มติชนรายวัน ปี 2552

ธันวาคม

พฤศจิกายน

มติชนสุดสัปดาห์ ปี 2554

ธันวาคม

พฤศจิกายน

ตุลาคม

กันยายน

สิงหาคม

กรกฎาคม

มิถุนายน

พฤษภาคม

เมษายน

มีนาคม

กุมภาพันธ์

มกราคม

มติชนสุดสัปดาห์ ปี 2553

ธันวาคม

พฤศจิกายน

ตุลาคม

กันยายน

สิงหาคม

กรกฎาคม

มิถุนายน

พฤษภาคม

เมษายน

มีนาคม

กุมภาพันธ์

มกราคม

มติชนสุดสัปดาห์ ปี 2552

การพัฒนาความเป็นบัณฑิตสู่การเป็นพลเมืองและพลเมืองโลก

เป็นหนี้ อย่างไรให้มีความสุข

โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี
จากหนังสือ “แสงแห่งความคิด” ของ บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด

การเป็น “หนี้” เป็นเรื่องธรรมดาในยุคบริโภคนิยม โดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีมรดกตกทอดให้ใช้จ่ายได้อย่างสุขสบาย เพราะคงต้องใช้เวลานานหากจะรอเก็บเงินสดให้ได้สักก้อนพอจะนำไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน การสะสมทรัพย์ที่เริ่มต้นด้วยการก่อหนี้ หรือการใช้ก่อนผ่อนทีหลัง จึงเป็นทางเลือกหรือโอกาสที่สำคัญ

หากแต่ไม่ธรรมดามากขึ้นทุกวัน คือการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นและปัญหาความเดือนร้อนจากการเป็นหนี้ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและในสังคมไทย โดยมีปัจจัยมาจากแรงผลักดันที่ชัดเจน 3 ประการ
แรงผลักดันแรก คือ กระแสบริโภคนิยมผสมผสานกับสื่อสมัยใหม่ โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกร้องความต้องการจากภายในจิตใจของผู้บริโภคให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือมิได้ต้องการอย่างแท้จริงมากขึ้น
แรงผลักดันต่อมา คือความรู้สึกจากภายในจิตใจของปัจเจกบุคคลเองว่า หากไม่ได้สิ่งนั้นหรือไม่มีสิ่งนี้แล้วจะกลายเป็นคนตกกระแส ไม่ทันสมัย ไร้ระดับ
และแรงผลักดันสุดท้าย คือความสามารถในการกู้เงินมีมากขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยกู้ง่ายและสะดวก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีทั้งสินเชื่อในระบบผ่านธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีแหล่งกู้เงินนอกระบบอยู่อีกดาษดื่น

เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงภาวะการใช้จ่ายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน อย่างไรก็ตาม หากครัวเรือนมีปัญหาในการใช้จ่ายหรือปัญหาในการชำระหนี้ จะลุกลามไปกระทบระบบเศรษฐกิจโดยรวม หลายประเทศจึงเฝ้าระวังปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เช่น สหรัฐอเมริกามีความพยายามที่จะลดหนี้ภาคครัวเรือนลงอย่างต่อเนื่องหลังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง พ.ศ. 2551

“หนี้ภาคครัวเรือน”

สำหรับสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบัน ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะคนไทยเป็นหนี้กันในแทบทุกกลุ่มอาชีพและทุกกลุ่มของรายได้ตามความสามารถในการกู้ยืม ตัวอย่างเช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย จะกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ กลุ่มแรงงานในระบบ เช่น หนุ่มสาวโรงงาน หรือลูกจ้างภาครัฐและบริษัทเอกชนที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จะขอสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อนำมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเฉลี่ยประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน เริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูงเฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน เริ่มมีภาระหนี้ผ่อนบ้านผ่อนรถ และแม้แต่กลุ่มผู้มีรายได้สูงประมาณ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นหนี้

จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีหนี้ได้เร่งตัวขึ้นในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 56 ของครัวเรือนทั้งหมดใน พ.ศ. 2543 พุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 66 ใน พ.ศ. 2547 หรือกล่าวง่ายๆ ว่า ใน 100 ครอบครัว เป็นหนี้ถึง 66 ครอบครัว แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 63 ใน พ.ศ. 2550 แต่ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมูลหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 68,405 บาท ต่อครัวเรือนใน พ.ศ. 2543 เป็น 116,681 บาทต่อครัวเรือน ในพ.ศ. 2550 และจากการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 พบว่า มูลหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 132,000 บาท ต่อครัวเรือน และเมื่อรวมมูลหนี้ของคนไทยทั้งประเทศสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท

แต่ปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นหรือยอดหนี้ที่สูงมากนี้ ยังไม่น่าตกใจเท่ากับปัญหา “ หนี้ล้นพ้นตัว ” หรือ “ความทุกข์ทรมาน” ที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ขณะที่ใช้คืนหนี้ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะนั่นคือ ปัญหาหนี้ที่แท้จริง

หากกการซื้อความสุข ความสะดวกสบายให้กับชีวิต เป็นเป้าหมายของการก่อหนี้แสดงว่าการดำรงชีวิตที่เริ่มมีความลำบาก หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นการก่อหนี้ที่ไม่บรรลุเป้าประสงค์ ดังนั้น ทั้งคนที่เป็นหนี้อยู่แล้วและที่กำลังคิดจะสร้างหนี้อาจจะต้องหันมาทบทวนระดับความสุขในการดำรงชีวิตเป็นประเด็นสำคัญ

เป็นหนี้แล้ว…อย่าให้เสียความสุข

สำหรับคนที่เป็นหนี้อยู่แล้ว หากระดับของความสุขลดต่ำมาก เพราะกำลังเผชิญปัญหาการผ่อนชำระ ควรรีบขอผ่อนผันกับเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินควร “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อลดค่าผ่อนชำระต่องวดลง อย่าปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย เพราะจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระและจะทำให้ตัวเลขหนี้พุ่งสูงจาก “วิกฤตดอกเบี้ยทบต้น” จนไม่อาจแก้ไขได้และนำไปสู่วังวนของการเป็นหนี้ที่เลวร้ายในท้ายที่สุด

ส่วนกรณีที่ความสุขเริ่มลดลงเพราะภาระในการใช้หนี้ทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่สามารถยืดหยุ่นได้เท่าที่ควร ควรหาวิธีบริหารจัดการเสียใหม่ให้ถูกวิธีและเร่งปลดเปลื้องภาระหนี้ให้เบาลง

บริหารจัดการหนี้ ลดภาระดอกเบี้ย

ในการบริหารจัดการหนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ อัตราดอกเบี้ยเพราะเป็นภาระที่ต้องจ่าย โดยหากมีหนี้หลายประเภท ควรจัดลำดับในการชำระหนี้จากก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไปหาก้อนที่มีดอกเบี้ยต่ำสุด ตัวอย่างเช่น ควรลดก้อนหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และหนี้บ้าน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 28 ต่อปี ร้อยละ 20 ต่อปี และร้อยละ 6-7 ต่อปี ตามลำดับ แม้ว่าวงเงินสินเชื่อบ้านจะสูงสุดก็ตาม และหากเป็นไปได้ควรกำจัดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้หมดไป สมมติเป็นหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 100-200 ต่อปี อาจต้องหาสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าไปชำระทั้งก้อน

ในกรณีที่ชำระหนี้จนกระทั่งเงินต้นลดลงระดับหนึ่งแล้ว อาจหาวิธีประหยัดดอกเบี้ย เช่น ผ่อนบ้านราคา 2.5 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละ 17,000 บาท ชำระไปแล้ว 200,000 บาท และผ่อนรถอยู่เดือนละ 8,000 บาท แต่ยังต้องผ่อนอีก 200,000 บาท อาจนำวงเงิน 200,000 บาทที่ผ่อนบ้านไปแล้วกลับไปกู้ใหม่ เพื่อนำไปชำระหนี้รถให้หมด เมื่อรถปลอดจำนองก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันขอกู้ก้อนใหม่ ในอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 5 แบบ Flat Rate หรือประมาณร้อยละ 10 ต่อปี แล้วนำไปชำระสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

เพิ่มรายได้ ปรับพฤติกรรมการบริโภค

การหารายได้เสริมเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้มีรายได้มาปลดหนี้มากขึ้น โดยเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้หากคิดที่จะลงมือทำและมีความพยายามอย่างแท้จริง กระนั้นก็ดีควรระมัดระวังงานที่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้าโดยหยิบยกผลตอบแทนในอนาคตเป็นเหยื่อล่อเช่นการขายตรงบางประเภทที่มีค่าใช้จ่ายในการอบรมซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องจ่ายฟรี เพราะไม่สามารถขายสินค้าหรือประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้

ที่สำคัญคือ เมื่อปัญหาหนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ต้องมีการปรับพฤติกรรมในการบริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะหากยังบริโภคเกินตัว ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้ที่ “ทุกข์ร้อน” อย่างไม่จบสิ้น แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลพยายามช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกรณีของคนที่เดือดร้อนสาหัสจนไม่อาจช่วยตัวเองได้ ซึ่งมีคนเกเรหรือคนที่ใช้ชีวิตหวือหวาได้ประโยชน์ไปบ้าง แต่การช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นเพียงการช่วยชั่วคราวที่จะนำพาไปสู่การเป็นหนี้อย่างถาวรตลอดชีวิต สำหรับคนที่ไม่คิดแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเองอย่างจริงจัง ทำนองเดียวกับการออกกำลังกายที่ไม่มีใครบังคับและทำแทนได้ หนทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน เพื่อก้าวพ้นจากหนี้และนำพาตัวเอง สู่การเป็นอิสระทางการเงินในที่สุด

คิดรอบคอบ…ก่อนเป็นหนี้

สำหรับคนที่คิดจะก่อหนี้ควรคำนึงว่า จะเป็นหนี้อย่างไรที่ไม่ทำให้การดำรงชีวิตลำบาก สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขแม้มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน และบรรลุเป้าหมายในการสร้างความสุขสบายให้กับตนเองได้อย่างแท้จริง

วางแผน ไม่กู้เกินกำลัง

สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ คือความสามารถในการผ่อนชำระ โดยดูจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง และค่าเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ปกติคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณร้อยละ 70-80 ของรายได้ จึงไม่ควรก่อหนี้ก้อนใหญ่เพราะมีเงินส่วนเหลือเพียงประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ ส่วนคนที่มีรายได้สูงกว่านี้จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณร้อยละ 60 จึงไม่ควรก่อหนี้รวมกันทั้งหมดเกินร้อยละ 40 ของรายได้ เช่น มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ควรมีภาระผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนรวมกันไม่เกิน 12,000 บาท อย่างไรก็ดี ควรระลึกอยู่เสมอว่าการเป็นหนี้ คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ ดังนั้นควรวางแผนให้ดี เช่น มีแผนจะซื้อของสักชิ้นหนึ่งอาจยอมเป็นหนี้ โดยใช้เงินที่คาดว่าจะเก็บออมเงินในแต่ละเดือนมาเป็นค่าผ่อนชำระแทน

เลือกเป็นหนี้ อย่างมีอนาคต

ที่สำคัญคือ ไม่ควรก่อหนี้อย่างไม่จำเป็นและไม่มีอนาคต ตัวอย่างเช่น เช่าบ้านอยู่เดือนละ 3,000 บาท กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ไปซื้อรถมือสองราคา 300,000 บาท โดยที่ไม่ได้ใช้รถยนต์คันนี้สร้างรายได้เพิ่ม ในเวลา 6-7 ปีต่อมา รถคันนี้เสื่อมสภาพขายได้ในราคาไม่ถึง 30,000 บาท ที่ผ่านมาเท่ากับได้ใช้รถยนต์โดยเสียเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่ง แต่ไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย ในทางกลับกัน ถ้านำเงินกู้นั้นไปดาวน์บ้าน ค่าเช่าบ้านจะเปลี่ยนมาเป็นค่าผ่อนบ้านของตัวเอง อย่างไรก็ตาม คนที่จะซื้อบ้านควรมีความพร้อมระดับหนึ่ง เช่น มีเงินเก็บไว้ดาวน์บ้านและสำรองอีกส่วนไว้ตกแต่งและซื้อเฟอร์นิเจอร์

การปรับทัศนคติว่า ความสุขสามารถหาได้ทุกขั้นตอนของชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ รวมถึงการรู้จักบริโภคสื่ออย่างมีสติ และเท่าทันความต้องการของตัวเองท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม จะช่วยยับยั้งการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ ไปพร้อมกับการเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต

“หากชีวิตมีความสุขสบายได้โดยไม่เป็นหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากต้องซื้อความสะดวกสบายด้วยการก่อหนี้ ต้องมีการวางแผน บริหารจัดการ และสร้างกรอบวินัยให้กับตัวเอง เพราะนั่นเป็นตัวกำหนดเส้นทางเลือกให้กับตนเองว่าจะเป็นหนี้อย่างมีความสุขหรือไม่มีความสุข นับแต่วันที่เริ่มเป็นหนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต”

ลงทุนอย่างทันสมัย และสุขใจด้วยแนวคิด Noble Obligation

โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
จาก The Leader of WEALTH (SCB ไทยพาณิชย์) Issue 01, 2012

“การสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมควรเป็นเป้าหมายอันสูงส่งของเจ้าของความมั่งคั่งนั้น”

การรู้จักบริหารความมั่งคั่งนำสู่ความมั่นคงในชีวิตและเหนือกว่าความมั่นคงคือความสุขในชีวิต ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เจ้าของผลงาน เงินทองของ(ไม่)หมู,เงินต่อเงิน, เงินไหลมา ฯลฯ และหนังสือเกี่ยวกับการจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ติดอันดับหนังสือขายดีอีกหลายเล่มมอบแนวความคิดการลงทุนต้อนรับปี 2555 เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

ผู้นำแห่งความมั่งคั่ง

ผมขอให้คำจำกัดความของ “wealth”หรือ “ความมั่งคั่ง”ว่าคือฐานที่จะทำให้เกิดความ มั่นคงในชีวิต มนุษย์จะมีความสุขได้ต้องมีทรัพย์สินเงินทองเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งและรู้จักนำสิ่งที่มีนั้นเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสุขการมีทัศนคติที่ถูกต้องในการบริหารจัดการความมั่งคั่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ในความเห็นของผม ผู้นำแห่งความมั่งคั่งควรมีแนวคิดเรื่อง Noble Obligation ซึ่งหมายถึงการต้องมีความผูกพันและรับผิดชอบอันสูงส่งในการนำความมั่งคั่งไปสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม

ผู้ที่มีความมั่งคั่งคือคนที่โชคดีมาก ยิ่งมีมากยิ่งต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าผู้อื่นอย่าลืมว่าความมั่งคั่งสามารถสร้างอันตรายให้ผู้คนได้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งต้องระวังอันตรายมาก การมีแนวคิดNoble Obligationซึ่งผมถือว่าเป็นศีลธรรมในระดับสูงสุดที่มนุษย์ควรมุ่งไปให้ถึงหรือศีลธรรม ระดับ 6* นั่นคือกระทำด้วยการสำนึกว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ไม่ต้องให้ใครหรืออะไรมาบังคับ เป็นสิ่งที่เกิดจากความสำนึกของตนเอง เป็นศีลธรรมระดับสูงสุดที่ควรต้องเข้าไปอยู่ในใจของผู้เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง รวมถึงการส่งต่อความคิดนี้ให้ลูกหลานของผู้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งด้วย

สู่ความสำเร็จด้านการลงทุน

การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการคิดถึงสิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต การลงทุนที่ดีในทัศนะผม หนึ่ง ต้องเป็นการลงทุนที่มีเป้าหมาย ทำให้ทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาโดยเบียดเบียนผู้อื่นอย่างตั้งใจน้อยที่สุด สอง รู้จักประมาณตนคือลงทุนอย่างพอเพียงเหมาะกับตนเอง ไม่เสี่ยงมากเกินไป ถ้าหวังจะได้ผลตอบแทนสูงต้องตระหนักว่ามีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และสาม มีสติรู้เท่าทันรู้จักเครื่องมือ รู้จักทางเลือก รู้จักจังหวะในการลงทุนซึ่งต้องไม่ละโมบโลภมากจนเกินตัวและความพอดี

สำหรับผมแล้ว การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง (invest in yourself) นั่นก็คือบุคคลต้องใฝ่หาความรู้และทักษะตลอดเวลาและพัฒนาบุคลิกภาพที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จ หากมีเงินลงทุนก็ให้คิดถึงอนาคตเป็นอันดับแรกและลงทุนอย่างผสมผสานทั้งที่มีความเสี่ยงมากและน้อย โดยมีหลักสำคัญคือการลงทุนในขนาดของการสูญเสียที่สามารถยอมรับได้ และควรเลือกใช้บริการกับสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจ มีประวัติของความสำเร็จที่ผ่านมา รวมถึงคำนึงถึงระบบธรรมาภิบาลขององค์กรเหล่านั้น

รูปแบบการลงทุนที่ทันสมัย

เนื่องจากปัจจุบันไม่มีธุรกิจใดที่สร้างความมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปีนับจากนี้ แม้จะมีการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแต่การผันผวนของเศรษฐกิจนั้นเป็นนิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดที่เชื่อมั่นได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงควรลงทุนด้วยความรอบคอบระมัดระวัง การลงทุนที่ทันสมัยสำหรับผมแล้วก็คือแนวคิดในเรื่อง Noble Obligation ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงเพราะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคมถือเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้สังคมและตนเองในอนาคต ผู้มีความมั่งคั่งเป็นผู้ที่มีทั้งปัญญาและโอกาส การมี Noble Obligation จะทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่สร้างความทุกข์ระทมใจอย่างตั้งใจแก่ผู้อื่นในระยะยาว หากรู้จักนำความมั่งคั่งมาต่อยอดและแบ่งปัน

เคล็ดลับการลงทุนอย่างยั่งยืน

ผมเป็นคนเชื่อมั่นในพลังของการออม เพราะการออมเป็นหัวใจของการสร้างอนาคต และสำหรับอนาคตนั้นใคร ๆ ก็คิดหวังอยากมีความสุข ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการออมจะทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย มีพลังและเกิดความมั่นใจ ไอน์สไตน์บอกว่าสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขไม่ใช่สิ่งที่คุณมีหรือสิ่งที่คุณเป็นหากขึ้นอยู่กับการคิดของคุณเป็นสำคัญ

ตัวผมเองมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตอย่างต่ำกว่าฐานะทางเศรษฐกิจ แล้วนำเงินที่เหลือหรือเงินออมออมไปลงทุนในสิ่งที่ช่วยสร้างคุณค่าในระยะยาว เช่น การศึกษาของครอบครัว การลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม การทำให้เงินทำงานรับใช้ (ผลตอบแทนได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ) แม้จะไม่มีเงินให้ดูแลมาก แต่ก็มีความสุขเพราะผมนำกฎเกณฑ์ของความพอดีและความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีมาใช้เสมอ

การจัดการความมั่งคั่งอย่างมีอุดมการณ์ของความรับผิดชอบและการแบ่งปันจะช่วยสร้างความหมายและคุณค่าให้แก่ชีวิตและความมั่งคั่งนั้น

ระดับศีลธรรม ถือกำเนิดโดย Lawrence Kohlberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ยิว ซึ่งมีแนวคิดว่าการที่บุคคลหนึ่งๆ ทำสิ่งดีๆ นั้น มาจากแรงจูงใจที่แตกต่างกัน 6 ระดับ ประกอบด้วย   1. ทำดีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ       2. ทำดีเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น รางวัล    3. ทำดีเพื่อให้บุคคลอื่นและสังคมยอมรับ   4. ทำดีเพราะมี ระเบียบกฎเกณฑ์กำหนดไว้    5. ทำดีเพราะตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม    6. ทำดีเพราะตระหนักว่าเป็นสิ่งถูกต้องสมควรทำ