะจากหนังสัตว์ที่แล่เอามาก็เกิดความคิดที่จะเอามาต่อกันให้ยาวเป็นเส้นและก็ทอขึ้นเป็นผ้า wool

          สัตว์ตระกูลแกะที่ขนของมันสามารถเอาไปใช้เป็น wool ได้นั้นก็ได้แก่แกะ แพะ อูฐ alpacas (สัตว์ที่หน้าตาคล้ายแกะแต่หูกาง หน้าตาออกไปทางอูฐ มีอยู่มากในอเมริกาใต้) ฯลฯ สัตว์ในตระกูลแกะที่ไม่ได้เอามาใช้งานโดยมนุษย์นั้นมีอยู่ด้วยกันถึงกว่า 200 พันธุ์

          หลักฐานของการใช้เสื้อทอจาก wool นั้นปรากฏในหลุมศพอียิปต์อายุกว่า 3,400 ปี และในที่ต่าง ๆ ย้อนอายุขึ้นไปถึง 2,000 กว่าปี สันนิษฐานว่าในตอนต้นนั้นกระบวนการฝั้นให้เป็นเส้นจากขนสัตว์นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะสัตว์ตระกูลแกะที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านในยุคแรกมีขนแยะก็จริง แต่แยกได้เป็นสองชั้นคือชั้นนอกเป็นเส้นยาวแข็งที่เรียกว่า kemp และชั้นในมีเส้นละเอียดอ่อนกว่าเรียกว่า fleece เมื่อขนชั้นนอกแข็งจึงทอได้ยาก แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปมนุษย์ก็เลือกเฉพาะสายพันธุ์ที่มี fleece มาก

          Wool มีลักษณะพิเศษที่สามารถทอเป็นเส้นได้เนื่องจากมีสารที่เรียกว่า alpha-keratin ซึ่งพบในขน เขา เล็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สารนี้ทำให้เส้นมันติดกันได้ง่ายเป็นพิเศษ เซลล์ชั้นนอกของขนหมุนเป็นเกลียวจนเกิดช่องว่างที่ทำให้ขนอีกเส้นหนึ่งเข้ามาติดและพันกันเป็นเกลียวเส้นขึ้นมาได้

          การคัดสายพันธุ์ทำให้ปัจจุบันมีแต่ขนอ่อนเป็น fleece เหลืออยู่เท่านั้น ขน wool ของพันธุ์ปัจจุบันมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 16 ไมครอน จากแกะพันธุ์ Merinos ที่มีชื่อเสียงจนถึง 40 ไมครอน ถ้าใครใส่เสื้อหนาวที่ทำจาก wool แล้วรู้สึกมีอะไรแทงจนคัน นั่นหมายถึงว่าใช้ขนแกะเส้นใหญ่และ ปลายขนแยงผิวหนัง ไม่ใช่เรื่องภูมิแพ้แน่ เพราะยังไม่เคยมีกรณีแพ้ woolปรากฏในทางการแพทย์เลย

          wool นั้นเป็นสิ่งมีค่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถูกใช้เป็นสิ่งชดใช้หนี้สงคราม ค่าไถ่ตัวจากการลักพา ชดใช้หนี้การค้า ฯลฯ แต่มีข้อเสียสำคัญคือมีลักษณะใหญ่โตมัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมซึ่งยากต่อการขนส่ง ต่างจากทองคำซึ่งถ้ามีมูลค่าเท่ากันจะมีน้ำหนักแตกต่างกันมาก และกินที่น้อยกว่ามาก ๆ

          นอกจากใช้ wool สำหรับสิ่งทอไม่ว่าจะเป็นเสื้อกางเกงสารพัดรูปแบบ ผ้าพันคอ หมวก ถุงเท้า ถุงมือ ฯลฯแล้วยังสามารถใช้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการค้าอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ใช้เป็นตัวปรับเสียงเปียโนผ่านการสอดแทรกระหว่างสายเปียโนในเครื่อง ใช้เป็นตัวดูดซับน้ำมันรั่วในทะเล ฯลฯ ปัจจุบันมีการใช้ wool ในการเกษตรด้วยในแถบรัฐมอนตานาของสหรัฐอเมริกา

          มีการใช้ wool เป็นตัวคลุมดินเพื่อป้องกันการเซาะพังของดินได้เป็นอย่างดี เกษตรกรในนิวซีแลนด์ริเริ่มใช้ขนแกะชนิดเลวคลุมดินเพื่อเก็บความชื้นให้ต้นอ่อน หรือเมล็ดอ่อนก่อนงอก อีกทั้งใช้โรยเป็นแนวรั้วเพื่อเป็นปุ๋ยอีกด้วย

          wool เหมาะสมในการคลุมดินเพราะเบาพอที่ต้นอ่อนเช่นข้าวโพดจะงอกแทรกขึ้นมาได้ อีกทั้งมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ(biodegradable) เมื่อย่อยสลายช้า ๆ มันจะเป็นปุ๋ยที่ดีเพราะทำให้เกิดไนไตรเจนในดินถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ขายกันซึ่งมีเพียง ร้อยละ 6 เมื่อแนวรั้ว wool ย่อยสลายก็จะเกิดปุ๋ยธรรมชาติขึ้น

          นอกจากสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้แล้ว wool ยังเป็นสิ่งที่เก็บน้ำไว้ได้ดีอีกด้วย wool มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ในตัว กล่าวคือมันดูดซับน้ำโดยตรงไม่ได้ดีเนื่องจากบนขนมี fatty acid proteins หรือกรดโปรตีนไขมันซึ่งทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำโดยตรงได้ แต่โครงสร้างภายในของขนสามารถดูดซับความชื้นของไอน้ำได้เป็นอย่างดี

          พูดสั้น ๆ ก็คือ wool เกลียดของเหลวแต่ชอบไอน้ำ การเอามันคลุมผิวดินโคนต้นทำให้เก็บความชื้นจากไอน้ำได้ดี ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาเซาะปุ๋ยที่มีประโยชน์ไปจากโคนต้น

          ลักษณะพิเศษเช่นนี้ของ wool หากมีการวิจัยกันอย่างลึกซึ้งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรไทย ปัจจุบันมีการเลี้ยงแกะกันอยู่บ้างในบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง หรือแม้แต่ในอีสาน แต่ wool ที่ได้ยังไม่มีคุณภาพดีพอที่จะได้ราคา ถ้าหากเอามาใช้คลุมดินและเป็นปุ๋ยได้อย่างคุ้มทุนและสร้างกำไรแล้ว การเลี้ยงแกะเอาเนื้อและ wool อาจเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งได้สำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องการปลูกพืชพึ่งน้ำมากอีกต่อไป

          อีกลักษณะที่มีความเป็นพิเศษอย่างยิ่งของ wool ก็คือติดไฟได้ยากมาก ๆ wool จะติดไฟเมื่อมีความร้อนถึงประมาณ 1,382 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งว่า wool นั้นต้านไฟได้ดีมาก อีกลักษณะที่ต่างไปจากไนลอนและโพลีเอสเตอร์ (polyester) ก็คือเมื่อติดไฟจะไม่หลอมเหลวเป็นหยดหรือละลาย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ต้องการใช้ wool เป็นวัตถุดิบในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับทหาร พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกู้ระเบิด

          ประโยชน์ของ wool ในเรื่องไม่หวาดเสียวก็มีดังเรื่องลูกเบสบอลล์ซึ่งแข็งมาก (ถ้าโดนจุดสำคัญของร่างกายก็ทำให้เสียชีวิตได้) ภายในลูกเบสบอลล์คุณภาพชั้นดีจะมีเส้น wool ม้วนอยู่เป็น ชั้น ๆ อย่างแน่นเป็นก้อน แต่ละลูกใช้เส้น wool ยาวประมาณ 370 หลา เพื่อช่วยให้ลูกเบสบอลล์สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ดีหลังจากที่ถูกตีแล้วทุกครั้ง

          มนุษย์นั้นมีความอัศจรรย์ตั้งแต่รู้จักใช้ขนสัตว์จากสัตว์ตระกูลแกะมาปั่นเป็นเกลียวเส้นและเอามาทอเป็นเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความหนาว รู้จักเอาเนื้อลูกแกะ (lamb) มาเป็นอาหาร และปัจจุบันก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการเอามันมารับใช้ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม

          เราต้องคิดและทำวิจัยกันอย่างกว้างขวางในแนวดัดแปลงเช่นกันสำหรับยางซึ่งเรามีวัตถุดิบอยู่มากมายในปัจจุบันและจะยิ่งมากกว่านี้อีกในอนาคตเมื่อต้นยางจำนวนมหาศาลเริ่มให้น้ำยางและต้นยางเริ่มแก่ขึ้น ถ้าทำได้สำเร็จเราอาจมีนวัตกรรมของสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าออกสู่ตลาดโลก

เรื่องแปลกจากอินโดนีเซีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 เมษายน 2559

          ผู้เขียนได้ไปอินโดนีเซียมาจึงขอนำเรื่องล่าสุดเกี่ยวกับประเทศพี่ใหญ่แห่งอาเซียนนี้มา เล่าสู่กันฟัง ขอเล่าเฉพาะเรื่องแปลก ๆ ที่อาจมีคนจำนวนไม่มากนักทราบกัน

          หลังจากที่ไม่ได้ไปเมืองจาการ์ต้าเมืองหลวงมาประมาณกว่า 10 ปี ผู้เขียนบอกได้เลยว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คลองจำนวนมากน้ำใส มีต้นไม้ปลูกริมคลองสวยงาม สะอาดและร่มรื่นในหลายบริเวณ ต้นไม้ใหญ่มีหนาตาขึ้น และเย็นตาท่ามกลางความร้อนกว่าบ้านเรา (ใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งวิ่งผ่านอินโดนีเซียทางตอนเหนือ)

          ผู้เขียนไปอินโดนีเซียโดยเฉพาะจาการ์ต้ามานับสิบ ๆ ครั้งในระหว่างปี 1980-2000 ล่าสุดไปเมืองบันดุงเมื่อ 2 ปีก่อน จึงเชื่อว่าพอให้ภาพเปรียบเทียบได้

          ประเทศนี้มีประชากรปัจจุบันประมาณกว่า 250 ล้านคน เฉพาะจาการ์ต้ามีคนอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน หากรวมรอบนอกด้วยก็อาจถึง 20 ล้านคน หากดูด้วยสายตาและสังเกตการเปลี่ยนแปลง พูดได้เต็มปากว่าการบริหารจัดการเมืองใหญ่และประเทศใหญ่เช่นนี้เป็นไปด้วยดีกว่าสมัยก่อนเป็นอันมาก

          จาการ์ต้าเป็นแหล่งของการมีงานทำ ผู้คนจึงหลั่งไหลอพยพจากเกือบทุกบริเวณของอินโดนีเซียเข้ามาหางานทำซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย คนเร่ร่อนจึงมีอยู่มากพอควร อาชีพหนึ่งที่บ้านเรายังไม่มีคืองานช่วยการจราจรเล็ก ๆ น้อย ๆเพื่อหารายได้ เช่น ช่วยโบกรถเวลาเลี้ยวยูเทิร์น (ไปยืนขวางนั่นแหละเพื่อให้คันที่หมายตาไว้สามารถเลี้ยวได้สะดวก) คนขับก็จะเปิดกระจกและหยิบเงินให้ประมาณ 2,000 รูปี (ประมาณ 6 บาท อัตราแลกเปลี่ยนคือ 10,000 รูปี เท่ากับ 30 บาท) ทำเช่นนี้เกือบตลอดเวลาในเมืองจน ข้างคนขับรถบัสจะมีธนบัตร 2,000 รูปีไว้เป็นตั้งเพื่อเอาไว้จ่าย “ผู้ช่วย” ซึ่งมีอยู่แทบ ทุกแยก เรื่องนี้น่าจะเป็นทัศนคติของ “พอ ๆ ช่วยกันไป” ให้อยู่กันได้เพราะสมประโยชน์กัน ซึ่งเป็นเรื่องน่ารัก

          นอกจากนี้ถนนบางสายที่ห้ามรถยนต์ที่มีต่ำกว่า 3 คนนั่งผ่าน ก็จะมีคนยืนคอยรับจ้างนั่งโดยสารไปกับรถที่ขับมาคนเดียวหรือสองคนเพื่อไม่ให้ถูกจับ ทุกเช้าเวลาเร่งด่วนจะมีคนได้รับรายได้ไม่น้อยจากการแก้เผ็ดมาตรการแก้ไขปัญหาจราจรนี้ทีเดียว

          อินโดนีเซียไม่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบนดิน แต่ที่มีและได้ผลก็คือบริการรถโดยสารที่บ้านเราเรียกว่า BRT แถวถนนนราธิวาส ฯ กล่าวคือมีช่องทางพิเศษให้รถโดยสารวิ่งตลอดเวลาโดยมีอิฐกั้นเตี้ย ๆ ป้องกันคนอื่นไปช่วยใช้ซึ่งมีมอเตอร์ไซค์เข้าไปวิ่งให้เห็นอยู่บ้าง

          สิ่งที่อัศจรรย์อย่างมากก็คือมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่มากมายเหมือนบ้านเรานั้น คนขี่ ทุกคนใส่หมวกกันน็อกและเป็นหมวกจริงไม่ใช่ปลอม ๆ ผู้เขียนจ้องจับผิดอยู่หลายวันก็ยังไม่เคยเห็นแม้แต่คนเดียวที่ไม่ใส่บนถนนในจาการ์ต้า ซึ่งเหมือนกับที่ฮานอย ตำรวจเขาเข้มข้นได้จริง ๆ ในเรื่องนี้ เขาทำสำเร็จได้อย่างไรน่าศึกษามาก

          อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะจำนวน 14,000 เกาะ ประกอบด้วยกลุ่มเกาะใหญ่ 5 กลุ่ม

          ซึ่งได้แก่ Sumatra/Java (ประชากรกว่าร้อยละ50 อยู่บนเกาะนี้) / Kalimantan / Sulawesi / Lesser Sunda Islands (บาหลีอยู่ในนี้) ดังนั้นจึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง (คำขวัญของประเทศคือ “Unity in Diversity”)

          อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับสี่ของโลก เป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 2.4 เท่า พื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินใหญ่กว่าไทย สี่เท่าตัว (ไทย 500,000 ตารางกิโลเมตร อินโดนีเซียเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร) รายได้ประชากรต่อหัวของไทยคือ 5,400 เหรียญสหรัฐ (180,000 บาท) ต่อปี ส่วนอินโดนีเซียคือ 3,500 (115,000 บาท) เวียดนาม 2,300 (80,000 บาท)

          ขนาดเศรษฐกิจและประชากรที่ใหญ่กว่าเพื่อนใน ASEAN จึงทำให้เป็นผู้นำไปโดยปริยาย หากอินโดนีเซียไม่นำ ASEAN อย่างจริงจัง การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ก็คงเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าในทางการจะเป็นไปแล้วตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2015 ก็ตาม

          เป็นที่ทราบกันดีใน ASEAN ว่าประเทศที่ประชาชนมีความตื่นตัวมากที่สุดกับการเป็นประชาคมอาเซียนก็คือประเทศไทย ไม่ว่าจะไปโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ในเมืองหรือชนบท จะเห็นเรื่องราวของ ASEAN ติดอยู่ข้างฝาห้องเรียน บ้างก็มีธงชาติหรือข้อมูลเกี่ยวกับประเทศสมาชิกแสดงไว้

          เราไปไกลกันถึงกับเลื่อนการเปิดเรียนภาคแรกของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จากเดิมมิถุนายนไปเป็นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ตรงกับอีกหลายประเทศสมาชิกอยู่ดี และท่ามกลางความร้อนระอุของเดือนเมษายนและพฤษภาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องเรียนภาคสองกันอย่างเหงื่อไหลไคลย้อยเพื่อความเป็นอาเซียน

          พูดถึงเรื่องความร้อนก็สังเกตเห็นว่าบ้านของผู้คนในเกาะชวานั้นมักไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ จะมีความรู้สึกว่าค่อนข้างมืดและอึดอัดสำหรับคนที่ชอบลมเย็นพัดโกรกบ้านแบบคนไทย ได้ทราบว่าคนอินโดนีเซียโดยทั่วไปไม่ชอบการปะทะลมเย็นที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ และจาก ลมธรรมชาติ ดังนั้นเกือบทุกสถานที่จึงไม่เย็นฉ่ำเสมือนอยู่ขั้วโลกเหนือเช่นบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้โรงแรม สนามบิน ศูนย์การค้า สถานที่สาธารณะต่างมีความเย็นลักษณะนี้เหมือนกันหมด ได้ทราบว่าเหตุผลคือบางคนกลัวไม่สบาย แต่บ้างมีความเชื่อว่าลมนำสิ่งชั่วร้ายมา

          คนอินโดนีเซียดูจะทนความร้อนได้ดีกว่าคนไทย เสื้อบาติกคอเสื้อเชิ้ตปล่อยชายซึ่งเคยเป็นเครื่องแบบประจำชาติอันศักดิ์สิทธิ์ (โดยเฉพาะมีแขนยาว) ปัจจุบันใส่กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน กล่าวคือชายเกือบทุกคนใส่เสื้อบาติคแบบเดิมปล่อยชายสไตล์เสื้อฮาวาย แขนสั้นเพียงแต่เป็นผ้าลายบาติค และผ้าส่วนใหญ่ก็เป็นลายพิมพ์ด้วยเครื่องจักร ไม่ใช่ทำด้วยมือเหมือนเครื่องแบบประจำชาติ เสื้อแบบนี้เหมาะสมมากกับอากาศร้อน ใส่สบายเพราะระบายอากาศได้ดี

          สิ่งที่ประทับใจของทุกคนที่ไปเยือนจาการ์ต้าก็คือ การจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก เกือบทุกแห่ง ทุกเวลา เดิมก็ติดขัดมายาวนาน แต่เมื่อมีการปิดกั้นช่องทางเพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินจึงทำให้ติดขัดยิ่งขึ้น เมืองอื่น ๆ ที่เห็นก็ติดขัดเช่นเดียวกัน

          ทางด่วนที่พอมีอยู่บ้างก็ติดขัดเหมือนถนนธรรมดา ใครที่เบื่อหน่ายการจราจรกรุงเทพฯ ถ้าเห็นจราจรที่จาการ์ต้าแล้วจะรู้ว่าของเรานั้นเพียงอยู่ในระดับลูกเท่านั้นเอง (ถ้าอยากเห็นระดับปู่ขนานแท้ก็ต้องไปมะนิลาครับ)

          สิ่งแปลกอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงข้ามความเข้าใจของคนไทยก็คือค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือของโรงงานในบริเวณตะวันตกของเกาะชวา คือแถบจาการ์ต้านั้นสูงกว่าไทย มีการคำนวณว่าอาจสูงถึงประมาณ 340 บาทต่อวัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถึงแม้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำจะต่ำจริงแต่ที่นี่จ่ายเป็นรายเดือนโดยเดือนหนึ่งทำงาน 25 วัน ถึงแม้จะไม่มาทำงานก็ได้เงิน และได้รับสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย เช่น แรงงานทุกคนได้รับโบนัสไม่ต่ำกว่า 1 เดือนต่อปี รัฐบาลเป็นผู้บังคับกฎเกณฑ์ และจะสั่งให้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแรงกดดันจากสหภาพแรงงานในปัจจุบัน สำหรับไทยนั้นจ่ายเป็นรายวัน ๆ ละ 300 บาท หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้เงิน เมื่อคำนวณดูจำนวนวันที่ทำงานจริง ๆ และรายจ่ายอื่น ๆ ก็พบว่าค่าแรงอินโดนีเฃียในบริเวณนี้โดยแท้จริงแล้วสูงกว่าไทย อย่างไรก็ดีในท้องที่อื่น ๆ ที่ไกลออกไปทางตะวันออกของเกาะชวา ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือต่ำกว่ามากเนื่องจากมีแรงงานเหลือเฟือ

          อินโดนีเซียเป็นประเทศน่าท่องเที่ยวเพราะงดงามด้วยภูมิประเทศและความหลากหลายของวัฒนธรรม มีสินค้าทุกระดับให้ฃื้อในชอปปิ้งมอลล์จำนวนมาก เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินเสร็จจะน่าท่องเที่ยวยิ่งขึ้นอีกมาก

เศรษฐีพันล้านแปรสภาพเป็นยาจก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 มีนาคม 2559

          การที่มหาเศรษฐีพันล้านไต่เต้าจากการสร้างตนเอง สามารถล้มละลาย หมดเนื้อ หมดตัวได้ในเวลา 5 ปี เป็นเรื่องน่าตื่นใจและน่าศึกษาเพื่อให้คนที่รวยน้อยกว่านั้นมากไม่เจริญรอยตามหนุ่มอายุ 40 ปี ชาวออสเตรเลียผู้นี้มีอะไรพิเศษหรือจึงทำอะไรที่น่าจะยากขนาดนั้นได้

          ชื่อของเขาคือ Nathan Tinkler บ้านเกิดอยู่ในรัฐ New South Wales เขาเรียนไม่จบมัธยมปลายและเคยเรียนบางวิชาในวิทยาลัยเทคนิค (ในสมัยนั้นเรียกว่า TAFE) เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นช่างไฟฟ้า และทำงานในเหมืองถ่านหินบริเวณนั้นพักหนึ่ง ในช่วงเวลานี้เขามีชื่อเสียงว่ามีหนี้สินแยะและไม่ยอมชำระหนี้ อย่างไรก็ดีเมื่ออายุได้ 26 ปี เขาก็ตั้งบริษัทรับจ้างดูแลรักษาเครื่องจักร

          ดวงชะตาของเขาพลิกผัน ในปี 2006 เมื่อเขากู้เงินได้ 500,000 เหรียญก็นำไปซื้อเหมืองถ่านหินในรัฐ Queensland มูลค่า 11.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (หน่วยเงินที่ระบุต่อไปจะเป็น สกุลนี้) แต่ในปลายปี 2007 เขาสามารถขาย ร้อยละ 70 ของหุ้นบริษัทให้บริษัท Macarthur Coal ในราคา 57 ล้านเหรียญโดยรับเป็นเงินสดบวกกับอีก 184 ล้านเหรียญในรูปของหุ้น

          หลังจากนั้นเขาก็สามารถหาสมัครพรรคพวกระดมทุนซื้อหุ้นของบริษัท Macarthur Coal ที่เขาขายเหมืองถ่านหินให้ไป ปรากฏว่าหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว Tinkler เห็นช่องทางรวยจริงไม่ใช่บนกระดาษ ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม 2008 เขาจึงขายหุ้นทั้งหมดของเขาใน Macarthur Coal ไปในราคา 422 ล้านเหรียญ

          ในปี 2008 ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในบรรดาเศรษฐีอายุน้อยสุดของออสเตรเลีย โดยมีสินทรัพย์สุทธิประมาณ 441 ล้านเหรียญ เป็นคนรวยที่สุดอันดับสองของประเทศในวัยต่ำกว่า 40 ปี

          หลังจากนั้นเขาก็ทำธุรกิจการเงินในการซื้อขายหุ้นของบริษัทถ่านหิน จนรวยขึ้นอีกมาก และในปี 2012 เขาก็ขายบ้านช่อง อพยพไปอยู่สิงคโปร์

          เงินนั้นมันต่อเงิน เมื่อมีเงินมากในธุรกิจค้าขายถ่านหินซึ่งราคาถีบตัวสูงขึ้น ทุกวัน เขาก็ยิ่งรวยยิ่งขึ้นนับพันล้านเหรียญ การรวยขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นทำให้เกิดวิบากกรรมคือการต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะใหม่ของเขา

          เขาและครอบครัวล้มเหลวในเรื่องนี้เพราะใช้จ่ายเงินกันอย่างสนุกมือ ในปี 2010 เขาซื้อทีมออสเตรเลียฟุตบอล ชื่อ Newcastle Jets ซึ่งอยู่ใน league ชั้น A ในราคาหลายล้านเหรียญ แค่นี้ยังไม่พอเขาซื้อทีม Rugby League ชื่อ Newcastle Knights ในราคาที่สูงด้วย นอกจากนี้ยังซื้อคฤหาสน์ในฮาวาย ทรัพย์สินในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ตลอดจนเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ม้าแข่งราคาแพง รถสปอร์ต ฯลฯ

          ในปี 2012 ตัวเขามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 1,180 ล้านเหรียญ แต่ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน มูลค่าดังกล่าวเหลือเพียง 630 ล้านเหรียญเนื่องจากราคาของถ่านหินตกลงอย่างน่ากลัว สาเหตุของการตกก็คือความต้องการที่ลดน้อยลงมากอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

          หลายบริษัทของ Tinkler ประสบปัญหาการเงินทันที ม้าแข่งชั้นยอดของเขาที่ต้องมีการดูแลอย่างดีขาดเงินจนต้องขายไปตอนกลางปี 2013 ในปลายปี 2012 และต้นปี 2013 การเงินก็ตึงตัวมาก ไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงานหลายบริษัท เจ้าหนี้ตามไล่หนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของตัวเขาตกลงเหลือ 235 ล้านเหรียญ

          ตลอดปี 2014 เขาต้องใช้หนี้ด้วยการขายหุ้นและทรัพย์สิน ตลอดจนไร่ส่วนตัว แต่ก็ไม่พอกับหนี้ที่ค้างอยู่ ในเดือนกรกฎาคม 2015 ศาลออกหมายจับเขาเมื่อไม่ไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลในคดีขายฟาร์มเลี้ยงม้า

          ทางการทวงหนี้ภาษีที่ค้างชำระอยู่ 6.4 ล้านเหรียญ และเริ่มกระบวนการล้มละลายเนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว แค่นี้ยังไม่พอเขาถูกสอบสวนในเรื่องคอรัปชั่นโดยจ่ายเงินติดสินบนนักการเมืองของรัฐ New South Wales เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทเขา

          ในต้นเดือนมีนาคม 2016 ศาลตัดสินให้เขาเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้มูลค่า 2.25 ล้านเหรียญที่ค้างจากการซื้อเครื่องบินเจ็ต ซึ่งเขาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้หลังจากชำระหนี้ไปบ้างแล้วของหลายบริษัทในจำนวนทั้งหมด 50 กว่าบริษัท

          อย่างไรก็ดีสื่อรายงานว่าเขาอาจเล่นกล แอบซ่อนทรัพย์สมบัติไว้อีกมาก (“ล้มบนฟูก”ในขอบเขตหนึ่ง) เพราะคฤหาสน์ที่ฮาวายในชื่อของภรรยาเขาตลอดจนสมบัติอีกหลายชิ้นก็ยังคงอยู่ ทรัพย์สินแอบซ่อนมีอยู่จริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องสืบหาและฟ้องร้องกันตามกฎหมาย แต่ที่แน่นอนก็คือเขามีเงินน้อยกว่าเก่ามากมาย ความมั่งคั่งสูญหายไปเกือบทั้งหมด ไม่นับชื่อเสียงที่แทบไม่มีอะไรเหลือ

          คำถามก็คือเศรษฐีพันล้านตกสวรรค์ได้อย่างไรในเวลาไม่กี่ปี คำตอบอาจเป็นว่า (ก) ความโลภที่ไม่สิ้นสุดโดยกล้าเสี่ยงเพื่อรวยยิ่งขึ้นต่อไป (ข) ใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง และ

          (ค) ประมาทโดยไม่เชื่อว่าถ่านหินจะมีราคาตกลงมาก

          ถ้าแม้น Tinkler ไม่สุ่มเสี่ยงมากเกินไปหลังจากที่รวยขึ้นมากแล้วโดยขยายธุรกิจอย่างเหมาะสม (เขาผู้ไม่ใช้หลักคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” คงบอกว่าเหมาะสมแล้ว) ถึงแม้ราคาจะผันผวนก็คงไม่กระทบเขามากมาย และถ้าเขาไม่ใช้จ่ายเงินอย่างสนุกสนานเกินไปแล้ว ยอดหนี้และรายจ่ายก็คงไม่สูงเกินไป และอาจรับมือกับการตกของราคา

          ถ่านหินได้ แต่เมื่อสุดสวิงไปทั้งสองทางคือการพยายามหารายได้เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการสะดุดขึ้นก็ขาดเงินสดและนำไปสู่ปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย

          “ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย” เป็นจริงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประมาทในเรื่องเงินทองซึ่งมองเห็นไม่ชัดเหมือนขับรถเร็วแล้ว ความพินาศก็สามารถมาเยือนได้เร็วกว่าที่คาดคิด

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 มีนาคม 2559

          ลองพิจารณาตัวอย่างของสิ่งอัศจรรย์ต่อไปนี้ (1) ผ่าตัดมนุษย์โดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งมีแพทย์อยู่ไกลออกไปนับพันกิโลเมตรเป็นผู้ควบคุม (2) กลืนยาซึ่งจะถูกย่อยสลายอย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีแผนวงจรไฟฟ้าควบคุมอยู่ในเม็ดยา (3) รถยนต์ไม่ต้องใช้คนขับ (4) stem cell ชะลอวัยและช่วยเสริมสร้างอวัยวะ (5) กลืนหุ่นยนต์เล็กขนาดมองไม่เห็นเพื่อรักษาโรคหรือซ่อมแซมยีนส์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่

          โลกเรามีปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อ 232 ปีก่อนคือใน ค.ศ. 1784 ซึ่งใช้ไอน้ำเป็นพลังในการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาใน ค.ศ. 1870 มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ซึ่งใช้ไฟฟ้าเป็นพลังของการผลิตขนาดใหญ่ และเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามใน ค.ศ. 1969 ซึ่งใช้อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าและบริการนานาชนิดเพื่อรับใช้มนุษย์โดยมีต้นทุนต่ำลงและให้ความสะดวกสบายแก่มนุษย์

          เมื่อ 8 ปีที่แล้วภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม โลกรู้จักไอโฟนซึ่งถือได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนแปลงโลกอย่างแท้จริง ในปัจจุบันบนรถไฟฟ้า เราจะเห็นคนยืนและนั่งกดสมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน หลายครอบครัวเมื่อรับประทานอาหารเย็นกันในครอบครัว ต่างคนก็ต่างนั่งก้มหน้ากดสมาร์ทโฟนกันคนละเครื่อง พูดกันน้อยมาก เสร็จแล้วทุกคนก็แยกย้ายกันไปสู่ความบันเทิงส่วนตัวจากสมาร์ทโฟนของแต่ละคน การดูโทรทัศน์ร่วมกันและคุยกันอย่างเดิมหายไปในหลายครอบครัว

          เมื่อตื่นนอนเช้าก่อนแปรงฟันล้างหน้า สิ่งแรกที่ทำคือหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูว่าใครกดไลค์ให้เราบ้าง ใครส่งไลน์มากู๊ดมอร์นิ่ง หรือเราจะส่งไปให้ใครดี ได้ยินแต่เสียงปุ๊ง ๆ เมื่อข้อความจากไลน์เข้ามาทั้งวัน เราสนุกและมีความสุขแบบใหม่อย่างแตกต่างกว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อน หรือแม้แต่ 1-2 ปีก่อนสำหรับบางท่านอย่างสิ้นเชิง

          เราสามารถทักทาย ติดต่อ สื่อสารกับเพื่อนและญาติซึ่งอยู่ที่ไหนในโลก หรือกับเพื่อนที่ไม่เคยติดต่อกันมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ได้ ทุกอย่างรวดเร็ว มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ส่งกันกลับไปมาอย่างทันใจ อยากฟังเพลงอะไร อยากรู้เรื่องใด อยากรู้ว่าคนที่เพิ่งพบเป็นใคร ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างรวดเร็วที่ปลายนิ้ว

          ท่ามกลางความก้าวหน้าด้าน IT ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ยังมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญอีก หลายด้าน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม หุ่นยนต์ นานาเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ฯลฯ เช่นกัน

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่หมายถึงการต่อยอดหรือการผสมผสานกันของเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นจนเทคโนโลยีเหล่านี้เบลอ ข้ามกันไปมาจนแทบบอกไม่ได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้านใด ตัวอย่างเช่น โซลาเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงแสงแดดเป็นพลังไฟฟ้า ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ต้องการใช้อินทรีย์วัตถุ (หาได้ง่าย และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าวัสดุที่สร้างขึ้นมา) มาฉาบผิวกระจกโซลาเซลล์หรือพัฒนาขึ้นเป็นโซลาเซลล์ ยาซึ่งเคลือบแผงวงจรไฟฟ้าเพื่อให้ยาถูกย่อยสลายตรงตามเวลาที่เหมาะสม หรือหุ่นยนต์ขนาดเล็กมากที่มีแผนวงจรไฟฟ้าเมื่อกลืนเข้าไปก็สามารถรักษายีนส์ที่บกพร่องได้

          เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามยังเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตวิถีชีวิต วัฒนธรรม การดำรงชีวิต รูปแบบการทำงาน (ใช้ CCTV ทำงานแทน รปภ.) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฯลฯ มากถึงเพียงนี้แล้ว การปฏิวัติครั้งที่สี่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากเพียงใด

          เมื่อเทคโนโลยีฃึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็เป็นธรรมดาที่สรรพสิ่งต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายอย่างที่เคยมีก็จะหายไป (ร้านถ่าย อัด ขยายรูปแบบเดิม การขายฟิล์ม โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด สถานประกอบธุรกิจจัดหาหาบ้านเช่า พนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่บริหาร แรงงานไร้ฝีมือแบบดั้งเดิม) ลักษณะงานต่าง ๆ ก็จะแปรเปลี่ยนไป เช่น บางส่วนของการตลาดแบบเดิมก็กลายเป็น Digital Marketing (ทำการตลาดโดยใช้โซเชียลมีเดีย เช่น facebook ไลน์) หากยึดติดกับความรู้แต่เรื่องการตลาดแบบดั้งเดิมอย่างเดียว หรือ IT อย่างเดียวโดยไม่เพิ่มเติมความรู้และทักษะด้านอื่นประกอบก็จะหางานทำไม่ได้

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดนับตั้งแต่มนุษย์มีหน้าตาแบบปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน หรือตลอด7,500 ชั่วคนที่ผ่านมา เด็กที่เกิดในวันนี้ในประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี เนื่องจากความสามารถในการแก้ไขยีนส์ซึ่งบกพร่องอันเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของมนุษย์จำนวนมาก

          ความสามารถของเทคโนโลยีในอนาคตในการแก้ไขยีนส์ที่บกพร่องจะทำให้มนุษย์มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ไม่เจ็บป่วยอันเนื่องมาจากพันธุกรรม แต่สิ่งนี้มิได้เกิดกับมนุษย์ทั้งมวล หากเฉพาะกลุ่มที่มีเงินทองพอที่จะจ้างแพทย์ให้แก้ไขยีนส์ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะปัจจุบันความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอยู่แล้ว หากคนที่มีเงินสามารถทำให้ยีนส์ของตนเองมีคุณภาพดียิ่งขึ้นเช่น ฉลาดและแข็งแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีฐานะทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมากขึ้น

          ข้อเสนอแนะที่หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันในการรับมือกับการปฏิวัติครั้งใหม่นี้ก็คือการดำเนินการปฏิรูปใน 3 ประเด็นสำคัญดังนี้ (1) ในระยะสั้นควรเร่งผลักดันมาตรการปรับทักษะการทำงาน (retraining) ของกำลังแรงานที่มีอยู่โดยเร็วเพื่อให้เกิดทักษะใหม่ ๆ อันเป็นที่ต้องการของนายจ้าง

          (2) ในระยะกลาง ภาครัฐควรปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่โดยผนึกกำลังจาก ทุกภาคส่วนในแนวรุกเพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถผลิตทักษะของกำลังคนที่ตรงกับความต้องการใหม่ของตลาดแรงงาน อีกทั้งยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

          (3) ในระยะยาว ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อให้สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ สำหรับการพัฒนากำลังคนและการส่งเสริมการลงทุนภาคธุรกิจ ตลอดจนเพื่อให้สามารถปรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างทันเวลา

          สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานของข้อเสนอทั้ง 3 ระยะก็คือการมีกำลังคนที่มีคุณภาพ ประกอบกับการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่ถูกต้องของภาครัฐ ประเทศใดที่มีสองสิ่งสำคัญนี้ก็จะสามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ของโลกได้อย่างดี

          ไม่มีใครสามารถหยุดพลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยีภายใต้การปฏิวัติครั้งที่สี่ได้ สิ่งที่แต่ละสังคมพอทำได้ก็คือการปรับตัว โดยมีสมาชิกสังคมที่มีคุณภาพเป็นฐาน